พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 30 ตุลาคม 2565
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด สำเร็จแล้วที่ใจ” พุทธภาษิตนี้เราคุ้นเคยกันดี เพราะสาธยายอยู่บ่อยๆ แต่บางทีก็ไม่ค่อยได้ใคร่ครวญดูเท่าไหร่ ที่จริงถ้าเราใคร่ครวญก็จะพบว่าเป็นความจริงเลยทีเดียว ที่เรียกว่าครอบคลุมหรือกำกับชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย แม้คนเราจะมีกาย แต่ตัวกำกับที่สำคัญก็หนีไม่พ้นใจ
คำว่า ‘ธรรมทั้งหลาย’ มีความหมายครอบคลุมรวมไปถึงเรื่องความสุข ความทุกข์ของคนเราด้วย
เวลาพูดถึงความสุข เราก็นึกถึงการมี การได้ การเสพ เสพทางตา เสพทางหู เสพทางปาก หรือการได้รับรสสัมผัสทางกาย อันนี้เป็นสิ่งที่คนเข้าใจและหมายปอง เวลาพูดถึงความสุขก็นึกหรือปรารถนาว่า ถ้าฉันได้มีโน่นมีนี่ ถ้าฉันได้กินนั่นกินนี่ ดูหนังฟังเพลง กินอาหารอร่อย หรือได้ครอบครองทรัพย์สมบัติ มีชื่อเสียงเกียรติยศ แล้วฉันจะมีความสุข ก็เลยไปให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่อยู่นอกตัว จนมองข้ามความสำคัญของใจไป
แล้วเป็นเพราะไม่ได้ใคร่ครวญให้ดี ก็เลยไม่ได้ตระหนักว่า แม้จะมีหรือได้ครอบครองสิ่งเหล่านั้นมาหรือได้เสพ แต่ถ้าใจไม่สอดคล้องหรือไม่ร่วมมือด้วย แม้ได้เสพสมปรารถนามันก็ไม่มีความสุข
อย่างเช่น กินอาหารที่อร่อย แต่ถ้าใจกังวลเรื่องงาน แม้อาหารจะปรุงด้วยเชฟฝีมือดีในร้านอาหารที่หรู แต่คนกินไม่มีความสุข ไม่ใช่เพราะอาหารไม่อร่อย แต่เพราะใจมันมีความกังวล กังวลเรื่องลูก กังวลเรื่องงาน พอกังวลเรื่องงาน เรื่องลูก หรือเรื่องพ่อแม่ แม้จะได้กินของอร่อย จะได้ฟังเพลงเพราะ ถามว่ามีความสุขไหม ไม่มีล่ะ
ไปเที่ยวต่างประเทศ ได้ไปชมสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ หมายมั่นจะไปเที่ยวหลายปีแล้ว ยอมเสียเงินเสียทองมากมาย ไปในที่ที่มันไปลำบากแต่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่ตระการตา อาจจะเป็นน้ำตกที่งดงาม หรือเกาะแก่งที่เป็นธรรมชาติล้วนๆ แต่ถ้ามีความ โกรธ มีความขุ่นมัวอยู่ในใจ แม้จะอยู่ต่อหน้าสิ่งที่สวยงาม สิ่งที่น่ารื่นรมย์ตระการตา มันไม่มีความสุขหรอกนะ อาจจะเพิ่งทะเลาะกับสามีภรรยาคู่ครองก่อนที่จะเดินทางมาถึงจุดนั้น อาจจะโทรศัพท์ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานซึ่งอยู่อีกประเทศหนึ่ง หรืออาจจะโมโหไกด์ที่ หลอกเอาเงินไป ถ้าใจมีความขุ่นมัว มีความโกรธ แม้ข้างหน้าจะเป็นทัศนียภาพที่สวยงามยิ่งใหญ่เพียงใด มันก็ไม่ได้มีความสุขเคลิ้มคล้อยไปด้วย
ลองสังเกตดูว่าเราเคยเป็นอย่างนั้น หรือมีเคยประสบการณ์แบบนั้นหรือเปล่า อาจจะฟังเพลง อาจจะไปดูคอนเสิร์ต บัตรนี่หลายพันหรือเป็นหมื่น แต่มีความห่วง ห่วงพ่อซึ่งเพิ่งเข้าโรงพยาบาลเมื่อสองสามวันก่อน แล้วมันจะมีความสุขไหม แม้ว่าสิ่งที่เสพจะเป็นสิ่งที่หายาก เป็นผลงานระดับโลก แต่ทำไมไมมีความสุข ก็เพราะใจ ใจมันไม่เคลิ้มไปด้วย ใจมันไม่ร่วมมือด้วย
เขาถึงบอกว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่” ความสุขของเราแม้จะเป็นความสุขอย่างโลกๆ อย่างความสุขจากการเสพ ยังไม่ต้องพูดถึงความสุขจากสมาธิภาวนานะ เอาแค่ความสุขจากการเสพที่เรียกว่ากามสุขเนี่ย มันจะสุขได้ ใจมันต้องร่วมมือด้วย ถ้าใจไม่ร่วมมือมันก็กลายเป็นความเบื่อได้ง่ายๆ
ที่จริงอย่าว่าแต่ความสุขเลยนะ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ต่อเนื่องหรือประจำ ไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือการรับรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก แม้เราจะรับรู้ได้ด้วยตา แม้หูเรายังดี แม้จมูกเรายังดี แต่ถ้าใจเราไม่ร่วมมือด้วย มันก็ไม่สามารถจะเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ ไม่สามารถจะได้ยินแม้กระทั่งเสียงที่กระทบหู
อย่างเช่นคนที่กำลังใจลอยอยู่ หรือคนที่กำลังเครียดกับงาน คนที่กำลังกลุ้มอกกลุ้มใจอยู่กับเรื่องคู่รัก พอเพื่อนเรียกนี่ไม่ได้ยินนะ หรือเสียงโทรศัพท์ดังแต่ไม่ได้ยิน ไม่ใช่ว่าเสียงไม่กระทบหูนะ เสียงนี่กระทบหูเต็มที่เลย แต่การรับรู้เสียงนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะใจมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น ใจมันไปอยู่ที่อื่น เรียกว่าใจไม่ร่วมมือด้วย
หรือเห็นคนผ่านหน้า มีคนผ่านหน้า แต่ถ้าใจกำลังลอยอยู่ แม้จะเป็นคนรู้จักมันก็ไม่มีอาการดีใจ เพราะตอนนั้นไม่ได้เห็น แม้ว่ารูปกระทบตา แต่ใจไม่ไปรับรู้ด้วย เพราะใจกำลังคิดถึงเรื่องวางแผนไปเที่ยว ใจมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น พอใจไม่ได้อยู่ตรงนั้น พอใครเดินผ่านไปผ่านมา แม้ว่ารูปกระทบตา แต่ไม่ได้เกิดความยินดียินร้ายอะไรเลย หรือไม่เกิดการรับรู้ เพราะอะไร เพราะใจมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น ใจมันอยู่ที่อื่น
จะรับรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก กับสิ่งที่กำลังเกิดผัสสะอยู่ข้างหน้า ใจมันต้องอยู่ตรงนั้นด้วย แต่ที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ใช่ว่าตาไม่ดี หูไม่ดี แต่เพราะใจไม่ไปรับรู้ ใจไม่ได้อยู่ตรงนั้น
แม้กระทั่งเรื่องพื้นๆ คือการรับรู้ ไม่ใช่ว่าต้องอาศัยแต่เฉพาะอายตนะทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น มันไม่พอ มันต้องอาศัยใจด้วย ใจนี่เป็นตัวการที่สำคัญเลยทีเดียว ถ้าใจไม่ร่วมมือมันก็เหมือนกับเปลวไฟที่มันไร้อากาศหรือออกซิเจน เปลวไฟถ้าไม่มี ออกซิเจนมันก็ดับเท่านั้นแหละ มันจะอยู่ได้ มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีออกซิเจน
การรับรู้ของคนเราก็ต้องอาศัยใจ แล้วไม่ใช่แค่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหรือมีอะไรอยู่ข้างหน้า บางทีมันมากกว่านั้น สิ่งที่เราเห็นมันก็ถูกกำหนดด้วยอารมณ์ความรู้สึกหรือจิตใจข้างใน เช่น ถ้าใจเราหม่นหมอง มันก็เห็นบรรยากาศรอบตัวหม่นหมองด้วย ทั้งๆ ที่แดดดี ฟ้าใส แต่สิ่งที่เห็นมันกลายเป็นความหม่นหมอง เพราะอะไร เพราะใจมันหม่นหมอง
หรือถ้าเกิดเรามีอคติกับใครบางคน เวลาเห็นหน้าเขา มันก็จะเห็นว่าเขามีอาการถมึงทึง ไม่ยิ้มแย้ม ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขาอาจจะยิ้มก็ได้ หรือแม้จะเห็นรอยยิ้มของเขา มันก็เห็นเป็นรอยยิ้มแบบแห้งๆ ฝืนยิ้ม ทั้งที่เขาอาจจะยิ้มด้วยความจริงใจ แต่ตอนนั้นเรามีอคติ อาจจะมี โทสาคติ (ลำเอียงเพราะโกรธ) มีภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว) เรานึกคิดออย่างไรมันก็เห็นอย่างนั้น ถ้าใจหม่นหมอง มันก็เห็นแต่สิ่งที่ชวนให้หม่นหมอง ถ้าใจมีอคติ มีความโกรธความเกลียด มันก็เห็นแต่ด้านที่เป็นลบของคนที่อยู่ข้างหน้าเรา
ในทางตรงข้าม ถ้าจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน แม้ว่าอากาศหม่นมัว แต่มันก็ยังรู้สึกว่าข้างนอกมันสดใส “อากาศดีจังนะ” ทั้งๆ ที่มันหม่นมัว แต่เจ้าตัวเขาพูดอย่างนั้นเพราะใจเขาสดชื่นเบิกบาน บางทีเห็นหน้าคนเขามีรอยยิ้ม เห็นหน้าเขาผ่องใส เพราะอะไร เพราะใจ เพราะข้างในใจของคนมองมันมีความสดชื่นเบิกบาน มีอารมณ์ดี
อันนี้เรียกว่า เห็นอะไร ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ในใจของคนนั้น รวมทั้งการรับรู้สิ่งต่างๆ จำแนกแยกแยะหรือความไวในการรับรู้ มันก็อยู่ที่ใจเหมือนกันนะ
มีผู้ชายสองคนเดินบนถนนซึ่งมีคนพลุกพล่าน รถราก็ขวักไขว่ ตอนนั้นเป็นตอนเช้าตรู่ สองคนนี้กำลังเดินคุยกันอยู่ สักพักคนหนึ่งก็หยุดแล้วเดินข้ามถนน เพราะฝั่งตรงข้ามมันมีสวน มีต้นไม้ ปลูกเป็นแนวเลย เสร็จแล้วเขาก็กลับมา เพื่อนก็ถามว่าข้ามถนนไปทำไม เขาบอกได้ยินเสียงจิ้งหรีดอยู่ตรงบริเวณสวนนั้น
เพื่อนก็แปลกใจ “ได้ยินได้ยังไงเนี่ย โอ้โห คนพลุกล่าน ไอ้เสียงจิ้งหรีดเนี่ย ชั้นไม่ได้ยินเลย แล้วคุณได้ยินได้ยังไง หูไวจัง” เขาบอกว่า “ก็ไม่เชิงหรอกนะ มันอยู่เพียงแต่ว่าเราสนใจอะไรมากกว่า เผอิญผมสนใจเรื่องจิ้งหรีด พอได้ยินเสียงจิ้งหรีดแม้อยู่ไกลๆ หรือเบาๆ ในถนนหรือในเมือง ก็ได้ยิน คนเราทุกคนมันก็ไว เพียงแต่มันจะไวเรื่องอะไร เดี๋ยวผมจะทดลองให้ดูนะ”
แล้วเขาก็หยิบเอาเหรียญออกมา เหรียญก็ราคาแพงนะ แล้วโยนลงบนนถนนเสียงดังกริ๊ง เสียงมันก็เบาเมื่อเทียบกับเสียงรถหรือเสียงคนพลุกพล่าน แต่ปรากฏว่ามีคนหลายคนที่เดินผ่านไปผ่านมาหันไปมองต้นเสียง
ทำไมเขาถึงได้ยิน เพราะเขาสนใจเรื่องเงินไง คนที่สนใจเรื่องเงินนี่นะ แม้เสียงเหรียญจะเบาแค่ไหนมันก็ได้ยิน ส่วนคนที่สนใจเรื่องธรรมชาติ แม้เสียงจิ้งหรีดจะเบามันก็ได้ยิน
อันนี้เรียกว่าการรับรู้ของคนเรานั้นอยู่ที่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ทางตาทางหู ฉะนั้นใจเป็นสิ่งสำคัญมากเลย และด้วยเหตุนี้ ความทุกข์ของคนเรามันก็อยู่ที่ใจด้วย มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งภายนอกหรอก สิ่งภายนอกก็มีส่วนสำคัญ แต่ทั้งหมดมันก็รวมมาอยู่ที่ใจ อย่างที่ยก ตัวอย่างว่า แม้จะได้กินอะไรที่อร่อย ฟังเพลงเพราะ ดูคอนเสิร์ตบัตรราคาแพง แต่ถ้าใจไม่ร่วมมือด้วย มันก็ไม่มีความสุข
และเป็นเพราะใจ ถ้าเราไม่ดูแลให้ดี มันก็สามารถจะเป็นที่มาของความทุกข์ของคนเราได้ แต่เป็นเพราะคนเราไม่ค่อยสนใจไตร่ตรองมองใจของตัวเองเท่าไหร่ เวลาเกิดความทุกข์ เกิดความไม่พอใจอะไรขึ้นมา ก็มักจะไปโทษสิ่งภายนอก แต่ไม่ได้ใคร่ครวญเลยว่า เป็นเพราะใจของเราหรือเปล่า
อย่างเช่นได้ไม้มาแผ่นหนึ่ง เห็นแล้วก็ไม่พอใจ “ทำไมไม้มันสั้นไป” เขาทุกข์เพราะเขาคิดว่าไม้มันสั้น แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะว่าเขาอยากได้ไม้ที่ยาว ไอ้ความอยากได้ไม้ที่ยาวอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจ ไม้มันก็เป็นธรรมดาของมันนั่นแหละ แต่ที่มันสั้นเป็นเพราะว่าต้องการไม้ที่ยาว พอต้องการไม้ที่ยาวแล้วไปเจอไม้แผ่นนี้ ก็เลยไม่พอใจ ไปคิดว่าเป็นเพราะไม้มันสั้น แต่ไม่ได้มองว่าที่จริงแล้วเป็นเพราะต้องการอยากได้ไม้ที่ยาว
ในทางตรงข้าม ได้ไม้มา “มันยาวไป เอาไม้แผ่นยาวอย่างนี้มาได้ยังไง” ก็ไปโทษว่าเป็นเพราะไม้มันยาว แต่ที่จริงอยากได้ไม้ที่สั้น ไอ้ความอยากได้ไม้ที่สั้นอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจ
แล้วพอคนไม่มองตรงนี้ ก็เลยไปคิดจัดการกับไม้ที่เห็น ถ้าไม่พอใจก็จัดการกับมัน เพื่อให้ได้ขนาดที่พอใจ แต่ลืมจัดการที่ใจของตัวว่า “เป็นเพราะเราอยากได้ไม้ที่ยาวหรือเปล่า หรือเป็นเพราะเราอยากได้ไม้ที่สั้นใช่ไหม”
หลายคนมีความทุกข์กับลูก อย่างที่เคยเล่า เรียนจบแพทย์ปีสี่ วันดีคืนดีก็มาบอกพ่อว่าขอลาออก ไม่ชอบ ทนเจอคนป่วย ทนเจอน้ำเหลือง ทนเจอเลือดไม่ไหวแล้ว อยากจะไปเรียนเอ็มบีเอ เพราะว่าชอบทางนี้ เพิ่งรู้ว่าชอบเรื่องการวิเคราะห์ด้านการเงิน พ่อนี่ช็อกเลยนะ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ไม่เป็นผู้ไม่เป็นคนเลย เพราะว่าทุ่มเทให้กับลูกคนนี้มาก เห็นว่าลูกคนนี้เรียนเก่ง สอบแพทย์ก็ได้อันดับต้นๆ เสียใจมาก
จนกระทั่งวันหนึ่งได้คิด มานึกถึงพี่ชายของตัวเอง พี่ชายเป็นอาจารย์แพทย์ แต่มีลูกพิการตั้งแต่เกิด นอนติดเตียง คนเป็นพ่อก็เครียดมาก ตอนหลังหันมากินเหล้าจนกระทั่งติดเหล้า แล้วก็ตายก่อนวัยอันควร ลูกซึ่งนอนติดเตียงก็ไม่รู้จะให้ใครดูแล
พอมองแบบนี้ก็คิดว่า เรานี่โชคดีกว่าพี่ชายเราเยอะเลยนะ ลูกเราก็ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ไม่ได้เกกมะเหรกเกเร แถมเขาตั้งใจเรียนแล้วพบว่าเขาชอบเรียนอะไร อยากจะมีอาชีพอะไร เมื่อเขารู้ว่าเขาใฝ่ฝันอะไรก็น่าจะเป็นเรื่องที่พ่อควรดีใจ เสร็จแล้วก็เลยรู้ว่า ไอ้ที่เราทุกข์นี่เป็นเพราะเราคาดหวังกับลูกมากเกินไป ไปคาดหวังในสิ่งที่ลูกไม่ได้เป็น แทนที่จะไปบังคับให้ลูกกลับไปเรียนแพทย์ต่อ เราก็มายอมรับความจริงของลูกว่าเขาชอบแบบนี้ เปลี่ยนความคาดหวังหรือยอมรับความคาดหวังเสียใหม่
ปรากฏว่าหายทุกข์เลยนะ กลับมากินได้นอนหลับ แต่ก่อนคิดว่าเราทุกข์เพราะลูกไม่รักดี แต่ที่จริงเป็นเพราะตัวเองนั่นแหละ คาดหวังในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น ไอ้ความคาดหวังอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ลูก
คนเราถ้าหากไม่กลับมามองใจ มันก็จะไปคิดว่าคนอื่นหรือสิ่งภายนอกเป็นเหตุแห่งทุกข์ มันก็ไม่ต่างจากคนที่เดินผ่านหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง แล้วจู่ๆ ก็ยกหินก้อนนั้นขึ้นมาแล้วแบกไว้ ระหว่างที่แบกก็บ่นว่า “มันหนักๆ ไม่ไหวแล้วๆ หนักเหลือเกินๆ” แต่เขาก็ไม่ยอมวาง ในใจเขาคิดว่าเป็นเพราะหินนี่แหละนะ มันทำให้เขาทุกข์ แต่ถ้าเราใคร่ครวญดู ถ้าเราเป็นคนนอก เราจะตอบว่าอย่างไร เขาทุกข์เพราะอะไร เขาทุกข์เพราะหินหรือเขาทุกข์เพราะแบก คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าทุกข์เพราะหิน แต่ไม่ได้มองว่าจริงๆ มันทุกข์เพราะแบก เพียง แต่ว่าสิ่งที่แบกมันไม่ได้แบกด้วยมือหรือแบกด้วยกาย แต่แบกด้วยใจ
ความทุกข์ใจของคน มันก็ไม่ต่างจากความทุกข์ของชายคนนี้ คือไปคิดว่าคนนั้นคนนี้ทำให้ทุกข์ แต่ที่จริงเป็นเพราะไปแบกมากกว่า อันนี้เรียกว่ามองหาเหตุแห่งทุกข์ผิด เราก็เรียนเรื่องอริยสัจสี่มานานตั้งแต่เล็ก คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่พอพูดถึงสมุทัยนี่เรียกว่ามองผิดๆ กันเยอะเลย ไปมองว่าที่เราทุกข์ก็เพราะหิน ไม่ได้คิดไม่ได้ตระหนักว่าทุกข์เพราะแบกต่างหาก
ถ้ารู้ว่าทุกข์เพราะแบก ทางออกจากทุกข์คืออะไร ก็คือวาง แต่ถ้าไปคิดว่าทุกข์เพราะหิน มันก็มีแต่จะคิดหาทางจัดการกับหินก้อนนั้น ทำยังไงให้หินมันแตก ให้คนมาช่วยตีให้มันแตก เอาค้อนมาทุบ เอาปั้นจั่นมาพยุงมันแทน หรือไม่ก็ไปเรียกให้คนมาแบกแทนเรา หรือแบกร่วมกับเรา ถ้าเขาไม่มาแบกร่วมกับเราก็ไปว่าเขา ไปโกรธเขา
เราพยายามทำทุกอย่าง แต่สิ่งที่ไม่ได้ทำก็คือ วางมันลง เพราะไม่ได้ตระหนักว่าสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ คือการแบก และสิ่งที่แบกมันอาจจะเป็นอะไรได้ร้อยแปดเลย อาจจะเป็นความคาดหวังที่มีต่อลูก ความคาดหวังที่ไม่เป็นจิง ความคาดหวังที่มีต่อคนอื่นในสิ่งที่ เขาไม่ได้เป็น อาจจะเป็นเรื่องหนี้สิน อาจจะเป็นเรื่องการไปเที่ยว อาจจะเป็นเรื่องเงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ แล้วก็ไปคิดว่าที่เราทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งนั้นมา หรือได้ไม่สมอยาก แต่ที่จริงมันทุกข์เพราะว่าความอยากในใจของตัวเอง หรือความยึดมั่นถือมั่นมากกว่า
ถ้าเราไม่รู้จักมอง มันก็ไม่เห็น แล้วก็ง่ายที่จะไปโทษสิ่งภายนอก แต่ถ้าเรารู้จักมองก็จะเห็นว่า ใจนี่เป็นตัวการที่สำคัญของทุกเรื่องในชีวิตเราเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับรู้โลกรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นความสุข ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ อย่าว่าแต่ทุกข์ใจหรือสุขใจเลย แม้ กระทั่งทุกข์กายหรือสุขกายมันก็มีใจเป็นองค์ประกอบร่วมที่สำคัญ แล้วยิ่งความทุกข์ใจด้วยแล้ว ใจนี่เป็นตัวการล้วนๆ เลยก็ว่าได้
พอปรับที่ใจมันก็หายทุกข์ อย่างพ่อคนที่ว่า พอเข้าใจว่าตัวเองทุกข์เพราะอะไร หรือพอลดความคาดหวังหรือปรับความคาดหวังในตัวลูก ยอมรับว่าลูกเขาก็เลือกหนทางที่ดีสำหรับเขา หรือยอมรับว่าเราก็โชคดีกว่าพี่ชาย พี่ชายเรายังเคราะห์หนักกว่าเราเยอะเลยนะ เรานี่โชคดีกว่าพี่ชายเยอะ แค่นี้ก็น่าจะพอใจแล้ว
แต่เป็นเพราะเราต้องการอะไรที่มันมากไปกว่านั้น แล้วก็ไม่พอใจสิ่งที่มี ได้สิ่งดีๆ แล้วก็ยังไม่พอใจ อยากจะได้มากไปกว่านั้น มันก็เลยทุกข์ “สิ่งที่ได้มามันก็ดีอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะอยากจะได้มากกว่านั้น” พอยอมรับหรือพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ มันก็หายทุกข์เลยนะ
นี่ก็เป็นเรื่องของใจที่รู้จักปรับใจ เพราะรู้ว่าเหตุแห่งทุกข์ที่แท้ก็คือใจนั่นเอง ใจในที่นี้ก็หมายถึงความยึดติดถือมั่น หรือความคาดหวัง หรืออุปาทาน
ฉะนั้น ให้พยายามกลับมาดูใจของเราอยู่เรื่อยๆ ดูใจบ่อยๆ มันก็จะเห็นความจริงของตัวเอง และเห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษาใจ รวมทั้งการฝึกใจและรู้จักปรับเปลี่ยนใจ ให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริง