พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 23 กันยายน 2565
ในบรรดามนุษย์ทั้งโลก พระพุทธเจ้าตรัสว่าแบ่งเป็นสี่จำพวก พวกแรกไม่ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน พวกที่สองทำประโยชน์ตนแต่ไม่ทำประโยชน์ท่าน พวกที่สามไม่ทำประโยชน์ตนแต่ทำประโยชน์ท่าน พวกที่สี่ทำประโยชน์ตนด้วยและทำประโยชน์ท่านด้วย ในบรรดาสี่จำพวกนี้พระพุทธเจ้าสรรเสริญบุคคลประเภทสุดท้าย ก็คือทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
‘ประโยชน์ตน’ มีความหมายกว้างนะ เริ่มตั้งแต่การมีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย การมีกินมีใช้ มีครอบครัวดี มีงานการที่ดี แต่ประโยชน์ตนก็มีความหมายมากกว่านั้น ที่พูดมาอาจเรียกได้ว่าเป็นประโยชน์ทางโลก แต่ยังมีประโยชน์ทางธรรมที่จัดว่าเป็นประโยชน์ตน คือการที่บุคคลนั้นมีศีลมีธรรม มีจิตใจที่สงบ มีจิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน มีปัญญาเข้าใจความจริงของชีวิต รวมถึงการรู้จักแก้ทุกข์บำบัดทุกข์ให้กับตนเองได้ อันนี้ก็เป็นประโยชน์ในทางจิตใจ
เวลาพูดถึงประโยชน์ตนแล้วพระพุทธเจ้าสรรเสริญ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเห็นแก่ตัวนะ ที่จริงการเห็นแก่ตัวนี่แหละที่เป็นการบั่นทอนประโยชน์ตน ใครที่มีความเห็นแก่ตัวมาก ประโยชน์ตนก็จะถูกบั่นทอน เพราะเป็นการเปิดช่องให้กิเลสมารบกวนรังควาญและชักนำให้เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งนอกจากเป็นการเชื้อเชิญความทุกข์ ความเดือดเนื้อร้อนใจมาให้กับตนแล้ว ก็ยังนำไปสู่ความทุกข์ในวันหน้า ตายไปแล้วก็ย่อมไปสู่ทุคติ ไม่ใช่สุคติ
แต่ไม่ต้องรอให้ตายหรอกนะ เพราะขณะที่มีชีวิตอยู่ ความเห็นแก่ตัวก็เหมือนกับเพลิงที่เผาผลาญใจ นำไปสู่การเบียดเบียนผู้อื่น บั่นทอนประโยชน์ท่านและประโยชน์ตนไปพร้อมกัน ฉะนั้นเวลาพูดถึงประโยชน์ตน มันไม่ได้หมายถึงความเห็นแก่ตัว แต่ตรงข้ามเลยทีเดียว
พูดถึง ‘ประโยชน์ท่าน’ ก็เหมือนกันนะ ประโยชน์ท่านนี่มีความหมายทั้งในแง่ของการมีสุขภาพดี มีกินมีใช้ กินอิ่มนอนอุ่น รวมถึงการมีจิตใจที่สงบเย็น ไม่ถูกกิเลสเผาลนจิตใจ และการมีปัญญาเข้าใจความจริงของชีวิต เพราะถ้ามีปัญญาเข้าใจความจริงของชีวิต ความทุกข์ที่จะเกิดเพราะความยึดมั่นถือมั่น หรือเกิดเพราะความหลง ก็เกิดขึ้นได้น้อย
พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระอรหันต์ ท่านเป็นแบบอย่างของผู้ที่บำเพ็ญทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านอย่างถึงพร้อม ท่านเริ่มต้นด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ตน จนกระทั่งพ้นทุกข์เพราะหมดกิเลสหมดอาสวะ หลังจากนั้นจึงเข้าถึงความสงบเย็น และเนื่องจากไม่มีความยึดติดถือมั่นในตัวตน ท่านจึงมีเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณ จึงสามารถบำเพ็ญประโยชน์ท่านได้อย่างมากมาย
เพราะฉะนั้น พุทธคุณหรือองค์คุณของพระพุทธเจ้าที่เด่นชัดจึงมีสองประการ คือ ปัญญาคุณและกรุณาคุณ ส่วนวิสุทธิคุณก็เติมมาทีหลัง โดย ‘ปัญญาคุณ’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระองค์เข้าถึงความพ้นทุกข์ และเข้าถึงความสงบเย็นอันประเสริฐ ส่วน ‘กรุณาคุณ’ ก็เป็นเหตุให้พระองค์บำเพ็ญประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งมนุษย์และเทวดา
ทั้งปัญญาคุณและกรุณาคุณ ท่านอาจารย์พุทธทาสก็นำมาพูดอีกแง่หนึ่ง ซึ่งทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและน่าจะเป็นจุดหมายของชีวิตได้ นั่นก็คือ ‘สงบเย็นและเป็นประโยชน์’ ท่านกล่าวว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์
‘สงบเย็น’ จัดว่าเป็นประโยชน์ตน ไม่ใช่แค่สงบเย็นเพราะไม่มีอะไรมากระทบ แต่เป็นในทางตรงกันข้ามคือ แม้มีสิ่งมากระทบแต่ใจก็ไม่กระเทือนไม่กระเพื่อม เพราะได้เข้าถึงสัจธรรมจนกระทั่งจิตไม่มีความยึดติดถือมั่น ถ้าจิตยังมีความยึดติดถือมั่น มีอะไรมากระทบที่ไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา ไม่ใช่แค่ร่างกายของเรา แต่ยังรวมถึงทรัพย์สินของเรา คนรักของเรา การงานของเรา พรรคพวกพี่น้องของเรา รวมทั้งความคิดอุดมการณ์ของเรา มันก็ย่อมเกิดความทุกข์เกิดความรุ่มร้อน
ต่อเมื่อจิตใจได้เข้าถึงความจริงที่ว่า มันไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นเป็นเราเป็นของเราได้ กิเลสอาสวะก็ไม่สามารถที่จะมารบกวนรังควาญ และความทุกข์ก็ไม่สามารถจะมาบีบคั้นจิตใจได้ อันนี้เรียกว่าเป็นความสงบเย็นอย่างลึกซึ้ง แต่ถึงแม้จะยังไปไม่ถึงภาวะเช่นนั้น การที่ เรารู้จักฝึกจิตให้มีสติ มีสมาธิ มีความรู้สึกตัว มีสัมมาทิฏฐิ มีปัญญา ก็ช่วยนำพาให้ชีวิตจิตใจเราเข้าถึงความสงบเย็นได้ โดยที่ไม่ต้องรอว่าจะต้องมาอยู่ป่า ต้องมาหลีกเร้นหรือไม่มีสิ่งมารบกวน
ถ้าเราเข้าใจคำว่าประโยชน์ตนอย่างถูกต้อง จะช่วยทำให้เราไม่เห็นแก่ตัว ขยันขันแข็งในการทำมาหากินประกอบอาชีพ รวมถึงมีความหมั่นเพียรในการฝึกตน ทั้งด้วยการรักษาศีล การเจริญสมาธิ และการเจริญปัญญาให้งอกงาม
จริงๆ แล้ว ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ไม่ได้เป็นเรื่องคนละส่วน ไม่ใช่ว่าต้องเข้าถึงประโยชน์ตนก่อนแล้วจึงค่อยไปทำประโยชน์ท่าน บางคนไปเข้าใจว่าต้องดับทุกข์ให้ได้ก่อน ต้องเข้าถึงนิพพานก่อนจึงจะทำประโยชน์ท่านได้ อันนี้ก็เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทีเดียว เพราะไปคิดว่าประโยชน์ตนกับประโยชน์ท่านเป็นคนละส่วนกัน
ที่จริงไปด้วยกันได้นะ ในขณะที่เราบำเพ็ญประโยชน์ตน จิตใจเจริญงอกงามมากขึ้น เราก็มีความพร้อมในการที่จะไปทำประโยชน์ท่านตามกำลังสติปัญญาของเรา ถ้าไปเข้าใจว่าต้องถึงพร้อมซึ่งประโยชน์ตนก่อน แล้วจึงจะไปทำประโยชน์ท่าน หลายคนนี่ทั้งชาติคงจะไม่ได้ทำประโยชน์ท่านเลย เพราะว่าไม่เข้าถึงหรือยังเข้าไม่ถึงพระนิพพานเสียที ยังไม่สามารถที่จะดับทุกข์ดับกิเลสอย่างสิ้นเชิงเสียที
ขณะที่เราบำเพ็ญประโยชน์ตน ก็สามารถจะก่อให้เกิดประโยชน์ท่านได้ เช่น ถ้าหากเราขัดเกลาจิตใจด้วยศีล และฝึกจิตให้มีเมตตากรุณา ฝึกจิตให้มีสติ มีขันติ การที่เราจะมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะมันช่วยทำให้ความเห็นแก่ตัวลดลง กิเลสเบาบางลง ซึ่งก็ทำให้เกิดความกรุณาที่อยากไปช่วยเหลือผู้อื่น
ขณะเดียวกัน ถ้าเราบำเพ็ญประโยชน์ท่าน ก็สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ตนได้ ตั้งแต่ระดับพื้นๆ หรือประโยชน์ทางโลก จนถึงประโยชน์ทางธรรมหรือประโยชน์ทางจิตใจ
มีผู้หญิงคนหนึ่งอายุยังไม่มาก แต่เธอติดเชื้อเอชไอวีจากสามี หลังจากนั้นสามีป่วย เธอก็ดูแลสามีจนเสียชีวิต ส่วนตัวเองกลายเป็นผู้หญิงติดเชื้อ แต่เธอก็นึกถึงคนอื่นซึ่งอาจประสบชะตากรรมเดียวกับเธอ รวมไปถึงคนที่อาจมีโอกาสติดเชื้อแบบเธอ เธอเลยไปเป็นวิทยากรเพื่อแนะนำผู้หญิงติดเชื้อให้รู้จักดูแลรักษาตัวเอง ขณะเดียวกันก็ให้มีกำลังใจในการประกอบกาชีพการทำงาน เพราะเมื่อหลายปีก่อนคนที่ถูกเปิดเผยว่าติดเชื้อเอชไอวีมักถูกสังคมรังเกียจ
เธอนึกถึงคนเหล่านั้นที่ลำบาก ทีแรกก็ไปเป็นวิทยากรให้คำแนะนำผู้หญิงที่ติดเชื้อ ตอนหลังก็นึกไปถึงเด็กเยาวชนที่อาจมีโอกาสติดเชื้อเพราะไม่มีความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ หรือการดูแลรักษาตัวเองอย่างถูกต้อง
ตอนแรกเธอไปเป็นวิทยากรตามโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะกับเด็กเยาวชนตามหมู่บ้านต่างๆ ตอนหลังก็ขยายออกไปไม่เพียงแต่การรู้จักดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากเชื้อ แต่เธอยังมองว่าการที่เด็กผู้หญิงติดเชื้อก็เพราะไปขายบริการ ที่ขายบริการก็เพราะไม่มีความรู้ เธอก็เลยไปเป็นวิทยากรแนะนำเรื่องการหารายได้ การประกอบอาชีพ เพื่อจะได้ไม่ต้องลงเอยด้วยการไปเป็นผู้หญิงขายบริการแล้วแพร่เชื้อไปยังคนอื่น
ตอนหลังเธอก็ทำกิจกรรมหลายอย่างที่ขยายไปสู่ชุมชนต่างๆ ทำมาสิบกว่าปีโดยที่สุขภาพของเธอก็ไม่ได้ย่ำแย่ และเธอก็ไม่ได้กินยาต้านเชื้อมากเท่าไหร่เลย หลายคนพอติดเชื้อแล้วสุขภาพแย่ แต่เธอนี่เหมือนคนปกติทั้งที่ทำงานเยอะ พอมีคนถามเธอว่า “พี่ทำงานเยอะๆ แบบนี้ พี่ไม่กลัวป่วยเหรอ” เธอตอบว่า “ถ้าพี่คิดถึงแต่ตัวเอง พี่ป่วยไปนานแล้ว”
การที่เธอคิดถึงผู้อื่น และทำอะไรต่ออะไรเพื่อผู้อื่น มันเป็นประโยชน์แก่ตัวเธอเองด้วยนะ ทำให้สุขภาพดี ทำให้ไม่เครียด ทำให้มีความสุข ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงกายและใจให้มีภูมิต้านทานเชื้อเอชไอวีได้ การทำเพื่อผู้อื่นนี้สามารถส่งผลดีต่อตัวเราเองได้
อันนี้ก็คล้ายกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง เธอเป็นจิตอาสาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กในบ้านปากเกร็ด บรรดาเด็กที่ถูกทิ้งหรือพ่อแม่ไม่พร้อมจะเลี้ยงดูก็เอามาให้ทางบ้านปากเกร็ดเลี้ยง แต่เจ้าหน้าที่เขาไม่พอ เขาก็ต้องการอาสาสมัครหรือจิตอาสาไปช่วยเล่นกับเด็กบ้าง อุ้มเด็กบ้าง เป็นพี่เลี้ยงเด็กบ้าง เพราะเด็กก็มีหลายวัย
ตัวเธอเองเป็นไมเกรนและเป็นอย่างแรง ปวดหัวมากต้องกินยาประจำ แต่เธอก็มีใจไปเป็นจิตอาสาอาทิตย์ละสองครั้ง ทำไปได้สักสองสามอาทิตย์ เธอก็สังเกตว่าวันไหนเธอไปเป็นจิตอาสาให้กับเด็ก วันนั้นเธอจะลืมกินยา มาเอะใจก็หลังจากที่ผ่านไปแล้วสองสาม อาทิตย์ ก็แปลกใจว่าทำไมไม่ได้กินยา เพราะแต่ก่อนต้องกินยาประจำทุกวันเลย เธอมาพบว่าที่ลืมกินยาเพราะมันไม่ปวด ทำไมถึงไม่ปวด เพราะว่ามีความสุขที่ได้ไปเป็นจิตอาสาให้กับเด็ก
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า ประโยชน์ท่านเมื่อทำแล้วก็ส่งผลให้เป็นประโยชน์ตนได้ ประโยชน์ตนในที่นี้ก็คือสุขภาพที่ดีขึ้นหรือความเจ็บปวดที่ทุเลาลง
แต่บางคนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องของจิตใจนะ อย่างมีจิตอาสาอีกคนหนึ่งเป็นผู้ชาย เขาตามภรรยาไปเป็นจิตอาสาให้กับบ้านปากเกร็ดเหมือนกัน แกเป็นคนใจร้อน ลูกน้องนี่กลัวเพราะโดนด่าเป็นประจำ แต่หลังจากที่ไปเป็นจิตอาสาอยู่พักหนึ่งประมาณสองสามเดือน ลูกน้องเห็นความเปลี่ยนแปลง บอกว่าเดี๋ยวนี้ลูกพี่ใจเย็นขึ้น แกก็เลยสังเกตว่า เออ เราใจเย็นขึ้นหลังจากไปเป็นจิตอาสา พอถามว่าทำไปถึงเป็นอย่างนั้น แกบอกว่าเวลาไปดูแลเด็กมันต้องอดทน ต้องมีความอ่อนโยนต่อเด็ก
ความใส่ใจต่อเด็กมันช่วยขัดเกลาจิตใจเขาให้มีความอ่อนโยน เพราะจะทำอะไรวู่วามตามใจไม่ได้ กลายเป็นว่าแทนที่จะไปช่วยเด็ก เด็กกลับช่วยทำให้จิตใจเขาอ่อนโยนและใจเย็น หลายคนพบว่าพอไปเป็นจิตอาสาแล้วใจเย็นสุขุมมากขึ้น อ่อนโยนมากขึ้น คือมันช่วยขัดเกลาจิตใจได้นะ ในการทำเพื่อผู้อื่นหรือทำประโยชน์ต่อผู้อื่น มันช่วยลดความเห็นแก่ตัวลง อันนี้เรียกว่าการทำประโยน์ท่านก็ส่งผลก่อให้เกิดประโยชน์ตนได้
ขณะเดียวกันถ้าเราทำประโยชน์ตน มันก็ช่วยทำให้การบำเพ็ญประโยชน์ท่านเป็นไปในทางที่ดีงาม คนที่รู้จักขัดเกลาตนเอง รวมทั้งรู้จักทำใจให้สงบเป็นสมาธิ มีสติ เมื่อเขาไปทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มันจะช่วยหนุนให้การทำงานนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
มีคนเป็นจำนวนมากที่ไม่สนใจเรื่องการทำประโยชน์ตน นึกถึงแต่การไปช่วยหลือผู้อื่น นึกถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม นึกถึงการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก แต่ทำไปแล้วก็เริ่มเสียศูนย์ เพราะเจออุปสรรค เจอความยากลำบาก เจอความล้มเหลว หรือเกิดความหงุดหงิด เกิดความคับแค้น บางทีก็ไม่ได้พักเลย กลายเป็นเสียศูนย์ไป บางคนถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยนะ เพราะเจอความผิดหวัง เจอความไม่สมหวังมากมาย ทุ่มเทไปเท่าไรก็ไม่เกิดผล หรือเกิดผลตรงกันข้าม มีเยอะเลยนะ
แต่ถ้ารู้จักฝึกตน ฝึกจิตฝึกใจให้มีสติ มีสมาธิ อย่างน้อยก็ช่วยทำให้ความกลัดกลุ้มรุ่มร้อนมันบรรเทาเบาบางลง ยิ่งถ้าเกิดมีความเข้าใจในความจริงของโลก ก็จะทำให้ไม่รู้สึกท้อแท้ผิดหวังกับอุปสรรคกับความล้มเหลว และการเข้าใจในความจริงของชีวิตจะทำให้ไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรม ไม่ว่าโลกธรรมฝ่ายบวกหรือโลกธรรมฝ่ายลบ
เพราะถ้าหวั่นไหวกับโลกธรรมมันก็ง่ายที่จะเป็นทุกข์เมื่อเจอความล้มเหลว เจอความผิดหวัง หรือเวลาได้รับความสำเร็จได้รับคำชื่มชมสรรเสริญ ก็อาจหลงตัวลืมตนไปเพลิดเพลินกับความสำเร็จคำสรรเสริญ ซึ่งก็ง่ายมากที่จะทำให้คลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เป็นอุดมคติ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำไปแล้วก็พ่ายแพ้ต่อกิเลส เพราะไปหลงติดกับความสำเร็จ กับผลประโยชน์ที่ได้
คนเราถ้าไม่ขัดเกลาตนเอง การที่จะพ่ายแพ้ต่อตัณหา มานะ ทิฏฐิ ก็ง่ายมาก
ตัณหาคือความอยากได้ ได้รับผลประโยชน์ อยากได้ผลประโยชน์ก็ทำให้ทุจริตบ้างละ หรือขายอุดมการณ์ขายอุดมคติบ้างละ หรือถ้าติดในชื่อเสียง มานะเพิ่มพูน ก็กลายเป็นว่าทำเพื่อส่งเสริมอัตตาของตัวเอง ได้อำนาจก็หลงติดในอำนาจ แล้วก็กอบโกยอำนาจมาให้ตัวเยอะๆ ก็ทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกับผู้คน หรือกำจัดฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะถ้าหากติดยึดในทิฏฐิ ใครที่คิดต่างจากตัวแม้จะเป็นเพื่อน แม้จะเป็นคนใกล้ชิดก็กำจัดออกไป กลายเป็นว่าแทนที่จะทำเพื่อส่วนรวม ก็กลายเป็นทำเพื่อตัวเอง หาประโยชน์เข้าตัว ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา มานะ ทิฏฐิ
อันนี้เพราะว่าไม่ได้บำเพ็ญประโยชน์ตน โดยเฉพาะการขัดเกลาจิตใจ ไม่ใช่แค่ลดความเห็นแก่ตัว แต่รู้จักเข้าถึงความสงบเย็น คนเราถ้าเข้าถึงความสงบเย็นแล้ว มันก็มีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่โหยหาความสุขจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นคำชื่นชมสรรเสริญ อำนาจเกียรติยศ หรือผลประโยชน์
จะเห็นได้ว่า ถ้าหากรู้จักขัดเกลาหรือเข้าถึงประโยชน์ตน การทำประโยชน์ท่านก็จะเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันเมื่อบำเพ็ญประโยชน์ท่านแล้ว ถ้าทำด้วยความจริงใจมันก็ส่งผลให้เกิดประโยชน์ตน
ในทางตรงกันข้าม ถ้าทำแต่ประโยชน์ตนแล้วไม่บำเพ็ญประโยชน์ท่าน บางทีมันก็อาจจะกลายเป็นการส่งเสริมความเห็นแก่ตัวก็ได้นะ มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนมากเลยที่เอาแต่ปฏิบัติ แต่ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม มีบางรายน้องชายป่วยหนักเป็นมะเร็งไม่มีคนดูแล พยาบาลก็พยายามติดต่อพี่สาวให้มาช่วยดูแลน้องชาย เพราะน้องชายไม่มีใครแล้ว พี่สาวปฏิบัติธรรมอยู่อีกที่หนึ่ง พอพยาบาลติดต่อไปก็ปฏิเสธ บอกว่าเขาทุกข์ก็เป็นเรื่องของเขา เป็นกรรมของเขา แต่ฉันก็จะปฏิบัติธรรมของฉันไป ฉันไม่สนใจมาดูแล
ถ้าขาดน้ำใจ ไม่มีน้ำใจแม้กระทั่งกับคนใกล้ตัวเช่นน้องหรือพี่ อย่างนี้จะเรียกว่าปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องได้อย่างไร บางคนเอาแต่ปฏิบัติธรรม แต่ไม่สนใจพ่อแม่เลยนะ พ่อแม่ลำบากยังไงก็ไม่สนใจ ไม่คิดที่จะช่วยงานบ้านหรือแบ่งเบาภาระของท่าน คิดอย่างเดียวว่าจะเอาบุญมาฝากพ่อแม่ แต่ไม่มีนำใจที่จะช่วยเหลือท่าน อย่างนี้แสดงว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง ยิ่งทำยิ่งเห็นแก่ตัว เพราะกลัวความสงบในจิตใจมันจะกระทบกระเทือน
สิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่า การปฏิบัติธรรมของเราเป็นการปฏิบัติจริงหรือเปล่า เป็นการลดละความเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ก็คือการไปช่วยผู้อื่น ถ้าใจมันขัดขืนไม่ยอมช่วยผู้อื่น ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม แสดงว่ายังปฏิบัติไม่ถูก หรือยังเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ซึ่งก็มีเยอะนะ ยิ่งปฏิบัติยิ่งเห็นแก่ตัว เพราะนึกถึงแต่ประโยชน์ตน แต่ไม่ได้สนใจประโยชน์ท่าน ในแง่นี้การบำเพ็ญประโยชน์ท่านจะช่วยลดความเห็นแก่ตัว และทำให้การบำเพ็ญประโยชน์ตนเป็นไปอย่างถูกต้อง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านพูดสรุปเอาไว้ถึงชีวิตของชาวพุทธที่พึงระลึกนึกถึง เรียกว่าเป็นอุดมคติก็ได้ ท่านบอกโดยสรุปสั้นๆ ว่า ‘อยู่ใน ใจเหนือ เกื้อโลก’ หมายความว่าขณะที่ตัวอยู่ในโลก แต่ให้ใจอยู่เหนือโลก หรือเหนือโลกธรรม แม้ลาภยศสุขสรรเสริญก็ไม่ได้เพลิดเพลินหลงใหล เรียกว่าอยู่เหนือโลกธรรม แต่ว่าเกื้อโลก คือเกื้อกูลต่อผู้คน
ใจเหนือ’ เพราะเข้าถึงประโยชน์ตน ส่วน ‘เกื้อโลก’ คือการบำเพ็ญประโยชน์ท่าน ก็ตรงกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดสรุปไว้ว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์
ให้เราระลึกนึกถึงเอาไว้นะ ถามตัวเราเองว่าตอนนี้เราเข้าถึงความ ‘สงบเย็นเป็นประโยชน์’ ไหม ถามตัวเราเองว่าตอนนี้เรา ‘อยู่ใน ใจเหนือ เกื้อโลก’ หรือเปล่า หรือว่าสามารถจะบำเพ็ญ ‘ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน’ ให้ถึงพร้อมหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นเครื่องวัดถึงความเป็นชาวพุทธหรือความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของเราได้.