พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 24 ตุลาคม 2565
ช่วงนี้ก็ออกพรรษามาได้ 2 อาทิตย์แล้ว แต่ก็มีคนมาวัดอยู่เรื่อยๆ ที่กลับบ้านก็มีหลายคน แต่ที่มาใหม่ก็เยอะ หลายคนก็เพิ่งมาวันนี้หรือเมื่อวานนี้ หลายๆ คนคงจะพบว่าการมาที่นี่ โดยเฉพาะมาปฏิบัติ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ใช่เพราะว่าการคมนาคมลำบาก เดี๋ยวนี้สบายขึ้นเยอะ ถนนหนทางที่เคยเป็นถนนดิน เป็นหลุมเป็นบ่อ ก็กลายเป็นถนนลาดยาง กลายเป็นถนนปูน เรียกว่าตลอดเลยไปจนถึงแก้งคร้อ
แต่ที่ยากตรงที่ว่าการจัดหาเวลาที่จะมาที่นี่ หลายคนก็มีงานเยอะ มีภาระต้องรับผิดชอบ บางคนมีลูก บางคนมีพ่อแม่ที่แก่ชรา จะทิ้งท่านมาที่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝากฝังพ่อแม่ให้คนอื่นมาช่วยดูแล อันนี้รวมถึงดูแลลูกที่ยังเล็กด้วย บางคนก็มีงานเยอะ กว่าจะสะสางงานการ จนมีเวลาว่างมาที่นี่ได้ก็ไม่ใช่ง่าย
บางคนไม่มีภาระอะไร แต่ว่าปัจจัยไม่อำนวย เช่นในช่วงที่ผ่านมาวัดก็ไม่ค่อยเปิดรับคนเท่าไหร่ เพราะว่าสถานการณ์โควิดก็ยังไม่น่าไว้วางใจ บางคนอยากจะมากเข้าคอร์สตั้งแต่ปี 2 ปีที่แล้ว ก็ไม่มีโอกาสมาสักที กว่าจะได้มาตามที่ตั้งใจก็เป็นเวลาแรมปีหรือหลายเดือนทีเดียว
ยังไม่นับประเภทที่ว่าตั้งใจจะมา แต่ว่าเปลี่ยนใจ เพราะว่ามีความลังเล ไม่แน่ใจว่ามาดีไหม เพราะว่ากลัวมาเจอความยากลำบาก พอจะมาๆ ก็เปลี่ยนใจ หาข้ออ้าง กว่าจะเอาชนะกิเลส กว่าจะเอาชนะความลังเลสงสัย หรือว่าความโลเล ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่ที่ว่ายากๆ ว่ากว่าจะมาถึง พอมาถึงนี่แล้วหลายคนพบว่า การปฏิบัตินี่มันกลับยากกว่า ถ้ามาแค่ถวายสังฆทาน ถวายอาหาร ไม่ยากหรอก แต่พอจะมาปฏิบัติไม่ใช่แค่วันสองวัน หลายวัน อันที่จริงไม่ต้องหลายวันหรอกนะ แค่วันแรกหลายคนก็รู้แล้วว่าที่ว่ายากก่อนจะมานี่
มันไม่ยากเท่ากับตอนที่มาถึงแล้ว เพราะว่าเวลามาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม สร้างจังหวะ มันต้องสู้กับอะไรต่ออะไรมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่อยู่ภายในใจของตัวเอง
เรื่องยุงเรื่องแมลง อันนี้ยังไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องความง่วงนี่ หลายคนพบว่ามันหนักหนาเหลือเกิน มาวันแรกนี่ก็เจอความง่วงเล่น วันที่ 2 ก็คงจะไม่ได้ง่วงน้อยกว่าเดิม บางทีแค่ยกมือสร้างจังหวะไม่ถึง 5 นาทีก็หลับ สัปหงกแล้ว ต้องเคี่ยวเข็ญกับตัวเองมากเลย
ความง่วงตัวมันเองก็เป็นทุกขเวทนาอย่างหนึ่ง พระท่านเรียกว่าเป็นนิวรณ์ แต่นิวรณ์ตัวนี้ก็มีทุกขเวทนาเจือปนด้วย พอฝืนกับมัน มันก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ ไม่เหมือนกับว่าง่วงแล้วก็นอน อันนี้สบาย แต่พอง่วงแล้วไม่นอนนี่ เป็นทุกข์จริงๆ สำหรับหลายคนที่ไม่คุ้นเคย
ก็ให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ตัวเราคนเดียวที่มีปัญหานี้ ใครๆ ก็มี อาตมาตอนมาปฏิบัติใหม่ๆ แม้ว่าจะมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ แต่ว่าพอปฏิบัติแค่วันแรก จริงๆ ไม่ถึงชั่วโมง แค่ชั่วโมงแรกนี่ก็ง่วงเสียแล้ว
ที่ง่วงนี่เป็นเพราะอะไร มันเป็นเครื่องที่ชี้ว่า ใจของเรานี่มันเสพติดเร้ามาก ตอนที่ไม่มาวัด ไม่มาปฏิบัติ เราเจอสิ่งเร้านานาชนิดที่บ้าน ที่ทำงาน สิ่งเร้าทางตา สิ่งเร้าทางหู สิ่งเร้าทางจมูก สิ่งเร้าทางลิ้น สิ่งเร้าทางกาย ข้อมูลข่าวสาร หนัง เพลง รวมทั้งผู้คนและงานการ
แม้แต่เสียง ไม่ใช่เสียงเพลงอย่างเดียว เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจ เสียงรถยนต์ที่เราไม่ชอบ เราก็เผลอไปเสพติดสิ่งนั้นด้วย แล้วเราก็ไม่รู้ตัว ถึงแม้ว่าเราอาจจะรู้สึกว่ามันวุ่นวายเหลือเกินข้างนอก
แต่พอเรามาที่นี่สิ่งเร้าน้อย โดยเฉพาะจากโทรศัพท์มือถือ งานการก็ไม่ได้ทำเท่าไหร่ ยิ่งไม่มีการพูดคุยกับใคร สิ่งเร้าก็ยิ่งน้อย พอสิ่งเร้าน้อย เกิดอะไรขึ้นกับใจ ใจก็ง่วงสิ เพราะสิ่งเร้ามันทำหน้าที่อย่างหนึ่งคือปลุกให้เราตื่น รวมทั้งความคิดด้วย ที่เรานอนไม่หลับ เพราะมันมีสิ่งเร้าคือความคิดปลุกให้เราตื่น
แต่มันไม่ใช่แค่ความคิด รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ข้อความ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ประดังประเดเข้ามา ยังไม่นับกาแฟ ยังไม่นับชา ยังไม่นับน้ำอัดลม หรือว่าเกมออนไลน์ แต่พอมาที่นี่มันไม่มีสิ่งเร้าอย่างที่ว่า ใจเราก็เลยง่วง เราไม่ได้ง่วงเพราะนอนน้อย หลายคนก็นอน เต็มที่เลย แต่ง่วงเพราะว่าใจที่ไม่มีอะไรมาเร้า พอมันไม่มีอะไรมาเร้าก็ง่วง
เหมือนกับให้ลิงมันอยู่นิ่งๆ ลิงมันอยู่นิ่งๆ มันก็หลับ แต่ลิงมันไม่หลับเพราะอะไร เพราะมันเคลื่อนไหวตลอดเวลา จิตของเราบางทีก็เหมือนกับลิง วิ่งไปโน่นวิ่งไปนี่ ทำนู่นทำนี่ แต่พอให้มันอยู่เฉยๆ นี่ก็ง่วง
ที่จริงเราก็ไม่ได้อยู่เฉย เราก็เดินไปเดินมา แต่ว่ามันซ้ำซาก ยกมือสร้างจังหวะก็ซ้ำซาก พอมันซ้ำๆ มันก็กลายเป็นความชาชิน พอกลายเป็นความชาชินก็เลยง่วง อันนี้ก็ให้ถือว่าเป็นธรรมดา
จริงๆ มันก็มีสิ่งเร้าอยู่รอบตัวเรา เสียงลมพัด เสียงใบไม้ เสียงแมลง เสียงนก แต่มันแผ่ว มันไม่เข้มข้น มันไม่รุนแรงเหมือนกับสิ่งเร้าที่เราเจอที่บ้าน เจอในโลกภายนอก ใจเราพอเจอสิ่งเร้าเบาๆ มันไม่มากพอ มันก็ง่วง แต่พอเราค่อยๆ ปรับตัวได้ เราก็จะเริ่มตื่น เพราะว่ามันก็มีสิ่งเร้าที่อยู่รอบตัวเรา ที่ทำให้เราไม่หลับง่ายๆ
ในช่วงนี้ความง่วงมันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ มันเป็นอาการที่เวลาเราห่างไกลจากสิ่งเสพติด มันจะมีอาการชนิดหนึ่งเขาเรียกว่าลงแดง คนที่ติดกาแฟ คนที่ติดบุหรี่ คนที่ติดเหล้า ติดยา พอไม่ได้เสพมันก็จะมีอาการลงแดง อาการลงแดงที่เกิดขึ้นกับพวกเรานี่ง่วง
ความง่วงมันก็เรียกว่าเป็นลงแดงชนิดหนึ่ง เขาเรียกว่าลงแดงทางผัสสะ ผัสสะนี่ก็หมายถึงสิ่งเร้า พอเราไม่ได้เสพหรือเจอสิ่งเร้า ที่เราเคยเสพเคยติด มันก็มีอาการลงแดง ง่วงเหลือเกิน ทำอย่างไรก็ไม่หายง่วง จนกว่าจะไปอาบน้ำ จนกว่าจะเอาน้ำลูบหน้า หรือจนกว่าไปพูดไปคุยกับคนอื่น พอได้พูดคุยนี่มันตื่นเลย หรือว่าพอได้เปิดโทรศัพท์มือถือนี่มันตื่นเลย หรือว่าพอได้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ อ่านหนังสือตื่นเลย พวกนี้ก็เป็นสิ่งเร้า ที่เราเสพติดโดยไม่รู้ตัว
สิ่งเสพติดไม่ว่าอะไรก็ตามมันก็มีโทษ ถ้าเราเสพติดสิ่งเร้า เสพติดผัสสะ ก็ทำให้เราเกิดอาการพึ่งพา พอขาดเมื่อไหร่นี่ก็แย่แล้ว ไม่ใช่แค่ง่วง บางทีมันเกิดอาการอย่างอื่น ฟุ้งซ่านนี่ก็เกิดขึ้นกับหลายคนเหมือนกัน บางคนบอกทำไมมันคิดมากเหลือเกิน ตอนไม่ปฏิบัติ ตอนอยู่ที่บ้าน ตอนทำงานนี่ มันไม่ฟุ้งซ่านว้าวุ่นเหมือนกับตอนมาปฏิบัติ
ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งฟุ้งซ่าน อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดกับหลายคน ถ้าไม่ง่วงก็ฟุ้ง ในแง่หนึ่งความฟุ้งก็เป็นความพยายามของจิต ที่มันจะปลุกให้ตื่น เพราะว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย มันก็จะง่วง ถ้าไม่เสพอะไรเลยก็จะง่วง ถ้าไม่เสพทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เสพทางใจ คือหาเรื่องคิด ไม่ได้ไม่ง่วง
แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ฟุ้งมาก ก็เพราะว่าจิตนี่มันไม่มีอะไรทำ ตอนที่เราอยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน เรามีอะไรทำ ทำนู่นทำนี่ให้จิตไปจดจ่อ จดจ่ออยู่กับงาน จดจ่ออยู่กับการพูดคุย จดจ่ออยู่กับหนัง เพลง อยู่กับโทรศัพท์ มันมีสิ่งที่ให้จิตได้จดจ่อ แล้วก็เป็นสิ่งที่จิตมันชอบด้วย
แต่พอเราถอนตัวออกจากสิ่งเหล่านี้ เพราะมาอยู่วัด อยู่บนลานจงกรม อยู่บนเบาะนั่ง เจริญสติ มันไม่มีอะไรทำ พอไม่มีอะไรให้จิตไปเกาะ มันก็เริ่มแส่สายแล้ว คนที่อยู่คนเดียว นั่งนิ่งๆ นี่ จะมีอาการนี้มากเลย ถ้าไม่ง่วงจิตมันก็จะแส่ส่าย แล้วเกิดอาการฟุ้งซ่าน และที่สุดก็อาจจะเกิดอาการกระสับกระส่ายขึ้นมา และบางทีก็อาจจะถึงกับทุรนทุรายเลย ถ้าไม่ได้ทำอะไร เพราะว่าจิตหรือความคิดนี่มันเล่นงานเอา
พอมันแส่ส่ายแล้วมันก็เถลไถล ไปคิดเรื่องโน้นไปคิดเรื่องนั้น และเรื่องที่มันคิด ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องทำให้เราสบายใจ แต่ทำให้เราเครียด ทำให้เราวิตกกังวล ทำให้เราคับแค้น ทำให้เราโกรธ ทำให้เราเกิดความอาลัยอาวรณ์ เพราะถ้ามันไม่ไหลไปอดีต มันก็ลอยไป อยู่กับเรื่องอนาคต ซึ่งไปจมอยู่กับเรื่องที่ไม่ค่อยดี ที่ทำให้เราเสียใจ ทำให้เราโกรธ ทำให้เราหงุดหงิด ทำให้เราวิตกกังวล บางคนทนไม่ไหว ต้องหาเรื่องทำโน่นทำนี่ หยิบไม้กวาดมากวาดใบไม้ หรือไม่ก็หาอะไรทำ
แต่ก่อนก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้ แต่พอมาปฏิบัติเดินจงกรม สร้างจังหวะนี่ มันอยากจะทำโน่นทำนี่เหลือเกิน อยากจะซักเสื้อ อยากจะกวาดใบไม้ อยากจะอ่านหนังสือ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้จิตมันหยุดฟุ้งซ่าน ให้มันมีที่เกาะ ให้มันมีงานทำ แต่ว่านั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา และนั่นไม่ใช่เหตุผลที่เรามาที่นี่
เรามาที่นี่เพื่ออะไร เพื่อจะฝึกจิต ให้มีสติ ให้มีสมาธิ ให้มีความสงบ ถ้าเราจะหนีหรือเลี่ยงความฟุ้งซ่าน ด้วยการหาอะไรทำอยู่เรื่อยไป สุดท้ายเราก็กลายเป็นคนหนีตัวเอง ทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ พออยู่กับตัวเองเมื่อไหร่ ก็จะเกิดแต่ความฟุ้งซ่าน เกิดความรู้สึกว้าวุ่น เกิดความรู้สึกกระสับกระส่ายทุรนทุราย
เดี๋ยวนี้คนเป็นแบบนี้เยอะ ทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ ต้องไปอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ต้องไปอยู่กับงานการ ต้องไปอยู่กับคนนั้นคนนี้ หรือไม่ก็ไปช้อปปิ้ง ไปเที่ยว เพื่อให้จิตนี่มันหยุดฟุ้งซ่าน ให้จิตมันมีที่เกาะ ให้จิตมันมีที่จดจ่อ แต่พอถึงเวลาอยู่กับตัวเองเมื่อไหร่ ก็จะเริ่มกระสับกระส่ายขึ้นมาเลย
และด้วยเหตุนี้หลายคนพอมาภาวนา พอมาเจริญสติ มันจะรู้สึกว่ามีความทุกข์มากเลย ทั้งง่วง ทั้งฟุ้ง แล้วสุดท้ายก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความเครียด อันนี้ก็เป็นอาการที่เกิดกับหลายคนอีกเหมือนกัน หรือเป็นสิ่งที่ตามมา หลังจากง่วงแล้ว ฟุ้งแล้วก็เครียดแล้วทีนี้ แล้วก็รู้สึกว่าการมาปฏิบัตินี่มันเป็นเรื่องยาก กว่าจะมาถึงนี่ก็ยากอยู่แล้ว แต่พอมาปฏิบัติกลับยากกว่า เพราะต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองให้เดินจงกรมทั้งวัน ให้ปฏิบัติทั้งวัน
ที่จริงการปฏิบัติมันไม่ได้ยากอย่างนั้น จะว่าไปแล้ว ถ้าหากว่าเราสามารถจะพาตัวเอง หรือเคี่ยวเข็ญตนเองมาจนถึงทางจงกรม แล้วก็เคี่ยวเข็ญตนเองให้เดินกลับไปกลับมา เดินเป็นชั่วโมง หรืออาจจะเดินทั้งวัน ที่เหลือนอกนั้นมันไม่ยากแล้ว
แต่เป็นเพราะบางทีเราไม่เข้าใจการปฏิบัติ เราก็เลยรู้สึกว่าไอ้ที่ยากนี่ก็คือการไปควบคุมจิต ไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไม่ให้มันว้าวุ่น ที่จริงเราไม่ต้องทำอะไรเลย ขอเพียงแต่ว่าเราพาตัวเองมาที่ทางจงกรม หรือว่ามานั่งบนอาสนะ แล้วก็หักห้ามใจไม่พูดคุยกับใคร ที่เหลือนอกนั้นมันเป็นเรื่องง่ายแล้ว
เพราะว่าการปฏิบัติที่นี่ เราไม่ได้เรียกร้องให้ควบคุมบังคับจิต มันจะง่วงก็ง่วงไป แต่ก็ยังทำไปเรื่อยๆ มันจะมีความคิดเยอะ ฟุ้งซ่านอย่างไรก็ไม่เป็นไร แต่ปัญหาคือหลายคนจะพยายามบังคับจิตให้มันหยุดคิด ให้มันเลิกฟุ้งซ่าน ก็ฉันมาภาวนา ถ้าฉันไม่ทำใจให้สงบแล้วจะเรียกว่าการปฏิบัติเหรอ หลายคนอาจจะคิดแบบนี้ พอคิดแบบนี้เขาก็เลยพยายามควบคุมบังคับจิต บังคับความคิด เจอความคิดเมื่อไหร่ก็ไปตะปบมัน กดข่มมัน
ที่จริงการปฏิบัตินี่มันง่ายกว่านั้น เพราะว่ามันไม่ได้เรียกร้องให้เราเลิกฟุ้งซ่าน มันไม่ได้เรียกร้องให้เราไปบังคับจิตให้หยุดคิด ก็แค่รับรู้หรือยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจของตัวเอง เราไม่ต้องไปทำอะไรกับความคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจของเรา หรือเสียงทั้งหลายในหัวของเรา ขอเพียงแต่ว่าอย่าหยุดทำก็แล้วกัน
มันง่วงอย่างไรก็ทำ มันเบื่ออย่างไรก็ทำ คือเดิน แล้วก็ยกมือ ที่เหลือนอกนั้น มันจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็แค่รับรู้มัน ยอมรับมัน มันจะฟุ้งก็ช่างมัน มันจะคิดก็ช่างมัน แต่อย่าไปคิดกับมัน ขอเพียงแต่ว่ารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ เวลากายเคลื่อนไหวก็รู้ เวลาใจคิดนึกก็รู้
แต่ใหม่ๆ มันไม่รู้หรอก มันจะหลงซะมากกว่ารู้ เผลอคิดไปโน่นคิดไปนี่ ไม่เป็นไร มันจะเผลอไปไกลแค่ไหน เดี๋ยวมันรู้ตัวเอง เดี๋ยวมันรู้ว่าเผลอเอง ลองสังเกตดูนะ เราเดินจงกรม สร้างจังหวะนี่มันคิดเหลือเกิน ทั้งที่ไม่ตั้งใจคิดเลย ไม่ได้อยากจะคิดเลย แต่มันคิดไปเอง อันนี้ก็ธรรมดาเพราะจิตมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เขาเรียกว่าเป็นอนัตตา เราไม่ใช่เจ้าของมัน เราบังคับมันไม่ได้ อันนี้คือความหมายหนึ่งของอนัตตา คือบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้
แล้วบางทีก็ทำนายไม่ได้เลย เช่นเราไม่อาจจะรู้เลยว่าอีก 1 นาทีข้างหน้านี่ เราจะคิดอะไร ลองดูสิ หรือแม้อีก 30 วินาทีข้างหน้า เรายังไม่รู้เลยว่าจะคิดหรือเปล่า แล้วมันจะคิดมันจะคิดเรื่องอะไร เราไม่มีทางรู้เลย มันคิดของมันเอง เพราะมันเป็นอนัตตา แต่หน้าที่ของเราคือรู้ เมื่อมันเผลอคิด
แต่ใหม่ๆ นี่มันจะเผลอไปยาวเลย แต่ไม่ว่ามันจะเผลอไปเท่าไหร่ สุดท้ายเราก็จะรู้สึกตัวขึ้นมา ลองสังเกตดู ไม่ว่าเราจะเผลอคิดไปอย่างไร ไม่ช้าก็เร็วมันก็จะรู้ตัว รู้ว่าเผลอไปเมื่อสักครู่ ตรงนั้นแหละคือสิ่งที่เราควรสะสมให้มากขึ้นเรื่อยๆ รู้ ๆ ๆ รู้ว่าเผลอไป และเราไปกะเกณฑ์ไม่ได้ให้มันรู้เมื่อไหร่ มันรู้ของมันเอง อย่าไปดักจ้องมัน และการที่มันรู้เอง แล้วก็รู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ นี่แหละ ที่ทำให้มันรู้ไวขึ้นๆ
หน้าที่ของเราก็คือว่าเปิดโอกาสให้ตัวรู้มันทำงาน ใหม่ๆ มันก็เชื่องช้า กว่าจะรู้ว่าเผลอไป ก็คิดไปแล้วไม่รู้กี่เรื่อง หรือกว่าจะรู้ตัวว่ากำลังเดินอยู่ ก็ฟุ้งไปแล้วไกลเลย ไม่เป็นไร คำว่าไม่เป็นไรนี่ เป็นคาถาที่ต้องฝึกเอาไว้ และตรงนี้ที่บอกว่าเป็นเรื่องง่าย ก็คือเราไม่ต้อง ทำอะไรกับใจเลย ขอเพียงแต่ว่าเดินไปเรื่อยๆ หรือว่ายกมือสร้างจังหวะไปเรื่อยๆ อย่าหยุด แต่ถ้าเหนื่อยก็พักได้ และที่เหลือนอกนั้นก็ให้ตัวรู้หรือสติมันทำงาน แล้วมันก็จะรู้เอง ๆ ๆ ไปเรื่อยๆ
แต่หลายคนใจร้อน แหมมันรู้ช้าเหลือเกิน เผลอคิดไปแล้วไม่รู้กี่เรื่อง ไม่ได้นะ ต้องไปพยายามบังคับจิตให้มันหยุดคิด หรือว่าไปดักจ้องมัน เพื่อจะได้รู้ทันมัน แบบนี้แหละที่ทำให้เครียด ตั้งใจมากไป พยายามบังคับจิตมากไป ต้องยอมให้มันรู้เอง
แต่ใหม่ๆ เราจะไม่ยอม เพราะเรารู้สึกรำคาญกับความคิดที่มันฟุ้งเหลือเกิน และเราอุตส่าห์มาที่นี่ก็เพื่อให้ใจสงบ แต่พอใจไม่สงบก็ต้องพยายามทำให้มันสงบให้ได้ บางคนก็พยายามปิดตา บางคนก็พยายามตามลมหายใจ เอาจิตมาอยู่ที่ลมหายใจแทน มันจะได้หยุดคิด บางคนก็บริกรรม หรือไม่ก็ท่อง เวลายกมือก็ 1 2 3 4 บางทีก็เดินไปก็ซ้าย-ขวา ซ้าย-ขวา บริกรรม บางทีก็พากย์ไปด้วย
ทั้งหมดนี้เพื่อให้จิตมันหยุดคิด หยุดเพ่นพ่าน หยุดเถลไถล อันนั้นไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือรู้ทันมัน อย่าทำผิดหน้าที ที่จริงหน้าที่ของเราคือเปิดโอกาสให้ตัวรู้มันทำงาน ให้สติมันทำงาน เปิดโอกาสให้เขาได้ทำงาน ซึ่งใหม่ๆ ก็เชื่องช้า แต่ว่าเราต้องให้โอกาสเขา ถ้าเขาทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ เขาจะทำได้เร็วขึ้น
ถ้าเราวางใจแบบนี้ มันจะทำให้การปฏิบัติเป็นเรื่องง่าย มันจะง่ายกว่าสิ่งที่เราพาตัวเองมาถึงนี่ มันไม่ได้ยากกว่าเลยนะ การปฏิบัติจริงๆ มันไม่ได้ยากกว่าการพาตัวเองมาถึงนี่ ถ้าเราปฏิบัติถูกมันง่าย หลวงพ่อเทียนถึงกับบอกว่าให้ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ จะมีอะไรที่ง่ายกว่าการทำเล่นๆ อย่าไปหวังผล อย่าไปเน้นคุณภาพ ใหม่ๆ ก็ต้องเน้นปริมาณก่อน แล้วที่เหลือสติมันทำงานเอง
ความรู้สึกตัวมันทำงานเอง ถ้าเราวางใจแบบนี้ได้ การปฏิบัติมันจะกลายเป็นเรื่องง่าย สิ่งที่ยากก็คงมีแต่ว่าพยายามเคี่ยวเข็ญตัวเองให้มันเดินบ่อยๆ เดินทั้งวัน หรือว่าปฏิบัติยกมือสลับกับเดินทั้งวัน ตรงนี้มันยาก ที่เหลือเรื่องการวางใจกลายเป็นเรื่องง่าย จะไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เราเข้าใจ.