พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 19 กันยายน 2565
มีอาจารย์คนหนึ่ง ทำสมุดบันทึกสำหรับเด็ก แต่เป็นสมุดบันทึกที่น่าสนใจ แล้วก็แปลก คือบันทึกอารมณ์ของตัวในแต่ละวัน
หนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นด้วยการพูดถึงแมวเหมียวตัวหนึ่ง แมวตัวนี้ก็เหมือนกับหนูๆ นี่เขาเขียนไว้ในหนังสือ แมวตัวนี้ก็เหมือนกับหนู คือมีอารมณ์ที่หลากหลายในแต่ละวัน
บางครั้งก็มีความโกรธ เวลาถูกพ่อแม่ต่อว่า บางทีโกรธจนกระทั่งเขวี้ยงปาข้าวของ แต่บางทีก็เศร้า เวลาแม่ไม่ให้ดูการ์ตูนเพราะได้เวลานอน แต่บางครั้งก็ดีใจ ได้เจอเพื่อนๆ ได้เล่นสนุกสนานกัน แต่พอเล่นกันนานๆก็เบื่อ เกิดความรู้สึกเบื่อขึ้นมา บางครั้งก็เกิดความกลัว เวลาเจออะไรที่ไม่รู้จัก สิ่งที่ยาก เป็นเรื่องที่ท้าทาย
พูดถึงอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แล้วในสมุดเล่มนั้นก็มีรูปแมวเหมียว ที่อยู่ในอารมณ์ต่างๆ ให้เด็กสมมุติว่าตัวเองเป็นแมวเหมียว แล้วในแต่ละวันให้ระบุว่า ตอนนี้อยู่ในอารมณ์ไหน หรือมีอารมณ์ใดเกิดขึ้น ที่เด่นๆ เช่น โกรธ กลัว เบื่อ เศร้า ดีใจ แล้วก็รักด้วย
เสร็จแล้วก็ทำมากกว่านั้นคือ ให้เด็กลองพิจารณาว่า อะไรหรือใคร ที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ สังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวในแต่ละวัน แต่ให้คิดต่อไปพิจารณาต่อไปว่า เกิดเพราะอะไร หรือเป็นเพราะใคร
แล้วก็มีข้อความให้เติมว่า วันนี้อยากจะขอบคุณใคร หรืออยากจะขอบคุณอะไร แล้วสุดท้ายให้เด็กลองพิจารณาว่า วันนี้เรามีความรู้สึกดีๆ หรือมีความสุขเกิดขึ้นหรือไม่ มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เรามีความสุข ทั้งหมดนี้ภายในหนึ่งหน้า
ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยพ่อแม่ช่วย ช่วยให้เด็กระบุว่า ตัวเองอยู่ในอารมณ์ไหน แล้วก็เขียนข้อความที่ทำให้เห็นชัดว่า ที่มีอารมณ์แบบนี้เพราะอะไร หรือเพราะใคร ทำทุกวันๆ อันนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ช่วงทดลองอยู่
แต่ก็น่าสนใจนะความคิดนี้ คือการที่ทำให้หรือช่วยให้เด็ก เขาได้มาสังเกตอารมณ์ของตัว ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เด็กรู้จักตัวเอง เด็กเล็กๆนี่ที่จริงอย่าว่าแต่เด็กเลย เด็กโตหรือผู้ใหญ่นี่ การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แล้วสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นได้จากการแนะนำตั้งแต่วัยเด็ก บางที่ยังเรียนอนุบาลก็สอนได้ ให้เขารู้จักตัวเอง
รู้จักตัวเองคือรู้จักอย่างง่ายๆ คือรู้ว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ในอารมณ์ไหน หรือว่ามีความรู้สึกอย่างไรในแต่ละช่วงหรือในแต่ละวัน พ่อแม่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการรู้จักตัวเองหรือการรู้ตัว อยากจะให้ลูกๆ รู้วิชาความรู้ รู้วิชาการ
คิดแต่ว่าจะให้ลูกไปเรียนโรงเรียนไหน ที่จะทำให้ลูกมีวิชาการ หรือมีความรู้ทางวิชาการได้ดีขึ้น หรือเก่งกว่าคนอื่น ส่วนใหญ่ก็คิดกันแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเงิน พ่อแม่มีความรู้ จบปริญญา เป็นด๊อกเตอร์ เป็นหมอ อยากจะให้ลูกมีความรู้วิชาการมากๆ ดีหน่อยคือ อยากให้ลูกรู้ผิดชอบชั่วดี รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อันนี้ดีหน่อย
คือรู้แค่วิชาการไม่พอหรือวิชาชีพไม่พอ ต้องรู้ผิดชอบชั่วดี แต่รู้เท่านี้ยังไม่พอต้องรู้ตัวด้วย หรือรู้จักตัวเองด้วย เพราะถ้าไม่รู้จักตัวเอง ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นความโศก ความเศร้า ความโกรธ ความกลัว หรือว่าความโลภ
วิชาการความรู้ที่มีบางทีก็เอามาใช้ไม่ถูกต้อง หรือว่าไม่ได้เอามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของตัว เพราะมันเอามาใช้ไม่ได้ เป็นโรคซึมเศร้าหรือว่าอกหัก จะเอาความรู้ทางโลก วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มาช่วยแก้ทุกข์นี่ มันยากนะ หรือว่าทำไม่ได้เลย
ในทำนองเดียวกัน แม้จะรู้ผิดชอบชั่วดี รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ว่าถ้าลืมตัว หรือกำลังโกรธ หรือกำลังหน้ามืดเพราะความโลภ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันลืมหมดเลย เอามาใช้เพื่อหักห้ามใจ ไม่ให้ทำสิ่งที่ผิดพลาดหรือว่าสิ่งที่เลวร้ายไม่ได้
อย่างที่มีคำพูดว่า ดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ อดใจไม่ได้เพราะว่าอะไร เพราะว่าลืมตัว เพราะปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ ครอบงำ
เพราะฉะนั้น จะรู้วิชาการก็ดี จะรู้ผิดชอบชั่วดี อันนี้ดีแล้ว แต่ว่าต้องรู้ตัว หรือรู้จักตัวเอง อย่างน้อยก็รู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในอารมณ์ไหน หรือว่ามีอารมณ์ใดเกิดขึ้นในใจของตัวตอนนี้ มันก็ไม่เหมือนกันทีเดียว รู้ว่าตัวเองอยู่ในอารมณ์ใด กับรู้ว่ามีอะไรมีอารมณ์ใดเกิดขึ้นกับใจของตัว
รู้ว่าตัวเองอยู่ในอารมณ์ใด มันก็เข้าไป”เป็น”แล้ว แต่รู้ว่ามีอารมณ์ใดอยู่ในใจของตัว อันนี้เรียกว่า”เห็น” มันต่างกันระหว่าง “เป็น” กับ “เห็น” แต่ก็ยังดี อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าตัวเองอยู่ในอารมณ์ใด เพราะว่าผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยเลย ไม่รู้ตัวว่า ตัวเองมีอารมณ์ใดเกิดขึ้นตอนนี้
เดี๋ยวนี้ไม่รู้เลยว่าตอนนี้รู้สึกยังไง ตอบไม่ได้ สิ่งที่ตอบเป็นความคิดหมดเลย แต่ไม่สามารถจะตอบความรู้สึกได้ว่า เศร้า เบื่อ หงุดหงิด ว้าวุ่น เซ็ง หรือว่าเบื่อหน่าย ผู้ใหญ่จำนวนมากตอบไม่ได้ ตอบได้แต่ความคิด
เวลาถามว่ารู้สึกยังไง ก็ตอบเป็นความคิดหมด รู้สึกว่าตอนนี้รถติดมากเลย หรือรู้สึกว่าร่างกายมันอ่อนแอ อันนี้ยังดีหน่อยยังเป็นความรู้สึก แต่ว่าที่ตอบหลายอย่างเป็นความคิดหมด
แล้วถ้าเด็กรู้จักความรู้สึกของตัว มันช่วยได้ ช่วยให้หลุดจากการครอบงำของความรู้สึกได้ มีเด็ก 3 ขวบ เสียใจมากเลย ลูกกบตัวเล็กๆน่ารักตาย กบสวยด้วย กบแฟนซีมั้ง เด็กก็เศร้า แม่ก็บอกลูกว่า อย่าไปเศร้าเลยนะ เพราะว่าเดี๋ยวแม่หาซื้อใหม่ให้ หรือไม่ก บางทีแม่ก็บอกว่า เออคนเราเกิดมาก็ต้องตาย
พูดยังไง อ้างเหตุผลอย่างไร อ้างสัจธรรมอย่างไร เด็กก็ไม่หายเศร้า จนกระทั่งแม่บอกว่า หนูเศร้าใช่ไหม หนูเศร้าที่ลูกกบตายใช่ไหม เด็กก็พยักหน้า แล้วแม่ก็นั่งอยู่กับลูกเงียบๆ สักพักหนึ่งเด็กก็ลุกขึ้นมา แล้วก็หายเศร้า
เวลาเด็กมีความรู้สึกยังไง อย่าไปบอกว่า อย่าไปเศร้า อย่าไปโกรธ อย่าไปเสียใจ แต่ว่าสะท้อนให้เด็กเขารู้ว่า เขาอยู่ในอารมณ์ไหน ถ้าเขาโกรธแม่ โกรธยาย ก็ให้เขาสะท้อนให้เห็นว่า เขาโกรธแม่โกรธยาย ไม่ใช่บอกว่าอย่าโกรธ อย่าโกรธ
เวลาเขาเจ็บ ก็อย่าบอกว่าอย่าเจ็บๆ ไม่เจ็บนะ หกล้มนี่ไม่เจ็บนะ แต่บอกให้เด็กรู้ว่า ลูกกำลังรู้สึกเจ็บใช่ไหม นี่ช่วยได้เยอะเลย ช่วยทำให้เด็กออกจากอารมณ์ ที่กำลังสร้างความทุกข์ให้กับเด็กได้ แต่ต่อไป สอนให้เด็กรู้จักสังเกตอารมณ์ของตัวเอง ไม่ต้องมีแม่หรือพ่อเป็นตัวสะท้อน
อย่างมีเด็กคนหนึ่งอายุ 12 วันหนึ่งกลับไปบ้าน บอกว่า แม่ หนูอยากได้ของเล่นชนิดหนึ่งจังเลย .. อะไรล่ะ ..
เรื่องนี้มันก็ 15 ปีมาแล้ว เด็กบอกว่า อยากได้ไมโครโฟน ที่เวลากดแล้วมันร้องเพลงได้เหมือนกับร้องเพลงจริงๆ .. สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ แม่ถามว่าเท่าไหร่ .. เด็กตอบว่า 400 โห มันแพงสำหรับครอบครัวนี้ ไม่เคยให้เด็กมากขนาดนั้น
แม่มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ปกติคือตามใจลูก หรือมิฉะนั้นก็ห้ามลูกเลย แต่แม่คนนี้เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น เขาบอกว่า ถ้าลูกอยากได้แม่ก็จะช่วย แต่มีข้อแม้อยู่ 2 ข้อ
หนึ่ง แม่จะหักเงินลูก ค่าขนมวันละครึ่งหนึ่ง
สอง ทุกเย็นเวลาลูกกลับไปบ้าน ให้ลูกแวะไปที่ร้านนั้น ดูของชิ้นนั้นแล้วก็ดูใจไปด้วย สังเกตใจของตัวไปด้วย เด็กก็ยินดีรับปาก
เด็กก็ทำทุกวันเลย ก่อนกลับบ้านก็แวะที่ร้าน ดูของ แล้วก็ดูใจของตัว ดูสังเกตความอยาก พอถึงวันที่สี่ เด็กบอกแม่ว่า หนูไม่เอาแล้วของเล่นนี่ อ้าวทำไมล่ะ เบื่อแล้ว หนูไม่อยากได้แล้ว เอาเงิน 400 นี่ไปซื้ออย่างอื่นดีกว่า ความอยากของเด็กหายไปเลย ทั้งที่ตอนแรกอยากได้มาก จนกระทั่งแม่รู้เลยห้ามไม่ได้
แต่ว่าพอเด็กมาดู สังเกตความอยากของตัว ความอยากก็ค่อยๆละลายหายไป เพราะว่าอารมณ์ทุกอย่างมีจุดอ่อนตรงที่ว่า มันกลัวการถูกรู้ถูกเห็น ถ้าไปเห็นมัน ไปสังเกตมัน มันจะค่อยๆละลายหายไปเลย
แม่ก็รู้ว่า ถ้าให้เด็กสังเกตความอยากนี่ ความอยากก็จะอยู่ไม่นาน แล้วเด็กในที่สุดก็รู้ว่า ความอยากก็ชั่วคราว ถ้ารู้ว่ามันเกิดขึ้น หรือรู้ทันมัน มันก็อยู่ได้ไม่นาน
เพราะฉะนั้น การรู้จักตัวอารมณ์เองหรือการรู้จักตัวเอง สำคัญต่อชีวิตของเด็กมาก รวมทั้งสำหรับผู้ใหญ่ด้วย ถ้าไม่รู้จักตังเองหรือรู้ทันอารมณ์ของตัวเอง ก็จมอยู่ในความทุกข์ หรือว่าตกอยู่ในอำนาจกิเลสได้ง่าย.