พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 29 ตุลาคม 2565
เมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีโอกาสได้ไปประเทศภูฏาน ได้มีโอกาสพบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคน นอกเหนือจากพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งนับถือนิกายวัชรยาน มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เรียกว่าระดับปลัดกระทรวง สูงมาก แต่ว่าก็เป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของคนภูฏาน
ความรู้ท่านก็สูง เพราะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในเมืองนอก มหาวิทยาลัย oxford แต่ว่าก็มีความเป็นคนภูฏานมากเลย ข้าราชการท่านนี้พื้นเพเป็นคนชนบท และก็คงจะได้รับการหล่อหลอมจากประเพณีวัฒนธรรมแบบพุทธ โดยเฉพาะวัฒนธรรมอย่างชนบท ที่คงซึมซับไปเยอะเลยทีเดียว และคิดว่าคนที่มีอิทธิพลต่อข้าราชการท่านนี้ คนหนึ่งก็คือย่า
ข้าราชการท่านนี้ครั้งหนึ่งเคยเล่าว่า ตอนเป็นเด็กอายุได้ประมาณสัก 10 ขวบ มีเหตุการณ์หนึ่งที่ประทับใจในตัวย่ามาก คือตอนนั้นมีหนูมากวน มันชอบมาแอบกินข้าวในถุง ในยุ้ง ก็กินมาเป็นเดือนแล้ว จนกระทั่งกลัวว่ามันจะออกลูกออกหลาน ย่าก็เลยหาทางจับหนูตัวนี้ โดยวางกับดัก กับดักนี่ก็ทำง่ายๆ เอาข้าวก้อนหนึ่งมาวางไว้บนแผ่นกระดาน แล้วก็เหนือแผ่นกระดานนั้นก็มีหม้อดินเผา ซึ่งถูกค้ำด้วยไม้ ซี่ไม้ประมาณสัก 6 นิ้ว นึกภาพนะ มีไม้ค้ำหม้อดินเอาไว้ที่อยู่เหนือก้อนข้าว กับดักนี้ก็อยู่ไม่ไกลจากเตาหุงข้าว
ทุกเช้าเด็กชายตื่นขึ้นมา ก็จะไปดูว่าหนูติดกับดักหรือเปล่า แต่ว่าวันแล้ววันเล่า หนูนี่ กับดักทำอะไรมันไม่ได้เลย มันสามารถที่จะไปคาบเอาก้อนข้าว โดยที่ไม่วิ่งไปชนซี่ไม้ เพราะว่าถ้าชน หม้อดินก็จะตกลงมาแล้วก็ครอบหนูเอาไว้ เป็นกับดักง่ายๆ แต่ว่าทุกวันเลย มันก็มาคาบเอาก้อนข้าวไปได้ โดยที่ไม่เคยถูกกับดักนี้ครอบเลย เพราะว่ามันไม่วิ่งไปชนซี่ไม้
และที่น่าแปลกคือว่ามันไม่ได้มากินข้าว หรือคาบเอาข้าวไปตอนกลางคืน มันมาคาบเอาข้าวไปตอนเช้าตรู่ ตอนที่ย่าเริ่มจะหุงข้าว พอตั้งไฟ เอาแล้วมันมาแล้ว แล้วเด็กชายก็คอยดูว่า หนูมันจะไปชนซี่ไม้หรือเปล่า แต่มันก็ไม่เคยชนสักที สามารถเอาข้าวกลับไปกินได้ และระหว่างที่หนูมันมาวิ่งวนรอบๆ กับดัก ย่าก็หุงข้าว ระหว่างที่ย่าหุงข้าว ย่าก็ไม่สนใจเลยนะ ไอ้หนูตัวนี้ ย่าก็จดจ่ออยู่กับการหุงข้าวแล้วก็สวดมนต์ไปด้วย ขณะที่เด็กคอยลุ้นว่าเมื่อไหร่มันจะถูกกับดักครอบสักที
แต่ละวันๆ หรือแต่ละเช้าผ่านไป โดยที่เด็กนี่รู้สึกผิดหวัง แต่ย่านี่ไม่รู้สึกอะไรเลย มันคาบเอาข้าวไป ก็ไม่เป็นไร กลางคืนก็เอาข้าวมาวางใหม่แล้ว ตอนเช้าหนูมันคาบไป ย่าไม่ว่าอะไร ย่าก็เอาข้าวมาวางใหม่ เป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 อาทิตย์ เด็กนี่ก็รู้สึกหงุดหงิด ว่าทำไมจับไม่ได้สักที แต่ย่านี่เฉยๆ ดูเหมือนจะไม่สนใจเลย แต่จะว่าไม่สนใจก็ไม่ได้นะ เพราะทุกวันก็เอาข้าวมาวางไว้แทนของเดิมที่ถูกหนูคาบไป
ย่าจดจ่อใส่ใจอยู่กับการหุงข้าวมากกว่า หุงไปด้วยก็สวดมนต์ไปด้วย อันนี้เป็นธรรมดาของคนชราในภูฏาน พออายุมาก เรื่องไร่นาก็ไม่ทำแล้ว บางทีก็เข้าวัด บางทีจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ กลับมาบ้านก็สวดมนต์ สวดทั้งวัน แต่ก็ทำงานไปด้วยนะ ทำไปด้วยสวดไปด้วย
หลังจากผ่านไปประมาณ 3 อาทิตย์ ปรากฏว่าสุดท้ายไอ้หนูตัวนี้มันพลาด มันคาบข้าวเสร็จแล้วมันก็ไปชนกับซี่ไม้ ทำให้หม้อดินตกลงมาครอบหนูเอาไว้ เด็กซึ่งเฝ้าดูมา 3 อาทิตย์แล้ว ลุ้นมาทุกวัน พอเห็นหนูติดกับดัก โอ๊ย ดีใจใหญ่เลย ตะโกนบอกย่า ย่าหนูมันติดแล้ว แต่ย่านี่เฉยๆ ทั้งที่ย่านี้ก็รอมา 3 อาทิตย์เหมือนกัน
ย่าก็ทำงานของตัวเองไป หุงข้าว ทำกับข้าวไป ไม่ได้สนใจหนูเลย ทั้งที่เป็นคนวางกับดักแท้ๆ พอหุงข้าวเสร็จก็กินข้าว เรียกลูกเรียกหลานมากินข้าว ต่อเมื่อกินข้าวเสร็จย่าจึงเริ่มขยับ เอาข้าวแห้งห่อไป หลานเห็นก็รู้แล้วย่ากำลังจะเดินทาง เพราะเวลาจะเดินทางต้องห่อข้าว ย่าห่อข้าวจะเดินทางไปไหน เด็กนี่ก็เฝ้าดูว่าย่าทำอะไร ย่าก็เอากับดักหนูเทินหัว แล้วก็เดินออกจากบ้านเดินไปเรื่อยๆ
ออกจากหมู่บ้านไปถึงชายป่า ไม่ได้หยุดแค่นั้น เดินต่อไป เข้าไปในป่า อากาศมันก็หนาวมาก ภูฏานช่วงนั้นเป็นหน้าหนาวด้วย ลำธารที่ย่าเดินข้ามนี่กลายเป็นน้ำแข็งเลย แต่ย่าก็ยังเดินไปเรื่อยๆ อายุก็มากแล้ว ทางเดินก็ลำบาก หนาวก็หนาว เทินกับดักหนูเข้าไปในป่า เดินไปถึง 2 ชั่วโมงเลย
เข้าไปทำไมในป่า ในป่ามันมีต้นโอ๊คใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ลูกโอ๊คกำลังตกลงมา มีกระรอก มีสัตว์นานาชนิดมากินลูกโอ๊คที่ตกพื้น ย่าไปจุดนั้นเพราะอะไร เพราะว่าจะได้ปล่อยหนูตัวนั้น ปล่อยหนูตัวนั้นให้มันได้มากินอาหาร เจอแหล่งอาหาร ย่าเดินเข้าไปในป่า 2 ชั่วโมง เดินต่อไปอีก 2 ชั่วโมงเป็น 4 ชั่วโมง เพียงเพื่อที่จะปล่อยหนูตัวนั้น ให้มันได้กินอาหารที่อุดมสมบูรณ์
หลานนี่ประทับใจมากเลย ว่าย่ามีเมตตากับหนู ทั้งที่หนูตัวนี้มันก็มาคอยก่อกวนถุงข้าวหรือยุ้งข้าวในบ้าน แต่ย่าก็ไม่ได้มีความรังเกียจมันเลย กลับมีเมตตา พามันไปปล่อยในที่ที่ดีกว่า มีอาหารอุดมสมบูรณ์กว่า อันนี้ก็เป็นน้ำใจหรือความเมตตาของย่า ที่เด็กชายคนนี้ประทับใจมาก
แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่ย่าทำมีมากกว่านั้น แล้วก็อาจจะเป็นสิ่งที่เด็กคนนี้ประทับใจเหมือนกัน แต่ว่าเขาก็ไม่ได้พูดชัดเจน แต่ว่าดูแล้วสิ่งที่ย่าทำมันคือการปฏิบัติธรรม การดักหนูของย่ามันเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งเลยทีเดียว ปฏิบัติธรรมในเรื่องอะไร ปฏิบัติธรรมในเรื่องการปล่อยวาง ในเรื่องการทำงานอย่างปล่อยวาง
คือเวลามีปัญหาย่าก็ไม่ปล่อยปละละเลย ปัญหามันเกิดจากหนู ย่าก็ไม่ปล่อยปละละเลย ก็หาทางที่จะจัดการกับหนูตัวนี้ วิธีจัดการก็คือจับมันให้ได้ ด้วยการวางกับดัก แต่วางกับดักแล้ว พอทำเสร็จแล้ว ย่าก็ไม่ได้ให้ความสนใจว่าหนูมันจะติดกับดับเมื่อไหร่ ก็ทำงาน อย่างอื่นไป ไม่ได้จดจ่อ ไม่ได้คอยลุ้น ว่าเมื่อไหร่หนูมันจะติดกับดัก ไม่เหมือนกับเด็ก เด็กนี่ลุ้นทุกเช้าเลย แต่ย่านี่เหมือนกับไม่สนใจเลย
คือในเมื่อทำเหตุทำปัจจัยพร้อมแล้ว ผลมันจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย ที่ย่าคุมไม่ได้ ย่าก็รอคอยเพียงแต่ว่าเมื่อไหร่ผลมันจะเกิดขึ้น คือหนูติดกับดัก ระหว่างที่หนูยังไม่ติดกับดัก ก็ทำอย่างอื่นไป ทำโน่นทำนี่ไป ผ่านไป 2 อาทิตย์ 3 อาทิตย์ ก็ไม่ได้หงุดหงิด ไม่ได้รำคาญเลย ว่าเมื่อไหร่มันจะติดกับดักเสียที
อันนี้เป็นการปล่อยวางแบบหนึ่ง ปล่อยวางไม่ได้แปลว่าไม่ทำอะไรเลย ทำเหมือนกัน แต่ว่าทำในที่นี้คือสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ครบถ้วน ส่วนผลสำเร็จจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็ทำหน้าที่แค่คอย ระหว่างที่คอยก็ไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีความวิตกกังวลอะไร ก็ทำอย่างอื่นไป ครั้นพอจับหนูได้ ก็ไม่ได้ลิงโลดอะไร ไม่เหมือนเด็ก เด็กดีใจใหญ่เลย แต่ย่านี่เฉยๆ รู้ว่าจับได้แล้วก็ยังทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งกว่านั้นก็คือจับหนูได้ก็เอาไปปล่อยเลย
ถ้าหนูมันเป็นอุปมาเหมือนกับความสำเร็จ สิ่งที่ย่าทำก็คือว่าคืนความสำเร็จให้กลับสู่ธรรมชาติ อันนี้คล้ายๆ กับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสว่า ยกผลงานให้เป็นของความว่าง คนเราพอเวลาทำอะไรก็ตาม มันจะคอยลุ้น หรือมีความวิตกว่าเมื่อไหร่จะสำเร็จๆ อย่างเวลาเราเดินทาง หลายคนก็เครียดว่าเมื่อไหร่จะถึงเสียทีๆ แต่ถ้าเป็นย่า ถึงต่อเมื่อมันถึง ระหว่างที่ทำ เมื่อทำแล้วก็ไม่ได้ลุ้นว่าเมื่อไหร่มันจะสำเร็จ สร้างเหตุสร้างปัจจัยแล้ว ความสำเร็จจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่คุมไม่ได้
นี่ก็คือการทำงานแบบปล่อยวางอย่างหนึ่ง คือปล่อยวางในผล สร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ดี ส่วนผลมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราคุมไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือรอ แล้วพอผลสำเร็จเกิดขึ้น ก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่านี่เป็นความสำเร็จของกูๆ แต่คนส่วนใหญ่พอทำงานสำเร็จ มันจะยึดว่าเป็นของกูๆ เวลาใครมาแตะ เวลาใครมาวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะไม่พอใจ หรือบางทีก็กลัวว่าเขาจะมาแย่งผลงานของฉันไป มีความหวงแหนในผลงาน
แต่สิ่งที่ย่าทำ มันเป็นอุปมาเลยนะ ว่าเมื่อทำสำเร็จแล้วไม่ยึดว่าเป็นของเรา จับหนูได้ก็ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เวลาเราทำงาน ถ้าเราทำงานแบบนี้บ้าง มันจะไม่เครียด ก็คือว่าสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ดี ส่วนผลสำเร็จจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่ต้องไปวิตก ไม่ต้องไปกังวล ก็เพียงแต่คอย ว่าผลมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
แต่คนเดี๋ยวนี้มีความเครียดมาก เครียดกับผล เครียดกับความสำเร็จ ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทั้งที่มันเป็นเรื่องของอนาคต และก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้ ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานอะไรก็ตาม จะเป็นการปลูกต้นไม้ ทำสวน จะเป็นงานที่ใช้ความคิด หรือแม้แต่เป็นการเดินทาง สิ่งที่เราทำได้คือเดินไปเรื่อยๆ ส่วนจะถึงเมื่อไหร่ มันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย แต่ขณะเดินทาง แม้กระทั่งไปเที่ยว หลายคนก็เครียด เมื่อไหร่จะถึงสักทีๆ หลวงพ่อคำเขียนก็ชอบพูดอยู่เสมอว่า ถึงต่อเมื่อมันถึง หรือสำเร็จต่อเมื่อมันสำเร็จ นี่ก็เรียกว่าเป็นการปล่อยวาง
บางทีเราไปคิดว่าปล่อยวางก็คือไม่ทำอะไรเลย ที่จริงตรงข้าม ปล่อยวางนี่มันก็เกิดขึ้นได้พร้อมๆ กับการทำงาน ทำไปด้วย ปล่อยวางไปด้วย และเพราะผลมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้ลิงโลดดีใจ และก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราๆ ถ้าเราทำงานด้วยใจที่ปล่อยวางแบบนี้ได้ มันจะเครียดน้อยลง แล้วก็จะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกับผู้คนน้อยลง
ที่จริงการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติธรรม ถ้าเราปฏิบัติด้วยการรู้จักปล่อยวางบ้าง ก็คือว่าเราก็ปฏิบัติให้เต็มที่ เดินจงกรมสร้างจังหวะ ทำทั้งวัน ทำตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ส่วนผลมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่ต้องไปพะวง ไม่ต้องไปจดจ่อ แต่ว่าหลายคนทำไม่ได้ เวลา ปฏิบัติ เจริญสติ ทำสมาธิ ความเครียดไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าเหนื่อยกาย แต่มันเหนื่อยใจ ว่าเมื่อไหร่จะสงบสักที หรือเมื่อไหร่สติมันจะเติบโต จะรู้ทันความคิดสักที คอยแต่เฝ้ามอง ชะเง้อหาผล ว่าว่าเมื่อไหร่มันจะเกิดขึ้นๆ อย่างที่ตั้งใจ
การเจริญสติ โดยเฉพาะแบบหลวงพ่อเทียน มันเป็นการฝึกให้เรารู้จักปล่อยวางจริงๆ เวลาเราปฏิบัติ เราก็ทำเต็มที่ แล้วก็ไม่ต้องไปดักจ้อง ไม่ต้องไปดักจ้องความคิด ว่าเมื่อไหร่มันจะคิด ถ้ามันคิดเมื่อไหร่ก็จะไปตะปบมัน แต่พอมันเผลอคิดไป หลายคนก็หงุดหงิด คิดอีกแล้ว ทำไมไม่รู้ทันความคิดสักที
บางคนปฏิบัติไปๆ ความคิดมันไม่หยุด ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งกดข่มมันเท่าไหร่ มันก็ยิ่งผุดยิ่งโผล่ ใจไม่สงบสักที สุดท้ายโมโหตัวเอง เอารองเท้าแตะฟาดหัวตัวเอง ทำไมมันคิดมากเหลือเกิน ทั้งที่ปฏิบัติเพื่อความรู้สึกตัว เพื่อมีสติ แต่ว่าทำไปๆ กลับขาดสติ กลับไม่รู้สึกตัว อันนี้เพราะว่าจิตมันไปเพ่งเล็งอยู่ที่เป้าหมายมาก มันต้องการทำให้เกิดความสำเร็จอย่างที่ต้องการ อันนี้เรียกว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบันแล้ว
ถ้าอยู่กับปัจจุบันก็คือการประกอบเหตุให้เต็มที่ ประกอบเหตุคืออะไร ก็เดิน หรือยกมือ รู้บ้างไม่รู้บ้างก็ช่างมัน ปล่อยให้สติมันทำงาน แทนที่จะไปทำงานแทนสติ หรือไปแย่งงานจากสติ ตรงนี้วางใจยาก หลายคน เวลาใจมันคิดไปหลายเรื่องหลายราว กว่าจะรู้ตัวก็คิดไปแล้ว 10 เรื่อง ก็ไม่พอใจ ว่าเผลอคิดนานไป อยากจะรู้ทันให้ไวกว่านี้ ก็เลยไปดักจ้อง หรือมิฉะนั้นก็ไปพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด
แต่ที่จริงแล้ว ที่ถูกก็คือว่าทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องตั้งใจ ไม่ต้องพยายามที่จะไปดักจ้องความคิด มันเผลอคิดไปสักพัก เดี๋ยวมันก็รู้ตัวเอง เผลอคิดไปสักพักเดี๋ยวมันก็รู้ตัวเอง ปล่อยให้สติมันทำงาน ใหม่ๆ สติมันก็ทำงานช้า แต่ต่อไปสติก็จะทำงานได้เร็วขึ้นๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เราคุมไม่ได้ ผลเป็นสิ่งที่เราคุมไม่ได้ สิ่งที่เราคุมได้คือสร้างเหตุเท่านั้นแหละ
ฉะนั้นถ้าเรารู้จักวางใจแบบนี้ การปฏิบัติมันก็จะไม่เพียงแต่ทำให้เรามีสติ รู้ตัวได้ไว รู้ทันความคิดได้เร็ว แต่เราจะได้อีกอย่างหนึ่ง คือการรู้จักปล่อยวาง ตรงนี้สำคัญมากเลยนะ การรู้จักปล่อยวาง โดยเฉพาะปล่อยวางในผล ปล่อยวางมันไม่ใช่เรื่องที่ยาก บางทีไปนึกถึงการปล่อยวางเรื่องยากๆ เช่น ปล่อยวางเรื่องตัวตน หรือละความหลงผิดในตัวตน ไม่มีความยึดมั่น หรืออุปาทานในขันธ์ 5 ปล่อยวางขันธ์ 5 ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อันนี้มันยากอยู่นะ
แต่สิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่แรกเริ่มเลยคือการรู้จักปล่อยวางผล ทำเหตุให้ดี ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปจดจ่อ ไม่ต้องไปเร่ง เพราะว่าถ้าเราไปจดจ่อที่ผล อันนั้นเรียกว่าใจไม่ได้อยู่กับปัจจุบันแล้ว ใจไปอยู่กับอนาคต เวลาเดินทาง ถ้าใจเราไปอยู่กับจุดหมายปลายทาง อันนี้เรียกว่าไม่อยู่กับปัจจุบัน หรือแม้แต่เวลาทำงานทางโลก ทำไปๆ เสร็จแล้วเอาแต่บ่นว่าเมื่อไหร่จะเสร็จๆ อันนี้เรียกว่าใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ไปอยู่กับอนาคต
เรามาฝึกสติเพื่อให้ใจอยู่กับปัจจุบัน การอยู่กับปัจจุบันก็คือการรู้จักวางอดีต วางอนาคต เราอาจจะยังวางขันธ์ 5 ไม่ได้ แต่วางอดีต วางอนาคตนี่ เราทำได้ ฝึกได้ไม่ยาก รวมทั้งการวางผลสำเร็จ หรือการวางผลที่ต้องการบรรลุ อยู่กับปัจจุบัน สร้างเหตุให้ดี ส่วนผลมันจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปพะวงมาก ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวผลมันแสดงตัวออกมาเอง เจริญสติไปเรื่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ ยกมือสร้างจังหวะไปเรื่อยๆ ทำความรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็เห็นความคิดได้เร็วขึ้น เดี๋ยวมันก็รู้ทันความคิดได้ไวขึ้น มันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะควบคุมได้ แต่ถ้าเราจะไปพยายามควบคุมให้มันเกิดขึ้นอย่างที่ใจเราปรารถนา เราก็จะเครียด เพราะว่ามันจะไม่เป็นไปอย่างที่ใจเราปรารถนา
ฉะนั้นการเจริญสติ เราฝึกปล่อยวางได้ทันทีเลย ด้วยการที่เอาใจมาอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งไปสนใจผล มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องของอนาคต ขอให้เราอยู่กับปัจจุบัน อันนี้ก็คล้ายกับย่าของคนที่เล่า วางกับดักหนู ส่วนหนูจะติดเมื่อไหร่ เป็นเรื่องที่ย่าคุมไม่ได้ ย่าก็ทำงานของตัวเองไป ไม่รู้สึกหงุดหงิดที่หนูไม่ติดกับดักเสียที และถึงเวลาที่หนูติดกับดัก คือประสบความสำเร็จ ก็ไม่ได้ดีใจอะไร แถมยังเอาความสำเร็จนั้นไปปล่อย ไปทิ้งไว้ในป่าด้วย อันนี้เรียกว่าเป็นอุปมาของการทำงานอย่างปล่อยวาง ที่เราน่าจะเรียนรู้ได้