แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้พูดถึงความนิ่งของกบว่า เป็นแบบอย่างของนักปฏิบัตินักภาวนา อาจารย์บางท่านก็เปรียบว่าผู้ที่เข้าถึงธรรมก็จะมีความนิ่งไม่ต่างจากกบ
ความนิ่งของกบ เป็นความนิ่งที่พร้อมจะทำงาน เวลาแมลงบินผ่าน มันก็จะแลบลิ้นตวัดเอาแมลงใส่ปากมัน แล้วก็นิ่งต่อไป มันเป็นความนิ่งที่ไม่ได้หลับแต่ว่าตื่นตลอดเวลา นักภาวนาหรือว่านักปฏิบัติธรรมก็ควรมีความนิ่งแบบนั้น ก็คือว่าแม้ว่าใจจะนิ่งหรือสงบแต่ว่าตื่นอยู่เสมอ
ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า นักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก เวลาใจสงบ หรือใจนิ่งเป็นสมาธิแล้ว บางครั้งจิตไม่ตื่น จิตหลับ ก็คือ เพลินในความสงบ มีอะไรเกิดขึ้นไม่ว่าในใจหรือข้างนอก ก็ไม่รู้ทัน หรือว่าไม่รู้ทันท่วงที อย่างเราอาจจะสังเกตจากตัวเองก็ได้ บางครั้งที่ใจสงบ อาจจะเพราะกำลังนั่งสมาธิอยู่ บางทีเสียงโทรศัพท์ดังมา หรือเสียงบานหน้าต่างที่มันปิดกระแทก หรือเสียงมอเตอร์ไซค์แผดก้อง ตกใจเลย บางครั้งเสียงกิ่งไม้ตกลงมากระทบหลังคา สะดุ้งเลย ทั้งๆที่เมื่อกี้นี้ยังสงบอยู่เลย
อย่างนี้เรียกว่านิ่งหรือสงบก็จริง แต่ว่าจิตมันหลับ มันไม่ตื่น จะเรียกว่ามีสมาธิ แต่ขาดสติก็ได้ หรือว่าขาดความรู้สึกตัว เพราะถ้ามีรู้สึกตัวและมีสติ จิตมันจะตื่น สงบก็จริง แต่ว่ายังไวต่อการรับรู้ รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีเสียงมากระทบ มันไม่ใช่เฉพาะเวลาสงบขณะที่นั่งสมาธิ บางทีอาจจะมีความสงบระหว่างที่สวดมนต์ หรือฟังธรรมะก็ได้
บางคนพอได้สวดมนต์ ก็สงบ เวลาได้ฟังธรรมะ ก็ไม่มีเรื่องรบกวนรำคาญใจ มันก็เพลิน จะเรียกว่าเกิดสมาธิก็ได้ แต่จู่ๆก็มีคนตะโกนเรียก หรือว่ามีเสียงดังมากระทบ รวมทั้งอาจจะมีเสียงโทรศัพท์ดัง เกิดความหงุดหงิดขึ้นมาเลย เกิดความไม่พอใจขึ้นมาเลย หรืออาจจะมีคนมาเรียก มีธุระ มาขัดจังหวะการสวดมนต์ มาจังหวะการฟังธรรม หรือว่ามาขัดจังหวะการนั่งสมาธิ ยังไม่เสร็จเลย มารบกวนเสียแล้ว หงุดหงิดโมโห ความสงบก็เปลี่ยนกลายมาเป็นความรุ่มร้อน ความหงุดหงิดหรือความตกใจ
มันเป็นตัวบ่งชี้ว่า ตอนที่จิตสงบ จิตนิ่ง มันไม่มีความตื่น พอเกิดสมาธิแล้ว จิตก็หลับเลย หลับตัวนี้เขาเรียกว่าหลง ตัวเองตื่นอยู่ แต่ว่าจิตมันหลับ คือไม่ตื่น คือไม่รู้สึกตัว ไม่มีความตื่นรู้ อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักปฏิบัติหรือว่าคนทั่วไปก็ตาม มันเป็นความนิ่งที่ไม่ได้ควบคู่ไปกับความตื่นรู้ หรือความรู้ตัว ซึ่งก็ทำให้อารมณ์อกุศลสามารถจะจู่โจมครอบงำได้ง่ายเวลามีผัสสะหรือมีอะไรมากระทบขึ้นมา
มีภาพวาดแบบเซน คือวาดด้วยพู่กันที่เขียนหนังสือ ภาพนั้นเป็นภาพเสือตัวใหญ่ กำลังนอนหลับ หลับตาพริ้มเลย ข้างๆมีชายคนหนึ่ง นั่งอยู่ แล้วก็หลับตาไปด้วย เอาหัวมาเกยอยู่กับตัวของเสือเลย อันนี้เป็นภาพปริศนาธรรม ให้ตีความ เขากำลังบอกอะไร
อันนี้อาจจะบอกสภาวะจิตของปฏิบัติธรรมด้วย ผู้ปฏิบัติธรรมหรือนักภาวนาจำนวนไม่น้อยเลย เสือเปรียบเหมือนกิเลส ส่วนผู้ชายคนนั้นก็เปรียบเหมือนกับจิต คนจำนวนไม่น้อย พอกิเลสมันหลับ อาจจะเพราะทำสมาธิอยู่ พอนั่งทำสมาธิ กิเลสก็หลับ ตัวโลภะ ตัวโทสะ มันหลับ จิตก็พลอยหลับไปด้วย จิตไม่ตื่นรู้ อันนี้มันก็ไม่เป็นอันตรายหรือเกิดผลเสียอะไร
แต่ปัญหาคือ ถ้าเกิดเสือมันตื่นมา แล้วถ้าชายคนนั้นยังหลับอยู่ จะเกิดอะไรขึ้น ก็โดนเสือขย้ำ อันนี้ท่านก็เปรียบเหมือนกับว่า นักปฏิบัติถ้าเกิดว่าในช่วงที่เกิดสมาธิเพราะกิเลสมันหลับ ที่มันหลับเพราะไม่ไปรับรู้สิ่งที่มากระตุ้นให้กิเลสมันตื่น ไม่มีการรับรู้ที่ทำให้เกิดโลภะ เกิดโทสะ เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ เพราะตอนนั้นจิตไปรับรู้สิ่งอื่นแทน เช่น ไปอยู่กับลมหายใจ ไปอยู่กับเสียงสวดมนต์ ไปอยู่กับเสียงบรรยายธรรมะ
หลายคน ตอนนั้นกิเลสมันสงบ มันก็เกิดความสบาย แต่ปัญหาก็คือจิตมันก็พลอยหลับตามไปด้วย ไม่ใช่กิเลสหลับอย่างเดียวจิตมันก็หลับคือมันไม่ตื่น ถึงเวลาที่มีอะไรมากระตุกกระตุ้นให้เสือมันตื่นขึ้นมา แต่จิตยังหลับอยู่ อันนี้เดือดร้อนเลย
กำลังนั่งสมาธิอยู่ แล้วมีเสียงดังมากระทบ คนมารบกวน เกิดความโกรธขึ้นมาเลย โกรธแล้ว โดนความโกรธมันเล่นงาน ทำให้บางทีก็ลุกไปด่า ลุกไปว่า อย่างนี้ก็เปรียบเหมือนกับเสือตื่นแล้วแต่ชายคนนั้นยังหลับอยู่ เสือก็เลยไปเล่นงาน ชายคนนั้นก็เหมือนกับว่ากิเลสเข้าไปเล่นงานจิตที่ยังไม่ทันตื่น หรือว่าตื่นไม่ทัน
อันนี้เกิดขึ้นกับผู้คนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะเป็นนักปฏิบัติที่มาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม อย่างหลายคนช่วงที่มาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม จิตมันสงบ แต่พอกลับไปบ้านเจอปัญหาเดิมๆ หรือว่าเจอเสียงดังของคนในบ้าน คุยกันเรื่อยเปื่อย แค่เสียงคุยก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ พอเกิดความรำคาญใจแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะบ่นว่าคนที่บ้าน จนกระทั่งคนในบ้านสังเกตได้เลยว่า ทุกครั้งที่แม่กลับมาจากคอร์สปฏิบัติธรรม เตรียมตัวรับมือกับพายุอารมณ์หรือว่าคำต่อว่าของแม่ได้ ที่เขาเรียกว่างานเข้า
พอแม่กลับจากคอร์สทีไรงานเข้าทุกทีเลย จนกระทั่งเขาสงสัยว่า ทำไมเวลากลับมาจากคอร์สกลับมาจากการปฏิบัติธรรม แม่เป็นอย่างนี้ หรือบางทีพ่อเป็น แม่ไม่ได้เป็นเพราะแม่ไม่ได้เข้าคอร์ส พ่อเข้าคอร์ส กลับมา ก็จะเทศน์เป็นชุดเลย ตอนที่ยังไม่ไปก็แค่ว่า แต่พอไปแล้วกลับมานี่เทศน์ยาว เพราะอารมณ์ไม่ดีเพราะมีความหงุดหงิดกับคนในบ้าน
หรือบางคนยังไม่ทันกลับบ้านคนที่ไม่ทัน อย่างผู้ชายคนหนึ่ง นั่งสมาธิตลอดทั้งวัน จากคอร์สระยะสั้น 1 วัน วันอาทิตย์ ตอนที่ปฏิบัติอยู่ในห้องแอร์เย็น ไม่มีเสียงรบกวนสงบ ใครๆก็ปฏิบัติเหมือนกัน นั่งเหมือนกัน เดินเหมือนกัน ใจก็สงบได้ง่ายเป็นสมาธิได้เร็ว พอปิดคอร์สตอนเย็น จะเดินไปที่รถที่จอดอยู่เตรียมจะกลับบ้าน แต่พอเห็นรถของตัว เกิดความหงุดหงิดขึ้นมาเพราะรถออกไม่ได้ ข้างหน้าข้างหลังก็มีรถจอดอยู่ ข้างๆก็มีรถจอดซ้อนอยู่ โมโห บันดาลโทสะตะโกนด่าเจ้าของรถที่มาจอดซ้อน
คนที่เห็นเหตุการณ์ก็งงเลยว่า เอ๊ะ ทำไมเพิ่งปฏิบัติธรรมมาหยกๆ ทำไมจึงมีอาการหรือพฤติกรรมแบบนี้ ขนาดคนที่เขาไม่ปฏิบัติธรรมยังไม่แสดงอาการรุนแรงอย่างนี้เลย อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าสงบก็จริง แต่ว่าสงบแบบจิตหลับ กิเลสมันสงบ กิเลสมันหลับ จิตก็หลับไปด้วย แต่พอกิเลสถูกปลุกขึ้นมาจากเสียงที่มากระทบ จากภาพที่เห็น เกิดความไม่พอใจ เกิดความหงุดหงิด เกิดความโกรธขึ้นมา จิตมันยังหลับอยู่ มันก็เลยมาครอบงำจิต สั่งให้จิตด่าสั่งให้จิตว่า แต่ถ้าเกิดว่าจิตตื่น ไม่ได้หลับไปด้วย มันจะไม่เป็นอย่างนั้น
เหมือนกับเสือตื่น พอเสือตื่นขึ้นมาชายคนนั้นก็ตื่นตามไปด้วย อันที่จริงไม่ได้หลับเลยตื่นตลอดแม้ว่าจะเสือจะหลับก็ตาม พอเสือตื่น ชายคนนั้นก็รู้แล้วว่าเตรียมถอยห่างเตรียมป้องกันไม่ให้เสือมาขย้ำทำร้าย เสือมาทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าชายคนนั้นตื่นตลอดเวลา
ในทำนองเดียวกัน กิเลสมันก็ทำอะไรกับจิตไม่ได้ เพราะจิตมันมีความตื่นรู้ รู้ทัน สงบก็จริงแต่ว่ามีความรู้ตัว มีความตื่นรู้ เพราะฉะนั้น เวลามีกิเลสเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด ความขุ่นมัว ความโกรธก็ไม่ปล่อยให้มันมาครอบงำจิตได้ อันนี้คือสิ่งที่ขาดหายไปจากการปฏิบัติของคนจำนวนมากที่มุ่งหวังความสงบ มุ่งหวังสมาธิ แต่ว่าไม่ได้เรียนรู้วิธีที่จะทำให้จิตมันตื่นอยู่ตลอดเวลา จิตตื่นได้เพราะอะไร เพราะว่ามีความรู้สึกตัว แม้กิเลสจะหลับ แม้ว่าจะเกิดความสงบขึ้น แต่ว่าก็รู้ตัว
รู้ตัวคือไม่เพลินไปกับความสงบ ไม่ไปดื่มด่ำกับความสงบ อันนี้เรียกว่าสงบก็รู้ เมื่อสงบก็รู้ พอไม่สงบก็รู้เหมือนกัน พอกิเลสรบกวน หรือว่ากิเลสตื่นขึ้นมา ก็รู้ รู้แล้วก็ไม่ยอมให้กิเลสมาครอบงำจิต และที่จริงเพียงแค่รู้ว่า มีกิเลสโผล่ขึ้นมา เท่านี้ก็มากพอที่จะสงบกิเลสได้ หมายความว่าพอมีความหงุดหงิดเกิดขึ้น เพราะมีอะไรมากระทบก็ตาม ทางตา ทางหู ทางลิ้น ทางกาย ทางจมูก ก็รู้ทัน พอรู้ทันมันก็จะดับไป
มันต่างจากเสือ เสือต้องสู้กับมัน หรือว่าต้องคอยหลบหลีกมัน จึงจะปลอดภัย แต่ว่าตัวกิเลสที่มันถูกปลุกขึ้นมา เพียงแค่รู้ทันมัน มันก็หมดพิษสงไปไม่ใช่ว่าไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีความโกรธเกิดขึ้น แต่ว่ารู้ทันมัน พอรู้ทันก็ดับ พอดับแล้วก็ไม่สามารถที่จะบงการจิตให้ตะโกนด่า ให้โวยวาย ให้ตีโพยตีพาย อันนี้แหละคือสิ่งที่เราสามารถที่จะศึกษา หรือว่าเรียนรู้จากกบได้ กบนั้นมันดูเหมือนหลับมันนิ่ง แต่มันไม่หลับ มันตื่น เป็นความตื่นท่ามกลางหรือควบคู่กับความนิ่ง ควบคู่กับความสงบ
ถ้าเราปรารถนาความสงบ ก็อย่าลืมที่จะเห็นความสำคัญของความตื่น ของความรู้ตัวขึ้น การเจริญสติมันเป็นวิธีที่จะช่วยทำให้เรามีความรู้ตัว ควบคู่กับไปกับความสงบ เป็นความสงบที่เกิดจากการรู้ มันไม่ใช่แค่รู้อารมณ์ที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส แต่มันยังรู้เวลามีอารมณ์ มีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้น รู้แล้วไม่โจนเข้าไป ไม่เข้าไปเป็น ความหงุดหงิดเกิดขึ้น ก็เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน ไม่เป็นผู้โกรธ มีความเศร้าเกิดขึ้น ก็เห็นมัน ไม่เป็นผู้เศร้า
นอกจากจะไม่ปล่อยใจเผลอคล้อยตามหรืออยู่ในอำนาจของมันแล้ว ก็ยังไม่ไปผลักไสมันด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามีสติ ความรู้ตัวก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เวลาใจไหลไปตามความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ พอมีสติรู้ทัน จิตก็ถอนออกมาจากอารมณ์นั้น แล้วก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา พอมีความรู้สึกตัวขึ้นมา ก็เรียกว่าตอนนั้นจิตนี้ปลอดภัยแล้ว ปลอดภัยจากความทุกข์ ปลอดภัยจากอารมณ์ที่จะคอยมารบกวน หรือว่าปลุกปั่นให้เกิดความทุกข์ตามมา
จะเรียกว่าความรู้สึกตัวเป็นแดนที่ปลอดภัยของจิต เป็นแดนที่ปลอดภัย ตรงข้ามกับความหลง ไม่ว่าหลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งพึงปรารถนา เช่นความดีใจ ความสงบ หรือว่าความเคลิ้ม มันก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่ดี เพราะว่าขึ้นชื่อว่าความหลงแล้วแม้ว่าจะหลงดีใจ หรือหลงในความสงบ มันก็สามารถที่จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ เกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุในรถยนต์ หรือในห้องน้ำ
บางครั้งเกิดขึ้นจากใจที่มันหลง มันเพลินในความคิดบางอย่าง อาจจะเป็นเรื่องราวในอดีตที่น่าพึงพอใจ ความสุขในวัยเยาว์วันวานอันหวานชื่น พอเพลินไปแล้วก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัวไม่ระมัดระวัง ก้าวเดินก็อาจจะก้าวพลาดลื่นหกล้มหัวกระแทกพื้น แล้วก็ไม่เห็นคนข้างหน้า ไม่เห็นรถที่กำลังสวนมา อันนี้เพราะความหลง แม้ว่าจะหลงดีใจก็ตาม ไม่ต้องพูดถึงหลงโกรธหลงเศร้า
ถ้าเรามีความรู้สึกตัวอยู่ในใจ หรือว่าถ้าใจของเราอยู่ในแดนของความรู้สึกตัว มันก็จะปลอดภัย ปลอดโปร่ง เป็นอิสระจากอารมณ์และความทุกข์ แต่ว่าความรู้สึกตัวจะเกิดขึ้นได้มันต้องอาศัยสติ สติเป็นตัวที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวเตือนให้รู้ว่า มันมีความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกใดๆเกิดขึ้น ไม่ว่ากับกายก็ดี กับใจก็ดี พอรู้แล้ว พอมีสติเป็นตัวเตือนแล้ว มันก็ทำให้ไม่พลัดเข้าไปในอารมณ์เหล่านั้น หรือถึงพลัดเข้าไปก็มีสติเป็นตัวดึงออกมา พาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นการเจริญสติ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะช่วยทำให้จิตเราเกิดความสงบ ควบคู่ไปกับความตื่นรู้ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ เจริญสติถ้าจับหลักได้ มันก็ทำได้ทั้งวัน มันไม่ใช่ว่าต้องมาเข้าคอร์ส ไม่จำเป็นต้องมาทำในรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมาวัด ทำงานทำการอะไรใจก็อยู่กับสิ่งนั้น ใจมันหลุดออกไปไหลไปในอดีตลอยไปในอนาคต มีสติพาใจกลับมา ใหม่ๆสติมันก็งุ่มง่ามเชื่องช้า งัวเงีย แต่พอเราฝึกบ่อยๆใช้บ่อยๆมันก็จะกระฉับกระเฉง รวดเร็วฉับไวเราใช้มันได้ เราฝึกมันได้ เพราะว่ายอมให้ใจเผลอ ยอมให้ใจนี่ฟุ้ง เพื่อเปิดโอกาสให้มันได้ทำงาน
พอมันได้รู้ได้เห็นความฟุ้งความปรุงแต่งอารมณ์ต่างๆ มันก็จะมีความระลึกได้ว่า ความฟุ้งเป็นอย่างนี้ ความโกรธเป็นอย่างนี้ ความหงุดหงิดเป็นอย่างนี้ พอระลึกได้จำได้ เวลามันโผล่มาก็รู้ทันอย่างรวดเร็ว พอรู้ทันอย่างรวดเร็ว ก็ไม่ปล่อยให้ใจไหล ไถลเข้าไปในความคิดและอารมณ์เหล่านั้น มันพาใจกลับมาเลย กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
การฝึกให้ เวลาทำอะไร ใจก็อยู่กับสิ่งนั้น เป็นการฝึกสติ เป็นการสร้างความรู้สึกตัว ที่เราทำได้ทั้งวัน มันเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับใจของเรา เพราะถ้าใจของเราออกจากความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ มันก็หลุดเข้าไปในความหลง และนั่นก็อันตราย การทำอะไรด้วยความรู้สึกตัว ไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเรื่องง่ายไม่ต้องไปบังคับจิตให้จดจ่ออยู่กับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพียงแค่ให้รู้สึกก็พอ รู้สึกๆ เวลาเดินรู้สึกไหม รู้สึก ความหมายหนึ่งคือ รู้สึกที่กาย เพราะกายมันขยับ
แล้วต่อไปรู้สึกที่ตามมาคือ ความรู้สึกตัว เวลาฝึก ไม่ว่าจะฝึกกับตัวเองสอนตัวเอง สอนลูกสอนหลาน สอนพ่อแม่ที่แก่ชรา บางทีเราใช้วิธีง่ายๆเหล่านี้ช่วยเขาได้ ให้มีความรู้สึกตัว ทำอะไรก็รู้สึก เดินก็รู้สึก กินก็รู้สึก โดยที่ไม่ต้องเพ่ง บางทีอาจจะต้องทักอยู่บ่อยๆว่ารู้สึกตัวไหม อันนี้มันง่ายกว่าการที่ไปแนะนำให้เขาตามลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออกรู้สึก หรือว่าให้จิตมันแนบแน่นกับลมหายใจ บางทีให้บริกรรมไปด้วย หลายคนทำได้แต่ทำได้ไม่นานเพราะว่ามันละเอียด ทำได้ยาก
แต่ให้มันรู้สึกกับกาย มันทำได้ง่ายกว่า พอรู้สึกกับกาย ต่อไปมันมีความคิดอารมณ์ใด มันก็รู้สึก หรือว่ารู้ทัน มันก็จะเป็นลำดับขั้นต่อไป โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปบังคับจิตให้ไม่คิด ให้หยุดคิด หรือว่าไม่ให้มีความเครียด ไม่มีความโกรธ ไม่ใช่เลย เปิดใจต้อนรับมัน เพียงแต่ว่าให้รู้ทันมันก็พอ ต้อนรับมันเพราะว่ามันเป็นแบบฝึกหัดที่ดีของสติที่นำไปสู่ความรู้สึกตัว อันนี้เป็นสิ่งที่เราฝึกได้ในชีวิตประจำวันแล้วพอเวลาเราจะภาวนา มันก็ช่วยทำให้จิตสงบได้ไม่ใช่ว่าจะต้องไปบังคับจิตให้หยุดคิด หรือว่าให้จิตแนบแน่นอยู่กับลมหายใจหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งจิตถึงจะสงบได้
การที่ปล่อยให้จิตเป็นอิสระ แต่ว่ามีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์อย่างรวดเร็ว ฉับไว มันก็จะทำให้เกิดความสงบได้เหมือนกัน สงบเพราะรู้ทันความคิดและอารมณ์ และรู้จักปล่อยรู้จักวาง
อันนี้สงบเพราะรู้ ไม่ใช่สงบเพราะไม่รู้อะไรเลย และสงบแบบนี้ มันก็จะทำให้เมื่อกิเลสหลับ จิตไม่หลับตามไปด้วย แล้วเมื่อกิเลสตื่น จิตมันก็รู้ แล้วก็สามารถที่จะพาจิตออกจากการครอบงำของกิเลสหรืออารมณ์เหล่านี้ได้
- วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564