พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 25 กันยายน 2565
บ่ายวันนี้ พระทั้งวัดก็ได้ลงไปฟังการสวดปาฏิโมกข์ ที่วัดเจ้าคณะอำเภอ หลายคนไม่ได้เข้าไปในเมืองนานเป็นเดือนแล้ว โดยเฉพาะพระใหม่ บางคนนี่ตั้งแต่บวชมาไม่ได้เข้าไปในเมืองเลย เป็นเวลา 2 เดือนกว่า เมื่อเข้าไปในเมืองวันนี้ ก็คงจะเจอบรรยากาศที่มันแตกต่างจากชีวิตที่สุคะโต เพราะว่าไปเจอกับรถที่พลุกพล่าน คนที่ขวักไขว่
หลายคนรู้สึกพึงพอใจกับความสงบที่สุคะโต พอลงไปเจอบรรยากาศในเมืองข้างล่าง ก็จะรู้สึกใจกระเพื่อมขึ้นมาเลย อาจจะรู้สึกขัดหูขัดตา ทั้งๆ ที่มันเป็นภาพที่เราอาจจะคุ้นเคยอยู่แล้วตอนเป็นฆราวาส แต่พอมาบวชพระ แล้วก็มาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในป่า มันเห็นความแตกต่างเลยนะ กับสภาพในเมืองที่แก้งคร้อ ยังดีที่แดดไม่ร้อนมาก หลายคนอยู่ในวัดนานเป็นเดือนสองเดือน พอลงไปข้างล่างจะรู้สึกขัดใจขึ้นมาเลย เพราะมันร้อน แต่วันนี้ก็ไม่ถึงขนาดนั้น
ก็ลองสังเกตใจของเรา ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง อาจจะรู้สึกถึงความกระเพื่อมในใจ มันมีสิ่งมากระทบทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ และแน่นอนสิ่งเร้ามันก็เยอะ
บางคนที่คิดว่าตัวเองสงบเพราะว่าการปฏิบัติ เพราะวางจิตวางใจถูก พอเข้าไปในเมืองวันนี้ ก็ลองถามตัวเอง ว่าเรายังรักษาความสงบในใจได้หรือเปล่า หรือใจเราว้าวุ่น อันนี้ก็แสดงว่าความสงบที่เกิดขึ้นกับเรา มันยังอาศัยสิ่งแวดล้อม พอสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนจากป่ากลายเป็นเมือง จากคนที่เบาบางกลายเป็นคนที่พลุกพล่าน แล้วเรารู้สึกว้าวุ่นฟุ้งซ่าน นี่ก็แสดงว่าการปฏิบัติของเรายังไม่เพียงพอ เรายังพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมอยู่ ซึ่งถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ใจก็เปลี่ยนไปด้วย อันนี้ก็ยังไม่ถูกทีเดียวนัก
และมันไม่ใช่มีเฉพาะสิ่งที่มาเร้าใจให้หงุดหงิด บางครั้งอาจจะมีสิ่งเร้าใจให้เกิดความเพลิดเพลินก็ได้ หรือว่าไม่ได้เร้าใจให้เกิดความขุ่นมัว แต่เร้าใจให้เกิดความอยาก เช่น ผ่านร้านอาหาร บางทีก็อาจจะนึกถึงน้ำอัดลม น้ำเย็นๆ ที่เคยกินเป็นประจำตอนเป็นฆราวาส ผ่านร้านเซเว่นก็อยากจะเข้าไปซื้อไอติม แต่ว่าหลายคนก็ห้ามใจเอาไว้ เพราะว่าเป็นพระ ทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นในใจเรา มันก็เกิดความขัดแย้งขึ้นมา เกิดแรงต้านขึ้นมา เพราะไม่ได้ทำตามความอยาก หรือไม่อาจทำตามความอยากได้ ก็กลายเป็นทุกข์ ที่ทำตามกิเลสก็มี แต่พอทำเสร็จแล้วก็มาเสียใจว่าเราไม่น่าเลย
ขณะที่มันเกิดความขัดใจขึ้นมา ไม่ว่าเป็นเพราะมีสิ่งเร้าทำให้จิตหมองมัว หรือว่าเกิดมีความหงุดหงิด หรือเร้าใจให้เกิดความอยาก แต่ไม่อาจจะสนองความอยากได้ มันเป็นของดีนะ อย่างน้อยมันก็เป็นเครื่องทดสอบใจของเรา ว่าเราปฏิบัติได้ดีแค่ไหน และการที่เรามีความขุ่นมัว มีความหงุดหงิด มีความอยาก หรือมีความว้าวุ่น มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลวเสมอไป เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มาทดสอบด้วย ว่าเราจะเอามันอยู่ไหม เราจะปล่อยใจให้เป็นทุกข์ไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น หรือเป็นทุกข์ไปกับสิ่งเร้าที่มากระทบหรือเปล่า มันเป็นแบบฝึกหัดที่ดีเลยทีเดียว
ถ้าเราอยู่ในที่ที่สงบสบาย บางทีเราประมาท เราคิดว่าเราปฏิบัติดีแล้วเราจึงใจสงบ แล้วพอมันมีสิ่งที่มาทำให้ใจเราสงบสบาย แล้วมันก็เลยเฉื่อยเนือย ในทางตรงข้าม ถ้ามันมีสิ่งเร้ากระตุ้นให้เกิดความขัดใจ กระตุ้นให้เกิดความหงุดหงิด หรือแม้แต่ความโลภ มันก็เป็นเหมือนแบบฝึกหัด ว่าเราจะใช้สติรับมือกับอารมณ์อย่างเหล่านี้อย่างไร มันทำให้เกิดความตื่นตัวขึ้นมา
และความขัดใจที่เกิดขึ้น มันก็สามารถจะขัดใจเราอีกแบบหนึ่ง ขัดใจในแง่หนึ่งก็หมายถึง เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ แต่ขัดใจอีกแบบหนึ่งหมายถึงว่า ขัดใจให้ประณีต ขัดใจให้สะอาด ขัดใจให้งดงาม หรือว่าช่วยลบเหลี่ยมลบมุม หรือขัดความกระด้างให้มันออกไป ซึ่งมันก็เป็นของดี
คนเรานี่ก็ต้องเจอสิ่งที่ขัดอกขัดใจบ้าง ถ้าเจอแต่สิ่งที่ถูกใจ หรือเจอแต่ความสมหวังอย่างเดียว มันไม่เติบโตนะ มันไม่พัฒนา มันกลายเป็นเกิดความประมาทขึ้นมา แต่ถ้าเกิดเราเจอสิ่งที่ขัดใจ สิ่งที่ไม่ถูกใจ สิ่งที่ไม่สมหวังแล้ว มันช่วยทำให้เราเกิดการเติบโต เกิดการเรียนรู้ได้มาก ครูบาอาจารย์ที่ดีที่เก่ง ที่มีความใส่ใจลูกศิษย์ ก็จะหาทางทำอะไรก็ได้ที่จะขัดใจของเรา ที่จะไม่ตามใจเรา ที่จะทำให้เราไม่สมหวังเสียทีเดียวนัก
มีอาจารย์ท่านหนึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อมาก ท่านเป็นราชบัณฑิตที่มีผลงานเยอะ เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุไม่ถึง 40 เลย ตอนที่ท่านเป็นนักเรียน ไปทำปริญญาเอกที่อเมริกา มหาวิทยาลัยที่ท่านเรียนก็เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ติด 1 ใน 10 ของอเมริกา มหาวิทยาลัยแมดิสัน วิสคอนซิน
ขณะที่ท่านเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ท่านมีความฉลาดปราดเปรื่องมาก เรียนวิชาไหนได้ A หมดเลย ทั้งๆ ที่อาจารย์ก็เป็นอาจารย์ที่เก่ง แล้วก็ข้อสอบก็ไม่ใช่ง่ายๆ แต่ว่าเวลาสอบทีไรได้ A แทบทุกวิชา ยกเว้นวิชาเดียวได้ B+ อาจารย์ชัยอนันต์แกก็ผิดหวัง เพราะว่าเชื่อว่าตัวเองทำข้อสอบได้ดี
ตอนหลังอาจารย์ที่ให้คะแนนเป็นฝรั่งอเมริกัน ภายหลังก็อธิบายให้เหตุผลว่า ที่จริงเธอสมควรจะได้ A แต่ที่ผมให้ B+ ก็เพราะว่าจะได้ไม่เหลิง ไม่คิดว่าการสอบให้ได้ A นี่มันเป็นเรื่องง่าย อาจารย์ตั้งใจให้ B+ เพราะว่านักศึกษาจะได้ไม่เหลิง ไม่คิดว่ากูเก่ง
เป็นเหตุผลที่น่าสนใจนะ บางทีอาจารย์ก็ไม่ได้ให้คะแนนตามเนื้อผ้า อาจารย์ที่ดีบางทีก็ไม่ได้ให้คะแนนตามเนื้อผ้าเพราะหน้าที่ของอาจารย์ไม่ได้เพียงแค่ให้ความรู้ หรือวัดความรู้อย่างเดียว อาจารย์ที่ดีก็จะต้องรู้จักสร้างทัศนคติด้วย ให้แต่ความรู้มันไม่พอ ต้องสร้างทัศนคติที่ดีที่เกื้อกูล ทัศนคติอย่างหนึ่งก็คือว่าไม่เหลิง ไม่ประมาท ไม่เหลิงว่ากูเก่ง เพราะอันนั้นจะทำให้ขาดการเรียนรู้
อาจารย์ฝรั่งคนนั้นแกก็รู้ว่าถ้าให้ A ไป เดี๋ยวนักศึกษาไทยคนนี้จะเหลิง เพราะฉะนั้นให้ B+ เสียเลย นักศึกษาผิดหวังก็จริง แต่ว่าได้บทเรียนว่าอย่าไปเหลิง มันเป็นการช่วยลดอัตตาได้ และคนเราถ้าอัตตามันพองโต มันเป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ ไม่ว่าจะจากครูบาอาจารย์ หรือจากเพื่อน แต่ถ้าลดอัตตาได้ มันก็จะช่วยทำให้เปิดใจที่จะเรียนรู้มากขึ้น
เมืองไทยเรามีโค้ชคนหนึ่งที่เก่งมาก โค้ชอ๊อด หรือคุณเกียรติพงษ์ แกเป็นโค้ชทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติ แล้วแกก็มีเทคนิคการอบรมแปลกๆ อย่างเช่น เวลาให้ทีมวอลเลย์บอลแข่งกันเอง เป็น 2 ทีม แล้วตัวแกเป็นกรรมการ บางครั้งทีมหนึ่งตีลูกออก แกก็ตัดสินว่าเป็นลูกดี บางครั้งอีกทีมตีลูกดีอยู่ในเส้น แกบอกว่าออก คนที่ได้คะแนนก็ดีใจ แต่คนที่เสียคะแนนไปก็เสียใจ หลายคนก็ไม่พอใจ ก็ฉันตีลูกดี ทำไมกรรมการให้ออก ว่าตีลูกออก ไปโวยวายใส่โค้ชอ๊อด
โค้ชอ๊อดบอกว่านี่คือสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้ เพราะว่าในชีวิตจริงหรือในสนามแข่ง บางทีผู้ตัดสินก็ตัดสินผิด ตัดสินไม่ถูกต้อง และถ้าพวกเธอไม่สามารถยอมรับการตัดสินแบบนี้ได้ แล้วเธอหงุดหงิด เธอโมโห เธอก็จะเสียสมาธิในการเล่น แล้วก็จะเสียคะแนนไปเรื่อยๆ ในสนามจริงมันไม่มีหรอกนะ ความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ กรรมการไม่ใช่ว่าจะตัดสินได้ถูกหมด กรรมการตัดสินผิดมันก็มี แล้วจะต้องเจอบ่อยๆ ต้องทำใจให้ได้ ยอมรับความจริงว่าบางครั้งมันก็ไม่ถูกต้อง แล้วพอยอมรับได้ก็ทำให้ตั้งสติ ไม่หัวเสีย ไม่ฉุนเฉียว ทำให้มีสมาชิกกับการเล่นได้
เหตุผลของโค้ชอ๊อดนี่น่าสนใจนะ มันเป็นการสร้างทัศนคติ หรือสร้างความเข้าใจ ที่จำเป็นมากสำหรับการแข่งกีฬาระดับชาติหรือระดับโลก ที่จริงไม่ใช่เฉพาะทัศนคติในการแข่งกีฬาอย่างเดียว มันเป็นทัศนคติที่สำคัญของชีวิตด้วย เพราะว่าชีวิตจริงมันไม่มีหรอกนะ ความแฟร์ ความถูกต้อง บางทีมันก็ไม่แฟร์ บางทีก็ไม่ถูกต้อง ทั้งในชีวิตจริงและในสนามแข่ง แต่ถ้าเราหัวเสียกับมัน ทำใจยอมรับไม่ได้ มันก็ยิ่งทำให้เราแย่ลง แต่ถ้าเราทำใจได้ยอมรับได้ เราก็ตั้งตัวใหม่ แล้วก็เรียนรู้ที่จะมีสมาธิกับการแข่ง หรือการทำปัจจุบันให้มันดีที่สุด
นี่เป็นหน้าที่ของครูเลยนะ ที่จะสร้างทัศนคติ ด้วยการทำให้ลูกศิษย์ต้องเจอกับความผิดหวัง เจอความไม่สมหวัง เพราะว่ามันช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ แล้วก็เป็นการฝึกจิตฝึกใจ จะมีแต่ทักษะความสามารถอย่างเดียวไม่พอ ทักษะดี แข็งแรง แต่ทัศนคติไม่ดี ไม่รอบด้าน มันก็เสียผู้เสียคน หรือว่ามันก็กลายเป็นอุปสรรคต่อการทำอะไรให้ประสบความสำเร็จได้ อย่าว่าแต่การแข่งขันเลย แม้กระทั่งการดำเนินชีวิตก็จะลำบาก เราจะพบว่าครูบาอาจารย์ บางทีท่านก็หาทางทำให้ลูกศิษย์ผิดหวัง เพราะว่าความผิดหวัง หรือว่าการเจอความไม่สมหวัง มันก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้เห็นจุดอ่อนของตัวเองด้วย
ที่อเมริกามีอาจารย์เซนคนหนึ่ง เป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อชุนเรียว ซูซูกิ เมื่อสัก 60-70 ปีที่แล้ว ท่านมาสอนเซนในอเมริกา แล้วก็เป็นผู้ที่ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมแบบเซนแห่งแรกในอเมริกา ในอเมริกานี้มีวัดเซนอยู่เยอะ แต่ที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรมมีน้อย ยังไม่มีเลย ก็ท่านชุนเรียวนี่แหละมาสร้าง และลูกศิษย์ก็เป็นคนอเมริกันเยอะ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มสาว
สำนักที่ท่านตั้งมีระเบียบอยู่อย่างหนึ่ง ที่จริงก็ไม่เชิงเป็นระเบียบ แต่ที่นั่นส่งเสริมการกินอาหารแบบมังสวิรัติหรือกินเจ อาจารย์ชุนเรียวก็กินเจด้วย ท่านก็กินเนื้ออยู่บ้างแต่น้อย แต่ว่าก็ไม่ใช่บังคับ แต่ส่วนใหญ่ลูกศิษย์ก็จะพลอยกินเจไปด้วย
วันหนึ่งอาจารย์ก็พาลูกศิษย์เข้าไปในเมือง เป็นชายหนุ่มคนหนึ่ง ไปทำธุระในเมือง พอทำธุระเสร็จท่านก็บอกว่าเดี๋ยวไปกินอาหารกัน และท่านก็เดินตรงไปที่ร้านแฮมเบอร์เกอร์ ลูกศิษย์นี่งงเลย อ้าว อาจารย์ทำไมไปกินเนื้อ ทำไมอาจารย์ไม่กินเจ พอไปถึงลูกศิษย์ก็สั่งแฮมเบอร์เกอร์ใส่ชีสไม่มีเนื้อ เพราะลูกศิษย์ก็กินเจ แต่อาจารย์นี่สั่งแฮมเบอร์เกอร์ใส่พร้อมกับไส้เนื้อ เนื้อนี่เต็มที่เลย
พอพนักงานเขาเอาแฮมเบอร์เกอร์มาเสิร์ฟสองคนนี้ ลูกศิษย์ก็กินแฮมเบอร์เกอร์เจ อาจารย์ก็เริ่มจะกินแฮมเบอร์เกอร์ที่มีเนื้อ แต่ว่าอาจารย์ก็ให้ลูกศิษย์กินก่อน แล้วก็ถามลูกศิษย์ว่าเป็นอย่างไร อร่อยไหม ลูกศิษย์บอกอร่อยครับ อาจารย์บอกอย่างนั้นมาแลกกันนะ เธอกินแฮมเบอร์เกอร์เนื้อไป ฉันกินแฮมเบอร์เกอร์เจ แฮมเบอร์เกอร์ชีส
ลูกศิษย์นี่ตาค้างเลย เพราะว่าลูกศิษย์เห็นว่าการกินเนื้อมันไม่ดี ใครที่กินเนื้อนี่มันแย่ อาจารย์กลับให้ฉันมากินแฮมเบอร์เกอร์เนื้อ โมโหอาจารย์มากเลย อาจารย์แกล้ง อาจารย์สั่งแฮมเบอร์เกอร์เนื้อ แต่อาจารย์ไม่กิน กลับมาให้ลูกศิษย์กิน
แต่ว่าลูกศิษย์ก็ได้เรียนรู้ อาจารย์ต้องการสอนว่าอย่าไปติดยึดกับเนื้อ หรือว่ากับอาหารเจ ลูกศิษย์ติดยึดมาก พอเห็นอาจารย์กินแฮมเบอร์เกอร์เนื้อ ก็นึกในใจแล้ว อาจารย์นี่แย่นะ กินเนื้อได้อย่างไร แต่ไม่คิดว่าอาจารย์จะมาสลับให้ตัวเองกินแฮมเบอร์เกอร์เนื้อแทน ก็ต้องกินนะ เพราะว่าอาจารย์กำลังสอนว่าอย่าไปติดกับเนื้อหรือผัก
อันนี้ท่านสอนลูกศิษย์ที่ยึดมั่นถือมั่น มันเป็นการสอนที่ไม่มีในหลักสูตร หรือในการปฏิบัติ แต่ว่าในชีวิตจริงท่านสอน เพราะฉะนั้นการเจอความขัดอกขัดใจ มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้และในการปฏิบัติ ในการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและจิตใจ เราต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่เจอ อาจารย์ก็จะหาทางที่จะให้เราได้เจอ เพื่อที่เราจะเรียนรู้
หลวงพ่อชาท่านก็เก่งในเรื่องนี้ ลูกศิษย์ท่านคนหนึ่งเป็นพระฝรั่ง ชื่อท่านวีรธัมโม ท่านเล่าว่าสมัยที่ท่านบวชใหม่ๆ อยู่ที่วัดหนองป่าพง แล้วมีช่วงหนึ่งท่านก็ไปที่วัดถ้ำแสงเพชร ซึ่งเป็นสาขาหนองป่าพง แล้วที่นั่นท่านก็ได้ฝึกท่องปาฏิโมกข์ ท่านท่องจนได้เลย แล้วก็กลับมาที่หนองป่าพง
วันหนึ่งหนองป่าพงก็มีการสวดปาฏิโมกข์ ธรรมเนียมของหนองป่าพงเวลานั้นจะไม่มีการบอกล่วงหน้าว่าใครสวด จะถามเอาตรงนั้นเลยว่าใครสวดได้บ้าง หรือบางทีก็ชี้เอาเลย คนชี้ก็คือหลวงพ่อชา วันนั้นหลวงพ่อชาก็ถามท่านวีรธัมโมว่าสวดได้หรือยัง ท่านวีรธัมโมก็บอกว่าสวดได้ครับ เอ้า อย่างนั้นขึ้นเลย
ท่านวีรธัมโมตื่นเต้นมาก เพราะเป็นการสวดครั้งแรก ครูบาอาจารย์ก็อยู่กันเยอะ ทั้งหลวงพ่อชา หลวงพ่อเลี่ยม แต่ท่านก็สวด แล้วก็สวดได้ดี พอสวดจบ หลวงพ่อชาก็ชม อืม
เก่งมากๆ ท่านวีรธัมโมปลื้มเลยนะ ยิ้ม ปลื้มตลอด 2 อาทิตย์เลย เพราะว่าหลวงพ่อชาไม่ค่อยชมเท่าไหร่
พอปักษ์ต่อไป หลวงพ่อชาก็ไม่ถามแล้ว ชี้เลย เอ้า วี ท่านเรียกวีนะ ขึ้นสวดปาฏิโมกข์ ท่านวีรธัมโมก็มั่นใจ มีความมั่นใจเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากการสวดครั้งแรก แล้วก็ภูมิใจที่หลวงพ่อชาให้สวดอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้พอเริ่มสวดได้ไม่กี่นาที หลวงพ่อชาก็เริ่มดึงจีวรของท่านวีรธัมโม ไม่ได้ดึงจีวรเปล่าๆ นะ บางทีก็พูดขัดพูดแทรก ว่าจีวรฝรั่งไม่ได้ซักเลย เหม็น พูดแทรกขณะที่ท่านวีรธัมโมสวดปาฏิโมกข์ แล้วก็แทรกเป็นระยะๆ
การสวดปาฏิโมกข์ต้องอาศัยสมาธิ แต่หลวงพ่อชาท่านก็แทรก ท่านก็ขัดแล้วก็ดึงจีวรอยู่เป็นระยะ ท่านวีรธัมโมก็เลยไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไหร่ ก็สวดไปติดๆ ขัดๆ ปกติส่วนนี่ใช้เวลา 40 นาที คราวนั้นสวดใช้เวลาชั่วโมง 20 นาที สวดจบนี่ท่านหัวเสียมากเลย เพราะว่าคล้ายๆ เป็นการขายหน้า ขายหน้ามากเลย จาก 40 นาทีกลายเป็นชั่วโมง 20 แล้วก็โกรธหลวงพ่อชามากเลย แต่พอเห็นหลวงพ่อชาหัวเราะ ท่านก็เลยรู้ว่าหลวงพ่อชาแกล้ง ก็เลยหัวเราะไปด้วย
หลวงพ่อชาแกล้งเพราะอะไร แกล้งเพื่อจะได้กำราบอัตตาของท่านวีรธัมโม เพราะท่านวีรธัมโมพอได้รับคำชมของหลวงพ่อชาว่าเก่งๆ ก็ปลื้ม อัตตาพองโต อันนี้ก็เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ ท่านก็เลยแกล้งให้เจอกับความยากลำบาก แล้วจะได้รู้จักการเสียหน้า พอเสียหน้าเข้าเป็นอย่างไร จิตใจก็ห่อเหี่ยวเลย เกิดความโกรธ เกิดความหงุดหงิด
อันนี้ท่านกำลังสอน ว่าเวลาใครชมก็อย่าไปหลงใหลได้ปลื้ม เพราะไม่อย่างนั้นพอถูกเขาต่อว่า หรือว่าทำไม่ได้อย่างที่เคยทำ หรือพอผิดหวังขึ้นมาก็จะเสียใจ อีกอย่างหนึ่งต้องการกำราบอัตตาด้วย ใครชมอย่างไรก็อย่าให้อัตตาพองโต เพราะว่าถ้าอัตตาพองโต ก็จะเจอการบ้าน จะเจอการกำราบของครูบาอาจารย์
มองในแง่หนึ่งก็เป็นการฝึกสติไปด้วยว่าทำอย่างไรระหว่างที่สวดปาฏิโมกข์ มีคนแทรก มีคนพูด มีคนฉุดจีวร ก็ยังสามารถจะครองสติมีสมาธิได้ ท่านสอนหลายอย่างนะ แต่ปกติครูบาอาจารย์ไม่ทำอย่างนั้นหรอก เวลาสวดปาฏิโมกข์ก็จะต้องฟังด้วยความเคารพ แต่ว่าหลวงพ่อชาท่านกล้าที่จะพูดแทรก พูดขัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำกัน และตัวท่านเองก็ไม่ได้กลัว ว่าจะเสียภาพพจน์ของครูบาอาจารย์ ว่าเป็นครูบาอาจารย์ไปแทรก ไปขัดคนสวดปาฏิโมกข์ได้อย่างไร ท่านไม่สนใจนะ เพราะสิ่งที่ท่านทำเพื่อสอนลูกศิษย์ให้ แล้วก็เป็นการกำราบอัตตา
ทั้งหมดนี้เป็นการฝึกด้วยการทำให้เกิดความผิดหวัง ทำให้เกิดการขัดใจ เพราะว่าจิตใจคนเราถ้ามันถูกขัดเมื่อไหร่ มันก็มีโอกาสที่จะงดงามได้ ที่จริงเราไม่ต้องรอให้ครูบาอาจารย์มาขัดใจเรา หรือมาก่อกวนเพื่อทำให้เราเกิดการเรียนรู้ ที่จริงสิ่งที่ขัดใจเรามันมีตลอดเวลา มันมีอยู่ทุกวัน ไม่ใช่แต่ครูบาอาจารย์ อาจจากสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นดินฟ้าอากาศ แล้วก็จากผู้คนรอบข้าง คนในวัด คนในบ้าน คนใกล้ตัว ส่วนใหญ่พอเจอใครขัดใจนี่เราจะไม่ชอบ เกิดความโกรธ เกิดความโมโห แบบนี้เรียกว่าขาดทุน ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมก็เรียกว่าสอบตก
แต่ถ้ามองว่าเขามาช่วยขัดใจเราให้สะอาด เขามาช่วยเป็นแบบฝึกหัดให้เรามีสติรู้ทัน หรือช่วยลบเหลี่ยมลบมุมให้จิตใจเราประณีตงดงาม ถ้าเราคิดแบบนี้ก็แปลว่าคนที่อยู่รอบข้างเรา คนที่ขัดใจเรา เขาก็เป็นครูบาอาจารย์เราได้เหมือนกัน ไม่ต้องรอให้ครูบาอาจารย์มาขัดใจเรา เพราะว่าคนที่อยู่รอบตัวเราก็พร้อมที่จะขัดใจเราได้อยู่เสมอ แต่สมัยนี้ก็ไม่แน่นะ บางทีครูบาอาจารย์ขัดใจ กลับไม่ชอบ กลับโมโห กลับต่อว่าครูบาอาจารย์ก็มี เพราะเดี๋ยวนี้เราปรารถนาการตามใจ ปรารถนาการทำอะไรที่มันถูกต้อง บางทีครูบาอาจารย์ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เราโมโห ทั้งที่สิ่งที่ท่านทำไม่ถูกต้องก็จริง แต่เป็นไปเพื่อขัดใจเรา
ตัวอย่างที่พูดมาทั้งหมด ไม่ว่าอาจารย์ฝรั่งที่ให้นักศึกษาไทยได้ B+ แทนที่จะ A ก็ไม่ถูกต้องนะ เพราะนักศึกษาสมควรได้ A หรือว่านักกีฬาที่ตีลูกดีแต่โค้ชบอกว่าตีลูกออก นี่ก็ไม่ถูกต้องนะ แต่ว่าเป็นเจตนาที่ดี หรืออาจารย์ชุนเรียวที่ให้ลูกศิษย์กินแฮมเบอร์เกอร์เนื้อ ทั้งที่ตัวเองสั่งแฮมเบอร์เกอร์ชีส อันนี้ก็จะมองว่าเป็นการแกล้งก็ได้ แต่ว่ามันเป็นการฝึกให้เกิดการเรียนรู้
รวมทั้งที่หลวงพ่อชากระตุกจีวรของพระที่สวดปาติโมกข์ ถ้าพูดถึงความถูกต้องแล้ว ไม่ถูกต้องหรอก แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของผู้คน ในขณะเดียวกันคนที่อยู่รอบข้างเรา อาจจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่มันก็สามารถจะเป็นสิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ของเราได้ เพราะอย่างน้อยก็ช่วยขัดใจเราให้มีความงดงามขึ้นได้ ถ้าเรามองเป็นใช้เป็น.