แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราทุกคนมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การรักษากายรักษาใจให้เป็นปกติ การรักษากายอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเป็นโทษเข้ามาในร่างกายของเรา เช่น เวลากินอาหารเราก็รู้จักเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่มีโทษ ของบางอย่างแม้ว่าดูน่ากิน แต่ว่าเต็มไปด้วยสารเคมีหรือว่ามีสารอาหารที่มากเกินความต้องการของร่างกาย เราก็รู้จักไม่ให้มันเข้ามา หรือไม่กินมัน
ยิ่งพวกที่เป็นสิ่งเสพติด อบายมุขเหล้าบุหรี่ก็ต้องไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาในร่างกายของเราเลย ไม่ใช่เฉพาะการเสพทั้งปากอย่างเดียว การหายใจก็เหมือนกันเดี๋ยวนี้มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาสู่ร่างกายของเราทางอากาศเช่น ฝุ่นเดี๋ยวนี้ฝุ่นเล็กมากเป็นอันตรายต่อร่างกาย ปอด สมอง หัวใจของเรา เดี๋ยวนี้หลายคนก็สวมหน้ากากอนามัย ยิ่งตอนนี้มีโรคโควิดแพร่ระบาด ที่เราสวมหน้ากากอนามัยก็เพื่อป้องกันโคโรน่าไวรัส แต่ที่จริงก็ยังรวมถึงหวัดด้วย มันเข้ามาในร่างกายและก่อปัญหา
การรักษาใจก็เหมือนกัน วิธีหนึ่งของการรักษาใจก็คือว่าปิดกั้นไม่ให้กิเลสอาสวะเกิดขึ้นในใจของเราเช่น ด้วยการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ปะฏิรูปะเทสะ อันนี้ก็เป็นมงคลประการหนึ่ง การอยู่ในประเทศที่เหมาะสม ไม่ใช่สะดวกสบายแต่หมายถึงว่า มันเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อคุณภาพจิต
ถ้าไปอยู่ในที่ที่เป็นอโคจรแล้ว มันก็เป็นการง่ายมากที่จะมีอาสวะกิเลสเข้ามาสะสมในจิตใจของเรา การใช้ตาใช้หูในการรับรู้สิ่งต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดโลภะ โทสะหรือว่ากิเลส ราคะเกิดขึ้นในใจ นี้คือการรักษาใจอย่างหนึ่ง ต้องใช้อายตนะทั้ง 5 ในทางที่ถูกเพื่อไม่เปิดช่องให้กิเลสอาสวะ หรือว่าอารมณ์อกุศลเข้ามาเล่นงานจิตใจของเรา
ซึ่งบางครั้งนอกจากต้องอยู่ในที่ๆเหมาะสม มีกัลยาณมิตร รวมทั้งรู้จักใช้อายตนะทั้ง 5 ในการรับรู้สิ่งที่ดีงาม ไม่ไปรับรู้ในสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดกิเลส อาสวะ อกุศลแล้ว การรู้จักข่มใจก็สำคัญ การข่มใจ เพื่อไม่ให้กิเลส ราคะไม่ให้กำเริบ
ก็เหมือนกับภูมิคุ้มกันร่างกายที่จัดการกับเชื้อโรคที่พัดเข้ามาทางจมูกก็ดี ทางปากก็ดี เราก็มีการข่มใจ ก็ต้องอาศัยกำลังจิตที่แข็งแรงในการที่จะข่มกิเลสเหล่านั้น รวมทั้งอารมณ์ที่เป็นอกุศล อย่างเช่นความโกรธ ความเกลียด ความรู้จักละอาย
หิริโอตตัปปะก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสกัดกั้น ไม่ให้กิเลส หรือว่าการคิดร้าย การคิดไม่ดี การคิดอกุศลเกิดขึ้นในใจ หรือถึงแม้เกิดขึ้นแล้ว ข่มมัน หรืออาศัยการรู้จักละอายบาป กลัวบาป ในการปิดกั้นข่มไม่ให้มันงอกงามในในจิตใจ อันนี้ บางทีก็รวมไปถึงความคิดที่ไม่พึงประสงค์ ที่ทำให้ใจเราว่อกแว่ก หรือทำให้ใจเราฟุ้งซ่าน
เวลาเรานั่งสมาธิ การที่เราทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้จิตสงบ จริงๆก็คือการปิดกั้นไม่ให้ความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นหรือเข้ามาในจิตใจของเรา บางอย่างก็ไม่ได้ทำให้เสียหาย แต่ว่ามันจะมาทำให้ใจของเราว่อกแว่ก หรือว่าไม่ทำให้เกิดความสงบเท่าที่ควร
เพราะฉะนั้น หลายคนก็ใช้วิธีการบังคับจิตให้มาอยู่กับลมหายใจ มีการนับไปด้วยหรือมีการบริกรรม อันนี้ก็เพื่อปิดกั้นไม่ให้ความคิดต่างๆเข้ามาซึ่งจะทำให้ใจไม่สงบ คิดโน่นคิดนี่ เรียกว่าความคิดฟุ้งซ่านหรือความคิดไม่ประสงค์
ในกรณีแบบนี้ก็เหมือนกับว่าใจเราเหมือนกับบ้าน ที่เราต้องปิดประตูหรือปิดหน้าต่าง อาจจะมีกำแพงที่ล้อมรอบอย่างแน่นหนา เราทำอย่างนั้นเพื่ออะไร เพื่อป้องกันไม่ให้คนแปลกหน้าหรือสัตว์นานาชนิด เข้ามาในบ้านของเรา บางทีไม่ใช่ถึงกับเป็นสัตว์ร้ายหรือโจรผู้ร้ายอะไร แต่ป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรก ละอองเข้ามาในบ้าน
แต่บางครั้ง นอกจากทำจิตให้เหมือนกับบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดแล้ว ก็ต้องทำใจของเราเหมือนกับศาลา ศาลามันต่างจากบ้าน ศาลาไม่มีประตูหน้าต่าง อย่างเช่นหอไตร ประตูก้ปิดตลอดเวลา ไม่มีการล็อค ไม่มีหน้าต่าง อันนี้ต่างจากบ้านมากทีเดียว เปิดโล่ง ฝุ่นจะเข้ามาทางไหนก็ได้
บางครั้งจิตของเราก็เหมือนกัน บางครั้งก็ต้องเปิดกว้าง จะมีฝุ่นเข้ามาทางไหนก็ได้ แต่ว่าการที่เปิดกว้างก็ทำให้ฝุ่นไม่ถูกกักถูกเก็บ มันทางหนึ่งมันก็ออกอีกทางหนึ่งได้ บ้านถึงจะมีประตูหน้าต่างปิดมิดชิดแต่ว่าพอฝุ่นเข้ามาแล้วมันก็ถูกกักอยู่ข้างในออกไปไม่ได้
ในการเจริญสติเราทำใจเหมือนกับศาลาเธอเปิดให้ความคิดและอารมณ์ต่างๆเข้ามาไม่ต่างจากฝุ่น ไม่มีการปิดกั้น ที่ทำอย่างนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้ใช้ความคิดและอารมณ์ที่พัดเข้ามาเป็นเครื่องฝึกสติให้มีความสามารถในการรู้ทันได้อย่างรวดเร็ว
และการรู้ทันรวดเร็วก็ทำให้ความคิดและอารมณ์ต่างๆเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ดีหรือว่าไม่ว่าบวกหรือลบก็ตามมันไม่ค้างคาในจิตใจของเรา มันเป็นวิธีการในการรับมือกับความคิดและอารมณ์ต่างๆที่เข้ามาในจิตใจ มันเข้ามาแล้วก็รบกวนครอบงำใจไม่ได้เพราะว่ามีสติรู้ทัน
เหมือนกับคนแปลกหน้าหรือมิจฉาชีพที่อาจจะเข้ามาขึ้นมาในศาลานี้ด้วยความคิดที่ประสงค์ร้ายแต่พอเห็นเราต้องมองอยู่ มันก็ล่าถอยไปเลยมันไม่กล้าที่จะทำสิ่งชั่วร้ายอีกต่อไป หรือถึงแม้ล่าถอยไป ก็อยู่ในศาลาอย่างปกติไม่มาก่อกวนอันละวาด แต่อยู่ไปสักพักก็คงจะเบื่อในที่สุดก็เดินลงไปจากศาลา
การเจริญสติ ด้วยการทำจิตเหมือนกับศาลาที่อะไรจะเข้ามาก็ได้แต่ว่ามันมาแล้วก็ไป แล้วมันก็ไปได้ง่ายเพราะว่ามันไม่มีหน้าต่างที่จะปิดกั้นมาทางนี้ออกทางนั้นมาแล้วก็ไป ถ้าเรามีสติรู้ความคิดและอารมณ์ต่างๆเหล่านี้ก็จะเห็นว่า มันมาแล้วก็ไป
แต่ที่มันไม่ไปเพราะว่าใจไปยึดเอาไว้ ก็เหมือนกับฝุ่นที่เข้ามาในบ้าน มันเข้ามาแล้วออกไปไม่ได้ ทุกกักถูกเก็บ ก็เหมือนกับใจที่ไปยึดเอาไว้ ไม่เหมือนกับศาลามันมาแล้วก็ไปอาจจะค้างอยู่บ้างก็ไม่มาก เมื่อเราเปิดใจให้กว้างโดยที่ไม่มีการปิดกั้น ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชังว่าอย่างนี้เข้ามาได้อย่างที่เข้ามาไม่ได้ เข้ามาได้เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นความคิดดีความคิดไม่ดี ความคิดลบความคิดไม่มีลบ อันนั้นเป็นเครื่องฝึกสติให้รู้ทัน
หรืออย่างที่หลวงพ่อคำเขียนที่ใช้คำว่าเปลี่ยนหลงให้เป็นรู้ เปลี่ยนโกรธให้เป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์ อันนี้มันทำได้ถ้าหากว่าเรามีสติ แต่สติเราจะทำอย่างนั้นได้ ต้องมีการฝึกบ่อยๆเจอบ่อยๆยอมให้มันเข้ามา แต่ไม่ไปสู้รบตบมือกับมันไม่ไปเกาะเกี่ยวกับมัน มันก็ไปเอง อารมณ์ทุกชนิดมาแล้วก็ไปเมื่อใจไม่ไปเกาะเกี่ยว มันก็ไปเอง
เมื่อใจไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปเกาะเกี่ยวกับมัน ที่ใจทำอย่างนั้นได้เพราะมีสติ และก็เป็นสติที่ถูกฝึกมา จนกระทั่งรู้ว่าจะรับมือกับความคิดและอารมณ์เหล่านั้นอย่างไรรวมทั้งอาสวะกิเลสต่างๆด้วย เพราะว่า ปุถุชนอย่างเราก็ห้ามไม่ให้มันเข้ามาไม่ได้ แต่เมื่อเข้ามาแล้วไม่ไปยึดไม่ไปเกาะเกี่ยวไม่ไปสู้รบตบมือกับมัน มันก็ละลายหายไปเรียกว่ามาแล้วก็ไป
ถ้าเรามีสติอย่างนี้ เราก็จะเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา เวลาเราทำอะไรเราก็ทำด้วยความรู้สึกตัว ไม่ลืมสิ่งที่ทำไม่ว่าจะเป็นการทำวัตรสวดมนต์ การกินข้าว หรือสิ่งเล็กๆน้อยๆอาบน้ำถูฟันล้างหน้าเราก็มีความรู้ตัว เราไม่ลืมสิ่งที่ทําเพราะว่าความคิดและอารมณ์ต่างๆมันครอบงำจิตไม่ได้ เพราะว่าถ้าเกิดว่ามันครอบงำจิตเมื่อไหร่ มันทำอะไรก็ไม่รู้ลืมไปเลยว่ากำลังทำอะไรอยู่
คนเราทุกวันนี้วันๆหนึ่งก็ลืม ไม่ใช่แค่ลืมของลืมนั่นลืมนี่ แต่ว่าลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบันซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหา ที่จริงการลืมมันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลวร้ายไปเสียหมด การลืมบางครั้งก็เป็นเรื่องดี เหตุการณ์ที่ทำให้เราเจ็บปวด เหตุการณ์ที่ทำให้เราเศร้าโศกทำให้เราคับแค้น ซึ่งมันมีอยู่เยอะ แต่เป็นเพราะว่าเราลืมเรื่องราวหลายเรื่องหลายราว ก็ทำให้เราไม่ถึงกับเป็นโรคประสาท
มันไม่ใช่เฉพาะการลืมเหตุการณ์ การลืมอารมณ์ที่ไม่ดีก็มีประโยชน์เหมือนกัน ลืมโกรธลืมเครียดลืมกังวล บางครั้งเราก็มีความโกรธมีความกังวล แต่พอเรามาสวดมนต์ เราก็ลืมความโกรธ ลืมเรื่องที่โกรธ ลืมปัญหาที่ทำให้กังวลได้ไม่ใช่เฉพาะสวดมนต์อย่างเดียว เวลาเรากังวล เราโกรธอะไรก็ตาม เราทำครัวเรากวาดบ้าน มีสมาธิอยู่กับการทำสิ่งนั้น มันก็ลืมความโกรธ ความวิตกกังวล
บางคนพอได้รดน้ำต้นไม้ เรื่องที่ชวนให้โมโห ก็ทำให้ลืมเหมือนกัน ปวดคันยุงกัด หรือไม่สบายก็ตาม แต่พอเราเล่นโทรศัพท์มือถือ มันลืมปวดไปเลย เมื่อตะกี้ยังคันอยู่เลย ลืมไปเสียแล้ว การที่เราไปจดจ่อใส่ใจอยู่กับอะไรหลายๆอย่างไม่ใช่แค่การ
ทำสมาธิอย่างเดียว แต่การทำสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวันมันก็ทำให้เราลืมหลายสิ่งหลายอย่างที่มันย่ำแย่ได้
หลายคนฟังธรรมแล้วรู้สึกสบายใจ ก็เพราะช่วงเวลานั้นลืมความโกรธลืมเรื่องที่ทำให้โกรธ ลืมความกังวลหรือว่าเรื่องที่ทำให้วิตกกังวล ลืมความเศร้าหรือว่าเรื่องที่ทำให้เศร้า จะเรียกว่ารู้จักป่ะรู้จักวางก็ได้แต่เป็นการปล่อยวางที่ไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเราก็ทำในชีวิตประจำวัน ปล่อยวางความโกรธปล่อยวางความเศร้า โดยเอาใจไปจดจ่อสิ่งอื่น
แต่เราไม่จำเป็นต้องปล่อยวางด้วยกันลืม หรือการไปจดจ่อสิ่งอื่นอย่างเดียว การที่เราเห็นมัน รับรู้มัน ยังซื่อๆต้องๆมันก็ช่วยปล่อยวางได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความกลัว ความเศร้า นอกจากการไปจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนกระทั่งลืมความโกรธความเศร้า ปล่อยวางความวิตกกังวลแล้ว
การที่รู้การที่เห็นมันยังซื่อๆตรงๆก็ทำให้ใจปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ได้เหมือนกัน อย่างเช่นเวลาปวด แทนที่เราจะไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจเพื่อลืมปวดที่ขา หรือแทนที่เราจะสวดมนต์ฟังธรรมเพื่อจะได้ลืมปวดที่แขน เรามาใช้วิธีดูมัน ดูความปวดที่เกิดขึ้น รู้ว่าปวด ไม่ได้ลืม แต่ว่าใจไม่ทุกข์
ปกติต้องลืมก่อน ต้องลืมว่าปวด ใจเป็นปกติ ไม่ทุกข์ แต่นอกจากการลืม ก็มารู้ รู้ว่ามันเกิดขึ้น เห็นมัน อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ารู้ทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ ที่เรารู้มันคือรู้ด้วยสติ เห็นมันแต่ไม่ได้เข้าไปเป็น ใจไม่ทุกข์ ไม่โกรธได้เหมือนกัน
คนส่วนใหญ่ไปใช้วิธีการลืม ลืมความปวด จะใช้วิธีใดก็แล้วแต่ บางทีไม่ได้ปวดกายแต่มีความเครียดได้มีความวิตกกังวลจะทำอย่างไรก็ตามเพื่อทำให้มันลืม แต่ว่าเป็นการลืมชั่วคราว พอหยุดทำมันก็กลับมาทุกข์ใหม่
อันนั้นมันก็ดีอยู่แต่ว่า เราควรจะรู้จักอีกวิธีหนึ่งด้วย นอกจากทำใจให้เป็นปกติลืมความทุกข์ ไม่ว่าทุกข์กายทุกข์ใจ การรู้การเห็นมันอย่างซื่อๆ ตรงๆหรือว่ารู้ซื่อๆ มันก็ช่วยทำให้วางความทุกข์และอารมณ์เหล่านั้นลงได้
เพราะเมื่อรู้ เมื่อเห็น ไม่เข้าไปเป็นมัน มันก็เหมือนกับต่างคนต่างอยู่ หรือยิ่งกว่านั้นก็คือว่าไม่ไปต่ออายุให้มัน เพราะอารมณ์เหล่านี้มีอายุสั้นเกิดแล้วก็ดับเกิดแล้วก็ดับ แต่ที่มันคาอยู่ในใจนานๆจนครอบงำจิตใจให้เป็นทุกข์เป็นเพราะเราไปเติมเชื้อไปเติมคืนให้มัน
มันเหมือนกองไฟถ้าไม่ไปทำอะไรกับมันมันก็จะดับในที่สุด แต่เป็นเพราะเราไปเติมเชื้อเติมคืนให้มันมันก็เลยลุกอยู่เรื่อยๆ มันไปเติมต่ออายุให้กับมันได้อย่างไรก็เพราะเราไปจดจ่อใส่ใจ ไปยึดหรือเข้าไปเป็นนั้นเอง รวมทั้งการไปผลักไสด้วย
แต่ทันทีที่เราถอนใจออกมา มองมันเห็นมัน ไม่ไปต่ออายุให้มัน มันก็ค่อยๆมอดไป อันนี้เรียกได้ว่าเป็นการรักษาใจให้ปกติ ไม่ใช่ด้วยวิธีการลืม แต่ด้วยวิธีการรู้ เห็น ไม่เข้าไปเป็น ถ้าเรารู้จักทั้ง 2 วิธี บางครั้งเราต้องใช้วิธีทำสมาธิเพื่อทำให้ลืม หรือวางความทุกข์อารมณ์ที่ทำให้เศร้าหมอง อารมณ์ที่ทำให้รุ่มร้อน แต่เราก็รู้จักวิธีที่จะมองเห็น หรือว่ารู้อย่างซื่อๆตรงๆ มันก็เป็นวิธีการที่จะรักษาใจให้เราเป็นปกติได้
ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องรู้จักฝึกใจให้เหมือนกับศาลาที่อะไรจะเข้ามาก็ได้ ความโกรธจะเข้ามา ความเครียดจะเข้ามาก็ได้ แต่ก็เรียนรู้วิธีที่จะดูมันเห็นมันโดยที่ไม่เข้าไปเป็นมันหรือเข้าไปยึด หรือไปต่ออายุให้มัน
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564