แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การฟังธรรมเดี๋ยวนี้สะดวกกว่าแต่ก่อนหน้า เพราะว่าอยู่ที่บ้านก็ฟังธรรมได้ สมัยก่อนฟังธรรมทางวิทยุ ตอนหลังเปิดเทปคาสเซ็ท อยากฟังเมื่อไหร่ก็เปิดเทปคาสเซ็ทฟัง แต่ไม่สะดวกเท่ากับสมัยนี้ เพราะว่าสมัยนี้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือใช้ iPad ก็สามารถที่จะเปิดฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ท่านไหนก็ได้ มีให้เลือกเยอะแยะไปหมด แล้วก็ไม่มีพิธีรีตองอะไรเลยด้วย
ถ้าเป็นแต่ก่อนนี้จะฟังธรรม เช่นฟังธรรมที่วัดก็จะต้องมีการสมาทานศีล แล้วก็มีการอาราธนาให้แสดงธรรม แต่ว่าเดี๋ยวนี้อยากฟังธรรมเมื่อไหร่ก็เปิดฟังได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านพิธีกรรมอะไรต่างๆ แต่ที่จริงพิธีกรรมก็มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการรับศีล หรือว่าอาราธนาธรรม มีประโยชน์ที่ว่า ทำให้เตรียมใจให้ค่อยๆน้อมไปสู่ความสงบ หรือว่าทำให้เปิดใจรับฟังธรรมะได้มากขึ้น
ไม่เหมือนกับเวลาเราฟังธรรมด้วยการเปิดโทรศัพท์ ดูทางยูทูป หรือแม้แต่วิทยุธรรมะก็ตาม บางทีเพิ่งเสร็จธุระมา บางทีเพิ่งทำครัวเสร็จ เพิ่งกินอาหารเสร็จ หรือเพิ่งอาจจะทะเลาะกับใครบางคนมา หรือว่ามีเรื่องหงุดหงิดรำคาญใจเกี่ยวกับงานการ พอเปิดฟังธรรม ใจก็ยังไม่นิ่งพอ พอไม่นิ่งพอ การที่จะน้อมรับเอาธรรมมา ไม่ว่าจะเป็นการซึมซับรับธรรมมา ก็เกิดขึ้นได้ไม่ค่อยดีเท่าไร จนฟังธรรมได้สักพัก จิตใจจะเริ่มนิ่ง แต่ตอนต้นๆไม่ค่อยได้มีความสงบพอที่จะรับฟังธรรมอย่างใส่ใจก็ได้
แต่อย่างที่วัด ก่อนที่จะฟังธรรม จะมีการสวดมนต์ครึ่งชั่วโมง เป็นการช่วยน้อมใจให้เกิดความสงบ ช่วยทำให้วางภารกิจงานการต่างๆที่แบกไว้ในใจลงชั่วคราว พอใจมันว่าง การที่จะเปิดรับฟังธรรมะ ก็เป็นไปด้วยดี เหมือนกับการเติมน้ำใส่แก้ว ถ้าแก้วว่าง ก็รับน้ำได้มาก แต่ถ้าเกิดว่าในแก้วน้ำนั้น มีน้ำอยู่แล้ว และเป็นน้ำขุ่นๆอยู่ พอเติมน้ำใสลงไป เติมสักพัก น้ำมันก็ล้นหมด ยิ่งถ้าแก้วนั้นมีน้ำเต็มอยู่แล้วเติมเข้าไป น้ำก็ไหลออกหมด จิตใจของหลายคนก็เป็นอย่างนี้
เวลามาฟังธรรมะผ่านโทรศัพท์มือถือ ผ่าน iPad อาจจะไม่ได้ถึงกับน้ำเต็มแก้ว แต่ก็มีอยู่ครึ่งแก้วหรือค่อนแก้วก็มี อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ที่วัดหรืออยู่ที่บ้าน อยู่บนรถเมล์ หรือว่ารถไฟฟ้า ถ้าฟังธรรมด้วยความตั้งใจ มันก็ได้ประโยชน์ ถึงแม้ว่า สถานที่บางแห่งจะเอื้อต่อการฟังธรรมได้ดีกว่า
ที่จริงแล้ว การฟังธรรม มันเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้นในการที่จะช่วยทำให้คนเรามีความตั้งมั่นในธรรม หรือว่าสามารถที่จะก้าวเดินบนทางธรรมได้อย่างราบรื่นมั่นคง มันก็มีอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น อยู่ท่ามกลางผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร ท่านบอกว่าการคบหาสัตบุรุษหรือสัปปุริสังเสวะ อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการที่จะพัฒนาจิตใจของเราให้เจริญงอกงาม
ท่านถือว่าเป็นองค์คุณ หรือเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการบรรลุเป็นพระโสดาบัน ในธรรมะที่เรียกว่า โสตาปัตติยังคะ หรือว่าคุณสมบัติของพระโสดาบัน หรือว่าองค์ประกอบที่ทำให้เป็นพระโสดาบัน ท่านจะเริ่มต้นด้วยข้อนี้เป็นข้อแรก สัปปุริสังเสวะ คือการคบหาสัตบุรุษ การแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรผู้ทรงธรรมทรงปัญญา
ซึ่งมันก็เป็น 2 ข้อแรกของมงคลสูตร การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต สองข้อนี้เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ช่วยเกื้อกูลต่อความเจริญงอกงามในธรรม การแวดล้อมด้วยสัตบุรุษ แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร หรือคบหาสัตบุรุษ มันเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นในการทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ การที่คนเราจะมีสัมมาทิฏฐิได้มันต้องมีองค์ประกอบ 2 อย่าง
องค์ประกอบแรกเรียกว่ากัลยาณมิตร กัลยาณมิตรนี้ก็เป็นได้ทั้งเพื่อน พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ก็รวมไปถึงหนังสือหนังหาด้วยก็ได้ แต่คนสมัยนี้ มีเพื่อนน้อยเพราะว่าต่างคนต่างอยู่ แต่ถึงแม้ว่าจะน้อย ถ้าเพื่อนนั้นเป็นเพื่อนที่ดี เป็นกัลยาณมิตร มันก็ช่วยให้เกิดความเจริญงอกงามในทางจิตใจได้
อย่าลืม พระพุทธเจ้า ตรัสกับพระอานนท์เลยว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ เป็นทั้งหมดเลยไม่ใช่เป็นแค่ครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ เพราะว่าเมื่อมีกัลยาณมิตร ก็ช่วยน้อมนำ เชิญชวน ทั้งผลักดันและชี้แนะให้เราก้าวเดินไปบนทางธรรม พรหมจรรย์ในที่นี้คือชีวิตที่ประเสริฐ ไม่ได้หมายถึงชีวิตที่ไม่มีคู่ครองหรือโสด ในที่นี้คือชีวิตที่ประเสริฐคือชีวิตที่ประกอบด้วยธรรม ต้องอาศัยกัลยาณมิตรเลย
คนทั่วไปก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีกัลยาณมิตร ซึ่งก็หมายถึงการรู้จักคบหาคน หรืออย่างที่บอกไปแล้ว หนังสือหนังหาหรือแม้กระทั่งสื่อต่างๆ มันก็สามารถที่จะเป็นกัลยาณมิตรได้ แต่ว่าสื่อที่คนส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคย มันอาจจะไม่ใช่กัลยาณมิตรเท่าไหร่ อาจจะเป็นปาปมิตรก็ได้ สื่อที่ว่านี้มันไม่ใช่เป็นแค่โทรทัศน์ โทรทัศน์นี่ตั้งอยู่ที่บ้าน แต่เป็นโทรศัพท์ด้วยที่นำไปติดตัวอยู่ตลอด
แล้วหลายคนก็มีโทรศัพท์เป็นปาปมิตร เพราะว่าใช้โทรศัพท์เป็นสื่อในการกระตุ้นโลภะ โทสะ โมหะ เดี๋ยวนี้อบายมุขทั้งหลายทั้งปวงมันก็เข้าถึงได้ทางโทรศัพท์ ยาเสพติดหาซื้อได้ผ่านทางโทรศัพท์ เล่นการพนันก็ผ่านทางโทรศัพท์ หวยออนไลน์เดี๋ยวนี้ระบาดไปทั่ว รวมทั้งเว็บลามกสารพัด สำหรับบางคนโทรศัพท์กลายเป็นปาปมิตรไปเสียแล้ว ไม่ใช่เป็นกัลยาณมิตร
แม้แต่คนที่ฝ่ายธรรมบางทีก็เผลอใช้โทรศัพท์บ้าง ใช้คอมพิวเตอร์บ้าง ใช้ iPad บ้างในการที่เข้าถึงเข้าหาสิ่งที่มากระตุ้นโลภะหรือโทสะ โดยเฉพาะผ่าน App อย่างเช่น Facebook เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นตัวกระตุ้นทั้งโลภะ โทสะ ไม่ใช่น้อยเลย ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเว็บลามกหรือว่าเว็บการพนัน แม้กระทั่ง App ที่มันปกติธรรมดา ก็สามารถที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกขุ่นมัวรุ่มร้อนได้ เพราะฉะนั้น แม้จะฟังธรรมอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าหากว่าไม่รู้จักใช้โทรศัพท์ ก็เรียกว่าอยู่แวดล้อมด้วยปาปมิตรไม่ใช่กัลยาณมิตร
อย่างที่บอกการฟังธรรมมีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะช่วยทำให้เกิดความเจริญงอกงามในทางธรรมได้ในส่วนหนึ่งก็คือการคบหาสัตบุรุษ คือการมีกัลยาณมิตร อันนี้เรียกว่าเป็นองค์ประกอบภายนอก ยังมีองค์ประกอบภายในคือการรู้จักคิด ท่านใช้คำว่าโยนิโสมนสิการ ทั้งสองประการ กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ พระพุทธเจ้าตรัสเลยว่าเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น เราจะฟังธรรมให้เกิดสัมมาทิฏฐิหรือเกิดปัญญาได้ นอกจากมีกัลยาณมิตรหรือคบหาสัตบุรุษแล้ว ต้องมีการรู้จักคิดด้วยเรียกว่าโยนิโสมนสิการ รู้จักคิดพิจารณาตามแนวเหตุผลอย่างถูกต้อง อันนี้เรียกว่าองค์ประกอบภายใน เวลาฟังธรรมบางคนก็ฟังไปเอาเพลิน ไม่ค่อยได้ใช้โยมิโสมนสิการเท่าไหร่ คนจำนวนมากที่เป็นอย่างนั้น บางคนคิดว่าฟังธรรมแล้วจะเกิดสิริมงคลกับตัวเอง ก็เลยฟังไปอย่างนั้นๆ
บางคนก็ฟังเอาเพลินจนติด มีจำนวนไม่น้อยที่ติดการฟังเทปธรรมะหรือธรรมะทางมือถือเปิดยูทูบแต่ว่าไม่ค่อยได้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในเท่าไร พฤติกรรมภายนอกก็ไม่ค่อยได้เปลี่ยน ยังเป็นคนอารมณ์ร้าย ยังเป็นคนเจ้าอารมณ์ บางทีก็ยังเป็นคนที่ตระหนี่ถี่เหนียว ก็มีคนพูดให้ฟังบ่อยๆว่าแม่หรือยายฟังธรรมะอยู่เป็นประจำ แต่เป็นคนที่เจ้าอารมณ์ ตระหนี่ถี่เหนียว เป็นคนที่เห็นแก่ตัวก็มี เขาก็สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร
มันก็เป็นไปได้เพราะว่า ฟังธรรมแล้วก็ไม่ได้ใคร่ครวญ ใคร่ครวญในที่นี้ก็หมายความว่าพิจารณาว่าที่ได้ยินได้ฟังมานั้น ถูกต้องไหม ไม่ใช่ฟังแล้วให้มันผ่านๆหูไป ซึ่งมันก็มีประโยชน์ เพราะว่าตอนที่ฟังผ่านๆหู ทำให้ไม่ต้องไปคิดเรื่องที่ทำให้หงุดหงิดกลุ้มอกกลุ้มใจ บางคนถ้าอยู่ว่างๆอยู่เปล่าๆ ใจจะครุ่นคิดถึงปัญหาสารพัด อดเป็นห่วงลูก อดเป็นกังวลลูกหลาน อดเป็นห่วงงานการไม่ได้ หรือบางทีก็หงุดหงิดเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง
หรือบางทีก็เบื่อเซ็งไม่รู้จะทำอะไร อย่างที่หลายคนว่างๆก็เบื่อ บางทีก็บ่นอยากตาย อันนี้เป็นกับคนแก่มาก เพราะว่ารู้สึกเบื่อ ไม่มีอะไรทำ ไม่มีหลานให้เลี้ยง ไม่มีเพื่อน ไม่มีสมาคมหรือสังคมให้สุงสิง ถ้าเป็นคนแต่ก่อนนี้ แก่ๆก็มีวงไพ่ หรือว่ามีวงหมากรุก สมัยอาตมาตอนเด็กๆ พวกคนแก่ๆ อย่างญาติผู้ใหญ่เขามีวงไพ่นกกระจอก พวกนี้ไม่รู้จักคำว่าเบื่อ เพราะว่ามีอะไรให้ทำอยู่เรื่อยๆ
แต่ผู้เฒ่าสมัยนี้อยู่บ้านคนเดียว แล้วบ้านก็เป็นบ้านในหมู่บ้านจัดสรร มันไม่ใช่บ้านห้องแถวที่มีสมาคมมีสังคมอยู่รอบตัว พออยู่บ้านจัดสรรก็เรียกว่าอยู่ห่างจากผู้คนวัยเดียวกัน จะไปมาหาสู่กันก็ลำบาก หลายคนไม่มีอะไรทำก็ไปเที่ยวห้าง เที่ยวทุกวันเลย มีแม่ของเพื่อนหลายคนพอกินข้าวเสร็จ เอาแล้วสายๆก็ไปแล้ว นั่งรถแท็กซี่นั่งรถไฟฟ้าไปห้าง ไม่ได้ไปซื้ออะไรเท่าไร ไปดูโน่นดูนี่ ไปหาของกินแล้วกลับมาค่ำๆ เพราะว่าไม่มีอะไรทำ
แต่ก็ดีอย่าง คนแบบนี้ไม่ค่อยเบื่อไม่ได้บ่นว่าอยากตายๆ เพราะว่าเขามีอะไรทำ ไม่เหงา แต่บางคนก็เลือกที่จะฟังธรรมะ ก็ดีเหมือนกัน แต่ก็ฟังแบบฟังไปเรื่อยๆ ฟังไปอย่างนั้น ฟังแล้วสบายใจ เพราะว่าตอนนั้นใจไม่ว่างพอที่จะคิดนั่นคิดนี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความหงุดหงิด เกิดความกังวลใจ ทำให้เกิดความเครียด หรือว่ารู้สึกเบื่อเคว้งคว้าง
มีคนประเภทนี้เยอะ ฟังธรรมะฟังเอาเพลิน ก็สบายใจชั่วคราวระหว่างที่ฟัง บางคนฟังแล้วก็นอนหลับได้ ประเภทนี้จะชอบฟังธรรมก่อนนอน แล้วก็เลือกคนที่พูดธรรมะแล้วกล่อมให้หลับได้ อย่างหลายคนบอกว่าฟังธรรมะของอาตมาแล้วหลับง่ายดี ก็มีประโยชน์เหมือนกันหลับง่ายดี
แต่ว่าถามว่าฟังแล้วจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรกับจิตใจด้านในหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่แน่ แต่ถ้าจะให้ดี ฟังธรรมะมันต้องก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายใน ซึ่งมันจะเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นจากการที่รู้จักคิด อย่างที่ท่านเรียกว่าโยนิโสมนสิการ รู้จักใคร่ครวญ ใคร่ครวญว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ที่พระท่านเล่าพระท่านพูด มันจริงไหม มันถูกต้องหรือเปล่า
เท่านั้นไม่พอ ต้องย้อนกลับมาโยงมาที่ตัวเองว่า แล้วเราเป็นอย่างที่ท่านว่าหรือเปล่า บางทีพระก็พูดถึงคนที่เจ้าอารมณ์ขี้หงุดหงิด คนที่ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง แล้วก็บ่นว่าทุกข์ ทุกข์เพราะลูก ทุกข์เพราะหลาน ทุกข์เพราะงานการ มีใครพูดกระทบก็โกรธ เก็บเอามาคิดจนรุ่มร้อน เวลาฟังอย่างนี้จะมีประโยชน์ถ้าย้อนกลับมาหรือโยงมาว่าแล้วเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
ถ้าเราเป็นอย่างนั้น เราก็จะได้หาทางแก้ไขหาทางปรับปรุง หรือเวลาท่านผู้แนะนำเรื่องการปล่อยการวาง เรื่องการรู้จักเท่าทันความคิด อารมณ์ความรู้สึก ฟังแล้วไม่ใช่ฟังเฉยๆ ฟังแล้วพิจารณาว่า มันดีจริงไหม ถ้ามันดีจริง เราได้ทำอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า หรือเราควรจะนำมาทำไหม
ฟังอย่างนั้นมันก็จะนำมาสู่การปฏิบัติ ไม่ว่าฟังแล้วโยงมาว่าเป็นอย่างที่ท่านวิจารณ์ไหม อย่างที่ท่านติติงจริงหรือเปล่า หรือว่าสิ่งที่ท่านแนะนำให้ควรทำ เรานำมาทำไหม เรารู้จักปล่อยวาง เรารู้จักมีเมตตา เรารู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือว่ารู้เท่าทันความคิดอารมณ์
ถ้าฟังแบบนี้เรียกว่าใช้โยนิโสมนสิการ รู้จักคิด ใคร่ครวญ แล้วมันจะนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน ในองค์คุณของพระโสดาบัน หรือที่จริงมันก็เป็นองค์ประกอบของผู้ทรงธรรม แม้ว่าจะไม่บรรลุถึงขั้นโสดาบัน การปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญด้วยนอกจากการคบหาสัตบุรุษ หรือแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร นอกจากการฟังธรรม หรือว่าการใส่ใจเล่าเรียนฟังอ่านสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อจิตใจ
คำว่าฟังธรรมไม่จำเป็นต้องเป็นพระเทศน์อย่างเดียว ศึกษาเล่าเรียน หรือว่า อ่าน ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อจิตใจ ก็ถือว่าเป็นการฟังธรรมที่เรียกว่า ธรรมสวนะ หรือสัทธัมมัสสวนะ แล้วต้องมีโยนิโสมนสิการอย่างที่พูดไปแล้ว
แต่สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือการปฏิบัติ ท่านใช้คำว่าธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ก็คือการปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือว่า ท่านแปลว่า การปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม เอาง่ายๆคือมีการปฏิบัติเป็นเบื้องต้น ฟังธรรมแล้ว เมื่อใคร่ครวญอย่างถูกต้อง อย่างที่พูดไป มันจะนำไปสู่การปฏิบัติ มันจะไม่ใช่ฟัง แล้วเอาเพลิน ฟังเฉยๆ ฟังแล้วสบายใจ หรือคิดว่าฟังแล้วได้บุญ แต่ว่ามันจะนำไปสู่การปฏิบัติ
แต่การปฏิบัติมันต้องปฏิบัติให้ถูก ท่านใช้คำว่าปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หรือธรรมานุธรรมปฏิบัติอันนี้พูดแบบไทย ปฏิบัติแล้วต้องปฏิบัติให้ถูก เอาธรรมะแต่ละข้อมาปฏิบัติให้ถูกซึ่งจะถูกได้ มันก็ต้องกลับไปที่โยนิโสมนสิการ รู้จักใคร่ครวญ การใคร่ครวญอย่างที่บอกไปแล้วว่าฟังธรรมแล้ว ก็คิดว่ามันจริงไหม แล้วก็โยงมาสู่ตัวเองว่าเราได้เป็นอย่างที่พระท่านว่าไหม เราได้ทำอย่างที่ท่านได้แนะนำไหม
อีกอันหนึ่ง รู้จักพิจารณา สาวหาเหตุ แล้วก็มองถึงผลด้วย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราอยากจะให้เกิดขึ้นมันมีเหตุ หรือมันเกิดจากอะไร เช่น ถ้าเราอยากจะให้จิตใจมีความสงบเย็น เหตุก็คือ มีศีล มีสมาธิเป็นเบื้องต้น อันนี้ท่านเรียกว่ารู้หลักคือรู้เหตุ ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในตัวเรา อยากให้ใจสงบ เหตุก็คือสมาธิ อยากให้ใจอ่อนโยน เหตุหรือธรรมะก็คือการแผ่เมตตา
ถ้าเราไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุ เราก็อาจจะปฏิบัติไม่ถูก เช่น อยากให้ใจสงบ แต่ว่าไปขวนขวายเจริญวิปัสสนา พอเจริญวิปัสสนา มันจะไม่เกิดความสงบอย่างที่ต้องการ เพราะว่าวิปัสสนามุ่งให้เกิดปัญญา จะเจริญวิปัสสนา ก็ต้องรู้ว่าวิปัสสนามีจุดมุ่งหมายว่าอะไร หรือว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของวิปัสสนา การรู้จุดมุ่งหมายก็คือรู้ผล ท่านใช้คำว่าอัตถะ ส่วนการรู้เหตุหรือการรู้หลัก บางทีท่านใช้คำว่ารู้ธรรม การรู้ธรรมและรู้อัตถะ มันเป็นหัวใจของการปฏิบัติ
แล้วก็เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ที่เป็นสัตบุรุษ มันมีธรรมหมวดหนึ่งเรียกว่าสัปปุริสธรรม 7 มี 7 ประการ คือธรรมของสัตบุรุษ มี 2 ข้อแรกเลย รู้ธรรมกับรู้อัตถะ ธัมมัญญุตากับอัตถัญญุตา รู้ธรรมคือรู้หลักหรือรู้เหตุว่า สิ่งดีงามที่อยากให้เกิดขึ้น มันมีอะไรเป็นเหตุ อย่างที่บอก ถ้าหากว่าต้องการชีวิตที่สงบเหตุก็คือศีล สมาธิ อยากให้ใจอ่อนโยน เหตุก็คือการแผ่เมตตาเป็นต้น อยากให้มีความตื่นตัว เหตุก็คือสติหรือว่าสัมปชัญญะ
เวลาเราจะปฏิบัติธรรม เราก็ต้องรู้เหตุ หรือรู้หลัก และจะดียิ่งขึ้นถ้าเรารู้อัตถะ รู้อัตถะคือรู้จุดมุ่งหมายว่าธรรมะแต่ละข้อมีจุดมุ่งหมายอะไร เพราะธรรมะมีหลายข้อมีหลายประการ จุดมุ่งหมายก็ต่างกัน สันโดษก็อย่างหนึ่ง สมาธิก็มีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่ง สติหรือเจริญสติปัฏฐานก็มีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่ง หรือที่เห็นชัดๆสมถะ จุดมุ่งหมายสมถะก็คือความสงบ วิปัสสนาจุดมุ่งหมายคือความสว่าง
ถ้าเราไม่รู้อัตถะ เราก็ปฏิบัติผิด เหมือนกับมีดมีไว้ตัดมีไว้หั่น ค้อนมีไว้ทุบ ถ้าเราเอามีดไปทุบ มันก็ไม่เกิดผล ถ้าเราเอาค้อนมาหั่นมาตัด มันก็ไม่เกิดผล หลายคนปฏิบัติธรรมแล้วไม่เกิดผลเพราะว่าไม่รู้จุดมุ่งหมายของธรรมะแต่ละข้อ ก็เลยปฏิบัติผิด ทำบุญ ไม่รู้ว่าบุญมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร เพื่อลดเพื่อละ แต่ว่าทำไปแล้ววางใจไม่ถูก ไปยึดไปอยาก อยากได้นู่นอยากได้นี่ มันก็ไม่เกิดผล จิตใจรุ่มร้อน ไม่สงบเพราะว่ากิเลสไม่ได้ลด อัตตามานะไม่ได้ละ
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง มันต้องอาศัยการรู้จักคิด หรือโยมิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการ รู้จักคิด มันทําให้การฟังธรรมมันเกิดผลดี แล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติ แต่จะปฏิบัติให้ดีให้ถูกต้องก็ต้องอาศัยการรู้จักเข้าใจทั้งธรรมและอัตถะ เข้าใจธรรมก็คือเข้าใจหลัก เข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่ต้องการ เข้าใจอัตถะ เข้าใจว่า เมื่อนำเอาธรรมะมาปฏิบัติ มันจะเกิดจุดมุ่งหมายอะไร เป็นสิ่งที่ประสงค์ต้องการไหม
พอเรามาปฏิบัติธรรมพอไม่รู้อัตถะ ไม่รู้ธรรม บางทีก็ปฏิบัติผิด อยากจะมาสงบแต่ว่ามาเจริญที่วัดป่าสุคะโตแล้วก็บ่นว่า ใจไม่สงบสักที ก็เพราะว่าการปฏิบัติการเจริญสติไม่ได้มุ่งให้จิตสงบแต่มุ่งให้มีสติ ให้รู้ทันความคิด จะมีสติรู้ทันความคิดได้ ก็ต้องยอมให้ความคิดเกิดขึ้น ไม่ใช่ไปกดมันเอาไว้ ไม่ใช่บังคับจิตให้นิ่ง ปล่อยให้จิตเป็นอิสระ เพื่อมันจะได้เป็นแบบฝึกหัดให้สติรู้ทัน รู้แล้วก็วาง
อันนี้เรียกว่ามาปฏิบัติแต่ไม่รู้จุดมุ่งหมายของวิธีปฏิบัติ มันก็เลยทำให้ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ หรือว่ามาปฏิบัติแล้ว ทำด้วยความยึดติด หลวงพ่อเทียนท่านบอกว่าให้ทำเล่นๆ แต่ก็ไปเอาจริงเอาจังให้ได้ไม่ยอมฟุ้งไม่ยอมหลง จะบังคับจิตท่าเดียว แล้วพอเครียดขึ้นมาก็บอกว่า ทำไม่ได้ผล อันนี้เพราะว่าไม่รู้อัตถะ ไม่รู้ธรรม อันนี้เพราะขาดการใคร่ครวญ
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ มันจำเป็นสำหรับผู้ใฝ่ธรรม จะฟังธรรมอย่างเดียวนั้นมันไม่พอ ต้องปฏิบัติด้วย แต่จะปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติให้ถูก จะปฏิบัติให้ถูกได้ต้องใช้รู้จักคิดใช้ปัญญาพิจารณาด้วย ถ้าจะทำให้ถูกต้อง และมี 4 ประการครบ ธรรมก็จะเจริญงอกงาม ในใจเราอย่างแน่นอน
ก็คือ การคบหาสัตบุรุษ แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร รู้จักฟังธรรม ซึ่งไม่ใช่จำกัดเฉพาะพระเทศน์อย่างเดียว ฆราวาสสอนหรือว่าเด็กเล่าอะไรให้ฟัง ก็เป็นธรรมะได้ ถ้ารู้จักคิด มีโยนิโสมนสิการ แล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติ แล้วต้องปฏิบัติให้ถูกด้วย เรียกว่าปฏิบัติให้สมควรแก่ธรรม ถ้าปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรม เอามีดไปทุบ เอาค้อนไปหั่น มันก็ไม่เกิดผล อันนั้นเป็นเพราะว่า เราไม่เข้าใจ เพราะว่าเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง เพราะว่าเราไม่เข้าใจในรู้จุดมุ่งหมายของธรรมะแต่ละข้อ.
- วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564