พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 22 กันยายน 2565
คนเราสื่อสารกันก็ด้วยคำพูดเป็นส่วนใหญ่ เหมือนกับที่ตอนนี้อาตมาก็สื่อสารกับพวกเราด้วยคำพูด คำพูดเป็นสื่อที่ทำให้เรารู้ว่าใครกำลังทำอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร แล้วเราก็ใช้คำพูดหรือถ้อยคำนี้ในการสื่อให้คนอื่นได้รู้ว่า เราเป็นอย่างไร คิดอะไร ทำอะไรอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือ คนเรานี้อาศัยคำพูดหรือถ้อยคำในการส่งผ่านข้อมูลให้แก่กันและกัน
แต่ที่จริงแล้ว คนเราไม่ได้สื่อสารกันด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียว มีนักวิชาการหรือผู้รู้บอกว่า ข้อมูลได้มาจากคำพูดหรือภาษาพูดแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ อีก 38 เปอร์เซ็นต์ได้จากน้ำเสียง ส่วนที่เหลือ 55 เปอร์เซ็นต์ส่งผ่านมาทางภาษากาย
พูดง่ายๆ ก็คือ ข้อมูล 100 แต่เรารับรู้ผ่านภาษาพูด คำพูด หรือถ้อยคำแค่ 7 เท่านั้น ที่เหลือส่งผ่านมาทางน้ำเสียงรวมทั้งภาษากาย คืออากัปกิริยา เช่น ใบหน้าท่าทาง อันนี้ก็น่าคิดนะ เพราะเรามักจะคิดว่าถ้อยคำหรือคำพูด เป็นวิธีหรือการสื่อสารที่สำคัญที่สุด แต่ที่จริงแล้วมีวิธีอื่นที่สำคัญกว่า
มีผู้ชายคนหนึ่งยังหนุ่มอยู่เลย อายุยังไม่ถึง 20 ก็เกิดเป็นอัมพาต ชนิดที่ว่านอกจากขยับเขยื้อนไม่ได้แล้ว ก็ยังพูดไม่ได้ ทำได้แค่เกลือกตา ลองนึกภาพถ้าเราตกอยู่ในสภาพนั้นมันจะลำบากอึดอัดแค่ไหน เพราะต้องนอนอยู่บนเตียงสถานเดียวเลย ยังดีหน่อยที่กินได้เคี้ยวได้
ชายหนุ่มคนนี้นอนติดเตียงอยู่นานเป็นเดือน ทีแรกเขารู้สึกเบื่อมาก แต่ตอนหลังด้วยความที่อยู่นิ่งๆ ทำอะไรไม่ได้ ก็ทำให้เขาเป็นคนที่ช่างสังเกต เขามีพี่สาวน้องสาวอยู่หลายคน เขาก็สังเกตว่าเวลาพี่ๆ หรือน้องสาวคุยกัน
ใบหน้าหรือสีหน้าท่าทางอากัปกิริยา บ่อยครั้งมันไปคนละทางกับคำพูดเลย เช่นคนหนึ่งบอกว่า “ความคิดเธอดีนะ” แต่น้ำเสียงสีหน้าอากัปกิริยาท่าทางมันบอกไปอีกทางหนึ่ง มันบอกว่า “ความคิดเธอมันไม่ได้เรื่องเลย”
เวลาพี่สาวจะให้ผลไม้แก่น้องสาว เขาก็พบว่าน้ำเสียงและท่าทางอากัปกิริยา รวมทั้งใบหน้าของพี่สาวมันบอกไปอีกทางหนึ่ง มันบอกว่า “ฉันไม่อยากให้เธอเลยนะ ฉันอยากเก็บไว้กินคนเดียว” เวลาคนหนึ่งบอกว่าใช่ ปรากฏว่าสีหน้าท่าทางน้ำเสียงมันบอกว่าไม่ใช่ ตรงข้ามกันเลย
แล้วเขาก็พบว่า พี่น้องของเขามีภาษากายหรืออากัปกิริยาที่บ่งบอกว่า ‘ไม่ใช่’ ถึง 16 แบบ เวลาปากบอกว่าใช่ แต่สีหน้าท่าทางใบหน้าอากัปกิริยาที่บอกว่าไม่ใช่นั้นมีวิธีการแสดงออกถึง 16 แบบ
อันนี้ก็นับว่าเขาช่างสังเกต และทั้งหมดที่เขาสังเกต เขาไม่ได้บันทึกใส่กระดาษแต่เขาจดจำ มันก็ทำให้เขาเชื่อหรือตระหนักว่า คำพูดนั้นบอกความจริงได้แค่ส่วนเดียว แต่น้ำเสียง ใบหน้า สีหน้า ท่าทาง อากัปกิริยาบอกความจริงได้มากกว่า
มันทำให้เขาได้รู้จักคนอื่นจากสีหน้าท่าทาง จากน้ำเสียง จากอากัปกิริยาได้ดีกว่าคำพูด ที่ว่าดีกว่ายังรวมถึงถูกต้องกว่าด้วยนะ เพราะคำพูดบอกว่าใช่ แต่ภาษากายบอกว่าไม่ใช่ คำพูดบอกว่า “ให้เธอนะ” แต่ภาษากายบอกว่า “ฉันอยากเก็บไว้คนเดียว”
อันนี้เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยได้สังเกต ว่าจริงๆ แล้วคำพูดมันบอกอะไรแก่เราไม่ค่อยครบถ้วนเท่าไหร่ แล้วบางทีอาจจะทำให้เราเข้าใจผิดก็ได้ ในขณะที่น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง อากัปกิริยานี่บอกความจริงได้ดีกว่า หรือบอกข้อมูลได้ถูกต้องกว่า อันที่จริงแล้วมันสามารถบอกอะไรได้ลึกซึ้งกว่าด้วยนะ บางทีลึกซึ้งกว่าคำพูด
อย่างครูบาอาจารย์หลายท่าน ท่านก็ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยสอน แต่อากัปกิริยาหรือพฤติกรรมของท่านบอกอะไรเราเยอะแยะเลย บอกอะไรเราได้มากกว่าคำพูดของท่าน และบอกอะไรที่มันลึกซึ้งกว่าคำพูด อย่างที่เขาบอกว่า “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัสได้”
ความสงบเย็นของครูบาอาจารย์ บางครั้งก็ไม่สามารถจะสื่อออกมาได้ด้วยคำพูด แต่เรารับรู้ได้ด้วยใจ ซึ่งบางครั้งก็ผ่านอากัปกิริยาของท่าน หรือผ่านน้ำเสียงใบหน้ารอยยิ้มของท่าน บางทีคำพูดของท่านอาจจะดุเรา แต่ใบหน้าน้ำเสียงอากัปกิริยาของท่านบ่งชี้ถึงความเมตตา ความห่วงใย
อย่างหลวงพ่อคำเขียน หลายเรื่องหลายอย่างท่านก็ไม่ได้สอนด้วยคำพูด แต่ท่านบอกเราผ่านการกระทำ หรือบอกเราด้วยการกระทำ ซึ่งถ้าเกิดเรามองไม่ออกก็เท่ากับว่าน่าเสียดาย อย่างเช่นเวลาท่านใช้บริขาร ใช้ย่าม ใช้บาตร ใช้จีวร ท่านก็เอาใจใส่ดูแลอย่างดีเลย
เวลาซักจีวรนี่ไม่เคยเห็นท่านบิดจีวรเลย หรือบิดน้อยมาก เวลาซักก็ไม่ได้บิดให้น้ำสะเด็ดออกมา แต่ใช้วิธีผึ่งแดดหรือตากเอาไว้ เคยถามท่านก็บอกว่า ถ้าบิดแล้วมันจะเปื่อยง่าย ยุ่ยง่าย มันจะไม่ทน ก็ไม่แปลกใจเลยที่ผ้ารัดเอวของท่านมีอยู่ผืนหนึ่งที่ท่านใช้ถึง 20 ปี แต่ตอนหลังไม่รู้ว่าใครทำหายไป ซึ่งท่านไม่ได้ทำหายเองนะ แต่มีคนอื่นทำหายไป
อันนี้ท่านก็บอกเรา แต่ไม่ได้บอกหรือสอนด้วยคำพูด แต่สอนเราบอกเราด้วยการกระทำ หรือการที่ท่านดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ ท่านก็ไม่เคยพูดกับลูกศิษย์ว่าต้องดูแลเอาใจใส่นะ แต่ท่านทำเอง และการกระทำของท่านก็บอกอะไรเราได้หลายอย่างเกี่ยวกับต้นไม้ เกี่ยวกับคุณค่าความหมายของธรรมชาติ ซึ่งถ้าเรื่องแบบนี้เรามองไม่ออก ก็เท่ากับว่าขาดโอกาส สูญเสียโอกาสที่จะได้เข้าใจธรรมะในเรื่องของการเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เช่น ปัจจัยสี่หรือเครื่องบริโภค แล้วยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย
ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้สื่อไม่ได้สอนด้วยคำพูด แต่ท่านบอกเราด้วยการกระทำ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องมองให้ออก
แล้วไม่ใช่เฉพาะครูบาอาจารย์อย่างเดียวนะ สิ่งที่อยู่รอบตัวเราเช่นธรรมชาติ เขาก็บอกอะไรเรามากมาย ซึ่งมีความลึกซึ้งแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองได้ถึงหรือเปล่า อย่างดอกบัวนี่เขาจะหันหน้าเขาหาแสงสว่าง หันเข้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลาไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม บางทีอยู่ใต้ถุนกุฏิ อย่างเมื่อหลายปีก่อน ตรงศาลากลางน้ำจะมีดอกบัวเยอะเลย แล้วก็มีดอกบัวหลายดอกที่พยายามจะหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ หันหน้าเข้าหาแสงสว่าง
ทีนี้ดอกบัวบอกอะไร สอนอะไรเรา ถ้ามองเป็นมองออกเราจะพบว่า คนเราก็ควรจะหันจิตหันใจเข้าหาธรรมะ เข้าหาสิ่งที่เป็นแสงสว่างให้กับจิตใจ อย่าเข้าหาสิ่งที่เป็นความดำมืดหรือทำให้ชีวิตหม่นหมอง รวมทั้งต้องรู้จักออกจากความทุกข์ด้วยนะ ความทุกข์บางครั้งก็ทำให้จิตใจหมองมัว ยิ่งคิดในทางลบ จิตก็ยิ่งดำดิ่งอยู่ในความทุกข์ ต้องรู้จักหันไปหาสิ่งที่จะให้ความหวัง หรือให้ทางสว่างแก่ชีวิตจิตใจ
ใบบัวก็เหมือนกัน เขาก็สอนเราบอกเรา เวลาหยดฝนตกลงมา หยดน้ำก็ไม่ติดใบบัวเลย อันนี้เขาบอกอะไรเรา แน่นอนเขาไม่ได้บอกเป็นคำพูด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นบอกอะไรเราได้หลายอย่าง บอกว่าจิตใจคนเราก็ควรจะไม่ให้กิเลสเข้ามาฉาบ เข้ามาทา เข้ามาแปดเปื้อน น้ำไม่ซึมเข้าใบบัวฉันใด เราก็ไม่ควรให้กิเลสซึมเข้าไปในจิตใจ รวมทั้งไม่ให้รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสเข้ามาติดในใจ เหมือนกับน้ำที่ไม่ติดใบบัว
แล้วเวลาน้ำหลายหยดเข้ามารวมกันอยู่ที่กลางใบบัว บางครั้งฝนตกลงมา ก็มีน้ำหลายหยดรวมกันอยู่ที่กลางใบบัว แล้วใบบัวทำยังไง ใบบัวไม่อยู่เฉยนะ แต่พยายามที่จะส่ายไปส่ายมา ส่ายเพื่อให้หยดน้ำมันไหลออกไป ใบบัวจะไม่ยอมเก็บกักน้ำให้เป็นภาระหรือให้มันหนักเลย อันนี้เขาบอกอะไรเรา บอกเราว่าอย่าไปแบกอย่าไปยึดให้มันหนักอกหนักใจ ต้องรู้จักถ่ายเทมันออกไป
ธรรมชาตินี้เขาบอกอะไรเราหลายอย่าง แต่เดี๋ยวนี้เรามองไม่ค่อยออก เพราะเราถนัดในการรับรู้ผ่านถ้อยคำ ถ้าไม่ใช่คำพูดก็เป็นตัวอักษร อันนี้ก็เป็นเพราะว่าการศึกษาสมัยใหม่ทำให้คนเรารับรู้ข้อมูลผ่านถ้อยคำ ผ่านคำพูดหรือผ่านตัวอักษรอย่างเดียว แต่การเรียนรู้หรือการรับรู้ข้อมูลโดยไม่ต้องผ่านถ้อยคำ อันนี้เราชักจะเริ่มทำไม่เป็นกันแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าธรรมชาติบอกอะไรเรา เราก็เลยไม่เคยรับรู้ ไม่เคยได้ยิน
ยกตัวอย่างอาจารย์พุทธทาส เวลาใครไปสวนโมกข์ บ่อยครั้งท่านจะแนะนำให้ขึ้นไปบนเขาพุทธทอง ไปฟังเสียงต้นไม้พูด ไปฟังก้อนหินพูด หลายคนก็งงเพราะว่าฟังไม่เป็น ฟังเสียงจากธรรมชาติไม่เป็น ฟังเสียงจากก้อนหินไม่เป็น เพราะคุ้นหรือถนัดแต่กับการฟังเสียงพูด อะไรที่ไม่ใช่คำพูดนี่มองไม่ออกฟังไม่เป็น ทั้งที่มันเต็มไปด้วยสาระ เต็มไปด้วยสัจธรรมมากมาย
อย่าว่าแต่ธรรมชาตินอกตัว ธรรมชาติในตัวเราเช่น รูป ที่เรียกว่าเราเป็นเราเนี่ย มันบอกอะไรเราเยอะแยะเลยนะ ถ้าเรารู้จักมองรู้จักเงี่ยหูฟังบ้าง โดยเฉพาะเวลาเจ็บเวลาป่วยนี่เขาบอกอะไรเราหลายอย่างเลย แต่หลายคนก็ไม่ได้ยินนะ
บางทีร่างกายบอกว่า “พักได้แล้วๆ” แต่หลายคนก็ไม่ได้ยิน เพราะร่างกายไม่ได้สื่อสารด้วยคำพูด แต่เขาอาจจะสื่อสารในรูปของความรู้สึก ความเหนื่อยล้า ความปวดเมื่อย แต่คนส่วนใหญ่ไม่เก็ต ไม่ได้ยิน หรือมองไม่ออก มารู้ตัวอีกทีก็ป่วยเข้าแล้ว หรือบางทีก็ปวดหลังอย่างรุนแรง ปวดข้อปวดกระดูกอย่างหนัก ทั้งที่เขาส่งสัญญาณหรือบอกเราเตือนเรามานานเต็มที บางทีไม่ใช่แค่เป็นเดือนแต่เป็นปี
แล้วไม่ใช่แค่นั้น เขายังบอกสัจธรรมกับเราด้วยว่า สังขารนี้เป็นทุกข์ เป็นกองทุกข์ ที่จริงเวลาเจ็บป่วยก็ยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่า สังขารคือร่างกายนี้มันเป็นตัวทุกข์จริงๆ ถ้าฟังออกมันก็ได้ประโยชน์คือเกิดปัญญา
อย่างอาจารย์พุทธทาสท่านก็บอกอยู่เสมอว่า ป่วยทุกทีก็ให้ฉลาดทุกครั้ง ฉลาดในเรื่องของสังขาร ฉลาดในเรื่องของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ร่างกายไม่เที่ยง สังขารเป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา บังคับบัญชาไม่ได้
หลวงพ่อคำเขียนท่านก็พูดอยู่หลายครั้งว่า เวลาป่วยมันคือกำไรนะ เพราะว่ารูปหรือร่างกายนี่มันกำลังบอกสัจธรรมให้กับเรา แต่เราก็ไม่ได้ยิน เพราะเรารู้แต่ภาษาพูด แต่สิ่งที่ไม่ใช่ภาษาพูดทั้งที่สำคัญ แต่เรามองไม่ออกฟังไม่เป็น
ไม่ใช่แค่รูปอย่างเดียว แต่นามก็เหมือนกัน คือใจนี่ก็บอกเราตลอดเวลาเลย แต่เราก็จับไม่ได้ ความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้นเขาก็บอกเรา บอกตั้งแต่ว่ามันไม่เที่ยงนะ บอกว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา รวมทั้งเป็นตัวเตือนด้วย
ความโกรธ ความทุกข์ ความเศร้า พวกนี้ถ้าดูดีๆ มันทำให้เห็นเลยว่า เป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่น เป็นเพราะความหลง จึงจมเข้าไปในความทุกข์ จึงปรุงแต่งเข้าไปในทางลบทางร้าย พูดง่ายๆ ก็คือ ความทุกข์มันบอกอะไรเราหลายอย่าง ขอเพียงแต่รู้จักมองหรือรู้จักฟัง
ฉะนั้นเราต้องฉลาดในการฟัง ฉลาดในการมอง หรือเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ที่เขาไม่ได้สื่อออกมาเป็นถ้อยคำ เดี๋ยวนี้เราติดถ้อยคำมาก ถ้าไม่พูดเป็นถ้อยคำ เราก็จะไม่เข้าใจเลย มองไม่เป็นฟังไม่ออก เดี๋ยวนี้ถ้าดูหนัง พอดูจบถามว่าเขาบอกอะไรเรา หลายคนตอบไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องธรรมชาติก้อนหินต้นไม้ใบบัว เอาแค่ว่าหนังหรือละครเรื่องหนึ่งจบแล้วเขาบอกอะไรเรา
หลายคนก็เหมือนเด็กนะ ที่ต้องมีการสรุปถึงจะรู้ว่าเขาบอกอะไรเรา อย่างเช่นนิทานเรื่องนี้สอนว่าอะไรแบบนิทานอีสป เพราะถ้าคนเขียนเขาไม่บอกว่าสอนอะไร เราไม่รู้เลยนะว่าเขาบอกอะไร – อย่างนิยายละครหรือหนัง เคยถามหลายคนนะ ถามว่าสนุกไหม เขาบอกสนุก แล้วเขาบอกอะไรเรา ตอบไม่ได้ เพราะคนสร้างเขาไม่ได้ลงท้ายว่าเรื่องนี้สอนอะไรเรา เหมือนกับคนเขียนนิทานที่บอกว่านิทานเรื่องนี้สอนอะไร
ฉะนั้นต้องรู้จักการถอดบทเรียน หรือสรุปบทเรียนจากสิ่งที่เห็นด้วยตา ถอดออกมาเป็นถ้อยคำ แต่บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องถอดออกมาเป็นถ้อยคำก็ได้ เพราะเพียงแค่รับรู้ด้วยใจมันก็มากพอแล้ว
การที่เรามาปฏิบัติธรรม ก็ช่วยให้เราได้เห็นได้รู้สิ่งที่รูปกับนามได้สื่อออกมา พอเราหวนกลับมาดูกายดูใจบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีความรู้สึกตัวก็จะช่วยให้เรามองออกว่า รูปและนาม กายกับใจกำลังบอกอะไรเรา โดยที่ไม่จำเป็นต้องพูดออกมาเป็นถ้อยคำ
ความรู้สึกตัวเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถที่จะถอดรหัสจากรูปกับนาม รวมทั้งที่อยู่รอบตัว เช่น รูปที่กระทบตา เสียงที่กระทบหู เมื่อก่อนมองไม่ออกว่ามันบอกอะไรเรา แต่พอเรามีความรู้สึกตัวแล้วรู้จักวางความคิดลง มันก็จะเห็น ได้ยินสิ่งที่ธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นรูป นาม หรืออารมณ์ภายนอกนั้นบอกกับเรา
ต้องหมั่นฝึกเอาไว้นะ อย่าไปสนใจแต่การเรียนรู้ผ่านถ้อยคำหรือคำพูด มันจะทำให้เราขาดโอกาส เพราะอย่างที่ผู้รู้เขาบอกว่า ข้อมูลนี่มันส่งผ่านภาษาพูดแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือนั้นไม่ได้ผ่านภาษาพูด บางทีเขาก็ใช้สิ่งที่เรียกว่าอวจนภาษา แต่ที่จริงมันมากกว่านั้น.