แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกวันเมื่อตื่นเช้าขึ้นมา เราก็ล้างหน้า แปรงฟัน แล้วก็อาบน้ำ เราชำระร่างกายให้สะอาดวันละหลายครั้ง แต่ใจของเราล่ะเราได้ชำระให้สะอาดให้ผ่องใสบ้างหรือเปล่า เวลาเรากินข้าววันหนึ่งหลายมื้อเพื่อเติมอาหารให้กับร่างกาย แต่เราเติมอาหารให้จิตใจบ้างหรือเปล่า
แต่ละวันๆ เราให้ความสำคัญกับร่างกายเรา ดูแลร่างกายมาก แต่ว่าการดูแลจิตใจ เรากลับไม่ค่อยเห็นความสำคัญเท่าไหร่ ปล่อยให้จิตใจเศร้าหมอง หรือว่าจิตใจผ่ายผอม การทำเช่นนั้น ในที่สุดมันก็กลับมาเป็นโทษกับตัวเราเอง จิตใจเมื่อไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มันก็อาจจะกลายเป็นจิตใจที่เกเร สุดท้ายก็ใช้กายไปในทางที่เป็นโทษ ใช้กายเพื่อไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการต่อว่าด่าทอ เพื่อสร้างความเจ็บแค้น หรือว่าลักขโมยข้าวของ หรือ แย่งชิงของรักของเขา หรือหนักกว่านั้นก็คือทำร้ายร่างกายจนถึงตายก็มี
อันนี้ก็เพราะว่าการบงการทางจิตใจ เมื่อจิตใจขาดการฝึกฝน มันก็ใช้กายไปในทางที่ผิด รวมทั้งใช้กายทำในสิ่งที่เป็นโทษต่อตัวมันด้วยอย่างเช่น การกิน การเสพ การดื่ม ส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อการปรนเปรอจิตใจ ไม่ได้เพื่อการดูแลร่างกายเท่าไหร่ อย่างเช่น อาหารที่เรากินอร่อย หลายสิ่งหลายอย่างก็กลับเป็นโทษต่อร่างกายด้วยซ้ำแต่เราก็กินเพราะว่าอร่อย เพราะว่าน่ากิน เช่น ผักที่เขียว ผลไม้ที่หวาน ทั้งๆที่เราก็รู้ว่า มันอาจจะเต็มไปด้วยสารเคมี ผักเขียวไม่มีแมลงเจาะเลยเราก็รู้อยู่แล้วว่าใช้ยาฆ่าแมลง
คนที่เขารักษาสุขภาพจริงๆหลายคนจะเลือกผักที่มีรอยแมลงเจาะแมลงกิน แปลว่าไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงเท่าไหร่ สำหรับหลายคนผักแบบนั้นมันไม่สวย ผลไม้ก็เหมือนกัน แตงโมก็ต้องเนื้อแดงๆเพราะอะไร เพราะว่ามันทำความพอใจให้กับจิตใจ ได้กินของที่สวย น่ากิน แต่ว่าเป็นโทษ ไม่ต้องพูดถึงเหล้า ไม่ต้องพูดถึงบุหรี่ ซึ่งมันเป็นโทษชัดเจนอยู่แล้ว
แต่การกินเพื่อความเอร็ดอร่อย มันเป็นการตอบสนองปรนเปรอจิตใจมากกว่า แล้วก็ตามมาด้วยการเป็นโทษต่อร่างกาย ทั้งที่บางทีร่างกายก็เริ่มจะป่วย เริ่มจะเป็นเบาหวาน มีน้ำตาลในกระแสเลือดมาก หรือว่ามีน้ำหนักเพิ่มเป็นโรคอ้วน กินของหวานมากๆก็จะยิ่งเป็นเบาหวาน หรือว่ากินไขมันมากก็จะเป็นโรคหัวใจ บางทีก็เป็นแล้วด้วย โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไตวาย
หมอบอกว่าให้คุมอาหารก็รู้ทั้งรู้ว่าร่างกายไม่ดีก็ยังกิน เพราะมันอร่อย หรือว่ากินพะโล้ กินขาหมูเพราะมันอร่อย อร่อยที่ไหน อร่อยที่ใจ แม้ว่าเราจะใช้ลิ้นในการรับรู้ก็ตาม
ไม่ใช่เฉพาะการกิน การดื่ม การเที่ยวก็เหมือนกัน เที่ยวแบบไม่บันยะบันยังเพื่อปรนเปรอความต้องการของจิตใจ แต่ว่าร่างกายกลับย่ำแย่ ไม่ได้พัก และการเที่ยวบางอย่าง กิจกรรมบางอย่างก็เสี่ยงอันตราย แต่ว่าใจมันชอบ เช่น มันตื่นเต้น ขับรถซิ่งอันตรายมากเลย บางทีก็เกิดอุบัติเหตุ รถล้มชนกัน แข้งขาหักพิการ ทำอย่างนั้นไปเพื่ออะไร ก็เพื่อสนองความต้องการของจิตใจ ซึ่งที่จริงก็คือการปรนเปรอกิเลสนั่นเอง มันต้องการความตื่นเต้น ต้องการความเร้าใจ
แม้กระทั่งการยกพวกตีกัน หัวร้างข้างแตกถึงตาย บ่อยครั้งก็เพื่อสนองความตื่นเต้น หรือว่าสนองตัวอัตตาว่า กูเก่ง กูแน่ เพื่อยืนยันความเป็นแมน ความเป็นผู้ชาย หรือว่าจะเพื่อแก้แค้นก็ตาม มันก็เป็นการตอบสนองความต้องการของจิตใจ แต่สุดท้ายร่างกายกลับเป็นฝ่ายรับเคราะห์ บางทีก็ถึงตาย ยังไม่ต้องพูดถึงว่าไปก่อความเดือดร้อนกับผู้คนอีกมากมายรวมทั้งสร้างความทุกข์ให้กับพ่อแม่หรือคนรัก
แต่ถ้าหากว่าใจของเราได้รับการฝึกฝนมาดี ได้รับการใส่ใจ รู้จักชำระจิตใจให้หายหม่นหมอง หรือว่าชำระจิตใจให้ผ่องใส ไม่ให้ความเครียดความเกลียด ความโกรธมันหมักหมมหรือสะสม เผาลนจิตใจรวมทั้งรู้จักฝึกจิตให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรอะไรคือสิ่งที่ไม่สมควร
ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีพลัง มีกำลังที่จะทำสิ่งที่สมควรได้ ใจก็จะใช้กายไปในทางที่ถูกต้อง เช่น ใช้กายไปในทางการทำความดี ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ทำกิจเกี่ยวกับส่วนรวม ดูแลผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือว่าดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไปปลูกป่า ไปทำให้น้ำเน่ากลายเป็นน้ำสะอาดน้ำใส ต้องใช้เรี่ยวต้องใช้แรง รวมทั้งกายเป็นเครื่องมือ
ผู้ที่เป็นบัณฑิตหรือผู้ที่มีการศึกษาดีแล้ว ใจจะใช้กายไปในทางที่ถูกต้องที่สมควร เริ่มตั้งแต่การกิน กินในสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อร่อยก็สำคัญอยู่ แต่ว่าไม่สำคัญเท่ากับสุขภาพ อย่างทุกเช้าที่วัดเราพิจารณาอาหาร เราไม่ได้พิจารณาเพื่อความเอร็ดอร่อยหรือเพื่อประดับประดา หรือเพื่อความโก้เก๋ แต่เป็นไปเพื่อการมีมีสุขภาพดี เพื่อบำบัดทุกข์เวทนาเก่า ไม่สร้างทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความจุก ความแน่นเสียดท้อง หรือว่าความเจ็บป่วยที่จะตามมา อันเนื่องมาจากการกินที่ถูกใจ แต่ว่าเป็นโทษต่อร่างกาย
ไม่ใช่เฉพาะแต่ของปิ้งย่างทอดที่กินมากๆแล้วเป็นโทษ แม้แต่ของที่ดีๆ น้ำตาล ไขมัน คาร์โบไฮเดรต กินมากๆเข้าไปเพื่อสนองความเอร็ดอร่อยอิ่มอกอิ่มใจก็กลับเกิดโทษ
ผู้ที่พิจารณาอาหารเขาจะเลี่ยงที่จะทำอย่างนั้น จะเสพที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายเป็นเครื่องมือในการที่จะทำสิ่งดีงาม ไม่ว่าจะเป็นการรักษาศีล ที่จะเป็นไปเพื่อการไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น หรือทำยิ่งกว่านั้นก็คือการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ
จิตใจที่ฝึกฝนไว้ดีแล้ว จะใช้กายไปในทางที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นมากมาก รวมทั้งการภาวนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติ การทำสมาธิ มันต้องใช้กาย ใช้กายในการเดินจงกรม ใช้กายในการยกมือสร้างจังหวะ ใช้กายเป็นฐานในการสร้างความรู้สึกตัวขึ้นมา
การเจริญสติ ถ้าเราไม่ใช้กายเป็นฐานตั้งแต่แรกหรือว่าไม่ฝึกให้รู้กาย การที่จะไปรู้ใจ รู้ทันกิเลสรู้ทันอัตตามานะมันก็จะยาก มันต้องเริ่มต้นจากการรู้กายก่อน กายทำอะไร ใจก็รู้ ที่จริงแม้กระทั่งจะมาฟังธรรม เราก็ต้องใช้กายตัวเรามาเพื่อมาฟังธรรม จะฟังธรรมได้ หูก็ต้องดีด้วย ถ้าหูตึงมันก็ฟังธรรมลำบาก หูดีแล้วแต่สมองไม่ดีก็ยากเหมือนกัน
การฟังธรรม การศึกษาธรรมแม้จะไม่ต้องถึงขั้นลงมือปฏิบัติ เราก็ต้องอาศัยกายใช้เป็นเครื่องมือ ยิ่งเป็นการปฏิบัติฝึกจิตในระดับที่สูงขึ้น ยิ่งต้องใช้กายมาก แม้กระทั่งคนพิการจะฝึกจิต ก็ต้องใช้กาย
อย่างอาจารย์กำพล พิการตั้งแต่คอลงมา จะขยับเขยื้อนก็ลำบาก แต่เมื่อจะฝึกจิตให้หลุดจากความทุกข์เพราะพิการก็ต้องอาศัยการปฏิบัติที่กายเป็นจุดเริ่มต้น เดินไม่ได้สร้างจังหวะยกมือสร้างจังหวะไม่ได้ ก็พลิกมือไปพลิกมือมา ระหว่างที่พลิกมือก็เป็นแบบฝึกหัดในการฝึกใจไปด้วย ให้เห็นว่ามือที่กำลังเคลื่อนเป็นรูป ใจที่มันเผลอคิดไปเป็นนาม ก็ใช้เป็นกายเป็นฐาน เราใช้กายเป็นฐานในการฝึกจิต
แล้วเรายังใช้กายในอีกอย่างหนึ่ง ในการที่จะทำให้จิตใจเจริญงอกงามนั่นก็คือว่า เมื่อเราใช้ตาเห็นรูป ใช้หูในการรับเสียง ใช้ลิ้นในการรับรสก็รู้จักรักษาใจไม่ให้กระเพื่อม ไม่ให้กิเลสครอบงำ อันนี้เรียกว่ากายภาวนา ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยิน ไปเข้าใจว่าภาวนามันก็หมายถึงเฉพาะการฝึกจิตให้มีสมาธิ ให้มีสติ หรือว่าเกิดปัญญาด้วยวิปัสสนา อันนั้นก็ภาวนาเหมือนกัน ถ้าเรียกเจาะจงเรียกว่าจิตภาวนากับปัญญาภาวนา
ภาวนามีหลายประเภทหลายระดับ ไม่ใช่ว่าหมายถึงการเจริญสติ ทำสมาธิ หรือว่าการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น นอกจากจิตภาวนา ปัญญาภาวนาแล้ว ก็ยังมีศีลภาวนา ศีลภาวนาก็คือ ศีลสิกขาหรืออธิศีลสิกขานั้นเอง อันนี้พูดแบบวิชาการสักหน่อย ก็คือการฝึกศีล ฝึกกาย วาจาให้งดงาม ให้เป็นปกติ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แล้วก็ยิ่งกว่านั้นคือการเกื้อกูลช่วยเหลือผู้อื่นด้วย
แต่นอกจากศีลภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา ก็ยังมีกายภาวนา ซึ่งคือพัฒนากาย แต่มันไม่ได้หมายความว่าทำให้กายแข็งแรงหรือว่าการบริหารกายอย่างที่เราอาจจะเข้าใจ กายภาวนาก็คือการใช้กาย หรือการใช้ตาหูจมูกลิ้นกายในการรับรู้สิ่งต่างๆ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดทุกข์กับจิตใจ เช่น ตาเห็นรูปแล้ว แต่ว่าใจไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดความโลภ ไม่เกิดโทสะขึ้นมา หรือว่าไม่เกิดความหลง
เมื่อหูได้ยินเสียง หรือใช้หูในการรับรู้เสียงต่างๆแล้ว ก็รักษาใจไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง ได้ยินแล้วใจก็ไม่เคลิ้มคล้อยหลงใหล จนลืมเนื้อลืมตัว หรือเกิดกิเลสขึ้นมา อันนี้เรียกว่ากายภาวนา ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้มันต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอินทรียสังวร
ที่จริงกายภาวนากับอินทรียสังวร เป็นเรื่องเดียวกันเลยก็ว่าได้ แต่อินทรียสังวรคลุมไปถึงการรับรู้ 6 ช่องทาง ส่วนกายภาวนาเน้นเรื่องการรับรู้โดยผ่านตาหูจมูกลิ้นกาย 5 อย่าง ใช้กายในการรับรู้สิ่งต่างๆ โดยที่รักษาใจไม่ให้เป็นทุกข์ ไม่ให้เกิดกิเลส ไม่ให้เกิดความเศร้าหมอง จะทำอย่างนั้นได้ต้องอาศัยสติด้วยในการรักษาใจ
แต่ก่อนอื่น เราก็ใช้ตาในการรับรู้สิ่งดีๆก่อน ใช้หูในการรับรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล อะไรที่มันเป็นโทษ อะไรที่มันเป็นสิ่งที่ล่อเร้าเย้ายวนให้เกิดกิเลสหรือยั่วยุให้เกิดโทสะ เราก็พยายามหลีกเลี่ยง หรือว่าเกี่ยวข้องแต่น้อย
อย่างที่เราอาจจะเคยเห็นภาพลิง 3 ตัว ตัวหนึ่งปิดตา ตัวหนึ่งปิดหู อีกตัวหนึ่งปิดปาก อันนี้คือการใช้กายเพื่อจะระแวดระวังไม่รับรู้สิ่งที่มันเป็นโทษ อะไรที่ไม่ดี รูปที่ไม่ดี ที่กระตุ้นกิเลส เราก็ไม่ไปรับรู้ เสียงก็เหมือนกัน ที่กระตุ้นกิเลส กระตุ้นโทสะ กระตุ้นราคะ เราก็ไม่หูไปฟังเอา รวมทั้งการคุมปากไม่ให้พูดในสิ่งที่ไม่สมควร อันนี้ก็จัดว่าเป็นกายภาวนาได้
แต่ถ้าหากว่าจะต้องเห็นรูป ได้ยินเสียง ที่มันจะกระตุ้นกิเลส ก็ให้มีสติรู้ทัน ไม่ทำให้ใจกระเพื่อม หรือยิ่งกว่านั้นพิจารณาจนเกิดปัญญาอันนี้ก็เป็นการใช้กายไปในทางที่ส่งเสริมความเจริญงอกงามของจิตใจ เป็นการใช้กายเพื่อส่งเสริมจิตภาวนา ปัญญาภาวนาไปด้วย ถ้าเราฝึกใจให้ดี กายก็จะเป็นไปเพื่อส่งเสริมความดีงามของชีวิต และในขณะเดียวกันใจก็จะไม่ใช้กายไปในทางที่เกิดโทษ แก่ตัวมันเอง
จิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว กายจะพลอยดีตามไปด้วย จิตที่มีสติ มีปัญญา รู้จักปล่อยรู้จักวาง ไม่ปล่อยให้กิเลส ตัณหา ราคะ โทสะครอบงำ ร่างกายก็ผ่อนคลายสุขสบาย เรียกว่าเกิดความผสมกลมกลืนเกื้อกูลกันทั้งกายและใจ แต่ถ้าใจไม่ได้รับการฝึกให้ดี ใช้กายไปในทางที่เสียหายขึ้นมา เสพ ดื่ม เที่ยว เล่น เพื่อสนองความต้องการของใจล้วนๆ พอกายป่วย สุขภาพย่ำแย่ สุดท้ายใจก็พลอยแย่ไปด้วย เพราะว่าพอกายป่วย ใจก็ป่วยไปด้วย เกิดความเครียด เกิดความห่อเหี่ยว เกิดความหงุดหงิด เกิดความวิตกกังวล เกิดความเศร้าหมอง จนบางทีถึงกับซึมเศร้า สุดท้ายก็ฆ่าตัวตาย เพราะว่าถูกทุกขเวทนาทางกายมันฉุดมันรั้ง เรียกว่าให้ย่ำแย่ไปทั้งสองฝ่าย ทั้งใจและกาย
แต่พอใจฝึกไว้ดีแล้ว มันก็ช่วยกายให้มีสุขภาพดีให้แข็งแรง โดยเฉพาะใจที่รู้จักเคี่ยวเข็ญร่างกายในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กายก็ไม่ค่อยชอบ ต้องอาศัยใช้ใจที่มีความตั้งใจความเพียรอดทนในการเคี่ยวเข็ญให้กายตื่นแต่เช้า แล้วก็วิ่ง หรือว่าว่ายน้ำ หรือว่าบริหารโยคะ กายไม่ชอบ แต่พอใจเคี่ยวเข็ญให้ทำ สิ่งดีๆ ผลดีก็เกิดขึ้นกับกาย
พอกายแข็งแรง ใจก็พลอยสดชื่นแจ่มใสไปด้วย หรือถึงแม้เวลากายมันแย่เพราะความแก่ชราเพราะความป่วย แต่ว่าใจไม่เศร้าหมอง ไม่ห่อเหี่ยวเพราะฝึกไว้ดีแล้ว จากการที่ใช้กายในการภาวนา ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติ การทำสมาธิที่เรียกว่าจิตภาวนา ปัญญาภาวนา หรือว่าการฝึกใช้ตาหูจมูกลิ้นกาย เพื่อความเจริญงอกงามทางจิตใจ เรียกว่าการภาวนามันก็เกิดความสามัคคีกันขึ้นมา
สามัคคีเป็นสิ่งสำคัญ แต่เรามักจะพูดถึงความสามัคคีกับผู้คนแวดล้อม สามัคคีในครอบครัว สามัคคีในองค์กร ในหน่วยงาน แต่ว่าสามัคคีที่เป็นพื้นฐานคือ ความสามัคคีระหว่างกายกับใจ มีความราบรื่นกลมกลืนกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการฝึกจิตเป็นเบื้องต้น จิตหรือใจพากายไปในทางที่ถูกต้อง ใช้กายไปในทางที่สร้างสรรค์
แต่ถ้าจิตฝึกไว้ไม่ดี หรือว่าไม่สนใจเลย ไม่สนใจในการฝึกจิตเลย มันก็ใช้กายไปในทางที่เกิดความเสียหาย ไม่ใช่กับคนอย่างเดียว สุดท้ายก็ยังเกิดโทษทั้งต่อใจและกาย
เพราะฉะนั้น การสร้างความสามัคคีระหว่างกายกับใจ เป็นพื้นฐานเลยทีเดียว ฉะนั้น การเจริญสติ ถ้าเรามาฝึกใจให้มาตามดูรู้กาย ต่อไปมันก็จะรู้ทันความคิดและอารมณ์ ไม่ทำให้จิตกับกายแปลกแยกกัน หรือทำให้ตัวเราแปลกแยกหรือขัดแย้งกับผู้อื่นไปในทางที่เกิดโทษ เมื่อสามัคคี เกิดขึ้นกับกายและใจได้ การที่จะเกิดความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับผู้คนแวดล้อม รวมทั้งกับโลกรอบตัว มันก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น.
- แสดงธรรมเช้าวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564