แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในสมัยพุทธกาลมีอุบาสกท่านหนึ่งชื่ออุคคตะ เป็นลูกเศรษฐี บิดาร่ำรวยมาก พอบิดาสิ้นชีวิต ทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็เลยตกเป็นของอุคคตะ ก็เลยกลายเป็นเศรษฐีอีกคนหนึ่งมีชื่อเรียกว่าอุคคตคฤหบดี อุคคตคฤหบดีพอได้ทรัพย์มา ก็ใช้ทรัพย์นั้นเพื่อการปรนเปรอตัวเองอย่างเต็มที่เลย
อาจจะเรียกว่าเป็นคนที่เกิดมาสบาย แล้วก็ไม่รู้จักความสุขอย่างอื่นนอกจากความสุขจากการเสพ การกินการดื่ม การเที่ยวกันเล่น ยิ่งได้ทรัพย์มาก็ใช้ในการบำรุงบำเรอ ตน มีหญิงมาฟ้อนรำให้ความเพลิดเพลินแก่ตน มีการกินการดื่ม สุราขาดไม่ได้ เรียกว่าเพลินอยู่กับการละเล่น การดูฟ้อนรำความบันเทิง และก็การเสพสุราวันแล้ววันเล่า เรียกว่าจนเมาอยู่เป็นนิจ
วันหนึ่งก็ออกไปเที่ยวข้างนอกทั้งที่ยังเมาอยู่ ก็บังเอิญไปพบพระพุทธเจ้า ด้วยความละอาย อุคคตะสร่างเมา หายเมาเป็นปลิดทิ้งเลย พระพุทธเจ้าก็เลยเห็นเป็นโอกาสแสดงธรรมที่ว่า อนุปุพพิกถา เป็นธรรมที่พูดถึง การให้ทาน การรักษาศีล และอานิสงส์จากการทำความดีดังกล่าว ได้รับความสุข เหมือนกับอยู่ในสวรรค์
แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็ชี้ให้เห็นโทษของความสุขอย่างนี้ ก็น้อมให้จิตสู่ความยินดีในเนกขัมมะ การปลอดจากกาม จากนั้นก็ตรัสเรื่องอริยสัจ 4 ก็เป็นเทศนากัณฑ์เดียวกับที่ทรงแสดงให้กับยสกุลบุตร จนกระทั่งยสกุลบุตรได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
แต่ว่าอุคคตคฤหบดี ทั้งๆที่เพิ่งสร่างเมา แต่พอได้ฟังธรรม ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีเลย เร็วมาก ได้เป็นพระอริยเจ้า ทั้งๆที่เมื่อสักครู่ยังเมาอยู่ แต่ว่าความเมาไม่ได้ทำให้บรรลุธรรม ที่บรรลุธรรมเพราะว่ามีความรู้สึกตัว รู้สึกตัวเพราะอะไร เพราะสร่างเมาสร่างเมา เพราะมีความละอาย อันนี้เรียกว่าถึงแม้เมาก็ยังไม่สายที่จะเห็นธรรมะ เข้าใจธรรมะได้
ถ้าหากว่ามีความรู้สึกตัว มีสติ อันนี้เรียกว่าความรู้สึกตัวสติเป็นประตูสู่ธรรมขั้นสูง ไม่ว่าจะเคยทำอะไรมาก่อน บางคนอาจจะไม่ได้เมา แต่ว่าอาจจะมีความเศร้าโศก มีความเสียใจ มีความคับแค้นใจ แต่ว่าพอได้สติ มีความรู้สึกตัว จิตก็เปิด พร้อมที่จะซึมซับรับธรรมะ จนเกิดปัญญาได้
พออุคคตคฤหบดีได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีแล้วชีวิตก็เปลี่ยนเลย เลิกเลย การปรนเปรอด้วยทรัพย์ด้วยกาม ทรัพย์สมบัติที่มีก็แจกจ่ายไปให้กับภรรยาแล้วก็หญิงที่ตัวเองจ้างมาฟ้อนรำบำเรอตน แต่ก็ไม่ได้แจกจ่ายหมด ก็มีทรัพย์จำนวนหนึ่งที่จำนวนมากทีเดียว แต่ทรัพย์นี้ไม่ได้ใช้เพื่อการเลี้ยงตัวให้มีความสุขอย่างที่เคย สุขในที่นี้คือกามสุข
แต่ว่าใช้ทรัพย์นี้เพื่อถวายทาน ถวายทานกับพระภิกษุสงฆ์อย่างจริงจังเลย รู้แล้วว่าทรัพย์ไม่ได้มีไว้เพื่อบำรุงบำเรอตนอย่างเดียวแต่สามารถที่จะเลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุขและก็สามารถจะเกื้อกูลต่อส่วนรวมต่อการบำรุงพระศาสนา บำรุงพระสงฆ์ได้ไม่ว่าเป็นพระรูปใด อุคคตคฤหบดีก็ถวายทานด้วยใจที่ยินดีสม่ำเสมอ ไม่เลือกหน้า
มีคราวหนึ่ง มีเทวดามาบอกอุคคตคฤหบดีว่า พระรูปนี้ได้วิชชา 3 นะ พระรูปนี้ได้อภิญญา 6 นะ พระรูปนี้ก็ไม่ได้มีคุณวิเศษอะไรเลย พระรูปนี้ทุศีลด้วย แต่ว่าอุคคตคฤหบดีไม่สนใจ ก็ยังพอใจที่จะให้ทานด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ลำเอียง จิตใจให้ด้วยความรู้สึกสม่ำเสมอ ไม่เลือกหน้า หมายความว่าจะเป็นพระที่มีคุณวิเศษ เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระ วิชชา 3 มีอภิญญา 6 หรือว่าเป็นพระปุถุชน ก็ให้เสมอกัน ไม่ได้มีความรู้สึกลำเอียง หรือว่าเลือกหน้า
อันนี้เป็นคุณสมบัติของผู้ให้ทานที่พึงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง มีคนจำนวนไม่น้อย เวลาจะให้ทาน ก็จะเลือกว่า พระรูปนี้เป็นพระอริยเจ้าไหม มีคุณธรรมขั้นสูงไหม ถ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยเจ้าก็ยินดีให้ถวายทาน พระที่มีคุณวิเศษ หรือมีอภิญญาก็กระตือรือร้นที่จะถวาย แต่ถ้าเป็นพระปุถุชน ธรรมดา ไม่สนใจ หรือถวายก็ถวายไปอย่างนั้นๆ จิตใจไม่สม่ำเสมอ
บางทีถวายทานกับพระอรหันต์ พระอริยเจ้า จิตใจก็ฟูฟ่องแต่พอถวายกับพระธรรมดา ปุถุชน จิตใจก็ไม่ได้ยินดีมาก บางทีหม่นหมองด้วย เพราะรู้สึกว่าเสียดาย น่าจะถวายกับพระอรหันต์มากกว่า อันนี้ไม่ถูก ถ้าจะบำเพ็ญทาน ก็ควรทำด้วยใจที่เป็นกลาง อย่างอุคคตคฤหบดี ไม่ลำเอียง จะถวายพระอรหันต์หรือว่าพระปุถุชน ก็มีความยินดีเท่าเทียมกัน ไม่รู้สึกหม่นหมองว่าองค์นี้เป็นปุถุชนถวายแล้วได้บุญน้อยกว่าถวายกับพระอรหันต์
มีคนจำนวนมากคิดแบบนี้ไล่ล่าตามหาพระอรหันต์ เพราะเชื่อว่าถวายแล้วจะได้บุญมากกว่าถวายพระปุถุชน เพราะฉะนั้น ก็เรียกว่าจิตใจก็ไม่ยินดี เวลาถวายกับพระปุถุชนธรรมดา ที่จริงอุคคตคฤหบดี แม้กระทั่งพระทุศีลท่านก็ถวายด้วยใจที่เป็นกลาง มีความยินดีเท่าเทียมกับที่ถวายกับพระอรหันต์ บางคนก็อาจจะสงสัยว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ถวายพระอรหันต์ก็ได้บุญมากกว่าถวายกับพระทุศีล
แต่อุคคตคฤหบดี เรียกว่าถวายด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ได้หวังอะไรเลย ไม่ได้หวังว่าทำแล้วจะได้บุญมากกว่า หรือว่าทำแล้วจะได้บุญเยอะๆ แต่มุ่งที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลกับผู้ที่ได้รับ แม้ว่าจะเป็นพระทุศีลแต่ว่าถ้าหากว่าได้รับการอุปถัมภ์ดูแลดีๆก็อาจจะกลายเป็นพระที่มีความใส่ใจในการศึกษาได้
ครูบาอาจารย์หลายท่าน ประวัติของท่านตอนที่ยังบวชใหม่ๆ บางทีก็เกเร ไม่ได้สนใจว่าบวชเพื่ออะไร แต่ภายหลังได้รับการดูแล ได้รับการเอาใจใส่ ได้รับการสั่งสอน ก็กลายเป็นพระที่ดี แล้วก็กลายเป็นครูบาอาจารย์ที่มีคนเคารพนับถือ พระปุถุชนก็เหมือนกันถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้มีคุณวิเศษอย่างพระอรหันต์แต่ถ้าว่าท่านได้รับการเอาใจใส่ ได้รับคำแนะนำ ท่านก็จะสามารถพัฒนาตนได้
อุคคตคฤหบดี แม้กระทั่งพระทุศีล ท่านก็ถวายด้วยใจที่ยินดีเท่าเทียมหรือว่าเท่าๆกับถวายพระอรหันต์ส่วนหนึ่งท่านก็มองว่าการถวายทานเป็นหน้าที่ของเรา ส่วนคนอื่นเขาจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของเขาเราทำดีเสมอหน้ากัน ส่วนคนอื่นเขาจะทำดีหรือไม่เป็นเรื่องของเขา เขาทำดีเขาก็ได้อานิสงส์เอง เขาทำไม่ดีเขาก็ต้องรับวิบากกรรมเอง เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา
เรื่องของเราหน้าที่ของเราคือทำความดีด้วยการบำเพ็ญทาน ถวายกับพระภิกษุสงฆ์โดยไม่เลือกหน้า และที่จริงอุคคตคฤหบดี ท่านก็มองพระทุศีลในแง่ดีด้วย เวลามีเทวดามาแนะนำว่าพระรูปนี้ไม่ดี เป็นพระทุศีล ท่านก็ไม่สนใจความไม่ดีหรือความผิดพลาดของพระเหล่านั้น แต่ว่าท่านจะมองเห็นแต่ความดี แล้วก็สรรเสริญแต่ความดีของพระเหล่านั้น
อันนี้ก็ทำให้ท่านไม่ได้มีความรู้สึกเป็นทุกข์กับการถวายทานให้กับพระทุศีล ใจก็ยังมีความยินดี เพราะถือว่าได้ทำดีแล้ว ส่วนคนอื่นเขาจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของเขา อันนี้ก็เป็นการวางใจที่ญาติโยมฆราวาสทั่วไปผู้ใฝ่บำเพ็ญทานก็พึงปฏิบัติตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นปุถุชน ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามี
อย่างอุคคตคฤหบดี ด้วยคุณสมบัติแบบนี้ คือการถวายทานด้วยใจที่เป็นกลางไม่ลำเอียง มีจิตสม่ำเสมอ ไม่เลือกหน้า ถวายทานด้วยความยินดีเท่าเทียมกัน ก็ทำให้ท่านได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะในด้านการอุปถัมภ์พระสงฆ์ อันนี้ก็เป็นเรื่องของคฤหบดีที่น่าจะพิจารณา ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันพระ.
- วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564