แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเราเวลาป่วยไข้ เรามีหน้าที่อย่างหนึ่งก็คือ รักษากายของเราให้หายจากการความป่วย หรือบรรเทาความเจ็บปวดให้ทุเลาลง แต่ว่าทำเท่านี้ยังไม่พอ เพราะว่าเวลามีความเจ็บป่วยส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่ร่างกายที่เจ็บป่วย ใจก็ป่วยตามไปด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าเรารักษาแต่กายแล้วไม่รักษาใจ ความทุกข์ก็ยังมีอยู่ และบ่อยครั้งความป่วยใจหรือความทุกข์ใจ มันสามารถที่จะซ้ำเติมให้มีความทุกข์หนักขึ้น อาจจะทำให้กายป่วยหนักขึ้นหรือปวดหนักกว่าเดิม ฉะนั้นเพียงรักษากายอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องรักษาใจด้วย
รักษากายอาศัยยา อาศัยหมอ อาศัยการบริหารกาย ส่วนรักษาใจ มันเป็นเรื่องของการวางใจหรือเรื่องของการทำจิต คนเราส่วนใหญ่ทุกข์ใจเพราะความยึดติด แต่ถ้าเรารู้จักปล่อยวาง ก็จะช่วยทำให้ความทุกข์ใจเบาบางลงได้
ปล่อยวางคือ การทำจิต ไม่ใช่การปล่อยปละละเลย ในส่วนร่างกายเราก็ทำกิจ ดูแลรักษาด้วยยา พาไปหาหมอ ส่วนใจที่เจ็บป่วย เราต้องทำจิต โดยเฉพาะการปล่อยวาง ปล่อยวางอะไรบ้าง ปล่อยวางความคิดว่าไม่แฟร์ ไม่น่า ไม่ควร
คนเราเวลาเจ็บป่วย เราจะรู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลยที่เราต้องเจ็บป่วย ทำไมต้องเป็นฉัน ความคิดแบบนี้มันทำร้ายจิตใจของตัวเอง แล้วก็ทำให้กายย่ำแย่ด้วย บางคนดูแลรักษาร่างกายอย่างดี ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารชีวจิต แล้วก็ไม่แตะเหล้าหรือว่าบุหรี่ กินอาหารเสริม
อันไหนที่เขาว่าช่วยทำให้สุขภาพดี ป้องกันมะเร็ง ก็ซื้อมากิน แต่แล้ววันหนึ่งก็พบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง หลายคนทำใจไม่ได้คิดว่ามันไม่แฟร์ ทำไมฉันดูแลร่างกายอย่างดีทำไมต้องป่วยเป็นมะเร็ง ทั้งที่ยังเป็นไม่มาก
บางคนขยันทำบุญทำกุศลรักษาศีลครบทั้ง 5 ข้อแล้วก็หมั่นทำบุญด้วยความเชื่อว่า การรักษาศีล การทำบุญ ทำให้มีอายุยืนอย่างที่พระว่าอายุวรรณะสุขะพละ แล้วจู่ๆก็พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเป็นโรคร้าย ก็ทำใจไม่ได้ โกรธแค้นว่าทำไมต้องเป็นฉัน
ทั้ง 2 กรณี หลายคนมีความกราดเกรี้ยวเวลาเจ็บป่วยเพราะรู้สึกตลอดเวลาว่า มันไม่แฟร์ แม้ว่าจะรักษากายอย่างไร แต่ว่าใจก็ยังทุกข์ ยังรุ่มร้อน แล้วก็ผิดหวังที่ต้องเจ็บป่วยแบบนี้ ความรุ่มร้อน ความกราดเกรี้ยวในขณะที่เจ็บป่วย มันมาซ้ำเติมตัวเองเป็นเพราะว่าเขาไม่รู้จักวาง มัวแต่คิดว่ามันไม่แฟร์ มันไม่ถูกต้องมันไม่ควร ฉันอุตส่าห์ดูแลร่างกาย ออกกำลังกายอย่างดี ทำไมฉันต้องมาป่วย
ที่จริงอย่าว่าแต่คนที่ดูแลรักษาร่างกาย หรือทำบุญมามากมาย คนทั่วไปเวลามีความเจ็บป่วยก็มักจะรู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลย ทำไมต้องเป็นฉัน
อย่างมีบางคน ผู้ชายคนหนึ่งติดเหล้าอย่างหนัก เลือดไม่แข็งตัว เลือดออกตามข้อตามผิวหนัง ตอนที่อยู่ในระยะท้ายเขายังคร่ำครวญตลอดเวลาที่อยู่กับหมอว่ามันไม่แฟร์เลย ทุกครั้งที่ผมกินเหล้า ผมเติมน้ำให้มันเจือจางเสมอ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้
อันนี้ขนาดกินเหล้าติดเหล้า ยังคิดว่า ตัวเองป่วยมันไม่แฟร์ เพราะว่ากินเหล้าทีไรก็เติมน้ำให้มันเจือจาง เป็นธรรมชาติของคนเราที่รู้สึกอย่างนี้ ซึ่งถ้าเราคิดแบบนี้มันทำให้เราทุกข์มาก
เพราะนั่นแสดงว่าเราไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แล้วถ้าไม่ยอมรับความจริง ก็มีแต่ทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น แต่ถ้าเรายอมรับความจริงได้ ทิ้งความคิดที่ว่าแฟร์ไม่แฟร์ออกไป มันก็จะช่วยทำให้ใจเราสงบ ปลอดโปร่งมากขึ้น
มีผู้หญิงคนหนึ่งมีอายุแค่ 30 มาพบว่า ตัวเองเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แล้วก็เป็นชนิดที่มักจะพบกับคนแก่หรือคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ แต่ว่าเธออายุแค่ 30 ไม่เคยแตะบุหรี่เลย เธอก็มีความทุกข์มากว่าทำไมต้องเป็นฉันๆ แล้วก็เหวี่ยงวีนใส่หมอ ใส่คนรอบข้าง
จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมแล้วก็ได้มีโอกาสสังเกตจิตใจของตัวเอง ก็พบว่ามันมีความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการที่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เธอพบว่าการที่ ไม่ยอมรับหรือใจผลักไสทำให้เป็นทุกข์มาก
เธอเรียนรู้ที่จะปล่อยวางความคิดที่ผลักไส ยอมรับความเป็นจริงมากขึ้น ก็พบว่า จิตใจเธอสงบลงแม้ว่าโรคจะลุกลามไปมากแล้ว เราพูดไว้น่าสนใจว่าในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงมันโหดร้ายกว่า เปรียบเสมือนคุกที่ขังใจเราเอาไว้
สิ่งนี้เขาพูดจากประสบการณ์ของเธอเองว่า การไม่ยอมรับความจริงมันทำร้ายเรา มันทำให้เราทุกข์ยิ่งกว่าความเจ็บป่วยเสียอีก เพราะมันทำให้ใจเราไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ แต่พอคนเรายอมรับได้ ใจสงบ
มีหมอคนหนึ่งเล่าว่าเธอได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งที่ใบหน้า พอเธอได้รับโจทย์แบบนี้ทำให้เธอรู้สึกหนักใจ เพราะคนที่เป็นมะเร็งตรงนี้จะมีความทุกข์ทรมาน
ในอเมริกา 1 ใน 4 คนที่เป็นมะเร็งใบหน้าจะฆ่าตัวตายเพราะว่ามีความเจ็บปวด แล้วก็เป็นโรคที่ทำให้ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่เอื้อให้ไปพบปะผู้คนได้ เพราะว่าอับอาย อีกอย่างหนึ่งคือแพ้แสง เพราะฉะนั้นจึงต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน จึงไม่ได้พบผู้คน ก็ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวหดหู่ซ้ำเติมให้คนที่เป็น มีความเจ็บปวดและมีความทุกข์ในจิตใจจนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
หมอคนนี้ก็รู้สึกหนักใจที่จะต้องไปพบคนป่วยคนนี้ซึ่งเป็นผู้ชาย เพราะต้องไปเจอภาพของคนที่มีอารมณ์กราดเกรี้ยว แต่ปรากฏว่าผิดพลาด เพราะว่าแกโอภาปราศรัยดี ต้อนรับหมอ แล้วก็ได้มีการสนทนากันด้วย
คนไข้เล่าว่าตอนที่เป็นหนุ่ม ก็เป็นคนที่เสเพล ชอบกินเหล้าสูบบุหรี่ แต่งงานแล้วก็ยังไม่เลิก จนกระทั่งสุดท้าย ต้องหย่ากับภรรยา ลูกก็ไปอยู่กับภรรยา เขาเล่าด้วยท่าทีที่ยอมรับว่าพฤติกรรมเสี่ยงของเขาที่ทำให้เขาเป็นมะเร็ง แต่ว่ามันมีเหตุผลมากกว่านั้นที่ทำให้เขาสงบนิ่งได้ ไม่ทุรนทุรายกับโรคที่เกิดขึ้น
เขาเล่าว่าวันๆหนึ่งไม่ได้ทำอะไรนอกจากวาดรูป แล้วก็ดูโทรทัศน์ ที่ดูส่วนใหญ่ก็เป็นสารคดีข่าวในช่อง CNN เวลาดูข่าวก็เห็นเรื่องราวของอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย เมื่อเห็นบ่อยขึ้น ก็ได้คิดขึ้นมา ความทุกข์มันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใดก็เจอความทุกข์ทั้งนั้น ที่ไม่เกิดจากภัยธรรมชาติก็เกิดจากผู้คนด้วยกัน
พอเขาได้มีมุมมองแบบนี้ ก็ได้คิดว่าความเจ็บป่วยของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของความเจ็บป่วยของมนุษยชาติ พอมองแบบนี้ได้ ใจก็ยอมรับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแม้ว่าโรคที่เกิดขึ้นกับเขาจะสร้างความเจ็บปวดทางกายให้แต่ใจสงบลงเพราะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
เขาบอกว่าทุกวันนี้ก็พยายามดูแลตัวเองให้ดีเพื่อที่ว่าจะอยู่ได้นานๆ จะได้มีเวลาอยู่กับลูกได้มากขึ้น หมอบอกว่าอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แต่เขาก็อยู่ได้ตั้งปีกว่า และช่วงเวลาที่อยู่ก็ไม่ได้มีความทุกข์ทรมานมาก แม้จะมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นก็ตาม
กรณีนี้แตกต่างจากคนที่อาตมาเล่ามาที่ว่าดูแลร่างกายอย่างดีกินอาหารชีวจิต มีการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายทุกวันประจำกับคนที่ไปทำบุญเข้าวัดเข้าวาอยู่สม่ำเสมอ 2 กรณีหลัง เขาไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ที่เขาป่วยเป็นมะเร็ง
เพราะฉะนั้น เขาจะมีความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ ในขณะที่ชายเป็นมะเร็งใบหน้าแม้ว่าจะป่วยกายแต่ว่าใจสงบได้เพราะยอมรับ เพราะว่าวางความคิดว่ามันไม่แฟร์ลง คำว่ายอมรับยังรวมไปถึงความเป็นไปด้วย
อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ท่านเป็นมะเร็งที่ตับ แล้วก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่ว่าท่านนิ่งมาก ทั้งที่มะเร็งของท่านก็รักษาไม่หาย ท่านบอกว่า เวลาป่วย 3 ยอม สำคัญมาก
หนึ่ง ยอมรับความเป็นจริง สอง ยอมรับความเป็นไป ยอมรับความจริงคือยอมรับว่าเราเป็นมะเร็งแล้ว ยอมรับความเป็นไปก็คือว่าโรคนี้อาจจะรักษาไม่หาย แล้วก็จะลุกลามไปเรื่อยๆโดยเฉพาะมะเร็งตับที่ท่านเป็น และ สาม ยอมรับความตาย
ถ้ายอมรับ 3 ประการนี้ได้ ก็จะทำให้ใจไม่เป็นทุกข์มาก แม้ว่ากายจะมีทุกขเวทนาก็ตาม ในขณะที่เราเจ็บป่วย ต้องยอมรับอย่างหนึ่งก็คือสภาพร่างกายเราไม่เหมือนเดิม มันไม่สวย มันไม่ดีมันไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ต้องมีคนทำให้ทุกอย่างแม้กระทั่งอาบน้ำ อุจจาระปัสสาวะ
หลายคนทำใจไม่ได้โดยเฉพาะผู้ชาย ที่ตัวเองอยู่ในสภาพที่ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องมีคนมาทำอะไรให้ อาบน้ำให้ เช็ดปัสสาวะอุจจาระให้ ก็จะรู้สึกเป็นทุกข์มากเลย แต่ว่ามีบางคนทำใจวางใจได้ดีมาก
อย่างมีคุณปู่คนหนึ่งชื่อมอรี่ คนที่เคยอ่านหนังสือชื่อ Tuesday with Morrie ก็จะนึกภาพออก เขาเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายก็ย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ เพราะว่ามันเกี่ยวกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ตอนหลังแม้กระทั่งการกลืนอาหารก็ทำได้ยาก จนทำไม่ได้
ตอนหลังร่างกายช่วยตัวเองไม่ได้แล้วก็มีคนมาช่วยอาบน้ำ ช่วยมาทำความสะอาดให้กับร่างกายทุกอย่างแม้กระทั่งอุจจาระปัสสาวะ ทีแรกแกก็ทำใจไม่ได้ แต่ตอนหลังก็ทำใจได้ว่า เราช่วยคนมามากแล้วแต่ตอนนี้เราก็ยอมเป็นผู้รับความช่วยเหลือบ้าง และก็เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับมัน
แกพูดอย่างน่าสนใจว่า ประการแรกเวลาที่ใครมาทำอะไรให้ฉัน ฉันจะหลับตาพริ้มและมีความสุขกับมันอย่างเต็มที่เหมือนกับเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่งที่เวลามีคนมาอาบน้ำเช็ดตัวให้ เพียงแค่จำให้ได้ว่าจะมีความสุขแบบเด็กๆได้อย่างไรก็พอแล้ว
ตอนเราเป็นเด็กเวลามีใครอาบน้ำให้ เช็ดตัวให้ ก็มีความสุขยินดี ถึงตอนนี้เราป่วย ช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว เราก็ถือว่ามาเก็บเกี่ยวความสุขเหมือนกับที่ตอนเราเป็นเด็ก มันก็ช่วยทำให้ใจไม่ทุกข์ทรมานได้
ประการที่สองก็คือ ปล่อยวางอนาคตแล้วก็อยู่กับปัจจุบันให้ดี อย่าเพิ่งไปกลัว อย่าเพิ่งไปพะวงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต คนที่ป่วยก็มักจะไปพะวงถึงอนาคตล่วงหน้าแล้วว่า จะเกิดอะไรขึ้น แล้วก็นึกภาพในทางที่ลบในทางที่ร้าย ทำให้ใจเสีย ทำให้เกิดความตื่นตระหนก
ในภาวะเช่นนี้เราอย่าเพิ่งไปกลัว กังวลกับสิ่งที่จะเกิดเพราะว่ามันยังไม่เกิด และอาจจะไม่เกิด หรือเลวร้ายอย่างที่คิดก็ได้ แต่ถ้าเราไปพะวงถึงอนาคตมากเกินไป บางทีมันทำร้ายตัวเอง
เหมือนคุณป้าคนหนึ่งเข้าๆออกๆโรงพยาบาลอยู่หลายครั้งจนกระทั่งวันหนึ่งหมอบอกว่า ป้าเป็นมะเร็งตับ อยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน แกใจเสียมากเลยเพราะไม่เคยคิดว่าจะเป็นโรคร้ายขนาดนั้น
กลับไปบ้านก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ เสื้อผ้าหน้าผมไม่สนใจ หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ก็นึกถึงความตายกับชีวิต นึกถึงว่าถ้าป่วยหนักจะมีใครมาดูแลเรื่องความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้น คิดถึงกระทั่งว่าถ้าตายแล้ว ใครจะดูแลหลาน เรื่องที่ดินจะเป็นอย่างไรปรากฏว่าที่หมอบอกว่าจะอยู่ได้ 3 เดือน แต่นี่แค่ 12 วันก็เสียชีวิตแล้ว
เป็นเพราะมะเร็งลุกลามเร็วขนาดนั้นหรือเปล่า ที่จริงมันเร็วขนาดนั้น แต่ใจที่กังวลเป็นทุกข์ ใจที่ไปพะวงถึงอนาคต ใจที่ไปหมกมุ่นอยู่กับภาพที่มโนขึ้นมา ทำให้เสียชีวิตเร็วเข้า
เพราะฉะนั้น ในยามนี้ในระหว่างที่ป่วย ให้เราอยู่กับปัจจุบันและหาความสุขกับปัจจุบันให้มากที่สุด เก็บเกี่ยวกับความสุขที่มีอยู่รอบตัวให้มากที่สุด เก็บเกี่ยวกับความสุขที่มีอยู่รอบตัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงต้องไปกินไปเที่ยวไปเล่น แต่กับสิ่งที่มีความงดงามทางธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัวมันก็สามารถที่จะทำให้เรามีความสุข
มีนักดนตรีคนหนึ่งชื่อวีลโก้ จอห์นสัน เป็นนักดนตรีที่มีชื่อมากเป็นผู้บุกเบิกวงการพั้งค์ วันหนึ่งไม่สบายไปหมอ หมอวินิจฉัยแล้วบอกว่า เขาเป็นมะเร็งตับอ่อน เป็นโรคเดียวกับที่เกิดกับสตีฟ จ๊อบส์ อยู่ได้ไม่เกิน 10 เดือน
ปรากฏว่าทันทีที่เขาจะออกจากโรงพยาบาลแทนที่จิตใจจะหดหู่ห่อเหี่ยว ความรู้สึกกลับเปลี่ยนไป แกบอกว่าจู่ๆก็รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมาคุณคือมองเห็นต้นไม้ ท้องฟ้า มองทุกสิ่งอย่างรู้สึกว่ามันวิเศษจริงๆ
ทั้งๆที่หมอบอกว่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 10 เดือน แต่ว่าเขากลับรู้สึกว่า ณ เวลานั้น ณ ขณะนั้นอะไรต่ออะไรที่ผ่านพบ มันวิเศษมากเลย สิ่งเล็กๆทุกอย่างที่เห็น ลมเย็นทุกสายที่สัมผัสใบหน้า อิฐทุกก้อนบนถนน มันทำให้รู้สึกว่า ฉันมีชีวิต ฉันมีชีวิต
เขาเล่าว่า ณ เวลานั้น รู้สึกเหมือนขนนกบินปลิวไปตามสายลมในใจรู้สึกถึงความเป็นอิสระเสรี เป็นความรู้สึกที่เยี่ยมมาก ทั้งๆที่มีเวลาอยู่ในโลกนี้ได้ไม่นานตามคำวินิจฉัยของหมอ แต่ว่าสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันกลับกลายเป็นสิ่งวิเศษมหัศจรรย์ทำให้เขามีชีวิตชีวา เพราะอะไร
เพราะว่าเขาจะมีเวลาอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน ทันทีที่รู้ว่าอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบพบสัมผัสแสงธรรมดาสามัญกลายเป็นสิ่งวิเศษมหัศจรรย์ ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันทีเลย ปรากฏว่าผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว เขายังมีชีวิตอยู่เลย และตอนนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่
เป็นเพราะเขารู้สึกว่า เขาสามารถที่จะสัมผัสความสุขในปัจจุบันได้ คนหนึ่งหมอบอกว่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน แต่ว่าอยู่ได้แค่ 12 วันก็ตาย อีกคนหนึ่งหมอบอกว่าจะอยู่ได้แค่ 9 เดือน 10 เดือน ปรากฏว่าเกือบ 10 ปีแล้ว ทั้งที่เขาเป็นมะเร็ง แม้จะต่างชนิดกัน
อะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันนั้น คือใจคือทัศนคติ คนหนึ่ง จดจ่ออยู่กับอนาคตที่น่ากลัว อีกคนหนึ่งเปิดใจซึมซับรับเอาความสุขในปัจจุบันที่มีอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ก้อนเมฆ สายลม
ประการที่ 3 ปล่อยวางความอยากหาย รวมทั้งความคาดหวังทั้งของตนเองและผู้อื่น เพราะอะไร เพราะว่ายิ่งอยากหายก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งอย่างหายเท่าไรแล้วพอมันยังไม่หาย ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่
หลวงปู่ขาวพูดไว้ดี ท่านบอกว่า อันความอยากหายจากทุกขเวทนา อย่าอยากน่ะ ยิ่งอยากให้หายเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มสมุทัย ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น แต่ให้อยากรู้อยากเห็นความจริงของทุกขเวทนาที่แสดงอยู่กับกายกับใจเท่านั้น
คำพูดของหลวงปู่ขาวน่าสนใจ เป็นข้อคิดที่ดีมาก อย่าอยากหายเพราะถ้าอยากหาย มันจะยิ่งทุกข์ แต่ถ้าอยากรู้อยากเห็นความจริง อยากรู้เวทนาที่เกิดขึ้นกับกายและใจดีกว่า ซึ่งอันนี้คนที่ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมก็จะเข้าใจว่าความหมายคืออะไร
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ยิ่งอยากหายยิ่งทุกข์ แต่พอไม่อยากหาย ความทุกข์ในจิตใจก็ลดน้อยลง สมัยที่อาตมาไปจำพรรษาที่วัดอมราวดี ประเทศอังกฤษเมื่อ 30 ปีกว่าก่อน มีพระอาวุโสท่านหนึ่งป่วยโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ หมดเรี่ยวหมดแรงไปเรื่อยๆผ่ายผอม รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์สมัยใหม่หรือการแพทย์แผนโบราณ
ท่านเป็นคนที่มีน้ำใจดีมาก เพื่อนๆก็มาเยี่ยมทั้งพระทั้งแม่ชี ส่วนใหญ่ก็จะพูดคล้ายๆกันว่า ขอให้หายไวๆสู้ๆ เมื่อกลับมาเยี่ยมใหม่ก็จะถามว่าเป็นอย่างไร ดีขึ้นไหม แต่ว่าอาการท่านก็ไม่ดีขึ้นแล้วก็รู้สึกแย่ลงไปเรื่อยๆ
ยิ่งเพื่อนมาถามว่าเป็นอย่างไรดีขึ้นหรือเปล่า ท่านก็ไม่อยากตอบเพราะอาการของท่านมันแย่ลงไปเรื่อยๆ มันไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่เพื่อนคาดหวัง แม้ว่าจะทำเท่าไรๆ ร่างกายก็ผ่ายผอมหมดเรี่ยวหมดแรงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคงจะอยู่ได้ไม่นานแล้ว
แล้ววันหนึ่งหลวงพ่อสุเมโธก็มาเยี่ยม ทันทีที่ท่านเห็นหน้าพระรูปนี้ หลวงพ่อสุเมโธก็พูดขึ้นมาว่า กิตติสาโร ถ้าท่านจะตายก็ตายได้นะ ท่านไม่ต้องพยายามหายหรอก ปรากฏว่าพระรูปนั้นร้องไห้เลย ไม่ใช่เพราะว่าหลวงพ่อสุเมโธซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านขับไล่ไสส่ง จะให้ไปตาย หรือว่าร้องไห้ที่ท่านไม่ได้ให้ความหวังกับท่านเลย
แต่ที่ร้องไห้ด้วยความดีใจว่า ได้ปลดเปลื้องภาระแล้ว แต่ก่อนท่านพยายามจะหายเพราะว่าเพื่อให้สมหวังของเพื่อนๆ เพื่อนๆมาถามว่าดีขึ้นแล้วหรือยัง ท่านรู้สึกแย่ที่จะตอบว่าไม่ดีขึ้นเลย ความพยายามอยากจะหายอยากจะดีขึ้นเพื่อให้สมหวังของเพื่อนๆมันทำให้ท่านแย่ลงเพราะกลายเป็นภาระ
แต่พอหลวงพ่อสุเมโธพูดแบบนี้ ท่านก็รู้สึกว่าปลดเปลื้องภาระ แล้ว ไม่ต้องพยายามให้หายได้แล้ว การที่หลวงพ่อสุเมโธพูดแบบนี้ ก็ทำให้ฉันรู้สึกว่าจะตายก็ตายได้เลย หลวงพ่อให้ไฟเขียวแล้ว
พอไม่มีความอยากหาย จิตใจมันเบาลง มันสบายขึ้น พอจิตใจสบาย ปรากฏว่าอาการดีขึ้นเรื่อยๆแล้วสุดท้ายท่านก็หายจากความเจ็บป่วย ทุกวันนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่แต่ว่าไม่ได้เป็นพระแล้ว
แปลกนะพอครูบาอาจารย์บอกว่า จะตายก็ตายได้นะ ไม่ต้องพยายามไปหายหรอก ผู้ป่วยกลับดีขึ้นๆ เพราะว่าบ่อยครั้งความอยากหายนั้นแหละที่มันไปกดทับความรู้สึกของเรา ที่ทำให้เป็นทุกข์เพราะว่า อยากหาย อยากดีขึ้น เพื่อให้คนอื่นจะได้ไม่ผิดหวังในตัวเรา เพื่อคนรอบข้างจะได้ไม่เสียใจในตัวเรา
ความรู้สึกแบบนี้ มันกดดันผู้ป่วยหลายคน เพราะฉะนั้นเวลาคนที่ไปเยี่ยมผู้ป่วย แล้วพูดว่าสู้ๆ พยายามผลักดันให้ผู้ป่วยให้ต่อสู้เพื่อให้หาย มันเป็นการสร้างความกดดันให้กับผู้ป่วย ยิ่งผู้ป่วยไม่ดีขึ้น เขาก็ยิ่งทุกข์ แล้วระหว่างที่พยายามต่อสู้พยายามเข้มแข็งเขาจะรู้สึกอึดอัด และเหนื่อยล้า
ผู้ป่วยคนเดียวกัน มีข้อความที่อาตมาจะยกมาเล่า เขาบอกว่า การไม่ยอมรับความจริงมันทำให้เป็นทุกข์มากกว่าเหมือนกับคุกที่ขังใจเราไว้ เธอเล่าความในใจไว้น่าสนใจ เวลาเพื่อนบอกว่าสู้ๆ เธอบอกว่าฉันต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะเข้มแข็งและสร้างความสบายใจให้กับผู้พบเห็น สิ่งนี้ลึกๆเป็นอะไรที่กัดกร่อนอย่างยิ่งเลย
เพราะฉะนั้น คำว่าสู้ๆ มันไม่ได้เป็นผลดีกับคนไข้ หรือแม้กระทั่งการพยายามที่จะถามคนไข้ว่า ดีขึ้นหรือยัง ดีขึ้นหรือยัง สำหรับคนไข้บางคนมันคือการสร้างภาระให้กับเขา ทำให้เขาต้องพยายามดิ้นรนต่อสู้ให้หาย และยิ่งอยากหายก็ยิ่งเป็นทุกข์ เพราะว่าพอเมื่อไม่หาย เขาจะรู้สึกว่าทำให้เพื่อนผิดหวัง
เพราะฉะนั้น การปล่อยวางอยากหายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ปล่อยวางความอยากหาย ปล่อยวางความคาดหวังของคนรอบข้างรวมทั้งของตัวเองด้วย หายเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น
มีผู้ป่วยคนหนึ่ง เป็นคนเก่ง แต่เป็นคนอารมณ์ร้อน ใจร้อน แล้ววันหนึ่งปรากฏว่าเป็นเส้นเลือดในสมองแตก อายุ 40 กว่าๆ เป็นอัมพฤกษ์ ช่วยตัวเองไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิดมากที่ตัวเองไม่สามารถจะทำอะไรได้ ทำกายภาพบำบัด แล้วก็อยากหายไวๆ แต่พอทำ ก็ไม่นาน ไม่หายสักที ไม่ดีขึ้นสักที ก็รู้สึกโกรธอาละวาดกราดเกรี้ยวใส่หมอใส่นักกายภาพบำบัด เพราะว่ามันไม่หาย มันไม่ดีขึ้นสักที
แต่หลังจากเป็นเช่นนี้มาหลายเดือนแล้ว ก็เริ่มทำใจยอมรับว่าร่างกายเราคงจะไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง ตอนหลังก็เลยไม่ค่อยคาดหวังเท่าไหร่ ทำกายภาพบำบัดก็ทำ แต่ว่าไม่ค่อยคาดหวัง เพราะว่าเคยคาดหวังแล้วมันก็ไม่ดีขึ้น ปรากฏว่าพอไม่คาดหวัง ร่างกายกลับดีขึ้นเรื่อยๆ ทำกายภาพบำบัดมันก็เห็นผลชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็กลับมาเดินได้
และที่แปลกกว่านั้นก็คือว่า นิสัยใจคอเขาก็เปลี่ยน คือใจเย็น ที่เคยกราดเกรี้ยวกับลูกน้องกับเพื่อนๆนั้นเปลี่ยนไปเลย ใจเย็นเพราะเรียนรู้จากความเจ็บป่วยว่า ความใจร้อนก็ดี หรือการทำอะไรด้วยความคาดหวังที่รุนแรงก็ดี มันมีแต่จะสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง
มีผู้ป่วยหลายคน ที่ความคาดหวังอยากหายมันซ้ำเติมตัวเอง เช่น ชายหนุ่มคนหนึ่ง เขาเป็นอัมพฤกษ์จากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การกินเหล้า สูบบุหรี่ และการกินอาหารที่ไม่ระมัดระวัง พอเป็นอัมพฤกษ์ก็พยายามที่จะทำกายภาพบำบัด แต่ว่าพอไปทำ หลายเดือนก็ยังไม่หาย ยังเดินไม่ค่อยได้ เครียดมาก
พอเครียดมากก็กินเหล้า พอกินเหล้าก็ทำให้ทรุดกว่าเดิม ที่กินเหล้าเพราะเครียด ที่เครียดเพราะอะไร เพราะอยากหาย แต่ไม่หาย ความอยากหายมันทำร้ายตัวเรานะ โดยที่เราไม่รู้ตัว
เหมือนกับคุณลุงคนหนึ่ง ป่วยเป็นโรคสุราเรื้อรัง เข้าโรงพยาบาลอยู่หลายครั้งเลย หมอก็เก่ง เขาป่วยหนักแต่ละที หมอก็ช่วยจนออกจากโรงพยาบาลได้ แต่แกก็กลับเข้ามาใหม่ เป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 เที่ยว
วันหนึ่งหมอก็เลยเรียกคนไข้มาคุย แล้วก็พูดเตือนว่าถ้าคุณลุงยังกินเหล้าแบบนี้อีก ต่อไปคงจะไม่รอดแล้วล่ะ ลุงต้องเลิกเหล้านะ ลุงก็บอกว่าครับ ผมจะพยายาม หมอเขาบอกว่าลุงรับปากอย่างนี้ทุกทีเลยแล้วก็กลับไปกินเหล้าอีก ทำมันยังกินเหล้าอยู่อีก ทั้งๆที่รับปากแล้ว
แกตอบว่า “มันเครียดครับ” “ลุงเครียดอะไร” “เครียดที่เลิกเหล้าไม่ได้ ก็เลยต้องกินเหล้า พอกินเหล้าก็เลยหนัก” แกอยากเลิกเหล้า แต่พอเลิกไม่ได้ก็เลยเครียด ก็เลยต้องกินเหล้าเพื่อคลายเครียด ยิ่งอยากหาย ยิ่งอยากเลิกเหล้า บางทีมันยิ่งซ้ำเติมตัวเอง ที่ทำให้มีพฤติกรรมที่เสี่ยงมากขึ้น หรือทำร้ายตัวเอง
ประการที่ 4 คือปล่อยวางอดีต รวมทั้งให้อภัยกับตัวเอง และผู้อื่นด้วย คนเราทุกคนก็มีความผิดพลาดในอดีต พอมีความผิดพลาดแล้วก็เสียใจกับการกระทำในอดีต ความรู้สึกผิด บ่อยครั้งก็โบยตีตัวเอง ซึ่งจะทำให้อาการลุกลามมากขึ้น ถ้าเราไม่รู้จักปล่อยวางความรู้สึกผิด มันจะทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ
มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งปอดระยะ 4 แถมติดเชื้อ HIV มีเชื้อที่ปอดและในกระแสเลือด หมอคนหนึ่งเป็นจิตอาสาไปเยี่ยม เฌอบอกว่าเธอกลัว ถามเธอว่ากลัวอะไร “กลัวตาย ฉันยังไม่อยากตาย” หมอก็เลยถามว่า “อยากทำอะไรมากที่สุด” “อยากให้ลูกชายบวช”
หมอก็เลยไปพูดคุยกับสามีของเธอ ให้ลูกชายบวช ปรากฏว่าสามีไม่ยอม เขาบอกว่ามันเป็นช่วงเข้าพรรษา บวชในพรรษาไม่ได้ ที่จริงไม่เกี่ยวกัน แต่ว่าไม่ว่าจะหว่านล้อมเพียงใด สามีก็ไม่ยอมให้ลูกชายบวช
พอหมอไปบอกผู้ป่วย เธอได้ยินเธอก็ทุกข์มากเลย กระสับกระส่ายเจ็บไปทั้งตัว แล้วพาลไม่อยากจะคุยกับหมอเพราะว่าไม่สามารถจะสนองความต้องการของเธอได้
2-3 วันต่อมา หมอก็ไปเยี่ยมคนไข้อีกครั้ง เธอบ่นว่าทุกข์ทรมานมาก เจ็บ ร้องครวญครางตลอดเวลา หมอก็ไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยชวนคุยเรื่องการทำบุญในอดีตที่ผ่านมา เธอก็เล่าถึงพระรูปหนึ่งที่เคยนั่งทางใน ได้บอกกับเธอว่า เธอมีเจ้ากรรมนายเวรที่คอยมารังควาน เพราะเธอเคยทำบาปเอาไว้กับเจ้ากรรมนายเวรนั้น
พอเธออยู่สองต่อสองเธอก็เล่าว่า เธอเคยท้องกับสามีคนแรก แล้วก็ไปทำแท้ง ตอนเธอเล่าถึงเหตุการณ์ทำแท้งแล้ว เธอก็สลดใจมาก พระก็แนะนำให้เธอแต่งชุดขาวปฏิบัติธรรม แต่เธอก็ทำไม่ได้
หมอก็เลยถามว่า จะติดต่อพระรูปนั้นได้อย่างไร เธอก็บอกชื่อเพื่อนที่ไปติดต่อพระ หมอบอกว่าจะไปนิมนต์พระรูปนั้นมา มาโปรดเธอที่โรงพยาบาล ให้เธอใส่ชุดขาว กราบท่านที่วอร์ด พอเธอรู้ว่าพระจะมาโปรด เธอก็รู้สึกดีขึ้น
ขณะเดียวกันหมอก็ชวนให้สวดมนต์ น้อมจิต ขออโหสิกรรมจากเจ้ากรรมนายเวร แล้วก็แผ่เมตตาให้กับลูกที่เธอทำแท้ง ปรากฏว่าทำได้ 10 นาทีเธอก็สงบเลยที่เคยปวด ร้องครวญครางทุรนทุรายก็บรรเทาเบาบางลง แล้วก็หลับได้ได้ในที่สุด
ทั้งๆที่เธอหลับยาก แต่พอเธอได้รู้สึกว่าได้ปลดเปลื้องเรื่องความรู้สึกผิดด้วยการที่จะได้มาทำบุญ ปฏิบัติธรรมกับพระแม้ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาล รวมทั้งได้สวดมนต์ ขออโหสิกรรมและแผ่เมตตา มันช่วยปลดเปลื้องความรู้สึกผิดในใจเธอได้มาก จนทำให้ใจเธอสงบ ที่เคยหลับไม่ได้ ก็หลับได้
หลายคน ประสบความทุกข์ทรมานไม่ใช่เพราะความเจ็บป่วยอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความรู้สึกผิดติดค้างใจ ผู้ชายคนหนึ่งอายุ 60 กว่า ตอนที่เขาอายุ 30 เขาทิ้งภรรยาคนแรก รวมทั้งลูกชายที่ยังแบเบาะเพื่อไปอยู่กินกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง
ผ่านไป 30 ปีเขาเป็นมะเร็ง แล้วตอนที่เขาอยู่ในระยะท้าย เขาก็กระสับกระส่าย สิ่งหนึ่งที่เขาขอจากพยาบาลคือ เขาอยากเห็นหน้าลูกชายคนที่เขาเคยทิ้ง ลูกชายคนนี้ เขาแทบไม่รู้จักเลยเพราะว่าทิ้งตอนที่ลูกชายยังแบเบาะ แต่อยากเห็นหน้า
พยาบาลก็ดี พยายามไปตาม กลับไปที่หมู่บ้านของเขา แล้วก็พยายามไปตามแล้วก็เจอลูกชายคนนั้น ลูกชายเขาก็ดี ยินดีที่จะมาพบพ่อ ซึ่งแทบไม่เคยเห็นหน้าเลย หรือว่าจำหน้าไม่ได้ พอคนป่วยได้เห็นหน้าลูกชาย ก็รู้สึกดีขึ้นเลย เหมือนกับว่าได้รู้สึกถ่ายถอนความรู้สึกผิดออกไป
ที่อยากเจอหน้าลูกชาย เพราะว่ามันเป็นการชดเชยที่เขาได้ทิ้งลูกชายไปตั้งแต่ลูกชายยังแบเบาะ การได้พบเห็นหน้าเขา มันทำให้ความรู้สึกผิด บรรเทาเบาบางลง แล้วก็ช่วยทำให้ความทุกข์ทรมาน มันก็ลดน้อยลง เหลือแต่ความทุกข์ทางกาย แต่ความทุกข์ทางใจเบาบางลง สุดท้ายเขาก็จากไปอย่างสงบ
คนเรา ถ้าหากว่า เราไม่ปล่อยวางความรู้สึกผิด เพราะได้ทำความผิดพลาดในอดีต มันรบกวน มันทรมาน มันรังควานทรมานจิตใจมาก ในยามนี้ เมื่อเจ็บป่วยแล้ว เราต้องรู้จักให้อภัยทั้งกับตนเองและผู้อื่นด้วย ให้อภัยตัวเองที่เคยทำผิดทำพลาด
แต่ปกติคนเราจะให้อภัย มันทำยาก ถ้าไม่มีคนช่วย อย่างกรณีผู้ป่วยคนแรก ก็มีหมอแนะนำให้แผ่เมตตา ให้ขออโหสิกรรม นอกจากให้อภัยตนเอง ก็ต้องรู้จักให้อภัยผู้อื่นด้วยเพราะว่าหลายคนเจ็บป่วยทุกข์ทรมานเพราะจมอยู่กับเหตุการณ์ในอดีตที่เจ็บปวด
อย่างเช่น โดนสามีทิ้งไป โกรธเพื่อนที่โกงเงิน หรือแค้นเพื่อนที่แย่งภรรยาไป ความเจ็บปวดในอดีตมันสามารถจะทำร้ายจิตใจของเราได้ถ้าไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวางด้วยการให้อภัย ไม่ว่าให้อภัยตัวเองหรือให้อภัยผู้อื่นก็ตาม
ปล่อยวางประการต่อไปก็คือ ปล่อยวางตัวตนเก่าและอัตลักษณ์เดิมๆที่เคยมีคือ การยอมรับความจริงว่าตอนนี้ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิมแล้ว เราไม่ใช่คนเดิมแล้ว เพราะความเจ็บป่วยมาทำให้สูญเสียบทบาทหน้าที่และอัตลักษณ์ที่เคยมี ไม่ว่าจะเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นสามี เป็นเจ้านาย เป็นคนที่แข็งแรง เป็นตำรวจที่เข้มแข็ง
แต่ตอนนี้พอเจ็บป่วยแล้ว บทบาท หน้าที่และความเข้มแข็งที่เคยมี มันสูญไปหมดแล้ว มันกลายเป็นอดีตไปแล้ว บางคนเคยเป็นหลักของครอบครัว ตอนนี้กลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น หลายคนทำใจไม่ได้ ยังติดอยู่กับอัตลักษณ์เดิม ติดกับตัวตนเก่าที่ฉันเคยเป็นผู้นำเป็นหลักของครอบครัว เป็นคนแข็งแรง ตอนนี้ฉันต้องพึ่งพาคนอื่น
ถ้าไม่ปล่อยวางตัวตนเก่าๆ หรืออัตลักษณ์เดิมๆ มันก็จะทุกข์มากเลย และทำให้ไม่สามารถจะยอมรับสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ได้ บางคนรู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่สามารถควบคุมร่างกายตัวเองได้ คนที่เคยภูมิใจในความสวยความงามแต่ร่างกายมันไม่สวยไม่งามอีกต่อไป
คนที่เคยเป็นนักกีฬา ทำอะไรกับร่างกายของตัวเองได้อย่างที่คนอื่นทำไม่ได้ ตอนนี้ก็แม้แต่จะเดินเหิน ก็ทำไม่ได้ ความสามารถในการควบคุมร่างกายที่ลดน้อยถอยลง หรือว่าแทบจะเป็นศูนย์ แต่นั่นคือความจริง ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ก็ต้องปล่อยวาง ตัวตนเก่าๆ อัตลักษณ์เดิมๆที่เคยมี
ปล่อยวางความโกรธ ความโกรธเป็นตัวที่ทำร้ายจิตใจมาก หลายตัวอย่างที่พูดมา ก็ล้วนเป็นเรื่องความโกรธ คนป่วย แม้จะไม่โกรธคนที่ทำร้ายตัวเองในอดีต แต่บางทีก็โกรธชะตากรรม บางคนเหนื่อยยากมาตลอดชีวิต ครั้นจะมาสบายกับเขา ก็มาป่วยเป็นมะเร็ง มันเหมือนกับว่าชะตากรรมโหดร้ายกับเขามาก ไม่เปิดโอกาสให้เขาได้มีความสุขเหมือนกันคนอื่นเขาเสียที
บางคนโกรธที่สูญเสียหน้าที่ที่เคยมี ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องกลายเป็นคนที่พึ่งพาคนอื่น บางคนโกรธแม้กระทั่งว่าเวลาเห็นคนอื่นยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุขมีอนาคตที่สดใส แต่ตัวฉันเองต้องมานอนแบบฉันที่โรงพยาบาล หรือบางคนอิจฉาคนอื่นหรือคนทั้งโลกเลยที่เขามีความสุข ไม่ได้ทุกข์เหมือนอย่างฉัน หรืออาจก็จะโกรธที่ไม่มีคนสนใจไยดีก็ได้
มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านม เธอก็ได้รับการฉายแสงคีโมตามมาตรฐาน พอได้รับแล้ว เธอก็บอกว่าปวดมากปวดมากๆแต่หมอและพยาบาลสังเกตเวลาเธอเดินเหินเหมือนคนปกติเลย วันหนึ่งพยาบาลก็เลยมาคุยกับเธอ พยาบาลงานเยอะแต่ว่าหาเวลามาคุยกับผู้ป่วยคนนี้
เธอใช้เวลาคุยเป็นชั่วโมง คนป่วยเป็นฝ่ายเล่ามากกว่า และก็วนเวียนเรื่องเล่าถึงคนสองคน นั้นคือสามีและลูกชายที่ไม่อินังขังขอบเธอเลย ไม่มาเยี่ยมเธอเลย ไม่มาดูแลเธอเลย เธอโกรธมากและน้อยใจ ส่วนพยาบาลก็นั่งฟังอย่างเดียว แล้วก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ฟังด้วยความใส่ใจ
ที่เธอเล่าจนจบเป็นชั่วโมง ปรากฏว่าความปวดมันทุเลาลง ทำไมความปวดทุเลาลงทั้งๆที่ไม่ได้กินยาเลย เพราะความปวดก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งมันมาจากความโกรธ โกรธสามี โกรธลูกชาย แต่พอได้มีโอกาสระบาย ความโกรธก็บรรเทา พอความโกรธบรรเทาลงความปวดก็ทุเลาลง
ความโกรธกับความปวด มันสัมพันธ์กันมาก ไม่ว่าโกรธอะไรก็ตาม มันก็สามารถทำให้ป่วยได้ง่าย บางคนโกรธ ไม่ได้โกรธอะไร โกรธมะเร็งที่ทำให้เจ็บป่วย หรือโกรธโรคที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นโรคตับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือแม้แต่โรคโควิด ความโกรธโรค ถ้าไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง หรือไม่รู้จักบรรเทาความโกรธ ความกลัวโรค มันก็จะสร้างความทุกข์ใจมาก
ปล่อยวางความเจ็บปวดและทุกขเวทนา ความเจ็บปวดและทุกขเวทนานี้ไม่มีใครชอบ แต่ว่าแทบจะร้อยทั้งร้อยกลับไปยึดเอาไว้ ความปวด เราสังเกตดูตรงไหนปวด ปวดขา ปวดท้อง ปวดหัว ใจมันจะไปจดจ่ออยู่ตรงจุดที่ปวด ตรงที่ไม่ปวด ใจไม่ไปสนใจ จะไปจดจ่อแต่ตรงนั้นแหละที่ปวด แล้วมันไม่แค่จดจ่อ มันไปยึดด้วย ซึ่งก็ทำให้ไม่ได้เป็นแค่ปวด มันก็เลยไม่แค่ปวดกาย แต่ปวดใจด้วย
เพราะฉะนั้นต้องทำยังไง ก็ต้องหาทางทำให้ใจปล่อยวางจากความเจ็บปวด สติสมาธินี้มันช่วยได้ คุณหมออมราเล่าว่าเคยไปเยี่ยมผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นผู้ชายอายุ 40 มะเร็งก็ลามไปถึงกระดูกแล้ว นอนก็นอนไม่ไหว นั่งก็นั่งลำบาก ยานี้ มอร์ฟีนก็เอาไม่อยู่แล้ว ตัวซีด ปากซีด เพราะความเจ็บปวด
คุณหมออยากจะช่วย ก็เลยถามว่า เคยนั่งสมาธิไหม เขาบอกว่าไม่เคย “หมอจะแนะนำให้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ” เขาถามว่า “นั่งนานเท่าไหร่” คุณหมออมราก็บอกว่า “นั่งนานเท่าไหร่ก็ได้ 5 นาทีก็ได้” เขาก็เลยลองทำ คุณหมอก็ทำไปด้วย ทำด้วยกัน
5 นาทีแรก เสียงหายใจคนไข้มันดังฟืดๆเพราะว่าหายใจลำบากมาก มีเสียงดังขณะที่หายใจเข้าหายใจออก แต่พอ 5 นาทีผ่านไปเสียงก็เบาลง ทีแรกคุณหมออมรานึกว่าคนไข้จะเลิกตามลมหายใจแล้ว เปล่า คนไข้ยังทำอยู่
ปรากฏว่าคนไข้ทำได้ถึง 45 หรือ 50 นาที ซึ่งน่าอัศจรรย์มาก เพราะคนเราเวลาปวด มันตามลมหายใจลำบาก ยิ่งกว่านั้นพอคนไข้ทำเสร็จ สีหน้าดีขึ้น ปากที่เคยซีดก็เป็นสีชมพู หน้าตาดูอิ่มเอิบไม่เหมือนกับตอนก่อนที่จะปฏิบัติ คนไข้บอกว่าความปวดทุเลาลงไปเยอะ
ถามว่า ทำไมความปวดทุเลาลง ก็เป็นเพราะว่า พอทำสมาธิแล้ว จิตมันวางความปวด จิตมันวางความปวดมาอยู่กับลมหายใจ จะเรียกว่ามันลืมความปวดก็ได้ แต่ไม่ใช่แค่ลืมความปวด ตอนที่ จิตเป็นสมาธิ อยู่กับลมหายใจ มันมีสารบางตัวที่ทำให้ความปวดทุเลาลง จะเป็นเอ็นโดรฟิน หรือโดพามีน ก็แล้วแต่
อันนี้เป็นวิธีการปล่อยวางความเจ็บปวด ด้วยการเอาจิตมาอยู่กับลมหายใจ แล้วพอจิตเป็นสมาธิกับลมหายใจ มันก็ลืมความปวด หรือมันก็วางความปวดของกายลง ยิ่งมีสมาธิมากเท่าไหร่ มันก็จะวางได้มากเท่านั้น อันนี้เรียกว่าใช้สมาธิช่วยให้จิตวางความเจ็บปวด
แต่นอกจากสมาธิแล้ว สติก็ช่วยได้ อย่างมีคนไข้คนหนึ่งเป็นมะเร็งที่ท้อง ปวดมากเลย ยาก็เอาไม่อยู่แล้ว แต่ว่าเคยเจริญสติมา ก็เลยใช้สติมาช่วย
คำพูดของแกคือ เอาสติมาช่วยดึงจิตให้มาอยู่ที่หัวไหล่ แล้วก็มามองดูกายที่ปวด พอจิตมาดูกายที่ปวด มันก็เห็นความปวด แต่ว่าจิตไม่ได้ปวดด้วย ก็รู้สึกดีขึ้น
แต่ว่าเผลอทีไร จิตไปรวมกับกาย ก็จะปวดมากเลย ก็ต้องดึงออกมาจากกาย ออกจากท้อง เห็นความปวด ก็ทำให้แม้ว่ากายจะปวด แต่ว่าใจไม่ปวดด้วย อันนี้ เรียกว่าสติ มันช่วยทำให้วางความเจ็บปวด
มีคุณยายคนหนึ่ง เกิดอุบัติเหตุ กระดูกแขนแตกเลย แต่คุณยายก็ไม่ได้แสดงความเจ็บปวดมาก ไม่ได้ร้องครวญคราง ไม่ได้แสดงสีหน้าที่จะบ่งชี้ถึงความเจ็บปวดเลย ทั้งที่คุณยายมีทุกขเวทนามาก ผ่าตัดเสร็จแล้ว ลูกสะใภ้ก็ถาม “คุณแม่ทำอย่างไรนะ ไม่รู้สึกปวดเลย” คุณยายก็ตอบว่ามา “มัน สักแต่ว่าเวทนา อย่าไปยุ่งกับมัน”
เรานี่หมายถึงอะไร คือใจ ใจอย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปเกาะเกี่ยวกับมัน มันปวดก็ปวดไป ก็แค่ดูมันเฉยๆ อันนี้ก็ตรงกับที่หลวงพ่อคำเขียนที่สอนว่า เห็นความปวด แต่อย่าเป็นผู้ปวด ความปวดบางครั้งเราก็ห้ามไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราอย่าไปเป็นผู้ปวด คืออย่าไปยึด ว่าความปวดเป็นเราเป็นของเรา แต่ให้เห็นความปวด
ท่านบอกว่า ความปวดไม่ได้ลงโทษเรา แต่การเป็นผู้ปวดต่างหากที่ลงโทษเรา อันนี้คนที่เจริญสติจะเข้าใจ ว่าความปวดกับความเป็นผู้ป่วย มันต่างกัน เมื่อมีความปวดเกิดขึ้น ให้เห็นมัน แต่อย่าเข้าไปเป็นมัน ถ้าเป็นมันเมื่อไหร่ มีทุกข์มากเลย
สติช่วยทำให้ใจไม่ไปยึดความปวด ไม่ไปเป็นผู้ปวด แล้วก็ไม่ไปผลักไสมันด้วย ทำให้เราสามารถอยู่กับความเจ็บปวดได้อย่างสันติ โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นประโยชน์และจุดมุ่งหมายของมัน
มีผู้หญิงคนหนึ่ง อายุก็ไม่มาก แค่ 30 เธอเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่ยังเป็นเด็กเลย พออายุมากขึ้นเรื่อยๆ 20 กว่า กล้ามเนื้อที่แขนที่ขาก็ไม่ไหวแล้ว เดินลำบาก และที่หนักกว่านั้นกล้ามเนื้อที่ปอดก็ไม่ค่อยทำงาน เธอหายใจได้แค่ 10% ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจแทบจะทั้งวันเลย
และตอนหลัง อวัยวะต่างๆก็แย่ลง นิ้วมือขยับไม่ได้ ปรากฏว่าเธอเป็นนักเขียนที่มีชื่อ ทีแรกเธอก็อยู่ไปวันๆหนึ่ง แต่ตอนหลังพอได้อ่านนิยาย ก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนนิยาย ทีแรกเธอก็สามารถจะพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้ แต่ตอนหลังพิมพ์ไม่ได้แล้ว เพราะมีแค่นิ้วชี้นิ้วเดียว ข้างขวา ที่พอจะขยับได้ แล้วตอนหลังลิ่มอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ก็ต้องใช้ข้อนิ้วชี้ข้างขวาจิ้มแป้นโทรศัพท์
เวลาเธอจะพิมพ์ข้อความทางโทรศัพท์ เธอต้องนอนเอาโทรศัพท์วางไว้ข้างหมอน แล้วก็เอาแขนไปพาดที่ศีรษะเพื่อที่จะให้นิ้วไปจิ้มที่คีย์บอร์ดของโทรศัพท์ทีละตัวๆ เธอเขียนหนังสือมาแล้ว 18 เล่ม ทั้งที่วันหนึ่งๆเขียนได้ไม่กี่ย่อหน้า ทั้งที่มีความทุกข์มาก อาจจะทุกข์กว่าคนที่เป็นมะเร็ง เพราะว่าอวัยวะต่างๆของเธอแย่มาก
แต่เธอพูดไว้น่าสนใจ เธอบอกว่า ความทุกข์มันให้อะไรแก่เรามากกว่าความสุขเสียอีก ความสุขจะทำให้เราฟุ้งล่องลอย แต่การที่เรามีความทุกข์ จะช่วยให้เราได้อยู่กับตัวเอง ได้อยู่กับความจริง ซึ่งมันดีกว่าการล่องลอยมากเลยทีเดียว เธออยู่กับความเจ็บปวด อยู่กับความทุกขเวทนากับความพร่องของร่างกาย
แต่พอเธอมองว่าความทุกข์ให้อะไรกับเธอมากกว่าความสุข มันทำให้เธอสามารถอยู่กับความทุกข์ได้ด้วยใจที่ปกติสุข อันนี้มันมีส่วนช่วยทำให้เธอปล่อยวางความเจ็บปวดหรือความทุกข์ได้
เหมือนกับอีกคนหนึ่ง ก่อนที่เธอเป็นมะเร็ง เธอเป็นโรคซึมเศร้า แล้วจึงมาเป็นมะเร็ง มันเหมือนกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แต่ปรากฏว่ามะเร็งกลับทำให้เธอมีอาการดีขึ้น เธอบอกว่ามะเร็งทำให้ทำให้เราเข้าใจตัวเอง และรับมือกับโรคได้ดีขึ้น มีความสุขขึ้น เราเลยไม่กลัวมะเร็งเลย
ถ้าไม่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เราก็อาจจะตายแล้วก็ได้ เพราะอาการซึมเศร้าทำให้เราตายได้โดยไม่รู้ตัว ก่อนหน้านี้เธอเคยพยายามฆ่าตัวตายแล้ว 3 ครั้ง แต่พอเป็นมะเร็ง ทัศนคติของเธอเปลี่ยนไป อย่างที่เธอบอกว่า มันทำให้เธอเข้าใจตัวเอง และรับมือกับโรคได้ดีขึ้น ทัศนคติการมองโลกการมองชีวิตของเธอเปลี่ยนไปตั้งแต่เป็นมะเร็ง
เพราะฉะนั้น มะเร็งหรือความเจ็บป่วย มันก็มีประโยชน์ เช่นเดียวกับที่แพรว เธอมอง เธอเห็นว่าความทุกข์ที่เกิดจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มันก็ให้อะไรกับเธอได้มากเหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้เราปล่อยวางความเจ็บปวดได้มากขึ้น นั่นก็คือความรู้สึกที่เป็นบวก เป็นบวกต่อมะเร็ง หรือว่ารู้สึกเห็นประโยชน์ความทุกข์ หรือแม้กระทั่งพยายามเป็นมิตรกับมะเร็ง
มีผู้หญิงคนหนึ่ง เธอเป็นมะเร็งเต้านม มันจะมีบางช่วงของวันโดยเฉพาะเวลากลางคืนมันทำให้เธอเจ็บปวดมากจนทำให้นอนไม่หลับเลย แต่ว่าเธอก็พยายามเป็นมิตรกับมะเร็ง ดึกดื่นเวลาปวดจะมะเร็ง เธอก็จะพูดกับมะเร็งว่า ตอนนี้มันดึกแล้วนะ ได้เวลานอนแล้ว เธอนอนนะ ฉันก็นอนด้วย แล้วพรุ่งนี้เราก็ค่อยมาคุยกันใหม่
แล้วเธอก็ร้องเพลงกล่อมลูกให้มะเร็งฟัง การทำเช่นนี้ ทำให้เธอสามารถอยู่กับมะเร็งได้โดยที่ไม่ได้เจ็บปวดหรือใช้ยามากหรือใช้ยามาก เพราะว่าเธอไม่ได้โกรธมะเร็ง เธอกลับมองมะเร็งเหมือนกับเป็นมิตร ถึงเวลานอนก็ร้องเพลงกล่อมให้ฟัง
อีกคนหนึ่ง ก็เป็นโรคสะเก็ดเงิน เป็นหนักมากจนต้องนอนอยู่บนใบตอง เจ็บปวดมาก แต่เธอก็ไม่ค่อยได้กินยา เธอเป็นคนที่ชอบทำบุญ เธอฝากใครไปทำบุญ เธอก็จะคุยกับสะเก็ดเงินว่า สะเก็ดเงิน วันนี้ฉันไปทำบุญมาแล้วนะ ถ้าเธอจะไปก็เอาบุญของฉันไปด้วยนะ
แต่ถ้าเธอจะอยู่เธอก็ต้องระวังนะ เพราะว่าโรคของฉัน ยาที่ฉันกิน มันแรงนะ เธออาจจะตายได้ ทั้งๆที่สะเก็ดเงินทำให้เธอปวดแต่เธอก็ไม่ได้โกรธสะเก็ดเงินเลย กลับเป็นมิตรกับสะเก็ดเงิน เป็นห่วงสะเก็ดเงิน แล้วพร้อมจะอุทิศส่วนบุญกุศลให้สะเก็ดเงิน สะเก็ดเงินจะรับรู้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าทัศนคติหรือท่าทีแบบนี้ มันทำให้ใจของเธอไม่โกรธไม่เกลียดสะเก็ดเงิน แล้วก็สามารถจะอยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์
ประการสุดท้ายคือ ปล่อยวางร่างกายนี้ ปล่อยวางร่างกายนี้ว่ามันไม่ใช่เป็นเรา เป็นของเรา สมัยพุทธกาล มีอุบาสกท่านหนึ่งชื่อ นกุลบิดา นกุลบิดาป่วยหนัก พระพุทธเจ้าเสด็จมาเยี่ยม แล้วก็พูดกับนกุลบิดาว่า แม้กายป่วยแต่อย่าให้ใจป่วยนะ แม้กายกระสับกระส่ายแต่อย่าให้ใจกระสับกระส่าย นกุลบิดาฟังแล้วก็เกิดปิติขึ้นมา
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ นกุลบิดาก็ได้พบกับพระสารีบุตร แล้วก็ถามว่า กายป่วยแล้วใจไม่ป่วยได้เพราะอะไร หรือทำอย่างไรกายป่วยแต่ใจไม่ป่วย พระสารีบุตรก็ตอบว่า กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย เพราะไม่ยึดว่ารูปเป็นของเรา พระสารีบุตรพูดกับนกุลบิดาว่า อย่างไรชื่อว่า ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย นั่นคือการไม่อยู่ด้วยความรู้สึกรุมเร้าว่ารูปเป็นของเรา รูปก็คือร่างกาย เมื่อไม่รู้สึกว่า รูปเป็นของเรา เมื่อรูปนั้นแปรปรวนไป กลายเป็นอย่างอื่น ก็จะไม่เกิดความโศก ความคร่ำ ครวญความทุกข์โทมนัสและความคับแค้นผิดหวัง อย่างนี้แหละได้ชื่อว่า กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย
ที่จริงพระสารีบุตรได้พูดถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ครบทั้งขันธ์ 5 แต่อาตมาตัดมาเฉพาะรูป ว่าไม่ยึดว่าเป็นของเรากับอนาถบิณฑิกะ พระสารีบุตรก็พูดอย่างเดียวกันนะว่า แม้ความตายจะใกล้เข้ามา ก็ขอให้ท่านพิจารณาว่า เราจะไม่ยึดมั่นในตาหูจมูกลิ้นกายและใจ ไม่ยึดมั่นในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ยึดมั่นในวิญญาณที่อาศัยตาหูจมูกลิ้นกายและใจ ไม่ยึดมั่นในวิญญาณที่อาศัยรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสธรรมารมณ์
พูดง่ายๆคือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ว่าเป็นเรา เป็นของเรา มันจะช่วยทำให้เราสามารถที่จะอยู่กับความเจ็บป่วยได้โดยที่ใจไม่ป่วย กายป่วยไปแต่ใจไม่ป่วย เพราะว่าเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า รูปเป็นเรา เป็นของเรา ความยึดมั่นสำคัญหมายว่าตัวฉันก็จะเบาบางลง
หลายคนมักจะถามว่าทำอย่างไรถึงฉันจะไม่ป่วย แล้วก็พยายามตอบโจทย์นี้ด้วยการทำให้ความป่วยหายไป แต่ลืมว่ามีอีกวิธีหนึ่งที่สำคัญ คือการทำให้ไม่มีตัวฉัน ที่คนลืมไป
เมื่อไม่มีตัวฉัน ตัวฉันก็หมดไป มีแต่ความป่วยที่คงอยู่ ทำอย่างไรให้ตัวฉันหมดไป ก็เริ่มต้นจากการไม่ยึดมั่นสำคัญหมายว่า ความป่วยเป็นฉัน เป็นของฉัน หรือไม่ปรุงตัวฉันขึ้นมาเป็นเจ้าของของความเจ็บป่วย เป็นผู้ป่วย
เพราะฉะนั้นเมื่อกายป่วย ก็เป็นเรื่องของกายไป ไม่ใช่ฉันป่วย เพราะไม่มีตัวฉันเป็นผู้ป่วยตั้งแต่แรก ทำอย่างนั้นได้ ก็เริ่มจากการฝึกจิต จนมีแต่ความปวดแต่ไม่มีผู้ปวด ถ้าเราเจริญสติก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า มีความปวด ไม่มีผู้ปวด
เหมือนกับที่เราเห็นมีความโกรธแต่ไม่มีผู้โกรธ มีความโกรธแต่ไม่ใช่ฉันโกรธ ต่อไปก็จะทำให้เห็นว่า มีความปวดแต่ไม่มีผู้ปวด กายปวดแต่ใจไม่ปวด ตรงนี้แหละ มันจะทำให้เราได้เข้าใจว่า ความปวดนี้มันเป็นเรื่องของกาย มีความปวด หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าไม่มีผู้ปวดนี้เราทำได้ ตรงนี้จะทำให้เราสามารถที่จะเห็นได้ว่า แม้กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย มีความปวดแต่ไม่มีผู้ปวด
และถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ มันก็จะมีแต่ความตาย ไม่มีผู้ตาย เมื่อเราเห็นความจริงตรงนี้ที่ว่า มันมีแต่ความตาย ไม่มีผู้ตาย มันก็ไม่มีความกลัวตาย มันไม่มีความอาลัยในสังขาร อันนี้คือการปล่อยวางขั้นสำคัญที่สุด ซึ่งจะช่วยทำให้ความเจ็บป่วยหรือความเจ็บปวดไม่สามารถจะบีบคั้นจิตใจได้
อันนี้ชี้ให้เห็นว่า แทนที่เราจะกำจัดความเจ็บป่วย ก็มาทำให้ตัวฉันนั้นหายไป มีความป่วย จะไม่มีตัวฉันที่เจ็บป่วย
สรุป การยอมรับความเจ็บป่วยด้วยใจปล่อยวาง เริ่มต้นตั้งแต่การปล่อยวางความคิดว่า มันไม่แฟร์ ไม่น่า ไม่ควร แล้วก็ปล่อยวางอนาคตอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด ปล่อยวางความอยากหาย หรือความคาดหวังทั้งของตนเองและของผู้อื่น ปล่อยวางอดีต รู้จักให้อภัยตัวเองและผู้อื่นด้วย ปล่อยวางตัวตนเก่าๆและอัตลักษณ์เดิมๆที่เคยมี ปล่อยวางความโกรธ ปล่อยวางความเจ็บปวดและทุกขเวทนา และสุดท้ายปล่อยวางร่างกายนี้ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ของเรา
ที่อาตมาพูดมาทั้งหมดนี้ พูดสำหรับคนป่วยซึ่งสนใจจะปล่อยวางอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเป็นผู้ดูแลรักษา ไม่ควรเอาคำแนะนำเหล่านี้ ไปบอกผู้ป่วยให้ปล่อยวางๆ จะกลายเป็นการสั่งสอน หรือยัดเยียด
หากควรช่วยเขาด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับเขา เช่นแทนที่จะบอกให้เขาปล่อยวางความโกรธ ก็ควรช่วยลดความโกรธด้วยการทำให้เขารู้สึกว่า เขายังมีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์บางอย่างได้ เช่น บางคนโกรธเพราะช่วยตัวเองไม่ได้ ก็ทำให้เขามีโอกาสที่จะควบคุมบางเรื่องบางอย่างได้ เช่น ควบคุมเรื่องอาหารเวลาเข้าเยี่ยม
คนไข้ที่เขายังรู้สึกว่าเขายังสามารถควบคุมอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับตัวเขาได้ เช่น อาหาร หรือเวลาเข้าเยี่ยม มันก็จะช่วยทำให้เขาคลายความโกรธเพราะช่วยตัวเองไม่ได้เลยสักอย่าง อันนี้เป็นวิธีการที่ผู้ดูแลจะช่วยเขาได้
หรือจะให้เขาปล่อยวางความรู้สึกผิด อันนี้มันก็ยาก แต่ว่าถ้าช่วยสร้างโอกาสแนะนำให้เขาได้ปล่อยวางความรู้สึกผิด เช่น ชวนเขาทำบังสุกุล หรือว่าแผ่เมตตา หรือขออโหสิกรรม อันนี้ก็ช่วยเขาได้เหมือนกัน.
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต วันที่ 30 ตุลาคม 2564 (บรรยายผ่านzoom รายการธรรมะรักษาความป่วยไข้ได้จริงหรือ)