พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 26 กันยายน 2565
ทุกเช้าทุกเย็น หลังจากสรรเสริญพระรัตนตรัย รำลึกถึงพระพุทธองค์ รำลึกถึงพระธรรม รำลึกถึงพระสงฆ์ เราก็มีการสาธยายบทสวดพิเศษเป็นประจำ มีบทสวด 2 บทที่เราสวดอยู่บ่อยๆ บทแรกคือมงคลสูตร ที่เริ่มต้นด้วยคำว่า อะเสวะนา จะ พาลานัง การไม่คบคนพาล และอีกบทหนึ่งคืออนัตตลักขณสูตร เมื่อเช้านี้เราก็สวดบทนี้
สองบทนี้ก็เป็นบทที่สำคัญ มงคลสูตรพระสวดเวลาเจริญพระพุทธมนต์ เพราะว่าถือว่าสวดแล้วจะเกิดสิริมงคล อนัตตลักขณสูตรก็เป็นการเตือนให้เราระลึกถึงพระสูตรที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดมีพระอรหันต์ เป็นกลุ่มแรกในโลกหรือในพุทธศาสนา ต่อจากพระพุทธเจ้า คือกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ ทั้งสองบทนี้ก็มีความสำคัญพอๆ กันในทัศนะของชาวพุทธ หรือว่าชาวพุทธไทย แต่ถ้าเราพิจารณาเนื้อหา จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเลย
มงคลสูตรจะเป็นพระสูตรที่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นมงคล ที่จริงถือเป็นการกระทำที่เป็นมงคล ก็คือความดี มงคลสูตรเป็นเรื่องของความดีงามที่เราพึงกระทำ ตั้งแต่การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาคนที่ควรบูชา รวมไปถึงการมีความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญู ความสันโดษ การให้ทาน การฟังธรรมตามกาล สนทนาธรรมตามกาล พวกนี้ล้วนแต่เป็นความดีที่พึงกระทำทั้งนั้น
ส่วนอนัตตลักขณสูตร เราจะสังเกตว่าไม่มีเรื่องความดีเลย ไม่มีตอนไหนที่พูดถึงความดีหรือว่ามงคล แต่จะเป็นการพูดถึงความจริง ความจริงขั้นลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขันธ์ 5 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พระสูตรหนึ่งพูดเรื่องความดี พระสูตรหนึ่งพูดเรื่องความจริง จะขาดอันใดอันหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าซึ่งมีมากมาย ที่เขาว่า 84,000 พระธรรมขันธ์ ถ้าจะสวดย่อหรือจำแนก ก็เหลือแค่สอง ก็คือจริยธรรมกับสัจธรรม ไม่หนีไปจากนี้
ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงและบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก รวมทั้งของพระสาวกทั้งหลาย ในสิ่งที่เป็นธรรม ในสิ่งที่เป็นวินัย ก็อีกส่วนหนึ่ง แยกออกไป พระพุทธศาสนาประกอบด้วยธรรมะและวินัย ในส่วนที่เป็นธรรมก็จำแนกได้เป็นสอง จริยธรรมกับสัจธรรม จริยธรรมก็คือความดีที่พึงกระทำ ส่วนสัจธรรมก็คือความจริงที่พึงเข้าใจหรือพึงเข้าถึง แล้วก็พระสูตรทั้งสองบทนี้ ก็เป็นตัวแทนของจริยธรรมกับสัจธรรม
มงคลสูตรก็เป็นตัวแทนของจริยธรรมในพุทธศาสนา ซึ่งในบางที่ท่านก็สรุปมาเป็น 8 ประการ ก็คืออริยมรรคมีองค์ 8 จากมงคล 38 ก็ถูกจัดประเภทเป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ส่วนอนัตตลักขณสูตรก็เป็นตัวแทนของสัจธรรมที่ลึกซึ้งหรือสัจธรรมขั้นสูงในพุทธศาสนา
ถ้าเราสังเกตอย่างหนึ่ง ในมงคลสูตร จะมีถ้อยคำที่กล่าวถึงคนเยอะ ตั้งแต่ข้อความแรกเลย การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลที่ควรบูชา จะมีถ้อยคำที่เกี่ยวกับคนเยอะ รวมทั้งพ่อแม่ ญาติพี่น้อง แต่ว่าในอนัตตลักขณสูตร ไม่มีถ้อยคำที่พูดถึงคนเลย มีแต่ขันธ์ 5 เพราะว่าสัจธรรมขั้นสูงจะไปพ้นเรื่องของคน เรื่องของบุคคลหรือว่าสัตว์ บุคคล เรา เขา มันไปพ้นหรือไปเหนือ
เหลือแต่ขันธ์ 5 ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ บุคคล เรา เขา เพราะว่าสัจธรรมหรือความจริงขั้นสูง ถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่มีสัตว์ บุคคล เรา เขา สัตว์ บุคคล เรา เขา มันเป็นสมมุติ สมมติสัจจะซึ่งไม่ใช่ความจริงแท้ ถ้าความจริงแท้หรือปรมัตถสัจจะ มันไม่มีเรื่องบุคคล ไม่มีเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ไม่มีเลย เพราะในระดับปรมัตถ์ มีแต่เรื่องของขันธ์ 5 หรือว่ารูปนาม
อย่างในอภิธรรม มีบทหนึ่งจะมีข้อความว่า เราค้นหาบุคคลไม่ได้ในปรมัตถ์ ที่เราสวดกันเวลามีงานศพ มันจะมีข้อความบาลีที่แปลเป็นไทยตอนหนึ่ง ค้นหาบุคคลไม่ได้ในปรมัตถ์ หมายความว่าในความจริงระดับขั้นสูงสุดมันไม่มีบุคคล มันมีแต่ขันธ์ 5 หรือเรียกรวมๆ ว่ากองสังขาร ในอภิธรรมไม่มีเรื่องความดีเลย มีแต่เรื่องความจริงหรือสัจธรรม ไม่มีเรื่องคน มีแต่เรื่องสภาวะหรือธรรมะ
พระเถรีท่านหนึ่งก็เคยกล่าวกับมารว่า ในสภาวะที่เป็นกองสังขาร หาตัวสัตว์ไม่ได้เลย เพราะว่าสัตว์หรือตัวสัตว์มันก็เป็นสมมุติ กองสังขารก็คือขันธ์ 5 ที่มารวมกัน บางทีเราก็เรียกว่ากองสังขารหรือว่ากองขันธ์ ไม่มีเรื่องคน สัตว์ บุคคลเลย มีแต่ขันธ์ 5 จึงเรียกว่าไม่ใช่ตัวตน อันนี้อาจจะเข้าใจยากแต่ก็ฟังเอาไว้ เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญ
ในพระพุทธศาสนา อย่างที่บอกไว้แล้วว่า สัจธรรมมาคู่กับจริยธรรม จริยธรรมคือความดี สัจธรรมคือความจริง คนเราจะเรียนรู้แต่เรื่องความดีไม่ได้ ต้องเรียนรู้เรื่องความจริงด้วย เพราะถ้าเราเรียนรู้เรื่องความดี หรือแม้แต่ลงมือทำ คือทำดี แล้วมันยังไม่พอ ต้องเรียนรู้ความจริงด้วย
คนจำนวนมากเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอนแค่สองอย่างคือ ละชั่ว ทำดี เวลาคนต่างศาสนาคนต่างชาติถามว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร หลายคนก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าละชั่ว ทำดี ถูกแต่ยังถูกไม่หมด เพราะว่าท่านยังสอนอีกประการหนึ่ง คือให้เข้าใจความจริงด้วย ซึ่งเกิดจากการภาวนา บางทีท่านก็ใช้คำว่า ทำจิตให้ขาวรอบ หรือทำจิตให้ผ่องใส ผ่องใสคือส่องสว่าง ไม่ใช่แค่สงบอย่างเดียวแต่สว่างด้วย เพราะว่าเข้าถึงความจริง
ชาวพุทธเราทำแต่ความดีไม่ได้ ต้องเรียนรู้และเข้าถึงความจริงด้วย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะยังมีความทุกข์ ทำดีแต่ก็ยังทุกข์อยู่ หลายคนเป็นอย่างนั้น ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะว่าไม่มีคนเห็นความดีของเรา ทำดีแล้วอยากให้มีคนเห็นความดีของเราด้วย
หรือว่าทำดีแล้วก็ยังทุกข์ เพราะว่าคนใกล้ตัว คนรัก เขาไม่ทำดีเหมือนเรา อย่างเรามาวัด มาสวดมนต์ มาทำสมาธิ มาเจริญสติ หรืออย่างน้อยก็รักษาศีบ แต่คนที่บ้านหรือคนใกล้ตัว เขาศีลไม่ครบเลย เราก็ทุกข์ หรือว่าศีลครบ แต่เขาไม่สนใจการสวดมนต์ นั่งสมาธิ หลายคนก็ทุกข์ ทุกข์เพราะพ่อแม่ไม่สนใจสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือว่าทุกข์เพราะพ่อแม่ยังไม่สนใจการให้ทาน อันนี้เรียกว่าทำดีก็ยังทุกข์ ทุกข์เพราะคนอื่นหรือคนใกล้ตัวเขาไม่ทำความดีเหมือนเรา
หรือเขาไม่เห็นความดีอย่างที่เราเห็น แล้วบางทีทำดีก็ยังทุกข์ เพราะว่ายังรู้สึกว่ายังทำดีไม่พอ หลายคนเป็นอย่างนี้ ทำดีแล้วแต่ยังทำดีไม่พอ เพราะในใจนี่บางครั้งก็ยังอดมีเสียงจ้วงจาบครูบาอาจารย์ มีเสียงจ้วงจาบพ่อแม่ มีเสียงจ้วงจาบพระรัตนตรัย หลายคนทุกข์มากเลย ทั้งที่ตัวเองก็ทำดี เข้าวัด รักษาศีล แต่ว่าเพียงแค่มีเสียงในหัว ตำหนิพ่อแม่ จ้วงจาบพระรัตนตรัย ก็เป็นทุกข์มากเลย หรือถึงไม่มีเสียงที่ว่าในหัว แต่ก็ยังรู้สึกว่าเรายังทำดีไม่พอ เรายังมีความเห็นแก่ตัว เรายังชอบขึ้นเสียง ชอบตวาดพ่อแม่ ชอบเถียงพ่อแม่ ก็ทุกข์นะ
อันนี้เรียกว่าทุกข์เพราะยึดติด ยึดติดความดี ทุกข์เพราะยึดติดความดี หรือเพราะยึดติดในผลแห่งความดี และที่ยึดติดเพราะอะไร เพราะไม่เข้าใจความจริง ไม่เห็นความจริง เพราะถ้าเห็นความจริงอย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่ามันไม่มีอะไรที่จะยึดถือได้เลย ไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย แม้แต่ความดี ถ้ายึดถือเข้าไปมันก็ก่อให้เกิดทุกข์ได้
และที่ยึดติดในความดี เพราะมันยังมีการยึดที่ลึกซึ้งที่ซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง คือยึดติดในตัวกู ยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นคนดี แต่ทำไมไม่มีคนเห็น หรือทำไมฉันถึงไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น มันมีความยึดในตัวกู แล้วที่ยึดในตัวกู เพราะไม่เห็นความจริงว่า จริงๆ แล้วมันไม่มีตัวกู สิ่งที่เรียกว่าตัวกู มันก็เป็นแค่การปรุงแต่ง หรือเป็นมายา
ฉะนั้นคนเราพอไม่รู้ความจริง ก็เกิดความหลง หลงผิด หลงผิดนี่ก็ไม่ใช่แค่หลงยึดอย่างเดียว หลงยึดในความดีหรือหลงยึดในผลแห่งความดี แต่มันยึดอีกหลายอย่าง อย่างเช่น ทำดีแล้วทำไมยังเจ็บยังป่วย บางคนก็บอกว่าทำไมถึงต้องเป็นฉัน ฉันก็เข้าวัดทำบุญ เป็นเจ้าภาพทอดกฐินทอดผ้าป่าเป็นประจำ แต่ทำไมยังเจ็บยังป่วย ทำไมน้ำท่วมบ้าน ทำไมไฟไหม้บ้าน หรือว่าทำไมลูกป่วย หรือทำไมตัวเองป่วยด้วยโรคร้าย
อันนี้เพราะไม่เข้าใจความจริง เพราะถ้าเห็นความจริงก็จะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น มันเป็นธรรมดาที่เกิดกับทุกคน หรือเป็นธรรมดาที่เกิดกับกองสังขารทุกกอง ตราบใดที่มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พวกนี้ก็ต้องเจอกับความทุกข์ เจอกับความสูญเสีย เจอกับความพลัดพราก ที่จริงแม้จะยังมองไม่เห็นในระดับกองสังขาร แต่ว่าการมองในระดับบุคคล เป็นตัวเป็นตน มันก็ยังสามารถจะเข้าใจได้ว่า แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากสูญเสีย เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น เป็นธรรมดาของทุกชีวิต
อย่างที่เราสาธยายอยู่บ่อยๆ เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น และสุดท้ายเราก็ต้องมีความตายเป็นธรรมดา เราจะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
คนทำดีแต่พอเจอความแก่ ความเจ็บ ความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย ก็เป็นทุกข์ เพราะยังมีความยึดติดในร่างกายนี้ ยึดติดในทรัพย์สมบัติ ยึดติดในพ่อแม่ คนรัก และที่สำคัญยึดติดในตัวกู เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่ของกูที่สูญไป ของกูที่เสื่อมไป แต่มันยังมีความรู้สึกว่ามีกูเป็นผู้ทุกข์ด้วย มีกูเป็นผู้แก่ มีกูเป็นผู้เจ็บ มีกูเป็นผู้สูญเสีย มีกูเป็นผู้ตาย ถ้ายังมีกูแบบนี้ ก็ทุกข์วันยังค่ำ แม้จะทำดีแค่ไหน
แต่ถ้าเราเห็นความจริงว่า ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก มันเป็นธรรมดา เพราะทุกอย่างมันไม่จีรังยั่งยืน แล้วมันก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความเป็นทุกข์ ไม่ใช่แค่นั้นยังเห็นต่อไปว่ามันไม่มีเรา มันไม่มีกู เมื่อไม่มีกูก็ไม่มีผู้ทุกข์
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มันมีแต่ความทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ ถ้าทำความดี แต่ยังมีผู้ทุกข์ ก็ยังเจอทุกข์บีบคั้นอยู่ร่ำไป แต่ถ้าทำดีแล้วเห็นความจริง จนกระทั่งไม่เพียงแต่รู้ว่า แก่ เจ็บตาย พลัดพรากสูญเสีย เป็นธรรมดาของทุกชีวิต แต่ยังมองเห็นกระทั่งว่ามันไม่มีเรา มันไม่มีกู ถึงตอนนั้นมันก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีผู้แก่ ไม่มีผู้เจ็บ ไม่มีผู้ตาย
อันนี้คือสิ่งที่เราปรารถนาไม่ใช่หรือ ไม่มีผู้ทุกข์ คนเราปรารถนาแต่ว่าขออย่ามีความทุกข์ แต่ลืมไปว่าความทุกข์หนีไม่พ้น แต่การไม่มีหรือไม่เป็นผู้ทุกข์นี่มันทำได้ ถ้าเราฝึกใจให้เห็นความจริง ไม่ใช่ทำแต่ความดีเท่านั้น ความดีต้องทำต่อไป แต่ว่าก็ต้องฝึกใจให้เห็นความจริงด้วย อันนี้ก็ต้องอาศัยการภาวนา การหมั่นสังเกตหรือพิจารณาดูกายและใจ เป็นจุดเริ่มต้นเลย ดูกายดูใจ จะคิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง
ตอนที่ยังเริ่มมาสนใจพุทธศาสนาใหม่ๆ ท่านก็สอนว่าให้รู้จักคิดดี อย่าคิดร้ายคิดชั่ว แต่พอมาภาวนา ยอมรับหรืออนุญาตให้ความคิดชั่วมันเกิดขึ้นได้ แต่ว่าไม่เข้าไปยึดมัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านว่า คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง อย่าไปสนใจ ก็แค่ดูมัน เห็นมัน มันจะมีความอิจฉา มันจะมีเสียงด่าพ่อแม่ จ้วงจาบครูบาอาจารย์ ก็แค่เห็นมัน ดูมัน ตอนที่ยังไม่ปฏิบัติ ก็ทนไม่ได้กับความคิดแบบนี้ เพราะมันเป็นความคิดที่ไม่ดี แต่พอเรามาปฏิบัติ เราเริ่มที่จะเห็นว่ามันเป็นธรรมดา ที่จะมีความคิดแบบนั้นในหัว
เพราะว่าจิตของเรามันก็เหมือนกับเรือนว่าง เรือนว่างริมถนน ที่จะมีใครมาใช้มาพักก็ได้ คนดีมาพักก็ได้ คนชั่วมาพักก็ได้ ผู้ร้ายมาพักก็ได้ ใจเราก็เป็นอย่างนั้นแหละ หน้าที่ของเราก็คือดูมัน แล้วก็เห็นมัน แต่ว่าไม่เข้าไปยึด แล้วก็ไม่ทำตามมัน
ต่อไปจะเห็นว่าที่คิดนี่ไม่ใช่เรา ความคิดมันเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เราคิด คิดดีก็ไม่ใช่เรา คิดชั่วก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วจะไปทุกข์ร้อนทำไม ต่อไปก็จะเห็นอารมณ์นี่ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ความโกรธก็ไม่ใช่เรา เห็นความโกรธจึงไม่มีผู้โกรธ เห็นความเครียดจึงไม่มีผู้เครียด มันเริ่มที่จะเห็นความจริง แล้วก็เริ่มที่จะปล่อยเริ่มที่จะวาง
และต่อไปก็จะเห็นความจริงของรูปของนาม ของกายและใจ เห็นไปเรื่อยจนกระทั่งเห็นว่ามันไม่มีเรา มีแต่รูปกับนาม หรือมีแต่ขันธ์ 5 ที่มารวมกันเป็นกองสังขาร และเราก็จะเกิดความรู้รอบในกองสังขารขึ้นมา ว่ามันไม่ใช่เรา เรานี่เป็นสมมุติ นาย ก. นาย ข. สัตว์ บุคคล นี่เป็นสมมุติ แต่ว่าถ้ามองให้เห็นอย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่ามันไม่มีเรา มีแต่ขันธ์ 5 หรือกองสังขาร ความยึดในตัวเราในของเราก็ไม่มี เพราะฉะนั้นความทุกข์เพราะเรา ทุกข์เพราะของเรา ก็หมดไป
สรุปก็คือว่าอย่ามัวแต่ทำความดีอย่างเดียว ให้ฝึกจิตให้เข้าถึงความจริงด้วย เห็นความจริงจนกระทั่งรู้ว่าไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ รู้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นเราเป็นของเรา.