พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 ตุลาคม 2565
ท่านเว่ยหล่าง ท่านเป็นสังฆปริณายกองค์ที่ 6 ของพุทธศาสนานิกายฉาน หรือฌาณ ซึ่งภายหลังก็กลายมาเป็นนิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น ท่านมีเกร็ดประวัติที่น่าสนใจหลายตอนทีเดียว เช่นตอนหนึ่งที่ท่านหลบลี้หนีภัยจากวัดเดิมที่ท่านไปทำงานเป็นคนรับใช้ แต่สามารถเข้าถึงธรรมจนกระทั่งเจ้าอาวาสมอบตำแหน่งสังฆปริณายกให้
ท่านหลบลี้หนีภัยมายังเมืองกวางเจา ตอนที่ไปถึงวัดนั้นคือวัดกวงเสี้ยว ถึงทุกวันนี้ก็ยังอยู่แม้ว่าผ่านไป 1,300 กว่าปีแล้ว ตอนที่ไปถึงเขากำลังมีการแสดงธรรมโดยอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คนมาฟังจนล้นออกมาถึงนอกศาลา ตัวท่านเองก็อยู่ข้างนอกด้วย
ในช่วงนั้นก็มีคนสังเกตเห็นธงทิวที่ปลิวไสวอยู่บนหลังคาศาลา เขาก็พูดกับเพื่อนว่า “นี่ดูสิ ธงมันไหว” เพื่อนมองแล้วบอก “ไม่ใช่หรอก ลมมันไหวต่างหาก” เถียงกันอยู่สองคน แต่ตอนหลังก็มีคนมาร่วมเถียงกันมากขึ้นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกธงไหว อีกฝ่ายหนึ่งบอกลมมันไหวต่างหาก
เป็นธรรมชาติของการถกเถียงกัน ทั้งสองฝ่ายพอยิ่งเถียงก็ยิ่งเกิดอารมณ์ขึ้นมา ขณะที่ยังเถียงกันไม่ยอมจบ ทุกคนก็ได้ยินเสียงจากท่านเว่ยหล่าง ท่านบอกว่า “จิตของพวกท่านต่างหาก ที่ไหว”
ปรากฏว่าทั้งหมดนี่ได้สติเลยนะ หันมามองที่ต้นเสียงก็รู้ว่านี่ไม่ใช่คนธรรมดา ตอนหลังท่านเว่ยหล่างก็ปลงผมแล้วบวชที่วัดนี้เลย เจดีย์ที่บรรจุพระเกศาของท่านก็ยังมีอยู่เลย ที่วัดกวงเสี้ยวทุกวันนี้
เกร็ดตรงนี้น่าสนใจนะ สิ่งที่ท่านเว่ยหล่างเตือนคนเหล่านั้นคือ ให้หันมามองตน ให้หันมาดูใจของตน อย่าไปมัวส่งจิตออกนอก
ตอนนั้นทั้งหมดที่เถียงกัน ใจมันไปอยู่ที่ธง เถียงกันจนลืมดูใจของตัวว่ากำลังรุ่มร้อน กำลังกระเพื่อมไหว
แต่เมื่อท่านเว่ยหล่างพูดเช่นนั้นก็ทำให้ทุกคนได้สติ กลับมารับรู้ใจของตนว่ากำลังมีอารณ์โกรธ มีความไม่พอใจ มาฟังธรรมแท้ๆ แต่ใจนี่กลับรุ่มร้อน
คนเรามีตามองเห็นสิ่งภายนอก แต่เราก็ยังมีสติที่สามารถจะเห็นใจของตัวเองได้ แล้วการที่เราจะสนใจแต่สิ่งภายนอกนี่มันไม่พอนะ เราต้องหันมารู้จักมองตนด้วย ไม่ใช่มองหรือเห็นแต่ข้างนอก แต่มองเห็นข้างในหรือเห็นตนเองด้วย
อันนี้เป็นหลักสำคัญของการปฏิบัติในพุทธศาสนา คือการรู้จักหันมามองตน แม้เราจะมีตาหูจมูกลิ้นกายไว้รับรู้โลกภายนอก แต่การมองตนก็สำคัญ แต่คนมักจะมองข้าม ไม่ว่ายุคใดสมัยใด
เรื่องที่อาจารย์อ๊อด(วัดป่าสุคะโต)เคยบอกผู้ที่มาปฏิบัติธรรมหลายคนให้เข้าไปในห้องน้ำ ไปดูสิว่ามีใครอยู่ในห้องน้ำไหม ทุกคนก็ไปเปิดประตูห้องน้ำ แล้วเดินเข้าไป สักพักออกมาแล้วก็บอกอาจารย์อ๊อดว่า ไม่มีใครเลยในห้องน้ำ ท่านก็บอกว่าไปดูใหม่สิ ไปดูเสร็จกลับมาก็บอกเหมือนเดิม ไม่มีใครเลย
ท่านก็บอกให้กลับไปดูใหม่ ที่จริงก็น่าจะเฉลียวใจแล้วนะ แต่ทุกคนหรือแทบทุกคนเลย พอเข้าไปในห้องน้ำเสร็จ ออกมาก็บอกว่าไม่มีใครในห้องน้ำเลยอาจารย์ ที่จริงมันมีนะ ก็ตัวเราไง ตัวเราอยู่ในห้องน้ำ
ตอนที่ชะโงกหรือตอนที่เดินเข้าไปดูว่าในห้องน้ำไม่มีใครนี่ มันมีหนึ่งคนที่อยู่ในห้องน้ำ คือตัวเรา หรือตัวของผู้ที่ไปดู แต่เป็นเพราะไม่มองตน ไปมองแต่ข้างนอกเลยมองไม่เห็นตน พอเอาแต่มองข้างนอก ไม่มองมาที่ตนหรือไม่มองตน ก็เลยเข้าใจว่าไม่มีใครในห้องน้ำ
อันนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ นะว่าคนเรานี่ มักหลงลืมเรื่องการมองตน ทั้งที่น่าจะเฉลียวใจแล้วนะว่า อาจารย์ให้ไปดูหลายครั้งแล้ว มันคงไม่ใช่แค่มองออกไปข้างนอกอย่างเดียวนะ ต้องกลับมามองตนด้วย
หลวงพ่อชาท่านเคยพูดยกตัวอย่างว่า เวลาคนเอามือล้วงเข้าไปในหลุม ถ้าล้วงไม่ถึงก้นหลุม ร้อยทั้งร้อยจะบอกว่าหลุมมันลึก ทำไมทุกคนพูดเหมือนกันเลยว่าหลุมมันลึก แต่ไม่มีใครบอกเลยว่าแขนมันสั้นหรือแขนตัวเองสั้น เพราะเขาไม่ได้มองตนไง พอมีเหตุการณ์ แบบนี้ก็เลยอ้างหรือโทษหลุมว่ามันลึก แต่ไม่ได้กลับมามองว่าเป็นเพราะแขนเราสั้นหรือเปล่า
อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะฉลาดแค่ไหน แต่มักจะลืมมองตน
คำว่ามองตนมันมีความหมายตั้งแต่ว่า มองแล้วรู้ว่าเราเองเป็นคนมีนิสัยอย่างไร มีความถนัดอะไร มีความจัดเจนอย่างไร แล้วก็มองลึกไปเห็นว่า “ตอนนี้เรามีความรู้สึกอย่างไร” แต่เท่านั้นไม่พอนะ ต้องมองให้ลึกเข้าไปจนกระทั่งว่า “ตอนนี้มันมีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นในใจเรา”
การมองเห็นตรงนี้ คือการมองว่าความรู้สึกนั้นไม่ใช่เรา ตอนที่เรามองว่าเรารู้สึกอย่างไร รู้สึกโกรธ รู้สึกสบายใจเนี่ย อันนี้มันยังหยาบอยู่นะ แต่แม้เพียงเท่านี้ บางทีหลายคนก็ตอบไม่ได้นะว่าตอนนี้ฉันรู้สึกอย่างไร
แต่แม้จะตอบได้ว่าฉันรู้สึกอย่างไร มันก็ยังเป็นการมองที่หยาบอยู่ ถ้าเรามองให้ละเอียดก็จะพบว่ามันไม่ใช่เรารู้สึก แต่มันมีความรู้สึกเกิดขึ้นในใจ ตรงนี้มันทำให้เรามองไปเห็นจนกระทั่งว่า ความรู้สึกก็อันหนึ่ง ตัวเราก็อันหนึ่ง ซึ่งสำคัญนะ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราควรจะฝึก
ที่เรามาเจริญสติก็เพื่อมาฝึกให้เห็นตรงนี้แหละ ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในใจหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายโดยที่ไม่ไปยึด ไม่ไปตีขลุมว่าเป็นเรา แล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากนะ อย่างอาจารย์ประสงค์ท่านเคยเล่าว่า เคยไปงานศพงานหนึ่งแล้วเจ้าภาพก็ให้ลูกสาวมาอุปัฏฐากต้อนรับ ลูกสาวอายุสิบขวบเป็นเด็กฉลาด ท่านก็เลยสนทนาด้วย
คุยสักพักท่านก็บอกว่าหนูเป็นเด็กดี หนูฉลาดนะ หลวงพ่อจะให้รางวัล แล้วก็ล้วงเอาลูกประคำจากย่ามของท่านมาให้ ตอนที่เด็กเห็นลูกประคำ เด็กร้องอู้ฮู อาจารย์ประสงค์ท่านก็ถามว่าหนูร้องอู้ฮู หนูเห็นอะไร เด็กตอบว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ เด็กไม่ได้ตอบว่าหนูดีใจนะ
“หนูดีใจ” กับ “เห็นข้างในดีใจ” มันไม่เหมือนกันนะ พอเด็กตอบว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ ท่านก็ถามต่อว่า “แล้วหนูทำอะไรกับมัน” เด็กตอบว่า “หนูก็ไม่ได้ทำอะไรกับมันค่ะ ก็แค่ดูมันเฉยๆ ตอนนี้มันเบาลงแล้ว ความดีใจลดลงแล้ว”
เรื่องนี้เด็กกำลังบอกเราว่า ‘เห็น’ กับ ‘เป็น’ มันต่างกันอย่างไร เด็กไม่ได้บอกว่าหนูดีใจนะ หนูดีใจคือหนูเป็นผู้ดีใจ แต่เด็กบอกว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจ
ถ้าเรามองตน แล้วมองด้วยสติ เราจะเห็นเลยว่าไอ้ความรู้สึกนี้มันไม่ใช่เรา ใหม่ๆ เราก็จะบอกว่าเรารู้สึกอย่างโน้น เรารู้สึกอย่างนี้ แต่พอเรามองด้วยสติโดยเฉพาะสัมมาสติ จะเห็นว่ามันมีความรู้สึกเกิดขึ้น แล้วความรู้สึกนั้นไม่ใช่เรา ตรงนี้แหละที่มันจะไม่มีกูผู้ดีใจ-กูผู้เสียใจเกิดขึ้น อันนี้แหละที่เขาเรียกว่า “เห็น ไม่เข้าไปเป็น”
มีนักปฏิบัติคนหนึ่ง หลวงพ่อคำเขียนไปสอบอารมณ์ ไปถึงก็ถามว่าเป็นยังไง เธอก็ตอบว่า “หนูเครียดจังเลยหลวงพ่อ ทำยังไงดี” หลวงพ่อท่านตอบว่ายังถามไม่ถูกนะ ถามใหม่ เรามาอยู่หลายวันแล้ว เธอก็คิดสักพักแล้วตอบว่า “หนูเห็นมันเครียดจังเลยหลวงพ่อ” หลวงพ่อบอกดีแล้วล่ะ อย่างนี้ถูกแล้วล่ะ
หนูเครียด กับ หนูเห็นมันเครียด ไม่เหมือนกันนะ มองตนใหม่ๆ ก็เห็นว่าหนูเครียด แต่มองด้วยสติลึกเข้าไปก็จะเห็นว่า มันไม่ใช่หนูเครียด แต่มันมีความเครียดเกิดขึ้นในใจ อันนี้เรียกว่า “เห็น ไม่เข้าไปเป็น”
ถ้าเรามองตน เราก็ควรจะมองให้ลึกไปถึงขั้นนี้เลยนะ เพราะถึงตอนนั้นมันจะไม่มีเราเป็นนั่นเป็นนี่แล้ว มีอารมณ์มีความคิดเกิดขึ้นมันก็ไม่ใช่เรา
แล้วต่อไปมันไม่ใช่แค่มองใจแล้วเห็นอารมณ์และความคิด ต่อไปมองกายแล้วมันก็จะเห็นเวทนา แต่ก่อนเวลาปวดก็บอก “ฉันปวดๆ ฉันเมื่อยๆ” ก็ยังดีนะที่มองเห็น แต่เราควรจะมองให้ละเอียดกว่านั้น แล้วจะเห็นความจริงว่ามันไม่ใช่ฉันที่ปวด มันไม่ใช่ฉันที่เมื่อย แต่เป็นกายที่ปวด เป็นกายที่เมื่อย หรือมองให้ลึกไปก็จะเห็นว่า มันมีความปวดความเมื่อยเกิดขึ้นที่กาย เกิดขึ้นที่แขน เกิดขึ้นที่ขา
แต่ถ้ามองไม่ละเอียด มองหยาบๆ มันก็จะเห็นว่า “ฉันปวด ฉันเมื่อย” มีผู้ปวดเกิดขึ้น แล้วผู้ปวดนี่มันก็เกิดจากการปรุงแต่ง คือปรุงตัวกูขึ้นมา ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นกายที่ปวด เป็นกายที่เมื่อย ไม่ใช่กูปวดกูเมื่อย ตรงนี้ก็จะทำให้ความทุกข์ที่เกิดกับใจมันน้อยลง
หรือพูดอีกอย่างคือ ถ้าเราไปสำคัญมั่นหมายว่ามีกู-มีเราขึ้นมา มันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาที่ใจเลย พอกายปวดแล้วไม่เห็นว่ากายปวด แต่เกิดความรู้สึกว่ากูปวด มันต่างจากความรู้สึกว่ากายปวด กายเมื่อยนะ
อาจารย์พุทธทาสท่านเคยเปรียบเทียบว่า เวลาเห็นมีดบาดนิ้ว มันไม่รู้สึกเจ็บเท่ากับมีดบาดฉัน พอมีความรู้สึกว่ามีดบาดฉันนี่มันเจ็บมากเลย แต่พอเห็นว่ามันเป็นแค่มีดที่บาดนิ้ว ความรู้สึกเจ็บจะต่างกัน มันจะลดลง
ความรู้สึกว่ามีตัวกูนี่มันทำให้เกิดความทุกข์ได้ง่ายนะ ถ้ากายปวดกายเมื่อยนี่มันยังไม่เท่าไหร่ แต่พอกูปวดกูเมื่อย จิตมันจะเป็นทุกข์เลย
เช่นเดียวกัน เวลาเห็นความโกรธเกิดขึ้นในใจ เห็นความเบื่อเกิดขึ้นในใจ เห็นความโศกความเศร้าเกิดขึ้นในใจ มันยังไม่ทุกข์เท่ากับเมื่อไปเกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันโกรธ ฉันเศร้า ฉันทุกข์
ในการเจริญสติ ถ้าสติของเราเจริญงอกงาม จะทำให้เห็นว่ามันไม่ใช่เราที่คิด ไม่ใช่เราที่โกรธ แล้วก็ไม่ใช่เราที่เดิน ที่นั่ง แต่จะเห็นละเอียดเป็นรูปเป็นนาม เป็นกายกับใจ อันนี้เขาเรียกว่าแยกรูปแยกนาม แยกกายแยกใจ
แต่ก่อนเห็นเป็นดุ้นเป็นก้อน เป็นเรา เป็นเรา แต่พอมีสติก็เห็นความจริงที่ละเอียดลงไปว่า มันไม่ใช่เราเดินแต่เป็นรูปที่เดิน มันไม่ใช่เรานั่งแต่เป็นรูปที่นั่ง ทำนองเดียวกันมันไม่ใช่เราที่โกรธ ไม่ใช่เราที่ทุกข์ แต่มันเป็นความโกรธความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ซึ่งมันจะให้ความรู้สึกที่ต่างกันมาก
ถ้าเรามองตนอย่างละเอียด เราจะพบกับความสงบได้ง่ายขึ้น ระหว่างคนที่เห็นความโกรธกับคนที่เป็นผู้โกรธ ความทุกข์มันต่างกันนะ ถ้ารู้สึกว่าฉันโกรธนี่รุ่มร้อนเลย แต่ถ้าเห็นความโกรธนี่มันอีกเรื่องหนึ่ง
เช่นเดียวกัน ถ้ามีความรู้สึกว่าฉันปวดนี่มันรู้สึกแย่เลย แต่พอเห็นความปวดหรือเห็นกายปวด ความรู้สึกมันลดลง อาจจะหารสามเลยก็ได้ กายปวดแต่จิตไม่ได้ปวดด้วย เพราะมันไม่ได้มีความรู้สึกว่ากูปวด-ฉันปวด พอมีตัวกูขึ้นมาเมื่อไหร่ความทุกข์มันคูณสามเลยนะ อันนี้พูดแบบหยาบๆ
เช่นเดียวกัน ถ้าเราเห็นอารมณ์ความคิดที่มันเกิดขึ้น อย่างที่ได้พูดว่าพอเราเห็น พอเรารู้ทัน มันก็วาง หรืออารมณ์ที่ถูกเห็นมันก็สงบลง อย่างที่หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกว่า มีคนถามว่าทำยังไงจะตัดความโกรธให้ขาดได้ ท่านบอกไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมัน เมื่อรู้ทันมัน มันก็ดับไปเองหรือหายไปเอง พอหายไปสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คือความสงบ
ฉะนั้นถ้าเราเห็นด้วยสติ หรือถ้าเรามองตนอย่างละเอียด มันก็จะเกิดความสงบขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะไม่มีความคิด ไม่ใช่เพราะไม่มีความโกรธ ไม่ใช่เพราะไม่มีความหงุดหงิด แต่เป็นเพราะไม่ไปยึด เมื่อเห็นแล้วมันไม่เข้าไปเป็น คือไม่เข้าไปยึด มันก็วางหรือไม่มีการต่ออายุให้กับความคิดหรืออารมณ์เหล่านั้น มันก็ดับไป เกิดความสงบ
ต่อไปมันจะเห็นมากกว่านั้น คือเกิดปัญญา ไม่ใช่แค่ความสงบแต่เกิดความสว่าง คือเห็นว่าอารมณ์พวกนี้ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา ความทุกข์ไม่ใช่เรา ความเหงาไม่ใช่เรา ความเบื่อไม่ใช่เรา แต่ถ้าไม่มีสติเมื่อไหร่มันก็เข้าไปยึดว่าเป็นเรา เราโกรธ เราทุกข์ เราเศร้า ซึ่งทำให้หลงหนักเข้าไปใหญ่
การที่เราทำอะไรด้วยสติ ก็จะเห็นเลยว่ามันไม่ใช่เราที่ทำ แต่เป็นรูปที่ทำหรือเป็นกายที่ทำ เวลาเดินจงกรมก็ไม่ใช่เราเดิน แต่เป็นรูปที่เดินหรือเป็นกายที่เดิน มันไม่ยึดว่าเป็นเราเดิน เวลาคิดก็เห็นว่ามันมีความคิดเกิดขึ้น ไม่ใช่เราคิด เวลาปวดก็เป็นความปวดที่เกิดขึ้นกับกายแต่ไม่ใช่เราปวด คือไม่มีผู้ปวด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันมีความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์
นอกจากเกิดความสงบ เกิดการวางจากทุกข์แล้ว ก็ยังทำให้เกิดปัญญาที่เห็นความจริงด้วย ในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านก็แนะนำการปฏิบัติว่า ให้เห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต เห็นเวทนาในเวทนา ความหมายหนึ่งก็คือ เห็นกายว่าเป็นกาย-ไม่ใช่เรา เห็นเวทนาว่าเป็นเวทนา-ไม่ใช่เรา เห็นจิตหรือารมณ์ความคิดว่าเป็นจิต-ไม่ใช่เรา
มันคือการเห็นความจริงนั่นเอง เป็นเพราะเราหลง เป็นเพราะเราไม่มีสติ เราก็เลยหลงไม่เห็นความจริง ไปมองว่ากายคือเรา ไปมองว่าเวทนาคือเรา ไปมองว่าจิตคือเรา แต่ที่จริงแล้วสติทำให้เราเห็นความจริงที่ซื่อตรงๆ เลยว่า เห็นกายว่าเป็นกาย-ไม่ใช่เรา เห็นเวทนาว่าเป็นเวทนา-ไม่ใช่เรา เห็นจิตว่าเป็นจิต-ไม่ใช่เรา
มันเป็นความจริงที่ซื่อตรงมาก แล้วก็ช่วยทำให้ความทุกข์ลดลง เวลาปวดมันก็ปวดแต่กาย ใจไม่ได้ปวดด้วย เวลาโกรธ พอเห็นความโกรธเข้า นอกจากความโกรธจะดับแล้ว ไอ้ตอนที่มันยังไม่ดับก็เห็นว่าโกรธนี่ไม่ใช่เรา ถ้าเราโกรธนี่มันทุกข์นะ เหมือนกับว่าเราไปอยู่กลางกองไฟ
แต่ถ้าเราเห็นความโกรธก็เหมือนกับว่าถอยออกมาจากกองไฟ กองไฟยังมีอยู่นะ แต่เราไม่ค่อยทุกข์แล้ว เพราะมีระยะห่างระหว่างกองไฟกับเรา อันนี้คือภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเห็น ไม่เข้าไปเป็น มันทำให้ใจสงบ แล้วทำให้สว่างเห็นความจริงว่ามันไม่มีเรา
แล้วเวลาเราทำงาน ถ้าเรารู้จักมองตนด้วยสติ มันก็ทุกข์น้อยลงนะ นอกจากสติจะช่วยทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปหมกมุ่นอยู่กับอดีตหรืออนาคตแล้ว มันยังทำให้จิตของเราวางได้ง่าย บางครั้งแม้กายจะเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อยด้วย
เหมือนกับเวลาเดินนะ กายมันเดิน แน่นอนว่ากายมันก็เหนื่อย แต่ใจไม่ได้เหนื่อยด้วย แต่ถ้าคิดว่าฉันเดินหรือกูเดิน มันไม่ใช่แค่กูเมื่อยอย่างเดียวนะ กูก็ทุกข์ด้วย เพราะมันไปพ่วงเอาจิตเข้ามาเป็นผู้ทุกข์
ท่านชุนเรียว ซูซูกิ ท่านเป็นผู้ที่ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมแบบเซนเป็นแห่งแรกในอเมริกาเมื่อสัก 60 ปีที่แล้ว ตอนที่ท่านเริ่มตั้งสำนักใหม่ๆ ท่านก็ได้อาศัยลูกศิษย์ลูกหาชาวอเมริกันช่วย ท่านเองก็อายุ 60 กว่าแล้ว คนญี่ปุ่นสมัยนั้นก็ตัวเล็ก แต่ท่านโชคดีที่ลูกศิษย์อเมริกันนี่ร่างกายสูงใหญ่ แล้วก็ยังหนุ่มอายุ 19-20 ก็มาช่วยกันแบกหินแบกเสา แต่หลายคนแทบทุกคนเลยพอทำไปได้ครึ่งวันก็เหนื่อย
แต่อาจารย์ชุนเรียวแบกหินแบกเสาได้ทั้งวัน ลูกศิษย์ทึ่งมากเลย ก็สงสัยว่าอาจารย์ทำได้ยังไง ท่านตอบว่า “ก็ผมพักตลอดเวลาไง” ลูกศิษย์งงเลย ก็เห็นอาจารย์ทำงาน ไอ้ที่ทำนั่นคือกาย กายมันแบกแต่ใจไม่ได้แบกด้วย ถ้ากายแบกแล้วไปสำคัญมั่นหมายว่ากูแบกนี่มันก็เหนื่อยนะ เหนื่อยทั้งกายเหนื่อยทั้งใจ
อาจารย์ชุนเรียวท่านแบกแต่กาย กายแบกหินแต่ใจไม่ได้แบกด้วย ไม่ได้มีความรู้สึกว่ากูแบกหิน ไม่ได้มีความรู้สึกว่ากูเหนื่อย ไอ้ความเหนื่อยเป็นของกายนะ แต่ใจไม่ได้เหนื่อยด้วย
แล้วที่สำคัญคือ ไอ้ที่แบกคือกาย แต่ใจไม่ได้แบกด้วย ไม่ได้แบกทั้งความสำเร็จ ความคาดหวัง แล้วก็ไม่ได้แบกหินด้วยเหมือนกัน ท่านจึงบอกว่าท่านพักตลอดเวลา ไอ้ที่พักคือใจนะ ใจไม่ได้แบก มันแบกแต่กาย แต่คนส่วนใหญ่มันไม่ใช่แบกแต่กาย มันกูแบก กูแบก กูก็เลยเหนื่อย กูก็เลยทุกข์ ก็เลยหมดแรง ทำได้ครึ่งวัน
ถ้าเรารู้จักมองตนอย่างละเอียดตามความเป็นจริง เวลากายทำอะไร ใจก็ไม่จำเป็นต้องไปทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย กายแบกแต่ใจไม่ได้แบกด้วย มันก็เลยไม่เหนื่อย เวลาเดินอย่างเช่นเดินธรรมยาตรา แม้กายจะเหนื่อยแต่ใจไม่ได้เหนื่อยด้วย เพราะมันไม่ได้มีความรู้สึกว่ากูเหนื่อย กูเหนื่อย.