พระอาจารย์ไพศาลวิสาโลวัดป่าสุคะโตแสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 17 กันยายน 2565
มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งแกเล่าว่า ตอนที่อายุประมาณ 3 ขวบ มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น แม่ใช้ให้เขาซึ่งเป็นลูกชายไปหยิบขวดนมใส่ตู้เย็น แต่เนื่องจากขวดนมเป็นขวดใหญ่ ส่วนมือของเด็กเป็นมือเล็ก ปรากฏว่าพอจับขวดนม มันก็หล่นหลุดจากมือ พอตกถึงพื้นนมก็กระจายเต็มพื้นเลย เลอะเทอะไปหมดเลย
พอดีแม่ได้ยินก็เลยออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น พอเห็นนมหกเลอะเทอะเต็มพื้นเลย แทนที่แม่จะว่าลูก แม่บอกว่า โอ้โห..ทะเลสีขาวเต็มพื้นเลยนะ ไหนๆลูกก็ทำนมหกแล้ว ลูกอยากจะลองเล่นกับมันดูสักหน่อยมั้ย
เด็กนี่ทีแรกนึกว่าแม่จะมาดุ แต่พอแม่พูดแบบนี้ ก็เลยถือโอกาสเล่นกับนมซะเลย ได้สัมผัสนมบนพื้นนี่รู้สึกสนุกสนาน สักพักแม่ก็บอกว่า ลูกรู้มั้ยเมื่อลูกทำนมหกแล้ว ลูกต้องทำความสะอาดนะ ลูกก็พยักหน้า แล้วแม่ก็ถามว่า จะทำความสะอาดยังไงดี จะใช้ผ้าเช็ด จะใช้ไม้กวาด หรือว่าใช้ไม้ถูพื้น
ลูกบอกใช้ไม้ถูพื้นดีกว่า แม่กับลูกก็เลยช่วยกัน ทำความสะอาดพื้นห้องจนเสร็จ สะอาด แม่พูดกับลูกต่อไปว่า ที่ลูกทำนมหกนี่เพราะอะไรรู้มั้ย เพราะว่านมนี่มันขวดใหญ่ แต่มือของลูกมันเล็ก แล้วพอลูกจับนมตรงกลางขวด มันก็เลยหลุดมือ
คราวนี้ลองมาดูซิว่าทำยังไง ถึงจะจับนมโดยไม่หลุดมือ ลองไปดูกันนะ แม่ก็เลยพาลูกไปที่ห้องเก็บของ แล้วก็มีขวดนม ก็เอาขวดนมนั่นแหละใส่น้ำไปเต็มเลย แล้วก็บอกลูกว่า ลูกลองจับดูนะ ทำยังไงจะจับโดยไม่ให้มันหลุดมือ
เด็กก็ลองแล้วลอง ลองแล้วลองอีก สุดท้ายก็พบว่า ถ้าหากเอามือสองข้างจับตรงคอขวด ก็จะจับได้มั่น แล้วขวดนมก็จะไม่หลุดมือ ก็เป็นอันว่าลูกรู้วิธีแล้ว จะถือขวดนมยังไงไม่ให้มันหกเลอะพื้น
เด็กชายคนนี้บอกว่า นับแต่วินาทีนั้นเลยได้เรียนรู้ว่า ความผิดพลาดไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลวร้าย แทนที่แม่จะด่าว่าลูกว่าซุ่มซ่าม แม่กลับสอน ให้ลูกรู้จักเรียนรู้กับความผิดพลาด แล้วก็หาบทเรียนจากความผิดพลาดนั้น
ทำให้เป็นประโยชน์มากเลยสำหรับเขา พอโตขึ้นเขาก็เลยรักการเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะว่าเขาได้เรียนรู้ ได้ทดลอง ลองผิดลองถูกกับอะไรต่ออะไรมากมาย โดยที่ไม่ต้องกลัวความผิดพลาด แล้วก็ได้เรียนรู้วิธีที่จะหาประโยชน์จากความผิดพลาดนั้น ตอนหลังก็เลยกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ มีผลงานออกมามากมาย
ประสบการณ์ของนักวิทยาศาสตร์คนนี้ก็น่าสนใจ เขาได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญจากแม่ ที่สอนให้เขารู้วิธีที่จะรับมือกับความผิดพลาด
แล้วลองมาดูว่าสิ่งที่แม่ทำนี่คืออะไร ถ้าเราลองมาวิเคราะห์ดู ก็จะเห็นเลย ตอนที่แม่บอกว่า โอ้โห..ทะเลสีขาวนี่นองพื้นเลยนะ ไหนๆลูกก็ทำนมหกแล้ว ลูกอยากจะลองเล่นกับมันดูมั้ย นี่แสดงว่าแม่สอนให้ลูก รู้จักหาประโยชน์จากความผิดพลาด เมื่อนมหกแล้วอย่างน้อยก็ลองเล่นสนุกกับมันดู
แล้วต่อไป บางครั้งความผิดพลาดก็อาจจะให้ประโยชน์กับเราอย่างอื่นอีกด้วย คือให้ความรู้ ให้บทเรียน แต่ใหม่ๆ ประโยชน์ความผิดพลาดคือ สนุกกับมัน ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องลงโทษตัวเอง
แล้วประการที่สอง แม่สอนให้รู้ว่า ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แม่บอกว่า ลูกรู้มั้ยเมื่อลูกทำหกแล้วนี่ ลูกต้องทำความสะอาดมันนะ ใครทำนะ ลูกทำ อันนี้แม่กำลังสอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตัว โดยเฉพาะเมื่อทำผิดพลาด ซึ่งอันนี้เราจะไม่ค่อยได้เห็น พ่อแม่โดยเฉพาะในเมืองไทย สอนให้ลูกได้รู้ว่า เมื่อเราทำอะไรผิดพลาดแล้ว เราควรจะรับผิดชอบต่อการกระทำของตัว
นี่เป็นบทเรียนสำคัญเลย เด็กทำความผิดพลาดไปแล้ว ก็ไม่รู้ไม่ชี้ ให้คนอื่นรับผิดชอบแทน ทำบ้านสกปรกเลอะเทอะ ก็ ถ้ามีคนงานก็ให้คนงานทำ ถ้ามีพ่อแม่ก็ให้พ่อแม่ทำ แต่แม่คนนี้สอนว่า เมื่อลูกทำความผิดพลาด แม่ไม่ลงโทษลูกก็จริง แม่ไม่ด่าลูกก็จริง แม่ไม่ว่าลูกว่าซุ่มซ่ามก็จริง แต่ลูกต้องรับผิดชอบ คือทำความสะอาด แล้วทำความสะอาดทำยังไง แม่ไม่บอกนะ
โดยแม่ถามลูกว่า ลูกจะทำความสะอาดยังไง ใช้ผ้าเช็ดพื้น ใช้ไม้กวาด หรือว่าใช้ไม้ถูพื้น สอนให้เด็กรู้จักคิดว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร
แล้วที่ดีกว่านั้นคือแม่สอนให้ลูกรู้ว่า ความผิดพลาดเกิดจากอะไร นอกจากรับผิดชอบต่อความผิดพลาดแล้ว รู้จักสะสางแก้ไข รู้จักต่อไปว่ามันเกิดจากอะไรผิดพลาด ลูกก็รู้ว่าเป็นเพราะจับหรือว่าถือขวดนมไม่เป็น ไปจับกลางขวดมันก็หลุดมือสิ ต้องไปจับที่คอขวด แล้วถ้าจะให้ดีต้องจับสองมือ อันนี้ลูกก็ได้รู้วิธีที่จะแก้ปัญหาความผิดพลาดด้วย
แล้วไม่ใช่แค่รู้สาเหตุแห่งความผิดพลาด แต่ยังรู้ว่า จะแก้ไขความผิดพลาดได้อย่างไร
เหตุการณ์เดียวนี้ เด็กได้เรียนรู้ถึง 4 อย่าง 1. คือรู้จักหาประโยชน์จากความผิดพลาด สนุกกับมันก็ได้จากนมหกนี่ 2. รู้จักรับผิดชอบต่อความผิดพลาด 3. รู้จักหาสาเหตุแห่งความผิดพลาด 4. หาหนทางแก้ไขความผิดพลาด
ใน 2 ข้อหลังคืออะไร คือรู้จักหาสมุทัย แล้วรู้จักหาตัวมรรค เพื่อให้เข้าถึงนิโรธคือความสะอาด
แม่ของเด็กคนนี้ฉลาดนะ รู้จักใช้ความผิดพลาดที่ลูกทำ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นความสกปรกเลอะเทอะ แต่เด็กได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง แล้วเด็ก 3 ขวบเขาก็เรียนรู้ได้เยอะ ถ้าหากว่าสอนถูก อันนี้เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ที่เป็นพ่อแม่
หลายคนเวลาเห็นลูกทำผิดพลาด บางทีของเสียหาย แก้วแตก หรือว่ารถมีรอย ก็ว่าลูกเลย ว่าลูกอย่างเดียวไม่พอ บางทีลงโทษด้วย ตี จนกระทั่งลูกสงสัยว่า ตกลงแม่หรือพ่อ รักรถมากกว่ารักตัวเองหรือเปล่า หรือว่ารักแก้วมากกว่ารักตัวเองหรือเปล่า แล้วก็ทุกข์ทั้งสองฝ่าย เด็กก็ทุกข์ถูกตีเจ็บปวด พ่อแม่ก็ทุกข์ อาจจะทุกข์ในภายหลังที่เผลอไปทำร้ายลูกไปตีลูก
ส่วนลูกก็รู้ว่าความผิดพลาดหรือความซุ่มซ่าม มันเลวร้าย เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเผลอทำครั้งต่อไป ก็ต้องพยายามปกปิดไม่ให้ใครรู้ โดยเฉพาะพ่อแม่ เพราะถ้ารู้แล้วจะถูกตีหรือถูกลงโทษอีก กลายเป็นผู้ที่รังเกียจความผิดพลาด รู้สึกลบต่อความผิดพลาด แถมปกปิดด้วย กลายเป็นคนโกหกก็มี
แต่ว่าแม่คนนี้ แกทำให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อความผิดพลาด คืออย่างน้อยก็หาประโยชน์จากมัน
ความผิดพลาดบางอย่าง สนุกกับมันไม่ได้ แต่ว่าเรียนรู้กับมันได้ อย่างเช่นงานล้มเหลว หรืองานมีปัญหา งานผิดพลาดขึ้นมา เราอาจจะไม่สนุก แต่ว่าเราก็ได้รู้ว่า มันมีประโยชน์อย่างไร มันให้บทเรียนอะไรกับเรา อย่างน้อยก็รู้ว่านี่ผิดพลาดเพราะอะไร และสอง มันกระตุ้นให้เราหาทางแก้ไขความผิดพลาดนั้น เกิดปัญญา
แล้วที่จริงไม่ใช่เฉพาะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ ครูก็ควรทำอย่างนั้นกับลูกศิษย์ บางทีลูกศิษย์ก็เผลอเลอผิดพลาด ก็ใช้โอกาสนั้น ทำให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ ดีกว่าที่จะไปสร้างทุกข์ให้ และสร้างทัศนคติที่ผิดๆ ให้กับเด็ก
แล้วที่จริงไม่ใช่เฉพาะครูเท่านั้น ผู้บริหาร เจ้านาย ก็ควรรู้จักสอนหรือชี้แนะให้ลูกน้อง ได้มีท่าทีที่ถูกต้องต่อความผิดพลาด อย่างน้อยๆ ก็หาประโยชน์จากมันให้ได้ แล้วก็รับผิดชอบต่อความผิดพลาด ทำแล้ว ทำเลอะ หรือว่าทำจนเสียหายก็ต้องรับผิดชอบ แล้วขณะเดียวกัน จะให้ดีต้องคิดว่า ผิดพลาดเพราะอะไร และจะหาทางแก้ไขได้อย่างไร
สี่ประการนี่เรียกว่าเป็นท่าทีที่ถูกต้อง ซึ่งก็สอดคล้องกับพุทธศาสนาด้วย เวลาเราเจอความทุกข์ เราจะหาประโยชน์จากทุกข์ได้อย่างไร แล้วเราควรจะมองต่อไปว่า ทุกข์เกิดจากอะไร แล้วก็หาหนทางแห่งการออกจากทุกข์นั้น ถ้ามองเป็นก็หาเหตุพบ
ถ้ามองไม่เป็นก็ไปโทษข้างนอก ไปโทษใครต่อใครมากมาย ยิ่งพอถึงวิธีแก้บางทีก็แก้ผิด ไปแก้ด้วยการต่อว่า ปกปิด หรือว่าโทษคนอื่น หรือไม่ก็ไปหันไปหาเหล้ายาอบายมุข เพื่อที่จะได้กลบเกลื่อนความทุกข์ ซึ่งมันไม่ได้ช่วยอย่างแท้จริงเลย
เพราะว่าเหตุแห่งทุกข์ บ่อยครั้งก็อยู่ที่ตัวเอง อยู่ที่การกระทำ อยู่ที่จิตใจ อยู่ที่การวางใจของตัวเองมากกว่า.