พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 18 กันยายน 2565
ในสมัยพุทธกาลมีชายหนุ่มคนหนึ่ง เป็นลูกเศรษฐีร่ำรวยมาก ชายหนุ่มคนนี้ชื่อว่าสุรอัมพัฏฐ สุรอัมพัฏฐเจริญรอยตามบิดามารดา คือนับถือนักบวชที่เรียกว่าอัญญเดียรถีย์ บางทีเรียกสั้นๆว่านักบวชเดียรถีย์ ก็คือไม่ใช่นักบวชในพระพุทธศาสนา
เช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงใช้ญาณสอดส่อง บุคคลที่มีโอกาสที่จะเห็นธรรม ก็พบว่า สุรอัมพัฏฐมีอุปนิสัยที่จะเห็นธรรมได้ ด้วยพระกรุณาก็เลยเสด็จไปหาสุรอัมพัฏฐ ไปยืนอยู่หน้าบ้าน อย่างนิ่งสงบ
สุรอัมพัฏฐเห็นพระพุทธเจ้า ก็ระลึกได้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีฐานะสูงส่ง เป็นวรรณะกษัตริย์ แต่ว่าละทิ้งราชสมบัติ มาบวช แล้วก็สั่งสอนผู้คนมากมาย ตัวเราจะละเลยท่าน ไม่ใส่ใจท่าน ก็กระไรอยู่ ควรที่เราจะนิมนต์ท่านเข้ามาในบ้านของเรา
สุรอัมพัฏฐไม่ได้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า แต่เห็นว่าพระองค์เป็นบุคคลที่น่านับถือ ละทิ้งราชสมบัติ เพื่อมาแสวงหาโมกขธรรม ก็เลยนิมนต์เข้ามาในบ้าน แล้วตามธรรมเนียมก็นำอาหารมาถวาย พระพุทธเจ้าหลังจากที่เสร็จภัตกิจ ก็เลยสนทนากับสุรอัมพัฏฐ
สนทนาไปสักพัก พระองค์เห็นเป็นโอกาสที่จะได้แสดงธรรม แสดงธรรมในเรื่องของขันธ์ 5 ว่าขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุรอัมพัฏฐได้พิจารณาตาม เกิดดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
แล้วเลยเกิดศรัทธาอย่างยิ่งในพระพุทธองค์ แล้วก็รวมไปถึงพระธรรม พระสงฆ์ด้วย คือเกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย เลยขอถือเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จากเดิมที่ไม่มีความเชื่อในเรื่องพระรัตนตรัยเลย ตอนนี้เกิดศรัทธามาก
พระพุทธเจ้าเสร็จภัตกิจ แล้วสนทนาธรรมเสร็จ ก็เสด็จกลับไปกรุงสาวัตถี หลังจากนั้นไม่นาน มาร พอรู้ว่าสุรอัมพัฏฐสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า เกิดความกังวลว่า สุรอัมพัฏฐเคยอยู่ในอำนาจของเรา ก็กลัวว่าสุรอัมพัฏฐหลังจากที่ได้ปวารณาตนเป็นอุบาสกแล้ว จะหลุดจากอำนาจของมาร
เลยมีอุบายที่จะล่อหลอก ให้สุรอัมพัฏฐกลับมามีความเห็นแบบมิจฉาทิฏฐิ จะได้อยู่ในอำนาจของมารต่อไป เลยแปลงกายมาเป็นพระพุทธเจ้า เหมือนเป๊ะเลยนะ เพราะมารมีความสามารถด้านนี้มาก แปลงกายมาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็มาที่บ้านของสุรอัมพัฏฐ สุรอัมพัฏฐก็แปลกใจว่า พระพุทธเจ้ามีธุระอะไรหรือ
เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าจำแลงก็มาบอกว่า ที่เมื่อกี้เราแสดงธรรมให้ท่านนี่ เรายังพิจารณาไม่ถี่ถ้วน ที่บอกว่าขันธ์ทั้งหลายมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่ ที่จริงมันไม่ใช่ทีเดียว มันยังมีขันธ์บางอย่าง ที่เที่ยง เป็นสุข แล้วก็เป็นตัวตน เรามานี่ก็เพื่อที่จะมาชี้แจงแก้ไข ให้ท่านเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
สุรอัมพัฏฐแม้ว่าศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง แต่ว่าเกิดสะดุดใจว่า ปกติพระพุทธเจ้ากล่าวคำใดแล้ว ย่อมไม่กลับวาจา ตรัสคำไหนเป็นคำนั้น แล้วทำไมพระองค์จึงกลับมาเปลี่ยนคำสอน เกิดความเอะใจขึ้นมา
แล้วที่จริงตัวสุรอัมพัฏฐเอง เนื่องจากเป็นพระโสดาบัน ก็ย่อมเห็นชัดอยู่แล้วว่าสัจธรรมความจริงคืออะไร เพราะว่าโสดาบันก็ย่อมละสักกายทิฐิ คือความเห็นผิดว่า สิ่งทั้งหลายเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา พอละได้ก็ย่อมรู้แจ้งว่า ไม่มีอะไรที่จะยึดว่าเป็นเราเป็นของเราได้ เพราะว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวตน
แล้วที่พระพุทธเจ้ามากล่าวบอกว่ามีขันธ์บางอย่างที่มันเป็นนิจจัง มันเป็นสุขขัง มันเป็นอัตตานี่ รู้สึกว่าทะแม่งๆ ก็เลยถามไปว่า ท่านคือมารใช่ไหม ปรากฎว่ามารตัวจริงซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าจำแลง ตกใจเลยนะ ธรรมชาติของมาร ถ้าถูกรู้ทันเมื่อไหร่ ยอมแพ้เลย
มารนี่มีฤทธิ์มาก แต่ว่าวิธีเอาชนะมารไม่ใช่สู้ด้วยฤทธิ์ พระโมคคัลลานะก็สู้มารไม่ได้ บางทีมารก็มาสร้างความปั่นป่วนในท้องพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะขับไล่มารยังไงก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งทักว่า ท่านคือมารใช่ไหม เท่านี้แหละ มารยอมแพ้เลย ออกจากร่างของพระโมคคัลลานะเลย
สุรอัมพัฏฐก็เหมือนกัน ท่านเป็นมนุษย์ไม่มีฤทธิ์เหมือนพระโมคคัลลานะ แต่ก็รู้ว่าเพียงแค่ทักมารเท่านี้แหละ มารก็ยอมแพ้ สุดท้ายมารก็ยอมเปิดเผยความจริงว่า เราไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรอกนะ เราเป็นมาร แล้วก็ล่าถอยหนีไป
ภายหลังพระพุทธเจ้าเมื่อได้ทราบเรื่องนี้ ตรัสว่า สุรอัมพัฏฐเป็นอุบาสกผู้เป็นเลิศ หรือเอตทัคคะด้านศรัทธาไม่หวั่นไหว คือมีศรัทธาที่แน่นแฟ้น ศรัทธาที่แน่นแฟ้นไม่หวั่นไหวของสุรอัมพัฏฐนี้คืออะไร คือศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา
ปกติเวลาเราพูดถึงศรัทธานี่ มันง่ายที่จะเกิดความหลงงมงาย แต่ศรัทธาที่ถูกต้อง หรือศรัทธาที่จะมั่นคงไม่หวั่นไหว ต้องเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา และปัญญาทำให้เกิดศรัทธาที่แน่นแฟ้น มันไปด้วยกัน
เมื่อมีศรัทธา ถ้าเป็นศรัทธาที่ถูกต้อง ย่อมพาไปสู่ปัญญา แล้วนี่คือสิ่งที่ชาวพุทธเราควรจะมี คือมีศรัทธาที่ถูกต้อง ศรัทธาที่พาไปสู่ความเข้าใจในความจริง อย่างที่เราสาธยายอยู่เป็นประจำว่า เมื่อใดบุคคลถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ศรัทธาที่ถูกต้อง ต้องพาเราไปสู่ความเห็นที่ถูกต้อง ไปสู่ความเข้าใจในสัจธรรม หรือทำให้เกิดปัญญา อย่างน้อยๆ เกิดความเข้าใจ เกิดความรู้ในเรื่องอริยสัจ 4 ศรัธาที่ถูกต้องคือ สะพานที่พาเราไปสู่ปัญญา หรือสัจธรรมความจริง
แต่บางคนมีศรัทธาแล้ว กลับติดตันแค่นั้น ไม่ไปต่อ เพราะฉะนั้นก็ง่ายที่จะเป็นศรัทธาที่เปราะบาง ง่อนแง่น แล้วก็มีคนมีศรัทธาแบบนี้เยอะมากเลย เพราะฉะนั้นพอเป็นศรัทธาที่ไม่พาไปสู่ปัญญา หรือไม่ประกอบไปด้วยปัญญา มันก็หลงงมงายได้ง่าย
อย่างบางคนนับถือครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกว่าพระรูปนี้เป็นพระอรหันต์ ไม่ได้คิด ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองเลย ทั้งๆที่ถ้าคิดพิจารณาหน่อยแล้วก็จะพบว่า พระรูปนี้ทะแม่งๆ มีพฤติกรรมที่ชวนสงสัย แต่ว่าไม่น่ะ พอครูบาอาจารย์บอกว่า พระรูปนี้เป็นพระอรหันต์ ก็เชื่อ
แล้วถึงเวลาความจริงปรากฏแฉออกมาว่า พระรูปนี้เป็นปาราชิก ผู้ที่ศรัทธาก็เกิดความเรียกว่าผิดหวัง เข้ารกเข้าพงไปเลยก็มี เชื่อถือผิดคนก็เพราะว่าศรัทธา
ที่จริงอย่าว่าแต่เรื่องพระอรหันต์เลย เดี๋ยวนี้ในโซเชียลมีเดีย เหตุผลหนึ่งข่าวลือข่าวเท็จที่แพร่ระบาดก็เพราะว่า มีความศรัทธาในผู้ส่ง มีความศรัทธาในผู้แชร์ ผู้แชร์เป็นครูบาอาจารย์ ผู้แชร์เป็นพระ ศรัทธาท่าน ศรัทธาผู้นั้น แชร์อะไรมาเราก็แชร์ต่อไป
หรือเราเชื่อ ทั้งที่บางทีถ้าใช้ปัญญาไตร่ตรองหน่อยก็จะรู้ว่ามันทะแม่ง เช่นแชร์มาว่า ทุเรียนนี่แก้มะเร็งได้ หรือทุเรียนนี่ถ้ากินเยอะๆ มันช่วยลดไขมันหรือลดความดันได้ ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาหน่อย ก็จะรู้ว่าข้อความที่ส่งมามันทำแม่งๆ แต่หลายคนส่งต่อ เพราะฉะนั้นก็เลยกลายเป็นคนเผยแพร่เฟคนิวส์ หรือเผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จ
นี่เป็นเพราะศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นอย่างนี้เยอะเลย มีความไว้วางใจคนที่ส่งมา แต่ว่าไม่ได้ใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาให้ถ่องแท้ เพราะฉะนั้นแม้แต่เรื่องพื้นๆ ยังหลงเชื่อ นับประสาอะไรกับเรื่องที่มันยากแต่ว่ามีความสำคัญ เช่นเรื่องธรรมะ
ฉะนั้นถ้ามีศรัทธาในใคร ต้องตรวจสอบดูว่า มันพาเราไปสู่ปัญญาไหม แล้วก็เมื่อศรัทธาใครก็ไม่ได้หลงเชื่อง่ายๆ อย่างสุรอัมพัฏฐ ถ้าหากว่าเป็นศรัทธาที่เหมือนคนทั่วไป พอพระพุทธเจ้าจำแลงมาบอก ก็เชื่อ ว่าสังขารบางอย่าง ขันธ์บางอย่างนี้ มันเป็นนิจจังสุขขังอัตตา แต่ว่าสุรอัมพัฏฐไม่ใช่เป็นบุคคลเช่นนั้น
ฉะนั้นศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา โดยเฉพาะศรัทธาในตัวบุคคลก็ต้องระมัดระวังมาก เพราะถ้าหากว่าไม่ประกอบไปด้วยปัญญา มันก็พาเข้ารกเข้าพง หรือว่าพาให้เกิดความทุกข์
เช่นศรัทธาครูบาอาจารย์ แล้ววันหนึ่งครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงเกิดลาสิกขา ผิดหวัง เป็นทุกข์ นอนไม่หลับ บางทีคับแค้น โกรธแค้นครูบาอาจารย์ท่านนั้น
อย่างอาจารย์โกวิทเขมานันทะ ตอนที่ท่านบวชมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ ท่านเป็นพระรุ่นเดียวกับหลวงพ่อคำเขียน แล้วก็มีชื่อเสียงมากกว่า ลูกศิษย์ลูกหาเยอะ บวชมา 16 พรรษา วันดีคืนดีก็สึกหาลาเพศ ลูกศิษย์จำนวนมากผิดหวังเสียใจ บางคนก็โกรธแค้น บางคนก็กล่าวหาท่าน
แต่หลวงพ่อเทียนท่านรู้ว่า อาจารย์โกวิทนี่ แม้สึกเป็นโยมก็เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นก็ไว้วางใจ ให้ท่านมาแสดงธรรมที่วัดสนามในเป็นประจำ ลูกศิษย์ไม่เข้าใจ บางทีก็ไปโกรธหลวงพ่อเทียนอีก ไปเชิญทิดโกวิทมาแสดงธรรมทำไม ไปกันใหญ่เลย
อันนี้เพราะว่า เป็นศรัทธาที่ยึดมั่นในตัวบุคคล แต่ว่าไม่ประกอบไปด้วยปัญญา ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาก็จะพบว่า จริงๆอาจารย์โกวิทท่านเป็นโยมก็ไม่ได้ต่างจากเป็นพระ ฉะนั้นคนเราที่ทุกข์มาก เพราะศรัทธาที่ง่อนแง่น ที่ไม่ได้ใช้ปัญญาหรือสติเท่าไหร่
ฉะนั้นเวลาเรามีศรัทธาอะไร ต้องตรวจสอบว่า เป็นศรัทธาที่เป็นสะพานไปสู่ปัญญาไหม หรือว่าแค่มีเครื่องที่ยึดเหนี่ยวให้อบอุ่นใจ ที่จริงมันก็ดีนะ มีศรัทธาในครูบาอาจารย์ และเกิดความอบอุ่นใจ แต่ว่ามันอาจจะกลายเป็นโทษเป็นทุกข์ได้ เมื่อเหตุการณ์ผันแปร.