แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
กายกับใจ คุณสมบัตินี่ต่างกันมากทีเดียว กายมีรูปมีร่าง จับต้องได้ แต่ใจจับต้องไม่ได้ ไม่รู้ว่าอยู่ไหนจะจี้ว่าตรงไหนคือใจ อยู่ตรงไหนตอบไม่ได้เลย แต่ถ้าถามว่ากายอยู่ไหนตอบได้ ชี้ได้จี้ได้ นิสัยก็ต่างกัน อย่างเช่น กายชอบอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยชอบเขยื้อนขยับแต่ว่าใจชอบเที่ยวเหลือเกิน ไม่ว่ากายอยู่นิ่งๆนั่งหรือนอน แต่ใจชอบเดินทาง เถลไถลแม้ในความฝัน
แต่ว่าทั้งกายและใจต้องพึ่งพาอาศัยกัน แล้วก็สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาก หรืออาจจะยิ่งกว่าฝาแฝดด้วยซ้ำ อย่างเช่นกายจะกินอะไร มันต้องอาศัยใจเป็นตัวเตือน ตัวกำกับ เพราะไม่เช่นนั้นกายก็อาจจะกินสิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกาย หรือว่ากินมากไป มันก็เกิดความเจ็บป่วยตามมา ต้องอาศัยใจคอยเตือนให้รู้จักพอดี หรือบางอย่างกายอาจจะไม่ชอบเพราะมันขม แต่ว่ามันมีประโยชน์ก็ต้องอาศัยใจเกลี้ยกล่อม ชักชวน
จะออกกำลังกาย กายไม่ค่อยชอบหรอก แต่ต้องอาศัยใจช่วยเคี่ยวเข็ญ คอยกระตุ้นหรือชักชวน กายถึงจะมีสุขภาพดี แข็งแรง ในทำนองเดียวกัน ใจจะเจริญงอกงามได้ บางทีก็ต้องอาศัยกาย ที่จริงใจจะมีปัญญามากน้อยแค่ไหน มันต้องอาศัยกายมากทีเดียว จะรับรู้อะไรต้องอาศัยตา ต้องอาศัยหู
ใจจะมีปัญญาได้ ก็ต้องรู้จักฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ ของสัตบุรุษ จะร่ำเรียนเขียนอ่านให้ฉลาดมีปัญญาก็ต้องอาศัยตาในการอ่านในการศึกษา ถ้าเกิดตาบอดหูหนวก ก็ลำบากแล้ว ใจก็จะมีปัญญาได้ยาก ไม่ใช่แต่ปัญญา ไม่ว่าทางโลกหรือทางวิชาชีพหรือว่าการเกี่ยวข้องกับผู้คน การที่ใจจะมีคุณธรรมหรือคุณสมบัติอย่างอื่น เช่น มีสติ มีสมาธิ ก็ต้องอาศัยกาย
เวลาเราเจริญสติ แม้ว่าสติจะมีคุณสมบัติทางจิต หรือมีคุณสมบัติของจิต แต่ในการฝึกต้องอาศัยกายเป็นจุดเริ่มต้นเลยทีเดียว และที่จริงไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้น แต่ว่าท่ามกลางหรือที่สุด ต้องอาศัยกาย อย่างเวลาเจริญสติ
ครูบาอาจารย์ก็สอนให้มารู้กายก่อนเวลากายทำอะไร ใจก็รับรู้ รับรู้โดยผ่านความรู้สึกเช่น เวลายกมือ เวลาเดินจงกรม หรือว่าเวลาตามลมหายใจ ใจจะรู้ได้ ผ่านความรู้สึก รู้สึกว่ามือยก รู้สึกว่าตัวขยับ เท้าก้าวเดิน หรือว่ารู้สึกมีลมเคลื่อนเข้าเคลื่อนออกผ่านเข้ามาในร่างกายและออกไป
การเริ่มต้นของการเจริญสติมารู้กาย รู้สึกรู้สึก หลวงพ่อเทียนท่านจะบอกให้รู้สึกๆไม่ใช่เวทนา แต่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ใช่เฉพาะเวลาสร้างจังหวะ เดินจงกรม แต่เวลาทำกิจอย่างอื่นด้วย อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว หั่นผัก ทำครัว ซักผ้า รวมถึงเวลาสวมใส่เสื้อผ้า
อันนี้ก็เป็นช่วงเวลาของการเจริญสติได้ ถ้าหากว่ามารู้กายว่า กายกำลังทำอะไรอยู่ การที่จะรู้ว่ากายทำอะไร มันก็หมายถึงว่าใจจะต้องอยู่กับเนื้อกับตัว ถึงรู้สึกว่า กายนี้กำลังเขยื้อนขยับ กำลังเดิน กำลังกินกำลังเคี้ยว เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่ทำตรงนี้การที่สติจะมีความเจริญงอกงาม ว่องไว ปราดเปรียวก้าวหน้าไปกว่านี้ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องมาเริ่มต้นที่มารู้กายก่อน
คราวนี้รู้กายมันไม่ใช่เพียงแค่ว่ารู้กายกำลังทำอะไรในขณะที่เรากำลังภาวนาอยู่ หรือว่ารู้กายกำลังทำอะไรอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ต่อไปมันจะรู้ถึงอาการของกายเวลามีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น หรือว่ามีอารมณ์เกิดขึ้นกับใจ เช่น เวลาโกรธ ถ้าเราฝึกดูกายบ่อยๆ มันจะไม่ใช่แค่เห็นว่ากายกำลังทำอะไรแต่มันยังเห็นว่าตอนนี้ร่างกายกำลังมีอาการอย่างไรด้วย
เช่น เมื่อโกรธ ขณะที่โกรธ ลองสังเกตดู หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่หอบ มือไม้เกร็ง แต่ก่อนตอนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ ตอนที่ยังไม่มาฝึกสติด้วยการรู้กาย เวลาโกรธนอกจากไม่รู้ว่ากำลังโกรธแล้วยังไม่รู้อีกด้วยว่ากายกำลังมีอาการอย่างไร แต่พอเรามาฝึกดูกายบ่อยๆ มันจะเห็นอาการของกายเมื่อมีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นหรือเมื่อมีการกระทบ มีความโกรธ มีความกลัว มีความวิตกกังวล มีความเศร้า มันมีอะไรเกิดขึ้นกับกายบ้าง จึงจะเห็น
และเพียงแค่กายมารู้กายมาเห็นว่ากายกำลังมีอาการอย่างไร มันก็ช่วยทำมันก็ช่วยกายได้เยอะ คนที่กำลังโกรธ พอมารู้กายว่ากายมีอาการอย่างไร มันช่วยบรรเทาความโกรธได้ อันนี้เป็นคำถามที่มาจากหลายคนมากว่าเวลาโกรธทำอย่างไร นอกจากแนะนำการตามลมหายใจเข้าออก และก็นับไปด้วยหรือบริกรรมพุทโธไปด้วยแล้ว
เพียงแค่มารู้ว่ากายมีอาการอย่างไร มาสังเกตอาการของกายไม่ว่าจะเป็นที่หัวใจเต้นเร็ว การหายใจถี่ มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือว่าการที่ปากเม้มแน่น อันนี้ก็ช่วยทำให้ความโกรธทุเลาลงไปได้ แค่รู้กายเท่านั้น ก็ไปช่วยใจให้สงบเย็น
มีผู้ชายคนหนึ่ง มีความทุกข์ มีความเครียดเกี่ยวกับเรื่องงาน เกี่ยวกับชีวิตแต่งงาน ปัญหาหลายอย่างมารุมเร้า แม่ก็ป่วย เครียด นอนไม่หลับ ก็เลยหันมาลองทำสมาธิ มาเข้าคอร์ส เพื่อจะได้พบความสงบระหว่างที่ภาวนาอยู่ จิตก็ไม่ค่อยยอมสงบเท่าไร มันก็อดคิดหลายเรื่องหลายราว ซึ่งบางทีแต่ละครั้งจิตใจหงุดหงิด ว้าวุ่น แต่ก็พยายามปลุกปล้ำความรู้สึกนี้ มีบางช่วงใจเริ่มสงบลง
แต่บังเอิญในคอร์สนั้น มีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งนั่งปฏิบัติอยู่ไม่ไกล ไออยู่บ่อยๆ ทีแรกเขาก็รู้สึกรำคาญได้ยินเสียงไอ ผ่านไปวันแรกยังแค่รำคาญ แต่พอถึงวันที่ 2 ผู้หญิงคนนั้นก็ไอไม่หยุด แถมยังนั่งอยู่ใกล้ตัวเองมากขึ้น นั่งขยุกขยิก ไม่อยู่นิ่งเลย แล้วก็ไออยู่บ่อยๆ ตอนหลังก็เริ่มไอถี่เข้า จากความหงุดหงิดก็มารู้สึกโกรธขึ้น และยิ่งโกรธมากขึ้นเรื่อยๆ พอถึงวันที่ 3 โกรธมากเลยเวลาที่ผู้หญิงคนนี้ไอ จนกระทั่งรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว
ทีแรกก็จะเลิกปฏิบัติ กลับบ้าน แต่ตอนหลังอาจารย์กรรมฐานก็แนะนำให้ลองสังเกตดูร่างกายตอนที่มันโกรธเป็นอย่างไร ลองหลับตาดูเวลาโกรธรู้สึกอย่างไร เขาก็สังเกต กล้ามเนื้อหดเกร็งโดยเฉพาะที่ท้อง แล้วก็กลั้นหายใจด้วย อาจารย์ก็แนะนำว่าเวลากล้ามเนื้อเกร็งก็ผ่อนคลาย เมื่อรู้ตัวว่ากลั้นหายใจก็หายใจตามปกติ เขาก็ลองทำดู ก็รู้สึกว่าดีขึ้น
ก็กลับไปนั่งภาวนาต่อ พอได้ยินเสียงไอของผู้หญิงคนนั้นก็รู้สึกโกรธขึ้นมาเลย เหมือนเดิม แต่คราวนี้เขาลองสังเกตดูกาย เห็นกาย กล้ามเนื้อหดเกร็งแล้วก็กลั้นหายใจด้วย เขาก็มาจัดการกับร่างกายนี้ให้มันผ่อนคลาย หายใจเป็นปกติ ความรู้สึกโกรธก็ทุเลา ก็ประคับประคองตัวเองให้ผ่านไปได้ตลอดเช้า
ถึงเวลากินอาหาร กินร่วมกัน ไม่ทันจะกินเลย เพียงแค่เห็นผู้หญิงคนนั้นนั่งอยู่ใกล้ ไม่ไกล โกรธขึ้นมาทันทีเลย ทั้งที่ยังไม่ทันไอ แค่เห็นตัวก็โกรธเลย พอโกรธก็กลับมาดูกาย ก็เห็นการหดเกร็งของอวัยวะของกล้ามเนื้อภายใน แล้วก็สังเกตรับรู้ถึงการกลั้นลมหายใจ ก็เข้ามาจัดการกับกาย ผ่อนคลาย หายใจสบายๆ มันก็ดีขึ้น แต่ว่าความรู้สึกโกรธก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าก็ดีขึ้น เพราะว่ามารู้กาย
มีช่วงหนึ่งเขาเล่าว่า จะไปสอบอารมณ์ ก็ดูรายชื่อของคนที่จะมารับการสอบอารมณ์ว่าเวลาไหนช่วงไหน ก็ดูชื่อตัวเองว่าจะไปให้อาจารย์สอบอารมณ์เมื่อไร ก็ไปเหลือบเห็นชื่อของผู้หญิงคนนั้น โกรธขึ้นมาเลย ความโกรธมันฝังลึกมากทั้งที่เธอยังไม่ทำอะไรเลย แต่ก็เช่นเดิมเขาก็รู้วิธีแล้ว ตอนนั้นกายมีอาการอย่างไร เขาก็มาดู รับรู้อาการของกาย
ตอนหลังเพียงรับรู้เฉยๆว่าอาการกายเป็นอย่างไร หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อท้องเกร็ง ร่างกายก็คืนสู่ความปกติ การหายใจที่เกิดจากกล้ามเนื้อ ก็กลับมาเป็นปกติ ตอนหลังก็ความโกรธก็ทุเลาเบางบางลง ผู้หญิงคนนั้นไอ เขาก็ไม่ได้มีอาการร้อนเหมือนกับแต่ก่อน เพราะกลับมาดูที่กาย
เพราะฉะนั้นการดูกาย มันก็ช่วย โดยเฉพาะคนที่สติยังไม่ไวพอที่จะมาเห็นใจ แต่ต่อไปจากการมาดูกายเวลาโกรธว่าเป็นอย่างไร เราก็ควรขยับมาสู่การเห็นความโกรธที่มันเกิดขึ้น ผู้ชายคนนั้นตอนหลังพอเขามาเห็นกายว่ามีอาการอย่างไรขณะที่เกิด
ตอนหลังก็ขยับมาดูความโกรธ เห็นอาการของใจว่าเป็นอย่างไร พอเห็นความโกรธเข้า มันก็สงบลงไปเลย เห็นได้ไวขึ้น เห็นได้เร็วขึ้น อันนี้เพราะว่ามีพื้นฐานจากการมาเห็นกาย พอมาดูกายเสร็จขณะที่โกรธ ตอนหลังก็มาดูใจ มาก็เห็นความโกรธ เห็นตัวโกรธ แล้วก็รู้จักที่จะเห็นมันเฉยๆโดยที่ไม่ไปผลักไสมัน มันก็ช่วยได้ ทำให้ความโกรธทุเลาลง
และต่อไป มันไม่ใช่แค่เห็นอาการของใจ ตอนหลังเหตุแห่งความโกรธ และจะพบว่าความจริงแล้วที่โกรธไม่ใช่เพราะเสียงไอ ถ้าพูดแบบหลวงพ่อชาก็คือว่าเสียงไอไม่ได้รบกวนเรา แต่เราต่างหากที่ไปรบกวนเสียงไอ ที่ใจมีความรู้สึกโกรธก็เพราะว่าผลักไส มันมีการตัดสินการกระทำของผู้หญิงคนนั้น เช่นคิดในใจว่าทำไมต้องมาไอตอนนี้ นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมาไอโขลกขลากของผู้หญิงคนนั้น ก็ทำให้รู้สึกเกิดความโกรธ
แต่พอเขาแค่ดูมันเฉยๆ แค่รับรู้อาการที่เกิดขึ้น คือเสียงที่มากระทบเฉยๆ ใจก็ไม่ทุกข์ไม่โกรธ เขาก็เลยเห็นต่อไปว่า ความโกรธในชีวิตของฉันที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตแต่งงาน ชีวิตการงานมันก็มีรากเหง้า มันก็มีสาเหตุมาจากการที่ชอบตัดสิน มาจากการที่ชอบมีความคาดหวังเกินไป การที่ยึดติดถือมั่นเกินไป เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง มันก็เลยมีปัญหาที่ทำงาน มันก็เลยมีปัญหากับคนรักแล้วก็มีปัญหากับอะไรหลายๆอย่าง
จนกระทั่งต้องหันมาหาความสงบจากการปฏิบัติธรรมจากการเข้าคอร์ส พอเห็นว่ารากเหง้าของความทุกข์ของความกลัดกลุ้มความโกรธในชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้เกิดจากอะไร มันก็ช่วยทำให้เขาจัดการกับปัญหาต่างๆได้ดีขึ้น ก็กลายเป็นว่าจากการที่มารู้กายมันทำให้เขาได้รู้จักตัวเองในมิติลึกซึ้งมากขึ้น
จากการรู้กาย ก็มารู้ใจ รู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมันมีการกระทบ แล้วก็รู้ไปจนกระทั่งว่า มีสาเหตุมาจากอะไร อะไรคือตัวปัญหาที่แท้จริง มันไม่ใช่เสียงไอ แต่มันเป็นนิสัยบางอย่างในใจของเขา ซึ่งนิสัยตัวนี้แหละที่เป็นตัวสร้างความทุกข์ในชีวิตที่ผ่านมา
ทีแรกไปคิดว่าตัวปัญหาคือเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ภรรยา แต่ที่จริงแล้วเป็นที่ใจของเรามากกว่า ก็ทำให้เขาสามารถที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆแล้ว ก็รับมือ จัดการและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น โดยการจัดการปรับเปลี่ยนที่ใจของตัว เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นที่กาย ถ้าเรามารู้สึกเวลากายทำอะไรก็รู้สึก มันจะเป็นสะพานหรือบันไดที่นำไปสู่การรับรู้ความจริงต่างๆที่ลุ่มลึกมากขึ้น และทำให้สามารถที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นการมารู้กายในขณะที่เราปฏิบัติ ไม่ว่าจะปฏิบัติในรูปแบบหรือนอกรูปแบบ หรือในชีวิตประจำวัน คำว่ารู้สึกรู้สึก รู้กาย มันช่วยได้มาก
ทีแรกคำว่าการรู้สึก เวลาเคลื่อนไหว ถ้าเรารู้สึก มันก็แสดงว่าใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกนี้เป็นตัวชี้วัดว่าตอนนั้นเราใจลอยหรือเปล่า ระหว่างที่เรานั่งระหว่างที่เราเดินระหว่างที่เรายกมือ หรือแม้กระทั่งระหว่างที่เราสวดมนต์ ถ้าเรารู้สึกว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ นั่นแสดงว่าใจอยู่กับเนื้อกับตัว แต่ว่าถ้าไม่รู้สึก ยกมือก็ไม่รู้สึก เดินก็ไม่รู้สึกแสดงว่าใจลอย มันเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราไม่มีสติแล้ว
ในขณะที่เราทำอะไรมีใจอยู่กับเนื้อกับตัวมีสต นอกจากเป็นตัวบ่งชี้ว่าใจเราลอยหรือมีสติหรือเปล่าความรู้สึกทางกายยังช่วยใจได้อีกหลายอย่าง อย่างเช่นช่วยเตือนเวลาใจลอย แล้วพอมีความรู้สึกที่กายขึ้นมา มันก็เหมือนกับว่าใจถูกสะกิดให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว
เหมือนกับว่าเวลาเราใจลอยคิดเรื่อยเปื่อยแล้วมีคนมาแตะไหล่เราเรารู้สึกตัวทันทีเลยใจที่ไหลไปในอดีตลอยไปในอนาคตจะกลับมาอยู่กับปัจจุบันทันทีเพราะความรู้สึกที่กายมาเตือนมาบอก แต่เราไม่ต้องรอคอยให้ใครมาเตือนด้วยการที่มาแตะไหล่เรา แค่เพียงแค่ความรู้สึกขณะที่เดินขณะที่กำลังยกมือมันช่วยเตือนให้ใจกลับมาเหมือนมาสะกิดใจให้กลับมารู้สึกตัว
เพราะฉะนั้นความรู้สึกทางกายมันช่วยมันเป็นตัวชี้วัดว่าใจลอยหรือเปล่าหรือมีสติแล้วก็เป็นตัวที่สะกิดใจให้กลับมามีสติ กลับมามีความรู้สึกตัว และที่จริงขณะที่เราฝึก การที่มารู้สึกที่กาย เหมือนกับว่าทำให้จิตมีงานทำ ทำให้จิตมีที่พักพิงเพราะถ้าจิตไม่มีที่พักพิง มันก็จะเรื่อยเปื่อย ไหลไปนู่นไปนี่
เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์แนะนำว่าแม้ว่าจะไม่ใช่เวลาในการปฏิบัติรูปแบบในรูปแบบในชีวิตประจำวันก็อย่าอยู่นิ่งๆให้เขยื้อนขยับ อาจจะขยับนิ้วขยับมือเข้าห้องน้ำก็คลึงนิ้ว รอคนอยู่ก็คลึงนิ้วหรือขยับมือไปมาเพื่อสร้างความรู้สึกตัว หรืออย่างน้อยๆเพื่อให้จิตไม่วอกแวกไม่เถลไถล ใจลอย เพราะว่ามันมีที่พักพิง มีงานทำคือมารู้สึกของการเขยื้อนขยับของมือของนิ้ว
และความรู้สึกอย่างที่ว่าเวลาใจลอยเถลไถลมันก็ความรู้สึกตัวนี้แหละ ความรู้สึกที่กายก็จะไปสะกิดใจให้กลับมากลับมามีสติ กลับมามีความรู้สึกตัว แล้วพอรู้สึกที่กายบ่อยๆต่อไปเราก็จะรู้สึกของการว่ามันเกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมากลัวโกรธเกลียดเครียดแล้วก็ใช้ความรู้การรับรู้ที่กายมาช่วยบรรเทาอาการของใจได้
จนกระทั่งต่อไป มันก็ไว จนกระทั่งเห็นอาการของใจได้อย่างรวดเร็ว อารมณ์ที่เกิดขึ้น ความคิดที่ปรากฏ ก็จะรู้ทันได้ไว ต่อไปก็จะเห็นถึงอาการถึงรากเหง้าถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์หรือความทุกข์เหล่านั้นเมื่อมีการกระทบเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นอย่าไปมองข้ามอย่าทิ้งกายไม่ว่าในระหว่างการปฏิบัติหรือว่าในชีวิตประจำวันให้มาสังเกตดูกายไม่ว่ากายทำอะไรหรือว่ามีอาการอย่างไร อันนี้เป็นการฝึกที่ทำได้ในชีวิตประจำวันและควรทำและทำได้ทั้งวันด้วย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564