พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 25 ตุลาคม 2565
การปฏิบัติธรรมมันไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อน แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ไปรู้เรื่องไกลตัว ไม่ว่าจะเป็นนรกสวรรค์ หรือว่าโลกหน้า โลกไกลโพ้น เพราะที่จริงแล้วมันก็เป็นเรื่องของกายกับใจนี่แหละ และกายกับใจก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา และเพียงแค่เกี่ยวข้องกับกายและใจให้ถูก ก็ช่วยให้ไกลจากทุกข์ได้มากทีเดียว
คนบางคนไปเข้าใจว่าปฏิบัติธรรมนี่ต้องไปเห็นนู่นเห็นนี่ ถ้าไม่ได้เห็นนรกสวรรค์ ก็เห็นแสงสี หรือว่าไปรู้ใจคนอื่น อันนั้นมันไม่ใช่ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา เพราะมันไม่ได้ช่วยพ้นทุกข์ ถ้าจะพ้นทุกข์หรือว่าทุกข์บรรเทาเบาบาง ก็ต้องมาจัดการกับเรื่องกายกับใจให้ถูกให้เป็น
เริ่มตั้งแต่ใช้กายกับใจไปในทางที่ถูกต้อง อันนี้เป็นพื้นฐานเลยของธรรมะในพุทธศาสนา คิดดี พูดดี แล้วก็ทำดี กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีพระคุณ หรือว่าผู้ที่อยู่ไกลออกไป แม้กระทั่งผู้ที่เป็นคนที่ไม่คุ้นเคยแปลกหน้า หรือกระทั่งเป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรู ก็ไม่ใช้กายวาจานั้นเพื่อเบียดเบียนทำร้าย แต่เป็นไปในทางที่เกื้อกูล รวมทั้งจิตก็ไม่คิดร้าย ไม่แปรผัน อย่างน้อยๆ ก็ไม่พูดร้ายไม่ทำร้าย
อย่างในโอวาทปาติโมกข์จะมีข้อหนึ่ง การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย อันนี้ก็เป็นเรื่องของการใช้วาจา และการกระทำ อย่างน้อยๆ ก็ไม่ไปเบียดเบียนใคร ถ้าจะดีกว่านั้นก็คือเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ด้วยการแบ่งปันเรียกว่าทาน ด้วยคำพูดเรียกว่าปิยวาจา ด้วยการกระทำเรียกว่าอัตถจริยา อันนี้เรียกว่าใช้การกระทำและคำพูดเป็นไปในทางที่ดีงาม
ส่วนใจนี่ก็มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เรารู้จักกันในชื่อของพรหมวิหาร 4 นี่เรียกรวมๆ ว่าใช้กายและใจในทางที่ถูก อย่างน้อยๆ ก็ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร
การทำความดีในพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องของการใช้กายและใจเพื่อเกื้อกูล ใช้กายและใจมันจะใช้ได้ดีต้องรู้จักดูแล นั่นคือดูแลกายและใจ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม เราต้องดูแลกายและใจให้ดี
ในโอวาทปาติโมกข์ท่านก็พูด ให้รู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักความพอดีในการเสพ ในการบริโภค ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่ของคนในยุคนี้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เรากินมากไป เรากินเพื่อสนองกิเลส แต่สุดท้ายมันก็ไปบั่นทอนทั้งกายและใจ ร่างกายก็เจ็บป่วย เพราะว่าการกินที่ ไม่รู้จักประมาณ กินเพื่อเอารสชาติ เอาความเอร็ดอร่อย หรือว่าเพราะว่าสีสันมันน่าดึงดูดใจ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องของการเอาสิ่งที่เป็นพิษเป็นโทษมาใส่กาย เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมะเหมือนกัน
ธรรมะนี่พระพุทธเจ้าก็สอน ให้รู้จักบริโภคในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็เรียกว่าไม่ได้ดูแลกาย รวมทั้งการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
นอกจากการรู้จักประมาณในการบริโภคแล้ว ท่านยังมีธรรมะอีกข้อหนึ่ง นอนนั่งในที่อันสงัด ถ้าที่นอนที่นั่งที่อยู่เราไม่สงัด มันก็สร้างปัญหา บั่นทอนกายและใจเหมือนกัน และคนเดี๋ยวนี้คิดแต่จะอยู่ในที่ที่สบาย แต่ว่ามันไม่สงบสงัด
แล้วเกิดอะไรขึ้น เดี๋ยวนี้ก็นอนไม่หลับ เพราะว่ามันมีสิ่งเร้าเยอะ รอบตัว แม้ว่ารอบตัวจะไม่มีเสียงดังรบกวนจากภายนอก แต่ว่าในห้องก็เต็มไปด้วยสิ่งเร้า จากโทรศัพท์มือถือ จากโทรทัศน์ อันนี้ก็เรียกว่าไม่สงบสงัด เดี๋ยวนี้ก็เล่นเกมกันจนค่ำจนดึกดื่น ดูหนังจนบางทีไม่ได้หลับไม่ได้นอน หรือถึงจะนอนก็นอนไม่ค่อยหลับ เพราะว่าสมองแล้วก็ระบบประสาทมันถูกเร้า จนทำงานไม่หยุด เคมีในสมองก็แปรปรวนจนนอนไม่หลับ
พอนอนไม่หลับแล้วคราวนี้โรคภัยก็ตามมาเลย โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดัน โรคหัวใจ เดี๋ยวนี้มันก็เชื่อมโยงกับการที่นอนไม่หลับ หรือนอนไม่เพียงพอ เพราะว่าปล่อยให้สิ่งเร้านี่มารบกวนร่างกาย เพียงเพื่อตอบสนองความตื่นเต้นของใจ หรือเพื่อสนองกิเลส อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่ดูแลกาย แล้วมันก็บั่นทอนจิตใจด้วย สุดท้ายก็คิดไม่หยุด คิดฟุ้งซ่าน คิดในทางลบทางร้าย เพราะว่าปล่อยให้สิ่งเร้าในทางลบมารุมกระหน่ำจิตใจ
ที่จริงถ้าเราดูแลกายและใจนี่มันต้องทำมากกว่านั้นด้วย นั่นคือการออกกำลังกาย ก็เป็นการดูแลกายอย่างหนึ่ง ร่างกายนี่ชอบอยู่นิ่งๆ จะให้มันเขยื้อนขยับนี่มันไม่ค่อยชอบ เราสังเกตได้จากตัวเราเอง เวลาจะไปไหนถ้าไม่ต้องใช้แรง ไม่ต้องเดินยิ่งดี หย่อนตัวลงในรถแล้วก็ให้รถมันพาไป ธรรมชาติของกายมันไม่ชอบเขยื้อนขยับ มันชอบอยู่นิ่งๆ
แล้วเดี๋ยวนี้วิถีชีวิตของคนเรา มันก็เอื้อให้ปรนเปรอร่างกายในลักษณะนี้ได้ สุดท้ายก็เลยเป็นโรคนานาชนิด โรคอ้วน โรคหัวใจ ถ้าเราจะดูแลกายให้ดีก็ต้องออกกำลังกาย ให้มีการเขยื้อนขยับ แทนที่จะนั่งรถก็เดิน แทนที่จะขึ้นลิฟท์ก็ขึ้นบันได อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ การดูแลกายอย่างถูกต้อง ให้มันได้เขยื้อนขยับ ให้มันทำงาน ไม่ใช่นั่งจุ้มปุ๊กอยู่หน้าโทรทัศน์ หรือว่าก้มดูโทรศัพท์ หรือว่าอยู่หน้าคอม
ในส่วนของใจนี่ ใจกับกายนี่มันตรงข้าม กายนี่มันชอบอยู่นิ่งๆ แต่ใจนี่มันชอบท่องเที่ยว มันเป็นคุณลักษณะที่ตรงข้ามกันเลย แต่ก็อยู่ด้วยกัน กายกับใจมันอยู่ด้วยกัน แต่นิสัยมันไปคนละทางเลย
กายชอบอยู่นิ่งๆ ไม่เขยื้อนขยับ ส่วนใจชอบเถลไถล แล้วพอเถลไถลแล้วมันก็เหนื่อยล้า หรือยิ่งกว่านั้นมันก็ไปเอาทุกข์มาให้ เถลไถลท่องเที่ยวไปอยู่กับเรื่องราวในอดีต เรื่องที่ชวนให้โกรธ ชวนให้เสียใจ หรือเจ็บปวด ไปครุ่นคิดอยู่กับวันวานอันขมขื่น หรือไม่ก็ไปปรุงแต่งกับภาพอนาคต ไหลไปอยู่กับอนาคต สร้างภาพขึ้นมาในทางลบทางร้าย
ถ้าเราปล่อยใจให้เถลไถลท่องเที่ยวไม่หยุดหย่อน เราก็แย่นะ อย่างน้อยๆ ก็ไม่มีสมาธิทำอะไรที่สมควรทำ ถึงเวลานอนก็นอนไม่หลับ เพราะว่าใจมันคิดไม่หยุด หรือยิ่งกว่านั้นก็กลายเป็นคนเครียด กลายเป็นคนขี้วิตกกังวล กลายเป็นคนรุ่มร้อน หรือว่าซึมเศร้าไปเลย อันนี้ล้วนแต่เป็นเพราะว่าปล่อยใจให้มันเถลไถล เที่ยวไปไม่หยุดหย่อน
เราก็ต้องฝึกนะ การดูใจที่เหมาะสมคือต้องรู้จักฝึกให้เขาอยู่นิ่งๆ อยู่นิ่งๆ บ้างหรือว่าอยู่นิ่งๆ บ่อยๆ เวลาทำอะไรก็ให้ใจอยู่นิ่ง จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น เวลาอยู่คนเดียว ใจก็นิ่งได้ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ว้าวุ่นไม่ทุรนทุราย ในขณะที่กายเราต้องฝึกให้เขาเขยื้อนขยับจนออกเหงื่อ
ส่วนใจนี่ทำตรงข้าม ฝึกให้เขาอยู่นิ่งๆ นิ่งให้เป็น หรือว่าอยู่กับที่ เช่นอยู่กับกายยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เอากายเป็นบ้านของใจ แทนที่จะกลายเป็นใจที่ไร้บ้าน แล้วก็เถลไถล ถ้าเราไม่ฝึกใจแบบนี้ เราก็แย่นะ เช่นเดียวกับถ้าเราไม่ฝึกกายให้ออกกำลังกายหรือเขยื้อนขยับ เราก็แย่เหมือนกัน
การดูแลกายกับดูแลใจนี่มันยังหมายถึงว่าต้องรู้จักฝึก กายนี่มันไม่ชอบแบก แต่ว่าบางครั้งเราก็ต้องฝึกให้เขาออกกำลังกายด้วยการแบก ด้วยการถือของหนัก อันนี้ก็มีส่วนช่วย กายมันชอบวาง จะให้ถืออะไรนานๆ มันไม่ชอบ แต่การถือมันก็มีส่วนในการทำให้ร่างกายแข็งแรง
บางคนก็ออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนัก สมัยก่อนมันก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพราะว่ามีของหนักให้ยก มีของหนักให้แบกอยู่เป็นประจำ แต่เดี๋ยวนี้เราปล่อยกายไปตามเรื่องตามราวมากไป หรือว่าปรนเปรอกายมากไป กายมันไม่อยากแบกของหนักก็ช่างมัน ก็กลายเป็นว่าร่างกายก็ผอมลีบ กล้ามเนื้อก็ลีบ เดี๋ยวนี้เขาก็ต้องฝึก แม้กระทั่งคนแก่ก็ต้องรู้จักยกของหนัก ด้วยการออกกำลังกาย ถือของหนัก ยกน้ำหนักมีประโยชน์ต่อปอด มีประโยชน์ต่อหัวใจ อันนี้ก็เป็นการดูแลกายแบบหนึ่ง
ส่วนใจนี่ต้องตรงข้าม มันชอบแบกชอบยึด ตะพึดตะพือเลย ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง เห็นอะไรก็ยึดเลย เขาเรียกว่าติดตา ติดหู ติดใจ ถ้าไม่ติดใจก็ขัดใจ ขัดใจนี่ก็เป็นการติดขัดแบบหนึ่ง ซึ่งก็เป็นการถือการยึดอีกแบบหนึ่ง แต่มันทำให้ทุกข์ แต่ไม่ว่าจะติดใจ หรือขัดใจ ก็ไม่ดีกับใจทั้งนั้น ต้องรู้จักปล่อยรู้จักวาง ต้องฝึกใจให้มันปล่อยให้มันวางบ้าง ไม่ใช่ยึดไม่ใช่ถือตะพึดตะพือ
บางทีต้องเรียนจากกาย กายมันไม่ยอมแบกอะไรนานๆ มันพร้อมจะปล่อยทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ถ้าใจเรามีนิสัยเหมือนกายนี่ดี ชอบปล่อยชอบวาง ส่วนกายถ้าหากเอานิสัยของใจมาคือชอบแบก หรือว่าไม่รังเกียจการแบกการถือ กายก็แข็งแรง ถ้ากายแบกหรือยกน้ำหนักบ่อยๆ
ส่วนใจถ้าปล่อยถ้าวาง มันจะมีกำลังวังชา มันจะมีความโปร่งโล่งเบาสบายมากขึ้น นี่ก็เป็นการดูแลกายและใจที่เรามองข้ามไม่ได้ ซึ่งมันก็ต้องอาศัยการภาวนา การภาวนาก็ช่วยทำให้ใจนี่มันปล่อยวางได้เร็วขึ้น ไม่แบกไม่ยึดตะพึดตะพือ แล้วก็ทำให้ใจไม่เที่ยวเถลไถล มันรู้จักนิ่ง
แต่ภาวนาก็ไม่พอ ต้องฝึกกายให้ออกกำลังกายบ่อยๆ นี่ก็เป็นเรื่องธรรมะเหมือนกัน คือดูแลกายและใจอย่างถูกต้อง แต่นอกจากการใช้กายและใจอย่างถูกต้อง แล้วก็ดูแลกายและใจให้แข็งแรง ให้มีพลานามัย ให้มีสุขภาวะแล้ว การรู้กายรู้ใจก็เป็นสิ่งสำคัญอีกเหมือนกัน จะมองข้ามไม่ได้ การรู้กายรู้ใจ
ที่จริงการรู้กายรู้ใจมันไม่ต้องทำอะไรมาก ก็แค่สังเกต ตอนนี้กายทำอะไรอยู่ ตอนนี้ใจคิดอะไรอยู่ มันรู้สึกอย่างไร เราก็หันมาสังเกตดูกายดูใจ หรือถ้าจะให้ดีก็มาฝึกด้วยการเจริญสติ การเจริญสติหรือการทำวิปัสสนากรรมฐาน มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการมารู้กายรู้ใจ ไม่ได้รู้อย่างอื่นเลย มาเห็นกายและเห็นใจ ไม่ใช่เห็นแสงสี ไม่ใช่เห็นนรกสวรรค์
รู้กายรู้ใจเบื้องต้นคือกายทำอะไรก็รู้ กายนั่งอยู่ก็รู้ว่านั่ง กายเดินก็รู้ว่าเดิน กำลังกินข้าวอยู่ก็รู้ว่าเคี้ยวข้าวอยู่ มือถูตัวขณะที่อาบน้ำ ก็รู้ถึงการเคลื่อนไหวไปมาของมือ อันนี้เรียกว่ารู้กาย
รู้ใจ ใจมันคิดนึกอะไรถ้าหากว่าเป็นการเผลอคิดเผลอนึก ก็รู้ทันอย่างรวดเร็ว มันมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นก็รู้ ว่ากำลังมีความหงุดหงิด มีความรำคาญ มีความดีใจ มีความเสียใจ มีประโยชน์มากเลยนะ เพราะถ้าเรารู้กายมันก็ทำให้ใจไม่ฟุ้งซ่านมาก แต่ถ้าเกิดใจมันจะฟุ้ง มันจะเถลไถลไปไหน การรู้ใจ รู้ทันความคิดที่เกิดขึ้น ก็ช่วยทำให้ใจกลับมาเป็นปกติ กลับมารู้เนื้อรู้ตัวได้
อันนี้คือแบบฝึกหัดเบื้องต้นเลย สำหรับการเจริญสติ หรือเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนา เราไม่ต้องรู้อะไรมาก นอกไปจากรู้กายรู้ใจ พอรู้กายเคลื่อนไหวรู้ใจคิดนึกแล้ว ต่อไปก็จะเห็นความจริงของกายและใจ อันนี้คือสิ่งที่ควรรู้เหมือนกัน
ทีแรกเราก็มาเห็นของจริงก่อน หรือมารู้ของจริง ของจริงก็คือกายกับใจนี่แหละ ที่เหลือมันไม่ใช่ของจริง เช่นแสงสีที่เป็นนิมิต บางคนบอกว่าปฏิบัติมาตั้งนาน ยังไม่เห็นแสงสีเหมือนคนอื่นเขาเลย มีเพื่อนเขาปฏิบัติไม่นานนี่เขาเห็นแสงเห็นสี เห็นนิมิตต่างๆ รู้สึกผิดหวัง อันนี้เพราะเขาไม่เข้าใจการเห็นในพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่เป็นการภาวนา ยิ่งเป็นระดับวิปัสสนาด้วยแล้ว ไม่ได้เห็นอะไรเลย เห็นแต่ของจริง
ของจริงคือกายกับใจ ส่วนนรกสวรรค์ นิมิตต่างๆ พวกนี้มันของไม่จริง มันเป็นสิ่งปรุงแต่ง เห็นของจริงแล้วต่อไปก็จะเห็นความจริง เห็นความจริงของกายและใจ ว่ากายและใจก็ไม่เที่ยง
ถ้าเราสังเกตกายมันก็ไม่เที่ยง มันแปรเปลี่ยนอยู่เรื่อย ไม่ว่านั่งหรือนอน หรืออยู่ในอิริยาบถใด มันก็ไม่สามารถจะอยู่ในอิริยาบถนั้นได้นานๆ มันก็แปรเปลี่ยนไป มีการเขยื้อนขยับ ไม่ต้องดูอื่นไกล หายใจเข้าเดี๋ยวก็หายใจออกๆ และที่มันแปรเปลี่ยนไป ไม่อยู่นิ่งต้องเขยื้อนขยับ ก็เพราะมันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ตรงนี้เขาเรียกว่าทุกข์ หรือว่าทุกขัง
ที่จริงไม่ต้องรอนั่งในท่าใดท่าหนึ่ง แล้วค่อยมาเห็นว่าสุดท้ายมันก็ต้องขยับ ไม่ว่าจะนั่งในท่าที่สบายแค่ไหน จะนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งไขว้ขา สุดท้ายก็ต้องขยับ บางทีจากนั่งพิงเสาสบาย เสร็จแล้วสุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นนอน แต่ว่ามันก็สบายชั่วคราว ถึงเวลานอนก็อดไม่ได้ที่ต้องพลิกตัวไปพลิกตัวมา ที่พลิกเพราะอะไร ที่พลิกเพราะว่ามันปวดมันเมื่อย อาการพลิกนี่จะเรียกว่าเป็นความไม่เที่ยงก็ได้ มันแสดงถึงความไม่เที่ยงของกาย และที่ไม่เที่ยงเพราะอะไร มันมีทุกข์ ทุกข์มาบีบคั้นที่ทำให้ต้องขยับเขยื้อนเปลี่ยนอิริยาบถ
แต่เราไม่ต้องรอให้ขยับเขยื้อน ถึงจะเห็นว่ามันเป็นเพราะมีทุกข์มาบังคับให้ต้องแปรเปลี่ยนจนเกิดเป็นอนิจจัง บางทีมันใช้เวลาเร็วกว่านั้นเราก็รู้ได้ ยกตัวอย่างเช่นกระพริบตา ถ้าเราไม่กระพริบตา เราลองไม่กระพริบตาสัก 3 นาทีสิจะเกิดอะไรขึ้น จะรู้สึกเมื่อยทันทีเลย
แต่ทำไมเราไม่รู้สึกเมื่อย ก็เพราะเรากระพริบตาไง กระพริบตานี่ก็เป็นการผ่อนคลายความทุกข์ และที่กระพริบตาเพราะมีความทุกข์มาบังคับ มาบีบคั้นให้ต้องกระพริบตาบ่อยๆ อันนี้เรียกว่ามันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หรือว่าเป็นทุกข์ ทุกข์ก็ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยน มีการเขยื้อนขยับ
ถ้าเราพิจารณาสังเกตดูกาย จะเห็นเลยว่ากายนี่มันก็ไม่เที่ยง แล้วก็เป็นทุกข์ ไม่ว่าอยู่ตรงไหนทำอะไร มันก็มีทุกข์เกิดขึ้นตามมา แต่ว่าเราไม่สังเกต เพราะว่าเราเปลี่ยนอิริยาบถ เรากระพริบตา เราเขยื้อนขยับ จึงไม่เห็นทุกข์ บางทีการภาวนาในบางแห่งบางที่ บางวิธีการ เขาก็จะให้อยู่ในท่านั้นนานๆ เพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจะได้รู้ว่าทุกข์นี่เป็นสิ่งที่อยู่ประจำสังขาร เป็นสิ่งที่อยู่กับกายของเรา เขาถึงเรียกว่ากายนี้คือกองทุกข์
แต่ไม่ใช่แค่กาย ใจก็เหมือนกัน ทุกข์ที่ว่ามันไม่ได้หมายความถึงอารมณ์ที่ทำให้ไม่สบายใจ เช่นความโกรธ ความหงุดหงิด ความรังเกียจ ความพยาบาทเท่านั้น แม้แต่อารมณ์ที่เรายินดี เช่นความสุข โดยเฉพาะสุขจากการที่ได้เสพ ได้ฟังเพลงบ้าง ได้กินของอร่อยบ้าง ตัวความสุขนี่มันก็ไม่เที่ยง หรือสุดท้ายมันก็ค่อยๆ เสื่อม
อย่างเรากินอะไรที่อร่อย ครั้งแรกก็อร่อย แต่ถ้ากินบ่อยๆ เสพบ่อยๆ ความอร่อยก็ค่อยๆ กลายสภาพเป็นความเบื่อ ของอร่อยถ้ากินบ่อยๆ ความสุขก็ค่อยๆ กลายสภาพเป็นความเบื่อ และสุดท้ายก็กลายเป็นความรังเกียจเลยทีเดียว
กินของอร่อยทุกมื้อๆ นี่มันก็อร่อยประเดี๋ยวประด๋าว แต่ตอนหลังมันก็เริ่มเบื่อ แล้วตอนหลังถ้ากินอีกๆ เริ่มเอียน กินต่อไปบางทีอาจถึงกับอาเจียนเลย ความสุขหรือความเอร็ดอร่อย ความพอใจ มันไม่ใช่แค่ไม่เที่ยงอย่างเดียว มันเป็นทุกข์ด้วย เพราะว่ามันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันเสื่อมไป มันแปรสภาพไป กลายเป็นความเบื่อ กลายเป็นความเอียน
เราสังเกตดูเถอะ ไม่ว่าเราจะยินดี หรือว่าสุขเพราะอะไร ตอนที่ได้โชคได้ลาภมา ได้โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ โอ๊ยดีใจ ได้เสื้อผ้าตัวใหม่ก็ดีใจ ไม่ว่าซื้อมาหรือคนให้มา แต่ดูๆ ไป ผ่านไปวันสองวันหรืออาทิตย์หนึ่ง ความดีใจมันก็ค่อยเลือนหายไป กลายเป็นความเฉยๆ และต่อไปก็อาจจะเป็นความเบื่อ อยากได้ตัวใหม่ อยากได้เครื่องใหม่แล้ว อันนี้ก็คือทุกขัง
อารมณ์หรือจิตก็เป็นตัวทุกข์เหมือนกัน ไม่ว่าอารมณ์ใด แม้แต่อารมณ์ที่น่ายินดี มันก็ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ เขาเรียกว่าทนได้ยาก อันนี้คือความหมายของทุกข์
แล้วถ้าเราดูต่อไปก็จะเห็นว่ากายและใจนี่มันก็ไม่ใช่เรา กายและใจมันก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราด้วย ถ้าสังเกตดูมันสั่งไม่ได้ กายก็สั่งไม่ได้ ให้มันหายปวดหายเมื่อย ใจก็เหมือนกัน สั่งให้มันหยุดคิดก็สั่งไม่ได้ สั่งให้มันเพลิดเพลินยินดี ไม่เหงา ก็สั่งไม่ได้
และต่อไปถ้าเรามีสติเห็น ก็จะเห็นเลยนะ กายทำอะไรมันก็เป็นรูปที่ทำ ไม่ใช่เราทำ กายเดินไม่ใช่เราเดิน ใจมันคิด ไม่ใช่เราคิด ความคิดก็ไม่ใช่เรา ความโกรธก็ไม่ใช่เรา ถ้าเรามีสติเลย กายไม่ใช่เรา ใจไม่ใช่เรา
ตรงนี้แหละคือความจริงของกายและใจ ที่เราควรจะรู้จัก แล้วมันจะช่วยทำให้เราเกี่ยวข้องกับกายและใจได้อย่างถูกต้อง ไม่ตกเป็นทาสของกายและใจ หรือว่าไม่ตกเป็นทุกข์ ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับกายและใจ คือกายทุกข์ มันไม่ใช่เราทุกข์ เช่นเดียวกันใจทุกข์ ก็ไม่ใช่เราทุกข์ ความโกรธเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่เราโกรธ
อันนี้คือการปฏิบัติธรรมในขั้นที่ลึกลงไป หรือขั้นที่สูงขึ้นไป รู้กายรู้ใจ รวมทั้งรู้ถึงความจริงของกายและใจ มันไม่ใช่เพียงแค่ว่าใช้กายและใจให้ถูกต้องอย่างเดียว มันไม่ใช่แค่ดูแลกายและใจให้ดี ทั้งหมดนี้มันต้องทำควบคู่กับการที่รู้กายรู้ใจด้วย จนเห็นความจริงของ กายและใจ จึงจะใช้กายและใจอย่างถูกต้อง จึงจะเรียกว่าดูแลกายและใจอย่างเหมาะสม
การปฏิบัติธรรมหลักๆ ก็มีเท่านี้แหละ ที่เหลือก็เป็นการขยายความ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง หรือการรู้กายและใจที่ลึกซึ้ง จนกระทั่งไม่ติดยึดในกายและใจนี้ แล้วก็สามารถที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ที่เกิดกับกายและใจได้