แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาดึกๆ หรือว่าเวลาเช้ามืดอย่างตอนนี้ ตามทางเดินในป่า บางทีเราก็เจอกบนั่งนิ่ง คนเดินผ่าน กบก็ยังนิ่งไม่ไหวติง ดูเหมือนกับว่าจะหลับอยู่ แต่ที่จริงไม่หลับ มันตื่น เพราะว่าเวลามีแมลงบินผ่านมา กบจะแลบลิ้นตวัด เอาแมลงใส่ปากได้อย่างรวดเร็ว ฉับไวมาก แล้วก็นิ่งต่อไป ดูเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
การนิ่งของกบ ครูบาอาจารย์บางท่านเปรียบเหมือนกับความนิ่งของผู้ที่เข้าถึงธรรม ผู้ที่เข้าถึงธรรม ปกติมีอยู่อย่างหนึ่งคือความนิ่ง เป็นความนิ่งทั้งภายในและภายนอก ในใจท่านก็นิ่งสงบ ส่วนภายนอกอากัปกิริยาของท่านก็นิ่ง ไม่ได้ดิ้นรน ไม่ได้กระสับกระส่ายหรือว่าแสวงหาอะไร แล้วพอถึงเวลาที่จะทำกิจการงาน ท่านก็มีความกระฉับกระเฉง มีความตื่นตัว ไม่ได้เฉื่อยเนือย พอทำกิจเสร็จ กลับมานิ่งเหมือนเดิม
อันนี้เราสังเกตได้จากครูบาอาจารย์หลายท่านทีเดียวที่บรรลุธรรมขั้นสูง พอถึงเวลาที่ท่านทำกิจการงานอะไร ท่านก็ทำด้วยความกระฉับกระเฉง ไม่ได้เฉื่อยเนือย หรือว่าลังเลสงสัยอะไร พอเสร็จกิจท่านก็นิ่งได้เหมือนเดิม
ระหว่างที่ท่านทำ ภายนอกก็ดูเหมือนว่า มีการขยับโน่น ทำนี่ แต่ว่าข้างในท่านสงบ ข้างนอกก็กระฉับกระเฉง แต่ข้างในนิ่ง ถ้าเปรียบกับสมัยใหม่ก็เปรียบเหมือนกับรถไฟความเร็วสูง ใครที่อยู่ข้างนอกแถบชานชาลาจะเห็นว่ารถไฟแล่นเร็วมาก แต่พอเข้ามาอยู่ข้างในรถจะรู้สึกว่ามันสงบมันนิ่ง เสียงไม่ได้ดังเท่าไหร่บางทีเบากว่าเสียงที่อยู่ภายในเครื่องบินด้วยซ้ำ
อันนี้เรียกว่าข้างนอกแม้จะเคลื่อนแม้จะเร็ว แต่ข้างในสงบ ผู้ที่เข้าถึงธรรมก็เช่นกัน เวลาท่านจะทำกิจการงานอะไรอย่างที่ว่า กระฉับกระเฉง แต่ข้างในสงบ ไม่มีสิ่งมารบกวนจิตใจ ไม่ว่าความอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น หรือว่าความอยากผลักไส อันนี้เรียกว่าความสงบภายใน เมื่อเสร็จกิจ ภายนอกหรืออากัปกิริยาก็สงบด้วย
จะเรียกว่าความนิ่งเป็นสิ่งสะท้อนไม่ใช่แค่ความสงบภายในอย่างเดียว แต่ว่าสะท้อนถึงความสุขด้วย ผู้ที่มีความสุขอย่างแท้จริง ข้างในก็นิ่ง ข้างนอกก็นิ่ง ไม่ได้วิ่งวุ่น ไม่ได้แสวงหาอะไรต่ออะไรมากมาย ในทางตรงข้าม คนที่แสวงหาที่เที่ยว ที่กิน แสวงหาที่ดื่มหรือว่าออกไปวิ่งวุ่นทำอะไรต่างๆมากมาย ส่วนใหญ่แล้วแม้ว่าสิ่งที่เขาแสวงหาและได้รับอย่างที่ต้องการคือความสุข แต่ว่าจะเรียกว่าเขามีความสุขอย่างแท้จริงก็คงไม่ใช่
ต้องเรียกว่าผู้ที่แสวงหาที่เที่ยวที่กินที่วุ่นเหล่านี้แท้จริงแล้ว เขาไม่ได้มีความสุขหรอก อาจจะสุขกายแต่ว่าใจไม่สุข เพราะว่าใจไม่สงบ ใจไม่นิ่ง จึงทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหา หรือว่าเกิดอาการกระสับกระส่าย ต้องวิ่งวุ่นวิ่งพล่าน แม้ว่าจะพรั่งพร้อมด้วยวัตถุสิ่งเสพก็ตาม
ที่อยู่นิ่งไม่ได้หรือว่าที่ต้องวุ่น แสวงหาไม่จบไม่สิ้นเพราะว่ามันมีแรงผลักจากข้างใน เป็นแรงผลักแห่งความทุกข์ เพราะว่าทนอยู่กับสภาพเดิมไม่ได้ทั้งที่สภาพเดิมก็สุขสบายดีอยู่แล้ว ก็เหมือนกับคนที่อยู่ในปราสาทหรือว่าในคฤหาสน์ ทั้งที่มันสุขสบายสะดวก แต่ถ้าอยู่ทั้งวันทั้งคืน อยู่เป็นอาทิตย์อยู่เป็นเดือนอยู่เป็นปี ก็จะรู้สึกว่าไม่ไหว ต้องออกไป ออกไปหาที่เที่ยว ออกไปที่แปลกๆใหม่ๆ
อย่างฝรั่งที่มาเที่ยวเมืองไทย เที่ยวทะเลเที่ยวเกาะ บ้านของเขา ภูมิลำเนาของเขามันก็สวย บางคนมาจากสวิตเซอร์แลนด์ บางคนมาจากอเมริกา บางคนมาจากญี่ปุ่น ที่ๆเขาอยู่ก็งดงาม เป็นภูเขา อาจจะมีทุ่งนาที่สวยงามด้วย อาตมาเคยไปบางเมืองที่ประเทศเหล่านี้ ที่สวิสหรือเยอรมัน สวยมากเลย แต่พบว่าคนเหล่านั้น หลายคนบอกว่าอยากมาเมืองไทย
ทั้งที่เมืองไทยจะว่าไปโดยเฉพาะกรุงเทพก็วุ่นวาย หรือแม้แต่สถานที่ในเมือง บางสถานที่ก็ไม่สะดวกสบายเท่าไหร่ถ้าเทียบกับเมืองเขา แต่เขาก็อยากมาเพราะว่าลึกๆเขาเบื่อ เบื่อในที่ๆเขาอยู่ แต่ทั้งที่ในสายตาเรา ของเขานั้นสวยมากเลย ภูเขาก็ดี ทุ่งนาก็ดี ดินฟ้าอากาศโดยเฉพาะในบางฤดู เห็นความงดงามมาก หรือบางเมืองเป็นเมืองที่ที่ท่องเที่ยวด้วยซ้ำ ใครๆก็มาเที่ยว แต่ว่าเจ้าตัวอยากจะไปที่อื่นมากกว่า เช่นมาเมืองไทย
อันนี้เพราะว่าอะไร ก็เพราะว่ารู้สึกเบื่อกับที่ๆเขาอยู่ทั้งที่ที่มันสบายที่สวยงามมาก แล้วยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วยซ้ำ อย่างนี้เรียกว่า เป็นเพราะทนสภาพเดิมไม่ได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ทนความจำเจซ้ำซากไม่ได้ มันก็ทำให้เกิดแรงผลักที่ทำให้อยากจะออกไปหาที่ใหม่ๆ ที่กิน ที่เที่ยว ที่เล่น ที่แปลกใหม่
อันนี้จึงทำให้ผู้คนมีความทุกข์มากเลยในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพราะว่าโควิดระบาด ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้มีความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจด้านรายได้ บางทีไม่ต้องทำงานอะไรด้วยซ้ำ อยู่ที่บ้านก็กิน ดูหนัง ฟังเพลง แล้วก็นอน แต่เขารู้สึกว่า มันเป็นบรรยากาศน่าทุกข์ทรมานมาก เพราะว่าอะไร เพราะว่าออกไปไหนไม่ได้ ไปเจอเพื่อน ไปเจอคลุกคลีกับผู้คนหรือว่าออกไปช้อปปิ้ง ไปที่แปลกๆใหม่ๆไม่ได้
มันมีแรงผลักจากข้างในให้ต้องออกไป แต่ออกไม่ได้ ก็เลยทุกข์ อันนี้เรียกว่าทุกข์เพราะแรงผลักที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ไม่ใช่แค่ทนอยู่กับสภาพเดิมไม่ได้ หรือว่าทนอยู่กับสภาพจำเจซ้ำซากไม่ได้อย่างเดียว บางทีก็ทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ด้วย ซึ่งมันก็สัมพันธ์กับการอยู่กับที่ที่มันซ้ำซากจำเจ เพราะว่าถ้าเป็นที่ใหม่ มันก็ทำให้จิตใจพุ่งออกไปยังสิ่งภายนอกไปเพลิดเพลินยินดีกับสิ่งแปลกใหม่ รสชาติที่แปลกใหม่
แต่พอเจอสิ่งที่ซ้ำซากจำเจ จิตก็ไม่อยากจะออกไปข้างนอก มันก็ไม่ค่อยมีแรงกระตุ้นให้ไปจดจ่อ มันก็เลยกลับมารับรู้อยู่กับความคิดฟุ้งซ่านภายใน ใจฟุ้งซ่านสารพัดเพราะว่าไม่มีสิ่งภายนอกที่น่าดึงดูด น่าตื่นตาตื่นใจ หรือชวนให้เอร็ดอร่อย พอไม่เพลินกับสิ่งภายนอก ก็ทำให้กลับมาขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆอดีตบ้างที่ไม่น่าพอใจ หรือว่าสร้างภาพที่ชวนให้วิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต
อันนี้เพราะจิตมันว่าง จิตไม่มีอะไรให้เสพให้เพลิดเพลิน เพราะว่าภายนอกหรือสิ่งรอบตัวมันธรรมดามันซ้ำซากจำเจ มันไม่มีอะไรทำ ก็เลยหันมาปรุงแต่ง หรือขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆในอดีต หรือปรุงแต่งเกี่ยวกับเรื่องราวในอนาคต ก็ทนกับตัวเองไม่ได้
ทีนี้ถ้ามีที่ไปที่เที่ยวออกไปไหนได้ ก็ไปทันที อันนี้เรียกว่าอยู่นิ่งไม่ได้เพราะว่ามีแรงผลักจากภายใน แต่นอกจากแรงผลักแล้ว ก็ยังมีแรงดึงดูดด้วยแรงดึงดูดจากสิ่งต่างๆภายนอกที่มันดูน่าเพลิดเพลินน่ายินดีหรือว่าน่าอร่อย รวมทั้งไม่ใช่เฉพาะสิ่งเสพอย่างเดียวหมายถึงวัตถุเงินทอง ทรัพย์สมบัติที่ต้องการมีมากๆ เพราะว่ามันมีแรงดึงดูดเย้ายวนใจ อันนี้ก็ทำให้คนอยู่นิ่งไม่ได้เหมือนกัน
เพราะว่าสิ่งเย้ายวนใจ มันทำให้ต้องออกไปมีออกไปครอบครอง ทั้งที่ตัวเองมีก็มากมายอยู่แล้ว เป็นเพราะอะไร แรงผลัก แรงดึงดูด แรงผลักจากความทุกข์ภายใน แรงดึงดูดด้วยอำนาจสิ่งเย้ายวนภายนอก ก็ทำให้คนเราจำนวนไม่น้อยไม่สามารถที่จะทนอยู่นิ่งได้ ออกไปแสวงหา ออกไปหาสิ่งแปลกออกไปครอบครองสิ่งต่างๆเพราะคิดว่านั่นคือความสุข
แต่คนที่มีความสุขภายในอยู่แล้วหรือเข้าถึงความสุขจากภายในอยู่แล้ว มันไม่มีปัญหา อย่างที่ว่ามันไม่มีแรงผลักจากภายใน แล้วก็ไม่รู้สึกหวั่นไหวต่อแรงดึงดูด หรือสิ่งเย้ายวนจากภายนอก วัตถุสิ่งเสพหรือว่าสิ่งอะไรต่ออะไรมากมายที่ผู้คนเขาถือว่าน่ามีน่าเอาเพราะมันเอร็ดอร่อย เพราะมันปรนเปรออัตตาทำให้อัตตาพองโต เกิดความเพลิดเพลินยินดี
สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายเลยสำหรับคนที่เข้าถึงความสุขภายใน คนที่เข้าถึงความสุขภายในเพราะว่าเข้าถึงธรรม เมื่อเข้าถึงธรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงสัจธรรม จิตก็เป็นอิสระ แล้วก็ได้พบความสงบ ความสงบเป็นความสุขอย่างยิ่ง ก็ทำให้ไม่เพียงแต่ภายในนิ่งได้ อากับกิริยาภายนอกก็นิ่งได้ด้วย นิ่งในความหมายที่ไม่ได้ไปดิ้นรนแสวงหาอะไรต่ออะไรมากมายเพื่อเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่ว่าก็ยังมีกิจมีการงานที่ควรทำอยู่ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น หรือการทำกิจต่อส่วนรวม
อย่างที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายท่านเป็นแบบอย่าง กิจส่วนตัวที่จะทำหรือการแสวงหาที่จะทำเติมเต็มภายในไม่มีแล้ว มีแต่การทำกิจเพื่อประโยชน์สุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และเมื่อจะเสร็จกิจหรือไม่ก็ตาม เมื่อถึงเวลาจะวางก็วางได้ ก็กลับมาสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง อย่างที่บอกความนิ่งความสงบเป็นสัญลักษณ์หรือเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความสุขภายใน
สมัยพุทธกาล มีปริพาชกกลุ่มหนึ่ง เคยโต้เถียงกับพระพุทธเจ้า บอกว่าจะเข้าถึงความสุขได้ต้องอาศัยความทุกข์ เข้าถึงโดยการบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่พระพุทธเจ้าตรัสแย้งว่า จะเข้าสู่ความสุขได้ก็ด้วยวิธีของความสุข เขาก็ไม่เชื่อ แล้วเขาก็แย้งว่าถ้าความสุขเข้าถึงด้วยความสุข เพราะฉะนั้นพระเจ้าพิมพิสารก็ต้องมีความสุขมากกว่าตัวท่านสิ คือมีความสุขมากกว่าพระพุทธเจ้า
พระเจ้าพิมพิสารมีสิ่งเสพมีทรัพย์สมบัติมากมาย แถมยังมีชีวิตที่สุขสบายกว่าด้วย พระพุทธเจ้าก็เลยถามคนเหล่านั้นว่า พระเจ้าพิมพิสารสามารถที่จะอยู่นิ่งได้ 7 วันไหม ก็ตอบไม่ได้ ลดเหลือ 6 วันล่ะ พระเจ้าพิมพิสารทำได้ไหม ปริพาชกเหล่านั้นก็ตอบไม่ได้ ลดลงมาเหลือมา 1 วัน เขาก็ยอมรับว่าพระเจ้าพิมพิสารก็ไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งได้แม้กระทั่งแต่วันเดียว แต่พระองค์ตอบว่าพระองค์ทำได้ อย่าว่าแต่วันเดียวเลย 7 วันก็ทำได้
คำว่านิ่ง มันไม่ได้หมายความว่าไม่ไหวติงเลย แต่ว่าสามารถอยู่กับตัวเองได้ ไม่ใช่แค่ 1 วัน แต่ 7 วันด้วยจะนิ่งเพราะอำนาจของฌานสมาบัติ หรือว่าอำนาจของความสงบภายในก็ได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าในทางพระพุทธศาสนา ความนิ่งเป็นเครื่องหมายหรือสิ่งที่บ่งชี้ถึงความสุขภายใน
ตอนหลังปริพาชก ยอมรับว่าพระพุทธเจ้ามีความสุขกว่าพระเจ้าพิมพิสาร แม้ว่าพระพุทธองค์จะมีแค่อัฏฐบริขาร อันนี้เรียกว่าสงบ พอมีความสงบภายในแล้ว การที่จะสงบหรือนิ่งภายนอก มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่สงบภายในเพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่มีกิเลสมารบกวน กิเลสไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ หรือว่าโมหะ มันก็ไม่มารบกวนอีกแล้ว ที่คนส่วนใหญ่นิ่งไม่ได้เพราะว่ากิเลสมารบกวน
ทีแรกใจไม่นิ่งก่อน ที่ใจนิ่งไม่ได้เพราะว่าอยากได้ อันนี้เพราะอำนาจของโลภะ หรือมิเช่นนั้นก็อยากผลักไส อยากกำจัดออกไป อยากหนีให้ห่าง อันนี้เรียกว่าอำนาจของโทสะ พอจิตไม่นิ่ง มันก็เป็นธรรมดาที่อากัปกิริยาภายนอกจะนิ่งเฉยไม่ได้ มันต้องทำ ต้องดิ้นรนแสวงหาเพื่อสนองความอยาก อันนี้เรียกว่าทำไปตามอำนาจของโลภะ หรือว่าอดรนทนไม่ได้ต้องพูดต้องด่า หรือว่าต้องลงมือลงไม้ สู้รบตบมือกัน อันนี้เรียกว่านิ่งไม่ได้เพราะอำนาจของโทสะ
ถึงแม้บางคนคุมอากัปกิริยาได้ แต่ข้างในก็รุ่มร้อนแม้ว่าในยามที่ไม่มีโลภะ โทสะรบกวน จนกระทั่งไม่ทำให้ทำอะไรต่ออะไรออกมา แต่บางครั้งก็มีตัวอื่นมารบกวนเช่น นิวรณ์ซึ่งก็เป็นน้องๆโลภะ โทสะ ไม่ว่าจะเป็นกามฉันทะ ไม่ว่าจะเป็นปฏิฆะ
กามฉันทะคือความอยากได้ หรือการนึกถึงสิ่งที่ปรนเปรอตาหูจมูกลิ้นกาย แม้ว่าไม่ถึงกับดิ้นรนอยากจะได้ แต่ก็ระลึกนึกถึงด้วยความห่วงหาอาลัยอาวรณ์ หรือปฏิฆะคือความหงุดหงิด ขุ่นเคือง หรือว่าความฟุ้งซ่านที่ทำให้เกิดความร้อนอกร้อนใจเช่น อุทธัจจะกุกกุจจะ ยังไม่ต้องพูดถึงความง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม ถีนมิทธะคือความลังเลสงสัย พวกนี้ก็มารบกวนจิตใจทำให้อยู่นิ่งไม่ได้เหมือนกัน
นักปฏิบัติจำนวนไม่น้อยอยู่กับตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม สร้างจังหวะหรือว่านั่งนิ่งๆ อยากจะเลิกอยากจะหยุดเพราะว่าอยากจะออกไปพูดไปคุย อยากจะไปออกไปข้างนอกหาอะไรกิน
ที่นักปฏิบัติจำนวนมากเวลามาปฏิบัติรู้สึกทรมานมากก็เพราะว่าตัวนิวรณ์ ทำให้ความพยายามที่จะอยู่กับตัวเองหรืออยู่นิ่ง ทำไม่ได้ ต่อเมื่อได้เข้าถึงธรรม จนกระทั่งรู้ว่าไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ แล้วก็สามารถที่จะเห็นถึงมายาภาพของตัวกูว่า มันไม่มีจริง เมื่อละวางความยึดติดถือมั่นในตัวกู ในของกู หรือในของสิ่งต่างๆได้ การที่จะเกิดโลภะโทสะมันก็เป็นอันหมดไป
เมื่อไม่มีโลภะโทสะหรือนิวรณ์มารบกวน ใจก็นิ่งสงบไม่ใช่เป็นความนิ่งเพราะว่าเฉื่อยเนือย หรือว่าเพราะเบื่อ แต่เป็นเพราะไม่มีอะไรมารบกวนต่างหาก ก็ทำให้เกิดความสงบภายใน ไม่หลงใหลต่อสิ่งล่อเร้าเย้ายวนจากภายนอก หรือไม่หวั่นไหวไปบสิ่งที่มายั่วยุ แรงผลักจากภายในเพราะทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ทนกับความจำเจไม่ได้ มันก็หมดไป แรงผลักก็ดับ แรงดึงดูดก็ไม่มีเสน่ห์ มันก็ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้ต้องดิ้นรน วิ่งพล่านต่อไป
ผลที่ตามมาคือความสงบสงบภายนอกเพราะว่าภายในเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดมารบกวน ถ้าเกิดว่าเราอยากจะวัดดูว่าการปฏิบัติของเราก้าวหน้าแค่ไหน ก็ตรงนี้แหละเป็นตัวชี้วัดอันหนึ่งว่าเรานิ่งได้แค่ไหน ไม่ว่าเป็นภายในหรือภายนอก
- วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564