การที่คนเราจะสนใจธรรมะจริงจังนี่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ เพราะว่ามันมีสิ่งดึงดูดใจ ให้คนเราหันเหไปทางอื่นเยอะ เช่น ความสนุกสนาน หรือความสุขจากการเสพ การมีการได้ เราเรียกว่าความสุขทางโลก หรือจะเรียกว่าเป็นวิถีทางโลกก็ได้ และคนส่วนใหญ่ก็หันเหไปทางนั้นเสียเยอะ
ถ้าไม่สนุกสนานเพลิดเพลินในการหาความสำเริงสำราญ ก็หมกมุ่นกับการหาเงินหาทอง ซึ่งบางทีมันก็ไม่ใช่เพียงแค่หาอยู่หากิน หรือว่าเพื่อความอยู่รอด แต่ว่าเพื่อความมั่งคั่ง เพื่อความอยู่ดีกินดี
แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจธรรมะ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการได้ฟังธรรม อาจจะเป็นเพราะมีคนชวน หรือว่าบังเอิญได้ยินได้ฟัง อาจจะเริ่มจากการเห็นข้อความบางข้อความที่สะดุดใจ หรือได้เห็นได้ฟังคลิปวีดีโอที่ทำให้เกิดความฉุกคิดขึ้นมา ถ้าหมายถึงสมัยนี้นะ
สมัยก่อนก็อาจจะเป็นเพราะว่ามีคนชักชวน หรือว่าได้เจอครูบาอาจารย์ที่พูดกระทบใจ เลยทำให้สะดุดใจขึ้นมา ก็เลยเริ่มติดตาม จากการฟังธรรมก็เป็นการปฏิบัติธรรม อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย หรือว่าเข้าหาธรรมแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
แต่ก็มีหลายคนที่การเข้าหาธรรมนี่ เหมือนกับเป็นการหักเหเลย มีจุดหักเหของชีวิตที่ทำให้หันมาสนใจธรรมะ จุดหักเหที่สำคัญก็มักจะได้แก่ความทุกข์ เช่น สูญเสียคนรัก อาจจะเป็นพ่อแม่ สามีภรรยาหรือลูก หรือบางทีก็สูญเสียของรัก เช่น ทรัพย์สินถึงขั้นล้มละลาย เป็นหนี้เป็นสิน หรือว่าเจ็บป่วย เจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย รักษาได้ยาก ทั้งทางกายทางใจ ก็ทำให้หันมาสนใจธรรมะ
ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างแบบนี้เยอะเลย ที่เคยเล่าอยู่หลายครั้งก็เช่น นางกีสาโคตมี นางปฏาจารา สูญเสียลูก สูญเสียทั้งสามี ทั้งพ่อแม่ ลูกก็ไม่ใช่แค่ลูกคนเดียวที่เสีย เรียกว่าเสียทั้งสองคน หมดเนื้อหมดตัวไปเลย จนกลายเป็นเสียสติหรือคุ้มคลั่งไป หรือค่อนๆ ปริ่มๆ วิกลจริต หรือบางคนก็สูญเสียคนรัก อย่างสันตติอำมาตย์ ทั้ง 3 ท่านที่พูดมานี่ตอนหลังก็ได้เป็นพระอรหันต์
ชีวิตเปลี่ยนเพราะความสูญเสีย เกิดความโศก ความคร่ำครวญ จนถึงทุกวันนี้หลายคนชีวิตหักเหได้ก็เพราะการสูญเสีย บางทีคนรักอาจจะไม่ได้ตายจากไปแต่ว่าเขาเลิกทาง ก็เหมือนกับจากเป็น ก็ทำให้เสียศูนย์ไปเลย แล้วก็ได้หันมาสนใจธรรมะ ทีแรกก็เป็นเครื่องปลอบประโลมใจ แต่ตอนหลังก็ทำให้เกิดสติเกิดปัญญาขึ้นมา
และที่เป็นกันมากคือความเจ็บป่วย เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง ก็ทำให้ชีวิตหักเหหันมาสนใจธรรมะ เพราะรู้ว่าเงินทองที่มี สมบัติที่สะสมมา มันไม่ได้ช่วยเลย ไม่ใช่แค่ไม่ช่วยความทุกข์ทางกายคือโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่ว่ายังไม่สามารถจะช่วยความทุกข์ทางใจได้ อันนี้เรียกว่าหันมาสนใจธรรมะ เพราะเจอทุกข์ที่มันบีบคั้นใจ
แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจธรรมะ เพราะว่าไม่ได้เจอทุกข์เลย จะว่าไปแล้วสิ่งที่อยากมีก็ได้มี เรียกว่ามีความพรั่งพร้อม แต่ว่าพบว่าแม้มีเท่าไหร่ ก็ยังไม่สามารถจะเติมเต็มความรู้สึกพร่องในใจได้ คือเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมา เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่มี แม้จะมีสมอยาก แต่มันก็ไม่ได้ช่วยทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง
อย่างในสมัยพุทธกาล มานพ 2 คน อุปติสสะ โกลิตะ ซึ่งภายหลังก็คือพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เรียกว่าชีวิตนี่ราบเรียบราบรื่น ครอบครัวดี มีบริษัทบริวารเยอะ ใช้ชีวิตอย่างสำเริงสำราญ ใช้เวลากับการเสพมหรสพ หาความบันเทิงตามประสาคนหนุ่ม
แต่พอมาถึงจุดหนึ่งก็พบว่ามันก็เท่านั้นแหละ มีวันหนึ่งไปชมมหรสพมา แต่ก่อนนี้เคยสนุกสนาน แต่คราวนี้รู้สึกเบื่อ มันดูเหมือนจืดชืด เกิดความรู้สึกว่ามันก็เท่านั้นแหละ แล้วก็เลยหันมาสนใจวิถีทางอื่น เริ่มหันมาสนใจเรื่องการดับทุกข์ทางใจ หาความสุขทางใจ ที่เรียกว่าโมกขธรรม แล้วก็เลยเริ่มออกบวช
ทีแรกก็ไปบวชกับสัญชัยปริพาชก แต่ว่าก็ยังไม่พบคำตอบ จนกระทั่งอุปติสสะไปพบพระอัสสชิเข้า แล้วก็เลยได้รู้ถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแค่คำพูดสั้นๆ ของพระอัสสชิว่า สิ่งใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตกล่าวถึงเหตุแห่งธรรม และความดับแห่งธรรมนั้น นี่เป็นคำสอนของพระมหาสมณะ ก็คือพระพุทธเจ้า เกิดปัญญาเลยนะ บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเลย
เช่นเดียวกับพระโกลิตะ พอได้ฟังธรรมประโยคเดียวกันนี่ ก็บรรลุธรรมเลย อันนี้ท่านไม่ได้มีความทุกข์อะไรเลยนะ ไม่ได้มีความทุกข์ในความหมายที่ว่าสูญเสียพลัดพรากจากคนรัก เพียงแต่ว่าสิ่งที่มีสิ่งที่ได้รับ หรือความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ มันไม่ได้ช่วยทำให้ความรู้สึกพร่องในจิตใจมันหายไป
ความเบื่อจากการใช้ชีวิตที่สนุกสนาน จากการมีการได้ มันทำให้หลายคนหันเหเข้าหาธรรมะ เพราะรู้สึกว่าจิตใจยังไม่ได้รับการเติมเต็ม แม้จะมีมากแต่ข้างในก็พร่อง ก็เหมือนกับยสะกุลบุตร ยสะกุลบุตรนี่ก็เรียกว่าพรั่งพร้อมบริบูรณ์ด้วยวัตถุ เจ้าชายสิทธัตถะมีประสาท 3 หลังอย่างไร ยสะก็มีอย่างนั้นเหมือนกัน
ก็อยู่กับความสำเริงสำราญ ไม่ต้องทำงาน วันๆ ก็มีกินมีใช้ มีความบันเทิงเริงรมย์ให้เสพ ก็ดูเหมือนว่าจะมีชีวิตที่ผาสุก แต่ว่าวันหนึ่งกลางดึกตื่นขึ้นมา เห็นนางฟ้อนนางรำนอนหลับไหล ก่ายกองกัน บ้างก็น้ำลายยืด บ้างก็ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย สิ่งที่เห็นเหมือนกับว่าเป็นซากศพที่นอนกองอยู่ ก็เลยเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา
ที่จริงแม้จะไม่เห็นภาพนั้น แต่คิดว่าก็คงจะมีความเบื่อมาสะสมมานานทีเดียว ทั้งๆ ที่มีสิ่งเสพมากมาย แต่ก็เหมือนกับว่าบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต อันนี้เขาเรียกว่ามีความพร่อง มีความว่างเปล่าบางอย่างเกิดขึ้นในใจ และพบว่าวัตถุสิ่งเสพมันไม่ได้เติมเต็มจิตใจ จนเกิดความรู้สึกเต็มอิ่มหรือพอใจเลย
ก็เลยรู้สึกว่านี่ไม่ใช่แล้ว จึงเดินออกจากปราสาทอย่างไร้จุดหมาย แล้วก็พูดว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่ไม่ใช่สถานที่นะ เป็นใจมากกว่า จนกระทั่งเดินไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ไกลทีเดียวจากกรุงพาราณสี เดินเรื่อยเปื่อยไป ด้วยความเบื่อหน่าย สุดท้ายก็ได้พบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง
สะดุดใจขึ้นมา ก็เลยหันมาสนทนาพูดคุย แล้วก็ได้โอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และสุดท้ายก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พอบวชก็ได้เป็นพระอรหันต์ ที่จริงไม่ทันได้บวชด้วยซ้ำก็ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของบุคคล จำนวนไม่น้อยเลย ที่เข้าหาธรรมทั้งๆ ที่ชีวิตไม่ได้มีความทุกข์ประเภทพลัดพรากสูญเสีย จนกระทั่งเกิดความโศก ความคร่ำครวญ หรือว่าเกิดความตื่นตระหนกตกใจ เกิดความท้อแท้ในชีวิต
แต่มันเป็นความเบื่อ เป็นความเบื่อจากการที่มีสิ่งเสพ สมอยากด้วยนะไม่ใช่ไม่สมอยาก ที่บอกว่า ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ แต่ทั้งอุปติสสะ โกลิตะ หรือว่ายสะปรารถนาอะไรก็ได้ แต่ว่ามันก็ยังรู้สึกว่ามีบางอย่างขาดหายไปในชีวิต และพบว่าอันนี้ไม่ใช่ อันนี้เรียกว่า รู้สึกเกิดความพร่องขึ้นมา
ไม่ได้ถูกความบีบคั้นเพราะความโศก ความเศร้า แต่เป็นความพร่อง ก็เลยต้องหันมาหาหนทางอื่นที่จะมาช่วยเติมเต็มสิ่งนั้น อาจจะเรียกว่าความสงบใจก็ได้ มันก็มีผู้คนจำนวนมากที่หันมาสนใจธรรมะในยุคนี้ก็เพราะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งที่มี เบื่อหน่ายกับชีวิตที่เป็นอยู่ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นความสำเร็จ เป็นความพรั่งพร้อม แต่ว่ามันไม่สามารถจะเติมเต็มบางอย่างในจิตใจได้
เมื่อสัก 20 ปีก่อนมีนักธุรกิจหนุ่มคนหนึ่งในไทย ชีวิตแกน่าสนใจ มีช่วงหนึ่งชีวิตตกต่ำย่ำแย่มาก เพราะว่าธุรกิจของครอบครัวเป็นหนี้ถึง 7 พันล้านในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะว่าไปกู้เงินจากต่างประเทศมาเป็นเงินดอลล่าร์ แล้วค่าเงินบาทมันตก หนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเลย 7 พันล้านเมื่อ 20 ปีก่อนก็อาจจะประมาณ 1000-2000 ล้านในปัจจุบัน
พ่อเรียกลูกคืินักธุรกิจคนนี้มาช่วยฟื้นกิจการ แกเก่งนะ 3 ปีก็สามารถจะปลดหนี้ได้เป็นธุรกิจก่อสร้างระดับประเทศเลย อีก 3 ปี ก็สามารถที่จะสร้างกำไรเพิ่มสินทรัพย์ จนกระทั่งเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ 20,000 ล้าน กลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้านภายในเวลาไม่กี่ปี ก็น่าจะเป็นคนที่มีความสุขนะ
แต่ว่าวันหนึ่งเกิดเบื่อหน่ายกับชีวิตนักธุรกิจ แกบอกว่าชีวิตผมหมดค่าทางธุรกิจแล้ว ไม่ใช่เพราะไม่มีที่ไปนะ แต่มันเกิดความเบื่อหน่าย ชีวิตของผมนี่ไม่มีความหมายเลย มันก็แค่เศรษฐีหมื่นล้านคนหนึ่ง คือเขาพบว่าการเป็นนักธุรกิจหรือการที่มีความสำเร็จทางธุรกิจมันไม่ได้ช่วยเติมเต็มอะไรบางอย่างในชีวิตให้ได้เลย
แต่ก็แปลกนะ น่าสนใจตรงที่ว่า แทนที่เขาจะหันเข้าหาธรรมะอย่างที่อุปติสสะ โกลิตะ หรือยสะ หรือแม้แต่เจ้าชายสิทธัตถะ ที่รู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่ มันไม่ใช่ แต่แทนที่จะเข้าหาธรรม กลับไปคิดว่ามันมีทางอื่นที่จะมาช่วยเติมเต็มชีวิตได้มากกว่า ในเมื่อลาภหรือเงินทองไม่ได้ช่วยเติมเต็มให้เกิดความพอใจได้ บางทียศหรืออำนาจ จะช่วยสร้างความเต็มอิ่มให้กับจิตใจได้มากกว่า
ก็เลยหันไปเป็นนักการเมือง แล้วก็ไปเป็นรัฐมนตรี และชีวิตก็เข้าสู่การเมืองอย่างเรียกว่าเต็มตัวเลย อันนี้ก็เหมือนกับว่าเป็นหนทางที่เขาคิดว่ามันจะช่วยเติมเต็มจิตใจเขาได้ ก็น่าเสียดายนะถ้าหากว่าเขาได้ใคร่ครวญสักหน่อยว่าไม่ว่าจะเป็นลาภหรือยศ มันไม่สามารถจะทำให้เกิดความเต็มอิ่มให้กับชีวิตได้
แต่คนจำนวนไม่น้อยก็คิดแบบนี้ ในเมื่อชีวิตที่เป็นอยู่ยังไม่ทำให้ฉันเติมเต็ม ก็คิดว่า ถ้าฉันรวยมากกว่านี้ ฉันมีรถมากกว่านี้ มีบ้านมากกว่านี้ มีที่ดินมากกว่านี้ มันจะช่วยเติมเต็มข้างในของฉันได้ แบบนี้ก็มีเยอะคือรู้ว่าเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา แต่คิดว่าถ้ามีมากกว่านี้หรือว่าไปเส้นทางนี้ อีกหน่อยเดี๋ยวมันก็จะเต็ม
แต่ว่านักธุรกิจคนนี้แกคิดว่าเป็นนักธุรกิจก็อย่างนั้นๆ เป็นเศรษฐีหมื่นล้านก็อย่างนั้นๆ ไปเป็นนักการเมืองดีกว่า มีอำนาจ มียศ มันจะช่วยเติมเต็มได้ อันนี้ก็เรียกว่าไปคิดว่าลาภ ยศ สรรเสริญมันจะช่วยทำให้เกิดความเต็มอิ่ม
พูดถึงเรื่องการเติมเต็ม มีนิทานไม่ใช่นิทานมีเรื่องหนึ่งซึ่งให้ข้อคิดที่ดี อันนี้เกิดขึ้นในอินเดีย อาจารย์คนหนึ่ง แกก็มีลูกศิษย์อยู่หลายคน แต่ว่าที่โดดเด่นมี 2 คน คนหนึ่งชื่อว่าจิต อีกคนหนึ่งชื่อไชยา สองคนนี้ดูเหมือนว่าเด่นทั้งคู่ แล้วก็อาจจะมีความชิงดีชิงเด่นกัน จิตคงจะไม่พอใจไชยา ที่ได้รับการโปรดปรานมากกว่าจากอาจารย์
อาจารย์ก็เลยทดสอบภูมิปัญญา วันหนึ่งก็พา 2 คนไปที่ห้องคล้ายเป็นกุฏิเปล่าๆอยู่ 2 หลัง อยู่ห่างกันประมาณสัก 20-30 เมตร แล้วก็ให้เงินทั้งสองคนๆละ 1 รูปี (50 กว่าปีก่อน 1 รูปีหนึ่งก็ 2 บาท) บอกว่าใช้เงิน 1 รูปีนี้ ทำอย่างไรก็ได้ ไปซื้ออะไรมาก็ได้ เพื่อให้ห้องนี้มันเต็ม
คนแรกคือจิตพอได้ 1 รูปี มาทำการบ้าน ก็รีบตรงไปที่ตลาดเลย แต่ว่า 1 รูปีนี่มันซื้ออะไรไม่ค่อยได้หรอก คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ก็นึกขึ้นมาได้ เลยไปหาคนขนขยะ แล้วก็ไปซื้อขยะมา 1 รูปีนี่ คนขนขยะแฮปปี้เลย จิตก็เอาขยะมาใส่ไว้ในห้องของตัวจนเต็มเลยเสร็จก่อนค่ำ ดีใจที่งานสำเร็จ
ส่วนไชยานี่ พอได้รับมอบหมายการบ้านจากอาจารย์แล้ว นั่งทำสมาธิสักครู่ เสร็จแล้วก็เดินไปที่ตลาดเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้ซื้ออะไร นอกจากไม้ขีดไฟ ประทีป ธูปหอม เสร็จแล้วก็เดินกลับไปที่ห้อง พอตกเย็นแกก็จุดประทีป แล้วก็จุดธูป ห้องนี้ก็เลยอบอวลไปด้วยกลิ่นธูป แล้วก็เต็มไปด้วยแสงสว่าง
พอตกค่ำ อาจารย์ก็มาตรวจผลงาน ไปที่ห้องของจิตก่อน พอเปิดประตูห้องขึ้นมา ก็ผงะเลย เพราะกลิ่นขยะมันโชยใส่จมูก เพราะขยะมันเต็มห้องเลย แต่พอเดินไปที่ห้องของไชยา พอเปิดห้องก็เห็นแสงสว่าง แล้วก็มีกลิ่นธูปหอมอบอวล อาจารย์ก็ยิ้มเลย การยิ้มของอาจารย์ก็เป็นเครื่องหมายว่าอาจารย์พอใจในผลงานของใครมากกว่ากัน
นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า มันมีวิธีการที่จะเติมเต็มห้องอยู่ 2 แบบ อันแรกคือเติมเต็มด้วยวัตถุ ซึ่งสุดท้ายมันก็ลงเอยด้วยการเอาขยะมาใส่ห้อง อีกวิธีหนึ่งคือการเติมเต็มด้วยกลิ่นหอมและแสงสว่าง อันนี้ก็เป็นอุปมาอุปไมยว่า การเติมเต็มชีวิตหรือจิตใจ ถ้าเราเติมเต็มด้วยวัตถุ สุดท้ายสิ่งที่ได้มาก็คือขยะ สิ่งที่ดีกว่าคือการเติมเต็มด้วยปัญญาและความดี แสงสว่างก็เหมือนกับปัญญา กลิ่นธูปที่อบอวลก็หมายถึงความดี
อันนี้ก็เป็นสอนใจว่า คนเราจะเลือกเติมเต็มชีวิตของเราอย่างไร หลายคนก็เติมเต็มชีวิตด้วยวัตถุ ด้วยการหาเงินหาทอง แต่สุดท้ายมันก็สู้การเติมเต็มชีวิตหรือจิตใจด้วยปัญญาและคุณธรรมไม่ได้
ถ้าหากว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่างเปล่า หรือว่าเกิดความพร่องในจิตใจทั้งที่มีวัตถุสิ่งเสพมาก มันเป็นเพราะเรายังเติมเต็มชีวิตด้วยสิ่งที่มันไม่ใช่คำตอบอย่างแท้จริง ถ้าหันไปหาธรรมะ หาความสงบใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญญาและคุณธรรม มันจะเป็นคำตอบที่ชีวิตจิตใจต้องการมากกว่า
และนี่คือสิ่งที่อุปติสะ โกลิตะ หรือว่ายสะได้พบ เมื่อเข้าหาธรรมะ และชีวิตจิตใจได้รับการเติมเต็ม แต่ถ้าหากว่าหันไปหาเงินหาทองมากขึ้น เพราะคิดว่าถ้ามีมากความพอใจจะเกิดขึ้น หรือว่าไม่ใช่เงินไม่ใช่ทองแต่ไปหาสิ่งอื่นมาแทนที่เป็นเรื่องทางโลกเช่นอำนาจสุดท้ายมันก็พบว่านั่นคือทางตัน ไม่ใช่คำตอบ
แต่บางคนกว่าจะรู้ตัว ก็สายไปแล้ว เหมือนกับที่นักปราชญ์คนหนึ่งชาวอเมริกัน แกพูดว่าโศกนาฏกรรมของชีวิตก็คือว่า การที่หาปลามาทั้งชีวิต แล้วพบว่ามันไม่ใช่ปลาที่ต้องการ กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว เพราะไม่มีเวลาเหลือแล้ว
เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกพร่องขึ้นมา ทั้งที่เรามีสิ่งต่างๆพรั่งพร้อม ให้รู้เถอะว่า มันเป็นเพราะว่า สิ่งที่เรามี มันไม่ใช่ ต้องหันไปหาสิ่งที่ใช่มากกว่า และสิ่งที่ใช่ มันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของทางโลก แต่เป็นสิ่งที่ตอบสนองความสุข ความสงบในจิตใจ ไม่ใช่พอพบว่า เงินไม่ใช่คำตอบ ก็ไปหาอำนาจมาแทน สุดท้ายก็จะพบว่ามันก็ไม่ใช่เหมือนกัน.