พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 กันยายน 2565
ทุกข์กับหลงนี่มันเป็นของคู่กัน หลงนี่มันทำให้ทุกข์ แล้วทุกข์ก็ทำให้หลงมากขึ้น หลงที่ว่านี่ เช่นหลงคิด หรือว่าหลงอารมณ์ หลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ ไม่ว่าโลภะ โทสะ
ที่จริงแล้วหลงคิด หลงอารมณ์ ที่ทำให้ทุกข์ก็เพราะว่ามันหลงอีกอย่างหนึ่งคือหลงสมมติ เมื่อวานนี้ก็พูดไปแล้วเรื่องสมมติบัญญัติ สมมติสัจจะ เราทุกข์เพราะเราหลงในสมมติ อย่างที่เราสวดกันทุกเช้า ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้าเราพลัดพรากจากสิ่งที่สมมติว่าดีมีค่า เราก็ทุกข์ เสียใจ คับแค้น เราประสบกับสิ่งที่สมมติกันว่าไม่ดี แย่ ต่ำต้อย เราก็ทุกข์ ปรารถนาสิ่งที่สมมติว่าดีมีค่า แต่ไม่ได้สิ่งนั้น หรือได้ไม่สมอยากก็ทุกข์
ความทุกข์ทั้งมวล หรือว่าความทุกข์ใจ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะคนเราไปหลงในสมมติ อย่างที่เมื่อวานได้พูดไปแล้วว่า สมมติ โดยเฉพาะที่เป็นสมมติบัญญัติ มันก็ได้แก่สมมติในสิ่งที่เป็นคุณค่า หรือการให้ค่า
อย่างเช่น สังคมเขาสมมติหรือให้ค่าว่าเพชรทองมันมีค่า ใครได้นี่ก็รู้สึกมีความสุข ใครเสียไปก็จะเกิดความทุกข์เศร้าโศก บางทีกินไม่ได้นอนไม่หลับ บางทีก็ถึงฆ่าตัวตายเลย ทั้งๆ ที่เพชรหรือทองนี่ คุณค่าของมันเป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น เพราะเราไปหลงสมมติ เราก็เลยถูกมันครอบงำ มีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของเรา บางทีก็ถึงกับเอามันเป็นพระเจ้า อย่างเช่นคนที่ถือเอาเงินเป็นพระเจ้า
สมมติมันมีทั้งการให้ค่าว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี รวมทั้งสมมติเกี่ยวกับเรื่องสถานภาพ อัตลักษณ์ คนทุกข์ก็เพราะความหลงสมมติในเรื่องเหล่านี้ หรือมิฉะนั้นก็ทะเลาะกันก็เพราะสมมติเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ เช่น ไทยกับพม่า หรือว่าพุทธกับมุสลิม ในหลายคนในหลายกลุ่ม เขาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ ทั้งที่มันก็เป็นเรื่องสมมติ เป็นไทยเป็นพม่าก็เรื่องสมมติ เป็นพุทธหรือเป็นมุสลิมก็เรื่องสมมติ เราไปหลงสมมติจนกระทั่งเราลืมสิ่งที่เป็นแก่นแท้
ท่าทีที่เราพึงมีต่อสมมติบัญญัติก็คือ ตระหนักว่ามันไม่ใช่เป็นตัวคุณค่าที่แท้ ถึงแม้คนเขาจะสมมติว่าเพชรทองมีค่ากว่าข้าวปลาอาหาร แต่จริงๆ แล้วเพชรนี่มันไม่ทำให้คนเราอยู่ได้ แต่คนเราอยู่ได้เพราะอาหาร เราต้องไม่ลืมความจริงข้อนี้
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของเกษตรกรรมแผนใหม่ของไทย ท่านพูดไว้ดีนะ ท่านพูดว่าเงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง อย่าไปหลงติดกับสมมติเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง เพราะว่ามันไม่ได้ทำให้เราอยู่ได้เลย กินก็ไม่ได้ แต่ข้าวปลาอาหารต่างหาก อย่างที่ท่านบอก ช่วยเตือนให้เราไม่หลงในสมมติเกี่ยวกับเงินทอง เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง
แล้วตัวท่านเองก็น่าสนใจนะ เพราะท่านเองเคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อธิบดีกรมฝิ่น ซึ่งถือว่าเป็นกรมที่หารายได้เข้าประเทศสูงมาก ใครๆ ก็อยากเป็น แต่ท่านลาออกมาเป็นชาวนา มาบุกเบิกเรื่อง เกษตรกรรม การที่คนซึ่งเป็นหม่อมเจ้า ทิ้งตำแหน่งอธิบดีกรมที่ถือว่าสูงเป็นที่หมายปอง มาเป็นชาวนา นี่ก็เรียกว่าท่านไม่ติดสมมติ
สมมติเกี่ยวกับฐานันดร เกี่ยวกับสถานภาพ เขาจะให้ค่ากับการเป็นอธิบดี ข้าราชการ มากกว่าการเป็นชาวนา หลายคนเป็นทุกข์เพราะว่าไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผอ.เป็น CEO หลายคนเป็นทุกข์เพราะตัวเองเป็นเสมียน อันนี้เพราะไปติดสมมติ
คือการให้ค่าว่าผอ.เป็นของสูง เป็นที่หมายปอง ส่วนการเป็นเสมียนเป็นเรื่องที่ต่ำต้อย ถ้าไปติดสมมติแบบนี้ก็ทุกข์ถ้าเป็นเสมียน แล้วก็เป็นทุกข์ที่ไม่ได้เป็นผอ.ไม่ได้เป็น CEO แต่ถ้าหากว่าเราไม่ติดสมมติ เราก็จะเข้าใจว่าอะไรคือคุณค่า อะไรคือแก่นสาร จะเป็นผอ.จะเป็น CEO หรือจะเป็นเสมียน ไม่สำคัญ
สิ่งสำคัญคืออะไร คือคุณธรรมความดี ถ้าคนเราเข้าใจสิ่งที่เป็นแก่นสารเป็นสาระจะไม่ทุกข์เลยนะ แม้จะเป็นเสมียน แต่ว่าทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และทำงานอย่างมีฉันทะ ก็มีความสุข หลายคนสุขกว่าผอ. ผู้จัดการหรือ CEO เสียอีก
พระหลายรูปก็อาจเป็นทุกข์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าคุณ ไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส หรือไม่ได้เป็นพระครู อันนี้เพราะไปหลงสมมติ สาระที่แท้ของความเป็นพระคืออะไร ก็คือการดำรงชีวิตพรหมจรรย์ การปฏิบัติเพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสมมติ ไปติดสมมติ ก็จะทุกข์มาก แต่ถ้าเข้าใจมองทะลุสมมติเข้าถึงแก่นแท้เนื้อหาสาระ มันก็ไม่ทุกข์ สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมีคุณค่าได้
ฉะนั้นประการที่หนึ่ง เราไม่ควรหลงสมมติ ก็เพราะมันไม่ใช่ตัวแก่นสารหรือสาระที่แท้ และประการต่อมาก็เพราะว่าสมมติมันไม่เที่ยง มันแปรเปลี่ยน
สมัยก่อนการเป็นข้าราชการถือว่าโก้ แต่ถ้าใครเป็นดารานักร้องถือว่าเป็นเต้นกินรำกิน ใครมีลูกเป็นดาราเป็นนักแสดงนี่ถือว่าต่ำต้อย น่าเสียใจ แต่เดี๋ยวนี้ใครเป็นข้าราชการนี่เขาไม่ค่อยสนใจกันละ เป็นดาราต่างหากที่โก้ อันนี้แปลว่าอะไร แปลว่าสมมติมันแปรเปลี่ยนไป
แต่ก่อนคำยกย่อง ถ้าใครยกย่องว่าเป็นพ่อ เป็นป้า เป็นลุง ถือว่าดี แต่เดี๋ยวนี้เรียกว่าป้านี่ ถือว่าดูถูกแล้ว มนุษย์ป้าอย่างนี้ หลายคนไม่ชอบให้ใครมาเรียกว่าลุง เพราะว่ายังไม่อยากแก่ คำสรรเสริญวันนี้ ก็อาจจะเป็นคำที่ไม่น่าสนใจ ไม่น่าฟัง ในวันหน้าก็ได้
หรือสิ่งที่เป็นคำสรรเสริญเมื่อวานนี้ พอถึงวันนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่อยากจะฟังก็ได้ เช่น สมัยก่อนคำสรรเสริญยกย่องว่าเป็นคนว่านอนสอนง่าย ใครที่ได้รับการพูดแบบนี้ก็ถือว่าเขาชมเรา แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครอยากจะได้คำชมว่าว่านอนสอนง่ายแล้ว มันต้องชมว่าเราเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนที่เป็นตัวของตัวเองอย่างนี้ สมมติมันแปรเปลี่ยนไป
สมัยก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 คำที่หยาบคายคืออะไรรู้ไหม หยาบคายมากๆ เลยคือคำว่า ไว้เนื้อเชื่อใจ นี่ถือว่าหยาบคายมาก หรือว่าต้องเนื้อต้องใจ หยาบคายมาก รัชกาลที่ 4 ถึงกับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามคนพูดหรือเขียนข้อความนี้นะ “ไว้เนื้อเชื่อใจ”
แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร คำว่าไว้เนื้อเชื่อใจเป็นคำที่ดีไปเสียแล้ว คนเราต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ สิ่งที่เป็นคำหยาบเมื่อวาน วันนี้กลายเป็นคำที่ดีไปแล้ว สิ่งที่เป็นคำยกย่องเมื่อวาน วันนี้กลายเป็นคำที่เชยไปเสียแล้ว นี่เป็นเรื่องสมมติที่มันแปรเปลี่ยน
ฉะนั้นพอเรารู้เช่นนี้ เราก็ไม่ไปหลงใหลกับมันมาก ไม่ไปยึดติดกับมันมาก เพราะเราก็รู้ว่ามันไม่เที่ยง โดยเฉพาะมันไม่เที่ยง ตรงที่มันแปรเปลี่ยนอย่างเดียว แต่มันไม่เที่ยงก็เพราะว่ามันจะสูญหายเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น ตำแหน่งหน้าที่ พวกนี้เป็นของชั่วคราว เป็นหัวโขน ที่ต้องรู้จักถอด ถ้าไม่รู้จักถอดก็จะมีคนแย่งไป หรือไม่ก็เก้าอี้ถ้าไม่รู้จักลุก ก็จะมีคนมาแย่งเก้าอี้นั้นไป แต่ถ้ารู้ว่ามันไม่เที่ยง ก็ไม่ติดมัน คนเราต้องเข้าใจเรื่องสมมติบัญญัติ แล้วก็ไม่หลงติดกับมัน แต่ว่าใช้มันให้เป็นประโยชน์
แต่ว่านอกจากสมมติบัญญัติแล้ว ก็ยังมีอีกตัวหนึ่งคือสมมติสัจจะ สมมติบัญญัตินี่หลายคนพอจะเข้าใจได้ง่าย ว่ามันไม่ใช่เป็นของที่เป็นเนื้อหาสาระ มันเป็นเพียงแค่ค่านิยมของสังคมที่แปรเปลี่ยนไป แล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของสิ่งที่เป็นคุณค่า พอที่จะไม่หลงติดในมันได้
แต่สมมติสัจจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ยาก แล้วก็หลงติดในสมมติสัจจะมาก จะเข้าใจเรื่องสมมติสัจจะได้ก็ต้องเข้าใจเรื่องอนัตตา และเข้าใจอนัตตาต้องเข้าใจเรื่องสมมติสัจจะ
สมมติสัจจะอย่างที่พูดไปแล้วเมื่อวาน ก็คือความจริงที่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้คน หรือความจริงที่ถูกกำหนดขึ้นมา เป็นข้อตกลงกันของชาวโลก เช่นอะไร เช่น คน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้ บ้าน รถยนต์ อันนี้เป็นสมมติ จะเข้าใจเรื่องนี้ต้องเข้าใจเรื่องอนัตตา อย่างเช่นที่ท่านสอนว่าคนเป็นอนัตตา แปลว่าอะไร แปลว่าคนไม่ใช่ตัวตน
อนัตตาแปลว่าไม่ใช่ตัวตน แต่บางทีบางคนก็แปลว่าไม่มีตัวตน มันก็ไม่เหมือนกันทีเดียว แต่ว่ามันก็ใกล้เคียงกัน คนเป็นอนัตตา รถเป็นอนัตตา เก้าอี้เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน อ้าว ถ้าไม่ใช่ตัวตนแล้วเป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ตัวตนก็เป็นสมมติไง คนนี่คือสมมติ รถนี่คือสมมติ หมู่บ้านนี่คือสมมติ บางคนก็แย้งว่าสมมติได้อย่างไร ก็เห็นอยู่ ไอ้ที่เห็นนี่มันไม่ใช่รถ มันไม่ใช่คน มันไม่ใช่เก้าอี้ แต่มันเป็นการประชุมกันของส่วนประกอบที่รวมเข้าด้วยกัน แล้วเราก็เรียกชื่อมันว่ารถ เราเรียกมันว่าบ้าน เรียกว่าหมู่บ้าน เราเรียกมันว่าสัตว์ เราเรียกว่าคน
แต่ว่าตัวตนที่เป็นคน ตัวตนที่เป็นสัตว์ ตัวตนที่เป็นหมู่บ้าน ตัวตนที่เป็นรถ มันไม่มี อย่างรถ ถ้าเราแยกส่วนประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ออกไปจนหมด มันก็ไม่เหลือตัวรถให้เห็นเลย หมู่บ้านเกิดจากอะไร หมู่บ้านเกิดจากบ้านหลายๆ หลังมารวมกัน แล้วเราก็เรียกมันว่าหมู่บ้าน หมู่บ้านนี่เป็นชื่อเรียกบ้านหลายหลังที่มารวมกัน แต่ตัวตนที่เป็นหมู่บ้านมันไม่มี
สัตว์หรือคนก็เหมือนกัน เป็นชื่อเรียกขันธ์ 5 ที่มารวมกัน ขันธ์ 5 มารวมกันเราก็เรียกว่านี่คน นี่นายก.นี่นายข. นี่สัตว์ แต่ถ้าแยกเอาขันธ์ 5 ออกไปหมด มันก็ไม่เหลือคน มันก็ไม่เหลือสัตว์เลย อย่างเช่นที่พระเถรีท่านหนึ่งท่านบอกว่า ในสภาวะของกองสังขารล้วนๆ หาตัวสัตว์ไม่เจอ เพราะสัตว์มันไม่ใช่ตัวตน มันคือสมมติ
แล้วท่านก็พูดว่าเมื่อชิ้นส่วนมาประชุมมาประกอบกัน ก็สมมติว่ารถ เมื่อสังขารทั้ง 5 มารวมกัน ก็สมมติว่าสัตว์ หมายความว่าสัตว์เป็นสมมติ สัตว์ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ไม่ใช่ตัวตน ความหมายมันต่างจากไม่มีตัวตนนะ แต่ว่ามันต่างกันไม่มาก คนไม่ใช่ตัวตน เพราะคนเป็นสมมติ ฉะนั้นถ้าเข้าใจเรื่องสมมติก็เข้าใจเรื่องอนัตตา เข้าใจเรื่องอนัตตาก็เข้าใจเรื่องสมมติ แล้วก็ทำให้ไม่ติดในสมมติสัจจะ
แต่เรื่องนี้ก็เข้าใจยาก เพราะอนัตตาตัวมันเองก็เป็นเรื่องเข้าใจยากอยู่แล้ว แต่ว่าก็เป็นสิ่งที่เราควรจะทำความเข้าใจ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะเกิดความยึดติด ยึดติดว่าเป็นตัวเป็นตน ยึดติดว่าเป็นเราแล้วก็เป็นของเรา เสร็จแล้วก็มีความทุกข์ตามมาเพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง มันย่อมมีวันเสื่อมสลาย พอเสื่อมสลายไปก็ย่อมทุกข์ ย่อมเสียใจ
แล้วเวลาเสียใจก็ไม่ใช่แค่มีแต่ความเสียใจ มันมีเราผู้เสียใจ มันมีเราผู้ทุกข์ ถ้ามีแต่ความเสียใจ มีแต่ความทุกข์ล้วนๆ ไม่มีผู้ทุกข์ มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่มันไม่ได้มีแต่ความทุกข์ แต่มันมีเราผู้ทุกข์ มันมีเราผู้โศก ซึ่งนี้แหละที่มันเป็นปัญหาของมนุษย์ทั้งมวล
ทีนี้ทำอย่างไร ในเมื่อการเข้าใจเรื่องสมมติสัจจะเป็นเรื่องยาก ถึงแม้เป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือว่า ในเมื่อยังมีความหลงยึดว่ามีตัวเรา อย่างน้อยก็พยายามทำให้ตัวเรามันเป็นตัวตนที่ดี เมื่อยังมีความยึดว่าเราเป็นตน มีตัวเราอยู่ ก็ทำให้เป็นตัวเราที่ดี หรือมีความรักตนในทางที่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนแต่เรื่องอนัตตา ละวางตัวตนอย่างเดียวนะ แต่พระองค์สอนให้รู้จักรักตนในทางที่ถูกด้วย อันนี้เป็นคำสอนสำหรับคนที่ยังเข้าไม่ถึงอนัตตา หรือคนที่ยังติดสมมติว่ามีเรา มีนาย ก. นาย ข. อย่างน้อยก็ให้รู้จักรักตนในทางที่ถูกต้อง
รักตนคือไม่เห็นแก่ตัว มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น ทำความดี รวมทั้งพยายามขัดเกลาตัวตนให้เบาบาง หรือมีความยึดถือในตัวตนให้น้อยลง ยังมีตัวตนอยู่แต่ว่ายึดถือให้น้อยลง มีความอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้มีความทุกข์น้อยลง แม้ว่าจะยังมีความหลงว่ามีตัวตน หรือยังติดสมมติว่ามีเรา มีนาย ก. นาย ข.อยู่
ฉะนั้นถ้าหากว่าตั้งมั่นในการทำความดี เพราะอยากให้ตัวตนเป็นตัวตนที่ดี หรือเพราะรักตน ในแง่หนึ่งมันก็เป็นสะพานหรือเป็นฐานนำไปสู่การเข้าใจเรื่องอนัตตา จนกระทั่งละวางความยึดถือในตัวตน หรือเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว ตัวกูไม่มีจริง มันเป็นแค่สมมติ
แต่ถ้าไม่มีตรงนี้ ความเข้าใจหรือความคิดว่า ตัวกูไม่มี หรือความคิดว่าทุกอย่างเป็นสมมติ มันก็อาจจะเป็นอันตรายได้ อย่างบางคนนี่บอกว่าพ่อแม่ก็สมมติ เพราะฉะนั้นฉันไม่ต้องดูแลพ่อแม่ก็ได้ มันเป็นสมมติ ฉันไม่จำเป็นต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ก็ได้ มันสมมติ
อันนี้มันเป็นความเข้าใจแบบที่ไม่ใช่เข้าใจเรื่องสมมติจริง แต่มันถูกครอบงำด้วยกิเลสมากกว่า ถูกครอบงำด้วยอวิชชา เพราะว่าในเมื่อบอกว่าพ่อแม่เป็นสมมติ แล้วมีตัวฉันได้อย่างไร ในเมื่อพ่อแม่เป็นสมมติ แล้วทำไมยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ อย่างที่เขาบอกว่าพ่อแม่เป็นสมมติ ฉันไม่ต้องดูแลพ่อแม่ก็ได้ อ้าว แล้วฉันมาจากไหน
ถ้ายังมีความคิดว่าเป็นฉัน ที่คิดว่าพ่อแม่เป็นสมมติ ก็เป็นแค่ข้ออ้างของกิเลส ความเห็นแก่ตัว อันนี้มันเป็นการเข้าใจธรรมะที่ผิดพลาด หรือเป็นการเอาความรู้ทางธรรมะมาเพื่อสนองกิเลส เพื่อสนองความเห็นแก่ตัว
แบบนี้ก็มีเยอะนะ พื้นฐานไม่แน่น ก็คือว่าไม่ได้มั่นคงในคุณธรรมความดี แต่ว่าไปคิดเอาเข้าใจในธรรมะขั้นสูง คิดว่าเข้าใจ แต่ที่จริงเป็นการเอาธรรมะขั้นสูงมาเพื่อสนองกิเลสมากกว่า มีคนที่พยายามที่บอกใครๆ ว่าฉันเข้าใจธรรมะขั้นสูง แต่ว่าธรรมะขั้นพื้นฐานนี่ ไม่มีเอาเลย ถ้าไม่มีธรรมะขั้นพื้นฐานก็คือคุณธรรมความดี ไม่มีทานไม่มีศีล ที่พูดเรื่องอนัตตา พูดเรื่องไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มันก็อาจจะเป็นอุบายของกิเลส เพื่อที่จะมาสนับสนุนความเห็นแก่ตัวก็ได้ อันนี้ก็ต้องระวัง
เพราะฉะนั้นพระผู้ใหญ่สมัยก่อน ท่านก็ระมัดระวังการสอนอนันตา อย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ ก็เคยเตือนท่านอาจารย์พุทธทาส ว่าอย่าสอนเรื่องอนัตตาเร็วไปนะ เพราะว่ามันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือว่ามันอาจทำให้เกิดการอ้างอนัตตา หรืออ้างธรรมะขั้นสูงเพื่อมาสนองกิเลส ทำให้ละทิ้งความรับผิดชอบที่ควรมีควรทำ
อันนี้ก็เป็นข้อที่ต้องพึงระวังเอาไว้ แต่ถ้าเกิดว่าเราพยายามที่จะรักษาหรือปฏิบัติธรรมะขั้นพื้นฐานเอาไว้ ในที่สุดก็อาจจะเข้าใจธรรมะขั้นสูง คือเข้าถึงปรมัตถสัจจะ แล้วก็สามารถจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สมมติสัจจะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าใช้ให้ถูก
ทีนี้ประการต่อมาคือว่า แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถจะเห็นหรือเข้าใจสมมติสัจจะ เข้าใจถึงอนัตตภาวะได้ ว่าตัวเราไม่มี มันเป็นแค่สมมติ อย่างน้อยเราก็สามารถที่จะปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงหรือเข้าใกล้ภาวะเช่นนั้นได้ การเจริญสติมันเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้เยอะเลย ถ้าเราเจริญสติเป็น เราก็จะไถ่ถอนความยึด ความหลงในอัตตาในตัวกูได้
อย่างเช่นเวลาเดิน ถ้าเราเดินอย่างมีสติ ก็จะเห็นว่ามันใช่เราที่เดิน มันไม่ใช่ฉันที่เดิน แต่มันเป็นรูปที่เดิน เวลามีความคิด ความเศร้า ความโกรธ ความโศกเกิดขึ้น ก็เห็นว่ามันไม่ใช่เราที่เศร้า ไม่ใช่เราที่คิด ไม่ใช่เราที่โกรธ มันเป็นแค่ความคิด ความโศก ความเศร้า ความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ มันเป็นเรื่องของนาม ไม่ใช่เรื่องของตัวเรา
พูดง่ายๆ คือว่าการมีสติทำให้เห็นว่า ความคิดต่างๆ หรืออารมณ์ต่างๆ ไม่ใช่เรา มันปลดเปลื้องความยึดว่าเป็นเราออกไป จากเดิมที่ยึดว่าอารมณ์ความคิดเหล่านี้เป็นเราเป็นของเรา มันสลัดทิ้งไป มันเห็นแต่ว่ามันมีความคิดและอารมณ์เกิดขึ้น ไม่ใช่เรา แต่มันยังมีการเห็นอยู่ มันยังมีผู้เห็นอยู่
และใหม่ๆ ก็คิดว่าเราเห็น เห็นว่าอารมณ์ไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่เรา ความทุกข์ไม่ใช่เรา แต่มันยังมีตัวเราอยู่ ตัวเราเป็นผู้เห็น เพียงแต่เราเห็นว่าอารมณ์เหล่านี้ไม่ใช่เราแล้ว อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความก้าวหน้า แต่แม้กระนั้นก็ยังมีเราผู้เห็นอยู่
ต่อเมื่อเราภาวนาจนกระทั่งมีแต่การเห็น แต่ไม่มีเราผู้เห็น อันนี้ก็จะช่วยทำให้ไถ่ถอนความยึดว่ามีเราออกไปได้ สิ่งที่เรียกว่าเราก็จะเห็นชัดว่ามันเป็นแค่สมมติ เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้น ด้วยอำนาจของความหลง ด้วยอำนาจของอวิชชา
แต่ในขณะที่อวิชชาตรงนี้ยังไม่ได้หายไป มันยังมีเราอยู่ แต่อย่างน้อยก็ยังดี ที่ยังเห็นว่าความโกรธไม่ใช่เรา ความทุกข์ไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่เรา อันนี้ก็ต้องภาวนาต่อไป จนกระทั่งรู้ว่ามันมีแต่การเห็น แต่มันไม่มีผู้เห็น
ในขณะที่เราภาวนาอยู่ ถ้ายังไปไม่ถึงจุดนี้ อย่างน้อยก็ให้เห็น ไม่เข้าไปเป็น อย่างที่หลวงพ่อท่านเน้น คือเห็นอารมณ์ เห็นความคิด เห็นความโกรธ แต่ไม่เป็นผู้โกรธ ไม่เป็นผู้คิด แต่ก็ต้องตระหนักว่ามันยังมีผู้เห็นอยู่ แล้วผู้เห็นคือเราเห็น ในความเข้าใจ ต่อเมื่อไถ่ถอนความยึดมั่นในตัวตนในเรา จนกระทั่งมันมีแต่การเห็น แต่มันไม่มีผู้เห็น
ตรงนี้แหละที่จะทำให้เข้าใจเรื่องอนัตตา เข้าถึงอนัตตา แล้วก็สามารถที่จะเข้าถึงปรมัตถสัจจะ โดยที่ไม่ติดสมมติสัจจะได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นอุบาย เป็นขั้นตอนในการที่จะช่วยให้เราไม่หลงติดในสมมติ ไม่ว่าจะเป็นสมมติบัญญัติ หรือสมมติสัจจะได้.