พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 12 กันยายน 2565
เวลาเรานั่งไม่ว่าตรงนี้หรือที่ไหน ถ้าเรานั่งนานๆ ไม่เปลี่ยนท่า เราก็จะรู้สึกเมื่อย อันนี้เรียกว่าเกิดความทุกข์กายขึ้น แต่ที่จริงให้ลองสังเกตดู แม้ว่าความเมื่อยยังไม่เกิดขึ้น เพราะว่ายังนั่งได้ไม่นาน แต่บางครั้งความทุกข์ก็เกิดขึ้นกับใจแล้ว ทั้งที่กายยังไม่ทุกข์เลยใจทุกข์แล้ว ใจทุกข์เพราะอะไร
เพราะความคิด เช่นคิดว่าไม่ไหวแล้วๆ นั่งนานไปแล้ว หรือว่าคิดถึงงานที่จะต้องไปทำ เดี๋ยวต้องไปทำโน่นเดี๋ยวต้องไปทำนี่ มีอะไรให้ทำตั้งหลายอย่าง พอแค่คิดเท่านี้แหละ จะรู้สึกอึดอัดกับการนั่ง ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้มีความปวดความเมื่อย และทั้งที่อากาศก็เย็นสบาย ไม่มีแมลงมารบกวน แต่ว่ามันทุกข์ใจไปเรียบร้อยแล้ว
บางทีก็ทุกข์เพราะว่าไปคิดถึงคนรักที่จากไป ไม่ว่าจะเพิ่งจากหรือจากไปนานเป็นปี ถ้าไม่ใช่นึกถึงคนรักก็อาจนึกถึงของรักที่สูญหายไป ถูกโกงไป เกิดความเสียดาย เกิดความเศร้าโศก เกิดความอาลัย เพราะใจมันไปคิดถึงอดีต หรือมิเช่นนั้นก็เกิดความหนักอกหนักใจ เมื่อคิดถึงภาระที่รออยู่ข้างหน้า นึกถึงปัญหาที่จะต้องสะสางในวันพรุ่งนี้มะรืนนี้
ฉะนั้นเราลองดูเถอะนะ ความทุกข์ใจนี่ ส่วนใหญ่แล้วมันเกิดเพราะความคิด ไม่ใช่แต่เฉพาะที่เรานั่งเฉยๆ แม้แต่เวลาที่เรากำลังมีสิ่งที่ชวนให้เพลิดเพลิน เช่น กำลังกินอาหารกับเพื่อน แต่พอนึกถึงความสูญเสียที่เพิ่งเกิดขึ้น คือนึกถึงเพื่อนที่เพิ่งเสียชีวิต แม้อาหารจะอร่อย แต่ว่าใจไม่ได้มีความสุขความเพลิดเพลินไปกับอาหารด้วย
หรือเพียงแค่คิดว่าอาหารมันควรจะอร่อยกว่านี้ ที่จริงอาหารมันก็อร่อยอยู่แล้วนะ แต่พอคิดว่าแหม อาหารนี่ราคาเป็นร้อยเป็นพัน มันควรจะอร่อยกว่านี้ พอคิดเท่านี้ก็รู้สึกว่าเป็นทุกข์แล้ว ไม่พอใจกับรสชาติที่ได้เสพ
หรือว่าแม้จะไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ระหว่างที่กำลังไปเยี่ยมชมสถานที่ตื่นตาตื่นใจ แต่ใจไปคิดถึงงานที่ยังค้างคาอยู่ชิ้นหนึ่ง เกิดความห่วงใย เกิดความวิตกขึ้นมา ถามว่าความเพลิดเพลินเกิดขึ้นไหม ไม่นะ มันมีความทุกข์ใจมาแทนที่ เพราะอะไร ทั้งๆ ที่เบื้องหน้าเรามันก็เป็นสถานที่สวยงาม ดอกไม้ก็ออกงดงาม ผู้คนก็ยิ้มแย้มแจ่มใส
แต่ที่เราทุกข์ใจเพราะอะไร เพราะความคิดคิดถึงปัญหา หรือบางทีก็นึกห่วงพ่อนึกห่วงแม่ เพราะได้ข่าวว่าเมื่อเช้านี้ไม่ค่อยสบาย หรือนึกห่วงลูกที่เป็นไข้ขึ้นมา ติดโควิดหรือเปล่า พอคิดเท่านั้นแหละนะ แม้ว่ากำลังมีความสุขกับการกิน มีความสุขกับการเที่ยว แต่ใจมันไม่สุขไปด้วย ใจมันเกิดความหนักอกหนักใจขึ้นมา หรือเกิดความทุกข์ นี้เรียกว่าทุกข์เพราะความคิดแท้ๆ เลย
ฉะนั้นเราลองดู สังเกตดู ทั้งที่ทุกวันนี้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น แต่ทำไมเราจึงมีความทุกข์อยู่ โดยเฉพาะความทุกข์ใจ มันไม่ใช่เพราะเราเจอสิ่งแย่ๆ อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่แม้ว่าไม่เจอเลย อย่างเช่นยกตัวอย่างนั่งอยู่ตรงนี้ มันก็น่าจะสบายดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรมารบกวนให้มีความทุกข์กาย แต่ว่าใจเป็นทุกข์ เพราะเผลอคิดไปถึงเรื่องอดีตบ้าง เรื่องอนาคตบ้าง
หรือเพียงแค่นึกว่านั่งนานไปแล้ว เมื่อไหร่จะอนุญาตให้ฉันกลับกุฏิที่พักเสียที พอคิดแค่นี้ก็รู้สึกไม่ไหวๆ ทั้งที่ความปวดเมื่อยยังไม่เกิดขึ้นเลย แต่ใจมันไม่ไหว เพราะอะไร เพราะความคิด
ฉะนั้นถ้าเราดูเถอะนะ ความทุกข์ใจนี่ มันไม่ใช่เพราะมีอะไรแย่ๆ เกิดขึ้นกับเรา แม้ขณะที่เรากำลังเที่ยว ขณะที่เรากำลังกินอาหารที่มีรสชาติดี ขณะที่เรากำลังเที่ยวห้าง แต่เราก็อาจจะทุกข์ใจได้ เพราะอะไร เพราะความคิด โดยเฉพาะคิดในเรื่องที่เป็นลบ
คิดเรื่องลบเรื่องร้ายไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต หรือคิดว่ามันจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน คนเราทุกข์เพราะความคิดมากทีเดียว แล้วทำอย่างไร บางคนก็คิดว่าถ้าไม่คิดเลยก็จะดีนะ บางคนกลับมองว่าความคิดเป็นศัตรู จะต้องห้ามไม่ให้ความคิดเกิดขึ้น อันนี้มันทำไม่ได้นะ ทำไม่ได้
พระพุทธเจ้าเคยอุปมาว่า มีเรือนพักคนเดินทางอยู่เรือนหนึ่ง คนมาจากทุกสารทิศเลย เหนือ ใต้ ออก ตก ที่มาพักเรือนนี้ บางทีก็มีพระราชา บางทีก็มีพราหมณ์ มีแพศย์ มีศูทร มีเศรษฐี วณิพกมาพัก แล้วท่านก็เลยโยงมาถึงว่า ฉันใดก็ฉันนั้น เวทนาต่างๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับเรา
บางทีก็สุขเวทนา บางทีก็ทุกขเวทนา บางทีก็อทุกขมสุขเวทนา บางทีก็สุขเจือด้วยอามิส บางทีก็ทุกขเวทนาเจือด้วยอามิส บางทีก็อทุกขมสุขเวทนาเจือด้วยอามิส บางทีก็สุขเวทนาไม่เจือด้วยอามิส ทุกขเวทนาไม่เจือด้วยอามิส อทุกขมสุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส พูดง่ายๆ เวทนาทุกชนิดก็สามารถเกิดขึ้นได้กับเรา หรือกับร่างกายของเรา
จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจของเราก็เปรียบเหมือนกับเรือนว่าง หรือเรือนพักคนเดินทาง คนจากทุกสารทิศก็มาพักได้ เศรษฐี วณิพก ก็มาพักได้ ก็หมายความว่าใจของเรา มันย่อมมีความคิดนานาชนิดเกิดขึ้นได้ ห้ามไม่ได้ บางทีก็มีความคิดที่ชวนให้สุข บางทีก็มีความคิดที่ชวนให้ทุกข์ คิดดีก็มีคิดชั่วก็มี มันสามารถเกิดขึ้นได้กับใจของเรา มันห้ามไม่ได้
หลายคนมาภาวนาก็เพื่อจะห้ามความคิด เพราะคิดว่าในเมื่อทุกข์เพราะความคิด ต้องห้ามความคิดไม่ให้เกิด เพราะถ้าคิดแล้วมันจะทุกข์ อันนี้ก็ผิดนะ หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยพูดว่า ความคิดนี่มันห้ามไม่ได้ มันเหมือนกับลมหายใจ เราห้ามได้ที่ไหน การปฏิบัติอย่าไปมุ่งเพื่อดับความคิด เอาแค่ว่าเมื่อรับรู้อารมณ์ จิตมันคิดนึกปรุงแต่งก็ให้รู้ทัน แค่นี้ก็พอ อย่าฝันทั้งที่ตื่น ก็คืออย่าหลงคิดโดยที่ไม่รู้ อันนี้สำคัญนะ อย่าภาวนาหรือปฏิบัติเพื่อดับความคิด แต่เพื่อให้รู้ทันความคิดนึกปรุงแต่ง
ที่จริงแล้วคนเราไม่ได้ทุกข์เพราะความคิด ถ้าดูให้ดีๆ แต่ทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิดมากกว่า พอไม่รู้ทันความคิด ก็ปล่อยให้ความคิดพาจิตพาใจเข้าหาทุกข์หรือเข้ารกเข้าพงไป แต่ถ้าเรารู้ทันความคิดแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว
ความคิดฉันใด ความทุกข์ก็ฉันนั้น เราห้ามทุกข์ไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถจะรู้ทันความทุกข์ได้ มีคนหนึ่งพูดไว้ดีนะ เขาบอกว่ามันไม่มีอะไรที่เลวร้ายไปกว่าความทุกข์ที่มองไม่เห็น หรือความทุกข์ที่ไม่รู้ทัน เราไม่ควรดับความคิด แต่พยายามฝึกให้รู้ทันความคิดฉันใด การที่เราจะไปพยายามหนีทุกข์หรือดับทุกข์ โดยการไม่รับรู้อะไร อันนั้นไม่ใช่วิธีการที่ถูก แต่ว่าให้รู้ทันความทุกข์ อันนี้ต่างหาก
และที่จริงอันนี้ก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำเมื่อพระองค์สอน ทรงเทศนาเรื่องอริยสัจ 4 นอกจากพระองค์จะแจกแจงว่าอริยสัจ 4 ได้แก่อะไรบ้าง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้ว พระองค์ก็ยังสอนเรื่องกิจในอริยสัจทั้ง 4 ด้วย
สิ่งที่พึงกระทำต่ออริยสัจทั้ง 4 อริยสัจข้อแรกคือทุกข์ เราควรหรือพึงทำอะไร พระองค์ตรัสว่าพึงกำหนดรู้ หรือให้รู้ทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ หรือเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ รู้ในที่นี้หมายถึงว่าเข้าใจ หรือให้รู้ทั่วถึง พูดง่ายๆ คือว่าเราควรจะรู้ทุกข์ก่อนที่เราจะทำอะไรกับความทุกข์
ควรจะรู้ทุกข์เสียก่อน และอย่าเพิ่งคิดไปดับทุกข์ เพราะทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องดับ สิ่งที่ต้องดับคือตัณหา คือสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ได้แก่ตัณหา สิ่งที่ต้องดับคือเหตุแห่งทุกข์หรือสมุทัย แต่ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้
และรู้ทุกข์คืออะไร มันมีความหมายหลายระดับหลายแง่ ในแง่หรือระดับเบื้องต้นก็คือว่า รู้ว่าทุกข์นี่ได้แก่อะไรบ้าง อย่างที่เราสวดทุกเช้า ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งไม่รักไม่พอใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์
ว่าโดยย่ออุปทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ อันนี้คือการรู้ทุกข์เบื้องต้น ซึ่งมันก็อาศัยความจำ อาศัยความจำสามารถแจกแจงได้ ซึ่งเด็กๆ ก็ทำได้ แต่ว่ามันยังไม่สำคัญเท่ากับว่า เวลาทุกข์เกิดขึ้นจริงๆ ก็ให้รู้ คือรู้ทุกข์ว่ามันกำลังเกิดขึ้นกับกายและใจ
เวลาทุกข์เกิดขึ้นกับกาย บางคนก็ไม่รู้ ปล่อยให้ทุกข์มันสะสมจนกระทั่งป่วยหนัก เช่น นิ้วล็อค หรือว่าเกิดปวดหลังอย่างรุนแรง อย่างที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ อยู่กับคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นวันละ 10 ชั่วโมง ทำเป็นปี ปรากฏว่าวันดีคืนดีก็มาพบว่านิ้วล็อค หรือว่าหลังปวดมาก หรือว่าเกิดความเจ็บปวดที่รุนแรง ที่จริงมันเกิดขึ้นมานานแล้ว ค่อยๆ เกิดค่อยๆ สะสม แต่ไม่รู้ตัว ไม่ค่อยรู้ว่ามันเกิดขึ้น มารู้ก็ตอนที่มีอาการคล้ายๆ จะเดี้ยงแล้ว ปล่อยให้มันลุกลาม จนต้องพึ่งยาระงับปวดแรงๆ ก็เพราะไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้แม้กระทั่งทุกข์ทางกาย ที่มันค่อยๆ ก่อตัวขึ้น จึงอยู่ในอริยบทนั้นนานๆ นานไปเดินเป็นปี
แต่ไม่ใช่แค่รู้ทุกข์ทางกายนะ ต้องรู้ทุกทางใจด้วย เวลาโกรธก็ให้รู้ว่าโกรธ เวลาเศร้าก็รู้ว่าเศร้า บางคนโกรธไม่รู้นะว่าโกรธ อย่างที่ยกตัวอย่างผู้ชายเมื่อวานนี้เป็นนักโทษ แล้วก็บอกกับอาจารย์ที่สอนกรรมฐานว่า ผมไม่เคยมีความโกรธเลย ทั้งๆ ที่ตัวเองเข้าคุกเพราะว่าทำร้ายภรรยาจนเกือบตาย มันจะทำร้ายภรรยาได้อย่างไรถ้าไม่โกรธ ทั้งที่ตัวเองก็ถามตัวเองว่า ฉันทำอย่างนั้นไปได้อย่างไร แต่ทำไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองโกรธ และไม่ยอมรับว่าตัวเองมีความโกรธ อันนี้เรียกว่าไม่รู้ทุกข์
แล้วก็ไม่ใช่ง่าย ที่ว่าพอโกรธแล้วเราจะรู้ ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้ว่าโกรธหรอก แต่ว่าเข้าไปในความโกรธเสียแล้ว เวลาเศร้าก็เหมือนกัน ก็ไม่ได้รู้ว่าเศร้า แต่ว่าเข้าไปในความเศร้าเสียแล้ว อันนี้เรียกว่าไม่ได้รู้ทุกข์ แต่ว่าเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ง่ายนะ ดูเหมือนง่าย แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้รู้ทุกข์หรอก เป็นทุกข์ไปแล้ว ฉะนั้นต้องรู้ทุกข์เมื่อมันเกิดขึ้น
และรู้ทุกข์ในลำดับต่อไปก็คือว่า รู้ว่าที่ทุกข์นี่ มันเป็นรูปทุกข์ หรือว่าเป็นนามทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ ที่ทุกข์อยู่นี่เป็นกายที่ทุกข์ หรือว่าใจที่ทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ ส่วนใหญ่แม้จะรู้ว่าทุกข์ แต่ไปเหมาว่าฉันทุกข์ๆ ๆ ที่จริงไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นกายที่ทุกข์ หรือนามที่ทุกข์
หลวงพ่อเทียนใช้ความว่ารูปทุกข์นามทุกข์ หรือรูปโรคนามโรค คือมันหมดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันทุกข์หรือว่ามีผู้ทุกข์เกิดขึ้น ตรงนี้ก็เป็นความรู้ทุกข์ในระดับที่ลึกขึ้นไปอีก จะรู้แบบนี้ก็ยากเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็รู้เพียงแค่ว่าฉันทุกข์ๆ ฉันโกรธๆ ฉันเมื่อย แต่ที่จริงไม่ใช่หรอกนะ มันเป็นนาม หรือมันเป็นใจที่โกรธ มันเป็นรูปหรือกายที่เมื่อย
รู้ทุกข์ลำดับที่ลึกซึ้งก็คือรู้ว่าทุกข์นี่ ไม่ใช่แค่เราทุกข์ แต่ว่ามันเป็นขันธ์ 5 ที่ทุกข์ หรือมีทุกข์ที่เกิดขึ้นกับขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเราทุกข์อีกต่อไป พูดอีกอย่างคือมันไม่มีผู้ทุกข์แล้ว มันมีแต่ขันธ์ 5 ที่ทุกข์
และยิ่งถ้ามองให้เข้าใจ จนรู้ทุกข์ในระดับที่ลึกซึ้งที่สุดก็คือว่า ขันธ์ 5 นี่เป็นตัวทุกข์ ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ เลย อย่างที่เราสวดทุกเช้า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ แล้วมันก็ไม่ใช่เฉพาะอุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ที่ถูกยึดมั่นถือมั่น แม้ขันธ์ที่ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่น หรือขันธ์เฉยๆ ก็เป็นตัวทุกข์เหมือนกัน ก็คือว่ามันมีแต่รอที่จะเสื่อมสลาย
ถ้ามองไปถึงตรงนี้มันก็จะไม่มีผู้ทุกข์อีกต่อไปแล้ว มีแต่คำว่าอะไรที่ทุกข์ หรืออะไรที่เป็นตัวทุกข์ มันไม่มีคำว่าใครทุกข์ ในระดับที่ยังไม่เข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้ง ก็ยังมีใคร ยังมีใครคือเราทุกข์อยู่ เวลาถามว่าใครทุกข์ ก็บอกเราทุกข์ แต่ถ้าเข้าใจหรือรู้ทุกข์อย่างลึกซึ้ง จะไม่ถามว่าใครทุกข์ จะถามว่าอะไรที่ทุกข์ ขันธ์ 5 ที่ทุกข์ หรือว่าขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ เลย
ฉะนั้นการรู้ทุกข์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เอาแค่ว่าเวลาทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ว่ามีทุกข์เกิด แค่นี้นี่ก็ช่วยได้เยอะแล้ว เช่นเวลาโกรธ ก็รู้ว่ามีความโกรธเกิดขึ้น หลายคนแต่ก่อนโกรธก็ไม่รู้เลยว่าโกรธ แต่ว่าเป็นผู้โกรธไปเรียบร้อยแล้ว เสร็จแล้วก็ต่อว่าด่าทอโวยวาย แต่ต่อมาพอมาเจริญสติเข้า มันก็เห็นเลยนะว่าเวลาทุกข์ก็เห็น แล้วก็รู้ทันเมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น
เวลาโกรธก็รู้ทัน เห็นความโกรธเกิดขึ้น เวลาเศร้าก็รู้ทัน เห็นความเศร้าเกิดขึ้นที่ใจ ตรงนี้มันทำให้ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันทุกข์ หรือฉันโกรธ ฉันเศร้า มันหมดไป มันเห็นแต่ความเศร้า มันเห็นแต่ความโกรธเกิดขึ้น ซึ่งมันก็เป็นการไถ่ถอนความยึดมั่นในตัวกูของกูในระดับหนึ่ง มันเห็นได้เพราะอะไร เพราะมีสติ สติมันทำให้เห็น
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านย้ำอยู่เสมอว่า เห็นอย่าเข้าไปเป็น ถ้าเห็นแล้วมันไม่เข้าไปเป็นหรอก คือมันไม่เกิดผู้ทุกข์ขึ้น ถ้าเกิดว่าเห็นทุกข์ ฉะนั้นจริงๆ แล้ว ทุกข์มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวเท่ากับทุกข์ที่ไม่รู้ทัน
เช่นเดียวกัน ความคิด มันก็ไม่ได้ทำร้ายเรามากเท่ากับความคิดที่ไม่รู้ทัน ฉะนั้นเวลาเราเจริญสติ เรามาฝึกให้เรารู้ทันความคิดได้ไวขึ้น และถ้าปฏิบัติถูกมันก็จะไม่ไปห้ามความคิด เพราะว่าความคิดไม่ใช่ปัญหา ตัวปัญหาก็คือการไม่รู้ทันความคิดต่างหาก ความคิดมันจะแย่อย่างไร ถ้ารู้ทันมันก็ทำอะไรเราไม่ได้
อารมณ์ที่เป็นอกุศลก็เหมือนกัน แม้มันจะแย่อย่างไร เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความอิจฉา พยาบาท แต่ถ้าเรารู้ทัน มันก็ทำให้เราทุกข์ไม่ได้ เหมือนกับกองไฟ ถ้าหากว่าเราอยู่ห่างจากกองไฟมากเท่าไหร่ ความทุกข์เพราะกองไฟมันก็น้อยลง แต่ที่เราทุกข์เพราะอะไร เพราะว่าเราเผลอปล่อยตัวเข้าไปในกองไฟนั้น ปล่อยให้ไฟมันเผา
หรือว่าเวลามีความหนักอกหนักใจ ความหนักอกหนักใจไม่ได้สร้างปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาเพราะเราไปแบกมันเอาไว้ เหมือนกับหิน ถ้ากองอยู่บนพื้น มันไม่สร้างปัญหาให้กับเรา แต่เป็นเพราะเราไปแบกมันเอาไว้ หนามมันแหลมอย่างไร ถ้าเราไม่เดินไปทิ่มมัน เดินไปเหยียบมัน หรือเอามือไปทิ่มมัน มันก็ไม่เจ็บ ถ่านมันจะร้อนอย่างไร ถ้าเราไม่จับมัน มันก็ไม่ลวกมือ ไม่เผามือ
ศิลปะของการดำเนินชีวิตก็คือว่า เมื่อเจอถ่านร้อนก็ไม่ไปถือ เมื่อเจอหินหนักก็ไม่ไปแบก เมื่อเจอหนามแหลมก็ไม่ไปเหยียบหรือว่าไปยื่นมือให้มันทิ่มเอา ก็คือวางระยะห่างจากมัน ก็คือรู้ทันมัน เช่นเดียวกันความทุกข์ อารมณ์ และความคิดที่เป็นอกุศล มันเกิดขึ้นแต่ว่าพอเรารู้ทัน ก็ไม่เข้าไปแบกเข้าไปยึด ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวด้วย มันเกิดระยะห่างขึ้น
สมัยนี้เราพูดถึงเรื่องระยะห่างทางสังคม social distancing แต่สิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่ก็คือ การวางระยะห่างทางจิตใจ หรือว่า mental distancing หรือ spiritial distancing คือใจเราห่างจากสิ่งเหล่านั้น ห่างได้เพราะอะไร เพราะเรารู้ทัน
เพราะฉะนั้นทุกข์นี่ไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้าย ถ้าหากว่าเรารู้ทันมัน นั่นแหละคืออานิสงส์หรือประโยชน์ของการรู้ทุกข์ เป็นประโยชน์เบื้องต้นเลยทีเดียว ถ้าเรารู้ทุกข์เป็น เราก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นไม่อยากเป็นทุกข์ ก็ต้องรู้ทุกข์ให้เป็น.