พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 17 กันยายน 2565
มีสัตว์ชนิดหนึ่งเป็นที่หมายปองของผู้คน สัตว์ชนิดนั้นก็คือลิง มันมีวิธีจับลิงหลายวิธี แต่มีวิธีหนึ่งที่จับลิงที่ไม่บอบช้ำเท่าไร เป็นวิธีง่ายๆนั่นก็คือใช้มะพร้าว วิธีนี้เป็นภูมิปัญญาที่เรียกว่ามีอยู่ทั่วไปไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยหรือว่าเพื่อนบ้าน หลายประเทศไปจนถึงอเมริกาใต้ คนก็รู้จักวิธีนี้
ใช้มะพร้าวจับลิง เป็นวิธีที่ง่ายๆแต่ได้ผลดีมาก อย่างน้อยกับลิงในป่าโดยเขาใช้วิธีเจาะหัวมะพร้าว ให้เป็นรูเล็กๆ เล็กกว่ากำปั้นของลิง แต่ว่าใหญ่พอที่ลิงจะสอดมือเข้าไปได้ ตรงก้นมะพร้าวก็เจาะแล้วผูกเชือกเอาไว้เพื่อยึดกับต้นไม้ ต้นไม้นั้นต้องแข็งแรง แล้วที่กะลามะพร้าว หลังจากที่เขาเจาะรูตรงหัวมะพร้าวเขาก็จะใส่เหยื่อ อาจจะเป็นฝรั่ง ไข่ต้ม หรือว่าตะขบ พวกนี้จะส่งกลิ่น ล่อให้ลิงเข้ามา โดยเฉพาะผลฝรั่งที่ยังไม่สุกมาก ลูกเล็กๆ
พอลิงเจอมะพร้าว ก็จะเอามือสอดเข้าไปเพื่อจะหยิบไข่ก็ดี ฝรั่งก็ดี ตะปบก็ดี การที่มันจะหยิบได้มันต้องกำ แล้วมันก็จะดึงออกมา แต่ดึงไม่ได้เพราะว่ากำปั้นใหญ่กว่ารู มันดึงเท่าไรมันก็ดึงไม่หลุด แล้วก็มันดึงอย่างนี้เป็นวันเป็นคืนเลย ดึงแล้วดึงอีก แต่ก็ไม่สามารถที่จะดึงมือหลุดออกจากมะพร้าวได้ ทำอย่างนี้สักวันถึงสองวัน มันก็หมดแรง บางทีแค่วันเดียวมันก็หมดแรงแล้ว มันตึงทั้งวันทั้งคืน
สุดท้ายคนก็จับมันอย่างละม่อมโดยใช้แหคลุมมัน มันไม่มีแรงสู้เพราะว่ามันหมดแรงไปกับการดึงมือออกจากมะพร้าว ที่จริงมันมีวิธีที่จะเอามือหลุดออกจากมะพร้าวได้ง่ายมากก็คือแบมือ ถ้ามันคลายกำมือหรือแบมือออก มือมันก็จะหลุดออกจากมะพร้าวได้ แต่มันไม่ทำอย่างนั้น ไม่มีลิงตัวไหนทำอย่างนั้นเลย กำอยู่นั่นแหละ สุดท้ายก็ถูกคนจับได้ แต่ส่วนใหญ่คนก็ไม่ได้จับมันไปฆ่า อาจจะเอาไปเลี้ยงหรือว่าเอาไปสวนสัตว์ น้อยที่จะเอามันไปฆ่า
อย่างที่บอกว่าลิงมันแค่คลายมือออก มันก็สามารถที่จะหลุดออกจากกับดักมะพร้าวได้ แต่มันไม่ทำเพราะมันหวงหรือว่ามันมีความอยากในสิ่งที่มันกำเอาไว้ ของอร่อย ตะขบก็ดี ฝรั่งก็ดี หรือไข่ก็ดี ความอยากความโลภทำให้มันไม่ยอมคลายไม่ยอมสละสิ่งนั้นออกไปจากมือของมัน แล้วมันก็ต้องรับผลของการที่กำเอาไว้แน่น ก็คือถูกจับ เสียอิสรภาพ
บางทีเราฟังเรื่องนี้เราก็อดขำไม่ได้ มันโง่ วิธีที่มันจะหลุดออกมาเป็นอิสระ มันไม่ยากเลยแค่คลายมือออก
แต่มันไม่ทำ แต่ที่จริงจะว่าหรือดูถูกมันก็ไม่ได้ เพราะคนเราก็เป็นอย่างนั้นแหละ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้กำสิ่งของด้วยมือ แต่เรากำหรือยึดเอาไว้ด้วยใจ ก็เพราะว่าเราหรือมนุษย์ไปยึดไปกำมันเอาไว้แน่นด้วยใจของตัว ไม่รู้จักปล่อย จึงมีชะตากรรมไม่ต่างจากลิง เพียงแต่ว่าไม่ใช่คนจับได้ แต่เป็นความทุกข์ที่มันกลุ้มรุมผู้คนที่กำเอาไว้แน่นในใจ
ที่จริงคนเราสามารถที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์หรือพ้นเงื้อมมือของความทุกข์ได้ เพียงแต่คลาย ปล่อย วางสิ่งที่เคยกำเอาไว้ แต่คนเราส่วนใหญ่ไม่ทำอย่างนั้น เรากำ เรายึด เราถืออะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของ เครื่องใช้ ตำแหน่งเกียรติยศชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งความสวยงามหรือความแข็งแรงของร่างกาย ทั้งที่มีภัยมาถึงตัว อย่างเช่นลิงมันเห็นคนมา มันก็รู้ว่ามันกำลังถูกจับ มันก็ดิ้น มันก็ร้อง แต่มันไม่ยอมคลายมือออก
คนเราก็เหมือนกัน ทั้งที่ทุกข์กำลังมาถึงตัว ทุกข์กำลังมาครอบงำแล้ว แต่ก็ไม่ยอมปล่อยสิ่งที่ยึดเอาไว้ อย่างเช่นบางคน หุ้นมันราคาตก แต่ก็ไม่ยอมปล่อย ยังกอดเอาไว้ จนกระทั่งดิ่งลงเหวกลายเป็นเศษหุ้น หลายคนกอดหุ้นจนกระทั่งล้มละลายไปเลย ทั้งๆที่ถ้าเพียงแต่ปล่อย หุ้นมันเริ่มราคาตก ก็ปล่อยหรือขาย อาจจะขาดทุนแต่ก็อาจจะขาดทุนไม่มากเมื่อเทียบกับกอดหุ้นเอาไว้เพียงมีราคาไม่กี่สตางค์ ก็เรียกว่าล้มละลาย ยับเยินเลย
แล้วบางที เท่านั้นยังไม่พอ ยังเสียดายแม้มันกลายเป็นเศษขยะไปแล้ว ก็ยังคิดถึงมัน คิดถึงสมบัติที่สูญเสีย ต้องขายรถขายบ้านเพราะว่าหุ้นตก ก็ยังกอดเอาไว้ ยังนึกถึงยังห่วงยังเสียดายทรัพย์สมบัติที่หายไป กินไม่ได้นอนไม่หลับ บางคนถึงกับเป็นบ้า บางคนก็เป็นโรคซึมเศร้า บางคนก็ฆ่าตัวตาย อันนี้เป็นเพราะใจไม่ยอมปล่อยทั้งๆที่มันเป็นกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ยังยึดเอาไว้
ในแง่นี้จะว่าไปมันก็แย่กว่าลิง เพราะสิ่งที่ลิงกำมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เป็นปัจจุบัน แต่สิ่งที่ผู้คนยึด บ่อยครั้งมันกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง และที่แย่กว่านั้นก็คือว่า สิ่งที่คนเรายึด หรือกำเอาไว้ มันไม่ใช่แค่สิ่งที่ให้ความสุขกับเรา ที่พูดมาทั้งหมด เงินทอง บ้าน ที่ดิน คนรัก ตำแหน่งหน้าที่พวกนี้หรือแม้กระทั่งร่างกาย อย่างน้อยมันก็ให้ความสุขกับเรา เพราะฉะนั้นจะยึดมันเอาไว้ กำมันเอาไว้มันก็ยังพอมีเหตุผล
แต่บอยครั้งสิ่งที่เรายึดสิ่งที่เรากำ มันทำความทุกข์ให้กับเรา เช่น ความโกรธ ความแค้น ความเศร้าหรือคนที่ทำความเจ็บปวดให้กับเรา คนที่หักหลังคนที่ทรยศเรา ทั้งหมดนี้มันไม่น่าจะยึด ไม่น่าถือเลย หรือไม่น่าแบกเอาไว้ในใจ แต่ว่าคนเราก็ทำอย่างนั้น ลิงนั้นมันกำตะขบ กำฝรั่ง มันก็ยังมีเหตุผลเพราะว่ามันเป็นของที่อร่อย
แต่ว่าการที่เราไปยึด ไปกำ ไปถือ ไปแบก สิ่งที่มันทำความทุกข์ให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อกุศล ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของที่ทำร้ายเรา หรือความทรงจำที่เจ็บปวด มันไม่มีเหตุผลที่จะยึดเลย มันเหมือนกับไปกำถ่านเอาไว้ กำทองยังดีกว่า แต่ว่ากำถ่านมันไม่มีดีตรงไหน แต่คนก็กำ แล้วก็ทุกข์แล้วก็บอกว่าไม่ไหวๆ ฉันทนไม่ไหวแล้วแต่ไม่ยอมปล่อยสักที แค่วางแค่ปล่อยมันก็หายทุกข์ แต่คนเราก็กลับไม่ทำอย่างนั้น
มีผู้หญิงคนหนึ่งเธออยู่กินกับผู้ชายคนหนึ่งมา 10 กว่าปี แล้วก็มีความสุข เพราะเธอคิดว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนที่รักเธอ มีใจให้เธอ แล้วเธอถึงกับคิดว่าถ้าไม่มีเขาเธอคงจะอยู่ได้ยาก แต่วันหนึ่งเธอก็พบว่าเขามีคนอื่น ไม่ได้มีใจให้กับเธอ เธอรู้สึกเจ็บปวดและคับแค้นมาก รู้สึกว่าเขาทรยศเธอ จากเดิมที่เรียกเขาว่าคุณหรือเธอ กลายเป็นมึงเลย สุดท้ายก็แยกทางกัน
แต่แม้แยกทางกันแล้ว เขาก็ไม่ได้ไปจากจิตใจของเธอเลย เพราะว่าเธอก็หวนไปคิดถึงผู้ชายคนนี้ คิดถึงทีไรก็โกรธแค้น รุ่มร้อนจนกระทั่งต้องเข้าหาวัดเพื่อปฏิบัติธรรม แต่ก่อนเธอก็ปฏิบัติธรรมอยู่เป็นครั้งคราว แต่คราวนี้แค่วันแรกที่ปฏิบัติธรรมเจริญสติทำสมาธิ มันไม่พบความสงบเย็นเหมือนเคยเลย มันมีแต่ความรุ่มร้อน เดินจงกรมก็แล้ว นั่งสมาธิก็แล้วก็รุ่มร้อน วันที่ 2 ก็ยังเหมือนเดิม รุ่มร้อนมาก เพราะคิดถึงแต่ผู้ชายคนนั้น
วันที่ 3 ก็เหมือนเดิม แต่มีช่วงหนึ่ง เธอเดินจงกรมแล้วระหว่างที่เดินจงกรมเธอเอามือประสานไว้ข้างหน้า เดินได้สักชั่วโมงหนึ่ง รู้สึกเมื่อย มือที่ประสานเอาไว้เธอก็ปล่อยมือ พอปล่อยมือ มันไม่ใช่แค่เกิดความสบายกาย มันสบายใจด้วย เพราะตอนนั้นเธอได้ตระหนักเลยว่า ที่เมื่อยก็เพราะถือ ที่ทุกข์ก็เพราะแบก พอปล่อยมือ ก็สบายกาย เธอก็รู้เลยว่าถ้าอยากสบายใจ ต้องปล่อยมือ
ตอนนั้นเธอได้รู้เลยว่าที่เธอทุกข์รุ่มร้อนนั้นเพราะไปนึกถึงผู้ชายคนนั้น ไปเก็บเขาเอาไว้ในใจ ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง แต่พอปล่อยเขาไปจากใจ มันโล่งมันสบายเลย เธอได้คิดเลยว่าเออ ปล่อยเมื่อไหร่ก็หายทุกข์เมื่อนั้น
เธอไม่รู้เลยนะว่าที่เธอทุกข์รุ่มร้อนมาตลอดหลายวันโดยเฉพาะ 3 วันที่เธอเดินจงกรมปฏิบัติธรรม เป็นเพราะว่าไปแบกไปถือหรือไปครุ่นคิดหมกมุ่นกับผู้ชายคนนั้น ทั้งๆที่ทุกข์แล้วก็รุ่มร้อน แต่ไม่รู้ตัว มารู้ตัวก็ตอนที่ปล่อยมือแล้วสบาย ก็เลยได้เห็นใจของตัวว่า ที่เราทุกข์เพราะว่าเราแบกเอาไว้ ตรงนั้นเองมันทำให้เธอได้ปล่อยผู้ชายคนนั้นออกไปจากใจ แล้วก็รู้สึกถึงความโปร่งความเบา
แล้วเธอก็พบว่าจริงๆแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชายคนนั้น ผู้ชายคนนั้นไปจากชีวิตเธอตั้งนานแล้วเป็นเพราะว่าเธอไปแบกเอาไว้ ที่แบกก็เพราะอะไร เพราะไม่รู้ตัว พอรู้ตัวเมื่อไหร่ก็วาง
ก็แปลกนะคนเราก็ทั้งๆที่ทุกข์มากเหลือเกินแต่ไม่รู้ตัว แต่พอรู้ตัวเมื่อไหร่ มันวางเลย เพราะฉะนั้นขณะที่เราตระหนักว่าการแบกมันทำให้ทุกข์ และที่เราแบกเพราะอะไร เพราะเราไม่รู้ตัว มันก็ไม่ต่างจากลิงที่มันกำตะขบ กำฝรั่ง ตอนนั้นมันก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน แต่ด้วยความอยากมันทำให้มันกำไว้แน่น
แต่คนนั้นมีความสามารถในการรู้ตัวได้ พอรู้เมื่อไหร่มันวาง เพราะฉะนั้น การฝึกให้มีความรู้สึกตัวจึงมีความสำคัญมากเลย ที่เรามาฝึกนี้เพื่อเรามาฝึกให้เกิดความรู้สึกตัวโดยมีสติเป็นตัวเคลื่อน จุดหมายไม่ได้ทำให้เกิดความสงบ เพราะเราสงบได้ชั่วคราวเมื่อมันไม่มีสิ่งมารบกวน แต่ถ้าเรามีความรู้สึกตัวแม้มีสิ่งมารบกวน เราไม่ไปยึดไม่ไปแบกมัน
อย่างที่บอกเมื่อวานว่าเราให้โอกาสตัวเองมาพักใจ มาได้สัมผัสกับความสงบ แล้วเมื่อเราลงมือปฏิบัติเราก็ควรที่จะอนุญาตให้ความคิดต่างๆมันเกิดขึ้นได้ ยอมอนุญาตให้อารมณ์หลายอย่างมันเกิดขึ้นได้อาจจะเป็นความหงุดหงิด ความเหงา ความง่วง ความเบื่อ นักปฏิบัติหลายคนไม่ยอม ไม่อนุญาตให้สิ่งนี้เกิดขึ้นพอเกิดขึ้นเมื่อไรก็ไปไล่บี้มัน เพราะว่าไปเข้าใจว่ามันมารบกวนความสงบในจิตใจ มันขัดขวางความสงบ
ถ้าเราไม่อนุญาตให้ความคิดและอารมณ์เกิดขึ้น การที่เราจะสร้างความรู้สึกตัวหรือพัฒนาสติให้มันก็จะเกิดขึ้นได้ยาก และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราต้องการ อยากได้ความสงบกลับกลายเป็นความเครียด อยากได้ความเบาแต่กลายเป็นความหนักขึ้น เพราะคอยไปไล่บี้ความคิดไปพยายามห้ามจิตไม่ให้คิด
เคยมีลูกศิษย์ถามหลวงพ่อชา เวลานั่งสมาธิจิตมันฟุ้งมันเตลิด ทำอย่างไรถึงภาวนา จิตจะสงบ อันนี้ก็เป็นคำถามของหลายคน หลวงพ่อชาตอบว่ามันเตลิดก็ช่างมัน เดี๋ยวมันเหนื่อยมันก็หยุดคิดไปเอง ท่านไม่ได้แนะนำให้ไปทำอะไรกับความคิด หรือว่าไม่ไปทำอะไรกับจิต ไม่ไปควบคุมจิตไม่ให้คิด มันเตลิดก็ช่างมัน ก็คือว่าเห็นว่ามันเป็นธรรมดา
อันนี้คือสิ่งที่เราควรจะทำก็คือว่า ยอมอนุญาตให้ความคิดและอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้น อย่าไปบังคับจิตไม่ให้คิด และสิ่งที่เราควรทำประการต่อมาก็คือ ให้โอกาสแก่สติได้ทำงาน เวลาเราใจลอยคิดฟุ้งปรุงแต่งไปต่างๆนานา บางทีมันคิดไป 8-9 เรื่อง กว่าจะรู้เนื้อรู้ตัว กว่าจะมีสติ เห็นความคิด หลายคนรู้สึกว่ามันช้า กว่าสติมันจะทำงานมันคิดไปแล้ว 10 เรื่อง เพราะฉะนั้นอย่ากระนั้นเลย เราไปทำงานแทนมันดีกว่า
ก็คือไปคอยดักจ้องความคิด เพราะจะรอให้สติทำงานรู้ทันความคิด มันช้า หลายคนรู้สึกใจร้อนก็เลยทำเองซะเลย ไปคอยดักจ้องความคิดเพื่อไม่ให้คิดยาวคิดมากเรื่อง พอคิดทีไรเบรคมันห้ามมัน อันนี้มันยิ่ง ทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้า เราต้องเปิดโอกาสให้สติทำงาน ถึงแม้ใหม่ๆมันจะทำงานช้า งุ่มง่าม แต่นั่นเป็นวิธีเดียวที่ทำให้สติเจริญ เราต้องไว้ใจเชื่อมั่นสติ โดยการให้โอกาสมัน มันจะทำงานได้เร็วขึ้น ไวขึ้น
เขาเคยมีการทดลองกับหนู เอาหนูมาปล่อยในห้องเล็กๆโดยที่อีกมุมหนึ่งของห้อง เขาก็มีอาหารวางไว้แต่กว่าที่หนูจะไปถึงอาหารจะต้องผ่านทางยิบย่อยเรียกว่าวงกต บางทีก็เป็นทางตัน บางทีก็เป็นทางหลอก กว่าหนูจะลัดเลาะไปจนกระทั่งถึงอาหารต้องใช้เวลา บางทีอาจจะเกือบเป็นชั่วโมงเลยเพราะว่าวงกตซับซ้อนมาก
และเขาก็พบว่าถ้าให้หนูมันไปหาอาหารหรือให้มันเข้าไปในวงกตบ่อยๆ แม้ว่าเราจะเปลี่ยนจุดที่วางอาหาร เวลาผ่านไปๆ ประสบการณ์ที่มากขึ้น มันทำให้หนูได้พบอาหารได้ไวขึ้น ยิ่งให้โอกาสมันมากเท่าไรมันก็จะพบอาหารได้ไวขึ้น ทำเวลาได้น้อยลงเรื่อยๆ
แปลว่าอะไร แปลว่าหนูมันมีความสามารถในการเรียนรู้ สติเราก็เหมือนกัน มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ไว ใหม่ๆกว่าที่จะตามหาความคิดเจอ มันใช้เวลานาน แต่ถ้าเราให้โอกาสแก่สติ ด้วยการเดิน ด้วยการนั่ง ด้วยการปฏิบัติ บางทีอาจจะเป็น1 วัน 2-3 วัน สติมันจะตามหาความคิดได้ไวขึ้น รู้ทันความคิดได้ไวขึ้น แต่ก่อนคิดไป 8-9 เรื่องถึงค่อยรู้ทัน เกิดความรู้สึกตัวตามมา
แต่ถ้าเราทำเรื่อยๆทำเรื่อยๆ มันจะรู้ทันได้ไว จะเรียกว่ามันตามหาจิตเจอก็ได้ จากจิตที่หลงเข้าไปในความคิด จิตหลงเข้ารกเข้าพง กว่าสติจะตามหาจิตเจอ นี่นาน แล้วพาจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวนี่นาน แต่ถ้าเราให้โอกาสเขาบ่อยๆ สติจะตามหาจิตได้ไวขึ้น บางทีไหลเข้าไปในความคิดแค่เรื่องสองเรื่อง ยังไม่ทันจะถึงเรื่องที่ 3 เลย ก็กลับมีสติ รู้ตัว ตอนหลังคิดไม่ทันจบเรื่องเลย ก็รู้เนื้อรู้ตัวแล้ว
อันนี้คือสิ่งที่หลายคนพบเลยว่า ถ้าหากว่าปล่อยให้สติทำงาน ไม่ต้องไปแย่งงานสติทำ ให้โอกาสเขา ไว้ใจเขา แล้วเขาจะตามหาจิตได้ไว จิตที่มันหลงเข้าไปในความคิด แล้วจะพาจิตมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเนื้อกับตัวได้เร็วขึ้นๆ อันนี้ก็อยากจะให้พวกเราได้ลองทำ จะเรียกว่าเป็นการบ้านก็ได้
เมื่อวาน ก็ให้เราอนุญาตให้ความคิดหรืออารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นได้โดยไม่ไปห้าม ไม่ไปกด ไม่ไปผลักไสมัน แต่คราวนี้ลองทำอีกขั้นตอนหนึ่ง ก็คือว่าให้โอกาสสติได้ทำงาน มันจะคิดไปกี่เรื่อง เดี๋ยวมันในที่สุดมันก็จะรู้ตัวเองแล้ว การรู้ตัวก็จะไวขึ้นๆ เหมือนกับหนูที่มันหาอาหารได้เร็วขึ้นๆเรื่อยๆแม้วงกตมันจะซับซ้อนอย่างไรก็ตาม.