พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 ตุลาคม 2565
เมื่อ 4 วันที่ผ่านมา ก็มีพระที่วัดของเราลงไปสอบที่แก้งคร้อ การสอบนี่ก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะพระที่วัดป่าสุคะโต ต้องเรียกว่าพระเณรทั่วประเทศเลย เป็นการสอบทั่วประเทศประจำปี สอบวิชานักธรรมตรี คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงพระสงฆ์ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ยินว่ามีวิชานี้อยู่ด้วย แม้กระทั่งพระจำนวนมากก็ไม่รู้ว่ามีวิชานี้ที่ต้องเรียนและต้องสอบ โดยเฉพาะพระที่เป็นนวกะ
นักธรรมตรีนี่เป็นหลักสูตรพื้นฐานเลยของคณะสงฆ์ไทย แล้วก็เป็นการประมวลความรู้พื้นฐานสำหรับไม่ใช่เฉพาะพระแต่รวมทั้งเณรด้วย เกี่ยวกับพุทธศาสนา มันเป็นความรู้ด้านปริยัติธรรม ที่จะว่าไปแล้วไม่ใช่เฉพาะพระเณรเท่านั้น แต่ว่าชาวพุทธก็ควรจะรับรู้หรือว่าเรียนด้วย
มันเป็นการประมวลความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมะ เรื่องวินัย รวมทั้งเรื่องพุทธประวัติวินัยถึงแม้ว่าจะเป็นวินัยของพระสงฆ์ แต่ว่าสามเณรก็ดี ชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ทั่วไปก็ดี ก็ควรจะทราบ จะได้รู้ว่าพระที่ดีพึงปฏิบัติตัวอย่างไร การปฏิบัติ ตามพระวินัยเป็นอย่างไร ก็ต้องมีเกณฑ์ในการวัด หรือความรู้ในการตรวจสอบพิจารณา
สมัยก่อนนี้วิชานักธรรมซึ่งก็มีอยู่ 3 ชั้น ตรี โท เอก แม้แต่วิชานักธรรมขั้นพื้นฐานคือนักธรรมตรี มีความสำคัญถอยหลังไปสัก 80-90 ปีก่อน พระเณรที่จบนักธรรมตรี สึกออกมาเขาถือว่าโก้ และก็มีหลักประกันว่าจะได้ทำงานรับราชการ
ยิ่งนักธรรมเอกด้วยแล้ว เขาถือว่าเป็นที่เชิดหน้าชูตาของวัด หรือว่าของชุมชนเลยทีเดียว สึกไปแล้วก็ยังอวดใครได้ว่าจบนักธรรมเอก หรือแม้แต่พระเวลาแนะนำตัว ถึงแม้จะไม่ได้จบมหา ไม่ได้เป็นมหา แต่ถ้าลงท้ายว่านักธรรมตรี โท เอก ก็ถือว่าโก้อยู่นี่คือเมื่อ 80-90 ปีก่อนหรือ 100 ปีที่แล้ว
เพราะว่าสมัยก่อนนี้โรงเรียนยังไม่แพร่หลาย การศึกษาสมัยใหม่ยังไม่แพร่หลาย การศึกษาที่ก้าวหน้าที่สุด การศึกษาใหม่ก็หาได้จากในวัดเท่านั้นแหละ ต้องนึกภาพว่าสมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียน โรงเรียนยังไม่แพร่หลายเท่าไหร่ โดยเฉพาะในชนบท
การศึกษาสมัยใหม่ แม้กระทั่งขั้นพื้นฐานคืออ่านออกเขียนได้ ก็ต้องมาเรียนที่วัด และดังนั้นพระเณรที่อ่านออกเขียนได้ เขาถือว่ามีความรู้มากกว่าชาวบ้านทั่วไป และยิ่งไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้ แต่ว่ายังสามารถจะแต่งกระทู้ แล้วก็มีความรู้พื้นฐานด้านพุทธศาสนา ก็ ถือว่าเป็นผู้นำของชุมชนได้ จบมาแล้วถ้าสึกเป็นคฤหัสถ์ ก็หางานทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะรับราชการ
อันนี้ก็ถือว่าเป็นความสามารถของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านได้ชื่อว่าเป็นบิดาของการศึกษาสงฆ์สมัยใหม่ เพราะว่าท่านเป็นคนคิดค้นหลักสูตรนักธรรม รวมทั้งหลักสูตรปริยัติติธรรมบาลีด้วย ที่เป็นรูปเป็นร่างเป็นระบบทุกวันนี้
ก็เป็นเพราะการคิดค้นของท่าน จะเรียกว่าด้วยตัวคนเดียวเลยก็ได้ เพราะว่าพอคิดหลักสูตรขึ้นมาแล้ว ตำรานี่ท่านก็เขียนเองหมดเลย หลักสูตรนักธรรมตรี โท เอก ตำราแทบทั้งหมดท่านเขียนเอง แล้วทุกวันนี้ก็ยังใช้ตำราของท่าน ทั้งที่ผ่านมาแล้วร้อยปี
คนไม่รู้ว่านักธรรมตรี โท เอก นี่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่ถึง 100 ปีนี่แหละ ด้วยฝีมือของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 5 และจะเรียกว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ของรัชกาลที่ 6
พอท่านสร้างหลักสูตรขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้เกิดการศึกษาที่เป็นมาตรฐานในหมู่คณะสงฆ์ไทย เพราะแต่ก่อนนี้ไม่มีมาตรฐานเลย สอนกันไปคนละทิศคนละทาง แล้วแต่สำนัก แล้วแต่ครูบาอาจารย์ พระมหาสมณะเจ้าท่านก็มาวางหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ทั่วประเทศ
ฉะนั้นทุกวัดก็เรียนหลักสูตรเดียวกัน ตำราเดียวกัน จบไปแล้วก็มีความรู้ ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา แล้วก็ออกไปรับราชการทำมาหากินได้ เพราะมีความรู้อ่านออกเขียนได้ แต่ตอนหลังพอโรงเรียนแพร่หลาย การศึกษาสมัยใหม่แพร่หลายไปตามโรงเรียนต่างๆ หลักสูตรนักธรรมตรี โท เอก ก็ค่อยๆ ลดความสำคัญ หรือได้รับความนิยมน้อยลง
ตอนหลังจบนักธรรมอย่างมากก็ไปสมัครเป็นบุรุษไปรษณีย์เท่านั้นแหละ และเดี๋ยวนี้จบนักธรรมตรีเขาก็เทียบวุฒิเท่ากับประถมศึกษา ซึ่งสำหรับพระเราที่ไปสอบ มีหลายคนก็จบปริญญาตรี บางคนจบปริญญาโทด้วยซ้ำ เรียกว่าวิชาที่เรียนนี่มันต่ำกว่าวุฒิมากเลย
อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลักสูตรนักธรรมตรีลดความสำคัญลง ถึงเวลาไปสอบก็ไม่มีคนไปสอบ แต่ก่อนนี้จะสอบนักธรรมตรีเขาสอบหลังออกพรรษาแล้ว แต่ตอนหลังนี่พบว่าออกพรรษาไปแล้วไม่มีคนไปสอบ เข้าชื่อไปแล้วแต่ไม่สอบ เพราะว่าอะไร
เพราะสิกขาลาเพศไป ตัวเลขมันตกต่ำมาก จำนวนพระเณรที่เข้าสอบ แล้วเดี๋ยวนี้เณรก็เหลือน้อยลง พระก็สึกกันไปเยอะหลังจากออกพรรษาแล้ว วิธีที่ทำให้ตัวเลขมันกระเตื้องขึ้นมา ก็คือสอบก่อนออกพรรษา นี่คือเหตุผลหรือที่มา ที่เรามาสอบกันก่อนที่จะออกพรรษา แล้วเดี๋ยวนี้คนก็ไม่ค่อยนิยมเรียน แล้วก็ไม่ตั้งใจเรียนด้วย
เพราะ 1.เนื้อหามันโบราณแล้ว มันของ 100 ปีที่แล้ว สำหรับคนสมัยใหม่นี่มันก็ไม่รู้สึกว่าน่าสนใจเท่าไหร่ หรือว่าตอบโจทย์ของผู้เรียน และ 2. วิธีการสอน รวมทั้งวิธีวัดผลก็เน้นการท่องจำ
การท่องจำเดี๋ยวนี้มันก็ล้าสมัยแล้ว คนเรียนจบก็ได้แต่จำเอา พอสอบเสร็จก็ลืม วิธีการสอนแทนที่จะเน้นให้เกิดความรู้จักคิด รู้จักประยุกต์ใช้ธรรมะ เข้าใจเนื้อหาของธรรมะ เอาไปใช้กับชีวิต ไม่ว่าในยามที่เป็นพระนักบวชหรือเป็นคฤหัสถ์
ถ้าหากว่าคนเห็นว่าวิชาที่เรียนมันมีประโยชน์ มันตอบโจทย์ชีวิตได้ เขาก็สนใจ เหมือนกับที่คนหลายคนสนใจเรื่องฮาว์ทู how to ฮาว์ทูอย่างนั้น ฮาว์ทูอย่างนี้ ไม่มีใครบังคับให้เรียนก็ไปศึกษาค้นคว้า เสียเงินเรียนก็ไปเรียน เพราะมันตอบโจทย์ของเขา
แต่ว่านักธรรมตรี โท เอก คนส่วนใหญ่เขามองว่ามันไม่ตอบโจทย์ก็เลยไม่สนใจเรียน ยิ่งรู้ว่าเรียนจบไปแล้วก็เอาไปทำอะไรไม่ได้ นักธรรมตรีก็เทียบวุฒิเท่ากับประถมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จบปริญญาตรีกันมาแล้ว แรงจูงใจที่จะเรียนเพื่ออประโยชน์ทางโลกก็เป็นศูนย์ ยกเว้นแต่คนที่สนใจในเรื่องทางธรรม
ที่จริงถึงแม้ว่าวิชานักธรรมมันจะโบราณแล้วนะ เพราะเป็นผลผลิตของเมื่อร้อยปีก่อน แต่ว่าถ้าหากว่าเรารู้จักคิดพิจารณา มีประโยชน์นะ ไม่ว่าจะเป็นวิชาธรรมวิภาค คือวิชาเกี่ยวกับธรรมะ วิชาเกี่ยวกับวินัย วิชาเกี่ยวกับพุทธประวัติ ถ้ารู้จักคิดพิจารณา มีประโยชน์ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นวิชาที่อาจจะโบราณสักหน่อย
แต่ที่จริงพระไตรปิฎกก็เก่านะ 2,600 ปี แต่ว่าถ้ารู้จักพิจารณาก็ยังล้ำสมัย สามารถที่จะตอบโจทย์แก้ปัญหาชีวิตได้ เพียงแต่ว่าครูที่สอน ไม่ได้สอนให้ผู้เรียนรู้จักคิด รู้จักประยุกต์ธรรมะมาใช้กับชีวิต หรือใช้ธรรมะมาไตร่ตรองพิจารณาชีวิต คนก็เลยรู้สึกว่ามันไม่น่าสนใจ แต่ผู้ที่มีปัญญาก็ย่อมเห็นประโยชน์ หรือหาประโยชน์ได้จากวิชานักธรรมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวิชาใดก็ตาม หรือแม้แต่จะเป็นนักธรรมชั้นตรี
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสอบไปแล้ว ถ้าเรารู้จักเอามาใช้ มันก็ยังมีประโยชน์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นธรรมะขั้นพื้นฐาน หรือว่าวินัย ที่สามารถจะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ เมื่อเราเรียนจบแล้ว เราสอบแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรจะลืม ไม่ว่าจะเป็นพระนวกะหรือว่าพระที่มีพรรษามาก หรือแม้กระทั่งญาติโยม แม้จะเรียนจบปริญญา จบด็อกเตอร์แล้ว มันมีวิชาหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม มันคือวิชาชีวิต
วิชาชีวิต เป็นวิชาที่บางคนไม่คิดว่ามีด้วยซ้ำ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นวิชาที่สำคัญมาก ที่คนเขาบอกว่าการศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เรียนรู้ตลอดชีวิตนี่มันไม่ใช่แค่เรียนรู้วิชาทางโลกอย่างเดียว หรือเรียนรู้วิชาชีพอย่างเดียว แต่มันรวมถึงวิชาชีวิตด้วย
จริงๆ สมัยนี้วิชาชีพมันก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ไปตลอดเลย เพราะเดี๋ยวนี้มันมีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แม้แต่คนที่เรียนแพทย์ เขายังต้องเรียนไม่จบสิ้น เพราะว่ามันมีความรู้เกี่ยวกับโรคสมัยใหม่ แล้วก็มีวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ต้องเรียนอยู่เรื่อยไป หยุดเรียนเมื่อไหร่ก็ตามโลกไม่ทัน
แต่มันไม่ใช่แค่วิชาชีพ วิชาชีวิตก็เหมือนกัน คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเลย วิชาชีวิตคืออะไร วิชาชีวิตก็คือวิชาหรือความรู้ที่ช่วยทำให้เราดำเนินชีวิตในโลกนี้ได้อย่างมีคุณค่า และก็มีความสุข หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเป็นวิชาที่ช่วยให้เราได้เข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการเป็นมนุษย์ หรือได้รับประโยชน์สูงสุดจากการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มันมีความหมายมากกว่าวิชาชีพ
วิชาชีพส่วนใหญ่ก็ช่วยทำให้เราสามารถทำมาหากิน มีเกียรติยศ มีชื่อเสียง แล้วก็รวมไปถึงการมีครอบครัว มีชีวิตมีฐานะที่มั่นคง แต่มันไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะทำให้เรามีความสุข เพราะว่าชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เต็มไปด้วยความผันผวนแปรปรวน และสิ่งหนึ่งที่เราจะเรียนรู้จากวิชาชีวิตก็คือการทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า มีความหมาย
วิชาชีวิตจะบอกเราว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของชีวิต ที่บางทีเราพูดถึงว่าเกิดมาทำไม วิชาชีวิตนี่ตอบเราได้ว่าเกิดมาทำไม หรือพูดให้ถูกต้องคือตอบเราได้ว่าเราควรมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร หรืออยู่ไปทำไม เกิดมาทำไมนี่เราอาจจะตอบยาก เพราะเราไม่ได้เป็นคนพาตัวเองให้เกิดมาในโลกนี้ แต่เราเป็นคนกำหนดว่าเราจะมีชีวิตอย่างไรในโลกนี้
และวิชาชีวิตมันช่วยทำให้เราสามารถจะตอบได้ว่า เราควรจะอยู่เพื่ออะไร หรือควรจะอยู่อย่างไร ซึ่งถ้าเรารู้จักใช้ชีวิตให้มีคุณค่า มันก็ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย และทำให้เรามีความสุข
แต่ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับความจริงของชีวิตแค่ไหนด้วย วิชาชีวิตไม่ได้บอกเพียงแค่ว่าคุณค่าของชีวิต ความหมายของชีวิต แต่ยังเปิดเผยให้เราได้รู้ถึงความจริงของชีวิต ฉะนั้นถ้าเรารู้ถึงความจริงของชีวิต เราก็จะพบว่าความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ แล้วก็ต้องตาย วิชาชีวิตเตือนให้เรารู้ว่าในโลกนี้อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้
อันนี้เป็นความรู้ที่สำคัญ เพราะว่าความทุกข์ของผู้คน โดยเฉพาะความทุกข์ใจ มันก็ล้วนแล้วแต่การที่คนเราลืมหรือมองข้ามความจริงอันนี้ เมื่อเกิดความแปรเปลี่ยน เมื่อเกิดความผันผวนปรวนแปร ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะไปยึดติดสิ่งต่างๆ ว่ามันเที่ยง ว่ามันคงที่ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ รวมทั้งคนรัก
ถ้าเรียนรู้วิชาชีวิตก็จะรู้ว่าสุขกับทุกข์เป็นของคู่กัน ยิ่งถ้าเป็นสุขที่ผูกติดกับลาภ ยศ สรรเสริญ ความทุกข์ก็หนีไม่พ้น เพราะมีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ เจอสรรเสริญก็ต้องเจอนินทา
แต่จะว่าไปแล้ววิชาชีวิตมันไม่ใช่เป็นเรื่องความรู้อย่างเดียว มันไม่ใช่แค่ทำให้เราเห็นความจริงของโลกของชีวิต แต่มันยังทำให้เรามีทักษะ หรือมีศิลปะในการดำเนินชีวิตให้เป็นสุขได้
ท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรของชีวิตและโลก นั่นก็หมายความว่าเวลามีความเสื่อม ความแปรปรวน เวลาเจอเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น เจ็บป่วยหรือสูญเสียคนรัก ของรัก ก็สามารถรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ หรือสามารถพาชีวิตให้ผ่านพ้นความทุกข์ ความผันผวนปรวนแปรเหล่านั้นได้
มันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากเลยนะ เพราะว่าเรียนสูงแค่ไหน รำ่รวยเพียงใด ก็ต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้นแหละ อย่างที่เราสวดทุกเช้า เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว
ความทุกข์นั้นก็ไม่ใช่แค่ความแก่ ความเจ็บ ความป่วยป่วย หรือความตาย แต่ยังรวมถึงการสูญเสียพลัดพรากคนรักของรัก ต้องเจอความไม่สมหวัง เจออนิฏฐารมณ์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เจอคำต่อว่าด่าทอ เจอคำดูถูกหยามหยัน ไม่ใช่แค่คำสรรเสริญยกย่องอย่างเดียว คนที่เก่งในเรื่องวิชาชีพหรือประสบความสำเร็จในทางวิชาการ แต่พอเจอกับความผันผวนปรวนแปรอย่างที่ว่า เอาตัวไม่รอดก็มี
แต่ถ้าหากเรามีวิชาชีวิต มีทักษะ มีศิลปะ เพราะมีความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต เราก็สามารถที่จะรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ และสามารถนำพาชีวิตให้เข้าถึงความเจริญงอกงาม พูดอย่างนี้ก็คงจะเห็นความสำคัญของวิชาชีวิต
แต่คำถามคือว่าเราจะเรียนวิชาชีวิตได้อย่างไร วิชานักธรรมนี่เราก็เรียนจากตำรา เราก็เรียนจากครูบาอาจารย์ที่มาสอนหน้ากระดานหรือสอนหน้าชั้น แต่วิชาชีวิตมันไม่ใช่เรียนจากตำราอย่างเดียว มันเรียนจากประสบการณ์ด้วย
ประสบการณ์ก็มีทั้งประสบการณ์ชั้น 2 คือประสบการณ์ที่คนอื่นเล่าให้ฟัง พ่อแม่เล่าให้ฟัง ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง หรือว่าเราอ่านจากข้อมูลข่าวสาร หนังสือพิมพ์ เห็นคนที่เขาประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ว่ากลัดกลุ้มจนกระทั่งฆ่าตัวตาย หรือคนที่เคยประสบความสำเร็จพุ่งสุดขีดแล้วก็ตกลงมา จากเศรษฐีกลายเป็นยาจก อันนี้มันก็สอนเรา สอนเราเกี่ยวกับเรื่องวิชาชีวิต
แต่ไม่มีอะไรที่สอนเราได้ดีกว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราเอง ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราในแต่ละวันๆ มันสอนเรา สอนเราเกี่ยวกับเรื่องวิชาชีวิต รวมทั้งเวลาเกิดเหตุร้าย ถ้าเราไม่มัวแต่เป็นทุกข์กับมันหรือว่าคร่ำครวญ เราจะพบว่ามันสอนเราได้เยอะเลย และเราควรรู้จักใช้ประสบการณ์ชีวิตนี้ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา เป็นสิ่งที่สอนเรา
อย่างมีคนหนึ่งที่เจอน้ำท่วม น้ำท่วมใหญ่ที่มันทำให้ไม่ใช่แค่สูญเสียข้าวของ หรือว่าทำมาหากินลำบาก แต่ว่ายังสูญเสียสิ่งที่มีค่ามากมาย หลายคนก็ทุกข์มาก แล้วก็โอดครวญตีโพยตีพาย แต่มีคนหนึ่งแกพูดดีนะ แกบอกว่าน้ำท่วมครั้งนี้ก็สอนให้เรารู้ว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ทุกอย่างที่เรามี มันอยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราว เราไม่ได้เป็นเจ้าของมันอย่างแท้จริงเลย ถึงเวลาน้ำท่วมมันก็พัดพาเอาทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไป และถ้าไม่ใช่น้ำท่วม ก็อาจจะโดนไฟไหม้ หรืออาจจะมีคนลักขโมยไป
อันนี้ก็ถือว่าเขาเรียนวิชาชีวิตจากประสบการณ์ ประสบการณ์มันสอนให้เขาได้เห็นความจริงของชีวิต คนเราต้องรู้จักเรียนวิชาชีวิตจากประสบการณ์ อย่าปล่อยให้ประสบการณ์ที่เลวร้ายมาทำให้เราทุกข์ อย่าปล่อยให้ประสบการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาทำให้เราโกรธแค้น ถ้าเป็นอย่างนั้นนี่ขาดทุน แต่ว่าถ้าเราฉลาด เราก็สามารถจะเรียนรู้จากทุกอย่าง
เหตุการณ์ไม่ได้สอนเราอย่างเดียว คนที่เขาทำตัวไม่น่ารัก ทำตัวน่าระอา หรือต่อว่าเรา เขาก็สามารถจะเป็นครูสอนเราได้ อย่างมีคราวหนึ่งหลวงพ่อพุธท่านเล่าว่าสมัยที่ท่านหนุ่ม บิณฑบาตอยู่กลางเมือง ก็มีแม่กับเด็กอายุ 6-7 ขวบยืนรอใส่บาตรอยู่ ท่านก็เดินไปที่แม่ลูกคู่นี้ พอเดินเข้าไปใกล้ เด็กผู้ชายมองท่านแล้วจู่ๆ ก็พูดว่า มึงบ่แม่นพระดอกๆ มึงไม่ใช่พระหรอก
ทีแรกท่านฉุนนะ เพราะไม่เคยมีใครพูดกับท่านอย่างนี้ แต่แล้วท่านได้สติรู้ตัวว่าเกิดความไม่พอใจ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเสียงพูดในใจว่า เออจริงของมันว่ะ เราไม่ใช่พระหรอก เพราะถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ
ปรากฏว่าแทนที่ท่านจะโกรธต่อไป ใจท่านสงบเลย แล้วท่านก็เดินไปรับบาตรจากแม่ของเด็กคนนั้น โดยที่ไม่ได้โกรธเด็ก แล้วก็ไม่ได้โกรธแม่เลยว่าแม่สอนลูกอย่างไร ท่านพูดในเวลาต่อมาว่าเด็กคนนี้คืออาจารย์ของท่าน คือสอนท่านให้รู้ว่าท่านยังเป็นพระไม่ดีพอ เพราะท่านยังโกรธอยู่
ถ้าคนธรรมดา ถ้าไม่ฉลาดก็จะโกรธเด็ก ว่าพูดกับกูอย่างนี้ได้อย่างไร แต่คนที่ฉลาดที่เข้าใจเรื่องวิชาชีวิต ก็จะมองว่านี่เขากำลังสอนเรา เขาคืออาจารย์ที่ทำให้เราได้รู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีวิต อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ฉลาดในการเรียนรู้
และเราก็ควรจะมีความฉลาดในการเรียนรู้แบบนี้บ้าง ก็คือว่าเรียนรู้จากทุกประสบการณ์ โดยเฉพาะอนิฏฐารมณ์ คือเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา ที่ไม่เป็นไปดั่งใจ รวมทั้งถือเอาคนที่เขาทำตัวหรือพูดไม่ถูกหูเรา เอามาเป็นครูสอนเรา ให้เราได้รู้จักตัวเอง หรือเอามาเป็นครูที่สอนให้เรารู้ว่ามีอะไรที่เราจะต้องฝึกฝนให้ดีขึ้นไปกว่านี้
เพราะอย่าลืมว่าวิชาชีวิตนี่ คือสิ่งที่เป็นวิชาที่เราต้องเรียนไปจนตาย ตราบใดที่เรายังไม่ได้บรรลุอรหัตผล เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้วิชาชีวิต เมื่อเจอความผันผวนแปรปรวน เราก็จะเอาตัวไม่รอด ฉะนั้นถ้าเราอยากจะเอาตัวให้รอด และสามารถที่จะฟันฝ่าความทุกข์ได้ วิชาชีวิตคือวิชาหนึ่งที่เราต้องเรียน หรือเรียกว่าเป็นวิชาเดียวก็ได้ที่เราต้องรู้