พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 27 กันยายน 2565
คนเราเวลาอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน บางครั้งจะมีปัญหาแบบนี้ คือมีบางคนกินแรง กินแรงของเพื่อนๆ มีคนสงสัยว่า การกินแรงอะไรแบบนี้ ผิดศีลหรือเปล่า
ถ้าหมายถึงศีล 5 ก็คงไม่ผิดนะ ถ้าหากว่าคนที่กินแรงเขาไม่โกหก เช่นรับปากแล้วไม่ทำ หรือว่าอ้างเหตุผลที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา ว่าไม่สบาย กำลังมีงานยุ่งเลย ช่วยงานเพื่อนไม่ได้ หรือช่วยงานส่วนรวมไม่ได้ บางทีก็หายหัวไปเลย ถ้าแบบนี้ก็ผิดศีล ผิดศีลข้อมุสา
แต่ถ้าเกิดว่าไม่ได้โกหก เพียงแต่ว่าไม่ยอมที่จะช่วยเหลือเพื่อนๆ ทั้งๆที่ตัวเองมีหน้าที่ อย่างนี้ถึงแม้ว่าจะไมไ่ผิดศีล 5 แต่ว่าผิดศีลในความหมายที่กว้าง ศีลแปลว่าการประพฤติที่ถูกต้องดีงาม โดยเฉพาะทางกายวาจา
ศีลอย่าไปคิดว่ามีแค่ศีล 5 ศีลในความหมายที่กว้างไปรวมถึง การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรืออย่างน้อยก็ไม่เอาเปรียบ ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกว่าผิดศีล ถึงแม้จะไม่ใช่ศีล 5 ก็ตาม แต่ที่จริงแล้วถึงแม้ไม่ผิดศีล มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนมี 4 ประเภท ประเภทแรกคือ ไม่ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ประเภทที่สอง ทำประโยชน์ตนไม่ทำประโยชน์ท่าน ประเภทที่สาม ไม่ทำประโยชน์ตนแต่ว่าทำประโยชน์ท่าน ประเภทที่สี่ ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ประเภทแรกแย่ที่สุด คือไม่ทำทั้งประโยชน์ตนและไม่ทำทั้งประโยชน์ท่าน คนที่กินแรงเพื่อนก็จัดอยู่ในคนประเภทแรก คืองานส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นงานของวัด งานของโรงเรียน จะเป็นงานของบริษัท หรือหน่วยงานราชการ ตัวเองมีหน้าที่แต่ไม่ทำ บ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง อันนี้เป็นลักษณะของการกินแรง
อันนี้เรียกว่าไม่ทำประโยชน์ท่านหรือย่อหย่อน แล้วขณะเดียวกันการทำเช่นนั้นก็ถือว่าไม่ทำประโยชน์ตนด้วย แถมเป็นการบั่นทอนประโยชน์ตนด้วย บั่นทอนอย่างไร คือทำให้ตัวเองไม่เป็นที่รัก เป็นที่นับถือเป็นที่เคารพของผู้คน ใครที่เจอเพื่อนที่ชอบกินแรง เขาก็ไม่อยากคบหา
ส่วนคนที่ชอบกินแรง เวลาเดือดร้อนไปขอความช่วยเหลือจากใคร เขาก็ไม่อยากจะช่วยเหลือ เจ็บป่วยก็ไม่มีใครไปเยี่ยม บางทีเวลามีงานศพพ่อแม่ตาย ก็ไม่มีใครอยากไปช่วยหรือไปร่วมงาน อันนี้พูดง่ายๆ คือเสียเครดิต ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าทำให้เครดิตเสียไป คนเราถ้าเสียเครดิตก็ทำให้บั่นทอนประโยชน์ตนได้
แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือ คนที่กินแรงก็เท่ากับว่าเป็นการปล่อยให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำจิตใจ ถ้าเราปล่อยให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำจิตใจ ความเกียจคร้านครอบงำจิตใจ ก็หาความสุขความเจริญได้ยาก เพราะว่าพอมีความเกียจคร้าน พอมีความเห็นแก่ตัวแล้ว ก็ไม่คิดที่จะพึ่งตัวเอง แล้วแถมพึ่งตัวเองไม่ได้ด้วย เพราะคนเราจะพึ่งตัวเองได้ต้องมีความเพียร
แต่คนที่เกียจคร้านเพราะว่าชอบกินแรงคนนี่ ไม่มีทุนคือความเพียรที่จะเป็นเพื่อนเป็นที่พึ่งได้ ฉะนั้นก็ยากที่จะประสบความเจริญ แถมประสบความทุกข์ได้ง่ายด้วย เพราะเห็นแก่ตัว จิตที่คิดจะเอาได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ มีแต่ความทุกข์ เรียกร้องต้องการอยู่เรื่อย เรียกว่าอยู่ร้อนนอนทุกข์ อันนี้เรียกว่าเป็นการบั่นทอนประโยชน์ตน ไม่ใช่แค่ทำไม่ทำประโยชน์ตนเท่านั้น แต่ว่าบั่นทอนประโยชน์ตน แล้วไม่ทำประโยชน์ท่าน
อันนี้ในส่วนของเพื่อนที่เหลือ จะทำอย่างไรเวลาเจอคนบางคนกินแรง ในหน่วยงาน ในองค์กร อย่างแรกที่ต้องทำหรือควรทำ คือรักษาใจไม่ให้ทุกข์ มีคนเอาเปรียบเราแล้ว เท่านี้ก็แย่พอแล้ว ถ้าเราปล่อยใจให้ทุกข์ด้วยนี่ ถือว่าซ้ำเติมตัวเอง เมื่อถูกเอาเปรียบแล้วอย่างน้อยก็รักษาใจไม่ให้ทุกข์
อันนี้ที่จริงก็เป็นหลักสำหรับเวลาเจอเหตุการณ์ต่างๆด้วย เช่นเจ็บป่วย ป่วยแต่กายใจไม่ป่วย เงินหายของหาย ก็หายแต่ของแต่ใจไม่หายใจไม่เสีย
อย่างแรกที่ควรทำเลย เวลาเจอเหตุการณ์ที่ไม่ถูกต้อง เจอบุคคลที่ไม่น่ารักคือ หนึ่ง รักษาใจไม่ให้ทุก อันนี้เรียกว่าเป็นการรักษาประโยชน์ตน ถึงแม้ว่าเราจะทำงานเหนื่อยมากขึ้นหรือทำงานมากขึ้น เพราะว่าถูกกินแรง แต่ว่าให้มันเหนื่อยแต่กาย แต่ใจไม่เหนื่อย
เมื่อสิบกว่าปีก่อนมีรายการสารคดีรายการหนึ่งของ ThaiPBS ชื่อพลเมืองเด็ก เขาเอาเด็กประมาณ 3-4 คน มาออกรายการทุกครั้ง บางทีก็เด็กเล็ก 8-9 ขวบ บางทีก็เด็กวัยรุ่นหน่อย 12-13 เพื่อมาดูว่าเด็กว่าเด็กเขาทำงานร่วมกันอย่างไง เขาแก้ปัญหาอย่างไง เวลาเจออุปสรรค
คราวหนึ่งก็เอาเด็กประมาณ 12-13 จำนวน 3 คน มาร่วมรายการ มีผู้หญิง 1 ผู้ชาย 2 กิจกรรมอันหนึ่งที่ให้ทำคือ ขนของขึ้นรถไฟ รถไฟมีเวลาออกที่แน่นอน เพราะฉะนั้นต้องรีบขน แต่บังเอิญบ่ายวันนั้นสมจิตร จงจอหอ ขึ้นชกมีการถ่ายทอดสด สมจิตรเป็นนักชกเหรียญทองโอลิมปิก หลายคนจงคงจำได้
แล้วพอมีการถ่ายทอดสด เด็กชาย 2 คนก็ทิ้งงานไปดูการถ่ายทอดสดที่ร้านกาแฟข้างสถานี ปล่อยให้เพื่อนซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงขนของคนเดียว เด็กคนนี้ขนของด้วยความกระตือรือร้น เพราะว่ารถไฟใกล้จะออกแล้ว
พิธีกรเห็นก็เลยไปถามว่า หนูคิดยังไงที่เพื่อนทิ้งงานไปดูสมจิตรชก เด็กตอบว่า หนูก็ไม่คิดอะไร เพราะว่าหนูไม่ใช่เป็นแฟนสมจิตร เพื่อนเป็นแฟนสมจิตร นานๆจะเห็นสมจิตรขึ้นชก แต่หนูไม่สนใจ หนูก็เลยทำงานของหนูไป
พิธีกรถามต่อไปว่า แล้วหนูไม่โกรธ ไม่คิดจะด่าว่าเขาเหรอ ที่เขาทิ้งงานให้หนูทำงานคนเดียว เด็กตอบดีนะ เด็กตอบว่า หนูขนของขึ้นรถไฟหนูก็เหนื่อยอย่างเดียว ถ้าหนูไปโกรธไปด่าว่าเขาด้วย หนูก็เหนื่อยสองอย่าง แล้วเด็กคนนี้ก็เลือกที่จะเหนื่อยอย่างเดียว
ถ้าเป็นเรา เราจะเหนื่อยกี่กี่อย่าง เหนื่อยอย่างเดียวหรือสองอย่าง เหนื่อยสองอย่างคือ เหนื่อยกายและเหนื่อยใจ แต่เด็กคนนี้รู้ว่า ในเมื่อเหนื่อยกายแล้วก็อย่าให้เหนื่อยใจ แล้วเด็กรู้ว่าเหนื่อยใจเพราะอะไร เหนื่อยใจเพราะโกรธ เพราะบ่น
คนเราถ้าหากว่ามีใครมากินแรง แล้วเราบ่นเราโกรธเขา เราเหนื่อยสองอย่าง อันที่หนึ่งคือ เราทำงานมากกว่าเดิม อันที่สอง เราทุกข์ใจ ความโกรธมันเผาลนใจ ฉะนั้นคนที่ฉลาด คนที่มีปัญญา เขาจะเหนื่อยอย่างเดียวเมื่อเจอแบบนี้ คือเหนื่อยแต่กาย ทำงานหนัก ทำงานเพิ่ม แต่ใจไม่ทุกข์
อันนี้เป็นสิ่งแรกที่เราควรทำ แล้วถ้าทำอย่างนี้ได้ก็ถือว่า เป็นการรักษาประโยชน์ตนหรือทำประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านก็ทำด้วย ทำงานขยันขันแข็ง ประโยชน์ตนก็รักษาเอาไว้ ด้วยการรักษาใจไม่ให้ทุกข์
อย่างนี้พระพุทธเจ้าสรรเสริญ บุคคลที่ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน พระพุทธสรรเสริญว่า เป็นบุคคลที่ประเสริฐที่สุด ในบรรดาบุคคล 4 ประเภท แต่ถ้าเกิดว่าเราทำไปบ่นไป ทำไปบ่นไป แสดงว่าเราทำประโยชน์ท่าน แต่ว่าไม่รักษาประโยชน์ตน ถือว่ายังไม่ดีที่สุด อันนี้เรียกว่ารู้จักรักษาใจ
อย่างไรก็ตามเมื่อเรารักษาใจหรือทำจิตแล้ว ควรจะทำกิจด้วย อย่างเช่นเพื่อนเขากินแรง อาจจะทำให้งานส่วนรวมเสียหาย หรือว่าไม่เสร็จทันเวลา เราควรจะมีหน้าที่ไปทักท้วง ไปตักเตือน ไปแก้ไขเขา
แต่อย่าไปด่าว่าเขา เพราะถ้าด่าว่าเขา เราเองก็ทุกข์ แล้วก็อาจแถมจะสร้างปัญหาตามมา ไม่ใช่กับเพื่อนอย่างเดียว กับส่วนรวมด้วย พอไปด่าว่าเขาก็เกิดการเรรวนในกลุ่มเลย เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งเหล่า รวนไปหมด อย่างนี้เราต้องรู้จักพูด รู้จักท้วง
แต่ว่าบางคนพูดไปท้วงไปก็ไม่สนใจ ก็ต้องมีอุบาย อย่างเช่นถ้าหากว่าหาทางรู้จักชมเขาบ้าง คนบางคนเขาขี้เกียจเพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่มีคุณค่า ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าของงาน แต่ถ้าหากว่าได้รับคำชมจากเพื่อน แม้เขาทำนิดทำหน่อยก็ชม คนบางคนเกิดกำลังใจ
คนที่เหลือขอ เกียจคร้าน การเรียนไม่สนใจ แต่พอครูชม เริ่มมีกำลัง เริ่มมีกำลังใจที่จะขยันเรียนขึ้นบ้าง อันนี้มีตัวอย่างเยอะเลยเคยเล่าไปแล้ว อันนี้บางทีพอเพื่อนๆชม แม้ว่าเขาจะทำได้ไม่ถึงมาตรฐาน แต่ชมหน่อย เขาอาจจะมีกำลังใจ ความไฝ่ดีในใจเขาก็อาจจะมีกำลังเหนือกว่าความเห็นแก่ตัว
อันนี้พูดไปแล้วว่า คนเรามีความใฝ่ดีและความเห็นแก่ตัวหรือว่าเจ้าตัวร้าย เราต้องเพิ่มพลังให้กับความใฝ่ดี แล้วนอกจากนั้นบางที่การเป็นเพื่อนเขา คุ้นเคยกับเขา สนิทสนมกับเขา พอชวนพอขอร้องเขาให้ทำนู่นทำนี่ เขาก็ทำ คนไทยเราก็แปลก ถ้าเพื่อนชวนให้ทำอะไร แม้ไม่อยากทำก็ทำ เพราะว่าเป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าไม่รู้จักกัน พูดอย่างไงก็ไม่สนใจหรอก แต่พอกลายเป็นเพื่อนไปแล้ว ขอร้องยังไงก็ทำ เห็นแก่เพื่อน
อันนี้หลายคนทำแล้วได้ผล คือหันมาเป็นมิตรกับคนแบบนี้ พอเป็นมิตรมากๆเข้า พอขอร้องออกปากอะไร เขาก็เริ่มทำ ทำเสร็จก็ให้กำลังใจ ชม ก็เกิดกำลังใจที่จะทำ จากเดิมที่กินแรง กินแรงมากก็เริ่มกินแรงน้อย แล้วก็ค่อยๆ มีความสุขกับการทำงาน จนกลายเป็นขยันหมั่นเพียร
แต่ทำแล้วบางคนก็เหลือขอ ก็มีนะ วิธีหนึ่งที่หลายคนเขาใช้ได้ผลคือ เลิกคบค้าสมาคมเลย ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกบอยคอต คว่ำบาตร อันนี้พระก็ใช้กับโยม โยมบางคนนี่เหลือขอมากๆ พระคว่ำบาตรเลย ไม่รับบาตร ไม่รับบิณฑบาต ไม่คบค้าสมาคมเลย
อันนี้อาจจะทำให้บางคนสำนึกผิดว่า ถ้าเรากินแรงเพื่อนแล้วจะได้รับโทษแบบนี้แหละ ไม่มีใครคบค้าสมาคม ก็หันมาขยันขันแข็งเพิ่มขึ้น อันนี้เรียกว่าถูกเพื่อนรวมหัวไม่คบค้าสมาคม คว่ำบาตร วิธีนี้ใช้ได้ดี ดีกว่าไปด่า ด่าไปบางทีเกิดเรื่องเกิดราวตามมา
อันนี้เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ที่คนที่มีปัญหาเพื่อนกินแรง ควรจะน้อมเข้ามาปฏิบัติ แล้วก็ดีกับตัวเองด้วย แล้วก็ดีกับส่วนรวมด้วย.