พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 14 กันยายน 2565
ตามธรรมเนียมไทย ผู้เป็นลูกก็ย่อมแสดงความเคารพพ่อแม่ด้วยการไหว้ หรือบางครั้งก็ด้วยการกราบ แต่ว่าพอลูกบวชเป็นพระ ผู้เป็นแม่หรือผู้เป็นพ่อก็กราบผู้เป็นลูก จะว่าไปแล้วตอนนั้นความเป็นลูกก็ได้เปลี่ยนไปเป็นพระ
ส่วนผู้ที่เป็นพ่อแม่ ความเป็นพ่อแม่ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นโยม เพราะว่าตามธรรมเนียม สิ่งที่โยมสมควรทำคือกราบผู้ที่เป็นพระ อันนี้มันแสดงให้เห็นว่าความเป็นพ่อแม่ ความเป็นลูก มันก็แปรเปลี่ยนได้ ลูกพอเข้าพิธีบวชเป็นพระทันทีเลย และเพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่เคยได้รับการกราบ การไหว้จากลูก ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ที่กราบพระที่อยู่ข้างหน้าทันที
มันก็คล้ายๆ กับลูกน้องที่เดินถือกระเป๋าให้เจ้านาย แต่พอลูกน้องมาบวชพระ เจ้านายก็เปลี่ยนสถานะเลย หรือเปลี่ยนบทบาทกลายเป็นถือย่ามสะพายย่ามให้กับผู้ที่เป็นพระซึ่งเคยเป็นลูกน้อง ความเป็นเจ้านายความเป็นลูกน้องนี่จะว่าไป มันก็เป็นแค่สมมติ ในสถานการณ์หนึ่งก็เรียกว่า นี่คือเจ้านาย นี่คือลูกน้อง
แต่พออีกสถานการณ์หนึ่งสมมตินั้นก็เปลี่ยนไป ลูกน้องกลายเป็นพระ เจ้านายกลายเป็นโยม ก็สะพายบาตรให้กับพระซึ่งเคยเป็นลูกน้อง อันนี้เป็นเรื่องสมมติ แน่นอนพอพระสึกไปก็เคารพผู้เป็นพ่อแม่ ด้วยการไหว้การกราบเปลี่ยนกลับไป
ผู้ที่เป็นพระถ้าเกิดสึกไป ไปเป็นลูกน้องของเจ้านาย ก็คงถือกระเป๋าเดินตามหลังเจ้านายเช่นเคย อันนี้เป็นเรื่องสมมติ ซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยได้คิดกันเท่าไหร่ ว่ามันเป็นสิ่งที่มีบทบาทอยู่ในชีวิตของเราตลอดเวลา
พี่น้องเกิดมาก็คุุ้นเคยกันดี แต่ว่าพักอาศัยคนละฟากแม่น้ำ แต่ต่อมาก็มีการกำหนดหมายว่า ฝั่งหนึ่งเป็นพม่า อีกฝั่งหนึ่งเป็นไทย คนพี่ที่อยู่ฝั่งหนึ่งกลายเป็นพม่าไป คนน้องที่อยู่ฝั่งหนึ่งกลายเป็นไทยไป ความเป็นพม่า ความเป็นไทย เกิดขึ้นทันทีที่มีการขีดเส้นพรมแดน ว่านี่เป็นพม่า นี่เป็นไทย ความเป็นพม่าเป็นไทยนี่ก็เป็นสมมติ
ซึ่งที่จริงก็เห็นได้ง่าย คนไทยไปอยู่อเมริกา เปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน ความเป็นไทยก็หายไป กลายเป็นอเมริกันไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่หน้าตาก็เป็นไทย แล้วก็ภาษาไทยก็พูดชัด แถมนับถือพุทธด้วย นี่เป็นเรื่องสมมติซึ่งมันเลื่อนไหลได้ นี่เป็นธรรมชาติของสมมติเลย
ในการที่เราจะอยู่ในโลกนี้ได้ เราต้องเข้าใจเรื่องสมมติ สมมตินี่มันมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา ต่อมุมมองของเรามาก สมมติอย่างแรกคือสมมติเกี่ยวกับเรื่องคุณค่า ว่าอย่างนี้สวย อย่างนี้ไม่สวย อย่างนี้สุภาพ อย่างนี้ไม่สุภาพ อย่างนี้มีค่า อย่างนี้ไม่มีค่า
สมัยหนึ่งการใส่กางเกงที่มันมีรอยปุปะ ขาดโดยเฉพาะตรงตรงหัวเข่า ถือว่าไม่งาม ถือว่าน่าเกลียด แต่ตอนนี้มันกลับกลายเป็นเท่ไปเสียแล้ว วัยรุ่นหลายคนก็สวมกางเกงแบบนั้น ที่มันขาดๆ หรือว่าสมัยก่อนการสักยันต์ ถือว่าใครสักยันต์นี่ดูไม่ดีเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้หลายคนสักยันต์แล้วก็นิยมสักยันต์ แม้กระทั่งเป็นผู้หญิง เพราะว่ามันดูเท่ ดูสวย
ในบางที่ในเมืองไทย ถ้าหากว่ายืนค้ำหัวพระ ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่ ถือว่าไม่สุภาพ แต่ว่าในบางที่ถือเป็นเรื่องธรรมดา สมัยก่อนคำว่า “กู มึง” เป็นคำธรรมดามากเลย แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นคำไม่สุภาพไปแล้ว เดี๋ยวนี้อาจจะหมายถึงเมื่อเร็วๆ นี้หรือราว 5-6 ปีที่แล้วมั้ง หลายคนก็ใช้คำว่า “กู” เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว หรือใช้คำว่า “กรู” นี่ก็เป็นเรื่องสมมติ เป็นเรื่องสมมติเกี่ยวกับคุณค่า ซึ่งมันก็เลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไป
เราก็อยู่กับสมมติแบบนี้มากทีเดียว เช่นค่าเงิน ค่าเงินก็เป็นเรื่องสมมติ มันเป็นการกำหนดหมายเอา ขึ้นลงแล้วแต่เหตุปัจจัย การที่เราให้ค่าว่าเพชรนี่ราคาแพง ก้อนหินไม่มีคุณค่า อันนี้ก็เป็นเรื่องสมมติ เป็นเรื่องของการยอมรับ
สมัยก่อนเมื่อสัก 50 ปีก่อนนี่หินโป่งข่ามราคาแพงมากเลย เมื่อสัก 50 ปีที่แล้วใครๆ ก็สวมแหวนโป่งข่ามกัน ราคาแพงมาก แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีค่าเสียแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องสมมติ สวย ไม่สวย งาม ไม่งาม สุภาพ ไม่สุภาพ เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น
แต่ว่าบ่อยครั้งคนเราก็ไปติดสมมติมาก แล้วก็ทะเลาะกัน เพราะว่าติดสมมติต่างกัน เช่น พ่อแม่ก็จะไม่ค่อยยินดีเท่าไหร่ ถ้าลูกแต่งตัวทันสมัย ตามสมัยนิยมของวัยรุ่น เพราะพ่อแม่บอกว่าลูกแต่งตัวไม่สุภาพ แต่ลูกก็บอกว่านี่มันก็สุภาพแล้ว ก็ทะเลาะกันเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม อันนี้ก็เกิดขึ้นในโรงเรียนด้วย ครูก็อยากให้นักเรียนตัดผมสั้น เด็กบอกว่านี่ก็ไม่เห็นยาวเลย แต่ครูว่ายาวแล้วต้องกร้อนสักหน่อย ก็ทะเลาะกัน ผู้คนก็ทะเลาะกันในเรื่องของสมมติที่ติดยึดต่างกัน
นอกจากสมมติในเรื่องคุณค่าแล้ว ก็มีสมมติในเรื่องของสถานภาพ หรือว่าเอกลักษณ์ หรืออัตลักษณ์ เจ้านาย ลูกน้อง ผู้ว่าฯ รัฐมนตรี พวกนี้เป็นเรื่องสมมติ อันนั้เห็นชัดเพราะว่าเกิดจากการแต่งตั้ง แล้วก็จะถูกถอดถอน หรือว่าจะออกจากสมมตินี้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้บางทีเราก็เรียกว่าหัวโขน
คนไทย พม่า โรฮิงญา พวกนี้ก็สมมติ แต่ว่าพอคนเราติดสมมติ ไม่เข้าใจเรื่องสมมติ ก็ทะเลาะกัน ทะเลาะว่าระหว่างไทยกับพม่า หรือว่าเกิดความเกลียดชังกัน เธอคือพม่า เธอคือโรฮิงญา ก็ต้องดูถูก มองด้วยสายตาที่ดูถูก แต่ถ้าเธอเป็นอเมริกัน นี่ก็มองด้วยความรู้สึกเคารพ ทั้งๆ ที่หน้าตาผิวพรรณก็เหมือนกันเลย เพียงแต่ว่าถือพาสปอร์ตคนละใบคนละประเทศ แล้วเราทะเลาะกันเรื่องสมมติกันเยอะนะ
คนที่เป็นพุทธ หลายคนพอรู้ว่าคนนี้เป็นมุสลิม ก็เกิดความรู้สึกไม่พอใจ เกิดความรู้สึกระแวง คนมุสลิมก็อาจจะมองแบบนั้นกับคนที่เป็นพุทธด้วยเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างเท่าไหร่ คือเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราทะเลาะกันเพราะว่าติดสมมติกันเยอะเลย
หรือไม่เราก็เป็นทุกข์เมื่อสมมติมันแปรเปลี่ยนไป เช่น คนที่เป็นผู้ว่าฯ วันดีคืนดีก็กลายเป็นราษฎรเต็มขั้น ก็มีความทุกข์มาก บางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับเลย พอเกษียณ พ้นจากความเป็นผู้ว่า หรือต้องถอดหัวโขนก็เครียด ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามันมีผลประโยชน์ติดมากับสมมติด้วย เช่น ถ้าเป็นผู้ว่าก็จะมีอำนาจ มีบริษัทบริวารห้อมล้อม แต่พอสมมติหมดไป หรือต้องถอดหัวโขน ก็เกิดความทุกข์ เพราะไม่มีบริษัทบริวารห้อมล้อม ไม่มีอำนาจ
แต่ถึงแม้ไม่มีผลประโยชน์ในลักษณะที่ว่า ถ้าติดสมมติเมื่อไหร่ก็ทุกข์ สมณศักดิ์ก็เป็นสมมติเหมือนกัน อย่างที่เขาเรียกว่ายศช้างขุนนางพระ หลายคนก็ไปติดสมมติกันมาก พระนี่ทั้งๆ ที่สอนเรื่องสัจธรรม แต่ว่าก็ไปติดสมมติ คือไปติดเรื่องสมณศักดิ์เยอะ
การปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่งก็เรียกว่าสาระสำคัญเลย คือเพื่อให้เข้าใจว่าสมมตินี่มันเป็นเรื่องมายา แล้วก็เป็นเรื่องชั่วคราว เป็นอนิจจัง ไม่ว่าจะเป็นสมมติที่เกี่ยวกับคุณค่า สมมติที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ ฉะนั้นคนที่มีปัญญา เมื่อเกี่ยวข้องกับสมมติ ก็เกี่ยวข้องได้ถูกคือใช้เป็นแต่ไม่ยึดติด
อย่างมีเรื่องเล่าว่า หลวงพ่อโตท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นถึงขั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้ปฏิบัติตนแตกต่างจากเมื่อครั้งที่ยังเป็นพระธรรมดา มีคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรม ที่งานบ้านโยมแห่งหนึ่งแถวราษฎร์บูรณะ ต้องนั่งเรือเข้าไป จากวัดระฆังเข้าไปแถวคลองบางกอกน้อย แล้วเข้าไปในคลองเล็กคลองน้อย
ปรากฏว่าเป็นช่วงน้ำลง เรือนี่ก็ติด ไปต่อไม่ได้ ลูกศิษย์ก็ต้องลงมาเข็นเรือ แต่เข็นไม่ไป หลวงพ่อโตก็เลยลงมาช่วยเข็นด้วย ตอนนั้นท่านก็เอาพัดยศไปด้วย ท่านก็เข็นเรือกับลูกศิษย์ คนแถวนั้นพอเห็นก็ตะโกนเลย สมเด็จฯเข็นเรือโว้ยๆ ไม่เคยเห็นสมเด็จฯมาเข็นเรือ
หลวงพ่อโตท่านได้ยิน ท่านก็บอกว่าฉันชื่อขรัวโตจ้ะ ฉันไม่ใช่สมเด็จฯ สมเด็จฯอยู่ที่เรือน่ะ ท่านชี้ไปที่พัดยศ คือท่านได้รับพระราชทานเป็นสมเด็จฯ แต่ว่าท่านก็ไม่ยึดติด เพราะท่านรู้ว่านี่คือสมมติ มันไม่ใช่ของจริง อันนี้เรียกว่าสมมติในเชิงสถานภาพหรืออัตลักษณ์
แต่มีสมมติอีกชนิดหนึ่ง อันนี้คนเข้าใจยาก ถ้าสมมติในเรื่องคุณค่า สมมติเรื่องสถานภาพ หรือหัวโขน คนเข้าใจได้ง่ายกว่า ว่ามันเป็นของชั่วคราว มันเป็นของที่ไม่เที่ยง มันเป็นแค่การยอมรับร่วมกัน อันนี้อาจจะเรียกว่าสมมติบัญญัติก็ได้
แต่มีสมมติชนิดหนึ่งเรียกสมมติสัจจะ อันนี้คนเข้าใจยาก สมมติสัจจะก็คือความจริงที่ขึ้นต่อการยอมรับของผู้คน หรือความจริงที่ถือตามกำหนดหมายหรือข้อตกลงของชาวโลก เช่นอะไร เช่น คน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้ ต้นไม้ รถยนต์ พวกนี้สมมติทั้งนั้นแหละ อันนี้มันต่างจากค่าเงินที่ขึ้นลง หรือว่าความสวยความงาม ความสุภาพที่กำหนดหมายร่วมกัน
สมมติสัจจะตรงนี้คนเข้าใจยาก เพราะว่าคนไม่ได้คิดว่ามันเป็นสมมติ แต่คิดว่ามันเป็นจริงๆ เลย เช่น คน สัตว์ ก็คิดว่ามันมีตัวตนที่เป็นคน มันมีตัวตนที่เป็นสัตว์ มันมีตัวตนที่เป็นโต๊ะ มันมีตัวตนที่เป็นเก้าอี้ ฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าตรัส หรือครูบาอาจารย์สอนว่า พวกนี้ไม่ใช่ตัวตน งงเลยนะ
มันไม่มีตัวตนที่เป็นสัตว์ มันไม่มีตัวตนที่เป็นคน คน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้ นี่เป็นสมมติ เป็นสมมติคือว่า มันเป็นเพียงแค่จะเรียกว่าชื่อเรียกก็ได้ แต่ว่าตัวตนที่แท้ของมัน ไม่มี ไม่มีตัวสัตว์ ไม่มีตัวคน ไม่มีตัวเก้าอี้ ไม่มีตัวหนังสือ อ้าวแล้วที่เห็นน่ะ จับต้องได้นี่ มันไม่ใช่หรือ มันมีไม่ใช่หรือ มันก็มีนะแต่ว่านั่นไม่ใช่ตัวตน
มันเป็นเพียงแค่ชื่อเรียกของสิ่งที่มารวมกัน เช่น ชิ้นส่วนต่างๆ มารวมกัน มีตัวถัง มีล้อ มีเพลา มีเบาะ มีกันชน เราก็เรียกสิ่งนั้นว่ารถ แต่ตัวตนที่เป็นรถไม่มี พิสูจน์ได้อย่างไรว่าไม่มี ก็เวลาถอดเอาล้อ เอาเพลา เอาตัวถัง เอาพวงมาลัยออกไป เอาไปทีละอย่างๆ สุดท้ายก็เหลือแต่ความว่าง
รถนี่ก็เป็นเพียงแค่ชื่อที่ใช้เรียกชิ้นส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกัน คน สัตว์ก็เหมือนกัน ตัวตน หรือตัวสัตว์ ตัวคน มันไม่มี คำว่าคนหรือสัตว์นี่ก็ใช้เรียก เมื่อชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน หรือว่าเช่นขันธ์ 5 มาประกอบเข้าด้วยกัน มาประชุมกัน ก็เรียกว่าคน ก็เรียกว่าสัตว์ แต่ว่าตัวตน หรือตัวสัตว์ ตัวคน มันไม่มี
อย่างที่พระเถรีท่าหนึ่งท่านได้พูดกับมาร ท่านบอกว่าเมื่อชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน สมมติว่ารถก็มีหรือเกิดขึ้น เมื่อขันธุ์มาประชุมกัน สมมติว่าคนหรือสัตว์ก็เกิดขึ้น แต่ท่านบอกว่าในสภาวะของกองสังขารล้วนๆ มันไม่มีตัวสัตว์หรือหาตัวสัตว์ไม่เจอ
หรือเปรียบเทียบง่ายๆ หมู่บ้านนี่เราเรียกหมู่บ้าน เพราะอะไร เพราะมันมีบ้านหลายหลังมารวมกัน พอมีบ้านหลายหลังมาสร้างใกล้ๆ กันรวมกัน เราก็เรียกว่าหมู่บ้าน แต่ตัวหมู่บ้านไม่มี มันมีแต่บ้านแต่ละบ้านที่มารวมกัน เพราะคำว่าหมู่บ้านนี่เป็นแค่สมมติ ที่ใช้เรียกบ้านหลายๆ หลังมารวมกัน แต่ตัวตนที่เป็นหมู่บ้านมันไม่มี มันมีแต่บ้านแต่ละหลังๆ ที่มารวมกัน
และถ้าเราดูให้ละเอียดนะ บ้านแต่ละหลังนี่ จริงๆ มันก็ไม่มีตัวบ้าน คำว่าบ้านนี่เกิดขึ้นเมื่อ เสา หลังคา ฝา พื้น มารวมกัน ก็เรียกว่าบ้าน ตัวบ้านนี่ไม่มี หรือตัวตนที่เป็นบ้านไม่มี เพราะว่าถ้าถอดเอาเสา เอาฝา เอาหลังคาออกไป มันก็เหลือแต่ความว่างเปล่า
ตัวเราก็ไม่มีเหมือนกัน ลองชี้ว่าตรงไหนเป็นตัวเรา สมมติว่าชี้ตรงนี้นี่คือแก้ม ถ้าชี้ตรงนี้นี่คือหน้าผาก ถ้าชี้ตรงนี้นี่คือหน้าอก หาตัวชี้ตัวเรานี่ไม่เจอ เพราะถ้าไม่ใช่หู ไม่ใช่หน้าผาก ไม่ใช่คอ ไม่ใช่หน้าอก ก็อาจจะเป็นคอ เป็นแขน เป็นขา ทั้งหมดนี่ที่มารวมกันเราก็เรียกว่าตัวเรา ตัวเราเป็นแค่ชื่อเรียกของอวัยวะต่างๆ ที่มารวมกัน เอาอวัยวะต่างๆ ออกไปทีละอย่างๆ ก็ไม่เหลือตัวเรา ฉะนั้นตัวเราเป็นแค่สมมติ เป็นสมมติ ที่เรียกว่าสมมติสัจจะ โต๊ะเก้าอี้ก็เหมือนกัน
กำปั้นนี่ ดูกำปั้นเวลาเราพูดคำว่ากำปั้น เราคิดว่ามันมีตัวตนที่เป็นกำปั้น แต่ที่จริงกำปั้นนี่มันก็เป็นแค่ชื่อเรียกนิ้วทั้ง 5 มารวมกัน พอนิ้วทั้ง 5 มารวมกันรวบเข้าหากัน เราก็เรียกว่ากำปั้น แต่ตัวตนของกำปั้นหรือตัวกำปั้นไม่มี เพราะว่าพอนิ้วแต่ละนิ้วคลายออกไป กำปั้นหายไปแล้ว อันนี้เรียกว่าตัวตนที่เป็นกำปั้นไม่มี แต่มันเป็นแค่คำเรียกหรือคำสมมติที่ใช้เรียก เมื่อนิ้วทั้ง 5 รวบเข้าหากัน
นี่เป็นธรรมะหรือความจริงขั้นลึกซึ้ง ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจได้ยาก เพราะเราไปหลงติดกับสมมติ ว่าเป็นความจริงขั้นสูงสุด เมื่อกี้พูดว่าร่างกายที่เราเรียกว่าตัวเรา ที่จริงมันก็ไม่มีตัวตนที่เป็นเรา นาย ก. นาย ข.ก็เหมือนกัน ตัวตนของนาย ก. นาย ข. ไม่มี มันเป็นแค่ชื่อเรียก เมื่อขันธ์ทั้ง 5 มารวมกัน เราก็เรียกว่านี่คน สัตว์ แล้วเราก็ให้ชื่อว่านาย ก. นางข. แต่ว่านาย ก.นาย ข. จริงๆ ไม่มี ตัวตนของนาย ก. นาย ข.นี่ไม่มี นาย ก. นายข. เป็นแค่สมมติที่เราใช้เรียกขันธ์ทั้ง 5 ที่มารวมกัน
ฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็เรียกว่าเข้าใจสมมติสัจจะ ว่ามันเป็นแค่ความจริงที่ถูกกำหนดหมาย แต่ไม่ใช่ความจริงสูงสุด สุดท้ายก็มีแต่รูปกับนาม หรือว่ามีแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ใครๆ เรียกว่าคน สัตว์ ที่เขาเรียกว่าคน สัตว์ สิ่งของ หรือสัตว์ บุคคล เรา เขา มันเป็นสมมติสัจจะ คือสิ่งเราต้องทำความเข้าใจ
เรารู้เพื่ออะไร เรารู้เพื่อไม่ยึดติดว่าเป็นตัวตน เพราะถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะไปยึดว่ามีตัวเรา แล้วก็มีของเรา มีนาย ก. นาย ข.แล้วก็เกิดความยึดติดถือมั่น เราจึงทุกข์ เวลานาย ก.นาย ข.ตาย หรือว่าเวลาคนนั้นคนนี้จากไป เพราะเราไปยึดว่ามันเป็นตัวตน แต่ที่จริงแล้วมันก็เป็นแต่ว่าขันธ์ 5 ที่สลายไป
ถ้าเราเข้าใจเรื่องสมมติสัจจะ มันก็ง่ายที่เราจะเข้าใจเข้าถึงปรมัตถสัจจะ คือความจริงขั้นสูงสุด แล้วก็ทำให้ไม่มีความยึดติดถือมั่น ว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เวลามีความเสื่อมความสลายไป เราก็จะพบว่ามันไม่ใช่แค่การดับอย่างสิ้นเชิง แต่มันเป็นแค่การเปลี่ยนสภาพ
อย่างที่เคยพูดไว้แล้วว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีความตาย มันมีแต่ความเปลี่ยนสภาพ แล้วมันก็ไม่มีคนตายด้วย ที่จริงมันไม่มีแม้กระทั่งคนทุกข์ด้วยซ้ำ มันมีแต่ความทุกข์ แล้วก็รูปที่ทุกข์ นามที่ทุกข์ แต่ไม่มีคนทุกข์ ฉะนั้นที่เราคิดว่าเราทุกข์ๆ เป็นเพราะเราไปติดสมมติ ไปหลงคิดว่ามีเรา แต่ถ้าเราเห็นว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีเรา มันมีแต่รูปกับนาม หรือว่าขันธ์ 5 อันนี้แหละที่เรียกว่าเข้าถึงความจริงขั้นสูงสุด ที่ไม่ติดอยู่กับสมมติ
และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องคิดเอา มันคิดเอาไม่ได้หรอก คือคิดเอาอย่างไร มันก็ยังอยู่แค่ระดับความคิด แต่ว่าใจก็ยังยึด จนกว่าเราจะปฏิบัติ จนกระทั่งเห็นว่ามันไม่มีเรา เช่น เวลาเราเดินจงกรม ถ้าเราเดินอย่างมีสติ มีความรู้สึกตัว มันก็จะไม่ได้เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าเราเดิน แต่มันเห็นรูปกำลังเดิน
เวลามันมีความโกรธ มันก็ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นแค่ความโกรธที่เกิดขึ้นกับใจ ถ้าเราเห็นไปว่ามันมีแต่ความโกรธ แต่ไม่มีผู้โกรธ มันมีแต่ความคิด แต่ไม่มีผู้คิด อันนี้เรียกว่าเริ่มไถ่ถอนออกจากความยึดมั่นในตัวตน เริ่มที่จะถอนออกมาจากสมมติสัจจะ เริ่มที่จะเข้าใกล้ปรมัตถสัจจะ
การเจริญสติ ก็เป็นวิธีการที่จะทำให้แยกตัวคนหรือตัวเราออกไป จนเห็นเป็นรูปและนาม อย่างที่เขาเรียกว่าแยกรูปแยกนาม ก็คือแยกคนที่เป็นสมมติออกมาเป็นรูปกับนาม แต่ก่อนนี่เห็นแต่คน เห็นแต่เราๆ แต่พอเราเจริญสติ มันก็ชำแรก หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่าถลุง ถลุงคือแยก คือย่อย จากเดิมที่เป็นเราๆ ก็แยกออกมาเป็นรูปกับนาม แล้วบางทีก็เรียกว่าแยกรูปแยกนาม
ที่จริงรูปกับนามมันแยกกันอยู่แล้ว แต่เราไม่เห็นเป็นรูปเป็นนาม เราเห็นเป็นคน เป็นเรา แต่พอเราเจริญสติ มันก็เริ่มที่จะเห็นว่ามันไม่มีเรา มันมีแต่รูปกับนาม อันนี้แหละเป็นขั้นต้นของการที่จะเข้าใจเรื่องสมมติสัจจะ เข้าใจคือว่าไม่ยึดติด แต่ว่าใช้มันตามควรตามโอกาส แต่ว่าได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นแค่สมมติ เป็นเรื่องของการยอมรับ เป็นเรื่องของการสมมติขึ้นมาเอง แต่ไม่ใช่ความจริงแท้สูงสุด.