แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อสองอาทิตย์ก่อนได้เล่าถึงอุบาสกท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาลซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะด้านการอุปัฏฐากพระสงฆ์ เอตทัคคะคือเป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งปวง ก็คือท่านอุคตะคหบดี
ที่ว่าเป็นเลิศนั้น ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของท่านคือว่า ท่านถวายทานแด่ภิกษุทุกรูปด้วยใจที่เป็นกลางสม่ำเสมอ ไม่มีลำเอียง
ไม่มีเลือกหน้าว่า รูปนี้เป็นพระอรหันต์ ท่านนี้เป็นอริยบุคคล รูปนี้เป็นปุถุชนคนธรรมดา ท่านไม่สนใจเลยนะ ท่านก็มีศรัทธาสม่ำเสมอแล้วก็ถวายทานให้กับทุกรูปอย่างเท่าเทียม แล้วก็มีความยินดีเท่าเทียม แม้ว่าบางรูปจะเป็นแค่ปุถุชน แม้ว่าบางรูปจะเป็นแค่หรือเป็นพระทุศีลนะ
แต่ท่านก็มีศรัทธาสม่ำเสมอแล้วก็มีความยินดีสม่ำเสมอเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะถวายทานให้กับพระรูปใด ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของท่านก็คือว่าทางพระไตรปิฎก ก็เรียกว่า เป็นผู้ที่เป็นต้นคด ปลายตรง
หมายความว่าตอนที่ท่านยังหนุ่มอยู่นี่นะ ก็เรียกได้ว่าไม่มีความศรัทธาในพุทธศาสนาหรือพระธรรมคำสอนเลย แต่ว่าพอถึงจุดหนึ่งนี่ชีวิตท่านก็เปลี่ยนเป็นพระอนาคามีไปเลย จากคนที่เคยสนุกสนาน เรียกว่าเสเพลก็ได้ กลายเป็นพระอนาคามี และก็เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ
ชีวิตของท่านในวัยเด็ก ในวัยหนุ่มน่าสนใจนะ เพราะว่าท่านเป็นลูกคนรวยลูกเศรษฐีก็อยู่สุขสบาย ตอนหลังเมื่อบิดาเสียชีวิต ท่านก็ได้รับตำแหน่งเศรษฐีแทนบิดา เศรษฐีเป็นตำแหน่งนะ แล้วก็ได้รับมรดกเป็นทรัพย์สินมากมาย
แล้วท่านก็มาเห็นว่า บิดานี่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้ทรัพย์สินมา อย่ากระนั้นเลย ใช้ให้เต็มที่ ใช้ในการเสพสุขให้เต็มที่ เพราะว่าตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้แม้กระทั่งบาทเดียว สลึงเดียว
คนที่คิดแบบนี้ก็มีเยอะนะ แม้ทุกวันนี้ เวลาพระสอนว่า ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ ทรัพย์สมบัตินี่ ท่านสอนเพื่อจะให้ไม่ยึดติดในทรัพย์สมบัติ ไม่เอาแต่หาเงินหาทอง เพราะว่ามีมากมายแค่ไหน ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ อย่าเอาเวลาหมดไปกับการหาเงินหาทอง แล้วก็อย่าไปยึดติดถือมั่นเพราะถือว่า ท่านสอนให้ทำความดีอย่าเอาแต่เสพสุข หรือหาเงินหาทอง
แต่อุคตะคหบดีนี่ กลับมองในทางตรงข้ามว่า ในเมื่อตายแล้วเงินทองก็เอาไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เรามีทรัพย์สินมากมาย ใช้ให้มันเต็มที่ไปเลย ใช้ให้เป็นประโยชน์ในความหมายที่ว่า เสพสุขให้เต็มที่ ท่านก็ใช้เงินที่มีเพื่อการกินเลี้ยง เสพสุรา มีหญิงมาฟ้อนรำบำเรอ ทุกวันๆ ไม่ใช่แค่กลางคืน กลางวันด้วย จนมึนเมา
ขนาดตอนที่ไปพบพระพุทธเจ้านี่ ยังเมาอยู่เลยนะ แต่ว่าด้วยความมีหิริโอตตัปปะเจอพระพุทธเจ้าก็สร่างเมาเลย ก็เป็นเหตุให้ฟังธรรมพระพุทธเจ้ารู้เรื่อง รู้ดีด้วยจนได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี
แต่ที่น่าสนใจคือตอนที่พบพระพุทธเจ้านี่ มีเงินเท่าไหร่ก็ใช้เพื่อหาความสุขเพราะคิดว่านี่เงินเอาไปไม่ได้เมื่อตายแล้ว ที่จริง ก็จริงนะ เงินเอาไปไม่ได้ แต่ว่าขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ก็ใช้เงินเพื่อทำประโยชน์
การที่จะเอาเงินมาใช้ ไม่ใช่ว่าจะเอาเงินมาปรนเปรอตนเพื่อให้สุขสำราญอย่างเดียว เพราะนั่นอาจทำให้เกิดทุกข์ก็ได้ ปรนเปรอตนอย่างนั้นบางทีสุขภาพก็ย่ำแย่ และจิตใจก็เศร้าหมอง
แต่ว่าการเอาเงินมาทำให้เป็นประโยชน์นี่ สามารถเอาไปใช้ช่วยเหลือผู้อื่นที่เขาลำบาก เลี้ยงตัวเองให้มีความสุขแล้ว เลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุขด้วย หรือว่าช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา ช่วยเหลือเกื้อกูลส่วนรวม อันนี้ต่างหากที่เป็นวิธีการใช้เงินอย่างถูกต้อง
อีกอย่างหนึ่งการที่เอาเงินมาใช้บำเรอตน มันก็ทำให้เสียเวลาด้วยนะ หมดเวลาไปกับการเสพสุข จนกระทั่งไม่มีเวลาที่จะทำความดี ก็ในเมื่อคนเรานี่ มีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด เพราะฉะนั้นเวลาจึงมีค่า จึงควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ใช้เวลากับการหาเงินหรือการเสพสุข
แต่ก็มีบางคนที่คิดอย่างนี้นะว่า เมื่อฉันยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน เมื่อฉันมีชีวิตอยู่ เสพสุขให้เต็มที่นะ คนแบบนี้ก็มีนะ คิดแบบนี้มากทีเดียว เมื่อรู้ว่าจะต้องตายแน่นอน แทนที่จะเกิดความไม่ประมาท ขวนขวายทำความดี
กลับคิดว่า ฉันจะอยู่ในโลกนี้ได้อีกไม่นาน ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ฉันขอใช้เวลาเหล่านี้เสพสุข หาความสำเริงสำราญ ที่จริงการคิดแบบนี้ก็ถูก เพราะคนเรานี้ถ้าตายแบบฉับพลัน ตายแบบปิดสวิตช์เลย ตอนมีชีวิตอยู่ก็เสพสุขเต็มที่ พอตายปุ๊บ จบ สิ้นสุด
แต่ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น คนเราไม่ได้ตายแบบปิดสวิตช์นะ เพราะว่าก่อนจะตายนี่นะ จะมีความรู้สึกเจ็บ มีความรู้สึกปวดเพราะว่าเป็นโรค หรือว่าป่วยไข้ มันไม่ได้ปิดสวิตช์ทันที มันค่อยๆ ตาย ในระหว่างที่กำลังจะตายนี่ ถ้าเกิดว่าคนเราไม่ได้ทำความดีเลย ไม่มีบุญกุศลหนุนนำจิตมันจะเศร้าหมอง
หลายคนจะรู้สึกว่าชีวิตของฉันที่ผ่านมาไม่ได้ทำความดี แต่คนเราถ้าได้ทำความดีเต็มที่ มันจะไม่รู้สึกเสียดาย เสียใจกับชีวิตที่ผ่านมา รู้สึกว่าภาคภูมิใจ พร้อมตาย แต่ว่าคนที่เสียใจว่า ผ่านมาไม่ได้ทำความดีเพียงพอกับพ่อ กับแม่ กับลูก กับหลานนี่ ส่วนรวมจะรู้สึกเศร้าหมอง ก็จะต่อต้านขัดขืนกับความตาย และตายด้วยความทรมาน
หรือมิฉะนั้นก็มีความเสียดาย ยึดติดในความสุขที่เคยมี เคยมีความสุขเต็มที่ แต่ตอนนี้ฉันกำลังพลัดพรากจากความสุข ปล่อยวางความสุขที่มีไม่ได้ ปล่อยวางความสุขที่เคยเสพไม่ได้ ทรมานเหมือนกัน เรียกว่าทรมานก่อนตาย
เพราะว่า ไม่ได้ภูมิใจกับชีวิตที่ผ่านมา เสียใจกับการใช้ชีวิตที่ผ่านมา แล้วก็มีความยึดติด เสียดายความสุข ไม่ยอมที่จะพลัดพรากจากความสุขที่เคยมี รวมทั้งไม่ยอมพลัดพรากจากร่างกายที่หวงแหนว่าเป็นของฉันๆ หรือว่าเป็นตัวกู ของกู
แต่ถ้าเราใช้เวลาช่วงที่เรายังมีชีวิตอยู่นี่ ในการเตรียมจิตเตรียมใจ นอกจากทำความดีจนกระทั่งมีความภาคภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมาแล้ว รู้จักปล่อยวางด้วย ถึงเวลาที่กำลังจะตาย ก็ไม่รู้สึกทุรนทุราย
เพราะภูมิใจกับชีวิตที่ผ่านมา ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นความสุขที่เคยมี ทรัพย์สินที่ครอบครอง หรือว่าชีวิต ร่างกายที่มี อย่างนี้ก็ทำให้ก่อนตายก็ไม่ทุรนทุราย ตายในภาวะสงบเย็น จิตใจสงบก่อนตาย พอตายแล้วก็ไปดี ไปสุคติ
คนเรานี่ถ้าตายแล้วจบกัน ตายแบบปิดสวิตช์ ก็สมควรนะที่จะใช้เวลาที่มีอยู่เสพสุขให้เต็มที่เลย แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เรามีเวลาที่จะทุกข์ทรมานก่อนตาย ถ้าไม่ได้ฝึกใจ หรือไม่ได้ทำความดีเอาไว้ แถมตายแล้วก็ยังมีความต่อเนื่อง
ถ้าเอาแต่เสพสุข ไม่ทำความดี นอกจากก่อนตายก็ทุรนทุรายแล้ว ตายก็ยังไปอบายด้วย
ความคิดว่าคนเราตาย ก่อนตายนี่หาความสุขให้เต็มที่ มันจึงเป็นความคิดที่เรียกว่า มาทำร้ายตัวเอง และสุดท้ายก็เสียใจว่า ฉันไม่น่าคิดแบบนี้เลย รู้งี้ฉันใช้ชีวิตทำความดี ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า และฝึกจิตปล่อยวาง ฝึกจิตให้เป็นกุศล ก่อนตายก็ไม่ทุรนทุราย ตายแล้วก็ไปดี ไปสุคติ
แต่ก็ดีนะที่ท่านอุคตะคหบดีท่านได้มีสัมมาทิฐิ จนกระทั่งสามารถนำพาชีวิตให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ได้ อันนี้เรียกว่า ต้นคดแต่ปลายตรง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564