พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 ตุลาคม 2565
ครอบครัวหนึ่งมีพ่อแม่แล้วก็ลูก 2 คน ลูกก็ยังเล็กอยู่ วันหนึ่งครอบครัวนี้ก็ไปต่างจังหวัด จะไปเที่ยว ครอบครัวบ้านนี้มีคนขับรถ คนขับรถเป็นผู้ที่ขับพาไปต่างจังหวัด ระหว่างทางขณะที่รถกำลังแล่นด้วยความเร็วสูง จู่ๆคนขับก็เกิดหัวใจวาย ฟุบคาพวงมาลัยเลย
ผู้โดยสารก็ตกใจโดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ก็นึกถึงลูกขึ้นมาเลยว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุจะทำอย่างไร เพราะรถคันนี้แล่นเร็วขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนขับเหยียบคันเร่งมิดเลย ช่วงที่หน้าสิ่วหน้าขวานนี้ สามีซึ่งนั่งอยู่เบาะหน้าข้างคนขับก็ไม่สามารถที่จะไปชะลอรถได้ เพราะว่าคันเร่งถูกเหยียบจนมิดเลย ทำได้แต่เพียงแค่จับพวงมาลัย บังคับพวงมาลัยให้อยู่ในทาง
ในช่วงวิกฤตนั้น มันก็มีเสียงร้องด้วยความตกใจโดยเฉพาะจากเบาะหลัง ผู้เป็นแม่ก็กลัวว่าถ้ารถแล่นไปเร็วๆแบบนี้ สุดท้ายก็คงจะเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะตอนที่มันเลี้ยวโค้ง แต่ว่าตัวสามีแม้จะตกใจก็มีสติ ตอนนั้นเองเขาก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ปรับเบาะคนขับให้มันเขยื้อนไปข้างหลังสักหน่อย
พอปรับเบาะคนขับถอยไปข้างหลัง เท้าของคนขับที่เหยียบคันเร่งจนมิดก็ผ่อนคลาย และในขณะเดียวกันก็มีช่องว่างพอที่จะทำให้สามีซึ่งนั่งข้างคนขับ สามารถบังคับรถได้ ค่อยๆเหยียบเบรค ชะลอรถให้ค่อยๆลดความเร็วลง จนกระทั่งรถนิ่งสนิท
ให้เราลองนึกภาพดู ถ้าเกิดคนในรถตกใจกันหมด การที่จะเกิดความคิดขึ้นมาว่า ปรับเบาะคนขับให้ขยับไปข้างหลังสักหน่อยเพื่อที่จะได้ยื่นเท้าไปเหยียบเบรค หรือชะลอให้รถเคลื่อนช้าลง ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เป็นเพราะผู้ชายคนนี้มีสติ เขาก็เลยเห็นทางออกว่ามันมีวิธีนี้แหละ คือปรับเบาะคนขับ ซึ่งก็ทำให้รถในที่สุดชะลอจอดสนิทได้
ก็เป็นอันว่ารอดตายได้ อันนี้รอดตายเพราะสติโดยแท้เลย เพราะถ้าเกิดว่าตื่นตกใจ มันก็คงคิดอะไรไม่ออก แล้วก็อาจจะทำอะไรที่ผิดพลาด อย่างคนบางคนพอรถซึ่งกำลังขับเร็ว ยางแตกขึ้นมา สิ่งที่ทำโดยอัตโนมัติก็คืออะไร ด้วยความตกใจก็เหยียบเบรคเลย รถก็ต้องพลิกคว่ำ
แต่ถ้าคนที่มีสติเขาก็จะหักห้ามใจได้ ไม่ปล่อยให้ความกลัวเข้ามาหรือความตกใจเข้ามาครอบงำจิตจนกระทั่งปัญญามันไม่เกิดขึ้น ในยามที่เรียกว่าวิกฤตหรือว่าเข้าด้ายเข้าเข็ม เป็นธรรมดาที่คนเราจะมีความกลัว ความตื่นตระหนก แต่ถ้าเกิดว่ามีสติ มันก็ทำให้ออกจากความตื่นตระหนกได้ เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาปัญญาก็จะตามมา สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะสิ่งที่ทำไปก็จะกลายเป็นสร้างปัญหาขึ้นมา ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเล่าว่าเมื่อสัก 60 กว่าปี แม่ลูกอ่อนคนหนึ่งกำลังดูแลลูกอยู่ แต่บังเอิญแวะไปทำธุระประเดี๋ยวเดียว ปรากฏว่าไปเด็กไปคว้าสตางค์แดง สมัยก่อนเราใช้สตางค์ 1 สตางค์มีค่า แล้วก็สตางค์แดงก็ทำด้วยทองแดง
ตามประสาเด็ก เด็กคว้าเหรียญใส่ปาก แล้วก็ติดคอ เกิดอาการหายใจไม่ออก แม่กลับมาพอดีก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ตกใจมาก ทำอะไรไม่ถูกเลย ช่วงนั้นก็นึกขึ้นมาได้ว่า น้ำกรดมันสามารถที่จะกัดทองแดงหรือสตางค์แดงได้
มันก็ได้ผล ก็คือสตางค์แดง มันก็ไม่ติดคอแล้วล่ะ แต่เกิดอะไรขึ้นกับคอของเด็ก ก็ถูกน้ำกรดมันกัด ก็เรียกว่าเด็กก็ปวดเลย ไม่รู้ว่ารอดตายหรือเปล่า ในยามนั้นแม่มีความตื่นตระหนกตกใจมาก และเนื่องจากสติมาไม่ทัน มันก็เกิดความคิดแบบครึ่งๆกลางๆ ความรู้ที่มันเกิดขึ้นตามมา หรือปัญญาก็มาแบบกระท่อนกระแท่นก็คือ น้ำกรดมันกัดทองแดงได้ก็เอากรอกใส่ปากลูกเสียเลย แต่ว่าไม่ได้เฉลียวใจว่าทองแดงนี้มันถูกกัดด้วยน้ำกรดก็จริง แต่ว่าน้ำกรดก็เข้าไปทำลายลำคอของเด็กจนเสียหาย หรืออาจจะถึงตายได้
อันนี้เรียกว่าถ้าขาดสติ ปัญญาที่เกิดขึ้นหรือความคิดที่เกิดขึ้น มันก็ออกมาแบบครึ่งๆกลางๆ แต่ถ้าเกิดว่ามีสติ มันก็จะรู้ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ เอาน้ำกรดกรอกปากลูกไม่ได้ เพราะว่าสตางค์แดงมันอาจจะหลุดออกจากคอ แต่ว่าน้ำกรดก็ไปกัดคอของลูกจนเสียหาย
2 เรื่องนี้ มันก็ชี้ให้เห็นว่าคนเราในยามที่มีสติ ก็สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที แต่ถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว สิ่งที่ทำลงไปมันก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้นก็ได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้แก้ปัญหา
สติมีความสำคัญโดยเฉพาะในยามวิกฤตในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน เรียกว่าความเป็นความตาย แต่ที่จริงมันมีประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะในยามวิกฤติแต่ว่าในชีวิตประจำวันเราก็ขาดสติไม่ได้ คนเราถ้าขาดสติ ไม่รู้สึกตัว แค่เดินลงบันไดก็อาจจะหกล้มหัวฟาดพื้น หรือเดินเข้าห้องน้ำก็อาจจะลื่นไถลหัวกระแทกกับพื้น ก็เรียกว่าถ้าไม่เจ็บป่วยก็พิการเลย หรืออาจจะปางตาย
สติมันทำหน้าที่อย่างไรในยามที่คนเราเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้นมา มันทำให้จิตของเราหลุดออกจากอารมณ์ที่เกิดขึ้นเช่นความตื่นตระหนก พอมีความตื่นตระหนกเข้า ถ้าปล่อยให้มันมาความตื่นตระหนกตกใจครองใจ ในบางสถานการณ์ก็ช่วยเช่น เห็นงูหรือเห็นสัตว์ร้ายวิ่งมา ความตื่นตระหนกก็ทำให้เราสามารถที่จะมีปฏิกิริยาได้ทันควันเช่นหนี ไม่ต้องคิดอะไรเลย มันวิ่งอย่างเดียวเลย
แต่ว่าในบางสถานการณ์มันกลายเป็นอุปสรรค มันทำให้เราไม่สามารถใช้ความคิดใช้ปัญญามาแก้ไขสถานการณ์ได้ หรือปัญญาที่มา มันก็เป็นปัญญาแบบครึ่งๆกลางๆซึ่งก็สร้างปัญหาได้เหมือนกัน
สติยังทำให้อารมณ์ไม่สามารถครอบงำจิตได้ ไม่ใช่แค่ความตื่นตระหนก แต่รวมไปถึงความโกรธ ความเกลียด หรือความโลภ ตัณหาราคะ อย่างที่หลายคนชีวิตเรียกว่าหมดอนาคตเลยเพราะหน้ามืด หน้ามืดเพราะเห็นของมีค่าอยู่ต่อหน้า หักห้ามใจไม่ได้ หรือว่าหน้ามืดจนกระทั่งไปทำมิดีมิร้ายกับคนอื่น
แต่ที่จริงสติไม่ใช่เพียงช่วยทำให้เราหลุดออกจากอารมณ์ แต่ยังทำให้รู้ทันความคิด ความคิดที่เกิดขึ้น ถ้าเราปล่อยให้มันครอบงำใจ หรือถ้าเราปล่อยใจไปตามความคิดทุกเรื่องเลย เราก็คงแย่ เกิดความเครียด เกิดความวิตกกังวล เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจหรือนอนไม่หลับ
แต่เป็นเพราะเรารู้ทันความคิด และทำให้เราสามารถวางความคิดได้ สติยังช่วยทำให้เราระลึกถึงและนึกถึงสิ่งต่างๆได้ ตรงนี้คือสติที่เราใช้เป็นประจำ เราทำอะไรก็ตามเราต้องสามารถที่จะระลึกนึกถึงสิ่งต่างๆได้ เราทำงานเราก็สามารถระลึกถึงความรู้ที่เรามี เราใช้สติในการดำเนินชีวิตประจำวันตลอดเลย
แต่ว่าสตินั้นเป็นสติแบบสามัญ เรียกว่าสามัญสติก็ได้ มันมีสติชนิดหนึ่งเรียกว่าสัมมาสติ มันแตกต่างจากสติที่เรามีหรือที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เรามาฝึกเพื่อสร้างสัมมาสติขึ้นมา
สัมมาสติแตกต่างจากสติธรรมดาอย่างไร สติธรรมดาเราใช้เพื่อการระลึกนึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือสิ่งที่เรารับรู้ในอดีต เช่นถามว่าเมื่อเช้าอาตมาพูดเรื่องอะไร จะตอบได้ก็ต้องสามารถระลึกได้ถึงสิ่งที่ได้ฟังเมื่อเช้านี้ เราใช้สติเวลาเราทำงานทำการ เวลาเราจะโทรศัพท์ถึงเพื่อน เวลาเรานัดหมายใครเราก็ระลึกได้ว่านัดหมายกันตกลงกันเมื่อไหร่ อันนี้เรียกว่าเป็นการระลึกได้ในเรื่องที่เป็นอดีต
แต่สัมมาสติเป็นความระลึกได้ในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เช่นในขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ ในขณะที่เราสร้างจังหวะอยู่ บางทีเราลืม ลืมว่ากำลังเดิน ลืมว่ากำลังยกมือ แล้วเราก็ไหลไปในความคิด เสร็จแล้วเราก็ระลึกได้ว่าเรากำลังเดินอยู่ กำลังยกมือสร้างจังหวะอยู่
หรือเมื่อตะกี้เราสวดมนต์ ใจเราก็ลอยไปนึกถึงลูกนึกถึงงานที่ค้างคา หรือนึกถึงเรื่องราวที่เราได้พูดคุยสนทนากันเมื่อตอนบ่าย แต่สักพักก็มีสติระลึกได้ว่าเรากำลังสวดมนต์อยู่ ตรงนี้แหละ ความระลึกได้ตรงนี้เกิดจากสัมมาสติ มันไม่ใช่ระลึกได้ถึงเรื่องในอดีตแต่ระลึกได้ถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน
หลายคนมีความจำที่ดี จำถึงว่าหนังสือที่อ่าน ข้อความที่เห็นเมื่อวานนี้หรืออาทิตย์ที่แล้ว หรือเดือนที่แล้ว บางคนจำเบอร์โทรศัพท์เพื่อนได้อย่างรวดเร็ว ถามเพื่อนว่าเบอร์โทรศัพท์เบอร์อะไร เพื่อนตอบได้เลยทั้งที่ผ่านไปแล้ว 5 วัน พอถามก็นึกได้เลย อันนี้เรียกว่าเป็นคนที่มีความจำเก่งและระลึกได้ไว อันนี้คือสติที่เราใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งเรียกว่าเป็นสติสามัญ
แต่ว่าคนที่จำเก่งก็อาจจะใจลอยได้ง่าย ทำอะไรก็ใจลอย กินข้าวก็ใจลอย กว่าจะระลึกได้ว่ากำลังกินข้าวอยู่ก็คิดไปแล้วหลายเรื่อง เราลองสังเกตไหมตอนที่เรากินข้าวใจเราก็ลอย เสร็จแล้วสักพักก็ระลึกได้ว่ากำลังกินข้าวอยู่ ตรงนี้แหละคือสัมมาสติ ซึ่งส่วนใหญ่มันทำงานได้เชื่องช้ามาก ก็เลยตกอยู่ในอำนาจของความคิดและอารมณ์อยู่เป็นประจำ กลายเป็นคนใจลอย เสร็จแล้วพอปล่อยให้ความคิดเรี่ยราด มันพาเราไปในอดีตบ้าง พาเราไปในอนาคตบ้าง เราก็เลยจมอยู่ในความทุกข์ที่ตามมา
คิดถึงอดีตก็โกรธเศร้าเครียดแค้น พอใจลอยไปในอนาคตก็วิตกกังวลหนักอกหนักใจในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่พอเรามีสติระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ มันกลับมาปัจจุบันเลย อันนี้คือความแตกต่างประการแรกระหว่างสติธรรมดากับสัมมาสติ
ประการต่อมาก็คือว่า สติธรรมดามันเป็นความระลึกได้เกี่ยวกับสิ่งนอกตัว จำได้ว่าวางโทรศัพท์ไว้ที่ไหน จำได้ว่าถอดรองเท้าไว้ที่ไหน จำได้ว่าห้องพักเบอร์อะไร
แต่สัมมาสติเป็นความระลึกได้ในสิ่งที่เป็นตัวเอง คือระลึกรู้กายและใจ ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ มันไม่ใช่เรื่องนอกตัว มันเป็นความระลึกได้เกี่ยวกับตัวเอง หรือเรียกว่ารู้กายรู้ใจ ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่เรียกว่าตัวเอง รู้ว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ บางทีก็เห็นความคิดที่เกิดขึ้นที่เพิ่งผ่านไป อันนี้เรียกว่าเป็นงานของสัมมาสติ
และประการต่อมาก็คือว่า สติธรรมดาคือความระลึกได้บางทีก็ต้องอาศัยความตั้งใจ อย่างเช่นเมื่อเช้านี้เรากินข้าวกับอะไร เราก็ต้องนั่งนึกสักหน่อย ถึงจะตอบได้ว่ากินข้าวกับอะไร เมื่อเช้าได้ฟังธรรมเรื่องอะไร ต้องตั้งใจนึกสักหน่อยถึงจะระลึกได้
แต่สัมมาสติคือความระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่มันเกิดขึ้นเอง เราสังเกตได้เวลาเราเดินจงกรมเวลาเราสร้างจังหวะ จู่ๆก็นึกขึ้นมาได้เองว่าตอนนี้กำลังเดินอยู่ ใจลอยในขณะที่สวดมนต์จู่ๆก็นึกขึ้นมาได้ ระลึกขึ้นมาได้ว่ากำลังสวดมนต์อยู่ มันเป็นความระลึกได้ที่เกิดขึ้นมาเอง ที่จริงมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองหรอก แต่ว่ามันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราที่จะควบคุมได้ และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องฝึกจากการปฏิบัติ นึกขึ้นมาได้เอง รู้ตัวขึ้นมาได้เอง
ที่เราฝึกปฏิบัติเพื่อเปิดโอกาสหรือเป็นการส่งเสริมให้สัมมาสติมันทำงานด้วยการระลึกขึ้นมาได้เองว่า ตอนนี้เรากำลังเดิน ตอนนี้เรากำลังนั่งอยู่ ตอนนี้เรากำลังกินข้าวอยู่ ตอนนี้เรากำลังสวดมนต์อยู่ ตอนนี้เรากำลังฟังธรรมอยู่
และวิธีการปฏิบัติอย่างที่พูดย้ำอยู่หลายครั้งว่า อย่าไปพยายามควบคุมความคิด อย่าไปบังคับจิต พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่ายอมให้ทุกความคิดทุกอารมณ์เกิดขึ้นได้ ตรงนี้คนที่ปฏิบัติใหม่ๆจะไม่ค่อยยอมเท่าไหร่อยากจะให้มีแต่ความคิดดีๆเกิดขึ้น หรือให้ความคิดมันดับไป
พยายามบังคับจิตไม่ให้มีความคิดฟุ้งซ่าน พยายามบังคับอารมณ์ไม่ให้มีความหงุดหงิด เราไปมุ่งบังคับจิต มุ่งบังคับความคิดและอารมณ์ แต่ว่าในการปฏิบัติถ้าจะให้ได้ผล มันต้องยอมให้ทุกความคิด ทุกอารมณ์เกิดขึ้นได้ แม้เราอาจจะไม่ชอบก็ตาม
ความคิดและอารมณ์ของเราบางทีก็เปรียบได้เหมือนกับเรือนว่าง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรือนว่างที่อยู่ข้างทางใครๆก็มาพักได้ ใครๆก็มาใช้สอยได้ ไม่สามารถที่จะห้ามได้
จิตของเราก็เหมือนกัน มันมีความคิดทุกอย่างเกิดขึ้นได้ จะไปกำหนดว่าความคิดแบบนี้ไม่เอา หรือว่าจะไปบังคับไม่ให้ความคิดเกิดขึ้นเลย มันทำไม่ได้ แล้วก็ไม่ควรทำด้วย แต่หลายคนเวลาปฏิบัติ ตั้งใจไว้ว่าจะคุมความคิดไม่ให้มีความคิดเกิดขึ้น พอคิดแบบนี้เข้ามันก็เรียกว่าผิดตั้งแต่แรกแล้ว
หลวงปู่ดูลย์ท่านให้คำแนะนำที่ดีท่านบอกว่า ความคิดมันก็เหมือนกับลมหายใจ มันเกิดขึ้นได้เสมอ มันห้ามไม่ได้ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อดับความคิด เอาแค่ว่ารู้ทันจิตเวลามันคิดนึก เท่านี้ก็พอ อย่าฝันทั้งๆที่ตื่น คืออย่าปล่อยให้หลงคิดโดยไม่รู้ตัว แค่รู้ทันแค่นี้ก็พอแล้ว แล้วจะรู้ทันได้อย่างไร รู้ทันก็เพราะมีสตินั่นแหละ หน้าที่ของเราก็คือรู้ทันเวลามีความคิดและอารมณ์เกิดขึ้น ไม่ใช่ไปบังคับจิตไม่ให้คิดหรือพยายามห้ามความคิด
หลวงพ่อเทียนท่านเน้นเสมอว่าอย่าไปห้ามความคิด ท่านบอกว่ายิ่งคิดก็ยิ่งรู้ ปล่อยให้มันคิดไป พอคิดหรือหลงคิด มันก็เป็นแบบฝึกหัดให้สติรู้ทัน ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ ใหม่ๆมันรู้ได้แค่ 10% แต่ต่อไปมันก็จะรู้ 20% แล้วก็รู้ 30% มันจะรู้ได้มากขึ้นเรื่อยๆเพราะว่ายอมให้หลง หรือว่ายอมเผลอ ยอมให้มีความคิดต่างๆเกิดขึ้น
ครูบาอาจารย์ บอกว่าอย่าไปส่งจิตออกนอก อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำแต่ก็พึงระลึกว่าเราไม่สามารถบังคับจิตไม่ให้ส่งออกนอกได้ แต่ถ้ามันส่งไปเมื่อไหร่ก็ให้มีสติรู้ทัน ใหม่ๆ มันจะรู้ทันช้า เราก็ต้องอดทน แล้วก็ต้องรู้จักคอย ทำไปเรื่อยๆมันก็จะรู้ทันได้ไวขึ้น สัมมาสติก็จะทำงานได้ไวขึ้น สัมมาสติก็จะทำได้เร็วขึ้น
เพราะฉะนั้นเราต้องเตือนใจตัวเองว่าเรายอม อนุญาตให้ทุกความคิดมันเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเราไม่สามารถบังคับให้มีแต่ความคิดที่ต้องการหรืออารมณ์ที่พึงปรารถนา แล้วจริงๆมันก็เป็นธรรมชาติของจิตที่จะคิดสารพัด นั่นเป็นหน้าที่ของมัน แต่หน้าที่ของเราคือรู้ทันมัน
เหมือนกับเราดูถนน แล้วก็มีรถผ่านไปผ่านมา หน้าที่ของเราคือดูรถที่ผ่านไปผ่านมา แต่ว่าไม่ใช่ไปห้ามรถ ให้มันหยุดก็ไม่ใช่ หรือว่าเห็นรถคันไหนดี ก็ขึ้นรถไปเลยก็ไม่ใช่ รถนี่ก็คือความคิดนั่นแหละ ไม่ต้องไปห้ามมัน แต่ก็ไม่ใช่ไปตามมัน ก็แค่ดูมัน เห็นมันมาเห็นมันไป บางทีก็ไม่มีรถเลย บางทีก็มีรถแล่นเป็นสาย ก็แค่ดูมัน และถ้าเราดูมันเห็นมันบ่อยๆ ต่อไปมันก็จะรู้ทันได้ไว แล้วก็ไม่หลงตกเป็นทาสของความคิดรวมทั้งอารมณ์ที่เกิดขึ้น.