พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 ตุลาคม 2565
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมขึ้น 15 ค่ำ เราเรียกว่าเป็นวันออกพรรษา แต่ว่าออกพรรษาจริงๆ สำหรับวัดป่าสุคะโตก็คือวันนี้ หรือเมื่อมีการทอดกฐินสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว เราก็ถือว่าการทอดกฐินนี่เป็นนิมิตหมายว่าการออกพรรษาที่แท้จริงได้เริ่มขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับวัดต่างๆ
เพราะว่าพอถึงวันออกพรรษา ชาววัดก็ยังไม่ได้ออกจากวัด จนกว่าจะมีการทอดกฐินเสร็จสิ้น วัดป่าสุคะโต พอทอดกฐินเสร็จ ก็มีพระหลายรูปลาสิกขา นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยก็เตรียมแยกย้ายกันกลับบ้าน
ส่วนพระที่เหลืออยู่แม้จะไม่ได้สิกขาลาเพศไป แต่ก็มีกำหนดเดินทาง อาจจะจาริกไปตามที่ต่างๆ ไปเดินธุดงค์ ถ้าเป็นช่วงที่โควิดยังไม่ระบาด หรือว่าไปเข้าปริวาส ก็เริ่มกันหลังจากที่รับกฐินเสร็จแล้ว อันนี้เรียกว่าการออกพรรษาในภาคปฏิบัติเริ่มขึ้นแล้ว
หลายท่านไม่ว่าจะเป็นพระหรือโยม เมื่อสิกขาลาเพศหรือเมื่อเสร็จจากการเข้าพรรษา ก็พากันกลับบ้าน แยกย้ายกันไป บางคนก็อาจจะดีใจ จะได้กลับบ้านแล้ว เพราะว่าคนเราก็มีความผูกพันกับบ้าน
แต่ก็ให้ตระหนักว่าบ้านที่รอเราอยู่มันเป็นบ้านของกาย มันมีบ้านอีกอย่างหนึ่งคือบ้านของใจ บ้านของกายมันก็ก่อด้วยอิฐสร้างด้วยปูน ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน พรุ่งนี้เมื่อเราเริ่มเดินทางกัน ก็ให้ตระหนักว่าเรากลับไปบ้านของกาย แต่บ้านของใจต้องถามตัวเราเองว่าเรากลับถึงไหม หรือว่ามีหรือเปล่า
บางคนอาจจะไม่รู้ว่ามันมีด้วยซ้ำ บ้านของใจ เพราะไปคิดว่าบ้านที่เราอยู่มันคือบ้านแท้ๆ ของเรา ที่จริงคนเรานี่ โดยเฉพาะถ้าเรามาเรียนรู้เรื่องกายเรื่องใจแล้ว หรือว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็ให้ตระหนักว่า เรามีบ้านของใจ ที่จะต้องใส่ใจ หาให้พบและไปให้ถึง บางคนก็ห่วงแต่บ้านของกายนั่นแหละ ห่วงว่าจะมีเงินผ่อนบ้านไหม หรือว่าจะมีเงินสร้างโน่นสร้างนี่หรือเปล่า สร้างกำแพงต่อเติมต่างๆ นานา หรือทำสวน ลืมไปเลยว่าบ้านของใจนี่ก็สำคัญ
และบ้านของใจมันไม่ต้องอาศัยการเดินทาง สามารถจะพบได้ทุกหนทุกแห่ง เพราะมันคือกายนี่แหละ ใหม่ๆ นี่เราต้องรู้จักทำกายให้เป็นบ้านของใจ ถ้าเราต้องการหรือเห็นความสำคัญของความรู้สึกตัว เราต้องรู้จักเอากายมาเป็นบ้านของใจ คือทำอะไรก็รู้เนื้อรู้ตัว ไม่ว่าจะเดิน ยืน ไม่ว่าจะอาบน้ำ ถูฟัน เราใช้กายทำนั่นทำนี่ ก็ให้มีความรู้สึกว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ จะรู้สึกได้ก็เพราะใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา
อย่างที่เคยแนะว่า การปฏิบัติ การเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว หลักง่ายๆ ก็คือว่า ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ถ้าตัวอยู่ที่หอไตร แต่ว่าใจไปอยู่ที่บ้าน อันนี้ไม่ถูกแล้ว หรือว่าตัวอยู่ที่บ้าน แต่ว่าใจไปอยู่ที่ทำงาน มันก็ไม่ใช่ เราต้องฝึกให้ใจกลับมาอยู่กับกายเป็นนิจเป็นอาจิณ แม้ว่าบางครั้งมันจะมีความคิดหลอกล่อใจให้ออกไปเถลไถลเตลิดเปิดเปิง แต่ว่าไม่นานใจก็หวนกลับมา กลับมาที่กาย รับรู้ว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา
อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ทำความรู้สึกตัว เวลาเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เวลามองไปข้างหน้า เหลียวซ้ายแลขวา เวลาพาดสังฆาฏิ ครองจีวร สะพายบาตร ถ้าเป็นฆราวาสก็สวมเสื้อใส่กางเกง เวลากินดื่มเคี้ยวลิ้ม เวลาคู้เหยียด เคลื่อนไหวอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นแขนขา แม้กระทั่งเวลาอุจจาระปัสสาวะ ก็ให้รู้สึกตัว รวมทั้งเวลายืนเดินนั่งนอน หลับตา พูด นิ่ง จะรู้สึกตัวได้ในอริยาบถหรือกิจต่างๆ เหล่านั้น ก็เพราะว่าใจมันอยู่กับกาย ก็เปรียบว่ากายเป็นบ้านของใจ
ถ้าหากว่าใจเราไม่มีบ้าน มันก็เหมือนกับคนจรจัดหรือคนไร้บ้าน มันเหงา มันเหนื่อย แล้วก็รู้สึกขาดความอบอุ่น ใจของเราส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้นแหละ มันไร้บ้าน แล้วพอไร้บ้านก็ไปเจอกับภัยต่างๆ มากมาย แล้วบางทีก็ไปเอาความทุกข์ต่างๆ กลับมาให้กับกาย หรือว่ามาใส่ตัว
ฉะนั้นที่เราทุกข์เมื่อใจมันไหลไปอดีต ไปจมอยู่กับเหตุการณ์ที่เจ็บปวด เมื่อปีที่แล้วหรือเมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ดี หรือไปวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่ถึงก็ดี มันล้วนแล้วแต่เป็นเพราะว่าใจนี่ไร้บ้าน ถ้าใจกลับมาอยู่กับบ้านคือกาย มีความรู้เนื้อรู้ตัว มันก็จะไม่มีความรู้สึกเศร้าโกรธ อาลัยอาวรณ์ เครียดแค้นพยาบาท หรือหนักอกหนักใจวิตกกังวลแต่อย่างใด เมื่อใจอยู่กับกาย ก็เหมือนกับคนที่อยู่บ้าน มันก็จะมีแต่ความอบอุ่น มีความปลอดภัย
เวลาเราอยู่บ้าน เราปลอดภัยทางกาย ไม่มีผู้ร้าย ไม่มีสัตว์ร้าย มาทำร้าย แต่ใจเราก็ยังทุกข์อยู่ เราทุกข์เพราะความคิด เราทุกข์เพราะหลงคิดไปในเรื่องราวที่ผ่านไปแล้ว หรือปรุงแต่งในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง นั่นแหละคือสภาพของใจที่มันไร้บ้าน ใจที่ไม่ได้กลับมาอยู่กับกาย รู้เนื้อรู้ตัว หรือรู้สึกตัว
เพราะฉะนั้นกลับไปบ้าน ก็ให้ตระหนักว่า เรายังไม่ได้ถึงบ้านที่แท้จริง กายมันถึงบ้าน แต่ใจยังไม่ถึง จนกว่าจะมีความรู้เนื้อรู้ตัว และบ้านของกายนี่บางครั้งเป็นภาระ ต้องหาเงินมาผ่อน หรือว่าต้องคอยซ่อมแซม หลังคารั่ว ท่อน้ำแตก หรือบางทีก็น้ำท่วม ไม่ต้องพูดถึงไฟไหม้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ โอ๊ย เป็นทุกข์ กลัดกลุ้ม ตีอกชกหัว มันกลายเป็นภาระที่สร้างความทุกข์ให้กับเราได้
แต่บ้านของใจมันมีแต่ให้ความอบอุ่น ให้ความสดชื่นเบิกบาน ให้ความปลอดภัย ให้ความรู้สึกมั่นคง และไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาขโมยไป และที่สำคัญคือว่าสามารถจะอยู่กับเราได้ทุกที่ ไม่มีคำว่าคิดถึงบ้าน เพราะว่าอยู่ห่างบ้าน บ้านของใจนี่มันอยู่กับเราตลอดเวลา อยู่ทุกหนทุกแห่ง ตามติดไปทุกที่ อยู่ที่ว่าเราจะพาใจกลับมาหรือเปล่าเท่านั้นเอง
และต่อไปถ้าเราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าบ้านของใจมันไม่ใช่แค่กาย มันคือปัจจุบันขณะ ถ้าเรารู้จักทำใจให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่พลัดตกไปอยู่กับอดีต ไหลลอยไปอยู่กับอนาคต มันก็จะไม่จมกับอารมณ์ ฝึกเอาไว้นะ ให้ใจมีบ้าน นั่นคือกาย นั่นคือปัจจุบันขณะ
และเวลาเราสิกขาลาเพศไป หรือว่าเรากลับไปรับผิดชอบครอบครัว รับผิดชอบการงาน หลังจากออกพรรษาไป ก็ให้รู้จักพาใจกลับมาอยู่บ้านเนืองๆ นั่นก็คือว่าเวลาทำอะไรก็ให้รู้สึกตัว หรือว่าสรุปอีกอย่างหนึ่งก็คือรู้กายเคลื่อนไหว ถ้าใจมันอยู่กับกาย กายทำอะไรมันก็จะรู้ว่ากายมีการเคลื่อนไหวไหม
หลักของการเจริญสติ ทำความรู้สึกตัวก็คือนี่แหละ ง่ายๆ รู้กายเคลื่อนไหว มันไม่ใช่เฉพาะเวลาเราเดินจงกรม เฉพาะเวลาเราสร้างจังหวะ แต่รวมถึงเวลาเราล้างหน้าถูฟัน อาบน้ำ กินข้าว เราใช้กายเคลื่อนไหว แต่บางทีเราไม่รู้ เพราะใจเราลอย เพราะใจเรากำลังไปจม อยู่กับความคิด อันนี้เรียกว่ามันหลุดออกไปจากบ้านแล้ว
แต่ถ้าใจกลับมาอยู่บ้าน มันก็จะรู้ว่ากายกำลังเคลื่อนไหว ไม่ใช้เคลื่อนไหวด้วยมือ ด้วยแขน บางทีหายใจก็รู้ กระพริบตาก็รู้ กลืนน้ำลายก็รู้ มันจะละเอียดไปเรื่อยๆ
หลักของการปฏิบัติมันก็ไม่ยากอะไร ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น รู้กายเคลื่อนไหว ต่อไปมันก็จะรู้ใจคิดนึก ใจคิดใจนึกอะไรมันก็รู้ มันรู้ทันโดยไม่ต้องไปดักจ้องเฝ้ามอง กำลังอาบน้ำ กำลังถูฟัน กำลังล้างจานอยู่ รู้กายเคลื่อนไหว ประเดี๋ยวเดียวมันคิดไปแล้ว ใจนี่มันผละออกจากกาย ไหลเข้าไปในความคิด ก็มีสติรู้ทัน อันนี้เรียกว่ารู้ใจคิดนึก
มันรู้โดยที่ไม่ต้องไปดักจ้อง แต่ว่ามันเหมือนกับมันมีอาการกระเพื่อมที่ใจ สติก็รู้ทันเลย เหมือนกับแมงมุม เวลามีแมลงไปติดที่ข่ายใยของมัน มันรู้เลยทั้งที่มันอยู่ไกล เพราะว่ามันมีแรงกระเพื่อม มีแรงสั่นสะเทือนของใยแมงมุม ทำให้มันรู้ว่ามีแมลงเป็นอาหาร หรือเหยื่อของมันติด
ใจเราก็เหมือนกัน เวลามันกระเพื่อม เพราะว่าคิดนึก หรือเพราะมีอารมณ์ การกระเพื่อมของใจมันก็ทำให้สติรู้ สติรู้ก็เข้าไปเห็นมัน เห็นแล้วก็วาง ไม่ได้ไปขยุ้มเหยื่อเหมือนกับแมงมุม แต่ว่าสติมันช่วยให้ใจวางความคิดและอารมณ์ หรือหลุดจากอารมณ์ได้ หรือรักษาใจไม่ให้ความคิดและอารมณ์เข้ามาครอบงำ
ก็มีหลักง่ายๆ อยู่ 2 ข้อนี้แหละ สำหรับการหาบ้านให้ใจ คือ “รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก” หรือถ้าขยายความก็คือว่า “รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ รู้ใจคิดนึกเมื่อมีผัสสะ”
รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ ทำกิจอะไรก็ตาม กินดื่มเคี้ยวลิ้ม อุจจาระปัสสาวะ เดินไปข้างหน้าถอยไปข้างหลัง อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็รู้ รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ รู้ใจคิดนึกเมื่อมีผัสสะ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง หรือมีอะไรมากระทบกาย
หรือว่าจะพูดง่ายๆ ก็คือว่า “รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ รู้ใจคิดนึกเมื่อเจอนั่นเจอนี่” เจอรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เจอเหตุการณ์ต่างๆ เวลาใจกระเพื่อมขึ้นมา ยินดียินร้ายก็รู้
และทั้งวันเราก็มีอยู่ 2 อย่างนั่นแหละ คือถ้าไม่ทำนั่นทำนี่ ก็เจอนั่นเจอนี่ มันก็มี 2 อย่างเท่านั้นนะในชีวิตเราแต่ละวันๆ ถ้าไม่ทำนั่นทำนี่ ก็เจอนั่นเจอนี่ เจอฝนตก เจอลมพัด เจอคนมาพูดมาคุย มาชื่นชมยินดี หรือมาติฉินนินทา ก็ให้รู้ใจคิดนึก แต่ถ้าทำนั่นทำนี่ก็ให้รู้กายเคลื่อนไหว ชีวิตของเราแต่ละวันก็มีแค่นี้แหละ ทำนั่นทำนี่กับเจอนั่นเจอนี่ ถ้าเรารู้จักฝึกใจในลักษณะที่ว่า เห็นกายเคลื่อนไหวรู้ใจคิดนึก มันก็เท่ากับว่าได้ปฏิบัติทั้งวันแล้ว
และเป็นการปฏิบัติที่ไม่ต้องมาเข้าวัด มาเข้าคอร์ส มันเป็นการปฏิบัติที่ไม่ต้องใช้เวลาพิเศษ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะพบว่ามันไม่มีคำว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ ไม่มีเวลาปฏิบัติมักจะเป็นข้ออ้างของคนจำนวนมาก แต่ที่จริงแล้วถ้าหากว่าเราหมั่นรู้กายเคลื่อนไหวรู้ใจคิดนึก มันทำได้ตลอดเวลาที่ตื่น จะไม่มีคำว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ เพราะมันปฏิบัติได้ทั้งวัน จากการมีสติ ความรู้สึกตัว ในการทำนั่นทำนี่ หรือเมื่อเจอนั่นเจอนี่
และจากความรู้สึกตัว ต่อไปมันก็จะทำให้เรารู้กายรู้ใจ จนเห็นความจริงของกายและใจมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็ทำให้ใจเรามีเครื่องอยู่ มีเหมือนกับปราการที่คอยปกป้อง เปรียบไปก็เหมือนกับเรือนที่มีหลังคาที่มุงไว้หรือสร้างไว้อย่างแน่นหนา
มีพระอรหันต์ท่านหนึ่งชื่อพระสุภูติ พระสุภูติท่านเคยกล่าวเป็นคาถาพูดถึงฝน ท่านบอกว่า “ฝนเอย กุฏิเรามุงไว้ดีแล้ว มีเครื่องป้องกันมิดชิดแน่นหนา ฝนตกลงมาได้ตามสบายเลย จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว มีความเพียรอยู่ ตกมาได้ตามสบายเลยฝน”
คือเมื่อเรือนหรือกุฏิมุงไว้ดีแล้ว หรือมีหลังคาที่แน่นหนา ไม่กลัวฝนฉันใด จิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว ตั้งมั่นดีแล้ว ถึงขั้นที่หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง อย่าว่าแต่ฝนเลย แม้กระทั่งความทุกข์ทั้งปวง ก็ไม่สามารถที่จะมาทำให้จิตใจหวั่นไหว หรือเป็นโทษต่อจิตใจได้
พระสุภูติท่านไม่กลัวฝน เพราะว่าจิตของท่านมั่นคงแล้ว ฝนในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงกิเลสอย่างเดียว หมายถึงความทุกข์ที่เป็นธรรมดาโลก ความแก่ ความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย คำต่อว่าด่าทอ หรือแม้กระทั่งความตาย
ธรรมชาติของคนเราก็มักจะไม่ปรารถนา ไม่อยากให้มีเหตุร้าย มีอันตรายเกิดขึ้น ไม่อยากให้มีความแก่ ความเจ็บความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย เวลาเราภาวนา เวลาเราอธิษฐานก็ปรารถนาสิ่งเหล่านี้แหละ ว่าอย่าให้เกิดกับเราเลย แต่สำหรับชาวพุทธผู้มีปัญญา ย่อมรู้ ดีว่าอุปัทวะหรืออันตรายเหล่านี้ หรือเรียกรวมๆ ว่าความทุกข์ มันไม่มีทางหนีพ้น
เพราะฉะนั้นการไปตั้งจิตปรารถนาว่า อย่าให้มีความทุกข์เกิดขึ้นกับเราเลย เหมือนกับปรารถนาตั้งจิตว่า ขอให้ฝนอย่าได้ตกเลย มันเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ ฝนจะตกมา แต่ว่าเรามุงหลังคาไว้ดี ฝนก็ทำให้เราแปดเปื้อนไม่ได้ฉันใด แม้ความทุกข์จะหนีไม่พ้น เมื่อมันเกิดขึ้น มันก็ทำอะไรจิตใจไม่ได้ เพราะว่าจิตใจได้มีเครื่องป้องกันที่แน่นหนา
ถึงแม้ว่าเราเป็นปุถุชน ยังไม่สามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้ แต่ถ้าเรามีสติ มีความรู้สึกตัว ก็เท่ากับว่าจิตของเรามีเครื่องคุ้มกันที่ดี ที่ไว้วางใจได้ และยิ่งถ้าเราสามารถจะนำความรู้สึกตัว ไปต่อยอดจนกระทั่งเกิดความรู้แจ้งในสัจธรรม พ้นจากความหลง พ้นจาก อวิชชา ก็ยิ่งมีเครื่องคุ้มกันจิตที่แน่นหนากว่าเดิม ชนิดที่ทุกข์ใดๆ ก็ไม่สามารถจะมาแผ้วพานได้ แม้ว่าจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องพลัดพรากสูญเสีย แต่ว่าไม่ก่อให้เกิดความกระเทือนแก่จิตใจ นี่คือสิ่งที่เราควรมุ่งหวังควรปรารถนา
แต่ปรารถนาอย่างเดียวไม่พอ ต้องปฏิบัติ การปฏิบัติเช่นนี้แหละ ที่จะทำให้เรามีเครื่องคุ้มกัน หรือมีบ้านที่แท้จริงของใจ ชนิดที่บ้านของกายนี่เทียบไม่ได้เลย มันทำให้เรามีที่พึ่งที่แท้จริง แม้จะออกจากวัดไป แม้จะกลับไปสู่บ้าน แต่ว่าก็จะมีเครื่องรักษาจิต ชนิดที่ทุกข์ใดๆ ก็แผ้วพานไม่ได้
เมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระอานนท์ เมื่อได้ทราบว่ามีพระสงฆ์จำนวนมาก เศร้าโศกเสียใจที่พระพุทธองค์จะปรินิพพาน พระองค์ก็ตรัสว่า “ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจะหวังอะไรจากพระองค์อีก เพราะพระองค์แสดงธรรมจนหมดสิ้นแล้ว ไม่มีนอกไม่มีใน ฉะนั้นอย่าหวังอะไรจากพระองค์อีกเลย ถ้าจะหวังพึ่งก็หวังพึ่งตนเอง”
แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า “จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง” เกาะในที่นี้หมายถึงว่าที่ๆ น้ำท่วมไม่ถึง ก็หมายถึงกิเลสหรือความทุกข์ท่วมไม่ถึง แผ้วพานไม่ถูก จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง และพระองค์ก็ตรัสว่าให้มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่าหวังพึ่งสิ่งใดเลย
อันนี้ก็เป็นข้อคิดที่ชาวพุทธทั้งหลายก็ควรจะระลึกไว้ว่า เมื่อเรามาได้มีโอกาสมารู้จักพุทธศาสนา ได้มีโอกาสมาปฏิบัติธรรม เราต้องทำตนให้เป็นเกาะ หรือมีธรรมะเป็นที่พึ่งให้ได้ เปรียบเหมือนกับว่ามีเครื่องรักษาจิตที่มั่นคงแน่นหนา ถึงตอนนั้นไม่ว่าฝนจะกระหน่ำอย่างไร หรือเปรียบเหมือนกับทุกข์ภัย ที่ไม่ว่าจะมาอย่างไร ก็ไม่ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ หรือว่าสั่นสะเทือนได้
อันนี้แหละคือความหมายของการมีตนเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เรียกร้องวิงวอนว่าขออย่าได้เกิดอันตรายกับเรา เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่สกัดกั้นไม่ได้ แต่ว่าหน้าที่ของเราคือรักษาใจของเรา ให้มีธรรมะเป็นเครื่องรักษา
พระสุภูติท่านก็บอกว่าบอกฝน ฝนตกลงมาตามสะดวกเลย ท่านไม่กลัว ไม่กลัวเปียก ฉะนั้นถ้าเรามีธรรมะเป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องรักษาจิต เราก็จะไม่กลัวทุกข์ ทุกข์จะมาอย่างไรก็ไม่หวั่นไหว เพราะว่ามั่นใจว่ามันจะทำอะไรจิตใจไม่ได้ เพราะว่ามีธรรมะเป็นที่พึ่งแล้ว ทำให้ตนเป็นเกาะได้
ฉะนั้นขอให้เราไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะยังอยู่วัดหรืออยู่บ้าน ไม่ว่าจะยังบวชอยู่หรือลาสิกขาไป ก็ขอให้มีตนเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง เริ่มต้นด้วยการรู้จักหาบ้านให้ใจ และบ้านของใจนี่ เดิมจากกายมาเป็นปัจจุบันขณะ และจากปัจจุบันขณะมาเป็นธรรมะคือปัญญา และสติมันจะช่วยทำให้เราสามารถจะรักษาตน ให้พ้นจากทุกข์ภัยได้ ไม่ใช่เพราะว่าทุกข์ภัยไม่เกิด แต่เป็นเพราะมันทำอะไรจิตใจไม่ได้.