พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 4 ตุลาคม 2565
เหตุการณ์แบบนี้คงเกิดขึ้นกับเราบ่อยนะ ลืมแว่นตา ลืมโทรศัพท์มือถือ ลืมกระเป๋าเงิน หรือว่าลืมกุญแจรถ ลืมในที่นี้ก็หมายถึงว่าหาไม่เจอ ไม่รู้วางไว้ไหน หรือว่าลืมหยิบติดตัวไป บางครั้งก็ลืมของที่มีค่าวางเอาไว้ แล้วก็ไม่รู้ว่าวางไว้ที่ไหน จนสูญหายเพราะมีคนหยิบไปก็มี แต่ลืมทั้งหมดที่ว่ามานี่ มันก็ไม่แย่เท่ากับลืมตัว
ลืมตัวบางครั้งมันก็ก่อความเสียหายมากมาย แล้วจะว่าไปแล้วที่เราลืมโน่นลืมนี่ นึกไม่ออกว่าวางไว้ไหน มันก็เกิดจากความลืมตัวนั่นแหละ คือว่าตอนนั้นใจอาจจะลอย ใจลอยคิดโน่นคิดนี่ เพราะฉะนั้นระหว่างที่ใจลอยแล้วก็วางของเอาไว้ พอนึกจะใช้ของนั้นขึ้นมา มันนึกไม่ออกว่าวางไว้ที่ไหน เพราะตอนที่วางมันไม่ได้ทำด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว เพราะว่าใจลอย ตรงนั้นเราเรียกว่าลืมตัว
แต่ก็อย่างที่บอก พอเราลืมตัวแล้วเราก็อาจจะทำอะไรหลายอย่าง ซึ่งมันเกิดโทษกับตัวเอง อาจจะเผลอด่าคนใกล้ตัว อาจเป็นพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ หรือว่าคนรัก บางทีก็เผลอตวาดใส่ลูก แล้วก็มาเสียใจ บ่อยครั้งเราก็ทำความทุกข์ให้กับตัวเอง เพราะความลืมตัว เราก็เลยทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว
ทะไลลามะมีคนขับรถคนหนึ่ง วันหนึ่งท่านก็เดินไปหาคนขับรถซึ่งกำลังซ่อมรถอยู่ ซ่อมช่วงล่างของรถ ปกติทะไลลามะก็ไม่ค่อยเดินไปที่โรงรถ แต่พอคนขับรถรู้ว่าท่านเสด็จมา แกก็ตกใจ ก็รีบลุกขึ้นมาเลย แต่ว่าด้วยอารามรีบ ปรากฏว่าหัวนี่ก็ไปกระแทกกับกันชน เพราะว่าไม่ดูให้รอบคอบ พอหัวกระแทกกันชนก็ปวด เสร็จแล้วทำยังไง แกก็เอาหัวกระแทกกันชนอีก กระแทกอีก ๆ
ถามว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น ตอบสั้นๆ คือลืมตัว เพราะว่าพอตอนที่หัวกระแทกกันชนครั้งแรกก็เจ็บ พอเจ็บแล้วโกรธด้วย ที่โกรธนี่ก็อาจจะโกรธตัวเองด้วยว่าทำไมไม่รอบคอบ ทำไมผลีผลาม พอโกรธตัวเองเข้าก็ลืมตัว เพราะความโกรธกับความลืมตัวมันมาคู่กัน ก็เลยเอาหัวกระแทกกันชนอีกหลายครั้งเลยทีเดียว อันนี้มันเป็นธรรมชาติของคนที่ลืมตัว โดยเฉพาะเมื่อถูกความโกรธครอบงำ
เด็กบางคนพอโกรธมากๆ ไม่รู้ทำยังไงเอาหัวโขกพื้น ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ที่เวลาโกรธมากๆ บางทีก็เอามือต่อยกำแพง หรือว่าเอาเท้าถีบข้าวของกระจุยกระจาย ถามว่าคนเราถ้ารักตัวเอง เราจะทำร้ายตัวเองไหม เราก็ไม่ทำอยู่แล้วล่ะ และคนเราถ้ามีสติมีความรู้สึกตัว ก็ไม่ทำอย่างนั้น แต่เพราะความลืมตัว เพราะใจมันถูกอารมณ์โกรธครอบงำ พอลืมตัวแล้วมันก็เลยมาลงที่ตัวเอง ก็คือทำร้ายตัวเอง
แต่ว่าบ่อยครั้งมันก็ไม่ใช่แค่นั้น มันไม่ใช่แค่ทำร้ายตัวเอง หรือว่าหาทุกข์มาใส่ตัว แต่ว่ายังทำร้ายคนอื่น อาจจะไม่ใช่ด้วยคำพูดอย่างเดียวแต่ว่าทำร้ายด้วยการกระทำ บางทีอาจถึงกับลงไม้ลงมือ หรือว่าทำร้ายโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งใจ แต่ว่ามันก็ทำไปแล้ว อันนี้ไม่ได้พูดถึงคนรักที่ทำร้ายกันจนตายด้วยความโกรธ แล้วก็มาเสียใจ แต่ว่ามันยังมีการทำร้ายแบบอื่นๆ ด้วย
อย่างเช่นแม่ลูกอ่อนคนหนึ่ง แกก็ขับรถ เนื่องจากที่บ้านไม่มีใครเลย ก็ต้องเอาลูกมาด้วย ให้ลูกนั่งอยู่ที่เบาะหลัง ลูกก็แค่ 2-3 ขวบ ตัวเองก็ขับรถไปที่ห้างสรรพสินค้าไปซื้อของเพราะว่าที่บ้านจะมีงานเลี้ยงมีปาร์ตี้ ในใจแกก็นึกว่าจะต้องซื้ออะไรบ้าง
พอรถถึงห้าง แกก็จอดตรงลานจอดรถ ซึ่งมันเป็นลานกว้างคล้ายๆ บิ๊กซีหรือว่าโลตัสมีลานกว้าง ก็รีบลงจากรถไปเลย เข้าไปในห้างก็ซื้อโน่นซื้อนี่ ลืมไปเลยว่าทิ้งลูกไว้บนรถ แล้วรถนี่ก็ตากแดดด้วย ก็ไปซื้อของเป็นชั่วโมง
พอซื้อเสร็จกลับมาที่รถ ตกใจ เห็นลูกถูกแดดเผาในรถ ยังดีที่เด็กไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ก็เรียกว่าอาการหนักทีเดียว เพราะว่าสูญเสียน้ำมาก ด้วยความร้อนที่อบอยู่ในตัวรถ ซึ่งก็ยังโชคดีกว่าเด็กหลายคนที่ตายเพราะถูกทิ้งเอาไว้ และถูกทิ้งโดยพ่อแม่ซึ่งไม่ได้ตั้งใจเลยแต่ว่าลืมตัว ตอนนั้นใจลอย คิดถึงว่าจะซื้ออะไร พอใจลอย อันนี้เราก็เรียกว่าลืมตัว ลืมตัวแล้วก็เลยลืมลูกทิ้งไว้ในรถ
เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าลืมตัวนี่มันน่ากลัว เพราะว่ามันทำให้เราสามารถจะลืมอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง แล้วก็นำมาสู่การทำร้ายตัวเอง หรือว่าสร้างทุกข์ให้กับคนอื่น ซึ่งก็เป็นคนที่เรารัก บางทีการทำร้ายตัวเองมันไม่ใช่แค่ทำร้ายทางกาย อย่างคนขับรถของทะไลลามะที่เอาหัวโขกกันชน หรือเด็กที่เอาหัวโขกพื้น แต่มันเป็นการสร้างทุกข์ให้แก่จิตใจ
สร้างทุกข์ให้แก่จิตใจทำอย่างไร ก็คือนึกถึงเหตุการณ์ที่เจ็บปวดรวดร้าวในอดีต นึกถึงการกระทำคำพูดของใครบางคน ที่สร้างความเจ็บปวดให้กับเรา เขาอาจจะคดโกง เขาอาจจะต่อว่าด่าทอ อาจจะทรยศหักหลัง หรืออาจจะนึกถึงความผิดพลาดในอดีตที่เคยทำไว้
บางคนทั้งที่เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้ง 30 ปีแล้ว แต่ว่าก็ยังทุกข์อยู่กับเหตุการณ์นั้น นึกถึงทีไรก็เจ็บปวด และพอนึกครั้งหนึ่ง ก็นึกครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 จนกลายเป็นการนึกวนนึกซ้ำซาก ผลก็คือนอนไม่หลับ แล้วก็กลายเป็นซึมเศร้าไป
อย่างมีคนหนึ่งก็มาปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ความผิดพลาดในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว รู้สึกแย่มาก จนบางทีทนไม่ไหว นึกถึงการทำร้ายตัวเอง อันนี้เรียกว่าอะไร เรียกว่าเป็นเพราะปล่อยใจให้จมเกือบอยู่กับเรื่องราวในอดีต แล้วก็ไม่ปล่อยไม่วาง แต่ยึดมั่นถือมั่นเพราะถลำจมไปแล้ว มันไม่ใช่ถลำเข้าไปในความคิด หรือความทรงจำในอดีตอย่างเดียว มันเกิดอารมณ์ตามมา ความเศร้า ความโศก ความโกรธ ความแค้น ความรู้สึกผิด แล้วก็จมลงไปในอารมณ์
คนเราลืมตัวก็เพราะว่าถลำเข้าไปในความคิด หรือเราเรียกว่าหลงคิด แล้วก็ตามมาด้วยหลงเข้าไปในอารมณ์ เพราะความคิดกับอารมณ์มันมาด้วยกัน คิดเรื่องดี ๆเราก็มีความสุข แต่พอคิดเรื่องไม่ดี เราก็พลอยมีความทุกข์ มีความโกรธ อันนี้เรียกว่าทำร้ายตัวเอง แต่ที่จริงแล้วถ้าหากเรารู้สึกตัวเมื่อไหร่ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว มันก็จะหลุดจากความคิดและอารมณ์นี้ได้
เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวมันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่คนมักจะมองข้าม คนเราถ้ามีความรู้สึกตัวแล้วมันก็ยากที่จะถลำเข้าไปในความคิดอกุศล หรืออารมณ์ที่เป็นโทษเป็นภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในอดีต หรือว่าภาพปรุงแต่งในอนาคต
เดี๋ยวนี้คนก็เครียดมาก เพราะว่านึกจินตนาการถึงเหตุการณ์ในวันข้างหน้า ไม่ว่าเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง เกี่ยวกับครอบครัว คนรัก ลูก พ่อแม่ หรือเกี่ยวกับการงาน นึกถึงเศรษฐกิจ เหตุการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะช่วงนี้ก็มีข่าวที่ไม่ดีเยอะแยะ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง มันก็ง่ายที่คนจะคิดปรุงแต่งวาดภาพ แล้วพอปล่อยใจลอย ก็จมเข้าไปในความเครียด ความวิตกกังวล
แต่ถ้าเรารู้สึกตัวเมื่อไหร่มันหลุด หลุดจากความคิด หลุดจากอารมณ์ มันทำให้ใจที่ไหลไปอดีต ลอยไปอนาคต กลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ใจเราถ้าอยู่กับเนื้อกับตัวเมื่อไหร่ มันปลอดโปร่ง คนโบราณเวลาเขาอวยพรลูกหลานจะอวยพรว่า ขอให้รู้เนื้อรู้ตัวนะ เขาไม่ได้ขอให้ร่ำรวย ขอให้มั่งมีศรีสุข “ขอให้รู้เนื้อรู้ตัว” “ขอให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว” ก็คือมีความรู้สึกตัวนั่นเอง
แล้วคนเราจะมีความรู้สึกตัวได้ ก็ต้องมีสิ่งหนึ่งคือสติ ความรู้สึกตัวทางธรรมเราเรียกว่าสัมปชัญญะ แต่การที่ใจเราจะอยู่กับเนื้อกับตัวได้ต้องมีสติ ในยามที่ใจมันหลุดเข้าไปในความคิด สติมันทำให้เห็นความคิด มันทำให้หลุดออกมาจากความคิด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือมันพาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
สติจึงเป็นเครื่องรักษาจิต บางทีท่านก็เปรียบเหมือนกับทหารยาม หรือทวารบาลเฝ้าประตูเมือง ประตูเมืองในที่นี้ก็คือจิตตนคร เป็นตัวคอยกันไม่ให้ศัตรูเข้าไปก่อปัญหา สร้างความปั่นป่วนในเมือง หรือก่อวินาศกรรม เรียกว่าสติเป็นเครื่องรักษาใจ ไม่ให้เป็นทุกข์ ไม่ให้จมอยู่ในความเศร้า ไม่ให้โกรธแค้น หรือว่าหดหู่เศร้าหมอง แต่ที่จริงมันก็ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นตาใน ที่ไม่ให้อารมณ์ใดเข้ามาครอบงำจิต หรือพูดอีกอย่างก็คือว่า ทำให้จิตหลุดจากความคิดและอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นได้
ฉะนั้นการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราไม่ควรจะมองข้าม หลายคนเวลานึกถึงการภาวนา ก็นึกถึงแต่ความสงบ อยากให้จิตสงบ แต่ว่าสงบที่คนส่วนใหญ่คิด คือการที่ไม่มีความคิดเกิดขึ้น แต่เราห้ามไม่ได้ เราจะห้ามจิตไม่ให้คิดไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือรู้ทันความคิด และอะไรที่ทำให้รู้ทันความคิด ก็คือสตินั่นแหละ ฉะนั้นที่เรามาเจริญสติกันนี่ ก็เพื่อฝึกให้รู้ทันความคิด และนำไปสู่ความรู้สึกตัว
แต่การที่เราจะรู้ทันความคิดได้ มันก็ต้องรู้สิ่งที่มันง่ายกว่านี้ก่อน ก็คือรู้กาย รู้ความคิดนี่เขาเรียกว่ารู้ใจ ซึ่งรวมไปถึงการรู้อารมณ์ด้วย เราต้องรู้กายก่อน เพราะฉะนั้นในการเจริญสติที่นี่ ใหม่ๆ เราก็ฝึกให้มารู้กาย คือมารู้สึกเวลากายมันเคลื่อนไหวก็ให้รู้ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวจึงเป็นลักษณะเด่นของการปฏิบัติที่นี่
เวลานั่งก็ไม่ใช่ให้นั่งนิ่งๆ แต่ว่าให้มีการเคลื่อนไหว แล้วก็รวมถึงการเดินด้วย เวลาเดินมันก็มีการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว และถ้าเรารู้กายเมื่อเคลื่อนไหว ต่อไปมันก็จะเห็นใจเมื่อคิดนึก
การรู้กายเคลื่อนไหว หรือรู้สึกว่ากายมีการเคลื่อนไหว มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ มันดีกว่านั่งนิ่งๆ มันมีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์ตรงที่ว่ามันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ตอนนี้ใจอยู่กับเนื้อกับตัวหรือเปล่า
เพราะถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัว กายเคลื่อนไหวมันก็จะรู้ รู้การเคลื่อนไหวหยาบๆ ก่อนก็คือยกมือ ต่อไปมันจะรู้การเคลื่อนไหวของกายที่ละเอียดขึ้นๆ เช่นลมหายใจ และต่อไปแม้กระทั่งกระพริบตา กลืนน้ำลายก็รู้ แต่ใหม่ๆ มันก็รู้การเคลื่อนไหวที่หยาบก่อน
เมื่อใดก็ตามที่เราปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการยกมือสร้างจังหวะ หรือการเดินจงกรม แล้วเรารู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว อันนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า ตอนนี้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว หรือพูดง่ายๆ คือตอนนี้มีความรู้สึกตัว มันเป็นตัวบ่งชี้อันหนึ่ง คนบางคนจะถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ารู้สึกตัว รู้สึกตัวเป็นอย่างไร ตัวชี้วัดอันหนึ่งก็คือรู้กายเคลื่อนไหว ทีแรกก็ยกมือเคลื่อนไหว ตอนหลังนี่แม้กระดิกนิ้วคลึงนิ้วก็รู้ ถ้าหากว่าเรารู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวของกาย อันนี้แสดงว่าเรามีความรู้เนื้อรู้ตัว หรือมีความรู้สึกตัว
มันเป็นอินดิเคเตอร์อย่างหนึ่งที่เอามาใช้พิจารณาได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยว่าตอนนี้เรารู้สึกตัวหรือเปล่า ก็ถามตัวเองสิว่าตอนนี้มันรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของกายไหม ไม่ว่าจะยกมือ ไม่ว่าจะก้าวเดิน หรือไม่ว่าจะคลึงนิ้ว
พูดง่ายๆ ก็คือถ้าเรารู้สึกตัวหรือรู้เนื้อรู้ตัว มันก็จะรู้สึกการเคลื่อนไหวของกาย ต่อไปเวลาเราใจลอย ใจลอยขณะที่กำลังเดินจงกรม กำลังสร้างจังหวะ จู่ๆ มันจะรู้สึกถึงกายเคลื่อนไหว รู้สึกถึงการขยับของมือ รู้สึกถึงการขยับของตัวขณะก้าวเดิน
ความรู้สึกของกายมันจะเป็นตัวสะกิดใจที่ลอยฟุ้งให้กลับมา จากเดิมที่ไหลไปอดีต ลอยไปอนาคต ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน จากเดิมที่มันส่งออกนอกก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ประโยชน์ของมันตรงนี้มีประโยชน์นะ อันนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติจะรู้ได้
สิ่งที่ช่วยให้เรารู้สึกตัวได้เร็วขึ้นก็คือความรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว ทีแรกความรู้ตัวมันทำให้เรารู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว แต่ต่อไปความรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว มันจะทำให้รู้สึกตัวได้เร็วขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมการปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน ท่านถึงให้มีความเคลื่อนไหว ทีแรกก็ยกมือสร้างจังหวะ แต่ตอนหลังก็คลึงนิ้ว กระดิกนิ้วก็พอ เวลานั่ง นั่งฟังคำบรรยาย หรือนั่งอยู่บนรถ แทนที่จะปล่อยใจลอยออกไปนอกตัว ก็กลับมารู้สึกตัว เพราะว่ามันมีความรู้สึกของกาย คอยเรียกคอยสะกิดใจให้กลับมา
มันคล้ายๆ กับเวลาเราใจลอย กำลังนึกถึงงานการก็ดี นึกถึงการวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศก็ดี ใจลอย หรือกำลังนึกถึงปัญหาในครอบครัวอยู่ จู่ๆ มีคนมาสะกิดหลัง หรือมาแตะมือ มาแตะบ่าเรา ทันทีที่เรารู้สึกว่ามีการแตะที่ไหล่ ที่มือ ที่ตัว เราจะรู้สึกตัวเลย เพราะการแตะหรือความรู้สึกทางกาย มันจะเหมือนกับเป็นสิ่งสะกิดให้ใจที่มันฟุ้งลอย ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
ฉันใดก็ฉันนั้น ความรู้สึกทางกายที่เรากำลังทำอยู่ มันก็สามารถจะทำหน้าที่นี้ได้ คือมาสะกิดใจที่ฟุ้งลอย หลง ให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เราไม่ต้องรอให้ใครมาสะกิดหลังเราในขณะที่เราใจลอย ไม่ต้องรอให้ใครมาแตะบ่าเราขณะที่เราใจลอย เพื่อที่เราจะได้รู้สึกตัว แต่เราอาศัยความรู้สึกของกายของเรานี่แหละ เป็นตัวเรียก เป็นตัวช่วย มันเป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ทำอยู่แล้ว
มันคล้ายๆ กับเวลาเราเดินจงกรมเมื่อเช้านี้ เดินรอบสระ แล้วบางคนขณะที่ใจลอย แต่พอได้ยินเสียงระฆัง ใจที่มันลอยมันกลับมาเลย มันลอยไปที่บ้าน มันลอยไปที่ทำงาน ลอยไปที่กรุงเทพฯ มันกลับมาเลย กลับมาตรงจุดที่ยืนอยู่ กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เพราะอะไร เพราะมีเสียงระฆังช่วยเตือน
แต่เราไม่ต้องรอเสียงระฆังนะ เราอาศัยความรู้สึกทางกายนี่แหละ เป็นตัวเรียก ตัวสะกิดใจที่ฟุ้งหลงให้กลับมา และตรงนี้มันจะทำให้สติเราโตไวขึ้นๆ เพราะว่าตอนที่มันรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว ความคิดที่มันลอย กำลังแล่นไปเรื่อยๆ มันจะสะดุด ตรงที่มันสะดุดนี้แหละที่สติมันจะได้โอกาสเข้ามาทำงาน แล้วก็เรียก พาจิตของเรากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะฉะนั้นวิธีนี้จะช่วยทำให้สติของเราทำงานได้ไวขึ้นๆ
แล้วพอเราสติของเราไว มันก็ทำให้เรารู้กายได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่อง และพอรู้กายได้ดี ต่อไปมันจะรู้ใจ เวลาคิดนึกอะไรมันก็จะรู้ได้ไว
แต่ว่าใหม่ๆ อย่าเพิ่งไปสนใจว่าเราจะรู้ทันความคิดหรือเปล่า อย่าเพิ่งไปสนใจ เพราะถ้าไปสนใจเราจะอดไม่ได้ที่จะไปดักจ้องความคิด พอเราไปดักจ้องความคิด เราก็หลงเข้าไปในความคิดเลย เพราะความคิดนี่มันมีแรงดึงดูด หรือมีอุบายที่จะดูดใจของเราให้หลงเข้าไป จากเรื่องนั้นไปเรื่องนี้ จากเรื่องนี้ไปเรื่องนั้น 10 เรื่องกว่าจะมารู้ตัวว่าถูกความคิดมันหลอก ความคิดแบบนี้เราเรียกว่าลักคิด หลวงพ่อคำเขียนเรียกว่าลักคิด
เหมือนลักพาจิตของเราไปเลย เพราะว่าจิตของเราสติยังอ่อน แต่พอสติของเราไวขึ้นๆ มันจะมีกำลัง แล้วมันก็จะรู้ทัน ไม่ปล่อยให้ความคิดมันหลอกลวง หรือลักพาจิตของเราไป มันจะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวได้ไวขึ้น
เพราะฉะนั้นใหม่ๆ อย่าเพิ่งไปสนใจว่าเราจะรู้ทันความคิดหรือเปล่า ก็ขอให้เพียงแต่ว่าในขณะที่ทำอยู่มันรู้สึกที่กาย แต่ว่าก็อย่าถึงกับไปเพ่ง ไปเพ่งที่เท้า ไปเพ่งที่มือ อันนั้นก็ไม่ใช่ มันไม่เป็นธรรมชาติ มันจะไม่ใช่รู้สึกตัวทั่วพร้อม มันจะเป็นความรู้สึกเฉพาะจุด
และคนเราใช่ว่าการรู้กายจะเป็นเรื่องง่าย การรู้กายมันก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน มีแม่คนหนึ่งเป็นแม่ลูกอ่อน ลูกก็อายุประมาณสักปีหนึ่งได้ หนักก็ประมาณ 2-3 กิโล ปกติแกก็เลี้ยงลูกด้วยการให้ลูกนั่งอยู่ตรงรถ รถลากที่ช่วยให้เด็กสามารถจะเดินได้
แต่วันหนึ่งแกก็เลี้ยงลูก ขณะที่ดูโทรศัพท์มือถือไปด้วย มือขวาดูโทรศัพท์มือถือ ส่วนขาขวานี่ก็ขยับเข้าขยับออก ขยับอะไร ขยับรถที่ให้ลูกนั่ง ดูเพลินๆ สักพักมองมาที่รถ ลูกหายไปไหน หาลูกไม่เจอ ตกใจ ลูกหายไปไหน เมื่อกี้ยังนั่งอยู่เลย
แกก็เดินตามหาลูกทั่วห้องเลย หาลูกไม่เจอ สักพักก็สังเกตว่ามือข้างซ้ายนี่มันหนักๆ ปรากฏว่าอุ้มลูกเอาไว้ด้วยมือข้างซ้าย อุ้มลูกแต่ไม่รู้ว่าอุ้มลูก นึกว่าลูกหาย แล้วลูกก็ไม่ใช่ว่าเบานะ เป็นกิโล แล้วดีนะที่ขณะที่ตามหาลูกทั่วห้อง ไม่ปล่อยมือ ถ้าปล่อยมือนี่ลูกตกลงมา หัวก็กระแทกพื้น ลูกอาจจะบาดเจ็บ นี่ขนาดอุ้มลูกด้วยมือซ้ายแต่ไม่รู้ เพราะอะไร เพราะใจลอย
ฉะนั้นแค่รู้กายมันไม่ใช่ว่าง่าย ถ้าคนเราหลงเข้าไปในความคิด หรือจมอยู่กับโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้สึกตัวขึ้นมา แม้ความรู้สึกทางกายเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระพริบตา กลืนน้ำลาย มันก็รู้ และถ้ารู้แบบนี้ การที่จะรู้ความคิดที่มันละเอียด รู้ทัน รู้อารมณ์ มันก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย แล้วก็ไม่ไปหลงคิด ไม่ไปหลงอยู่ในอารมณ์ เพราะฉะนั้นให้เราจับหลักการปฏิบัติให้ได้ แล้วก็เริ่มต้นจากการมารู้กายก่อน ส่วนรู้ใจนี่เอาไว้ทีหลัง.