พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมเย็นวันที่ 21 กันยายน 2565
คนเราเวลาจะทำอะไรก็ต้องมีความตั้งใจ และสิ่งที่ควบคู่กับความตั้งใจคือความอยาก
ความตั้งใจกับความอยากมันก็คล้ายๆ กัน แต่ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน ความอยากก็มีอยู่ 2 อย่าง คืออยากทำกับอยากได้ ถ้าหากว่าเรามีความตั้งใจและมีความอยากทำ มันก็ช่วยให้การกระทำนั้นเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
แต่ส่วนใหญ่คนก็มีความอยากได้มากกว่า ความอยากได้ก็เป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ที่ทำให้คนทำนั่นทำนี่ รวมทั้งการมาภาวนา หรือการมาปฏิบัติธรรมด้วย หลายคนก็อาศัยความอยาก โดยเฉพาะความอยากได้เป็นแรงผลักดัน เพราะว่าไม่อย่างนั้นก็พ่ายแพ้ต่อความเบื่อหน่าย พ่ายแพ้แต่ความเกียจคร้าน มันต้องมีความอยากได้เป็นตัวล่อ ให้เกิดความเพียรขึ้นมา
แต่ว่าในขณะที่ความอยากได้ มันทำให้เราลงมือทำ หรืออาจจะเกิดความขยันหมั่นเพียร แต่บ่อยครั้งความอยากได้นั่นแหละเป็นอุปสรรค ทำให้ไม่สามารถจะได้สิ่งที่ปรารถนา หลายคนมาปฏิบัติเพราะอยากได้ความสงบ ความอยากได้ความสงบมันก็ผลักดันให้ทำความเพียร แต่ก็กลายเป็นว่ายิ่งอยากได้ความสงบ กลับไม่ได้ความสงบ เพราะว่ามันไปทำให้จิตเสียสมดุล หรือขาดความปกติไป แล้วพอจิตเสียสมดุลแล้ว ความสงบก็เกิดขึ้นได้ยาก
โดยเฉพาะเมื่อไปพยายามบังคับจิต เช่นบังคับจิตไม่ให้คิด พยายามไล่บี้ความคิดที่เกิดขึ้น พยายามผลักไสสิ่งต่างๆ ที่มันผุดขึ้นมาในใจ ที่มันไม่ใช่ความสงบ รวมทั้งการรู้สึกต่อต้านผลักไส สิ่งที่คิดว่ามันจะทำให้ไม่สงบ เช่น เสียงที่มารบกวน เสียงดัง เสียงคนคุยกัน ความรู้สึกลบที่มันเป็นตัวการทำให้เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา จิตใจเลยไม่สงบ แต่ที่ความรู้สึกลบเกิดขึ้นได้ เพราะมองว่ามันเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบที่อยากได้ ยิ่งอยากได้ความสงบ ก็ยิ่งไปกดข่มบังคับจิต และยิ่งจิตมันถูกบังคับ มันก็ยิ่งดิ้นรน ยิ่งพยศเข้าไปใหญ่
มันเหมือนกับวัยรุ่น ยิ่งไปห้ามก็เหมือนกับยิ่งยุ ยิ่งบังคับก็ยิ่งต่อสู้ขัดขืน ถ้าไม่ไปบังคับเขา เขาก็อยู่อย่างสงบๆ แต่พอไปบังคับเขา ก็ทำให้เกิดการพยศ เกิดการต่อสู้ขัดขืน มันก็เลยเกิดความหงุดหงิดขึ้นมาในใจ
ที่จริงการทำอะไรก็ตาม โดยเฉพาะการภาวนา มันไม่จำเป็นต้องอาศัยความอยากเลยก็ได้ โดยเฉพาะความอยากได้ ไม่มีความอยากได้แต่ก็ได้ขึ้นมา อันนี้คือสิ่งที่เราควรตระหนัก และที่ได้หรือสิ่งที่ประสงค์เกิดขึ้น ก็เพราะว่าทำตรงตามเหตุตามปัจจัย
หากว่าเราสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้มันตรงกับกรณี หรือว่าทำให้ทุกกรณี ถูกต้องตามเหตุตามปัจจัย อย่าว่าแต่ความสงบเลย ปัญญาที่เข้าใจความจริงของชีวิตขั้นลึกซึ้งก็เกิดขึ้นได้ เราควรหนักว่าไม่ต้องอาศัยความอยาก โดยเฉพาะความอยากได้ สิ่งดีๆ ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ ขอให้ทำถูกต้องตามเหตุตามปัจจัย
มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่หลวงปู่มั่นท่านยังไม่ได้มีชื่อเสียงมาก มีคราวหนึ่งท่านก็ไปธุดงค์บนดอยทางภาคเหนือ แล้วก็มีลูกศิษย์แค่ 1 ท่านตามท่านไปด้วย คือพระอาจารย์เทศน์ ท่านเห็นว่าบนดอยบรรยากาศสงบ เกื้อกูลต่อการภาวนา แล้วก็อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ท่านก็เลยกางกลดปักกลดที่นั่น ตั้งใจว่าจะอยู่สักระยะหนึ่งไม่นาน แล้วท่านก็จะธุดงค์ต่อไป หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ก็คือหมู่บ้านชาวเขา
หมู่บ้านชาวเขานี่ไม่รู้จักพระ ไม่รู้จักพุทธศาสนาเลย เห็นหลวงปู่มั่นไปบิณฑบาตรกับลูกศิษย์ ก็ถามว่ามาทำอะไร ท่านก็อธิบายให้ฟัง แล้วต้องใส่อะไรบ้าง ท่านก็บอกว่าแค่ข้าวก็พอ ปรากฏว่าชาวบ้านนี่ใส่ข้าวสาร ไม่ใช่ข้าวสุก เพราะว่าไม่รู้เรื่อง เพราะเป็นชาวเขา ท่านก็ไม่ว่าอะไร ได้ข้าวสารมาก็ฉันไม่ได้ ตอนหลังชาวบ้านก็เลยรู้ว่าต้องใส่ข้าวสุก
แต่ว่าอยู่ไปได้ไม่กี่วัน ก็มีเสียงลือว่าหลวงปู่มั่นกับลูกศิษย์ที่จริงเป็นเสือเย็น เสือเย็นนี่คล้ายๆ เสือสมิง ชาวบ้านเขามีความเชื่อว่าเสือพวกนี้มันแปลงกายเป็นคนได้ แล้วก็เป็นอันตรายต่อคน เพราะว่าสามารถจะกินคนได้ เสือเย็นนี่มาเพื่อที่จะมาลากคนไปเป็นอาหาร
มีข่าวลือแบบนี้ชาวบ้านก็กลัว ชาวเขาน่ะ ก็มีคำเตือนเลยนะ ว่าอย่าให้ผู้หญิงและเด็กเข้าไปใกล้พระ 2 รูปนี้ ผู้ชายถ้าจะเข้าไปใกล้ก็ต้องมีอาวุธด้วย และอย่าไปคนเดียว กลัวกันมาก ยิ่งห่มเหลืองด้วย ก็เหมือนเสือเขาไปใหญ่
ส่วนผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชาวบ้านก็ไปด้อมๆ มองๆ ไปสังเกตว่าวันๆ นี่ทำอะไรกันบ้างพระ 2 รูปนี้ ก็เห็นหลวงปู่มั่นกับลูกศิษย์เดินจงกรม หรือไม่ก็นั่งภาวนาทั้งวัน นั่งไม่แปลกใจ แต่เดินนี่ เดินกลับไปกลับมา เฝ้ามองอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งเห็นว่าท่านไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอะไร ก็เกิดความกล้าเข้าไปสอบถามหลวงปู่มั่น ท่านกำลังหาอะไร กำลังเดินหาอะไร
หลวงปู่มั่นก็ตอบว่ากำลังเดินหาพุทโธ ชาวเขาก็ถามว่าพุทโธมันคืออะไร ท่านก็อธิบายว่าพุทโธคือดวงแก้วที่ประเสริฐ ชาวเขาสนใจขึ้นมา ก็ถามว่าแล้วพวกเราจะเดินตามหาพุทโธช่วยตุ๊เจ้าจะได้ไหม หลวงปู่มั่นก็บอกได้เลย มาช่วยตามหาหน่อย ทำอย่างไรล่ะ ท่านบอกว่าเดินกลับไปกลับมา แล้วก็นึกในใจว่าพุทโธ พุทโธ ถามว่าเดินเท่าไหร่ ก็เดินสัก 15-20 นาที
พอหลวงปู่มั่นแนะนำการเดินจงกรม แต่ว่าท่านไม่ได้เรียกว่าเดินจงกรมนะ ท่านเรียกว่าเดินหาพุทโธ หัวหน้าชาวเขาด้วยความที่อยากจะช่วย ก็เลยเดินจงกรมตามหาพุทโธ โดยไม่รู้ว่านั่นคือการเดินจงกรม พอใจนึกถึงพุทโธ พุทโธ โดยไม่รู้ว่านั่นคือการบริกรรม ปรากฏเดินไม่นานจิตใจก็สงบเย็น สงบเย็นมากเลย เกิดสนใจขึ้นมา
หลวงปู่มั่นก็เลยแนะนำการภาวนาเพิ่มเติมให้ ปรากฏว่าไม่นานผู้ใหญ่บ้านก็ถึงขั้นรู้วาระจิตของคนที่อยู่ใกล้ๆ รู้ว่าใครจิตใจสว่าง จิตใจหม่นหมอง เป็นที่อัศจรรย์มาก เล่าให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านก็เลยสนใจ เดินหาพุทโธกันใหญ่เลย ทั้งหมู่บ้านเลย แล้วหลายคนก็พบความสงบ แล้วก็ได้เข้าใจ เข้าใจเรื่องของตัวเอง จิตใจของตัวเองมากขึ้น ก็เลยเกิดศรัทธาในหลวงปู่มั่น ตอนนี้ไม่กลัวแล้วว่าเป็นเสือเย็น
ตอนหลังหลวงปู่มั่นก็เห็นว่าชาวบ้านศรัทธา ก็แสดงธรรมให้เข้าใจพุทธศาสนา ปรากฏว่าทั้งหมู่บ้านเลย ก็หันมาเป็นอุบาสก อุบาสิกา นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ชาวบ้านเดินหาพุทโธโดยไม่รู้ว่านั่นคือการเดินจงกรม ทั้งๆ ที่ไม่ได้เดินเพราะอยากได้ความสงบ เพราะไม่รู้ว่านั่นคือการปฏิบัติเพื่อความสงบ ไม่รู้ว่านั่นคือการปฏิบัติธรรม แต่ตัวเองพอทำไปแล้ววางจิตวางใจถูก ใจก็อยู่กับการเดิน โดยมีการบริกรรมไปด้วย จิตก็นิ่ง ปรากฏว่าได้ความสงบ แล้วก็ได้คุณวิเศษอย่างอื่นตามมาด้วย
อันนี้มันชี้ให้เห็นเลยว่าแม้ไม่อยากได้ แต่ถ้าทำถูกวิธี ทำตามเหตุตามปัจจัยได้ถูกต้อง มันก็เกิดผลเหมือนกัน ไม่อยากได้นะ แต่ว่ามีความอยากทำ ที่อยากทำเพราะอยากช่วย อยากช่วยตุ๊เจ้า ก็เลยเกิดความสงบ
การภาวนาหรือการปฏิบัติธรรมหรือการทำอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญมันไม่ใช่อยู่ที่ความอยากได้ แต่อยู่ที่การลงมือทำ แม้ไม่รู้ว่านี่คือการภาวนา แม้ไม่รู้ว่านี่คือการเดินจงกรม หรือการทำกรรมฐาน แต่สิ่งที่ได้คือความสงบและความสว่างในจิตใจ
ตรงข้ามกับคนที่ทำด้วยความอยากได้ พอทำด้วยความอยากได้ ใจมันไม่ได้อยู่กับปัจจุบันแล้ว ใจมันไปอยู่กับอนาคตข้างหน้า คือสิ่งที่อยากจะได้ แล้วจะไปบังคับจิตเข้าไปใหญ่เลย ก็กลับกลายเป็นว่ายิ่งอยากได้ยิ่งไม่ได้ แต่ไม่มีความอยากได้กลับได้ ถ้าหากว่าปฏิบัติถูก
พระพุทธเจ้าก็เปรียบว่า เหมือนกับแม่ไก่ที่ฟักไข่ ถ้าแม่ไก่ฟักไข่อย่างต่อเนื่อง ในที่สุดไข่ก็ฟักเป็นตัว โดยที่แม่ไก่ไม่จำเป็นต้องมีความอยากเลยก็ได้ ขอให้ฟักไข่อย่างต่อเนื่อง มาถึงระยะหนึ่งไข่มันก็ฟักเป็นตัว
การที่เราจะทำอะไรให้เกิดผล มันไม่ได้อยู่ที่ความอยาก และบางทีความอยากโดยเฉพาะอยากได้ มันกลับกลายเป็นอุปสรรค พอไม่อยากได้แต่ทำถูกวิธี มันก็เกิดผลดีขึ้นมาได้ และนั่นคือสิ่งที่พวกเราที่มาสนใจการปฏิบัติธรรมต้องเข้าใจ อย่าปล่อยให้ใจมันไปหมกมุ่นอยู่กับความอยาก หรือผลที่ประสงค์จะให้เกิดขึ้น จนกระทั่งไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
มันก็มีเรื่องคล้ายๆ ทำนองนี้ เป็นเรื่องของสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในประเทศจีน เป็นสำนักที่มีชื่อมาก วันหนึ่งก็มีชายหนุ่มมาขอปฏิบัติที่สำนักนี้ ก็มาพบกับเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสก็บอกว่าให้ไปที่โรงครัว ผ่าฟืนหาบน้ำ ชายคนนี้ก็ผิดหวัง จะมาปฏิบัติธรรมแต่ให้ไปทำงานที่โรงครัว ก็เลยไปที่อื่นเลย เพราะว่าตั้งใจมาที่นี่ ไม่ใช่เพื่อจะมาทำงานผ่าฟืนหาบน้ำ ฉันจะมาภาวนาต่างหาก
ต่อมามีชายคนหนึ่งมาหาเจ้าอาวาส ก็พูดคล้ายๆ กันว่าอยากจะมาภาวนา เพราะว่าเห็นว่าชีวิตนี้มันไร้สาระ อยากจะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ มุ่งนิพพาน เจ้าอาวาสก็บอกให้ไปหาบน้ำผ่าฟืนที่โรงครัว ชายคนนี้ก็ไม่ค่อยพอใจแต่ก็ไป แต่ว่าทำไปก็บ่นไปๆ ว่าฉันไม่ได้ตั้งใจมาเพื่อผ่าฟืนหาบน้ำ ฉันตั้งใจมาเพื่อภาวนาเพื่อความพ้นทุกข์ ทำไปบ่นไปได้ 7 วันก็หนีเลย ไม่อยู่แล้ว ไปที่อื่นดีกว่า เพราะว่าผิดหวัง
ไม่นานก็มีชายหนุ่มคนหนึ่งมา ก็บอกว่าตัวเองไม่มีข้าวกิน ชีวิตแร้นแค้น อยากจะมาอยู่วัด ถ้ามีอาหารพอช่วยประทังชีวิต แล้วก็มีอะไรคุ้มหัวนอน ก็พร้อมที่จะทำงานแลก เจ้าอาวาสก็เลยให้ไปผ่าฟืนหาบน้ำ ชายหนุ่มคนนั้นก็ยินดี เพราะว่าถือว่าเป็นการทำงานแลกกับอาหาร แล้วก็ที่อยู่อาศัย ก็ตั้งใจทำ ไม่มีการบ่นอะไรเลย ใครสั่งอะไรก็ทำ ทำด้วยความเต็มใจ
ทำไปได้สัก 2-3 อาทิตย์ เจ้าอาวาสก็แนะนำให้เวลาทำ ให้ใจอยู่กับสิ่งที่ทำ ให้ทำด้วยความรู้สึกตัว ไม่ว่าจะหาบน้ำผ่าฟืน หรือทำอะไรก็ตาม ให้ใจอยู่กับสิ่งที่ทำ ให้มีสติให้มีความรู้สึกตัว ใจมันเผลอไหลไปไหนก็กลับมา ให้กลับมารู้ใจตัวเองในขณะที่ทำ
ชายหนุ่มคนนั้น เนื่องจากเป็นคนว่านอนสอนง่าย ก็รับไปทำตามคำแนะนำของเจ้าอาวาส ปรากฏว่าทำได้ไม่นาน ใจก็สงบเกิดสมาธิ แล้วก็เกิดปัญญา เห็นความจริงของกายและใจอย่างแจ่มแจ้งเลย ใจสว่างเลย เป็นการค้นพบที่เจ้าตัวก็ประหลาดใจ
ชายหนุ่มคนนั้นแกไม่รู้ตัวเลยว่าที่ทำอยู่คือการปฏิบัติธรรม คือการภาวนา แกไม่มีภาพเหมือนกับสองคนแรก ที่คิดว่าการภาวนาต้องนั่งหลับตา ต้องเดินจงกรม ไม่มีเลย และที่ทำงานในครัว ผ่าฟืนหาบน้ำ ก็ไม่ได้หวังความสงบอะไรเลย เพียงแต่ว่าต้องการทำงานแลกกับอาหาร แล้วก็ที่อยู่อาศัย
แต่ว่าสิ่งที่ทำ โดยเฉพาะการวางใจของชายคนนั้น มันคือการวางใจที่เหมาะเจาะกับการภาวนา ก็คือใจอยู่กับปัจจุบัน แล้วก็ทำด้วยความเพียรอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างมีสติ และทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความอยากเลย ไม่ได้มีความอยากจะได้พบกับความสงบหรือความสว่าง
แต่เนื่องจากวางจิตวางใจถูก แล้วก็ทำได้อย่างต่อเนื่อง ก็กลับได้รับอานิสงส์ของการภาวนาอย่างเต็มที่เลย ทั้งที่ใช้เวลาไม่กี่วัน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การภาวนานี่ไม่ได้ต้องอาศัยความอยาก ไม่อาศัยมันกระทั่งว่าความรู้ว่านี่คือการภาวนา ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือการภาวนา คิดแต่ว่าเป็นแค่การทำงานตามหน้าที่ เพื่อแลกกับน้ำ ข้าว และที่พัก
แต่เพราะวางใจถูก นั่นคือการสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ตรงตามกรณี เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม ผลก็ย่อมปรากฏ แม้ไม่อยากหรือไม่รู้ แต่ผลก็เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
ฉะนั้นเวลาเราทำอะไรก็ตาม อย่าว่าแต่การภาวนาเลย แม้กระทั่งการทำงาน สิ่งสำคัญคือการสร้างเหตุสร้างปัจจัย หรือเขาเรียกว่าประกอบเหตุให้ถึงพร้อม และถ้าประกอบเหตุให้ถึงพร้อม ผลมันย่อมทนอยู่ไม่ได้ ผลมันย่อมแสดงตัวออกมา
เหมือนกับต้นไม้ ถ้าหากว่าได้น้ำ ได้ปุ๋ย เมื่อถึงเวลามันก็ออกดอกออกผล จะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ตาม หมายถึงคนปลูกนะ ต้นไม้มันก็ออกดอกออกผลในที่สุด มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยากของเรา เพราะฉะนั้นจึงควรประกอบเหตุให้ถึงพร้อม
และในบางกรณี จะเรียกว่าส่วนใหญ่ก็ได้ ต้องวางความอยาก โดยเฉพาะอยากได้ลงเสีย เพราะว่าความอยากได้นี่แหละ ซึ่งก็คือตัณหานี่แหละ มักจะเป็นอุปสรรคขัดขวาง ให้การประกอบเหตุไม่ถึงพร้อม โดยเฉพาะถ้าทำเรื่องที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่นเรื่องการบำเพ็ญทางจิต เรื่องการบำเพ็ญทางจิตมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพียงแค่มีตัณหา และเกี่ยวข้องกับตัณหาไม่ถูก ปล่อยให้มันรบกวนจิตใจ มันก็ทำให้การประกอบเหตุที่จะนำไปสู่ผล เกิดขึ้นได้ยาก
ฉะนั้นให้เราเข้าใจตรงนี้ว่าเวลาภาวนา อย่าปล่อยให้ความอยากได้หรือตัณหา มาเป็นใหญ่เหนือจิตใจของเรา วางมันลงได้ยิ่งดี เพราะถ้าเราวางมันลงได้ การที่ไปควบคุมจิต เพื่อจะได้ผลอย่างที่ต้องการ มันก็จะน้อยลง อันนี้หลวงพ่อเทียนท่านก็พูดอยู่เสมอ ทำเล่นๆ อย่าตั้งใจมาก อย่าทำด้วยความอยาก เพราะความอยากนี่แหละจะเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะอยากได้ ซึ่งเป็นตัวตัณหา
ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ ก็ให้เราตั้งจิตอยู่ที่การประกอบเหตุให้ดี ใส่ใจที่เหตุ อย่าไปกังวลกับผล ถ้าเหตุมันถึงพร้อม ผลมันย่อมทนอยู่ไม่ได้.