พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 28 กันยายน 2565
ที่ประเทศจีนเมื่อสัก 100 - 200 ปีก่อน ชายคนหนึ่งตาบอด แต่ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ วันหนึ่งก็เดินไปเยี่ยมเพื่อน ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน แต่ก็เดินไกลสักหน่อย แล้วชายตาบอดคนนี้ก็เดินได้โดยที่ไม่ต้องใช้ไม้เท้า ถึงบ้านเพื่อนก็สนทนากับเพื่อนหลายเรื่องหลายราว คุยกันถูกคอ จนกระทั่งค่ำ ก็ได้เวลาที่ชายตาบอดจะกลับบ้าน แต่ก่อนที่แกจะเดินออกจากบ้าน เพื่อนก็ยื่นโคมให้
โคมนี่เป็นคนที่จุดไฟให้แสงสว่างในเวลากลางคืน
ชายตาบอดก็บอกว่าฉันไม่ต้องใช้โคมหรอก เดินได้โดยที่ไม่เห็นอะไร ไม่ต้องใช้แสงสว่างก็เดินได้ ทางเส้นนี้ฉันก็คุ้นแล้ว เพื่อนก็บอกว่าที่ให้โคมนี่ ก็เพื่อเวลาคุณเดินกลับบ้านตามตรอกซอกซอย มันจะได้ให้แสงสว่าง คนที่เขาเดินสวนคุณมา เขาเห็นทาง เขาก็จะได้ไม่เดินชนคุณไงล่ะ เหตุผลนี้ก็ทำให้ชายตาบอดถือโคมกลับบ้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่จำเป็นต้องใช้โคมนั้นเลย
ระหว่างที่เดินกลับบ้านก็มีคนหลายคนเดินสวน เพราะมันเป็นตรอกซอกซอยที่มีคนเดินผ่านไปผ่านมาอยู่ แต่ว่าพอเดินมาพักหนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ชายคนหนึ่งเดินชนชายตาบอดอย่างแรงเลย จนล้มเลย ชายตาบอดก็โกรธมาก ก็พูดขึ้นมาว่าแกตาบอดหรือไง แกไม่เห็นหรือโคมที่ฉันถือนี่ ชายคนที่เดินชนชายตาบอดก็บอกว่าขอโทษครับ ขอโทษจริงๆ แต่โคมที่พี่จุดนี่มันดับไปนานแล้วนะ เรื่องก็จบเท่านี้นะ ฟังแล้วเราได้แง่คิดอะไรไหม
เรื่องนี้อาจจะเป็นนิทานนะ แต่มันไม่ใช่นิทานประเภทว่าสอน บอกเราในตอนท้ายว่านิทานเรื่องนี้สอนอะไร แต่ว่ามันจบลงโดยให้เราคิดเอง ฟังเรื่องนี้แล้วเราได้แง่คิดอะไร
แง่คิดอย่างหนึ่งก็คือว่าในการดำเนินชีวิตของคนเรา เราควรจะคิดถึงคนอื่นด้วย ของบางอย่างเราไม่จำเป็น แต่ว่ามันมีประโยชน์กับคนอื่น ถ้าเรานึกถึงคนอื่น มันก็ไม่ใช่ประโยชน์กับคนอื่นอย่างเดียว มันเป็นประโยชน์กับเราด้วย อย่างชายตาบอด เขาไม่จำเป็นต้องใช้โคมเลย ในการเดินกลับบ้านยามค่ำคืน แต่เพื่อนคะยั้นคะยอให้ถือโคมเพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์ของคนอื่นที่เขาตาดี แล้วเขาต้องใช้แสงสว่างในการเดินสัญจร
การที่ชายตาบอดถือโคม ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์ของคนอื่น แต่สุดท้ายมันก็เป็นประโยชน์กับตัวเอง เพราะถ้าหากว่าคนที่เขาเดินสวนมา เขาเห็นชายตาบอดถือโคม เขาก็ไม่เดินชน ฉะนั้นทีแรกชายตาบอดก็เดินได้สะดวกสบาย ไม่มีใครชน ก็เพราะว่าคนอื่นเขาเห็นแสงสว่างจากโคมนั้น
อันนี้เขาสอนว่าคนเราควรจะนึกถึงผู้อื่น ของบางอย่างแม้เราไม่จำเป็น แต่ว่ามันเป็นประโยชน์กับผู้อื่นก็ควรทำ หรือบางอย่างอาจจะไม่สะดวกกับเรา แต่ว่ามันช่วยคนอื่นได้ อย่างเช่นการถือโคม มันคงไม่สะดวกสบายเท่ากับเดินตัวเปล่า แต่ว่าเมื่อเดินถือโคมแล้ว มันก็เป็นประโยชน์กับคนที่เดินสวนมาด้วย แต่สุดท้ายมันก็กลับมาเป็นประโยชน์กับชายตาบอดนั่นเอง อย่างที่พูดไปแล้ว ไม่มีใครมาเดินชน
ในชีวิตของคนเรา เราควรจะคิดถึงคนอื่น ฉะนั้นการที่สังคมหรือบ้านเมืองมันน่าอยู่ ก็เพราะผู้คนไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว การกระทำบางอย่าง เราทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อผู้อื่น ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเรากินอะไร มันมีขยะอยู่ในมือ จะเป็นถุงพลาสติก จะเป็นนมกล่อง หรือจะเป็นขวด ขวดน้ำที่กลายเป็นขยะเรียบร้อยแล้ว ทำไมเราควรจะถือขยะนั้นไว้กับตัว จนกว่าจะเห็นถังขยะจึงหย่อนลงถังขยะ
ที่จริงถ้าเรานึกถึงแต่ตัวเอง เราก็แค่โยนมันทิ้งขยะนั้นข้างทาง สบายดีนะ หลายคนก็ทำอย่างนั้น คนเราถ้าคิดถึงแต่ตัวเอง เราไม่เก็บมันไว้กับตัว แล้วก็รอจนกว่าจะเดินเห็นถังขยะ แต่คนจำนวนมากเขาก็เก็บขยะเอาไว้ เพื่อที่จะไปทิ้งลงในถังขยะ
อันนี้เพราะอะไร เพราะนึกถึงผู้อื่น นึกถึงคนที่เก็บขยะบ้าง หรือนึกถึงสังคมส่วนรวม ว่าถ้าเราทิ้งขยะไม่เป็นที่ มันก็จะเลอะเทอะ ไม่น่าดู บางคนก็คิดถึงพนักงานเก็บขยะ หรือคิดถึงพนักงานทำความสะอาด ก็เลยช่วยเขาด้วยการทิ้งขยะเป็นที่ ทั้งที่ถ้าทิ้งข้างทาง กินเสร็จ ดื่มน้ำเสร็จ ดูดนมกล่องเสร็จ ทิ้งไปเลยนี่มันสบายกว่า แต่เป็นเพราะเราคิดถึงคนอื่น เราจึงเอาไปทิ้งเป็นที่
หรือการปิดไฟ บางทีเราก็เห็นไฟเปิดอยู่ที่ห้องน้ำ หรือที่ห้องที่โล่ง เราก็อุตส่าห์เดินไป แทนที่เราจะกลับบ้านเลย เราก็เดินไปที่ห้องน้ำเพื่อที่จะปิดสวิตช์ไฟ เรายอมเสียเวลาเพื่ออะไร ก็เพื่อส่วนรวม หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเราอยากจะช่วยพนักงานที่เขาดูแลสถานที่นั้น ไม่ต้องเหนื่อยกับการวิ่งการเดินตามปิดไฟ ที่วัดเราเป็นระเบียบ ก็เพราะผู้คนจำนวนมากคิดถึงผู้อื่นด้วย ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง และสุดท้ายมันก็เป็นประโยชน์กับตัวเรา เพราะว่าพอสถานที่มันสะอาดหมดจด มันก็สบายหูสบายตา น่าอยู่
แต่ว่านิทานเรื่องนี้เขาสอนมากกว่านั้น ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เราควรจะคิดถึงผู้อื่น มองไปที่ประโยชน์ของคนอื่นก่อนตัวเอง แต่เวลามีปัญหาขึ้นมา ก่อนที่จะไปโทษคนอื่น ต้องกลับมามองที่ตัวเองก่อน ไม่เหมือนกันนะ ยามปกติเรามองไปที่คนอื่นก่อน นึกถึงประโยชน์ของคนอื่นก่อน ประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ทีหลัง แต่ว่าเวลามีปัญหา เราควรมองที่ตัวเองก่อนที่จะไปโทษคนอื่น
อย่างชายตาบอดนี่ พอมีคนมาชน แกก็ว่าชายคนนั้นเลยทีเดียว ว่าตาบอดหรือไง มาชนเขา แต่เขาไม่รู้ว่าที่เขาถูกชน เป็นเพราะว่าโคมของเขามันดับไปแล้ว ชายคนนั้นก็เลยมองไม่เห็น แต่ชายตาบอดจะรู้ได้อย่างไร ว่าโคมของตัวเองนี่ดับไปแล้ว อันนี้เหมือนกับ สอนเป็นนัยว่าคนที่โทษคนอื่น แทนที่จะมองมาที่ตัวเอง จะว่าไปก็เหมือนกับคนตาบอด คือมองไม่เห็นความบกพร่อง ความผิดพลาดของตัวเอง อันนี้ก็รวมถึงคนตาดีด้วยนะ คนตาดีถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ไปโทษคนอื่น แต่มองไม่เห็นความบกพร่อง ความผิดพลาดของ ตัวเอง ก็ไม่ต่างจากคนตาบอดเหมือนกัน
อันนี้ก็เป็นข้อคิดที่ดีมากเลย ในยามปกติเราควรนึกถึงผู้อื่น มองไปที่คนอื่นก่อน แต่เวลามีปัญหาควรจะกลับมามองที่ตัวเอง ก่อนที่จะไปโทษคนอื่น อันนี้จะเรียกว่าเป็นวิสัยของนักปฏิบัติธรรมก็ได้ จะเรียกว่าเป็นวิสัยของผู้ใฝ่ธรรม ซึ่งต่างจากวิสัยของชาวโลกทั่วๆ ไป ชาวโลกทั่วไปเขามองตัวเองก่อน เขามองถึงประโยชน์ตัวเองก่อน คิดถึงตัวเองก่อน ส่วนคนอื่น ประโยชน์ของคนอื่นเอาไว้ทีหลัง แต่เวลามีปัญหาขึ้นมา ก็โทษคนอื่นก่อนเลย แทนที่จะกลับมามองที่ตัวเอง
บ่อยครั้งเวลางานมีปัญหา เราจะเห็นคนก็จะไปโทษคนโน้นคนนี้ ว่าเป็นเหตุทำให้งานมีปัญหา ทำให้งานตัวเองมีปัญหา เจ้านายไม่ดี เพื่อนร่วมงานไม่ได้เรื่อง บางทีก็โทษดินฟ้าอากาศ แต่ว่าสิ่งที่ไม่ได้มองคือความผิดพลาดของตัวเอง เวลานัดเพื่อน เพื่อนไม่มาตามนัดตามเวลา ก็โกรธเพื่อน พอเจอเพื่อนก็ไปด่าเพื่อนเลย ว่าทำไมนัด 4 โมงเย็น ทำไมไม่มา อุตส่าห์รอ
เพื่อนบอกอ้าวจะไปรู้เหรอ นึกว่านัด 4 โมงเช้า ผมก็อุตส่าห์ไปรอตั้งแต่ 4 โมงเช้า คือ 10 โมง ปรากฏว่าคนนัดบอกเวลาไม่ละเอียด แทนที่จะบอก 4 โมงเย็น ก็ไปพูดว่า 4 โมง เพื่อนก็เลยนึกว่า 4 โมงเช้า เป็นความผิดพลาดของคนนัดแท้ๆ แต่ว่าก็ไปด่าเพื่อนเสียแล้ว ตัวเองพูดไม่ละเอียด ก็ไปโทษเพื่อน ว่าเพื่อนไม่รับผิดชอบ เพื่อนไม่เอาใจใส่
อันนี้เรียกว่าไปโทษคนอื่นก่อนที่จะมามองที่ตัวเอง ถ้าจะให้ดีก็ควรจะถามเขาก่อนว่าทำไมถึงไม่มาตามนัด พอรู้คำอธิบายของเพื่อน ก็อาจจะพบว่าเป็นเพราะเราผิดเองนะ เราพูดไม่รัดกุมเพียงพอ ที่จริงมันไม่ใช่เฉพาะเวลามีความผิดพลาด หรือเวลามีปัญหาในงานการ เวลามีความทุกข์ก็เหมือนกัน เวลามีความทุกข์ก่อนที่จะไปโทษใคร ต้องกลับมามองที่ตัวเองก่อน แต่คนส่วนใหญ่เวลามีความทุกข์ ไปโทษข้างนอก ไปโทษเสียงดังจากข้างนอก ไปโทษการกระทำของคนนั้นคนนี้ แต่ลืมหรือไม่ได้กลับมามองที่ตัวเอง ว่าเป็นที่เราหรือเปล่า
เวลามีความทุกข์ใจ สาเหตุหลักๆ มันล้วนแล้วแต่อยู่ที่ตัวเองทั้งนั้นแหละ ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น ทุกข์กายอาจจะเป็นเพราะของแหลมมาแทง อาจจะเป็นเพราะเชื้อโรค เพราะอาหารเป็นพิษ หรือเพราะมีคนมาทำร้าย แต่ถ้าทุกข์ใจแล้วนี่ มันน่าจะเกิดจากตัวเอง หรือใจของตัวเองเป็นหลักเลยทีเดียว
เมื่อสัก 40 กว่าปีก่อน หลวงพ่อชาท่านได้รับนิมนต์ให้มาแสดงธรรมที่ประเทศอังกฤษ ตอนนั้นท่านก็มากับลูกศิษย์ที่เป็นพระฝรั่ง เช่นหลวงพ่อสุเมโธ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้สร้างวัดอมราวดีที่อังกฤษ เจ้าภาพก็ให้หลวงพ่อชากับลูกศิษย์พักที่วิหารกลางกรุงลอนดอน ย่านนั้นมีสถานบันเทิง เช่น ผับ บาร์ กลางคืนก็จะมีเสียงดนตรี
สมัยนั้นดิสโก้ก็เริ่มเป็นที่นิยมแล้ว เพราะฉะนั้นเสียงดังก็จะกระหึ่มเลยตอนกลางคืน มาถึงวิหารแฮมสเตทที่หลวงพ่อชาและลูกศิษย์พัก ซึ่งก็พอดีเป็นช่วงที่ท่านพาคนนั่งสมาธิ พระและโยมหลายคนนั่งสมาธิไม่เป็นสุขเลย เพราะเสียงดนตรีมันดัง
แต่หลวงพ่อชาท่านนั่งสมาธิอย่างสงบ เหมือนกับไม่ได้ยินอะไรเลย จนกระทั่งนั่งสมาธิเสร็จ ก็มีโยมซึ่งเป็นฝรั่ง เป็นเจ้าภาพ ก็มาหาท่านแล้วก็บอกขอโทษ ที่เสียดนตรีรบกวนการนั่งสมาธิ หลวงพ่อชาท่านฟังแล้วก็ยิ้ม แล้วท่านก็พูดว่าโยมอย่าไปคิดว่าเสียงดนตรีรบกวนเรา ที่จริงเราต่างหากที่ไปรบกวนเสียงดนตรี
บางคนฟังแล้วก็งงนะ แต่ที่จริงที่ท่านพูดนี่มันเป็นสัจธรรมเลยนะ ที่คนมีความทุกข์ หงุดหงิด เมื่อเสียงมากระทบหู มันไม่ใช่เพราะเสียง แต่เป็นเพราะใจมันไปทะเลาะกับเสียงนั้น ใจมันไปต่อสู้ ไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียงนั้น มันไปผลักไสเสียงนั้น ถ้าเพียงแต่ยอมรับเสียงนั้น มันก็ไม่หงุดหงิด แต่พอใจมันทะเลาะกับเสียง เพราะว่ามีความรู้สึกเป็นลบต่อเสียงนั้น ว่าเป็นเสียงดัง เสียงรบกวน พอใจรู้สึกเป็นลบ มันหงุดหงิดขึ้นมาเลย ความหงุดหงิดจนนั่งสมาธิไม่เป็นสุข เป็นเพราะใจของคนฟัง ที่วางใจไม่ถูกต้องต่อเสียง ถ้าหากว่าเพียงแต่รู้สึกเป็นกลางๆ มันก็ไม่ทุกข์
มีนักปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง แกก็มาปฏิบัติอยู่ที่สำนักหรือวัดแห่งหนึ่ง ก็ค้างคืนอยู่ประมาณ 2-3 คืน คืนแรกเลย พักเสร็จตื่นเช้าขึ้นมา เจ้าอาวาสก็ถามว่า เป็นยังไง หลับดีไหม ชายคนนั้นก็บอกว่าหลับไม่ค่อยดี โดยเฉพาะช่วงแรกๆ เพราะว่าเสียงห่านมันดัง
เสียงห่านมันดัง ตอนกลางคืนนอนไม่ค่อยหลับเลยช่วงแรก แต่ว่านึกขึ้นมาได้ว่าตัวเองพกโทรศัพท์มือถือมา แล้วในโทรศัพท์มือถือก็มีการอัดเทปคำบรรยายธรรมะของครูบาอาจารย์หลายท่าน ก็เลยเอาหูฟังใส่ไว้ในหู แล้วก็ฟัง เปิดเทปธรรมะ เปิดคำบรรยายของครูบาอาจารย์ จนกระทั่งหลับได้ กระทั่งเช้าก็เป็นอันว่าได้พัก ได้หลับดีหน่อยช่วงครึ่งหลัง
สิ่งที่น่าสนใจคือว่า ระหว่างเสียงห่านกับเสียงบรรยาย อะไรดังกว่ากัน ชายคนนั้นบอกว่าหลับไม่ได้ เพราะว่าเสียงห่านมันดัง แต่เสียงบรรยายที่ฟังมันไม่ดังหรือ ที่จริงมันดังกว่าเสียงห่าน เพราะว่าเอาหูฟังใส่เข้าไปในรูหู อย่างไรมันดังกว่าเสียงห่านอยู่แล้วล่ะ แต่ทำไมหลับ ก็เพราะใจมันยอมรับเสียงบรรยายธรรมะ หรือว่ารู้สึกดีกับเสียงนั้น ขณะที่เสียงห่านนี่ ใจมองว่าเป็นเสียงรบกวน การที่ใจไปตีค่าว่าเสียงห่านเป็นเสียงรบกวน ก็ทำให้เกิดอาการต่อสู้ผลักไสกับเสียงนั้น
เหมือนอย่างที่หลวงพ่อชาท่านว่าไปทะเลาะกับเสียง ส่วนเสียงบรรยายธรรมะที่ฟังทางโทรศัพท์มือถือ ใจมันยอมรับ ใจมันรู้สึกเป็นบวก เลยไม่รู้สึกว่าดัง ทั้งที่ถ้าพูดถึงเดซิเบลแล้ว มันดังกว่าเสียงห่านอยู่แล้วแต่ก็เป็นอันหลับได้ ฉะนั้นที่หลับไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเสียงดัง ไม่ใช่เพราะเสียงห่าน แต่เพราะใจมันไปทะเลาะกับเสียงห่าน ในขณะที่เสียงบรรยายใจไม่ได้ทะเลาะ ใจไปเคลิ้มคล้อยกับเสียงบรรยายธรรมเลยหลับ
นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ในชีวิตของคนเรา เวลามีความทุกข์ ทุกข์ใจ เรามักโทษข้างนอก โทษเสียงดนตรี โทษเสียงห่าน โทษคนนั้นคนนี้ แต่นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้กลับมาดูใจของเรา ไม่ได้กลับมาสังเกตปฎิกริยาของใจเรา ฉะนั้นถ้าเรากลับมาสังเกต ก็จะพบว่ามันเป็นเพราะใจของเราต่างหาก ที่เป็นตัวการทำให้เกิดทุกข์
ฉะนั้นถ้าเกิดว่าเรามีทุกข์ หรือมีปัญหาขึ้นมาในใจ แล้วเราไปมองออกนอกตัว ไม่กลับมามองที่ตัว ก็ไม่ต่างจากชายตาบอด ที่ไปต่อว่าคนที่มาชนตัวเอง ทั้งที่โคมที่ตัวเองถือ ไฟมันดับไปนานแล้ว แต่มองไม่เห็น วิถีธรรมกับวิถีโลกมันต่างกัน วิถีโลก มีปัญหาอะไรก็โทษคนอื่น แต่เวลาสบายก็คิดถึงแต่ตัวเอง ส่วนวิถีธรรม เวลาสบายๆ เวลาปกติก็นึกถึงคนอื่น แต่เวลามีปัญหาก็กลับมองที่ตัวเองก่อน
แล้วที่จริงถ้าเราดู มันสะท้อนให้เห็นว่า วิถีโลกเขาเน้นในเรื่องการเปลี่ยนแปลง จัดการกับภายนอก แต่ว่าวิถีธรรมหรือวิถีของผู้ใฝ่ธรรม จะเน้นที่การเปลี่ยนแปลงที่ตัวเอง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนใจของตัว เวลามีความทุกข์ก็ลองปรับเปลี่ยนใจ
เหมือนมีผู้ชายคนหนึ่งที่เขานั่งสมาธิทุกเช้าเป็นประจำ แล้วเขาก็นั่งได้ดีด้วย แต่วันหนึ่งปรากฏว่าพอนั่งไปได้สักครู่หนึ่ง ก็มีเสียงค้อนดัง ทีแรกก็เสียงค้อน ตอนหลังก็เสียงเลื่อยยนต์ เพราะมีการก่อสร้างใกล้ๆ ตอนที่เสียงค้อน เสียงเลื่อยยนต์มากระทบหู ใจนี่ก็กระเพื่อมเลย แต่เขามีสติเห็น สติรู้ทัน พอมีสติรู้ทัน ใจก็สงบ แต่พอเผลอ ใจก็กระเพื่อม ทุกครั้งที่เสียงเลื่อยยนต์ดังกระทบหู แล้วมันก็สงบลงพอมีสติรู้ทัน เป็นอย่างนี้พักหนึ่ง
เขาก็เลยลองไปพิจารณาที่เสียงเลื่อยยนต์ พอพิจารณาไปก็สังเกตว่าบางครั้งมันก็กระชากกระชั้น บางครั้งมันก็ลากยาว บางครั้งเสียงสูง บางครั้งเสียงต่ำ บางครั้งเสียงดัง บางครั้งเสียงเบา ดูๆไปแล้วมันเหมือนกับเสียงเพลงเลยนะ เพลงประเภท heavy metal พอทันทีที่มองว่ามันเป็นเสียงเพลง ใจก็สงบเลย สงบประเภทที่ว่าเพลินเลย
ที่จริงเพลินก็ไม่ดี แต่เขาก็อดฉุกคิดไม่ได้ เอ๊ะ เมื่อกี้ใจยังกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง แถมมีความหงุดหงิดด้วย ตอนนี้ทำไมใจมันสงบ มีบางช่วงเสียงเลื่อยยนต์มันหายไป เขาอยากให้เสียงมันดังกลับมาใหม่ เขาก็เลยแปลกใจ ทีแรกเราอยากให้เสียงมันดับไปหายไป แต่ทำไมตอนนี้อยากให้เสียงมันดังใหม่ เสียงมันก็ยังดังเหมือนเดิม แต่ทำไมความรู้สึกเปลี่ยนไป
ที่ความรู้สึกเปลี่ยนไปเพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้มองว่ามันเป็นเสียงดังอีกต่อไป แต่มองว่ามันเป็นเสียงเพลง พอมองว่าเป็นเสียงเพลง ความรู้สึกมันเป็นความรู้สึกในทางบวก ใจก็สงบเลย อันนี้มันก็ชี้ให้เห็นว่าความสงบมันอยู่ที่ใจ มากกว่าอยู่ที่สิ่งภายนอก และที่หงุดหงิด ที่ไม่สงบ มันไม่ใช่เพราะสิ่งภายนอก แต่เป็นเพราะใจ ใจรู้สึกลบกับเสียง มันก็กระเพื่อม มันก็หงุดหงิด ไม่สงบ ไม่เป็นสุข แต่พอใจรู้สึกเป็นบวก ความรู้สึกก็เปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม
ฉะนั้นแทนที่จะไปตะโกนโวกเวกว่าให้หยุดส่งเสียง ให้เลิกตอกตะปู ให้เลิกใช้เลื่อยยนต์ มันจะดีกว่าหรือเปล่า ถ้ากลับมาดูที่ใจของเรา กลับมาสังเกตที่ใจของเรา หรือกลับมาปรับใจของเรา ใจของเรานี่อาจจะเป็นปัญหา
อันนี้คล้ายๆ กับเมื่อ 2-3 วันก่อน มีพระรูปหนึ่งเล่าให้ฟัง ได้ยินเสียงตอนเช้าๆ ที่วัด ตอนสายๆ วันกรรมกร มันมีเสียงเครื่องยนต์ดัง ตอนนั้นก็คิดว่าเป็นเสียงมอเตอร์ไซค์ ทันทีที่คิดว่าเป็นเสียงมอเตอร์ไซค์ ไม่พอใจขึ้นมาทันทีเลย มันมาขี่มอเตอร์ไซค์อะไรกันตรงนี้ ในวัด
แต่สักประเดี๋ยวเดียวฉุกขึ้นมาว่าเอ๊ะ มันอาจจะไม่ใช่เสียงมอเตอร์ไซค์ก็ได้ อาจจะเป็นเสียงเลื่อย เลื่อยที่เขากำลังตัดไม้ที่โค่น เพราะว่าก่อนหน้านั้นมีไม้โค่น ทันทีที่นึกว่าเป็นเสียงเลื่อย ที่ใช้ตัดไม้ที่ล้มลง ใจมันสงบเลย กลับอนุโมทนาด้วย เขามาช่วยกันทำงาน เสียงก็เสียงเดิม แต่ทำไมทีแรกหงุดหงิด เพราะไปคิดว่าเสียงมอเตอร์ไซค์ และคิดต่อไปว่ามันมาขี่อะไรแถวนี้ ในวัด แต่พอมองว่าเป็นเสียงเลื่อยที่ใช้เลื่อยไม้ที่ล้ม ความรู้สึกมันเปลี่ยนไป เพราะเกิดความรู้สึกว่าเขากำลังทำหน้าที่ของเขา
ฉะนั้นสุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจแท้ๆ เลย หงุดหงิดหรือว่าสงบ อยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่เสียง อยู่ที่ว่าเราจะมองมันอย่างไร ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจตรงนี้ สังเกตใจของเรา เราจะพบว่าจะไปแก้ทุกข์ก็ต้องแก้ที่ใจนั่นแหละ ไม่ต้องไปแก้ที่คนอื่น เป็นเพราะใจเราวางไว้ผิด มันจึงทุกข์ มันจึงเกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ แต่พอเราปรับใจ เปลี่ยนมุมมอง ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป.