พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 27 กันยายน 2565
วัยรุ่นคนหนึ่งได้กางเกงตัวใหม่จากพี่สาว ตอนที่เห็น แกก็ดีใจมากเลยเพราะว่ากางเกงก็ทรงดี เนื้อผ้าก็ดี แต่พอใส่แล้วชายหนุ่มก็บอกว่ามันหลวม ที่ดีใจก็รู้สึกเสียใจเลย รู้สึกผิดหวัง เขาก็บ่นกระปอดกระแปดอยู่นั่นแหละ ว่ากางเกงมันหลวม บ่นให้พี่สาวฟังด้วยว่า ซื้ออย่างไรทำไมไม่ซื้อให้มันดีกว่านี้
แม่ได้ยินก็เลยบอกลูกชายว่าเอากางเกงมา เสร็จแล้วแม่ก็หายไปเป็นชั่วโมงเลย 2-3 ชั่วโมงได้ เสร็จแล้วกลับมาก็ยื่นกางเกงให้ลูกชาย บอกว่านี่ลองใส่ดูซิว่าพอดีหรือยัง ลูกลองสวมดู คราวนี้ยิ้มเลยนะ พอดีแล้วครับแม่ ขอบคุณแม่ ขอบคุณที่แม่ช่วยแก้กางเกงให้พอดีกับตัวเขา
ที่จริงแม่ไม่ได้ทำอะไรนะ แม่ก็เพียงแต่เอากางเกงไปแล้วก็เก็บไว้ แล้วพอ 2-3 ชั่วโมงต่อมา ก็เอามาคืนให้ลูก แต่ลูกเข้าใจว่าแม่เอากางเกงไปแก้ พอคิดอย่างนั้น เมื่อสวมกางเกงก็เลยรู้สึกว่ามันพอดี ที่จริงกางเกงมันก็ตัวเดิมนั่นแหละ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย
แต่ทำไมความรู้สึกของลูกมันไม่เหมือนกัน ใส่ครั้งแรกนี่บอกหลวม แต่ครั้งที่ 2 บอกพอดี ก็เพราะความคิดของลูกก็คือแม่เอาไปปรับแก้แล้ว แม่เขาเป็นช่างตัดเสื้อตัดกางเกง เชื่อฝีมือแม่ พอคิดว่าแม่เอาไปปรับแก้ ความรู้สึกก็เปลี่ยนไปว่ากางเกงมันพอดี
อันนี้คล้ายๆ กับเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง ไปร้านอาหาร ร้านอาหารนี้ชื่อดังมาก คืนหนึ่งๆมีลูกค้าเป็นร้อยเลย ผู้ชายคนนี้ก็เป็นขาประจำด้วย นั่งสักพักแกก็เรียกบริกรมาบอกว่าอากาศมันเย็น มันหนาว ช่วยไปหรี่ไปปรับแอร์ให้มันเย็นน้อยกว่านี้หน่อย บริกรก็ครับๆ แล้วก็เดินหายไป สักพักก็กลับมา แล้วก็ถามว่าเป็นอย่างไรครับ ตอนนี้พอดีหรือยังครับ ลูกค้าก็บอกว่าอืมใช้ได้แล้ว
ที่จริงบริกรไม่ได้ไปทำอะไรนะ เพราะว่าร้านนี้เขามีระเบียบว่า การปรับแอร์มันไม่ใช่หน้าที่ของบริกร แต่เป็นหน้าที่ของช่างแอร์ ซึ่งปกติแล้วเขาก็ไม่ปรับแอร์กัน เพราะว่ามีลูกค้าเป็นร้อย ตัวอาคารเป็นโถงจะปรับแอร์ตามใจลูกค้าคนใดคนหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็มีระเบียบว่าห้ามปรับแอร์
แต่บริกรก็รู้ว่าถ้าไปเถียงกับลูกค้า หรือปฏิเสธ ก็คงจะมีเรื่องยืดยาว แกก็เลยไม่ได้แย้ง ไม่ได้อธิบายว่าร้านเขาห้ามปรับแอร์ แกก็เพียงแต่หายไปเฉยๆ ส่วนลูกค้านี่เข้าใจว่าบริกรไปหรี่แอร์ เพราะฉะนั้นพอบริกรกลับมา ลูกค้าก็เลยรู้สึกว่าได้มีการปรับแอร์แล้ว ที่เคยรู้สึกว่ามันเย็นมากไป ตอนนี้ก็เลยรู้สึกว่ามันพอดี แต่ที่จริงอุณหภูมิก็เท่าเดิม ทำไมความรู้สึกของลูกค้าคนนี้เปลี่ยนไป เพราะเขาคิดว่ามันมีการปรับแอร์แล้ว พอคิดว่ามีการปรับแอร์แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าอากาศอุณหภูมิพอดีแล้ว
ทั้ง 2 กรณีก็ชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกของคนเรา แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นเรื่องพื้นๆ เช่น ความรู้สึกหลวมคับ พอดี หรือความรู้สึกว่าอากาศเย็นหรือพอดี มันก็ขึ้นอยู่กับความคิดของคนเราด้วย ถ้าคิดว่ากางเกงปรับแก้แล้ว ก็รู้สึกว่ามันพอดี ถ้าคิดว่าบริกรไปหรี่แอร์แล้ว ก็รู้สึกว่าอากาศนี่มันไม่ค่อยเย็นเท่าไหร่แล้ว แล้วมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องความร้อน ความเย็น หรือว่าความรู้สึกว่ากางเกงมันหลวมหรือพอดีเท่านั้น การรับรู้อย่างอื่นของคนเรา ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น มันก็ขึ้นอยู่กับความคิดของคนเราด้วย หรือจะว่าขึ้นอยู่กับจิตใจก็ได้
ฉะนั้นจะพูดก็ได้ว่า คนเราไม่ได้รับรู้โลกตามความเป็นจริง แต่เรารับรู้โลกตามความนึกคิดของคนเรา อันนี้ไม่ใช่เฉพาะความร้อน ความหนาว ความสบาย ความไม่สบาย แต่รวมถึงความมาก ความน้อย ความอร่อย ไม่อร่อย หรือรวมไปถึงความสุข ความทุกข์ด้วย มันอยู่ที่ใจของคนเราแต่ละคนแทบจะล้วนๆ เลยก็ว่าได้
เราคิดอย่างไร เราก็เห็นอย่างนั้น เราคิดอย่างไร เราก็รู้สึกอย่างนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง มาก-น้อย ดี-ไม่ดี ที่เราเห็นจากสิ่งรอบตัว ที่จริงมันขึ้นอยู่กับใจของเรามากเลยทีเดียว หลวงพ่อชาท่านเคยพูดว่าไม้ เช่นกิ่งไม้ ถ้าเราต้องการกิ่งที่ยาวกว่านี้ กิ่งที่อยู่ข้างหน้ามันก็สั้น ถ้าเราต้องการกิ่งที่สั้นกว่านี้ ไม้ที่อยู่ข้างหน้าเราก็ยาว ความสั้นความยาวของกิ่งไม้ มันอยู่ที่ใจเรา ว่าเราต้องการยาวกว่านี้หรือสั้นกว่านี้
ถ้าเราคาดหวังว่าขายของได้กำไร 1 บาทนี่ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แต่ถ้าเกิดได้กำไร 2 บาทก็ถือว่ามาก แต่ถ้าเกิดว่าเราคาดหวัง 10 ล้าน แต่ได้มาแค่ 5 ล้าน 5 ล้านนี่ก็ถือว่าน้อย ความมากหรือน้อยไม่ได้อยู่ที่ปริมาณตัวเลขว่า 2 หรือ 5 ล้าน แต่อยู่ที่ว่าความคาดหวังหรือความต้องการของคนเรา เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่คนเราไม่ค่อยได้ตระหนัก ว่าโลกรอบตัวของเรา รวมไปถึงความสุข ความทุกข์ มันอยู่ที่ใจของเรา แทบจะล้วนๆ เลย
พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จได้ด้วยใจ คำว่าธรรมทั้งหลายก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาเราเศร้า เราก็เห็นท้องฟ้าหมองมัว โลกรอบตัวก็ดูหม่นหมอง แต่ถ้าเราดีใจ โลก บรรยากาศรอบตัวเราก็ดูสว่างไสว ดูสดชื่น ผู้คนก็เบิกบาน
ตรงข้ามกับเวลาเราหม่นมอง เศร้า เราก็เห็นคนรอบตัวเราพลอยเศร้าไปด้วย ถ้าเรากลัว เราเห็นอะไรก็ดูน่ากลัวไปหมด แม้กระทั่งรากไม้ก็นึกว่าเป็นงู เห็นเงาตะคุ่มๆ ก็นึกว่าผีหรือว่าสัตว์ร้าย หรือคนที่ประสงค์ร้ายคอยซุ่มจ้องมองอยู่ เสียงร้องของสัตว์ ก็กลายเป็นเสียงโหยหวนของผีสางนางไม้
ฉะนั้นจะเรียกว่าใจมันเป็นตัวปรุงแต่ง สิ่งที่รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจก็ได้ อันนี้รวมไปถึงว่า คิดอย่างไรมันก็มองเห็นอย่างนั้น ผู้คนรอบข้างเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับใจของเราด้วย
ประภาส ชลศรานนท์ ผู้บริหารเวิร์คพอยท์ workpoint เล่าว่าเมื่อหลายปีก่อน มีเหตุให้ต้องมาสัมภาษณ์คนที่จะรับมาเป็นพนักงานของบริษัท มีอยู่สัปดาห์หนึ่งได้สัมภาษณ์ผู้หญิง 2 คน คนแรกเขาก็ถามเลยว่า ที่ทำงานเก่าเป็นอย่างไร เธอก็ส่ายหัวเลย บอกที่ทำงานเก่ามีแต่คนเล่นการเมือง เหยียบหัวกัน เอาใจเจ้านาย ไม่มีความเอื้อเฟื้อกันเลย แถมแทงข้างหลัง ฟังแล้วดูมันเป็นที่ทำงานที่ไม่น่าทำเลยนะ
ไม่กี่วันต่อมาก็ถามผู้หญิงคนหนึ่ง คำถามแรกก็คล้ายๆ กับที่ถามคนแรก ว่าที่ทำงานเก่าเป็นอย่างไร เธอก็ตอบว่าคนที่นั่นเขาขยันกันดี เขามีความสามัคคี มีความเอื้อเฟื้อ มีความคิดสร้างสรรค์ เอาใจใส่กัน เจ้านายก็ใกล้ชิดกับลูกน้อง เหมือนกับเป็นพี่เป็นน้อง เหมือนกับเป็นลูกเป็นหลาน ประภาสฟังแล้วก็มีสีหน้าสงสัย เอ๊ะ แล้วทำไมจะมาสมัครงานใหม่ แต่ไม่ทันถามผู้หญิงคนนั้นก็ตอบว่า เผอิญบริษัทที่ทำงานตอนนี้ เขากำลังจะเปลี่ยนลักษณะการทำธุรกิจ ซึ่งเธอมองว่าไม่ถนัด เธอก็เลยหาที่ทำงานใหม่ ก็คิดว่า workpoint นี่ตรงกับความสนใจหรือความถนัดของเธอ
ทั้งสองคนพูดถึงที่ทำงานเรียกว่าแตกต่างกันอย่างฟ้ากับเหวเลย แต่ที่น่าสนใจก็คือว่าทั้งสองคนทำงานบริษัทเดียวกัน แต่ว่าไม่รู้จักกัน มันเป็นไปได้อย่างไร บริษัทเดียวกัน คนหนึ่งบอกว่าคนที่นั่นมีแต่เล่นการเมือง เหยียบหัวกัน เอาใจเจ้านาย ประจบประแจง ไม่มีความเอื้อเฟื้อ แต่อีกคนหนึ่งบอกว่าดี ขยัน มีความสามัคคีกัน มีความคิดสร้างสรรค์ เจ้านายก็ดี ใกล้ชิดกับลูกน้อง
ที่ทำงานเดียวกัน แต่ทำไมมองเห็นไม่เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องของใจ เป็นเรื่องของทัศนคติ เรื่องของมุมมอง คนหนึ่งอาจจะมองลบ ก็เห็นแต่ภาพหรือด้านลบของคนรอบข้าง อีกคนหนึ่งมองบวก ก็เห็นแต่ด้านดีๆ ของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือว่าผู้บังคับบัญชา หรือเจ้านาย
แล้วที่จริงก็ไม่ใช่เป็นเฉพาะสองคนนี้หรอกนะ มันเป็นธรรมชาติธรรมดาของคนทุกคนเลยก็ว่าได้ เพียงแต่ว่าจะมีมากหรือน้อย ฉะนั้นเวลาเรามีความรู้สึกอย่างไร เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา รวมทั้งผู้คน บางทีเราต้องกลับมาถาม ว่าเป็นเพราะใจของเราหรือเปล่า อย่างที่บอกไว้เมื่อสักครู่ว่า คนเราไม่ได้มองเห็นโลกตามความเป็นจริง แต่เรามองเห็นตามความคิดหรือความรู้สึกของเรา แม้เจอสิ่งดีๆ แต่ถ้าคิดว่ามันแย่ มันก็แย่ แม้เจอสิ่งที่แย่ แต่ถ้าคิดว่ามันดี มันก็ดี หรือเห็นแต่ด้านดี
คนที่ความรู้สึกบอกไม่ไหวๆ พอไม่ไหว กายก็ไม่ไหว อะไรๆ ก็ดูไม่ไหวไปหมด แต่พอคิดว่าไหว ร่างกายมันฮึดสู้ขึ้นมา ก็คงคล้ายๆ กับคนที่พอมาบอกว่าคุณเป็นโรคหัวใจ ผลที่ออกมานี่มันไม่ดีเลย เท่านี้แหละ อ่อนเปลี้ยเพลียแรงเลย จากเดิมที่เคยเดินไปได้ไกลๆ ไปตลาดหรือว่าเดินออกกำลังกาย ปรากฏว่าเดินไม่ได้เลย มืออ่อนขาอ่อนไปหมดเลย ทันทีที่หมอบอกว่าเป็นโรคหัวใจ แต่พอหมออีกคนหนึ่งบอกว่าไม่ได้เป็นอะไร ตัวเลขที่ออกมานี่มันโอเคอยู่ เรี่ยวแรงกลับมาเลย
ฉะนั้นไม่ใช่เฉพาะโลกรอบตัวที่มันขึ้นอยู่กับใจของเรา แม้กระทั่งตัวเราเอง สุข-ทุกข์ในกาย สุข-ทุกข์ในใจก็เหมือนกัน เมื่อรู้เช่นนี้แล้วการที่เราหันมาสังเกตใจของเรา โดยเฉพาะความคิดถึงเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งเราก็ถูกความคิดมันหลอก หรือความคิดมันก็ปรุงแต่งไปต่างนานา แล้วเราก็พลอยทุกข์ไปกับความคิดปรุงแต่ง
แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้เท่าทันความคิดของเรา หรือความคิดที่มันอยู่ในหัวของเรา แล้วก็ไม่หลงเชื่อมันเสียทีเดียวนัก คือสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่ารู้หรือรู้เท่าทัน มันก็บงการการรับรู้หรือว่าความรู้สึกของเราได้น้อยลง
การที่เรามาเจริญสติ เป็นการฝึกให้เราได้มาหันมาดูใจของเรา หันมาสำรวจความรู้สึกนึกคิดของเรา แล้วก็เห็นมันอย่างที่มันเป็น เริ่มต้นจากการเห็นอย่างที่มันเป็นก่อน แม้ว่าสิ่งที่เห็นมันจะเป็นเรื่องภายใน แต่เมื่อเราเริ่มที่จะเห็นความรู้สึกนึกคิดอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่อยากเห็น การที่เราจะเห็นโลกตามความเป็นจริงในระดับหนึ่ง มันก็เป็นไปได้
การเห็นความรู้สึกนึกคิดตามความเป็นจริง ก็คือการดูมันโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านใช้คำว่ารู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ ก็คือแค่รู้โดยที่ไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ไปตัดสินว่าดี ไม่ดี
อารมณ์บางอย่างเราเคยคิดว่ามันไม่ดี แล้วพอมันเกิดขึ้นก็พยายามจะกำจัดมัน เช่น ความโกรธ ความกลัว ความเศร้า ความเกลียด ความอิจฉา มันไม่ดี ต้องกำจัดมัน ต้องข่มมัน อันนั้นก็อาจจะมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ว่าสิ่งที่เราควรทำขั้นต่อไป ก็คือรู้เท่าทันมัน และก็เห็นมันอย่างที่มันเป็น เรียกว่าเห็นโดยที่ไม่ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี
การที่เราเห็นมันอย่างที่มันเป็น หรือการที่เรารู้ซื่อๆ มันเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ใจเราไม่ถูกอารมณ์พวกนี้ครอบงำ เพราะยิ่งเราผลักไสมัน เราก็ยิ่งเข้าไปยึดติด ยิ่งผลักไส ยิ่งกดข่ม ก็ยิ่งเป็นการเสริมพลังให้กับมัน เป็นการต่ออายุให้กับมัน หรือว่าเข้าทางมัน ยิ่งไม่ชอบก็ยิ่งต้องแค่วางใจเป็นกลาง แล้วก็ดูมัน เห็นมันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ แต่ใหม่ๆ อาจยังไม่เห็นขนาดนั้น แต่ว่าก็เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น ทำบ่อยๆ เข้า ก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา
มีความโกรธแต่เราไม่ได้โกรธด้วย มีความเกลียดแต่เราไม่ได้เกลียดด้วย มีความทุกข์แต่เราก็ไม่ได้ทุกข์ด้วย พูดอีกอย่างก็คือว่ามันมีความโกรธแต่ไม่มีผู้โกรธ มีความเกลียดไม่มีผู้เกลียด มีความทุกข์ไม่มีผู้ทุกข์ มันก็ช่วยให้ใจสงบ สงบได้ แม้ว่ามีความโกรธ มีความเกลียด มีความทุกข์ แต่ว่ามันไม่มีผู้เกลียด ผู้โกรธ ผู้ทุกข์ อันนี้เพราะว่าเราเรียนรู้ที่จะเห็นมันอย่างที่มันเป็น หรือว่ารู้ซื่อๆ
แล้วต่อไปเราก็จะสามารถจะรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อย่างที่มันเป็น โดยที่ไม่ไปตัดสินให้ค่ามันว่าดีหรือไม่ดี เสียงที่เคยให้ค่าว่าดัง แต่ตอนหลังเราก็แค่รับรู้เฉยๆ ว่ามันเป็นอย่างนั้น เสียงที่เคยให้ค่าว่ามันไพเราะ แต่ตอนหลังเราก็รู้จักวางใจเป็นกลาง เราก็ไม่ทุกข์เพราะเสียงที่เคยตีค่าว่าดัง เราก็ไม่ลุ่มหลงไปกับเสียงที่เคยให้ค่าว่ามันไพเราะ
การที่เราจะมองเห็นโลกไปตามความเป็นจริง ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย ถึงแม้ว่าเราจะยังเห็นสิ่งต่างๆ ตามสมมติบัญญัติ เห็นเป็นตัวเป็นตน แต่ว่าอันนี้ก็เพราะใจมันยังอยู่ในความหลง พอใจยังถูกครอบงำด้วยความหลง ด้วยอวิชชา มันก็เห็นโลกเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ บุคคล เรา เขา อย่างที่พูดเมื่อวาน ก็ยังหลงอยู่ในสมมติสัจจะ
แต่ว่าถ้าเรามาดูกายดูใจ เห็นความจริงของกายและใจเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นว่ากายและใจ หรือรูปกับนาม ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เห็นกระทั่งว่าที่คิดว่าเป็นเราๆ ก็แค่สมมติ แท้จริงมันไม่มีเรา มีแต่รูปกับนาม คือเรียกว่าซอยหรือแยกภาพตัวตนออกมาเป็นรูปกับนาม เป็นกายกับใจ หรือเป็นขันธ์ 5 พอเห็นความจริงแบบนี้ ก็เริ่มที่จะเห็นโลกภายนอกตามความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ก่อนมันเห็นแวบแต่ภาพรวมๆ อย่างที่โบราณเขาว่า เห็นเสื้อไม่เห็นผ้า เห็นตุ๊กตาไม่เห็นยาง เสื้อนี่ก็เป็นสมมติที่เรียกผ้าชิ้นนี้ว่าเสื้อ แต่ที่จริงมันไม่มีตัวเสื้อ มันมีแต่ผ้า ตุ๊กตาก็เหมือนกัน ก็เป็นสมมติที่เรียกยางที่มาประกอบกันว่าเป็นตุ๊กตา แต่จริงๆ ตัวตุ๊กตามันไม่มี สิ่งที่เรียกว่าเป็นตัวคน มันก็เป็นชื่อเรียกกองสังขารหรือขันธ์ทั้ง 5 ที่มารวมกัน ถ้าหากว่าเราไปพ้น ไม่ติดยึดกับคำว่าเสื้อ เราก็จะเห็นผ้า เมื่อไม่ติดยึดกับคำว่าตุ๊กตาก็จะเห็นยาง
เมื่อไม่ติดยึดกับตัวคน ก็เห็นรูปนาม เห็นกองสังขาร และเห็นว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถึงตอนนั้นพอมองโลกภายนอก ก็จะเห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของโลกรอบตัวเหมือนกัน แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น ให้มารู้ทันหรือเห็นความคิดที่มันเกิดขึ้น เห็นอารมณ์ที่มันปรากฏขึ้นมาเสียก่อน ถ้าเห็นตรงนั้น การที่จะเห็นความจริงที่ลึกซึ้ง มันก็เป็นไปได้.