แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คืนนี้เป็นวันพิเศษของผู้คนจำนวนมากเรียกว่าทั้งประเทศเลยทีเดียว หลายคนก็รอวันนี้รอคืนนี้ ความพิเศษของวันนี้คือพระจันทร์เต็มดวง พระจันทร์สุกสว่าง ผู้คนจำนวนมากเห็นแล้วก็รู้สึกยินดีปรีเปรมมีความสุข จะรู้สึกเบิกบานแจ่มใสเพราะว่าไม่ง่ายที่จะเห็นพระจันทร์สุกสว่างเรืองรองอย่างชัดเจน
ที่จริงความสุกสว่างของดวงจันทร์เป็นสิ่งที่มีความหมายต่อผู้คนจำนวนมาก แล้วก็เป็นธรรมดาที่เราก็อยากจะให้ความสุกสว่างของดวงจันทร์ปรากฏแก่เราอยู่บ่อยๆ บางคนถึงกับอยากจะให้มีอย่างนี้ทุกคืนเลย แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าพอวันเวลาเคลื่อนคล้อย ดวงจันทร์ก็แปรเปลี่ยนไป ผ่านไป 15 วันก็กลายเป็นคืนเดือนมืดแล้วไม่ใช่เป็นคืนเดือนเพ็ญ
แต่ที่จริงแล้วความสุกสว่าง เราไม่ต้องรอจากพระจันทร์ ในใจเรานี้ก็สามารถที่จะสุกสว่างได้ ดวงจิตที่สว่างอันนี้เป็นสิ่งที่สามารถที่จะเกิดกับเราได้แล้วก็ดีกว่าดวงจันทร์ที่สุกสว่างในคืนเดือนเพ็ญด้วยซ้ำ เพราะว่าพระจันทร์เต็ม มันก็มีไม่บ่อย เดือนหนึ่งก็มีแค่ครั้งเดียว แล้วก็บางเดือนก็อาจจะไม่เห็นด้วยซ้ำ พระจันทร์ที่สุกสว่างอย่างค่ำคืนนี้
แต่ว่าใจที่สุกสว่าง สามารถจะเกิดขึ้นได้กับเราทุกเวลา แล้วก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกว่าเป็นวันไหนหรือเดือนไหน ถ้าดวงใจของเราสุกสว่าง ความรู้สึกอย่างที่เรามีในคืนนี้คือมีความยินดีปรีเปรมความสุขความเบิกบานเช่นนี้ มันจะยิ่งชัดเจนยิ่งกว่าที่ได้เห็นพระจันทร์สุขสว่างหรือเห็นพระจันทร์เต็มดวงด้วยซ้ำ
เมื่อเราเห็นพระจันทร์เต็มดวงแล้ว ก็อย่าลืมว่าดวงใจเราหรือจิตใจของเรา มันก็สามารถที่จะสุกสว่างได้ยิ่งกว่าด้วยซ้ำ ไม่ต้องรอความสว่างเรืองจากดวงจันทร์ เราสามารถที่จะประสบสัมผัสได้ที่ใจของเรา สุขเพียงใดที่ได้เห็นพระจันทร์เต็มดวงมันเทียบไม่ได้กับความสุขที่เกิดขึ้นเมื่อใจของเราสุกสว่าง สุกสว่างเพราะว่า
ประการแรก เรามีความรู้สึกตัว ถ้าเรามีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ใจเราก็จะสว่างเลย เราจะรู้สึกถึงความปลอดโปร่ง ผ่องใสเบิกบาน มันเป็นความโปร่งโล่ง ความอิสระ นี้แค่ความรู้สึกตัว แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือการที่มีปัญญา เห็นแจ้งในสัจธรรม ยิ่งเรียกว่าความสว่างเรืองยิ่งมากมายหลายเท่ากว่าความรู้สึกตัว
ปัญญาที่จะเข้าถึงสัจธรรมนี้ อาจจะต้องใช้เวลากว่าจะเกิดขึ้นได้กับใจของเรา ส่วนความรู้สึกตัวเป็นสิ่งที่สามารถที่จะเกิดขึ้นกับเรา หรือว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถจะประสบสัมผัสได้ทุกเวลา เมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแค่ใจเรามาอยู่กับเนื้อกับตัว
ดวงจันทร์ที่สุกสว่างในคืนนี้ อาจจะมีบางช่วงบางเวลาที่มันเหมือนกับว่ามันหายไป ที่จริงไม่ได้หายไป ดวงจันทร์ก็ยังสว่างเรืองอยู่ แต่ที่เราคิดว่ามันหายไป เพราะมีเมฆบดบัง แล้วบางที บางช่วงบางเวลาบางปี เมฆก็หนา จนผู้คนมองไม่เห็นดวงจันทร์ที่เต็มดวง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าดวงจันทร์ไม่ได้สุกสว่าง ดวงจันทร์ก็ยังสุกสว่าง เพียงแต่ว่าถูกบดบังจนบางทีเรานึกว่าดวงจันทร์หายไปเสียแล้ว
ความสุขสว่างในใจของเราเหมือนกัน จะว่าไปแล้วมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ที่เราไม่รู้สึก เป็นเพราะว่ามันมีสิ่งมาบดบัง สิ่งที่บดบังนั้นคืออะไร ก็คือความหลง คือกิเลส อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนั้นประภัสสร แต่ว่าบางครั้งก็มีกิเลสจรเข้ามา ทำให้ความประภัสสรของจิตไม่ปรากฏแก่การรับรู้ของเรา
ความรู้สึกตัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรืออยู่กับเราตลอดเวลาก็ว่าได้ ไม่ต้องไปหาที่ไหน แต่ว่าทำไมบางครั้งเราไม่ได้รู้สึกถึงภาวะที่ว่านี้เลย ก็เพราะความหลง มันเข้ามาครอบงำจิตคล้ายๆกับราหูอมจันทร์เลยพอมาครอบงำจิต มันก็เลยเหมือนกับว่า ด้านในมันมืด ที่จริงมันไม่มืดหรอก ความรู้สึกตัวก็ยังคงอยู่ แต่ถูกหลงครอบงำ ถ้าเราเพียงแต่ทำให้ความหลงหายไป ความรู้สึกตัวหรือความสว่างภายในมันก็มาปรากฏแก่เราอีกครั้งหนึ่ง
ความหลง อาจจะหมายถึง การหลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ หรือว่าถูกกิเลสครอบงำ แต่เมื่อใดก็ตามที่จิตหลุดออกมาจากความหลงนั้นได้ หรือว่าความหลงนั้นเลือนหายไป ความสว่างความปลอดโปร่งของจิตก็เกิดขึ้น แล้วเราก็จะรู้สึกถึงความอิสระ ที่จริงแล้วในช่วงค่ำคืนอย่างนี้ จิตของผู้คนถูกครอบงำด้วยความหลงจนมืดมน การที่จะรู้สึกยินดีปรีเปรมเมื่อได้เห็นพระจันทร์เต็มดวง ก็เกิดขึ้นได้ยาก
คนที่จะมีความสุขกับคืนวันเพ็ญอย่างนี้ได้ ก็ต่อเมื่อจิตใจของเขาไม่ถูกครอบงำด้วยความโกรธ ความเศร้า ความเกลียด ความวิตกกังวล ถ้าหากว่าจิตใจของเขาถูกครอบงำด้วยความโศก ความเศร้า ความวิตกกังวลแล้ว พระจันทร์เต็มดวงจะสว่างแค่ไหนจะสวยแค่ไหนมันก็ยากที่จะมีความรู้สึกปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานได้
ธรรมชาติที่อยู่เบื้องหน้าจะสวยงดงามเพียงใด แต่ถ้าใจมัวแต่วิตกกังวลแต่เรื่องการงานหรือว่าเศร้าโศกเสียใจกับความพลัดพรากสูญเสีย ก็ไม่มีทางที่จะรู้สึกดื่มด่ำกับธรรมชาติที่งดงามเบื้องหน้าได้ เราจะรู้สึกดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างเช่นพระจันทร์ที่งดงามเช่นคืนนี้ได้ก็ต่อเมื่อจิตใจเราปลอดโปร่ง ไม่ถูกครอบงำด้วยความโศก ความเศร้า ความวิตกกังวล หรือพูดง่ายๆไม่ถูกความหลงมาครอบงำจิตจนมืดมิด
ผู้คนมีความสุขในคืนนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าธรรมชาติงดงามอย่างเดียว แต่เป็นเพราะว่าจิตใจเขามีความเบิกบานผ่องใส เพราะความวิตกกังวล ความเครียดมันจางหายไป อย่างน้อยก็ชั่วคราว ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของธรรมเนียม พิธีกรรมด้วย ความพิเศษอย่างหนึ่งของคืนนี้นอกจากพระจันทร์เต็มดวงแล้วก็คือการที่ผู้คนได้ทำกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งเป็นความพิเศษปีละครั้ง นั่นก็คือการลอยกระทง
ลอยกระทง ความหมายหนึ่งคือ การลอยความทุกข์ลอยความโศกให้มันไหลไปตามกระแสน้ำ คนเราถ้ารู้สึกว่าความทุกข์ความโศกความเศร้ามันไหลลอยไปตามกระแสน้ำ มันก็เกิดความหวัง แล้วก็เกิดความรู้สึกผ่องใสขึ้นมา จิตใจก็เหมือนกับว่า วางความทุกข์ วางความหนักอึ้งออกไป พอจิตใจสบายการที่จะชื่นชมดื่มด่ำกับธรรมชาติ พระจันทร์ที่สุกสว่างกลมโต มันก็พลอยให้เกิดความสุขขึ้นมาได้
ทำนองเดียวกัน ใจของเรา เราจะมีความรู้สึกตัว เราจะมีความผ่องใสเบิกบาน เมื่อเรารู้จักสลัดรู้จักวางความหลง หรือจะเรียกว่าปล่อยลอยความหลงให้มันไหลไปกับกาลเวลาก็ได้ ความทุกข์บางครั้งมันก็สามารถที่จะปลดเปลื้องให้เลือนหายไปตามกาลเวลา เหมือนกับที่ผู้คนลอยทุกข์ลอยโศกไปตามกระแสน้ำพร้อมกับกระทง ถ้าเรารู้จักปล่อยหรือปลดความทุกข์ความหม่นหมองออกไปจากใจ มันก็จะช่วยทำให้จิตใจเราเบิกบานผ่องใส และช่วยทำให้ใจกลับมารู้เนื้อรู้ตัว หรืออยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวอีกครั้งหนึ่ง
จะว่าไป ประเพณีพิธีกรรม ถ้าเรามองให้เป็นใช้ให้ถูกมันก็มีประโยชน์ เกิดความมั่นใจหรือเกิดความหวังว่าความทุกข์ความโศกของเรา มันจะเลือนหายไป แต่จะอาศัยพฤติกรรมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการวางใจที่ถูกต้องด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ลอยกระทงแล้วมีความหวังว่า ความทุกข์ ความโศก อุปสรรคปัญหาต่างๆทั้งหลาย มันจะลอยไปตามกระแสน้ำ อันนั้นมันก็เป็นแค่ความหวัง
แต่ถ้าไม่รู้จักปล่อยรู้จักวางออกไปจากใจด้วย จิตก็ยังเป็นทุกข์อยู่ อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมก็มีส่วนช่วย เพราะบางคน การที่จะปล่อยจะวางความทุกข์ความโศกด้วยใจของตัวเอง ด้วยลำพังของใจ อย่างเดียวก็ยาก เพราะว่าไม่ได้ฝึกมา มันต้องอาศัยพิธีกรรมหรือว่าอาศัยรูปแบบอะไรบางอย่าง
เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วเคยเกิดแผ่นดินไหวเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น มีคนตายมากราวครึ่งแสน มีผู้หญิงคนหนึ่งสูญเสียจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่ใช่เฉพาะรถ บ้าน ที่ถูกทำลายไปพร้อมกับแผ่นดินไหวแต่ยังสูญเสียลูกและสามีไปในเหตุการณ์เดียวกันด้วย มีแค่ตัวเธอเท่านั้นที่รอดจากเหตุการณ์นั้นได้ ความสูญเสียครั้งนั้นเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มาก
เวลาผ่านไปหลายปี เธอก็ยังไม่สามารถที่จะคลายความเศร้าโศกจากความสูญเสียในเหตุการณ์นั้นได้ แม้ว่าจะทำบุญให้กับลูกให้กับสามี ทุกปี ทุก 3 ปี ทุก 5 ปี ทุก 7 ปีตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น แต่เธอก็ยังมีความโศกเศร้าอาลัยอยู่ เธอก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เวลาที่ผ่านไปก็ช่วยเยียวยาไม่ได้มาก ความเศร้าโศกเสียใจเพราะสูญเสียทั้งของรักและคนรัก กัดกินใจมาก
จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอได้ข่าวว่ามีวัดแห่งหนึ่งที่เกียวโต เป็นวัดที่อยู่บนภูเขา มีผู้คนจำนวนมากก็ไปที่วัดนี้เพื่อสะเดาะเคราะห์ พิธีสะเดาะเคราะห์ของวัดนี้ก็คือว่าไปที่หน้าผา แล้วเอาจานดินเผาเขียนข้อความที่ก้นจานนั้น เขียนว่าอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเขียนว่าความยากจน ความเจ็บป่วย อุปสรรคในการงานต่างๆอยากให้มันสูญสลายหายไป ก็เขียนใส่ลงไปที่จานทีละแผ่นๆ แล้วก็โยนลงไปในเหวจากหน้าผานั้น
เหมือนกับว่าวิธีที่จะทำให้ความทุกข์หรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์มันดับสูญไป เหมือนกับจานที่ตกลงไปในเหว แล้วก็แตกสลาย คนก็ไปทำอย่างนั้นกันเยอะเธอก็ไปเหมือนกันไปที่วัดแห่งนี้แล้วก็ไปที่หน้าผาแต่แทนที่จานแต่ละจานจะเขียนว่า ความโศกความเศร้า ความเจ็บป่วย ความพิการ ความยากจน ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่คนไม่ประสงค์
เธอกลับเขียนสิ่งที่เธอมีความผูกพัน ทีแรกก็เขียนคำว่ารถที่จานใบแรก ใบที่ 2 ก็เขียนว่าบ้าน ใบที่ 3 เขียนว่าสามี ใบที่ 4 ก็เขียนว่าลูกชาย ประมาณ 4-5 ใบ แล้วก็ไปที่หน้าผา เริ่มต้นจากจานใบแรก ซึ่งเขียนคำว่ารถ เธอก็พูดว่าขอบใจนะที่ได้รับใช้ฉันมาหลายปี ตอนนี้ถึงเวลาที่เจ้าจะไปได้แล้ว ก็โยนลงเหวไป จานที่ 2 บ้าน ขอบใจนะที่ให้ที่คุ้มหัวฉัน ให้ความอบอุ่นแก่ฉันเป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ถึงเวลาที่เจ้าจะไปได้แล้ว แล้วก็โยนลงไปในเหวที่หน้าผา
ใบที่ 3 สามี เธอบอกว่าขอบคุณนะที่ร่วมใช้ชีวิตกันมาหลายปี ฉันก็คิดถึงคุณมาก แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่เธอจะไปได้แล้ว ลาก่อนนะ แล้วก็โยนจานนั้นลงไปที่หน้าผา จานสุดท้ายคือลูกชาย เธอก็ร่ำลาลูกชาย บอกว่าแม่รักลูกมาก แต่ได้เวลาที่ลูกต้องไปแล้ว แล้วก็โยนจานใบสุดท้ายนี้ลงไปในเหว
นับตั้งแต่นั้นมา จิตใจของเธอโปร่งโล่งเลย เหมือนกับว่าได้ปล่อยวาง รถ บ้าน สามี ลูกชาย พิธีกรรมอย่างนี้มันก็ช่วยในการที่จะปล่อยวางสิ่งต่างๆที่เคยรักเคยผูกพัน
อย่างในเมืองไทย คนที่มีความทุกข์ความเศร้าโศก อาจจะรู้สึกผิดกับพ่อแม่ หรืออาจจะมีความทุกข์บางอย่างที่ไม่สามารถปลดเปลื้องออกไปจากใจสักที กัดกินใจมาก พิธีกรรมหนึ่งที่ช่วยได้ ก็คือเขียนสิ่งที่มันกัดกินใจ หรือสิ่งที่รบกวนจิตใจ รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่นติดเหล้าติดบุหรี่ เขียนใส่กระดาษ พระก็ขอบิณฑบาต พอบิณฑบาตเสร็จ เขาก็เขียนใส่กระดาษ แล้วก็หย่อนกระดาษลงไปในบาตร
แล้วพระก็เผากระดาษเหล่านั้น เหมือนกับว่าขอให้สิ่งเลวร้ายเหล่านั้นมันหมดไปจากชีวิตของเขา ของแต่ละคนแต่ละคน ปรากฏว่าหลายคนก็รู้สึกดีขึ้นโดยเฉพาะคนที่มีความรู้สึกผิดกับอะไรบางอย่างซึ่งค้างคาใจกัน บางทีก็ 10 ปี 20 ปี 30 ปี 40 ปีก็มี พยายามปลดเปลื้องเท่าไรก็ไม่สำเร็จ พอมาทำพิธีนี้ พระมาขอบิณฑบาต ทำบังสุกุล แล้วก็เผาเลย จิตใจกลับปลอดโปร่ง
อันนี้ก็เป็นวิธีการปล่อยวาง ปลดเปลื้องสิ่งที่กัดกินใจสิ่งที่เป็นความทุกข์ แต่ว่าเราจะหวังพึ่งแต่พิธีกรรมทำนองนี้ก็ยังไม่พอ เราต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวางหรือว่าลอยความทุกข์ออกไปด้วยใจของเราเอง เพราะว่ามันมีสิ่งที่มาคอยรบกวนจิตใจเราอยู่เรื่อยๆ
การภาวนาก็ดี การเจริญสติก็ดี การทำสมาธิก็ดี มันเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้เราปล่อย มันช่วยทำให้เราวางสิ่งที่รบกวนจิตใจเราได้ ความคิดอกุศล อารมณ์อกุศล มันมักจะมารบกวนจิตใจในยามที่เราเผลอ แต่ถ้าเรามีสติ รู้ทันเมื่อไร มันก็ครองใจเราไม่ได้
อารมณ์อกุศล เช่น ความโกรธ ความเกลียด มันก็เริ่มต้นมาจากความคิดนั่นแหละ ถ้าเราเผลอคิดไป มันก็เลยปรุงอารมณ์เหล่านี้ในจิตใจ ก็ทำให้จิตใจเราขุ่นมัว แต่ถ้าเรามีสติ รู้ทันมัน รู้ทันตั้งแต่มันเริ่มคิดแล้ว หรือว่าเมื่อมันปรุงอารมณ์ขึ้นมา ก็รู้ทันมัน สติช่วยทำให้วาง ช่วยทำให้ปล่อยได้ เพราะเพียงแค่รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ มันก็ทำให้อารมณ์เหล่านั้นจางคลายออกไปจากใจ
หรือว่าเราเพียงแต่ว่าเปลี่ยนความสนใจของจิต จากเดิมที่กำลังจมอยู่ในความคิดลบ อยู่ในอารมณ์ที่เป็นอกุศล ความโกรธ ความเศร้า พอเราหันความสนใจของจิตไปอยู่กับสิ่งอื่น อยู่ที่ลมหายใจ อยู่ที่ความรู้สึกตัวขณะที่กำลังยกมือ ขณะที่สร้างจังหวะ มันก็ทำให้เกิดการวาง การปล่อยได้เหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่ช่วยเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้สิ่งที่มาเป็นเหมือนเมฆ ที่มาบดบังความประภัสสรของจิตมันจางคลายหายไป
เมฆที่มันบดบังดวงจันทร์ที่สุกสว่าง ที่มันเลือนหายไปเพราะว่ากระแสลมพัดพาไป ส่วนความหลงที่มันครอบงำจิต จนกระทั่งไม่เห็นถึงความสุกสว่างของใจเพราะความรู้สึกตัว มันเลือนหายไปได้เมื่อเรามีสติ หรือเมื่อเรารู้จักวางใจเราถูกต้อง
เมื่อเราเอาจิตมากำหนดรู้อยู่กับสิ่งอื่นที่เป็นกลางๆ เช่น ลมหายใจ มือที่เคลื่อนไหว เท้าที่ขยับเขยื้อน มันก็ทำให้เกิดการปล่อยการวางได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าเรามาเจริญสติด้วยแล้ว มันไม่เพียงแต่รู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เป็นอกุศล แต่มันยังช่วยทำให้จิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา
ซึ่งก็เหมือนกับว่าเป็นการขับไล่ความหลงที่มันไปครอบงำบดบังจิตที่สว่างไสว อันนี้คือสิ่งที่เราฝึกได้ถ้าเราฝึกเป็นประจำ เมื่อถึงเวลาที่เราเจอความทุกข์ที่รุนแรง เราก็สามารถจะปลดเปลื้องหรือวางมันได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยพิธีกรรมมาเป็นตัวช่วย หรือถึงจะมีพิธีกรรมเป็นตัวช่วย ก็ยิ่งทำให้มันได้ผลมากขึ้นสำหรับการปล่อยการวาง เพื่อให้ใจกลับมาสว่างด้วยความรู้สึกตัวอีกครั้งหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564