พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 ตุลาคม 2565
พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันสุดท้ายของการจำพรรษาประจำปี 2565 แล้ว เราลองย้อนไประลึกถึงวันแรกที่เรามาจำพรรษาที่นี่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพระใหม่ พระนวกะ หรือว่าผู้ที่พึ่งมาจำพรรษา หรือมาปฏิบัติธรรมเข้าพรรษาซึ่งเป็นฆราวาส ความรู้สึกของเราตอนนั้นเป็นอย่างไร มันต่างจากตอนนี้มากน้อยแค่ไหน
ตอนนั้นหลายคนอาจจะรู้สึกว่า การมาจำพรรษา 90 วันนี่มันนานเหลือเกิน และยิ่งมองไปข้างหน้าถึงวันออกพรรษา หลายคนจะรู้สึกว่ามันยาวนานเหลือเกิน และอาจจะรู้สึกต่อไปด้วยว่าเวลามันผ่านไปช้า วันที่ 2 ของการจำพรรษา วันที่ 3 ของการจำพรรษา ก็จะรู้สึกว่าเวลามันคืบเคลื่อนไปอย่างช้า
หลายคนก็นับวันเลยทีเดียว นับวันที่จะออกพรรษา แต่ยิ่งนับวันเท่าไหร่ก็ยิ่งรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปอย่างช้า
แต่พอมาถึงตอนนี้อาจจะรู้สึกเลยว่า เวลามันผ่านไปเร็วเหลือเกิน มันเป็นความรู้สึกเมื่อเรามองย้อนไปข้างหลัง จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว 3 เดือน
แต่ตอนที่เรามองไปข้างหน้า 3 เดือนนี่ดูมันนาน แล้วก็ดูมันผ่านไปอย่างเชื่องช้ามาก
ถ้าหากว่ารู้สึกแบบนี้ ก็ลองเอามาใช้เป็นเครื่องเตือนใจตัวเราเอง เวลามองไปข้างหน้าจะรู้สึกว่าข้างหน้ามันไกล แต่เวลามองย้อนหลัง จะรู้สึกว่าข้างหลังมันอยู่ไม่ไกลเลย
อาจจะเป็นเพราะว่าเราผ่านมาแล้ว แต่ละวันๆ ที่ผ่านมาในช่วง 90 วันนี้ มันเป็นสิ่งที่เราผ่านมาแล้ว เราคุ้นเคยแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่ามันประเดี๋ยวประด๋าว แต่เวลาเรามองไปข้างหน้า มันจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ข้างหน้าคือสิ่งที่เรายังไม่รู้จัก ยังไม่ได้เจอ เราก็จะรู้สึกว่ามันดูยาวไกล หลายคนก็อาจจะจำได้ว่าตอนที่มาจำพรรษาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือโยม
วันแรกอาจจะรู้สึกหนักอกหนักใจ ว่าเราจะเอาไหวไหมหนอ เราจะผ่านมันไปได้อย่างไรนะ พรรษาที่จะถึงนี้ หรือพรรษานี้ เพราะรู้สึกว่าการปฏิบัติมันไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนที่บวชพระ มาทิ้งชีวิตทางโลกแม้จะชั่วคราว แล้วก็มีระเบียบ มีข้อกำกับความประพฤติ รวมทั้งจะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการตื่น การหลับ การนอน หรือว่าการขบฉัน
แต่ถึงตอนนี้ก็จะพบว่ามันไม่ยากเลย ที่เราคิดว่าเราไม่ไหวๆ หรือทำไม่ได้ ที่จริงมันไม่ยากเลย เราก็สามารถพาตัวเองผ่านมาได้ โดยที่หลายคนก็รู้สึกว่าภาคภูมิใจ กับการใช้ชีวิตของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอันนี้มันจะเรียกว่ากำไรชีวิตก็ได้ หรือว่าเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เกิดความมั่นใจในการเผชิญกับสิ่งยากในวันข้างหน้า
เราก็ต้องรู้จักเก็บเอาสิ่งดีๆ ที่เราทำได้ดี เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเรา หรือเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเรา เวลาเจอสิ่งยาก ลำบาก หรือว่าอุปสรรคในวันข้างหน้า แต่ถ้าใครใช้ชีวิตในช่วงพรรษานี้อย่างไม่ดีพอ ตามใจกิเลส อยู่ไปแบบเฉื่อยเนือย
อันนี้ก็คงจะไม่มีอะไรที่จะทำให้ตัวเองภาคภูมิใจได้ ซึ่งก็นับว่าน่าเสียดาย เพราะว่าโอกาสมีแล้ว ควรจะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้มาทบทวน ไม่ว่าจะเป็นผู้เก่าผู้ใหม่ ว่า 3 เดือนที่ผ่านมา มันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างในตัวเรา เราสามารถจะอยู่ได้ง่ายขึ้นไหม หรือว่าเรายังอยู่ยาก ยังติดสุข ติดสบายอยู่
ที่จริงชีวิตที่สุคะโตมันก็ไม่ได้ยากลำบากเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องการกิน การขบฉัน แต่สำหรับหลายคนก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคย ยิ่งต้องมาใช้ชีวิตอย่างพระ จะไปกินตามใจก็ไม่ได้ จะออกไปเที่ยวซื้ออะไรสนองความอยากก็ไม่ได้
ฉะนั้นถ้าเราสามารถจะมีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่ายได้ ก็ถือว่าเป็นกำไรชีวิต แต่ที่จริงการมาบวชและปฏิบัติที่นี่หรือที่ไหนก็ตาม มันสามารถให้อะไรเราได้มากกว่านั้น
เช่นเรามีสติ มีความรู้สึกตัวมากขึ้นไหม เรารู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ ไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือตกเป็นทาสของความคิดและอารมณ์มากขึ้นหรือเปล่า รู้จักทักท้วงความคิดบ้างไหม หรือว่าไหลไปตามความคิด ไหลไปตามอารมณ์เหมือนเดิม ควรจะได้อะไรในส่วนนี้เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย
เห็นตัวเอง รู้ทันตัวเอง และถ้าเรารู้ทันตัวเอง เห็นตัวเอง มีสติ มีความรู้สึกตัวมากขึ้น การรักตัวเองมันก็จะเกิดขึ้นตามมา เห็นคุณค่าของตัวเองขึ้นมา
และการไปพึ่งพาเป็นทาสของสิ่งภายนอก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งเสพ รวมทั้งสายตาของผู้คน คำชื่นชมสรรเสริญของคนรอบข้าง มันก็จะน้อยลง จะยึดติดน้อยลง เพราะเราพบคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเกิดจากการทำความเพียร
ถามตัวเราเองว่า เรามีความสงบใจเพิ่มขึ้นไหม หรือเราได้สัมผัสกับความสงบภายในบ้างไหม
และถ้าหากว่าได้สัมผัส ก็ลองถามตัวเองว่า มันเป็นเพราะว่าสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า เป็นเพราะวิถีชีวิตหรือเปล่า เช่นอยู่ในวัด แวดล้อมด้วยป่าที่สงัด และชีวิตก็ไม่ค่อยวุ่นวายมาก เพราะเป็นพระหรือนักปฏิบัติ ถ้าสงบแบบนี้ก็ยังไม่น่าไว้ใจ เพราะพอออกไปสู่โลก ภายนอก กลับไปบ้าน เจอความไม่สงบเหมือนเดิม เจอเสียง เจอความวุ่นวายเหมือนเดิม มันก็จะกลับไปเป็นว้าวุ่นตามเดิม
หรือว่าสงบเพราะว่าไม่ได้มีคนมาขัดอกขัดใจมาก ไม่ได้มีคนมาวุ่นวายมาก แบบนี้ก็เป็นความสงบที่ยังเปราะบางอยู่ เพราะพอออกไปเจอผู้คนที่ทำอะไรไม่ถูกใจเรา ขวางหูขวางตาเรา จิตใจก็จะกลับมารุ่มร้อนเหมือนเดิม
แต่ถ้าหากสงบเพราะว่ามีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีอะไรมากระทบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดังหรือผู้คน การกระทำและคำพูดของเขา แม้จะไม่ถูกใจ แต่ว่าเราก็สามารถรักษาใจให้สงบได้ อย่างนี้ก็ถือว่าเกิดความเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนก็เกิดจากการปฏิบัติ
ก็มีนักปฏิบัติจำนวนไม่น้อย ที่สงบได้เวลาอยู่วัด หรือสงบได้เมื่อทุกสิ่งรอบตัวมันถูกอกถูกใจ ไม่ว่าจะเป็นดินฟ้าอากาศ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน การกระทำคำพูดก็ดูอ่อนหวานน่ารัก เอื้อเฟื้อเกื้อกูล
แต่พอสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน หรือเจอคนที่พูดไม่ดี ทำตัวไม่น่ารัก ไม่เป็นไปดั่งใจ ก็เกิดความโกรธ เกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา ไม่รู้จักใช้สติในการรักษาใจ แบบนี้ก็ถือว่ายังไม่ได้มีพัฒนาการเท่าไหร่
การมาอยู่วัดก็กลายเป็นการแค่มาหลบปัญหา ซึ่งคนเราไม่ว่าจะหนีปัญหาอย่างไร ในที่สุดก็ต้องเจออยู่วันยังค่ำ หนีปัญหาจากโลกภายนอก สุดท้ายก็มาเจอปัญหาที่วัด อันนี้มันเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น
เพราะจะว่าไปแล้วที่ที่ไม่มีปัญหาเลย มันก็มีอยู่ที่เดียว ก็คือสุสานหรือป่าช้า เพราะว่าสุสานหรือป่าช้านี่มันเงียบสงบสงัด แล้วมันไม่มีปัญหาเลยเพราะว่ามีแต่คนตายแล้วทั้งนั้น แต่ที่ไหนก็ตามที่มีคน มันก็ต้องมีสิ่งที่มากระทบใจ หรือว่ามาทำให้ขัดอกขัดใจเป็นธรรมดา
อย่าว่าแต่อยู่กันหลายคนเลย อยู่คนเดียวก็ยังมีความหงุดหงิดรำคาญ เหมือนกับคนที่ติดกักตัวเองอยู่ในบ้านเพราะโควิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะล็อกดาวน์ทั่วเมือง หรือเพราะว่าต้องกักตัวอยู่ในห้อง อยู่คนเดียวแท้ๆ ก็ยังหงุดหงิด ก็ยังว้าวุ่น หรือว่าหงอยเหงา ว่างเปล่าเคว้งคว้าง เพราะอะไร เพราะมีคนไง อย่างน้อยก็ 1 คนแล้ว
แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักฝึกสติ มีความรู้สึกตัว มันก็ช่วยทำให้เราสามารถรักษาใจให้สงบได้ แม้ว่ารอบตัวนี่มันจะไม่เป็นไปดั่งใจ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ก็ตาม ถามตัวเราเองว่าเราได้เข้าใจชีวิตมากขึ้นไหม เราได้เห็นความจริงเกี่ยวกับกายและใจมากขึ้นไหม ไม่ใช่กายและใจของใคร กายและใจของตัวเอง อย่างน้อยก็ควรจะรู้ใจตัวเองให้มากขึ้น
คนเรามักจะสนใจ อยากจะรู้ใจคนอื่น รวมทั้งอยากให้คนอื่นมาทำอะไรให้ถูกใจเรา แต่เรากลับไม่สนใจที่จะรู้ใจตัวเอง และสุดท้ายเราก็ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ขัดอกขัดใจตัวเอง
แต่ถ้าเรารู้ใจตัวเองมากขึ้น ก็ถือว่าเรามีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การมาเรียนรู้เรื่องความจริงของกายและใจ จะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน
เข้าพรรษาในแง่หนึ่งก็หมายถึงช่วงของการฝึกฝน ช่วงเวลาแห่งการศึกษา พอการเข้าพรรษายุติ บางคนก็เปรียบเหมือนกับว่าโรงเรียนปิดเทอมแล้ว ปิดเทอมก็หมายถึงว่าการศึกษามันได้ยุติลง แต่มันก็เป็นการยุติเฉพาะการศึกษาที่เป็นทางการ
นักเรียนที่เรียนตามโรงเรียน แม้ว่าปิดเทอมแล้วเขายังต้องเรียนต่อเลยนะ บางคนก็ต้องเรียนพิเศษ แต่ถึงไม่เรียนพิเศษ เพราะว่าเรียนจบหลักสูตร ครบหลักสูตรแล้ว เขายังต้องเรียนต่อไป เพราะชีวิตนี่คือการศึกษา คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างที่พูดไปแล้วเมื่อวาน
การศึกษาเรื่องกายเรื่องใจของตัวเองก็เหมือนกัน แม้ว่ามันจะปิดฉากอย่างเป็นทางการพรุ่งนี้ แต่ว่ามันก็เป็นแค่การปิดชั่วคราว สำหรับการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นทางการ หรือในรูปแบบ
แต่การเรียนรู้การศึกษาของเราก็ยังต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าจะสิกขาลาเพศไป หรือแม้ว่าออกจากวัด กลับไปบ้านก็ตาม อย่างที่บอกวิชาชีชีวิตเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไปตลอด ตราบใดที่ยังมีความทุกข์อยู่ วิชาชีวิตนี้ก็ช่วยทำให้เราออกจากทุกข์ หรือว่าสามารถที่จะก้าวข้ามผ่านทุกข์ไปได้
ในช่วงเข้าพรรษาก็มีครูบาอาจารย์ช่วยสอนเรา บางทีก็สอนด้วยคำพูด คือการเทศน์ การบรรยาย บางทีก็สอนเราด้วยการปฏิบัติให้เราดู อย่างที่ว่าทำให้ดูอยู่ให้เห็น
ออกพรรษาไปแล้ว แต่ละคนที่สิกขาลาเพศไป การสอนแบบนี้มันก็จะจบสิ้นไปด้วย แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรละทิ่งก็คือการสอนตัวเอง ครูบาอาจารย์อาจจะไม่ได้สอนเราแล้ว แต่ว่าเราต้องรู้จักสอนตัวเอง
ชาวพุทธเราอย่าว่าแต่เป็นนักปฏิบัติเลย คนทั่วไปก็ต้องรู้จักสอนตัวเอง อย่ารอให้ครูบาอาจารย์มาสอน เพราะมันเป็นของชั่วคราว ถ้าเราสอนตัวเองได้ โอกาสที่ชีวิตเราจะเจริญงอกงาม และโอกาสที่เราจะเข้าใจวิชาชีวิต ก็จะมีความมากขึ้น
การสอนตัวเองส่วนหนึ่งก็อาศัยการเตือนตน เตือนตนบ่อยๆ คนเราก็เรียนมาเยอะ เราก็รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิ ดมีความรู้จักผิดชอบชั่วดี ก็ต้องเตือนตน และสิ่งที่จะช่วยให้การเตือนตนเกิดขึ้นได้ก็คือการมีสติ
แน่นอนการได้ยินได้ฟังมากก็ช่วยเยอะ เราได้ยินได้ฟังได้อ่านมาก เราก็รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แต่ว่าถ้าไม่มีสติมันก็ลืม โดยเฉพาะเวลามีอะไรมากระทบ
อย่างบางทีครูบาอาจารย์ก็สอนว่า ถ้าโกรธเมื่อไหร่ ให้กลับมาตามลมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจยาวๆ นับ 1-10 ก็รู้นะ เพราะว่าครูบาอาจารย์ก็สอนมาแล้ว หรือบางทีก็อ่านจากตำราอ่านจากหนังสือ แต่พอโกรธเพราะมีอะไรมากระทบ มันลืมเลยนะ ลืมว่าครูบาอาจารย์สอนอะไร
บางทีท่านก็สอนว่าโกรธคือโง่ โมโหคือบ้า แต่พอโกรธเข้า ลืมเลยที่ท่านสอน อันนี้เพราะอะไร เพราะขาดสติ ขาดสติ 2 ชั้นเลย คือ1.ไม่รู้ทันความโกรธ อันนี้เรียกว่าลืมใจ 2.ลืมคำสอนของครูบาอาจารย์
ตอนที่โกรธอย่างน้อยถ้าระลึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ได้ มันก็ช่วยทำให้กลับมาดูแลใจ เช่น ตอนที่โกรธอยู่ นึกได้ครูบาอาจารย์สอนให้กลับมาตามลมหายใจ ให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัว หรือว่าบางทีท่านก็สอนว่าให้อยู่กับพุทโธ ถ้าระลึกได้ มันก็สามารถที่จะยับยั้งใจไม่ให้ตกเป็นทาสของความโกรธได้ แต่ถ้าไม่มีสติเมื่อไหร่ มันก็หายหมด
ฉะนั้นการสอนตัวเองก็ต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ จิตมันก็ไหลไปตามอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ หรือความอยาก ความโลภ ตัณหาราคะ แต่การสอนตัวเองมันจะดี มันจะเป็นผลได้ มันก็ต้องอาศัยการรู้จักเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ด้วย
การสอนตนมันจะเกิดขึ้นได้ดี ก็ต่อเมื่อเรารู้จักสิ่งต่างๆ รอบตัว เรียนรู้ไปในทางที่เตือนสติ เรียนรู้ในทางที่ทำให้เข้าใจชีวิตจิตใจได้มากขึ้น มันก็เป็นวิธีการเตือนตนอย่างหนึ่ง
อย่างในสมัยพุทธกาล มีบางท่านเดินธุดงค์แล้วก็ผ่านป่าแห่งหนึ่ง ตอนนั้นเป็นหน้าร้อน เกิดไฟป่าขึ้นมา เห็นไฟป่าอยู่ไกลๆ ไฟป่ามันก็แรงมาก มันก็เผาผลาญทำลายต้นไม้ไปมากมาย
ท่านมองนี่ท่านก็นึกไปถึงกิเลส ว่ากิเลสนี่มันก็สามารถจะเผาผลาญจิตใจเรา ไม่ต่างจากไฟป่าที่มันเผาผลาญต้นไม้จำนวนมาก พอท่านเห็นอย่างนี้ ท่านก็เกิดความเพียรในการที่จะเอาชนะกิเลส เพื่อไม่ให้กิเลสมาเผาผลาญใจ
หรือบางท่านท้อแท้ท้อถอยกับการปฏิบัติ ก็มาเดินเห็นควายที่มันตกหล่ม มันก็พยายามที่จะขึ้นจากหล่มให้ได้ มันพยายามแล้วพยายามอีก ทั้งที่มันเหนื่อย มันก็ไม่ยอมหยุด
เห็นเช่นนี้ก็เกิดได้สติขึ้นมา ว่าขนาดเดรัจฉานมันยังไม่ยอมแพ้เลย มันยังมีความเพียร แล้วเราจะท้อแท้ได้อย่างไร อันนี้ก็เรียกว่ารู้จักใช้ธรรมชาติมาสอน และมันมีสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ที่สามารถจะสอนเราได้มากมาย หรือเราสามารถจะเรียนรู้ได้ โดยที่บางทีเจ้าตัวเขาก็ไม่คิดจะสอนเรา
อย่างในสมัยพุทธกาลก็มีพระรูปหนึ่ง ท่านเดินผ่านบ้านของคหบดีคนหนึ่ง แล้วก็มีนางทาสีกกำลังร้องเพลง เป็นเพลงที่เกี่ยวกับความผิดหวัง ผิดหวังในความรัก ความรักมันแปรเปลี่ยนไป แล้วก็โยงไปถึงว่าความไม่เที่ยงของชีวิต ชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอน มีรักก็มีเลิก
ท่านพิจารณาท่านก็เห็นชัดเลย อนิจจัง ปรากฏว่าเกิดปัญญาเลย เกิดปัญญาเข้าใจพระไตรลักษณ์ จิตหลุดพ้นเลยเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์เพราะได้ยินเสียงร้องเพลงของนางทาสี ครูบาอาจารย์สอนแต่ว่าท่านฟังแล้วไม่บรรลุธรรม แต่พอนางทาสีร้องเพลง เป็นเพลงเกี่ยวกับความรัก ความผิดหวังในความรัก ท่านฟังแล้วเอามาสอนใจตัวเอง บรรลุธรรมเลย เป็นพระอรหันต์
แล้วก็มีเรื่องเล่าในประเทศจีนว่า พระหนุ่มเดินผ่านโรงเตี๊ยม ตอนนั้นก็กลางคืน กำลังมีการร้องเพลงเกี้ยวพาราสี ตอบโต้กันภายในโรงเตี๊ยม แล้วก็มีตอนหนึ่งที่ผู้หญิงก็พูดขึ้นมาว่า ถ้าเธอไม่มีใจให้ฉัน ก็ขาดกัน
พระหนุ่มนี่ได้ยินพอดี ท่านบรรลุธรรมเลย เพราะว่าท่านเห็นเลยว่า เมื่อมีความผูกพันยึดติดถือมั่น มันก็มีแต่ทุกข์ แต่ถ้าหากว่าละทิ้งหรือตัดความยึดติดถือมั่นได้ ทุกข์ก็ดับไป ผู้หญิงนี่ไม่ได้ร้องในความหมายนั้นเลย อาจจะเป็นการตัดพ้อ ว่าถ้าเธอไม่มีใจให้ฉันก็เลิกกัน
แต่ว่าพระหนุ่มฟังแล้วนี่กำลังสอนสัจธรรมเลยว่า ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นเมื่อไหร่ หรือถ้าหากว่าตัดความผูกพันกันเมื่อไหร่ ตัดความผูกพันในสิ่งใดเมื่อไหร่ มันก็หมดทุกข์ทันทีเลย บรรลุธรรมเลยนะ แล้วก็ถึงกับกราบเลย กราบผู้ที่ร้องเพลงนี่ที่หน้าโรงเตี๊ยมเลย เพราะว่ากำลังสอนธรรม
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของคนที่รู้จักเรียนรู้จากทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าผ่านเข้ามาทางตา ทางหู หรือผ่านเข้ามาในชีวิต ก็สามารถที่จะหยิบมาเพื่อเตือนตน หรือเพื่อทำให้เกิดปัญญา เข้าใจในความจริงของชีวิต หรือเกิดความเพียรในการปฏิบัติ
ฉะนั้นเราต้องรู้จักเปิดโอกาสให้สิ่งต่างๆ สอนเรา หรือรู้จักเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยในการเตือนตนให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม และเพื่อให้การปฏิบัติของเราได้เจริญงอกงาม ถึงพร้อมด้วยจริยธรรมคือความดี หรือว่าแจ่มแจ้งในสัจธรรมคือความจริง อันนี้คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด จนกว่าจะพ้นทุกข์ หรือจนกว่าจะเข้าใจแจ่มแจ้งในความจริงของชีวิต จนเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งมวล.