พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 ตุลาคม 2565
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการเข้าพรรษา ชาวบ้านก็เรียกว่าวันออกพรรษา แต่ว่าชาววัดโดยเฉพาะในหมู่พระ วันนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวันมหาปวารณา คำว่าปวารณา ชาววัดก็คุ้นเคยดี แต่อาจจะรู้จักความหมายเฉพาะแง่ปวารณาความหมายหนึ่งก็คือยอมให้ขอ อันนี้ส่วนใหญ่ผู้ที่ปวารณาก็คือคฤหัสถ์ คือญาติโยมปวารณากับพระ ยอมให้ขอได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก่อสร้าง เสนาสนะ เรื่องอาหารการขบฉัน หรือว่าเรื่องการเดินทาง อันนี้ฆราวาสจำนวนมากก็รู้ดี
อีกความหมายหนึ่งคือแปลว่ายอมให้ว่ากล่าวตักเตือน อันนี้ส่วนใหญ่ผู้ที่ปวารณาคือพระสงฆ์ ยอมให้หมู่คณะตักเตือนว่ากล่าว และวันนี้เป็นวันที่พระสงฆ์ทั่วประเทศเลย ทำพิธีปวารณา
ปกติวันขึ้น 15 ค่ำ ไม่ว่าขึ้นหรือแรม ก็จะเป็นวันที่พระมาประชุมเพื่อทบทวนปาฏิโมกข์ ปาติโมกข์ก็คือสิกขาบท หรือว่าระเบียบข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ซึ่งมี 227 ข้อ ทุกปักษ์ก็จะมาประชุมกัน ฟังพระสวดปาฏิโมกข์ เพื่อจะได้ระลึกหรือจำได้ว่าตัวเองมีข้อปฏิบั ติอย่างไรบ้างที่จะต้องใส่ใจในฐานะที่เป็นพระ แต่เฉพาะวันนี้ 15 ค่ำเดือน 11 นี่พิเศษก็คือว่า ไม่มีการสวดปาฏิโมกข์ แต่ว่ามีพิธีปวารณาแทน ซึ่งจุดหมายคือเพื่อให้พระสงฆ์ได้บอกกล่าวกับหมู่คณะ ว่าข้าพเจ้ายินยอมให้ทุกท่านว่ากล่าวตักเตือน
อันนี้จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เป็นเรื่องของประเพณีหรือธรรมเนียม แต่เป็นการตอกย้ำให้พระสงฆ์ได้ตระหนัก ว่าการที่จะมีชีวิตที่เจริญงอกงามในทางธรรม หรือว่ามีความผาสุขในชีวิตพรหมจรรย์ จะต้องมีจิตใจที่พร้อมยอมรับคำว่ากล่าวตักเตือน เพราะว่าพระภิกษุแต่ละรูปมาบวช ก็เพื่อจุดหมายสำคัญ คือการฝึกฝนตน พัฒนาตน ซึ่งก็ต้องอาศัยการฝึกหัดขัดเกลา การที่จะทำเช่นนี้ได้ ข้อแรกคือต้องรู้จักเตือนตน พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลพึงเตือนตนด้วยตนเอง อันนี้เป็นพุทธภาษิตที่หลายคนจะจำได้ จงเตือนตนด้วยตนเอง เตือนตนนี่ก็รวมถึงทักท้วง แล้วก็รวมไปถึงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะบางครั้งกิเลสมันก็ครอบงำ ทำให้เผลอทำสิ่งที่ไม่ดี ก็ต้องรู้จักเตือน เตือนทั้งการกระทำ คำพูด และก็จิตใจ
ถ้าคนเราไม่รู้จักเตือนตน มันก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้าในทางธรรม หรือว่ามีชีวิตที่ผาสุกได้ แม้จะมั่งมีร่ำรวย แต่ถ้าไม่รู้จักเตือนตนแล้ว สิ่งที่มีก็จะฉุดให้ลงไปในทางต่ำ หรือทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ แต่คนเราเตือนตนอย่างเดียวไม่พอ เพราะว่าบางทีก็หลงลืม บางทีก็ประมาท บางทีก็มองไม่ถี่ถ้วน บางทีก็แก้ต่างให้กับตัวเองด้วยอำนาจของตัวกิเลสเพราะฉะนั้นจะต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาเตือน เพราะว่าคนอื่นโดยเฉพาะผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร นอกจากมีความปรารถนาดีแล้ว ก็ยังเห็นเราในบางแง่บางมุม ที่เราอาจจะมองไม่เห็นก็ได้ กัลยาณมิตรก็มีความสำคัญต่อชีวิตเรา อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์
อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ พระอานนท์เคยกล่าวว่า กัลยาณมิตรเป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” หมายความว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยทำให้ความเจริญงอกงามในทางธรรม หรือการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 เจริญก้าวหน้าได้ ฉะนั้นกัลยาณมิตรนอกจากจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำ หรือสั่งสอนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่าง ก็ยังช่วยให้กำลังใจ ให้มีความเพียรต่อเนื่อง ไม่ให้ท้อแท้ท้อถอย และที่สำคัญก็คือว่าต้องรู้จักว่ากล่าวตักเตือนหรือทักท้วง
ถ้าไม่มีตรงนี้ การฝึกฝนหรือการพัฒนาตนของแต่ละคนก็เป็นไปได้ยาก และเพราะเหตุนี้จึงจำเป็นที่พระเราจะต้องมีคุณธรรมอย่างหนึ่ง ก็คือยอมให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ อันนี้เป็นคุณธรรมเลยทีเดียว และการที่จะมีคุณธรรมข้อนี้ หรือเห็นความสำคัญของคุณธรรมข้อนี้ พระพุทธเจ้าก็เลยกำหนดให้วันสุดท้ายของการเข้าพรรษา เป็นวันทำพิธีปวารณา และจะว่าไปแล้วการปวารณาอย่างนี้ ผู้ที่เป็นต้นแบบหรือริเริ่มก็ไม่ใช่ใคร ก็คือพระพุทธองค์นั่นเอง เนื่องจากมีกล่าวว่า เมื่อถึงวันประชุมสงฆ์ คราวหนึ่งที่เชตวันที่บุปผาราม บุปผารามก็อยู่ที่เมืองสาวัตถี เมื่อมีการประชุมสงฆ์กัน โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แทนที่พระองค์จะให้สวดปาฏิโมกข์ หรือทบทวนบัญญัติตามพระวินัย พระองค์กลับกล่าวกับหมู่สงฆ์ว่า พระองค์ขอปวารณากับหมู่สงฆ์ ยินยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ เปิดโอกาสให้หมู่สงฆ์ซึ่งมีถึง 500 รูป ได้ว่ากล่าวตักเตือน
อันนี้ขนาดพระองค์เป็นพระบรมศาสดา แล้วก็เป็นอาจารย์ของพระทุกรูปเลย แต่พระองค์ก็ยินยอมให้ลูกศิษย์ พระสาวกว่ากล่าวตักเตือน แต่ก็ไม่มีผู้ใดว่ากล่าวตักเตือน เพราะว่ามองไม่เห็นข้อผิดพลาดของพระองค์ แต่ว่ามันก็เป็นการเริ่มต้น จะเรียกว่าธรรมเนียมก็ได้ คือการทำพิธีปวารณา ในวันสุดท้ายของการเข้าพรรษา พิธีนี้ก็ไม่มีอะไรมาก พระแต่ละรูปก็กล่าวกับหมู่สงฆ์ พูดเป็นภาษาบาลีแปลเป็นไทยว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณากับหมู่สงฆ์ ถ้าเห็นก็ดี ได้ยินก็ดี หรือระแวงสงสัยก็ดี ขอให้ว่ากล่าวแก่ข้าพเจ้าด้วยความหวังดี ด้วยความเอ็นดู หรือด้วยความเมตตา เมื่อข้าพเจ้าเห็นก็จักแก้ไข แม้ครั้งที่ 2 แม้ครั้งที่ 3”
การที่คนเราจะยอมให้มีการว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งไม่ได้จำกัดผู้ที่ตักเตือน จะเป็นใครก็ได้ จะเป็นพระที่พรรษาน้อยก็ได้ จะเป็นลูกศิษย์ในวัดก็ได้ ไม่ใช่ว่าจำเพาะพระผู้ใหญ่ จึงจะว่ากล่าวตักเตือนพระผู้น้อย จำเพาะเจ้าอาวาสจึงจะตักเตือนพระลูกวัดได้ การว่ากล่าวตัก เตือนนี่มันไม่ควรจะจำกัด ว่าจะต้องกระทำระหว่างพระผู้ใหญ่กับพระผู้น้อย พระผู้น้อยก็ทำกับพระผู้ใหญ่ได้ พระพรรษาน้อยก็ทำกับพระที่เป็นภันเตได้ พระลูกวัดก็ทำกับพระที่เป็นเจ้าอาวาสได้ เพราะจุดหมายสำคัญก็คือส่งเสริมให้กับการฝึกตน
คราวนี้ถ้าหากว่าเราจะไม่ให้เป็นเพียงแค่ธรรมเนียมหรือพิธีกรรม เราจะต้องมีอะไรบ้าง ต้องมีอย่างน้อย 1. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน หรือเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ 2. เมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือน ก็รักษาใจให้ปกติ คือไม่โกรธ และ 3.เมื่อได้รับฟังแล้วก็นำไป พิจารณา แล้วก็ถ้าเขาพูดถูก ก็นำไปปรับปรุงแก้ไข
การปาวรณามันจะได้ผล ก็ต้องมี 3 อย่างนั้นแหละ ก็คืออย่างที่ข้อแรกกล่าวไว้ว่ายอมให้ว่ากล่าว ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งพูด ไม่บ่ายเบี่ยงไม่ปิดกั้น ข้อ 2. เมื่อได้ยินแล้วไม่โกรธ ไม่โมโหไม่อาฆาต แล้วก็ข้อ 3. พิจารณาด้วยปัญญา แล้วก็นำไปปรับปรุงแก้ไข อันนี้มันจึงจะเป็นการปวารณาที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่พิธีกรรม
คราวนี้จะทำเช่นนี้ได้ ต้องอาศัยคุณธรรมหลายอย่างหรือเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ประการแรกจะต้องเห็นคุณค่าของการฝึกตน เห็นคุณค่าของการพัฒนาตน เห็นคุณค่าของการขัดเกลากาย วาจา และใจของตน ถ้าไม่เห็นคุณค่า มันก็ไม่อยากจะฟังคำว่ากล่าวตัก เตือน ปิดกั้น คนที่จะยอมให้ผู้อื่นว่ากล่าว หรือเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาทักท้วง จะต้องมีตรงนี้เป็นพื้นฐาน คือเห็นคุณค่าของการฝึกตน แล้วก็รู้ว่าแค่การเตือนตนอย่างเดียวไม่พอ มันต้องอาศัยผู้อื่นมาช่วยเตือนด้วย ช่วยทักทวงด้วย
และประการที่สอง ก็คือว่าจะต้องไม่ตกอยู่ในอำนาจของตัวอัตตา อันนี้พูดแบบภาษาชาวบ้าน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าไม่ถูกครอบงำด้วยมานะทิฏฐิ เพราะคนเราถ้าหากว่ามีมานะทิฏฐิแน่นหนา หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่ามีอัตตาหนาแน่น ก็ไม่อยากฟังคำวิจารณ์ หรือถ้าฟังแล้วได้ยินแล้วก็เกิดความโมโห เพราะว่าตัวอัตตาหรือมานะทิฏฐิ ก็มีความปรารถนาที่จะแสดงตัวว่าฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันดี ฉันประเสริฐ ยิ่งเป็นพระ ยิ่งเป็นภันเต หรือมีพรรษามาก หรือว่าเป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นเจ้าอาวาส ก็ยิ่งมีความหลงตัวได้ง่าย เพราะฉะนั้น จะยอมให้คนอื่น โดยเฉพาะผู้มีพรรษาน้อยหรือลูกวัด มาว่ากล่าวตักเตือนนี่ก็เป็นไปไม่ได้
แต่ถ้าเกิดว่าไม่ปล่อยให้มานะทิฏฐิครอบงำใจ ก็พร้อมจะฟัง แต่ฟังแล้วจะต้องมีอีกประการหนึ่ง คือว่ารู้จักอดกลั้นต่ออารมณ์ เพราะว่าบางทีอย่างที่บอก พร้อมจะฟังแต่พอฟังแล้วโกรธ คนเรานี่บางทีมันก็มีความขัดแย้งในตัว บอกมาเลยว่าฉันผิดพลาดยังไง พูดมาเลย แต่พอได้ยินแล้วก็โกรธโมโห ก็เหมือนกับคนที่ไปตรวจสุขภาพแล้วไปฟังผล ก็พูดกับหมอว่า หมอบอกมาเลยฉันเป็นอะไร ฉันพร้อม บอกมาเลยฉันเป็นอะไร พอหมอบอกว่าคุณเป็นมะเร็ง แค่นี้ ทรุดเลย คือว่าใจหนึ่งก็อยากจะรู้ แต่อีกใจหนึ่งก็ยอมรับไม่ได้ เพราะยังมีความยึดติดหนาแน่นในตัวตนจนกลัวตาย หลายคนก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะบอกว่าฉันยอม ฉันพร้อมที่จะฟังคำทักท้วง ไม่ยอมให้มานะทิฏฐิมาครอบงำใจ แต่พอได้ยินแล้วก็โกรธ แต่ทำอย่างไรจะไม่โกรธ ก็ต้องมีความรู้จักยับยั้งชั่งใจ อดกลั้นต่ออารมณ์ ที่สำคัญคือมีสติ พอเห็นความไม่พอใจขุ่นมัวเกิดขึ้นก็มีสติรู้ทัน และไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ ไม่ปล่อยให้มันบงการการกระทำและคำพูด ด้วยการต่อว่าตอบโต้
นอกจากปัจจัยที่ว่าแล้ว คนเราจะน้อมรับคำวิจารณ์ได้ด้วยดี ก็ต่อเมื่อเห็นประโยชน์ของคำว่ากล่าวตักเตือน หรือแม้กระทั่งคำดุด่า ซึ่งในทางพระก็ถือว่าเป็นอนิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์คือ รูป รส กลิ่น เสียง ที่ไม่น่าพอใจ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบ มันไม่ถูกใจ พยายามบ่าย เบี่ยงหลีกเลี่ยง หรือถ้าเจอก็มีการตอบโต้กลับไป แต่ว่าคนที่จะยอมรับคำว่ากล่าวตักเตือนได้ แม้มันจะเต็มไปด้วยถ้อยคำที่ไม่ถูกใจ แต่ยอมรับได้เพราะเห็นประโยชน์ อันนี้เรียกว่ารู้จักหาประโยชน์จากอนิฏฐารมณ์ หรือเห็นประโยชน์ของคำว่ากล่าวตักเตือนซึ่งที่จริงอันนี้ก็ควรจะเป็นหลักอยู่แล้วของชาวพุทธ โดยเฉพาะพระสงฆ์ อย่างที่พระพุทธเจ้าเคยตักเตือนพระสาวก โดยเฉพาะอานนท์ว่า คนเรานี่ควรจะมองผู้ที่ชี้โทษว่า เป็นเสมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ และคนที่มองแบบนี้ก็จะมีแต่ความเจริญท่าเดียว ไม่มีความเสื่อม
ฉะนั้นถ้าเราจะยอมรับคำวิจารณ์ได้ เราต้องเห็นว่ามันมีประโยชน์หรือรู้จักหาประโยชน์จากมัน แม้มันจะเป็นคำพูดที่ไม่สวยหรู แม้มันจะเป็นถ้อยคำที่กระแทกใจ หรือกระแทกอัตตา แต่ว่าเห็นประโยชน์ของมัน เพราะเห็นว่ามันสามารถจะช่วยทำให้เราเห็นข้อผิดพลาด หรือถึงแม้จะไม่ช่วยทำให้เห็นข้อผิดพลาด แต่อย่างน้อยก็มาเป็นแบบฝึกหัดในการฝึกสติ หรืออย่างน้อยก็ฝึกขันติได้ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นประโยชน์ของอนิฏฐารมณ์ที่คนเราควรจะมี รวมทั้งมองว่าเขามาชี้ขุมทรัพย์ให้เราและขณะเดียวกันนอกจากคุณธรรมที่ว่ามาแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่เราตระหนักเห็นความจริงว่าคำต่อว่าด่าทอ ไม่ต้องพูดถึงคำว่ากล่าวตักเตือน แม้กระทั่งคำต่อว่าด่าทอ อันนี้เป็นธรรมดาของโลก ที่พระเรียกว่าโลกธรรม คนเราก็ต้องรู้จักเท่าทันโลกธรรม และก็ยกจิตให้อยู่เหนือโลกธรรมให้ได้ ไม่ว่าโลกธรรมฝ่ายบวกหรือโลกธรรมฝ่ายลบ เวลาเขาสรรเสริญก็ไม่ได้ปรับปลื้มดีใจ
เพราะฉะนั้นเวลาเขาดุด่าว่ากล่าว ก็ไม่โกรธแค้นหรือเสียอกเสียใจ สามารถรักษาใจให้ปกติได้ จะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องมีปัญญา เห็นว่านี่คือธรรมดาของโลกธรรม ที่เราไม่ควรจะข้องแวะหรือข้องติดด้วย หรือเห็นว่าไม่ว่าทำอะไรก็ตาม มันก็หนีไม่พ้นคนนินทา อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้นิ่งอยู่ก็ยังถูกนินทา แม้พูดมากก็ยังถูกนินทา แม้พูดเพียงพอประมาณก็ยังถูกนินทาเลย เพราะฉะนั้นบางครั้งเจอคำว่ากล่าว อาจจะไม่ใช่แค่ว่ากล่าวตักเตือน แต่เป็นคำดุด่าว่ากล่าว อาจจะเพราะประสงค์ร้าย หรือเพราะว่ามีอคติ แต่ใจก็รักษาไว้ให้ปกติได้ ก็เพราะเห็นว่ามันเป็นธรรมดาของโลกธรรม
ทั้ง 4-5 ประการนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะมี เพื่อที่เราจะสามารถน้อมรับคำวิจารณ์ได้ ได้แก่เห็นคุณค่าของการฝึกตน เห็นคุณค่าของการฝึกฝนขัดเกลาตน แล้วก็ไม่ยอมให้มานะทิฏฐิครอบงำใจ รู้จักอดกลั้นต่ออารมณ์ มีสติรู้ทันความโกรธที่เกิดขึ้น เมื่อมีความว่ากล่าวตัก เตือนมากระทบหู แล้วก็รู้จักหาประโยชน์จากคำว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ รวมทั้งเห็นว่ามันเป็นธรรมดาธรรมชาติของโลกธรรม หรือธรรมที่เป็นประจำโลก
ฉะนั้นถ้าเรามีคุณธรรมที่ว่าหรือมีหลักที่ว่า มันไม่เพียงแต่ทำให้เราสามารถจะน้อมรับคำวิจารณ์ได้ หรือคำว่ากล่าวตักเตือนได้ แม้กระทั่งคำดุด่าว่ากล่าว หรือว่าคำต่อว่าด่าทอ ก็สามารถที่จะรับฟังได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ ด้วยใจที่เป็นปกติ
โจน จันได ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาเป็นที่รู้จัก ในหมู่คนที่ต้องการคืนสู่ธรรมชาติ ตอนที่เขายังหนุ่ม เขาก็ไปทำงานในกรุงเทพฯ ไปเป็นพนักงานทำความสะอาดโรงแรม หัวหน้าของโจนเป็นแม่บ้าน ซึ่งโจนบอกว่าไม่เคยเจอเลยคนแบบนี้ เพราะว่าด่าอย่างเดียวเลย แต่โจนก็ทนนะ แล้ววันหนึ่งแม่บ้านก็ให้โจนไปขัดลูกบิดประตูห้องพักโรงแรม ก็ยืนคุมด้วยนะ ให้บรัสโซไปขวดหนึ่งไปขัด ตอนที่ขัดอยู่ก็มีผู้จัดการเดินผ่านมา ผู้จัดการเห็นก็ต่อว่าโจนเลยว่าขัดได้อย่างไร บรัสโซกับลูกบิดทองเหลืองแบบนี้ ลูกบิดโลหะแบบนี้มันขัดไม่ได้ แม่บ้านซึ่งเป็นคนสั่งโจนให้ทำแล้วก็ยืนคุมอยู่ ก็ซ้ำเลย เธอทำอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไม่ได้ โจนแทนที่จะโกรธ หรือ แทนที่จะโต้เถียง เกิดได้สติขึ้นมา แล้วแกก็ยิ้มแล้วก็พนมมือไหว้ แล้วก็บอกขอโทษครับ แล้วก็ขอบคุณครับ
โจนว่านั่นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเลย เพราะนับแต่นั้นมา เวลาใครว่าเขาเขาก็จะยิ้ม แต่เฉพาะตัวแม่บ้านที่ว่าเขา เขาก็จะยิ้มแล้วก็พนมมือ แล้วก็บอกขอบคุณครับ จนเป็นที่รู้กันในโรงแรม พนักงานโรงแรมหลายคนก็บอกว่า พี่โจนนี่มันฟั่นเฟือน บ้าหรือเปล่า เขาด่านี่กลับขอบคุณเขา พนมมือไหว้เขา บางคนก็หาว่า โจนนี่มันโง่ ให้เขาดุให้เขาด่า แต่โจนเขาก็ไม่ได้หวั่นไหวอะไร เพราะเขารู้สึกว่าเขาทำด้วยความจริงใจ
ผ่านไปหนึ่งเดือน แม่บ้านยังสงสัยว่าทำไมโจนทำอย่างนี้ ก็เลยถามเหตุผล โจนก็บอกว่าที่ขอบคุณแม่บ้าน เป็นการขอบคุณที่แม่บ้านมาเตือน ขอบคุณที่แม่บ้านเตือนเขา แล้วก็ช่วยให้เขาหันมาจัดการกับความโกรธของตัว เตือนอะไร เตือนให้กลับมาดูตัวเอง กลับมาดูใจของตัว และเตือนให้มาพิจารณาว่าเราได้ทำผิดหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้ทำผิดอะไรก็ไม่ควรจะโกรธ ส่วนแม่บ้านถ้าเขาจะพูดอะไรไป ไม่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องของเขา
ปรากฏว่านับแต่นั้นมา แม่บ้านนี่ก็เลิกดุด่าโจนเลย การที่โจนทำอย่างนั้นได้ อย่างน้อยๆ เพราะเขาเห็นว่าการเตือนตนเป็นของดี และคำดุด่าว่ากล่าวของแม่บ้าน ก็ช่วยทำให้เขากลับมาดูตัวเอง มันก็เป็นโอกาสให้เขาได้ฝึกฝนหรือขัดเกลาตัวเอง รวมทั้งจัดการกับ ความโกรธของตัวเองด้วย ก็เรียกว่ารู้จักมองหาประโยชน์จากคำด่าของแม่บ้าน อันนี้เป็นวิสัยของนักปฏิบัติธรรม ยิ่งเป็นนักปฏิบัติธรรมยิ่งต้องมีตรงนี้
สมัยที่หลวงปู่ขาวมีชีวิตอยู่ ก็มีแม่ชีท่านหนึ่งชื่อแม่ชีสา อุปถัมภ์พระเณรดีมาก แล้วก็ปฏิบัติได้ดีด้วย วันหนึ่งหลวงปู่ขาวก็เรียกลูกศิษย์ที่เป็นพระมา 2 รูป บอกว่าให้ไปด่าแม่ชีสา ทั้ง 2 ท่านก็งงนะ แต่ว่าครูบาอาจารย์สั่งก็ไป ไปที่กุฏิแม่ชีสา แล้วก็เรียกแม่ชีสาออกมา พอแม่ชีสาออกมา ทั้ง 2 ท่านก็รุมด่าเลย ผลัดกันด่า แม่ชีสาทีแรกก็งง แต่ว่าตั้งสติได้ก็พนมมือฟังอย่างสงบ พอทั้ง 2 ท่านด่าจนไม่รู้จะด่าอย่างไรแล้ว แม่ชีสาแทนที่จะโกรธ จะน้อยใจที่ครูบาอาจารย์มาว่า เราอุตส่าห์ทำดี ทำไมท่านไม่เห็น แม่ชีสาไม่มีความคิดแบบนี้เลย กลับพูดขึ้นมาว่า ท่านอาจารย์ดุด่าดิฉันได้เสร็จแล้วหรือ ดิฉันฟังแล้วซาบซึ้งเหลือเกิน เสียงด่า คำดุด่านี้เป็นธรรมะทั้งนั้นเลย และท่านพูดอีกว่า คราวหน้าให้มาดุว่าดิฉันอีกนะ มันจะได้หมดกิเลสสักที
นี่ก็เป็นตัวอย่างของคนที่เห็นคุณค่าของการพัฒนาตน แล้วก็มีสติ ไม่เพียงแต่ยับยั้งใจไม่ให้โกรธ แต่ว่ารู้จักหาประโยชน์จากคำดุด่า แม้บางครั้งจะไม่มีเหตุไม่มีผลเลย มันไม่ใช่คำว่ากล่าวตักเตือน แต่เป็นคำดุด่า หรือว่าต่อว่าด่าทอ แต่ก็เห็นประโยชน์ของมันคือเป็นสิ่งที่ช่วยขัดเกลากิเลส ทำให้กิเลสเจือจางเบาบางได้ อันนี้เป็นวิสัยของนักปฏิบัติธรรมเลยทีเดียว
อย่างที่บอกการที่คนเราจะน้อมรับคำวิจารณ์ หรือคำว่ากล่าวตักเตือนได้ ต้องมีคุณธรรมหลายอย่าง หรือมีหลักคิดหลายประการ ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงความก้าวหน้าของการปฏิบัติ แต่มองในแง่หนึ่งถ้ามีตรงนี้ หรือถ้าหากว่าสามารถน้อมรับคำว่ากล่าวตัก เตือนได้ด้วยใจที่ปกติ และก็รู้จักเอาไปปรับปรุงแก้ไขตัวเอง การที่คนเราจะก้าวหน้าในทางธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปมันก็จะมี
จะว่าไปแล้วมันก็เป็นตัวชี้วัดเลยว่าคนเราจะก้าวหน้าในทางธรรมได้หรือไม่ ก็ดูตรงนี้แหละ ดูตรงที่ว่าเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนแล้วทำอย่างไร ถ้าโกรธโมโห การที่จะก้าวหน้าไปยิ่งกว่านั้นมันก็ยาก เพราะว่าคนเรามันไม่เพียงแต่ต้องเจอกับคำว่ากล่าวตักเตือน แต่ว่ายังเจออะไรต่ออะไรมากมายในวันข้างหน้า เช่น การสูญเสียพลัดพรากจากคนรักของรัก การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความแก่ ความเจ็บป่วย สารพัด ความทุกข์ต่างๆ มากมาย ถ้าแค่นี้ยังไม่ผ่าน การที่จะ เจริญก้าวหน้าในทางธรรม จนกระทั่งอย่าว่าแต่ละสังโยชน์ขั้นต่ำเลย คือความสำคัญมั่นหมายว่าเรา ว่าของเรา หรือว่าสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพพตปรามาส แม้กระทั่งจะดำรงรักษาชีวิตให้เป็นปกติหรือจิตใจเป็นปกติ ท่ามกลางความผันผวนปรวนแปร มันก็ยาก
แต่ถ้าหากสามารถผ่านตรงนี้ได้ หมายความว่าฟังแล้วรักษาใจให้ปกติ ไม่โกรธ แล้วก็เอาไปปรับปรุงแก้ไข ถ้าไม่แก้ไขที่พฤติกรรม ก็แก้ไขที่ใจ ก็คือว่ารักษาใจไม่ให้โกรธ ไม่ให้โมโห การที่จะก้าวหน้าในทางธรรม สามารถที่จะเจริญในอริยมรรคมีองค์ 8 ก็มี หรือพูด อย่างหนึ่งก็คือโอกาสที่จะห่างไกลจากความทุกข์ก็จะมีมากขึ้น แต่ถ้าตรงนี้ไม่ผ่าน ถูกว่ากล่าวตักเตือนก็ยังโกรธ ยังโมโห ก็ไม่ต้องพูดถึงความก้าวหน้าในทางธรรมที่มากไปกว่านี้
อันนี้ก็เป็นเครื่องที่ชี้วัดการปฏิบัติของเราได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกฝนพัฒนาตน และถ้าจะว่าไปแล้วเมื่อพูดถึงการปวารณา มันไม่ควรจะเป็นการยอมให้ว่ากล่าวโดยพระ ไม่ว่าในสำนักนี้หรือในที่อื่นๆ เท่านั้น
สำหรับผู้ที่เป็นพระ ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่ปรารถนาความเจริญงอกงามในชีวิตพรหมจรรย์ ไม่ใช่แค่ครูบาอาจารย์เท่านั้นที่ยอมให้ว่ากล่าวได้ ไม่ใช่แค่พระด้วยกันที่ยอมให้ว่ากล่าวได้ แม้กระทั่งฆราวาสญาติโยมก็ยอมให้ว่ากล่าวได้ จะเป็นคนที่รู้จักหรือไม่รู้จัก ก็ยอมให้ว่า กล่าวได้ จะถูกหรือผิดก็แล้วแต่ ถูกก็ไปปรับปรุงแก้ไข ผิดก็นำไปใช้ขัดเกลาทิฏฐิมานะ
อย่างที่แม่ชีสาได้พูดเอาไว้ หรืออย่างที่โจน จันได เขาบอก นี่เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนักปฏิบัติธรรม ในการรับมือกับคำดุด่าว่ากล่าวซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นอุปสรรคเล็กน้อยในชีวิต เมื่อเทียบกับความทุกข์อีกมากมายที่รอเราอยู่ข้างหน้า เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าออกพรรษาไปแล้ว ถามว่าเราจะปฏิบัติธรรมอะไรที่จะช่วยทำให้เรามีความเจริญก้าวหน้าในทางธรรม อันนี้เป็นข้อหนึ่งเลย ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ แล้วก็พร้อมที่จะรับฟังด้วยใจที่ไม่ทุกข์ แล้วก็ถ้าหากว่าเขาพูดถูก ก็นำไปปรับปรุงแก้ไข ถ้าเขาพูดไม่ถูกก็ถือว่ามาช่วยขัดเกลาทิฏฐิมานะ หรือขัดเกลากิเลส อย่างที่แม่ชีสาท่านได้พูดกับครูบาอาจารย์ 2 ท่าน