พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 27 ตุลาคม 2565
ที่สวนโมกข์ ไชยา ของท่านอาจารย์พุทธทาส มีภาพวาดภาพหนึ่งอยู่ที่โรงมหรสพทางวิญญาณ เป็นภาพวาดแบบเซน ภาพนั้นมีเสือตัวใหญ่ตัวหนึ่งนอนหลับพริ้ม ดูไม่น่ากลัวเลยนะ ข้างๆ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งนอนหลับด้วย หัวก็ไปเกยกับหัวของเสือเลยทีเดียว ดูเป็นภาพที่แฝงความหมายทางธรรมเอาไว้ แต่หลายคนดูแล้วก็นึกไม่ออกว่าผู้วาดต้องการสื่ออะไร ก็ตีความไปได้หลายแง่หลายมุม
ถ้าเราพิจารณาภาพนี้ การที่เสือนอนหลับแล้วชายผู้นั้นก็หลับด้วย มันก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว แต่ถ้าเกิดเสือตื่นขึ้นมาแล้วชายคนนั้นหลับอยู่จะเกิดอะไรขึ้น ก็คงจะโดนเสือขม้ำ อันนี้ท่านผู้วาดก็คงต้องการที่จะสะท้อนถึงสภาวะจิตของผู้ปฎิบัติจำนวนมาก ที่ปฎิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาแล้วเกิดความสงบ ในตอนนั้นกิเลสก็จะสงบลง เวลาเราภาวนาแล้วพบกับความสงบในใจ นั่นหมายความว่ากิเลส ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ราคะ โทสะ มันสงบลง
ในภาวะเช่นนั้นมันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าหากปล่อยให้สติมันหลับไปด้วย ไม่ใช่แค่กิเลสสงบ แต่สติก็พลอยสงบหรือหลับไปด้วย ดูเผินๆ ก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าเกิดกิเลสตื่นขึ้นมา แล้วสติยังหลับอยู่หรือไม่ตื่นตามอย่างทันท่วงที มันจะเกิดอะไรขึ้น มันก็ไม่ต่างจากเสือที่ตื่นขึ้นมาแล้วชายคนนั้นยังหลับอยู่ ก็โดนเสือกัด
กิเลสถ้ามันตื่นขึ้นมาแล้ว แต่สติยังไม่ตื่นตามมาด้วย ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที
ภาพนี้จะว่าไปก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจนักภาวนาว่า เวลาทำสมาธิภาวนา แม้ว่ากิเลสจะสงบลง รวมทั้งนิวรณ์ไม่มารบกวน ไม่ว่าจะเป็นกามฉันทะหรือพยาบาท แต่ก็อย่าปล่อยให้สติหลับไปด้วย เพราะถ้าสติหลับหรือสติไม่ทำงาน เมื่อใดก็ตามที่มีอะไรมากระทบแล้ว ทำให้กิเลสมันฟูขึ้นมาหรือตื่นขึ้นมา จิตของผู้นั้นก็แย่เลยนะ
และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักภาวนาจำนวนมาก เพราะหลายคนเวลาภาวนาก็อยากให้จิตสงบ แต่เป็นความสงบแบบขาดสติ ก็คือไปเพลินกับความสงบ เมื่อมีความสุขจากความสงบแล้วไม่เห็นมัน หรือไปเพลินกับความสงบจนกระทั่งไม่รู้เนื้อรู้ตัว อันนี้ก็ไม่ต่างจากชายคนนั้นที่นอนหลับอยู่ข้างเสือ ตราบใดที่เสือยังไม่ตื่นก็ยังปลอดภัย แต่ถ้าเสือตื่นเมื่อไหร่แล้วชายคนนั้นยังหลับอยู่ก็เสร็จ
นักภาวนาจำนวนมาก เวลาสงบแล้วก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะไปดื่มด่ำกับความสงบ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความหลงอย่างหนึ่งเหมือนกัน ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่พอมีอะไรมากระทบโดยเฉพาะอนิฏฐารมณ์ รูปรสกลิ่นเสียงที่ไม่น่าพอใจ กระทบแล้วเกิดโทสะขึ้นมาเกิดหงุดหงิดขึ้นมา ก็โดนโทสะหรือความหงุดหงิดนั้นเล่นงานเลยนะ อาจจะทำให้เกิดความหัวเสียหรือเผลอพูดโวยวายด่าทอออกไป
อันนี้ก็เห็นได้บ่อยนะ คนที่ชอบนั่งสมาธิ แต่พอมีอะไรมากระทบก็เอะอะโวยวาย ต่อว่าด่าทอแสดงความโกรธออกมา
มีผู้ชายคนหนึ่ง แกไปนั่งเข้าคอร์สระยะสั้นหนึ่งวัน นั่งสมาธิในห้องหรือศาลาที่ปฏิบัติติดแอร์ เสียงจากภายนอกก็ไม่ค่อยมารบกวนเท่าไร อากาศเย็นสบาย นั่งหลับตาตามลมหายใจ จนกระทั่งความคิดมันหายไป ไม่มีอารมณ์กระเพื่อมเกิดขึ้น คนอื่นก็เหมือนกันนะ คนอื่นเขาก็ปฏิบัติด้วยความสงบ ไม่มีคนมาพูดจารบกวนการปฏิบัติ ก็ทำให้สงบได้เร็วได้ไว
ทำไปได้จนถึงเย็น ถึงเวลากลับบ้านก็เดินไปที่รถ ปรากฏว่ารถของตัวเองออกไม่ได้ เพราะข้างหน้าก็มีรถ ข้างหลังก็มีรถ แถมยังมีรถข้างๆ มาจอดซ้อนอีก แกโกรธมากเลยนะ เห็นแบบนี้แล้วคิดว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก ก็เลยโกรธหลุดปากด่าเจ้าของรถที่มาจอดซ้อนคัน คนที่เห็นเหตุการณ์เขาก็ตกใจเลยนะ นี่เพิ่งเข้าคอร์สมาหยกๆ แต่ทำไมอารมณ์รุนแรงแบบนั้น บางทีคนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติก็ยังไม่ได้ส่งเสียงดังขนาดนั้น
นี่ก็เปรียบเหมือนกับชายที่นอนอยู่ข้างเสือ เสือมันหลับ ตัวเองก็หลับด้วย แต่พอเสือตื่นแล้วตัวเองยังไม่ทันตื่น ก็โดนเสือเล่นงาน
ในการภาวนา หลายคนมุ่งที่ความสงบ แล้วก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของสติหรือความรู้สึกตัว ซึ่งมันก็สามารถจะเกิดโทษได้นะ สงบแต่ไม่มีสติ พอมันเกิดโทสะเมื่อไหร่ สติตามรู้ไม่ทัน ก็อาจจะด่าทอหรืออาละวาดขึ้นได้
อันนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นจากนักภาวนาหรือคนที่ผ่านคอร์ส หลายคนพอกลับบ้าน เข้าคอร์สห้าหกวันนี่สงบเหลือเกิน ที่สงบเพราะไม่มีเสียงมารบกวน ไม่มีใครมาพูดให้รำคาญ ไม่มีงานการมาทำให้หงุดหงิดเครียด มันก็สงบได้ แต่สงบตอนนั้นมันสงบแบบไม่รู้ตัว เพลินกับ ความสงบจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ติดสงบ’ พอติดสงบเข้ากลับไปบ้านเจอลูก เจอคนที่บ้านเขาพูดไม่ถูกหู บางทีเขาก็ส่งเสียงดัง ที่จริงก็ไม่ได้หนักหนาอะไร แต่พอมันกระทบหูแล้วใจกระเพื่อม แล้วไม่รู้ทัน ไม่มีสติรู้ทันอาการของใจที่มันกระเพื่อม ความหงุดหงิดก็ลามกลาย เป็นความโกรธ แล้วก็โวยวายใส่คนที่บ้าน
มีบางครอบครัวบอกเลยนะ เวลาแม่กลับจากคอร์สนี่เตรียมงานเข้าได้เลย เพราะพอแม่กลับมาถึง แม่ก็จะโวยวายใส่ลูก หรือถ้าพ่อกลับมาจากคอร์สก็เตรียมโดนเทศน์โดนว่าได้เลย ทำนิดทำหน่อยถ้าไม่พอใจก็ว่า อารมณ์หงุดหงิดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก อันนี้เพราะอะไร เพราะติดสงบ พอความสงบมันถูกกระทบก็เกิดควkมไม่พอใจขึ้นมมา แล้วความไม่พอใจก็กลายเป็นความโกรธ แล้วยิ่งไม่มีสติรู้ทัน ไม่มีความรู้สึกตัว ก็เกิดความโกรธเล่นงาน เหมือนกับเสือที่ตื่นมาขย้ำชายที่ยังหลับอยู่
เรื่องความรู้สึกตัวหรือสติ มีความสำคัญนะ มันเป็นสิ่งที่คนมักจะมองข้าม เรามักจะสนใจแต่ความสงบ มาภาวนาเพื่อจะให้จิตสงบ ทำยังไงก็ได้เพื่อให้จิตสงบ แล้วสงบที่ว่านี่หมายถึงการที่จิตไม่คิดอะไร เพราะถ้ามันคิดเมื่อไหร่ ใจก็ฟุ้งซ่าน โดยเฉพาะคิดถึงเรื่องที่เจ็บ ปวดในอดีต หรือคิดถึงปัญหาในอนาคต
คนเดี๋ยวนี้มีความทุกข์ในใจมาก แล้วเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความคิด ทั้งๆ ที่รอบตัวก็สบาย บางทีไม่มีเสียงรบกวนแลยนะ แต่ความคิดหรือเสียงในหัวคอยเล่นงาน เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้ความคิดมันดับไป ทำยังไงก็ได้ให้ความคิดมันหายไป เวลาภาวนาก็อาจจะ พอใจกับการนั่งหลับตาอยู่นิ่งๆ แล้วไปบังคับจิตไม่ให้มันคิด อาจจะใช้คำบริกรรมช่วยเพื่อผูกจิตให้มันอยู่กับถ้อยคำ ไม่ว่าจะเป็นพุทโธหรือการนับ ซึ่งมันก็ช่วยนะ มันมีประโยชน์เหมือนกันเพราะทำให้จิตสงบ แต่ถ้าเราไม่ฝึกสติ ไม่ทำความรู้สึกตัว พอจิตไม่สงบเมื่อไหร่ก็มีปัญหาแล้ว กลายเป็นหลงเข้าไปในความคิด หรือหลงเข้าไปในอารมณ์
ถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ มันก็หลงง่าย หลงที่ว่าคือหลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ เรียกว่าหลงคิด หรือหลงอารมณ์ แล้วก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้ามีสติ มีความรู้สึกตัว มันมีความคิดเกิดขึ้น มันก็ไม่หลงเข้าไปในความคิดง่ายๆ หรือไม่ถลำจมเข้าไปในอารมณ์ง่ายๆ เพราะสติทำให้เห็นความคิด ทำให้รู้ทันความคิด ทำให้เห็นอารมณ์ ไม่ถลำเข้าไปในความคิด ไม่ถลำเข้าไปในอารมณ์
ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วมันไม่เกิดความคิด หรือมีความคิดเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าเราไปคิดว่าปฏิบัติแล้วมันต้องไม่ให้มีความคิด แล้วก็ทำอะไรเพื่อให้มันไม่มีความคิด อันนี้อาจจะเรียกว่าตั้งเป้าผิดแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดามากนะ จิตนี่มันง่ายที่จะปรุงความคิด สิ่งสำคัญ น่าจะอยู่ที่ว่า ให้เรารู้ทันความคิด อย่างที่หลวงปู่ดุลย์ท่านบอกว่า ความคิดมันเกิดขึ้นได้เสมอ เหมือนกับลมหายใจ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อดับความคิด เอาแค่ว่าให้รู้ทันเมื่อจิตคิดนึกไป แค่นี้ก็พอ อย่าฝันทั้งๆ ที่ตื่น หมายถึงอย่าหลงคิดไปโดยไม่รู้ตัว
อันนี้คือสิ่งที่นักปฏิบัติมักจะมองข้าม หรือไม่ค่อยตระหนักเท่าไหร่ เพราะไปเข้าใจว่า ถ้าเราจะภาวนาให้ได้ผลมันต้องไม่มีความคิด หรือสงบโดยที่ปราศจากความคิด ที่จริงถ้าสงบแล้วปราศจากความคิด แต่ว่ามีสติหรือมีความสึกรู้สึกตัว ก็ยังดีนะ
ถ้าเราเอาความรู้สึกตัวเป็นหลัก หรือเอาสติเป็นหลัก แม้มันไม่สงบก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย “สงบก็รู้ว่าสงบ ฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง” อันนี้ถือว่าดี มันยังดีกว่า “สงบแต่ไม่รู้ว่าสงบ หรือสงบแบบไม่รู้ตัว” สงบแบบไม่รู้ตัวนี่มันแย่กว่าฟุ้งแต่รู้ตัว หรือรู้ทัน
ฉะนั้น ให้เรามาให้ความสำคัญกับการรู้สึกตัวหรือการมีสติรู้ทันความคิดดีกว่า มันจะคิดมากหรือคิดน้อยก็ไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าให้มีความรู้ตัว เป้าหมายของนักปฏิบัติที่มีประสบการณ์อยู่ตรงนี้แหละนะ ไม่ใช่ให้ดับความคิด แต่ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว
เคยมีลูกศิษย์ถามหลวงพ่อชาว่า เวลาภาวนามันฟุ้งมันเตลิด ต้องนั่งสมาธิยังไงใจจึงจะสงบ หลวงพ่อชาท่านตอบว่า มันเตลิดก็ข่างมัน เดี๋ยวมันเหนื่อยมันก็หยุดคิดไปเอง คือท่านไม่ได้แนะให้ไปควบคุมความคิด ไม่ให้ไปบังคับจิตไม่ให้คิด มันจะฟุ้งมันจะคิดอะไรก็ช่างมัน หน้าที่ของเราคือดูหรือรู้ทันมัน แล้วการที่เราจะมีสติที่ฉับไว ก็ต้องอาศัยการที่มีความคิดเกิดขึ้นบ่อยๆ ยิ่งความคิดเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เหมือนกับว่าสติมีแบบฝึกหัดหรือมีคู่ซ้อม ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เสียหายเลย เป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ
บางทีเราไปเข้าใจว่า การปฏิบัติที่ก้าวหน้าคือไม่มีความคิด จิตอยู่นิ่ง มันไม่ใช่นะ ครูบาอาจารย์ที่เป็นระดับปรมาจารย์ ไม่ใช่ว่าท่านไม่มีความคิดหรือจิตสงบตลอดเวลานะ ไม่ใช่ หลวงปู่เสาร์นี่ท่านเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น เรียกว่าเป็นปรมาจารย์ของพระป่าเลย มีคราวหนึ่ง หลวงพ่อพุธท่านยังเป็นพระหนุ่ม ไปอุปักฐากหลวงปู่เสาร์ อยู่ๆ หลวงปู่เสาร์ก็เปรยขึ้นมาว่า “ตอนนี้จิตข้ามันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด” หลวงพ่อพุธก็เลยถามว่า “จิตมันฟุ้งซ่านหรืออาจารย์” หลวงปู่เสาร์ท่านก็ไม่ตอบตรงๆ นะ ท่านพูดว่า “ถ้าให้มันหยุดนิ่งก็ไม่ก้าวหน้านะ”
ถ้าให้จิตมันหยุดนิ่งก็ไม่ก้าวหน้า ก้าวหน้าในที่นี้คือก้าวหน้าในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าเป็นสมถกรรมฐาน ความก้าวหน้าจะอยู่ที่จิตมันสงบไม่คิดอะไร แต่ว่ามันก็ไม่ช่วยทำให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง เพราะว่าปัญญายังไม่เกิด แล้วความ สงบที่เกิดขึ้นก็เป็นความสงบชั่วคราว พอลืมตา พอออกไปเจอผู้คน เจอรูปรสกลิ่นเสียง ไอ้ความคิดที่มันสงบ ก็เรียกว่าพรั่งพรูออกมา หรือบางทีกิเลสที่มันสงบก็ถูกกระตุกกระตุ้นออกมา มันเป็นความสงบชั่วคราว สงบตราบใดที่ยังไม่ไปรับรู้อารมณ์ หรือไม่มีอะไรมากระทบ แต่พอมีอะไรมากระทบมันก็จะเพื่อม แต่กระเพื่อมแล้วจิตก็ยังสงบได้นะ ถ้ามีสติรู้ทัน มีความรู้สึกตัว
ที่สำคัญคือ ความคิดที่มันเกิดขึ้น อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นนี่แหละ ที่จะเป็นแบบฝึกหัดให้กับสติ รวมทั้งแสดงธรรมให้ใจได้เห็นพระไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้คือจุดหมายของการทำวิปัสสนา
หลวงปู่เสาร์ท่านยังบอกว่า ถ้าให้จิตมันหยุดนิ่ง มันก็ไม่มีความก้าวหน้า ขนาดหลวงปู่เสาร์ ไม่ใช่ว่าท่านจะหยุดคิดหรือสงบตลอดเวลา ไม่ใช่ บางคราวในใจท่านก็มีความคิดเกิดขึ้น แต่ความคิดเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ท่านทุกข์ เพราะท่านก็มีสติไว รู้ทัน เห็นมัน เมื่อเห็น แล้วไอ้ความคิดเหล่านี้ก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เหมือนอย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า “เห็น ไม่เข้าไปเป็น”
ใหม่ๆ เราก็คิดว่า เราทุกข์เพราะความคิด แต่ก่อนตอนไม่ปฏิบัติก็คิดว่าทุกข์เพราะโน่นเพราะนี่ เพราะสิ่งภายนอก ทุกข์เพราะเสียง ทุกข์เพราะสิ่งที่มากระทบ ทุกข์เพราะผู้คน ตอนหลังมาปฏิบัติดูจิตดูใจก็พบว่าไม่ใช่เพราะอะไร มันไม่ใช่เพราะสิ่งภายนอก แต่เป็นเพราะความคิดมากกว่า ก็เริ่มเห็นแล้วว่าทุกข์เพราะความคิด แต่ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่ามันไม่ได้ทุกข์เพราะความคิดหรอกนะ มันทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิด มันทุกข์เพราะหลงคิด หมายความว่าถ้าคิดโดยรู้ตัวหรือรู้ทันความคิด มันก็ไม่มีปัญหาอะไร จิตยังสงบได้แม้จะมีความคิดเกิดขึ้น เพราะมีสติ มีความรู้สึกตัว
สติหรือความรู้สึกตัวก็เป็นเหมือนกับฝาแฝด จะมีความรู้สึกตัวได้เพราะมีสติ จะมีสติได้เพราะมีความรู้สึกตัว แล้วนี่คือสิ่งที่เราต้องเพียรพยายามทำให้มากๆ
พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงพระภิกษุกลุ่มหนึ่ง ท่านบอกว่า แม้จะมีกายบริสุทธิ์ วจีบริสุทธิ์ มโนบริสุทธิ์ แม้จะมีความรู้ประมาณในการบริโภค มีความเพียรเป็นเครื่องตื่น เป็นวิหารธรรมที่ทำให้เป็นเครื่องตื่น หรือชาคริยานุโยค พวกเธอก็ยังมีกิจที่ต้องทำยิ่งไปกว่านี้ คือให้มี ความรู้สึกตัว เวลาเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เวลามองไปข้างหน้า เหลียวซ้ายแลขวา เวลาคู้เหยียดอวัยวะ มีความรู้สึกตัวเวลาพาดสังฆาฏิ สะพายบาตรครองจีวร มีความรู้สึกตัวเวลากินดื่มเคี้ยวลิ้ม อุจจาระปัสสาวะ มีความรู้สึกตัวเวลายืน นั่ง นอน ตื่น พูด นิ่ง ฯลฯ
นี่คือความสำคัญของความรู้สึกตัวที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำ ต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นแม้ว่าเวลาภาวนาแล้วมีความคิดอะไรเกิดขึ้น มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้ามีสติมีความรู้สึกตัวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในใจไม่ว่าจะเป็นความคิดหรืออารมณ์ มันไม่ใช่เพียงแค่ เป็นเครื่องฝึกสติหรือทำให้ความรู้สึกตัวตั้งมั่นมากขึ้น แต่มันยังทำให้เกิดปัญญา ซึ่งเป็นจุดหมายของวิปัสสนา ความก้าวหน้าอยู่ที่ทำให้จิตมันไม่หยุดนิ่ง
คนที่มาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียน เวลาทำไปแล้วจิตมันสงบ ทั้งที่เดินจงกรม ทั้งที่ยกมือสร้างจังหวะ ท่านก็บอกเลยนะ ให้ทำเร็วขึ้น ให้เดินเร็วขึ้น เพื่อเขย่าความคิดให้มันออกมา เพราะถ้าสงบมากๆ นี่ไม่ดีนะ มันจะติดสงบแล้วสติก็จะถดถอย ต้องเขย่าให้ความคิดมันออกมาเยอะๆ
อันนี้ก็เหมือนกับที่หลวงปู่เสาร์บอกนะ ถ้าให้มันหยุดนิ่ง มันก็ไม่มีความก้าวหน้า ในระดับของปรมาจารย์แล้ว บางทีก็สวนทางกับความเข้าใจของเรานะ สงบมากๆ นี่ไม่ดี แต่ต้องทำให้มันมีความคิดออกมา เพื่อจะได้ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการภาวนา โดยเฉพาะที่เป็นวิปัสสนา