พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2565
เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนที่มีข่าวว่ามีการสร้างตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่า ถ้าตึกแฝดเวิลด์เทรดสร้างเสร็จ เขาอยากจะทำสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยทำในชีวิตมาก่อน
ชายคนนี้ชื่อ ฟิลิปป์ เปอตีด์ เป็นนักไต่ลวดที่สูง เดินไต่ลวดที่สูงจากพื้นเป็นร้อยๆ เมตร เขาทำมาหลายที่แล้ว ก็คิดว่าถ้าตึกแฝดนี้สร้างเสร็จ ก็จะกลายเป็นสถานที่ที่เขาจะได้เดินไต่ลวดระหว่างตึกสองตึก ซึ่งจะหาตึกสองตึกที่มีขนาดสูงเท่ากันแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว โดยเฉพาะตึกที่มีความสูงขนาด 400 เมตร
เขารอมาหลายปีจนกระทั่งได้ข่าวว่าตึกสร้างใกล้เสร็จแล้ว จึงเดินทางไปอเมริกาแล้วก็แอบเข้าไปในตึกแฝดนี้ ขึ้นไปถึงยอดตอนกลางคืน แล้วก็ใช้ลูกธนูผูกลวดสลิงยิงไปที่ยอดตึกอีกตึกหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างประมาณหนึ่งถึง 200 เมตรแล้วขึงให้ตึง พอรุ่งสางเขาก็เริ่มเดิน ไต่ลวดที่ขึงระหว่างยอดตึกสองตึก โดยมีไม้ยาวๆ ถือเอาไว้เพื่อเลี้ยงตัว
ตอนนั้นเขาไม่ได้คิดจะโชว์ใคร เขาเพียงแค่อยากจะทำในสิ่งที่มันท้าทาย พอคนข้างล่างเห็นว่ามีคนเดินไต่ลวดอยู่สูงลิบๆ ก็โทรไปแจ้งตำรวจ ตำรวจรีบมาทันที มาดักรออยู่ที่ปลายลวดบนตึกแฝดอีกตึกหนึ่ง
ฟิลิปป์เขาก็ค่อยๆ เดินไต่ลวดไปเรื่อยๆ มีสมาธิอยู่กับการเดินบนลวด แต่พอถึงปลายลวด ซึ่งก็คือยอดตึกของอีกตึกหนึ่ง เห็นตำรวจรออยู่ เขาก็กระโดดกลับตัวกลางอากาศอย่างคล่องแคล่ว แล้วก็เดินกลับไปที่ยอดตึกเดิม ปลายทางมันก็มีตำรวจอีกจำนวนหนึ่งรอเขาอยู่
เพราะฉะนั้นพอเขาเดินใกล้ถึงยอดตึก เขาก็กระโดดหันกลับ แล้วก็เดินไปที่ยอดตึกอีกตึกหนึ่ง เดินไปกลับอยู่ประมาณ 8 เที่ยวโดยที่ไม่พลัดตกลงไป ข้างล่างคนก็ลุ้นว่าเขาจะตกลงมาหรือเปล่า แต่ฟิลิปป์ก็เดินกลับไปกลับมา 8 เที่ยว ประมาณ 45 นาที ก็รู้สึกว่าเต็มอิ่มแล้ว
ถึงตอนนั้นก็เลยกระโดดลงจากลวดให้ตำรวจจับโดยดี เขากลายเป็นข่าว มีนักข่าวถามว่าตอนที่คุณเดินบนกลางอากาศ คุณทำได้ยังไง คุณคิดอะไรอยู่ เขาบอกว่าตอนที่เดินนั้นไม่ได้คิดถึงปลายลวด หรือยอดตึกของอีกตึกหนึ่งเลยนะ เขาคิดแต่เพียงว่า ทำยังไงจะให้เท้าซ้ายเลื่อนไปอยู่หน้าเท้าขวา แล้วก็ขยับเท้าขวาให้เลื่อนไปอยู่หน้าเท้าซ้าย
แค่นี้แหละ ใจเขาอยู่ตรงนี้เท่านั้น ไม่ได้สนใจยอดตึกอีกตึกหนึ่ง และไม่ได้สนใจพื้นดินข้างล่าง เพราะถ้าเขาสนใจพื้นดินข้างล่าง เขาคงจะขาดสมาธิแล้วอาจจะเกิดความหวาดกลัว เกิดความกระเพื่อมในใจ แต่เขาไม่ทำอย่างนั้น ใจเขาก็อยู่กับการก้าวทีละก้าว ทีละก้าว
เขาบอกว่าตอนนั้นเขาไม่ได้คิดถึงความสำเร็จอะไรเลย เพียงให้อยู่กับแต่ละก้าว แต่ละก้าว เขาบอกในภายหลังว่าตอนนั้นชีวิตของเขาก็อยู่แค่นี้แหละ “ที่นี่และเดี๋ยวนี้”
หลังจากที่เขาถูกปล่อยตัวออกมา ผ่านไป 30 กว่าปี หลังจากที่ตึกแฝดโดนถล่มไปเพราะเหตุการณ์ 11 กันยา ก็มีคนมาสัมภาษณ์ว่าเขาคิดยังไงกับเหตุการณ์ครั้งนั้น ที่เขาเดินไต่ลวดอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนบนยอดตึกแฝด
เขาบอกว่า เขาไม่เคยคิดเลยว่าความสำเร็จครั้งนั้นมันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา ไม่เคยคิดเลย แม้ว่ามันจะเป็นความสำเร็จที่งดงาม เขาบอกว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขาคือวันนี้ วันนี้คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา แล้วเขาก็ไม่ได้มีความอาลัยอาวรณ์กับความ สำเร็จเมื่อ 30 กว่าปีก่อนเลย จากที่เขาพูด ก็แสดงว่าเขาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการอยู่กับปัจจุบัน
เวลาได้ยินคำว่า “อยู่กับปัจจุบัน” เราอาจจะเข้าใจไปต่างๆ นานา แต่สิ่งที่ฟิลิปป์พูด มันเป็นตัวอย่างว่า อยู่กับปัจจุบันคืออะไร ก็คือการที่ใจอยู่กับ “ที่นี่-เดี๋ยวนี้” ไม่มีการอาลัยเรื่องราวในอดีต แม้มันจะเป็นอดีตที่หอมหวานก็ไม่ไปอาลัยอาวรณ์กับมัน นับประสาอะไรกับอดีตที่เจ็บปวด จะไปข้องแวะหรือหมกมุ่นกับมันทำไม
ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไปอยู่กับอนาคตหรือจุดหมายปลายทาง ตอนที่เดินบนลวดเขาอยู่กับแต่ละก้าว แต่ละก้าว ส่วนยอดตึกซี่งเป็นจุดหมายเขาก็วางมันลง นี่คือความหมายของการอยู่กับปัจจุบัน
คนเราไม่ว่าทำอะไรแม้จะมีจุดหมาย แต่ถึงเวลาลงมือเราก็ควรอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับก้าวที่เดิน โดยเฉพาะเวลาเราเดินจงกรมเพื่อปฏิบัติธรรม เราอาจจะปรารถนาความสงบ เราอาจจะปรารถนาการมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม หรือการเกิดปัญญา นั่นคือจุดหมายซึ่งเป็นอนาคต
แต่เวลาเราลงมือปฏิบัติ ก็ควรที่เราจะอยู่กับแต่ละก้าวที่เดิน วางจุดหมายที่มุ่งประสงค์เอาไว้ก่อน ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานอะไรก็ตาม ถ้าใจเราอยู่กับสิ่งนั้นหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน มันก็ทำให้เรามีสมาธิได้ง่าย และถ้าเราตระหนักว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เราก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด เอาความเพียรทุ่มเทลงไปในสิ่งนั้น อันนี้เราเรียกว่า ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
“อยู่กับปัจจุบัน” กับ “ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด” มันก็คล้ายๆ กันแต่ก็ไม่ได้เหมือนกันทีเดียว ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดคือการที่เราเร่งทำสิ่งที่ควรทำ และเอาความเพียรใส่ลงไปโดยที่ไม่ผัดผ่อน
หลายสิ่งหลายอย่างแม้เป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็มักจะมองข้ามผัดผ่อนไป ไม่ว่าจะเป็นการดูแลคนใกล้ตัว ดูแลพ่อแม่บุพการี การดูแลเอาใจใส่ร่างกายสุขภาพ หรือการปฏิบัติธรรม รู้ว่ามันดีแต่เราก็ผัดผ่อน ถ้าทำอย่างนั้นก็เรียกว่า ไม่ได้ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คือทำสิ่งที่ควรทำโดยที่ไม่ผัดผ่อน เร่งทำด้วยความเพียร ซึ่งมันจะโยงกับเรื่องความไม่ประมาท เพราะถ้าเรามีความไม่ประมาท เราจะเห็นคุณค่าของการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่างบทสวดที่เราสวดอยู่หลายครั้ง “ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำในวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้”
เมื่อเราระลึกถึงความตายซึ่งอาจจะเกิดวันพรุ่งนี้ ก็กระตุ้นให้เราเกิดความไม่ประมาท และดังนั้นเราจึงเร่งทำความเพียร ถ้าเราทำความเพียรเสียแต่วันนี้ หรือทำสิ่งที่ควรทำเสียตั้งแต่วันนี้โดยที่ไม่ผัดผ่อน อันนี้ก็เรียกว่าทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ซึ่งมันต่างจากการอยู่กับปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ต่างกันมาก
ยังมีอีกคำหนึ่ง “เป็นอยู่ในปัจจุบัน” หรือ “เป็นอยู่ในปัจจุบันขณะ” ความหมายคือ การมีสติตามรู้ในสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง หรือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการมีสติรู้ทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับกายและใจ อันนี้มันละเอียดลงไปนะ การเป็นอยู่ในปัจจุบันขณะ มันต้องอาศัยสติที่ทำงานอย่างละเอียด
การที่เราจะมีสติตามรู้สิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน หรือสิ่งที่กำลังเกี่ยวข้องอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เรากำลังฟังคำบรรยาย เราก็มีสติตามรู้ทุกคำที่ได้ยินได้ฟัง แม้บางทีอาจจะมีการสะดุดบางคำบางประโยค แต่ก็ไม่ติดอยู่ตรงนั้นจนกระทั่งตามไม่ทันสิ่งที่กำลังบรรยายถ้าเรามีสติตามรู้อยู่ในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่าเป็นอยู่ในปัจจุบันขณะ
บางทีมันอาจจะมีสิ่งที่ดึงใจให้เราหลุดออกไปจากคำบรรยายที่กำลังฟังอยู่ แต่สักพักสติก็ดึงจิตกลับมาตามรู้อยู่กับคำบรรยายต่อเนื่องได้ รวมทั้งการรู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและในใจขณะนั้นๆ นี่คือสิ่งที่เรากำลังมาทำ
การที่เราจะอยู่กับปัจจุบันหรือทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อาจจะไม่ต้องอาศัยสติที่ละเอียดที่เรียกว่าสัมมาสติ แต่ถ้าเราจะเป็นอยู่ในปัจจุบันขณะ มันต้องอาศัยสัมมาสติ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะไม่รู้ทันในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับกายและใจในปัจจุบัน เช่นกำลังเดินอยู่แต่ไม่รู้ว่า กำลังเดิน อันนี้เรียกว่าไม่รู้กาย หรือเรียกว่าลืมกาย
ใจมันคิดอะไรก็ไม่รู้ว่าใจกำลังคิด ใจกำลังมีอารมณ์โกรธหงุดหงิดหรือยินดี ก็ไม่รู้ อันนี้เรียกว่าไม่ได้เป็นอยู่ในปัจจุบันขณะในเวลานั้น แต่ถ้าเรารู้ โดยตามรู้หรือรู้ทันว่าตอนนี้กำลังหงุดหงิด ตอนนี้กำลังโปร่งเบา ตอนนี้กำลังเพลิน ตรงนี้แหละที่เรียกว่าเราเริ่มจะเรียนรู้ที่จะเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมันต้องอาศัยการฝึก
และอย่างที่พูดไปเมื่อวานคือ ถ้าเราต้องการฝึกให้มีสติตามรู้หรือรู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจอย่างรวดเร็ว เราต้องยอมให้ทุกความคิดและทุกอารมณ์เกิดขึ้น ไม่ใช่เลือกที่รักมักที่ชัง
ความคิดบางอย่างยอมให้มี แต่ความคิดบางอย่างไม่ชอบก็ผลักไส อารมณ์บางอย่างอยากให้มี แต่อารมณ์บางอย่างพยายามกดข่มหรือหาทางปัดเป่าไม่ให้มี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีโอกาสที่สติของเราจะเติบโต เพราะสัมมาสติจะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อเรียนรู้ที่จะรู้ตัวทุกครั้งที่เผลอ หลงเมื่อไหร่ก็รู้ทัน
และถ้าเรารู้ตัวหรือรู้ทันบ่อยๆ สติของเราก็จะไว ความรู้สึกตัวก็จะเกิดขึ้นได้รวดเร็ว เราจะรู้ตัวว่าเผลอได้บ่อยๆ ก็ต้องยอมให้มีความเผลอเกิดขึ้น เราจะรู้ทันความโกรธได้อย่างรวดเร็ว ก็ต่อเมื่อเรายอมให้มีความโกรธเกิดขึ้น เพื่อจะได้ฝึกสติให้รู้ทัน
และนอกจากการยอมหรืออนุญาตให้ทุกความคิดทุกอารมณ์เกิดขึ้นได้ ยอมให้เผลอ ยอมให้มีวคามหลงเกิดขึ้นแล้ว อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ เราต้องเปิดโอกาสให้สติได้ทำงานเองบ้าง
แม้ว่าใหม่ๆ สติจะทำงานช้า คิดไป 7-8 เรื่องแล้วถึงค่อยมีสติรู้ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินไป 7-8 รอบแล้วถึงค่อยมารู้ตัวว่ากำลังเดินอยู่ สวดมนต์ผ่านไปแล้ว 5 นาทีถึงค่อยมารู้ตัวว่ากำลังสวดมนต์อยู่ อันนี้แสดงว่าระลึกรู้ได้ช้า คือสติมันทำงานช้า แต่เราก็ต้องยอมให้สติได้ทำงานแบบนี้ แม้มันจะช้าแต่ก็ต้องให้เขาได้ทำงาน
เราอย่าทำแทนเขา หลายคนรู้สึกว่าสติมันทำงานช้า รู้สึกตัวได้ช้า รู้ทันความคิดได้ช้า ความคิดมันฟุ้งเยอะเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย ทำแทนสติดีกว่า คือไปจับจ้องความคิด ความคิดมันโผล่มาเมื่อไหร่ ฉันตะปบมันทันที ไปดักจ้องดูอารมณ์ อารมณ์โผล่มาเมื่อไหร่ ฉันกดข่มมันทันที
หรือมิฉะนั้นเมื่อรู้สึกว่า เวลาเดินมันไม่ค่อยรู้ตัวว่าเดินเลย ยกมือก็ไม่ค่อยรู้ตัวว่ายกมือ ก็เลยพากย์ซะเลย “ฉันกำลังเดิน” “ฉันก้าวเท้าซ้าย” “ฉันก้าวเท้าขวา” “ฉันยกมือขวา” “ฉันยกมือซ้าย” อันนี้เรียกว่าพากย์ เหตุที่พากย์ก็เพราะต้องการทำงานแทนสติ เพราะสติมันช้า มันก็เลยฟุ้งเยอะเหลือเกิน เพราะฉะนั้นก็ทำแทนมันซะเลย
ถ้าเราทำแทนสติ สติก็ยากที่จะเติบโตหรือทำงานได้คล่องแคล่ว ก็เหมือนเรามีลูกแล้วทำการบ้านให้ลูก ลูกทำไม่ได้เราก็ทำแทนให้ แล้วลูกจะมีความรู้ได้อย่างไร หรือบางทีเราให้ลูกน้องทำงาน แต่งานออกมาช้า เราหยิบฉวยมาทำแทนเองเลย มันก็เร็วนะ แต่ลูกน้องก็จะไม่มีความสามารถ
เราต้องรู้จักเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ทำงาน แม้จะช้าแต่ถ้าทำบ่อยๆ เขาก็จะทำได้เร็วทำได้ดีขึ้น หรือลูกของเราแม้เขาจะทำงานอย่างอื่นได้ช้า เช่นทำความสะอาดกวาดบ้านเช็ดถูได้ช้า ไม่สะอาดหมดจด พ่อแม่ก็ทำเองเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ลูกจะทำความสะอาดบ้านได้ดีได้อย่างไร เราต้องเชื่อใจว่าเมื่อเราให้โอกาสสติทำงาน สติก็จะทำงานได้เร็วขึ้นๆ
เคยมีการทดลองให้หนูไปหาอาหารที่ซ่อนอยู่ในห้อง ห้องก็ไม่ใหญ่แต่เส้นทางมันคดเคี้ยวมากเหมือนเขาวงกต ในห้องเล็กๆ มันมีช่องทางหรือเส้นทางมากมาย ซึ่งบางทีก็เป็นทางตัน บางทีก็เป็นทางหลอก แล้วก็ปล่อยให้หนูเข้าไปในห้องนั้น ดูว่ามันจะหาอาหารเจอได้เร็วไหม
ใหม่ๆ นี่หาอาหารได้ช้านะ เพราะหลงทางบ้าง งงบ้าง แต่ถ้าทำซ้ำๆ หนูจะอาหารได้เร็วขึ้น จนกระทั่งพอทำไปสัก 10 ครั้ง 20 ครั้ง มันสามารถจะวิ่งไปหาอาหารจนเจอได้ในเวลารวดเร็ว ทั้งๆ ที่ย้ายตำแหน่งของอาหาร แต่มันรู้ทางแล้ว มันเกิดความฉลาด นี่ขนาดเป็นหนู เป็นสัตว์เดรัจฉาน มันยังมีความสามารถในการเรียนรู้ที่จะหาอาหารได้อย่างรวดเร็ว
สติของเรานี่เป็นสติของมนุษย์ ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้ทำงาน เขาจะหาใจของเราได้เจอเร็วขึ้นๆ ใหม่ๆ ใจมันก็ไหล หลง เหมือนกับว่าหลงไปในป่าแห่งความคิด กว่าสติจะหาใจเจอ แล้วพาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบันนี่ช้าเหลือเกิน ไม่รู้มันหลงหายไปไหน มันหลง เข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ ใหม่ๆ สติมันจะตามหาใจได้ช้า เราก็เลยคิดไปแล้วถึง 7-8 เรื่องกว่าจะรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่
แต่พอเราทำบ่อยๆ เปิดโอกาสให้สติได้ทำงานบ่อยๆ มันจะหาใจได้ไวขึ้น แล้วพาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวได้ไวขึ้น แต่จะทำอย่างนี้ได้ เราต้องใจเย็น อย่าไปทำแทนสติ อย่าไปคอยดักจ้องดูความคิด ปล่อยให้สติเขาทำงาน แล้วเราจะพบว่าพอสติเขาทำงานคล่องแคล่ว เราจะเบาสบาย เขาจะทำงานแทนเราได้อย่างรวดเร็ว จนบางทีเราอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมเรารู้ทันได้ไว
ฉะนั้นต้องใจเย็นนะ เปิดโอกาสให้สติได้ทำงาน แม้มันจะช้า แม้มันจะไม่ทันใจ แต่เราก็มีความเชื่อมั่นในสติว่าเขาจะเรียนรู้ได้ เพราะแม้แต่หนูมันยังเรียนรู้ได้ไวเลย แล้วสติของเราจะทำอย่างนั้นไม่ได้เชียวหรือ
ถ้าเราเตือนใจอยู่สองอย่างคือ “ยอม” หรือ “อนุญาต” ให้ทุกความคิดเกิดขึ้นโดยที่ไม่ผลักไส แม้มันจะมีความคิดฟุ้งซ่านมากมายก็ช่างมัน อย่างที่หลวงพ่อเทียนท่านบอกว่า “อย่าไปห้ามความคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ ยิ่งหลงก็ยิ่งรู้” คือรู้ว่าหลง
เราจะรู้ว่าหลงได้ ก็เพราะมีความหลงเกิดขึ้นก่อน แล้วพอหลงบ่อยๆ มันก็จะรู้ทันความหลงได้ไวขึ้นๆ แล้วจะเห็นว่าความหลงนี่อาการเป็นอย่างไร เวลาความคิดเกิดขึ้นแม้จะเป็นความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วเราปล่อยให้สติทำงาน สติมันก็จะจำได้ หมายรู้ หรือระลึกได้ว่าหลงคิดมันเป็นอย่างไร
เวลาความโกรธเกิดขึ้นแล้วเรายอมให้ความโกรธมันเกิด เกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วเราปล่อยให้สติทำงาน สติก็จะจำได้ว่าความโกรธเนี่ยอาการเป็นอย่างไร พอจำได้แล้วความโกรธเกิดขึ้นอีก สติมันรู้ทันเลย
เหมือนกับภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา ถ้ามันมีเชื้อโรคแปลกปลอมเข้ามาในร่างกายของเรา ภูมิคุ้มกันจะจำได้ และถ้ามันมาครั้งที่สอง ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราก็จะรีบจัดการกับเชื้อโรคนั้นเลย แต่ในครั้งแรก ภูมิคุ้มกันของเราจะยังจำเชื้อโรคนั้นไม่ได้ มันก็อาจทำให้เกิดความเจ็บป่วย เกิดเป็นไข้ขึ้นมา แต่พอมันมาครั้งที่สอง เนื่องจากภูมิคุ้มกันจำได้แล้ว มันก็จะไม่ปล่อยให้เชื้อโรคมาอาละวาด มาเพ่นพ่านทำร้างร่ายกายเรา
สติของเราก็มีความสามารถในการจำ เพราะมันเป็นหน้าที่ของสติอยู่แล้ว และสิ่งที่เราอยากให้สติจำได้คือ ความโกรธเป็นอย่างไร ความหงุดหงิดเป็นอย่างไร ความดีใจเป็นอย่างไร ความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร พอมันไม่รู้สึกตัวเพราะความหลง สติจะจำได้ แล้วความรู้ทันก็จะเกิดขึ้น เมื่อรู้ทันความหลง ความหลงหายไป ความรู้สึกตัวก็มาแทน
ทั้งหมดนี้ก็มาสรุปตรงที่ว่า ให้ทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ ทำเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ไปทำแทนสติ แต่เราให้สติทำงาน แล้วต่อไปเราจะสบาย เหมือนกับเวลามีน้ำสกปรกน้ำเน่าขัง เราไม่ต้องไปขุดหรือไปวิดน้ำให้เหนื่อยเสียเวลา เราปล่อยน้ำดีเข้าไป น้ำดีมันก็ไปไล่น้ำเสียเอง
ฉันใดก็ฉันนั้น เวลามีความหลงมีความทุกข์ เราไม่ต้องไปทำอะไรกับความหลงความทุกข์นั้นหรอก ปล่อยให้สติทำงาน สติก็จะไปจัดการกับความหลงความทุกข์นั้นเอง มันทำได้ถ้าเราเปิดโอกาสให้มันทำบ่อยๆ.