พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 12 กันยายน 2565
ฝรั่งคนหนึ่งไปศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าในแอฟริกา เขาเป็นนักวิชาการด้านมานุษยวิทยา ไปฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ค่อนข้างไกลจากความเจริญ แล้วก็คุ้นเคยกับเด็กในหมู่บ้านนั้น วันหนึ่งก็อยากจะทำอะไรสนุกๆ ก็เลยเอาผลไม้ใส่ตะกร้า ผลไม้ไม่ใช่เป็นของหาง่ายในหมู่บ้านนั้นเพราะว่าแอฟริกาขึ้นชื่อว่าแห้งแล้ง ยากจน
ผลไม้ใส่ตะกร้าวางไว้ใต้ร่มไม้ แล้วก็ให้เด็กๆอายุประมาณ 8-9-10 ขวบ ยืนเรียงแถวหน้ากระดาน ห่างจากตะกร้าสัก 50 เมตร แล้วก็บอกเด็กว่า ถ้าหากว่าใครวิ่งถึงตะกร้าได้ก่อนเป็นคนแรก ก็จะได้ตะกร้านั้นไป นั่นก็คือวิ่งแข่งกันนั่นแหล่ะ ก็ให้เด็กเตรียมฟังสัญญาณนะ พอได้ยินสัญญาณแล้วก็วิ่งเลย
พอเขาให้สัญญาณแล้ว เด็กทั้งหมดก็คล้องแขนกันเป็นหน้ากระดานเลย แล้วค่อยๆวิ่ง จนกระทั่งไปถึงตะกร้าผลไม้ ปรากฏว่าผลไม้กลายเป็นของทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งได้ แต่ไดัทุกคน เขาเอาผลไม้มาแบ่งปันกัน
ฝรั่งคนนั้นก็งง เพราะปกติถ้าเป็นที่อื่น เช่นในประเทศของตัว ถ้าให้สัญญาณแล้ว เด็กก็จะวิ่งเลยเพื่อให้ได้เป็นคนแรกที่จะไปถึงเส้นชัย คนที่ถึงเส้นชัยคนแรกก็ได้รางวัลไปคือผลไม้ แต่ปรากฏว่าเด็กในหมู่บ้านแอฟริกานั้นไม่มีใครคิดอยากจะวิ่งไปให้ถึงเป็นคนแรก แต่ว่าตั้งใจไปให้ถึงพร้อมๆกัน เพราะอะไร ก็เพื่อทุกคนได้ผลไม้ แล้วมาแบ่งปันเท่าๆกัน
ฝรั่งคนนี้ก็เลยถามเด็กว่า ทำไมถึงไม่มีใครวิ่งเป็นคนแรกให้ถึงเส้นชัย ทำไมถึงวิ่งไปพร้อมๆกัน เด็กก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อูบันตู อูบันตูเป็นภาษาหรือเป็นคำขวัญของแอฟริกา ความหมายง่ายๆก็คือว่าเราจะเป็นสุขได้อย่างไรถ้าคนอื่นยังเศร้าอยู่ ก็หมายความว่ามีสุขร่วมกัน มีทุกข์ร่วมกัน
อันนี้เป็นความรู้ใหม่ของฝรั่ง เพราะว่าฝรั่งรวมทั้งในเมืองไทย หรือเดี๋ยวนี้ผู้คนก็คิดถึงแต่ตัวเอง เวลาแข่งขันกันก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรฉันถึงจะชนะ ชนะหมายถึงชนะคนอื่น ทำอย่างไรฉันจะได้รางวัลที่ 1 ทำอย่างไรถึงคนอื่นจะแพ้ฉัน
แต่ว่าในแอฟริกาโดยเฉพาะในหมู่บ้านนั้น เขามีความเชื่อ มีความคิด จะเรียกว่าเป็นภูมิปัญญาก็ได้ เราจะสุขได้อย่างไรถ้าคนอื่นยังทุกข์อยู่ หมายความว่าความสุขของเราขึ้นอยู่กับความสุขของคนอื่นด้วย ถ้าคนอื่นสุข เราก็สุขด้วย ฉะนั้นถ้าเราอยากจะได้สุขหรือตัวเองสุข ก็ต้องช่วยคนอื่นได้มีความสุขด้วย เพราะว่าความสุขของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับคนอื่นด้วย
อันนี้มันต่างจากความคิดของคนสมัยใหม่รวมทั้งเมืองไทยในเวลานี้ด้วยว่า จะทำอย่างไรฉันถึงจะมีความสุข หรือว่ามีมากกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเวลามีการแข่งขัน เราก็คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นเบอร์ 1 ทำอย่างไรถึงจะชนะคนอื่น
ที่คนแอฟริกาบอกว่าความสุขของเราขึ้นอยู่กับความสุขของคนอื่น อันนี้เป็นภูมิปัญญา ก็หมายความว่า ถ้าคนเรามีความสามัคคี เราก็จะมีความสุขร่วมกัน
ที่จริงนอกจากความสุขแล้ว ความสามัคคีก็ยังสามารถทำให้เกิดความสำเร็จได้ด้วย สิ่งยากๆทำให้สำเร็จได้ถ้ามีความสามัคคีกัน มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
มีโค้ชคนหนึ่งพวกเราหลายคนอาจจะรู้จัก เป็นโค้ชทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยชื่อโค้ชอ๊อด เกียรติพงศ์ แกมีความสามารถในการปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงให้กลายเป็นทีมที่มีความสามารถ เรียกว่าติดอันดับของโลกเลยทีเดียว จากเดิมที่ทีมวอลเลย์บอลหญิง ทีมชาติไทยไปแข่งที่ไหนก็แพ้ แต่ตอนหลังสามารถที่จะชนะผู้แข่งที่เก่งได้
แกมีวิธีฝึก เช่น เวลาให้ทุกคนแข่ง ให้ทุกคนวิ่ง 2,000 เมตร คือนักกีฬาต้องแข็งแรง แล้ววิธีฝึกให้แข็งแรงคือวิ่ง วิ่ง 2000 เมตรภายในเวลา 9 นาที โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าแม้แต่คนเดียวภายในทีม ใช้เวลาเกิน 9 นาที ต้องกลับมาวิ่งใหม่ หมายความว่าจะต้องถึงเส้นชัยพร้อมๆกัน หรือทำเวลาได้ดีเหมือนๆกัน
ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งวิ่งได้ ใช้เวลาน้อยกว่า 9 นาที แต่คนอื่นใช้เวลามากกว่า 9 นาที ก็เป็นอันว่าไม่ต้องทำอะไรแล้วพักได้ แต่ว่าโค้ชอ๊อดเขาบอกว่าถ้ามีคนภายในทีมวิ่งช้า ทุกคนต้องกลับมาวิ่งใหม่ วิธีนี้เป็นเทคนิค อุบายที่ทำให้ทุกคนต้องช่วยกัน มีเพื่อนในทีมที่วิ่งช้า จะทำอย่างไรถึงจะช่วยให้เขาวิ่งเร็ว
ไม่ใช่วิ่งไปโดยที่ไม่สนใจคนอื่น แต่จะต้องช่วยทำให้เพื่อนร่วมทีมวิ่งไปให้ถึงเส้นชัยพร้อมๆกับเรา หรือว่าอย่างน้อยก็ใช้เวลาน้อยกว่า 9 นาที วิธีนี้มันช่วยทำให้เกิดความรู้สึกเป็นทีมเวิร์ค สมัยนี้เขาเรียกว่าทีมเวิร์คหมายความว่าจะต้องสามัคคี ช่วยเหลือกัน คนใดคนหนึ่งจะเก่งแต่คนอื่นไม่เก่ง คนใดคนหนึ่งแข็งแรงแต่ที่เหลือไม่แข็งแรง ไม่ได้
อันนี้เรียกว่าเป็นวิธีการที่สร้างความสามัคคี ซึ่งเป็นหัวใจในการทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ทางพระพุทธศาสนาก็ให้ความสำคัญกับความสามัคคี พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความสามัคคีทำให้เกิดสุข และไม่ใช่แค่สุขอย่างเดียว ทำให้เกิดความสำเร็จ ทำสิ่งที่ยากได้ เช่น การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นเรื่องยากนะ แต่จะทำได้ถ้าหากว่ามีสังฆะ สังฆะก็คือหมู่สงฆ์ หมู่สงฆ์ก็คือหมู่คณะ จะต้องมีความสามัคคีกัน
พระธรรมวินัยมีจุดมุ่งหมายอันหนึ่ง ก็คือทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่สงฆ์ เพราะถ้าสงฆ์มีความสามัคคีกันแล้ว แต่ละคนๆ ก็สามารถจะทำสิ่งยากให้สำเร็จได้ เช่นการฝึกฝนตนจนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์ หรือถึงแม้จะไม่พ้นทุกข์เลย ก็ยังทุกข์เบาบาง กลายเป็นคนใหม่ได้ จากเดิมที่เป็นคนเหยอะแหยะ เห็นแก่ตัวก็กลายเป็นคนที่มีจิตที่พัฒนา มีสติ มีปัญญา
พระพุทธเจ้าเวลาเทศนาสั่งสอนหมู่สงฆ์ จะเป็นข้อความอยู่หลายประโยค มี 2-3 ประโยคที่พระองค์จะย้ำว่า พวกเธอยังพร้อมเพรียง ยังชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้เหมือนน้ำกับน้ำนม และมองกันด้วยสายตาแห่งความรักอยู่หรือเปล่า อย่างเช่นมีคราวหนึ่งพระองค์ไปเยี่ยมพระอนุรุทธะ พระกิมพิละ พระนันทิยะ ซึ่งปลีกตัวไปบำเพ็ญทำความเพียร พระองค์ไปเยี่ยมแล้วก็ถามประโยคนี้แหล่ะ
แล้วพระทั้งสาม ท่านก็ตอบได้ดี ก็ตอบว่า แม้กายของข้าพระองค์จะต่างกัน แต่ว่าใจดูเหมือนเป็นดวงเดียวกัน ทำยังไงก็บอกว่าเวลาอยู่ด้วยกัน ข้าพระองค์ก็จะวางจิตของตัว แล้วก็ทำตามจิตของหมู่คณะ ก็คือนึกถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง อันนี้ก็เป็นวิธีการที่ทำให้เกิดความสามัคคี และพอมีความสามัคคี ผู้ที่อยู่ด้วยกันก็มีความสุข แล้วก็มีกำลังใจในการทำความเพียรจนกระทั่งถึงความสิ้นทุกข์ได้
อย่างพระอนุรุทธะ พระกิมพิละ พระนันทิยะ ภายหลังท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ อันนี้เรียกว่าทำสิ่งยากสำเร็จได้เพราะอาศัยความสามัคคี และความสามัคคีเกิดขึ้นได้ นอกจากการรู้จักทำใจ นึกถึงผู้อื่นแล้ว มันก็ออกมาสู่การปฏิบัติ คือการแบ่งปัน การพูดด้วยวาจาที่ไพเราะ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
อันนี้แหล่ะเป็นที่มาของคำที่เรียกว่าสังคหวัตถุ 4 ซึ่งรวมถึงการร่วมทุกข์ร่วมสุขกันด้วย เพราะฉะนั้นเวลาเรานึกจะทำอะไรแล้ว อย่างน้อยก็ให้คิดถึงความสามัคคีของหมู่คณะ มันก็จะช่วยส่งเสริมให้ความสำเร็จและความสุขได้.