พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 13 กันยายน 2565
วันนี้เป็นวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนมรณภาพเมื่อ 34 ปีที่แล้ว 13 กันยายน หลายคนไม่รู้ หรือจำไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร อันนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่า ท่านสอนอะไร อันนี้สำคัญกว่า
หลวงพ่อเทียนท่านสอนเรื่องการพ้นทุกข์ และวิธีสู่ความพ้นทุกข์ ที่สำคัญคือการมีความรู้สึกตัว หรือการทำความรู้สึกตัว อันนี้เรียกว่าเป็นกุญแจสำคัญเลย เพราะว่าจะนำไปสู่การทำลายความหลง
ความหลงคือการไม่รู้ความจริง ที่ทำให้คนเราเกิดความยึดติดถือมั่น แล้วก็นำไปสู่ความทุกข์ เริ่มตั้งแต่การหลงคิด หลงคิดแล้วก็หลงปรุง แล้วก็หลงยึด หลวงพ่อเทียนท่านจะพูดเรื่องความรู้สึกตัวหรือว่าสติมากทีเดียว ที่จริงครูบาอาจารย์ท่านอื่นท่านก็สอน เพราะว่าความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐานสำคัญเลยของการปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าเองก็สอนให้มีความรู้สึกตัว ในทุกอิริยาบถเลย ยืน เดิน นั่ง นอน แม้กระทั่งกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม แม้กระทั่งเวลาครองจีวร สะพายบาตร พาดสังฆาฏิ หรือว่าถ้าเป็นฆารวาสก็ใส่เสื้อผ้า สวมกางเกง แม้กระทั่งอุจจาระปัสสาวะ ก็ต้องทำความรู้สึกตัวด้วย หรือมีความรู้สึกตัวในการทำกิจเหล่านั้น
ฉะนั้นครูบาอาจารย์หลายท่านก็สอนเรื่องนี้แหละ แต่ว่าส่วนใหญ่ท่านจะสอนเรื่องอื่นด้วย สอนเรื่องทาน เรื่องศีล แต่ว่าหลวงพ่อเทียนนี่เรียกว่าท่านตรงเลย ตรงมาสู่เรื่องความรู้สึกตัว ซึ่งเป็นหัวใจของการภาวนา ท่านจะไม่ค่อยเน้นเรื่องทานเรื่องศีลมาก เพราะว่าคนก็รู้ดีอยู่แล้ว แล้วบางทีคนก็ไปติดกับเรื่องทานเรื่องศีล จนลืมเรื่องภาวนา
แม้กระทั่งภาวนาก็ไปเน้นเรื่องความสงบ แต่หลวงพ่อเทียนท่านเน้นเรื่องความรู้สึกตัว คนที่มาปฏิบัติกับท่านทีแรกก็หวังเรื่องความสงบ แต่ก็อาจจะรู้สึกผิดหวัง เพราะว่าหลวงพ่อเทียนท่านเน้นเรื่องความรู้สึกตัวแทน
และนี่ก็เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อเทียน เพราะว่าคำสอนและวิธีการสอนของท่าน มักจะสวนทางกับความคาดหวัง หรือความเข้าใจของคนเวลาคนพูดถึงการภาวนา หรือว่าพอลงมือภาวนาก็นึกถึงการทำตัวนิ่งๆ หลับตา แล้วก็นั่งนิ่งๆ หรือเคลื่อนไหวก็เคลื่อนไหวช้าๆ
แต่การปฏิบัติที่หลวงพ่อเทียนพาทำนี่ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ลืมตา แล้วก็เคลื่อนไหว แม้กระทั่งเวลานั่งก็ยกมือ แล้วก็เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เวลาเดินจงกรมก็ไม่ได้เดินช้าๆ แล้วก็ไม่มีคำบริกรรมด้วยเพื่อให้ใจสงบ แต่ว่าเดินปกติ แล้วบางครั้งถ้าสงบมากๆ ก็ต้องเดินเร็วๆ เพื่อกระตุ้นหรือปลุกความรู้สึกตัวขึ้นมา
แล้วเวลาท่านสอน แม้ว่าท่านจะเน้นว่า คนเราทุกข์เพราะว่าหลงคิด ต้องรู้ทันความคิด แต่ว่าเวลาลงมือปฏิบัติ ท่านไม่ได้สอนให้เป็นปฏิปักษ์กับความคิด แม้ว่าความคิดหรือความหลงที่จะทำให้ทุกข์ แต่ท่านก็ไม่ได้สอนว่าจะต้องปฏิเสธความคิด หรือกดข่มความคิด หรือไปสู้รบตบมือกับความคิด
คนที่ฟังธรรมะหรือคำสอนของหลวงพ่อเทียนใหม่ๆ ไปเข้าใจว่าในเมื่อทุกข์เพราะความคิดหรือทุกข์เพราะหลงคิด เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามไปกดข่มความคิด หรือให้ความคิดเกิดขึ้นน้อยที่สุด แต่หลวงพ่อเทียนกลับสอนว่า อย่าห้ามคิดนะ อันนี้ก็สวนทางกับความเข้าใจของญาติโยม แม้กระทั่งลูกศิษย์ของท่านที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ
ท่านว่าอย่าห้ามคิด มันจะคิดก็คิดไป ท่านบอกว่า “ยิ่งคิดยิ่งรู้” คือปล่อยให้มันคิดไป เพราะว่าความคิดก็มีประโยชน์ มันเป็นแบบฝึกหัดให้เกิดความรู้ตัว เป็นแบบฝึกหัดให้สติได้รู้ทันความคิด เราจะรู้ทันความคิดได้อย่างไร ถ้าหากว่าไม่มีความคิดมาเป็นแบบฝึกหัด แล้วท่านก็บอกว่า ยิ่งคิดยิ่งรู้นะ
คนที่ฟังคำสอนของท่านไม่ครบถ้วนก็จะไปเข้าใจว่า มันคิดเมื่อไหร่ก็ต้องไปกดมันเอาไว้ ต้องไปตะบี้ตะบันไล่บี้มัน แต่ท่านบอกว่าไม่ต้องเลย อย่าไปห้ามคิด อนุญาตหรือปล่อยให้มันคิดไป เพราะว่ายิ่งคิดยิ่งรู้ แต่ไม่ใช่ตามความคิดไป อันนี้เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อเทียน คำสอนของท่านมักจะสวนทางกับความคิดความเข้าใจของผู้คน แม้กระทั่งกับลูกศิษย์
แล้วสิ่งหนึ่งที่ท่านเน้น คือว่าในช่วงแรกๆ ของการสอนธรรมของหลวงพ่อ คือท่านต้องการปลุกให้คนตื่นจากความหลง โดยเฉพาะความยึดติดในพิธีกรรม หรือความหลงงมงายในพิธีกรรม รวมทั้งความหลงงมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เพราะท่านเห็นว่าคนนี่ พอเข้าศาสนาแล้วก็จะไปติดพิธีกรรมมาก แล้วเกิดความหลงงมงาย หรือไม่ก็ไปหลงงมงายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งไม่รู้จักพึ่งตัวเอง พึ่งพาแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังอำนาจดลบันดาล แล้วพอพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วก็อดไม่ได้ที่จะไปติดพิธีกรรม เพราะคิดว่าพิธีกรรมจะเป็นสิ่งที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้เกิดขึ้น
ฉะนั้นในช่วงที่ท่านสอนธรรมใหม่ๆ ท่านจะทำหลายอย่างเลย ที่ทำให้คนคลายความหลงงมงายในพิธีกรรม เช่นท่านพูดอยู่เสมอ หรือบางทีทำให้ดูด้วย อย่างเช่นเวลาจะต่ออายุพ่อแม่ แทนที่จะไปนิมนต์พระมาสวดเจริญพุทธมนต์ เพื่อเป็นบุญกุศลให้กับพ่อแม่ ท่านบอกว่า ทำดีกับพ่อแม่นี่ดีกว่า
เคารพพ่อแม่ บูชาคุณความดีของท่าน ทำความดีให้กับท่าน อันนี้เป็นการต่ออายุพ่อแม่ ได้ดีกว่าการไปนิมนต์พระมาสวดในวันสำคัญของท่าน เช่น วันเกิด หรือวันครบอายุ 60 ปี พิธีกรรมเหล่านี้ท่านไม่เอาเลย แต่ท่านจะสอนให้คนหันมาทำความดี หันมาเน้นที่เนื้อหาสาระ
หรืออย่างคนเราถ้าหากว่าหวังความเจริญหวังความสุข ไม่ต้องไปหวังพึ่งพวกพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง ซึ่งเป็นสิ่งนอกตัว ให้ทำความดี โดยเฉพาะมีความรู้สึกตัว ไม่หลงในความคิด ไม่หลงในความสุขความเพลิดเพลิน ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ชีวิตก็จะเจริญได้
รวมทั้งไม่ไปติดในรูปแบบด้วย ท่านสอนว่า เช่นความเป็นพระหรือความเป็นโยมนี่ เป็นสิ่งสมมุติ ยิ่งไปกำหนดหมายว่า ถ้าห่มจีวรจึงจะเป็นพระ ส่วนฆราวาสก็ต้องนุ่งกางเกงนุ่งผ้าถุง อันนี้เรียกว่าไปติดสมมุติ
เพราะจริงๆแล้ว ความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่จีวร คนที่เป็นพระนุ่งกางเกงหรือว่าใส่ผ้าถุงก็ได้ ถ้าหากว่าจิตมีความสะอาด มีความโลภน้อย มีความเห็นแก่ตัวน้อย มีความรู้สึกตัวมาก หรือพูดง่ายๆคือ คุณธรรมภายในเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นพระมากกว่า
มีคราวหนึ่งอาจารย์โกวิท ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียน ในช่วงหลังๆ ท่านลาสิกขา ลาสิกขาขณะที่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย หลังจากบวชมา 16 พรรษา ญาติโยมก็เสียใจและไม่พอใจ แต่ต่อมาหลวงพ่อเทียนก็เชิญอาจารย์โกวิทมาแสดงธรรม ที่วัดสนามใน มีญาติโยมหลายคนไม่พอใจ แล้วก็แสดงความต่อต้าน เพราะว่าจะเอาฆราวาสมาแสดงธรรมได้อย่างไง โดยเฉพาะฆารวาสที่เคยบวชพระแล้วก็ลาสิกขา
วันที่อาจารย์โกวิทมาแสดงธรรม หลวงพ่อเทียนให้อาจารย์โกวิทเอาเสื้อคลุมมา อาจารย์โกวิททีแรกก็งงๆ ว่าหลวงพ่อเทียนจะเอาไปทำไม ไม่ได้เอาเสื้อคลุมอย่างเดียว เอาหมวกด้วยนะ หมวกกุยเล้ย พอหลวงพ่อเทียนได้ ท่านก็สวมเลยทั้งเสื้อคลุมและหมวก แล้วก็นั่งอยู่กลางลาน
โยมที่มาวัดสนามในก็งง พระก็งง ว่าหลวงพ่อเทียนกำลังทำอะไร เฉพาะคนฉลาดจึงเข้าใจว่า หลวงพ่อเทียนท่านกำลังสอนว่า อย่าไปติดที่เสื้อผ้า อย่าไปติดที่จีวร ความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่จีวร แต่อยู่ที่คุณธรรมภายใน หลวงพ่อเทียนแม้ว่าจะห่มผ้าแบบฆารวาส แต่ว่าท่านก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นพระของท่านหายไป
นี่ท่านกำลังสอนโยมว่า อย่าไปติดที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรือจีวร ให้เข้าถึงแก่นแท้ภายใน นั่นก็หมายความว่า แม้อาจารย์โกวิทจะนุ่งกางเกงแล้ว แต่ว่าท่านก็อาจจะยังมีความเป็นพระอยู่ก็ได้ อย่าไปติดที่รูปแบบ อย่าไปติดที่เสื้อผ้า อย่าไปติดที่แม้กระทั่งคำว่าฆราวาส หรือความเป็นพระ เพราะนั่นก็เป็นสมมุติ
หลวงพ่อเทียนท่านทำมากนะ ทำให้คนไม่ติดในสมมุติ และที่จริงถ้าหากว่าปฏิบัติธรรมจนถึงขั้น ก็จะเกิดปัญญาจนรู้สมมุติ แล้วก็ไม่ติดในสมมุติ ที่จริงอันนี้ก็เป็นเอกลักษณ์อันหนึ่งของท่าน เวลาพูดถึงครูบาอาจารย์เราก็พูดถึงว่า เออ..นี่ครูบาอาจารย์ท่าน ทำให้ดู อยู่ให้เห็น
แต่หลวงพ่อเทียนไม่ใช่แค่ทำให้ดูนะ ทำให้ฉุกคิดเลย หลายอย่างที่ท่านทำนี่ ทำให้คนได้ฉุกคิด อย่างอาจารย์โกวิทท่านเล่าว่า สมัยที่ท่านยังไม่ได้สนใจหลวงพ่อเทียน ท่านก็ชอบเรื่องปริยัติมาก เวลาแสดงธรรมก็จะพูดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า หลวงพ่อเทียนก็ฟัง พออาจารย์โกวิทพูดจบตอนที่ท่านเป็นพระ หลวงพ่อเทียนไปถามเลยว่า อาจารย์เอาความรู้นี้มาจากไหน อาจารย์โกวิทนี่งงเลย
แล้วคืนนั้น หลวงพ่อเทียนท่านก็มาหาอาจารย์โกวิทที่กุฏิ บอกว่าขอด้ายหน่อย อาจารย์โกวิทก็คลี่ด้ายให้ พอคลี่ด้ายเสร็จ หลวงพ่อเทียนก็ตัดด้ายขาดเลย แล้วก็บอกว่า ถ้าอาจารย์ยังปฏิบัติไม่ถึงจุดนี้นะ ก็ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าหรอก อาจารย์โกวิทนี้งงเลย ว่าเอ๊ะ..หลวงพ่อเทียนสอนอะไร หรือกำลังจะบอกอะไร
นี่เป็นวิธีการของท่านนะ ท่านชอบทำให้ฉุกคิด บางทีโยมกำลังนั่งสมาธิ หรือพระนั่งภาวนาอย่างสงบ ท่านก็เดินผ่าน แล้วก็เอาผ้าคลุมหัว พอเดินผ่านเสร็จท่านก็เอาผ้าดึงออกมาจากศีรษะท่าน ให้ดูนะ ลูกศิษย์ก็งงว่าท่านกำลังสอนอะไร ตอนหลังก็เข้าใจว่าท่านสอนว่า อย่าไปหลงนะ อย่าไปหลงความสงบ อย่าไปติดสงบ ให้รู้สึกตัวไว้
ท่านไม่ได้พูด เพราะสมัยก่อนท่านพูดไม่ค่อยเก่ง แต่ท่านก็ทำให้ดูเป็นปริศนา แต่ตอนหลังท่านก็พูดมากขึ้น เพราะว่าท่านรู้วิธีพูด ศึกษาจากครูบาอาจารย์ท่านต่างๆ รวมทั้งท่านอาจารย์พุทธทาส แต่ว่าเรื่องการทำให้ฉุกคิดนี่ ท่านก็ยังทำอยู่เป็นระยะๆ
อันนี้ก็เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อเทียน ที่หาครูบาอาจารย์ท่านอื่นมาเทียบเคียงได้ยาก ก็ระลึกถึงท่านเอาไว้นะ ในวันที่คล้ายวันที่ท่านมรณภาพ.