พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565
คืนนี้เป็นคืนพิเศษสำหรับหลายคน เพราะนอกจากตั้งหน้าตั้งตารอที่จะลอยกระทงแล้ว ก็ยังหวังที่จะได้ดูเหตุการณ์ที่สำคัญที่นานๆ จะเกิดสักครั้งหนึ่งคือจันทรุปราคา เป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งโดยเฉพาะการมีจันทรุปราคากับพระจันทร์เต็มดวง
จันทรุปราคาก็มีหลายชื่อ เช่น จันทรคราส แล้วก็ชื่อโบราณชื่อ ราหูอมจันทร์ สมัยก่อนเขาเชื่อเลยว่ามีราหูจริงๆ มาอมจันทร์ เพราะฉะนั้นพอเกิดเหตุการณ์นี้ ทุกคนก็จะพากันตีกราะเคาะไม้ ส่งเสียงดัง จุดประทัด เพื่ออะไร เพื่อไล่ราหูให้คายดวงจันทร์ ดวงจันทร์จะได้ สว่างเหมือนเดิม เราก็เชื่ออย่างนี้มานานว่า ดวงจันทร์อับแสงเพราะว่ามีราหูอมดวงจันทร์
จนกระทั่งเรามารู้ในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ ว่าที่ดวงจันทร์ดับหรือว่าหมอง มันไม่ใช่เพราะราหูจากที่ไหนหรอก แต่เป็นเพราะเงาของโลกเรา เงาของโลกเรานี่แหละที่ไปทำให้ดวงจันทร์อับแสง ไม่ใช่ราหูที่ไหน เราก็เพิ่งมารู้ว่าที่ดวงจันทร์อับแสง ไม่ใช่เพราะใครที่ไหนเลย แต่เป็นเพราะโลกเรานี่เอง หลงไปโทษราหูกันเป็นหลายศตวรรษทีเดียว แต่ตัวการที่แท้คือโลกเรานี่แหละ ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้
จะว่าไปมันก็คล้ายๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา เวลามีเหตุการณ์บางอย่างที่มันไม่ปกติหรือที่เราไม่ชอบ บางครั้งเราก็โทษคนนั้นคนนี้ แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะตัวเรามากกว่า เหมือนกับเรากำลังดูหนังหรือดูสไลด์ในห้องมืด จู่ๆ ก็มีเงาไปทาบบนจอ ทำให้ดูไม่ถนัดทำให้เสียบรรยากาศ แล้วเราก็โมโหว่าเงาใครมาทำให้จอมันมืด ก็ว่าคนนั้นคนนี้ว่าถอยไป อย่าเอาเงามาบัง
แล้วสุดท้ายก็พบว่าเป็นเงาของเราเอง ที่ดันไปขวางไปบังเครื่องฉาย เป็นเงาของเราเอง ที่เกิดจากการที่เราไปบังเครื่องฉาย แล้วเราก็เผลอโทษคนนั้นคนนี้ไปยกใหญ่เลย ถึงค่อยมารู้ว่าเป็นเราต่างหากที่ทำให้เกิดเงาบนจอนั้น
หรือเหมือนกับเวลาเราเดินแล้วก็ไปเตะหิน เจ็บเลยนะ แล้วเราก็โทษหินว่ามันมาขวางทางเรา แต่ที่จริงเป็นเพราะเราต่างหากเดินซุ่มซ่าม แต่น้อยคนจะโทษว่าเป็นเพราะเราเดินซุ่มซ่าม ส่วนใหญ่ก็ไปโทษหินว่ามาขวางทางของเรา
ที่จริงมันก็เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาตั้งแต่เล็ก ตอนเด็กๆ เราเดินเกิดไปสะดุดโต๊ะจนล้ม เจ็บนะ แม่ทำอย่างไร แม่เห็นเราร้องไห้ แม่ก็เลยตีโต๊ะ ว่าโต๊ะนี่แหละ ทำให้หนูล้มเจ็บ เด็กก็ถูกปลูกฝังเรื่อยมา ว่าเป็นเพราะโต๊ะทำให้เราหกล้ม
หรือเหมือนกับเด็กที่เดินไปชนประตูกระจกที่ปิดเอาไว้ เด็กไม่รู้นึกว่าประตูเปิด ก็เดินไปชนประตูกระจกอย่างแรง ร้องไห้ แม่นี่เห็น อยากจะให้เด็กหยุดร้องไห้ ก็เลยแกล้งตีกระจกว่าทำไมไปขวางทาง ทำให้ลูกต้องชนกระจก
อันนี้ก็เป็นการสอนของผู้ใหญ่ ที่ทำให้เด็กคิดว่าความทุกข์ของเราเป็นเพราะสิ่งอื่น ทีแรกก็เป็นเพราะโต๊ะ เป็นเพราะเก้าอี้ หรือเป็นเพราะประตูกระจก ต่อไปก็ไปโทษคนโน้นคนนี้ ว่าทำให้เราทุกข์ ทำให้เราเจ็บปวด
ก็เป็นธรรมดานะ พอเดินเตะหินก็ไปโทษหิน แทนที่จะโทษตัวเอง มองเรื่องราหูอมจันทร์ก็อดไม่ได้ที่ทำให้เราได้เห็นว่าเป็นเพราะเราไม่รู้ สมัยก่อนเราไม่รู้ เราก็ไปโทษราหู ต่อมาเมื่อเรามีความรู้มากขึ้น เราก็รู้ว่าเป็นเพราะเงาโลกนี้เอง ที่มันไปบังดวงจันทร์ หรือที่มันไปทำให้ดวงจันทร์อับแสงหมองมัว หลงไปโทษราหูตั้งนาน ที่แท้ก็เป็นโลกของเราเอง
เราเลิกโทษราหูไปนานแล้ว แต่ว่าชีวิตประจำวันเราก็ยังอดไม่ได้ที่จะโทษสิ่งนอกตัว โต๊ะที่ทำให้เราหกล้ม หรือว่าตู้กระจกที่ทำให้เราหัวโน หรือก้อนหินที่ทำให้เรามีแผลที่เท้า แต่ที่จริงแล้วเป็นที่เราต่างหาก ถึงแม้เราจะมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับ จันทรุปราคา แต่ว่าความรู้ที่ว่านี่ไม่ได้ช่วยให้เราได้มาเห็นเลย ว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราหลายครั้ง มันเป็นเพราะเราเอง ไม่ใช่เพราะสิ่งอื่น
เป็นเพราะเราซุ่มซ่าม หรือว่าเป็นเพราะเราไม่รู้ตัว ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่เห็นได้ยาก โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์ใจ อย่างที่เคยเล่าอยู่หลายครั้ง เกี่ยวกับเรื่องหลวงปู่บุดดา หลวงปู่บุดดาไปฉันบ้านโยมที่กรุงเทพฯ และเจ้าภาพก็ให้หลวงปู่พักก่อนที่จะนั่งรถกลับสิงห์บุรี เมื่อสัก 50-60 ปีก่อนก็ใช้เวลา เจ้าภาพเห็นหลวงปู่อายุมากแล้ว ก่อนกลับวัดก็เอนหลังสักหน่อย หาห้องให้ท่านจำวัด
ขณะที่ท่านจำวัดก็มีลูกศิษย์ซึ่งมานั่งเป็นเพื่อนก็คุยกัน เวลาคุยก็กระซิบกระซาบ เพราะว่าไม่อยากให้เสียงรบกวนหลวงปู่ แต่บังเอิญห้องที่ท่านนอนอยู่ ติดอยู่กับร้านขายของชำ เจ้าของเป็นคนจีน เป็นอาม่า คนจีนสมัยก่อน 50-60 ปีก่อนนี้เขาก็สวมเกี๊ยะ เวลาเดินขึ้นบันได เป็นบันไดไม้มันก็เสียงดัง
เสียงก็ดังเข้ามาถึงห้องที่หลวงปู่จำวัดอยู่ ลูกศิษย์ได้ยินก็ไม่พอใจ มีคนหนึ่งก็พูดว่าเดินเสียงดังจัง ไม่เกรงใจกันเลย พูดเบาๆ แต่หลวงปู่ท่านได้ยิน ท่านไม่ได้หลับ ท่านก็เลยเปรยขึ้นมาว่า เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง
อันนี้ท่านสอน ท่านเตือนสติว่าที่เธอทุกข์ ที่เธอหงุดหงิดไม่พอใจ มันไม่ใช่เพราะเสียงเกี๊ยะหรอกนะ แต่เป็นเพราะเธอเอาหูไปรองเกี๊ยะต่างหาก พูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าพอไม่มีสติ หูก็เป็นหูหาเรื่อง อยู่ดีไม่ว่าดี เอาหูไปรองเกี๊ยะ ก็เลยทุกข์ ลูกศิษย์ไปโทษเสียงเกี๊ยะ หรือว่าอาซิ้มที่สวมเกี๊ยะ แต่ไม่ได้ดูตัวเอง ว่าที่แท้เป็นเพราะตัวเองไม่มีสติ เอาหูไปรองเกี๊ยะ มันก็เลยทุกข์ ไม่พอใจ
ความทุกข์ใจของคนเรา จะว่าไปมันไม่ใช่ว่าอะไรอื่น มันเป็นเพราะเราวางใจไว้ไม่ถูก เขาพูดอะไร ถ้าเราไม่เอาหูไปเก็บ หรือเอาใจไปผูกติดกับคำพูดของเขา หรือคอยหวนคิดถึงคำพูดของเขา ซึ่งเหมือนกับการเอามีดกรีดแทงใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็ไม่ทุกข์ เขาพูดอะไรไปก็ไม่ฟัง ไม่สนใจ แต่เพราะใจเราไปจดจ่อ ไปคว้าเอาคำพูด หรือการกระทำที่ไม่ถูกใจมาตอกย้ำซ้ำเติมจิตใจของตัวเอง มันก็เลยเป็นทุกข์
แต่ถ้าคนเราไม่ถือ ภาษาไทยเราใช้คำว่าไม่ถือ เช่น มีคนบ้ามาว่าเรา หรือคนเมามาว่าเรา เราไม่โกรธ เราไม่เจ็บ เพราะอะไร เพราะเราไม่ถือ บางทีเรากำลังซื้อของอยู่ริมถนน มีคนมาชนหลังเรา จนเราเซเลยนะ ทีแรกเราโกรธ หันหลังกลับไปจะว่าแล้วหรือจะด่า แต่ พอเราเห็นคนที่ชนเราเขาตาบอด มันยั้งไว้ได้เลย ไม่ด่า แล้วก็หายโกรธด้วย เพราะอะไร เพราะเราไม่ถือ
นั่นก็แปลว่าถ้าถือเมื่อไหร่ก็ทุกข์ ถือเมื่อไหร่ก็โกรธ และอะไรที่ถือ ก็ใจเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นเวลาทุกข์ใจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมองออกไปข้างนอก โทษข้างนอก แต่ถ้าเราหันมา กลับมามองที่ใจเรา ก็จะพบว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจเราต่างหาก ไม่ใช่เพราะคนนั้นคนนี้ ไม่ใช่เพราะเสียงเกี๊ยะ เหมือนกับที่เราเจ็บเท้า มันไม่ใช่เพราะก้อนหินที่วางอยู่บนพื้นหรืออยู่บนทาง แต่เป็นเพราะเราซุ่มซ่ามเอง เดินไปเตะก้อนหินเอง
แต่เดินไปเตะก้อนหิน ก็พอจะรู้ว่ามันเป็นเพราะความผิดของเรา ถึงแม้ว่าหลายคนจะไม่ยอมรับว่ามันเป็นความซุ่มซ่ามของเรา แต่เป็นเพราะก้อนหิน แต่ว่าหลักฐานก็ทนโท่อยู่ว่าก้อนหินมันอยู่ตรงนั้นนานแล้ว เป็นเราเองที่เดินไปเตะ อันนี้มันเห็นอยู่ เพราะมันเป็นรูปธรรม
แต่เรื่องเอาหูไปรองเกี๊ยะ หรือว่าเอาใจไปจดจ่อ เก็บเกี่ยว ไปคว้าคำพูดคำต่อว่าด่าทอของเขามาทิ่มแทงใจเรา มันเห็นยาก ถ้าไม่รู้จักมองตน มันก็ไม่เห็น หรือถ้าไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง มันก็ไม่ยอมรับ เพราะธรรมดาคนเราก็ยากที่จะยอมรับผิด ยากที่จะยอมรับผิดว่าเป็นที่เรา เป็นเพราะเรา
เพราะว่าการยอมรับผิดมันเหมือนกับว่ามันขัดกับวิสัยของอัตตา อัตตามันไม่ยอมที่จะยอมรับว่าฉันผิด เพราะอัตตามันมีแต่อยากจะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าฉันเก่ง ฉันดี หรือว่าฉันระมัดระวัง ฉันไม่ซุ่มซ่าม จึงต้องอาศัยการที่เราต้องหมั่นมองตนด้วยความซื่อตรง ก็จะเห็นว่านอกจากเราวางใจผิดแล้ว ยังมีตัวอัตตาที่คอยโทษคนนั้นคนนี้ สรรหาเหตุผลข้ออ้างที่จะโทษ ว่าฉันไม่ผิด คนอื่นผิดต่างหาก
แต่ถ้าเรากลับมามองตนบ่อยๆ ในที่สุดก็จะเจอเหตุแห่งทุกข์ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจเรา อาจจะเป็นความอยาก อาจจะเป็นความหลง อาจจะเป็นความยึดติดถือมั่น ฉะนั้นถ้าเรารู้จักเหตุแห่งทุกข์ ต่อไปเราก็จะหาทางออกจากทุกข์ได้
เหมือนกับที่ถ้ายอมรับว่าที่หงุดหงิดเพราะเอาหูไปรองเกื๊ยะ ต่อไปก็ไม่โทษเสียงเกี๊ยะแล้ว กลับมาดูใจ มีสติกำกับ ไม่เอาหูไปรองเกี๊ยะ หรือพูดอีกอย่างไม่เอาใจไปจดจ่อกับเสียงที่เกี๊ยะ หรือในยุคนี้ไม่ใช่เสียงเกี๊ยะแล้ว อาจเป็นเสียงริงโทน เสียงโทรศัพท์ แต่บางครั้งคนเราก็หาเหตุผลที่จะโกรธให้ได้ เช่นว่าเสียงมันดังในเวลาที่ไม่ถูกต้อง อย่างผิดเวล่ำเวลา ดังผิดกาละเทศะ ก็เลยมีเหตุผลที่จะโกรธ เหตุผลที่จะไม่พอใจ
บางทีเราก็เอาความถูกต้องหรือความไม่ถูกต้อง มารองรับความไม่ถูกใจ มาเป็นข้ออ้างที่เราจะไม่พอใจ ข้ออ้างที่เราจะโกรธ ข้ออ้างที่เราจะด่าว่า อันนี้มันก็เป็นอุบายของอัตตาเหมือนกัน ที่มันจะคอยไปโทษคนนั้นคนนี้ มากกว่าที่จะยอมรับว่ามันเป็นเพราะเราหลง เราไม่รู้ตัว เราขาดสติ
ถ้าหากว่าเราปล่อยให้อัตตามันครองใจ หรือว่าปล่อยให้กิเลสมันมีข้ออ้างแบบนี้ เราก็ทุกข์อยู่ร่ำไป จนกว่าเราจะรู้เท่าทันตัวอัตตา ตัวกิเลส มันจะเป่าหูเราอย่างไร เราก็ไม่เชื่อ มันจะสรรหาเหตุผลมาอย่างไร เราก็ไม่ฟัง เพราะเราเห็นด้วยสติ ว่ามันเป็นที่ความหลงของ เราเอง หรือความหลงที่ใจ ถึงตอนนั้นแหละที่เราจะออกจะทุกข์ หรือว่าสามารถที่จะพาใจออกห่างจากความหงุดหงิด ความทนขุ่นมัวได้
และต่อไปถ้าเราหมั่นมองใจ มองตนอยู่บ่อยๆ มันเพียงแต่เห็นเหตุแห่งทุกข์ ต่อไปมันจะเห็นเหตุแห่งสุข สุขเพราะอะไร สุขเพราะปล่อย เพราะวาง สุขเพราะมีความรู้สึกตัว ปลอดโปร่งโล่งอิสระ ซึ่งแม้มันอาจจะไม่หวือหวา มีรสชาติเท่ากับการเสพ ดูหนังฟังเพลง กิน ของอร่อย หรือว่าเที่ยว อันนี้สุขจากการเสพ มันมีรสชาติ แต่ไม่ประเสริฐเท่ากับความสุขที่เกิดจากความรู้สึกตัว หรือจะเรียกว่าเป็นความสุขที่เกิดจากความสงบก็ได้
แต่เป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการเก็บตัว หรือการหลีกเร้น หรือการปิดหูปิดตา แต่เป็นความสงบที่เกิดจากการที่มีสติ รู้ทันความคิดและอารมณ์ ไม่ปล่อยให้ความคิดและอารมณ์ต่างๆ มาครอบงำ แม้กระทั่งเวทนาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนาทางกาย หรือ ทุกขเวทนาทางใจ ก็เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็น ไม่ปล่อยให้มันครอบงำ อันนี้แหละที่จะช่วยให้เราได้พบกับความสงบที่แท้จริง
หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดดีน่าคิดมาก ท่านบอกว่าสงบคนเดียวในที่เงียบ มันไม่ใช่ความสงบที่แท้จริง สงบในท่ามกลางความเป็นไปของโลกที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา อันนี้แหละคือความสงบที่แท้จริง
สงบคนเดียวในที่เงียบ มันก็ดี แต่มันไม่ใช่ความสงบที่แท้จริง มันต้องสงบท่ามกลางความเป็นไปของโลก ที่ไม่ใช่แค่เคลื่อนไหว แต่บางทีมันวุ่นวาย ผันผวนปรวนแปร แต่ว่าใจสงบได้ อันนี้เพราะว่ารู้เหตุแห่งทุกข์ ว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจเรา ไม่ใช่ที่โลกภายนอก ไม่ใช่อยู่ที่เสียงดัง ไม่ใช่อยู่ที่เสียงประทัด
เรารู้มานานแล้วว่าพระจันทร์อับแสงเพราะเงาของโลก หรือโลกของเราไปทำให้พระจันทร์อับแสง ไม่ใช่พระราหูจากที่ไหน แต่ถ้าเรารู้ต่อไปอีกว่า ความหม่นหมองในจิตเรา ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกครอบงำด้วยอารมณ์อกุศลใดๆ ความโกรธ ความเกลียด ความทุกข์ แท้จริงมันไม่ได้เกิดจากคนอื่น
มันเกิดจากใจที่ไม่มีสติ ใจที่ขาดความรู้สึกตัว ใจที่ไปยึดติดถือมั่น หรือที่หลวงปู่บุดดาท่านใช้คำว่าเอาหูไปรองเกี๊ยะ หรือบางทีก็ไม่ต่างจากการที่เราเหนื่อยเราทุกข์เพราะไปแบกหิน ทั้งที่หินนั้นมันก็วางอยู่บนพื้น แต่เราก็ไปหยิบมันขึ้นมาเอง แล้วก็เอามาแบก แล้วเราก็บอกว่าทุกข์เหลือเกินๆ
ถามว่าทุกข์เพราะอะไร ชายหนุ่มคนนั้นบอกว่าทุกข์เพราะหินก้อนนี้แหละ ไปโทษหินว่าทำให้ทุกข์ แทนที่จะมองว่าเป็นเพราะเราไปแบกเอาไว้ เป็นเพราะเขาไปแบกเอาไว้ต่างหาก ถ้าไม่แบกมันจะทุกข์ไหม ถ้าวางหินก้อนนั้นมันก็หายทุกข์ แต่เป็นเพราะไม่ยอมวางเอง ไปแบกเอาไว้ แล้วก็บอกว่าทุกข์เพราะหินๆ
เหมือนกับที่หลายคนบอกว่าทุกข์เพราะปัญหาต่างๆ มากมาย ทุกข์เพราะคนนั้นคนนี้ ทุกข์เพราะการกระทำคำพูดของเขา บางทีก็ทุกข์เพราะหนี้สิน ซึ่งก็ดูเหมือนมีเหตุมีผล แต่ว่าแท้จริงเป็นทุกข์เพราะแบกต่างหาก
ทุกข์เพราะแบกปัญหา ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ทุกข์เพราะไปแบกหนี้สินเอาไว้ โดยที่ไม่สังเกตว่าเมื่อใดก็ตามที่เลิกคิด หรือไม่ได้คิดถึงหนี้สิน มันไม่ทุกข์ เมื่อใดที่ใจไปเพลิดเพลินกับบางสิ่งบางอย่าง ไม่ได้คิดถึงปัญหา มันก็ไม่ทุกข์ มัน ทุกข์เฉพาะตอนที่นึกถึงปัญหา มันทุกข์เฉพาะตอนที่คิดถึงหนี้สิน แล้วก็แบกเอาไว้ แทนที่จะใคร่ครวญก็กลายเป็นคร่ำครวญ เพราะขาดสติ แล้วก็บ่นโวยวายตีโพยตีพาย
ที่จริงนึกถึงได้เหมือนกัน แต่นึกถึงอย่างมีสติ นึกถึงด้วยปัญญา ก็เป็นการใคร่ครวญ ไม่ใช่คร่ำครวญ หรือว่าถูกมันกระทำ
ไม่ใช่เฉพาะปัญหานอกตัวอย่างเดียว ปัญหาหรืออารมณ์ต่างๆ ในใจเราก็เหมือนกัน ความเครียด ความโกรธ ความหงุดหงิด พวกนี้ถ้าเรารู้จักเกี่ยวข้องให้ถูก มันก็ไม่ทำให้ทุกข์ เช่นไม่ไปยึดมันเอาไว้ ความกลัว ความเกลียด ความเครียด แค่รู้ทัน มันก็วาง แต่เพราะไม่รู้ทัน
หรือมิฉะนั้นก็ไปสู้รบตบมือกับมัน ผลักไสมัน มันก็ยิ่งทุกข์เพราะมันไม่ยอมไป แต่เพียงแค่รู้ทันเท่านั้นแหละ และเกี่ยวข้องกับมันให้ถูก รวมทั้งรู้จักใช้มันด้วย ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ใช้มันเพื่อฝึกสติ
มีคนเขาพูดไว้ดี เขาบอกว่าอารมณ์หรือความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเรามองเหมือนช่างปั้นหม้อมองดิน ช่างปั้นหม้อไม่เคยมองว่าดินคือปัญหา ช่างปั้นหม้อมองว่าดินคือวัตถุดิบที่จะใช้ปั้นหม้อ อารมณ์ทั้งหลายมันก็เป็นเหมือนวัตถุดิบ อย่ามองว่าเป็นปัญหา แต่มองว่าเป็น โอกาสที่จะทำให้เราได้สร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่า
สร้างสรรค์อะไร ก็สร้างสรรค์สติ ใช้อารมณ์พวกนี้มาฝึกสติ หรือฝึกขันติก็ได้ เหมือนกับที่ช่างปั้นหม้อไม่มองว่า ดินคือปัญหา ทั้งที่ดินก็สกปรก แต่ดินคือวัตถุดิบในการปั้นหม้อ ถ้าเรามองอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ทั้งภายนอกภายใน ว่ามันเหมือนกับเป็นวัตถุดิบ เป็นโอกาส ที่จะทำให้เราได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ นอกจากไม่แบกแล้ว ก็รู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ด้วย
เหมือนอย่างที่หลวงพ่อเทียนท่านบอก ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ แม้ว่าสิ่งที่คิดหรือความคิดที่ว่าเป็นความฟุ้งซ่าน แต่เอาความฟุ้งซ่านมาใช้เพื่อสร้างความรู้สึกตัว สติ เหมือนกับช่างปั้นหม้อที่เอาดินมาขึ้นรูปให้เป็นหม้อ เป็นถ้วย เป็นภาชนะที่งดงาม เราต้องฉลาดในการทำอย่างนั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักมองตน
ถ้าเราไม่มองตน ไปโทษสิ่งภายนอก มันก็จะขาดโอกาสที่จะได้เอาสิ่งเหล่านี้ เอาอารมณ์อกุศลเหล่านี้ มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ซึ่งถึงจุดหนึ่งมันก็เป็นอริยทรัพย์ได้