แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ๆ ๆ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
วันนี้ญาติโยมสาธุชนจากหลายแห่งหลายที่ ทั้งจากกรุงเทพฯ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาชัย รวมทั้งญาติโยมในชุมชนใกล้เคียง บ้านใหม่ชัยเจริญ เป็นต้น ได้พร้อมใจกันมาทำบุญ ที่ถือกันว่ามีอานิสงส์มาก นั่นคือบุญกฐิน ที่มีอานิสงส์มาก ไม่ใช่เพียงเพราะว่าทำได้ยาก คือทำได้ปีละครั้ง สำหรับวัดใดวัดหนึ่ง แล้วก็ทำได้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดคือ 30 วัน หลังจากออกพรรษาเท่านั้น
แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือมุ่งส่งเสริมเชิดชูสามัคคีธรรมในหมู่สงฆ์ซึ่งได้ร่วมใจ บำเพ็ญสมณกิจตลอด 3 เดือนได้อย่างราบรื่น และยังมีความเห็นพ้องต้องกันเอกฉันท์ในการยกผ้ากฐินนั้นให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยไม่มีเสียงทักท้วงหรือคัดค้าน
บุญที่ว่ามีอานิสงส์มากก็คือตรงนี้แหละ เพราะว่าเมื่อส่งเสริมสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ ก็เท่ากับว่าได้ช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูหมู่สงฆ์ให้สามารถจะบำเพ็ญสมณกิจทั้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมได้ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการอุปถัมภ์อำนวยให้เกิดความเจริญงอกงามแก่พระพุทธศาสนาโดยรวม
ตรงนี้แหละคือความหมายของคำว่าบุญที่มีอานิสงส์มาก ขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมบำเพ็ญบุญก็ได้รับความสุข ความแจ่มใสเบิกบานที่ได้มาร่วมกันทำความดี ไม่ใช่เป็นการทำความดีเฉพาะตน แต่ว่าได้พร้อมเพรียงกันมาทำร่วมกัน ก็ย่อมเกิดความสดชื่นแจ่มใส บ้างก็มาถวายปัจจัยสมทบกับเจ้าภาพ ถวายบริวาร ขององค์กฐิน หรือว่าจัดอาหารโรงทานมาเพื่อต้อนรับสาธุชน อันนี้ก็ย่อมทำให้เกิดความสุข ความผ่องใส ปีติปราโมทย์ แก่ผู้ที่ร่วมงานทุกท่าน
ความรู้สึกที่ผ่องใสเบิกบานเหล่านี้ก็คือบุญนั่นแหละไม่ต้องรออานิสงส์ของบุญในอนาคตเบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็นโชคลาภ เพราะว่าความสุขหรือปีติปราโมทย์ที่เกิดขึ้นกับทุกท่านในขณะนี้ มันก็คือบุญแล้ว เพราะว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข
เชื่อว่าหลายท่านในที่นี้ เมื่อเสร็จจากการทอดกฐินที่วัดป่าสุคะโตแล้ว ก็มีแผนการที่จะไปทอดกฐินทำบุญในที่ต่างๆอีกมากมาย จนแม้กระทั่งเมื่อหมดสิ้นฤดูกาลทอดกฐินแล้ว ก็ยังมีความตั้งใจที่จะไปทำบุญที่นั่นที่นี่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะขวนขวายในการทำบุญที่ไหนก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมก็คือว่าการทำบุญที่ใจของตัวด้วย ถ้าเราไปทำบุญที่นั้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นวัด หรือว่าเป็นสถานปฏิบัติธรรม หรือว่าเป็นสถานที่บำเพ็ญกิจการสาธารณประโยชน์ อันนี้ก็ดีอยู่ แต่ก็อย่ามองข้ามการทำบุญที่้ใจด้วย
การทำบุญใจ อาจจะเริ่มต้นจากการให้ทาน หรือการสละสิ่งของ จะเพื่อประโยชน์ของพระสงฆ์ วัดวาอาราม หรือเพื่อช่วยสงเคราะห์ผู้ที่ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนก็ดี
ถ้าเราวางใจถูก บุญนั้นก็จะช่วยขยายใจให้แผ่กว้าง เกิดความโปร่งโล่ง เป็นบุญที่ทำให้ความโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นบุญที่ช่วยทำให้จิตใจขยายกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ถูกกดดัน หรือว่าบีบคั้นด้วยความเห็นแก่ตัว การขยายใจของตนให้กว้าง เรียกว่าใจกว้าง เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต
เพราะว่า ถ้าใจของเราแผ่กว้าง ความสุขก็สามารถจะมาสถิต มาประทับอยู่ในใจของเราได้ง่ายขึ้น ก็เหมือนกับพวกเรา ถ้าเราเห็นที่ใด ห้องใด สถานที่ใดเป็นสถานที่โปร่งโล่งกว้างขวาง เราก็อยากจะไปพัก ที่ใดห้องใดที่คับแคบอุดอู้ เราก็คงไม่อยากจะอยู่ไปใช้สอยเท่าไร ความสุขก็เช่นเดียวกัน ความสุขก็ชอบจิตใจที่กว้างขวาง โอบอ้อมอารี
ถ้าจิตใจของผู้ใดคับแคบ ด้วยความแก่ตัว ความสุขก็ไม่ค่อยอยากจะเข้าไปสถิตอยู่ในจิตใจของผู้นั้นเท่าไหร่ ความกว้างขวางของจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า ที่เราไม่ควรจะมองข้าม นั่นคือ ความลุ่มลึกของจิตใจ จิตใจที่ดีนอกจากจะกว้างขวางแล้ว ต้องมีความลุ่มลึก เพราะจิตที่ลุ่มลึกก็เปรียบเสมือนกับฐานรากที่รองรับ ไม่ว่าจะเป็นอาคารหรือว่าสิ่งก่อสร้างใดๆที่มีฐานมั่นคง
เมื่อ 10 ปีก่อน มีการสร้างธูปที่สูงที่สุดในโลก หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างมาได้ไม่กี่ปี พอเกิดพายุกระหน่ำ ธูปนั้นก็พังครืนลงมา มีคนบาดเจ็บล้มตายกันหลายคน เป็นข่าวใหญ่ ก็มีคนบอกว่าพี่ธูปทั้งคืนลงมาก็เพราะว่ามันสูงเกินไป สูง 30 เมตร ที่จริง 30 เมตรก็ไม่ได้สูงเท่าไหร่ เพราะตึกที่สูงเป็น 100 เมตรก็มี
แต่ที่ธูปนั้นพังครืนลงมา เป็นเพราะว่าฐานรากไม่ลึกต่างหาก ถ้ามีฐานรากที่ลึก ก็สามารถต้านทานลมพายุที่พัดกระหน่ำได้ คนเราก็เหมือนกัน ถ้าเรามีจิตใจที่ลุ่มลึก แม้ว่าจะมีพายุหรือมีภัยใดๆมากระทบก็สามารถที่จะตั้งมั่น หรือมั่นคงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นนอกจากใจที่กว้างขวางแล้ว เราต้องฝึกใจให้มีความลุ่มลึกด้วย เพื่อเป็นฐานรากที่มั่นคงให้กับชีวิต
จิตใจที่ลุ่มลึกหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า จิตใจที่สามารถจะเข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้งได้ เวลาพูดถึงความสุข ผู้คนทั้งหลายก็มักจะนึกถึงสิ่งที่อยู่นอกตัว ผู้คนต่างไล่ล่าหาความสุข โดยเข้าใจว่าความสุขอยู่นอกตัว เช่น ต้องไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ หรือไปช้อปปิ้ง หรือว่าไปสนุกสนานกับเพื่อนฝูงที่นั่นที่นี่จึงจะมีความสุข แต่ที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่ความสุขที่ประเสริฐหรือลึกซึ้งเท่าไหร่
ความสุขที่ประเสริฐมันอยู่ที่กลางใจของเรา ถ้าจิต ของเราสามารถจะเข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้งมากเท่าไหร่ เราก็จะเหมือนกับว่า มีน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีความสดชื่นแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเช้าหรือเย็น ไม่ว่าอยู่ในชีวิตจะขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม แต่คนมักจะมองข้ามความสุขชนิดนี้
เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ที่ประเทศแอฟริกาใต้ มีคนหนึ่งอยากจะทำไร่นานนับ 10 ปี เขาได้ข่าวว่ามีการค้นพบเพชรเม็ดงามที่นั่นที่นี่ ชายคนนี้อยากร่ำรวยอยากได้เพชร ก็เลยขายที่ของตัว แล้วก็ไปตามหาเพชร แต่ว่าไม่ว่าจะตามหาที่ใด ก็ไม่พบสักที สุดท้ายก็กลายเป็นคนยากไร้ และตายอย่างอเนจอนาถ
ไม่กี่ปีต่อมาก็มีคนพบว่า ที่ของชายผู้นั้นที่ขายไปให้กับชายผู้หนึ่ง ปรากฏว่าที่ผืนแห่งนั้นมันเป็นเหมืองเพชรเลย มีคนพบเหมืองเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันคือที่ของชายคนนั้น ชายคนนั้นไปหาเพชรจากที่ไกล หารู้ไม่ว่า ของดีมีค่าอยู่ในที่ของตัวนั่นแหละ อยู่ไม่ไกลจากตัวเลย แต่เขาหาตระหนักไม่
อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจว่า ความสุขที่ผู้คนไปแสวงหาจากที่นั่นที่นี่ เป็นเพราะเขาลืมไปว่า แท้จริงความสุขที่ประเสริฐ มันอยู่กับตัวเขาอยู่แล้ว มันอยู่ไม่ไกลจากตัวเขาเลย มันอยู่กลางใจเขานั้นเอง แต่เป็นเพราะคนเราไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ หรือเป็นเพราะจิตใจไม่ลึกซึ้งเพียงพอที่จะหยั่งถึงความสุขกลางใจ จึงมัวแต่จะไปหาความสุขจากภายนอก
และแม้จะประสบความสำเร็จในการค้นหาอย่างที่ตั้งใจ แต่ในที่สุดก็จะพบว่า มันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริงเลย ไม่ได้ทำให้เกิดความพึงพอใจในชีวิต
เมื่อ 20 ปีก่อน มีชายผู้หนึ่งได้รับมอบหมาฃยให้มากอบกู้กิจการของบิดา คงจำได้ปี 40 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เมืองไทย และกิจการของครอบครัวชายผู้นี้ ซึ่งเป็นกิจการก่อสร้าง ปรากฏว่าขาดทุนเป็นพันๆล้าน ผู้เป็นบิดาไม่สามารถที่จะกอบกู้ธุรกิจให้พ้นจากหนี้สินได้ ก็เลยให้ลูกชายมาทำหน้าที่แทน
ปรากฏว่าลูกชายใช้เวลาไม่กี่ปี ก็สามารถกอบกู้ธุรกิจของบริษัทให้พ้นจากภาวะหนี้สิน หนี้สินนับพันล้านพันล้านนี้ สามารถจะชำระได้ในเวลาไม่กี่ปี เพียงเท่านี้ก็น่าจะมีความสุขได้ แต่ว่าเขาทำยิ่งกว่านั้น ก็คือว่าสามารถขยายกิจการของบริษัทของครอบครัว จนกระทั่งมีสินทรัพย์นับหมื่นล้าน จากธุรกิจที่เป็นหนี้พันล้าน กลายเป็นธุรกิจทรัพย์สินทรัพย์หมื่นล้านก็น่าจะภาคภูมิใจและก็น่าจะทำให้เขามีความสุขได้
แต่ว่าวันหนึ่งเขาก็พบว่า เขาไม่มีความพอใจในชีวิต เขาเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตขึ้นมา วันหนึ่งเขามีความรู้สึกว่าชีวิตผมจะมีความหมายอะไรก็แค่เศรษฐีหมื่นล้านเท่านั้นเอง เป็นเศรษฐีหมื่นล้านแต่ไม่มีความสุข เพราะอะไร เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะพบความสุขที่ลึกซึ้ง ซึ่งมันไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สินเงินทอง หรือชื่อเสียงเกียรติยศ แต่ว่ามันอยู่ที่กลางใจเขา
จิตที่ลุ่มลึกมันทำให้เขาเข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้งที่อยู่กลางใจ และแม้จะมีแค่ปัจจัย 4 ก็สามารถที่จะรู้สึกถึงความอิ่มเอมเกิดความปีติปราโมทย์ในชีวิตได้ เหมือนกับหลวงพ่อหลวงตาหลายท่าน ที่เราถือว่าเป็นพระอริยสงฆ์ ท่านก็มีแค่อัฐบริขารหรือบริขาร 8 แต่ท่านก็มีความผ่องใสมีความสดชื่น เพราะท่านเข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้งภายใน ไม่ได้อิงอาศัยความสุขจากสิ่งนอกตัวเลย
ในสมัยพุทธกาล มีพระรูปหนึ่ง ที่จริงท่านก็ไม่ได้ตั้งใจบวชหรอก แต่ว่าบวชตามเพื่อน นั่นคือพระภัททิยะ เดิมท่านเป็นราชาของตระกูลศากยวงศ์ บวชตามเพื่อนที่ชวนคือเข้าชายอนุรุทธ โดยไม่คิดว่าจะบวชนานเท่าไหร่ ทีแรกก็รู้สึกมีความทุกข์กับการบวช แต่ไม่นานการปฏิบัติก็จะเจริญก้าวหน้าจนกระทั่งท่านได้เข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้ง
มีวันหนึ่งท่านก็ปรารภหรืออุทานขึ้นมาว่า สุขหนอๆๆ เพื่อนพระได้ยินก็เข้าใจว่าท่านปรารภถึงความสุขในสมัยที่เป็นคฤหัสถ์ หรือเป็นพระราชา จึงไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงไปเรียกพระภัททิยะมา ที่จริงพระพุทธเจ้ารู้แล้วว่าพระภัททิยะสุขเพราะอะไร เพราะว่าท่านได้เข้าถึงนิพพานสุขแล้ว แต่ว่าเปิดโอกาสให้พระภัททิยะอธิบาย
ท่านก็บอกว่าสมัยที่เป็นพระราชาแม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีบริษัทบริวารเยอะแต่ไม่มีความสุขเลย มีแต่ความหวาดกลัวตื่นตระหนก แต่เมื่อได้มาบวชแล้ว ได้เข้าถึงสัจธรรมอันลึกซึ้ง จนกระทั่งได้สัมผัสกับพระนิพพานอันเป็นความสงบอย่างยิ่ง ท่านก็เพราะว่านี่คือความสุขที่แท้ ท่านจึงอุทานว่าสุขหนอๆๆ แม้ว่าจะนอนใต้โคนไม้ ฉันมื้อเดียว ไม่มีบริษัทบริวาร
นี่คือตัวอย่างของผู้ที่เข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้ง นั่นคือความสุขที่อยู่ในใจ เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากการที่จิตปลอดโปร่งจากกิเลสจากอวิชชา พวกเราแม้จะยังไม่สามารถสัมผัสถึงความสุขชนิดนี้ได้ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน
แต่เราก็มีโอกาสที่จะได้สัมผัสความสุขที่ลึกรองๆลงไปได้เช่น เวลาใจเราเกิดความสงบ แม้จะไม่ได้สนุก แม้จะไม่มีสิ่งเสพติดมากระตุ้นเร้าให้เกิดความสนุกสนานเอร็ดอร่อยแต่ว่าความสงบในจิตใจมันก็ประเสริฐกว่าความสุขที่เกิดจากการเสพ
จิตที่ลึกซึ้งคือจิตที่เข้าถึงความสุขที่ลุ่มลึกลงไปเรื่อยๆ จากความสงบ เพราะปลอดพ้นจากความคิดฟุ้งซ่าน ความสงบเพราะจิตเป็นสมาธิ จนกระทั่งเข้าถึงความสงบ เพราะว่าปราศจากกิเลสรบกวนไม่มีอวิชชา เครื่องเศร้าหมอง นั่นเป็นความสุขที่ลึกซึ้งที่สุดที่เราชาวพุทธถือว่าเป็นจุดหมายของชีวิตก็ว่าได้
จิตที่ลุ่มลึก นอกจากจะหมายถึงจิตที่เข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้งแล้ว ยังหมายถึงจิตที่เข้าถึงสัจธรรมอันลุ่มลึกด้วย สัจธรรมหรือความจริงอันลุ่มลึกมันก็มีหลายระดับ แต่ว่าระดับที่เราสามารถจะเข้าถึงได้ไม่ยากถ้าเราฝึก ก็คือความจริงที่ว่าสุขหรือทุกข์มันอยู่ที่ใจ สุขไม่ได้อยู่นอกตัว ได้พูดไปแล้ว
เช่นเดียวกันทุกข์ก็ไม่ได้เกิดจากสิ่งภายนอก แต่ว่าเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจ คนเรามักจะคิดว่าความทุกข์เกิดเพราะความผันผวนปรวนแปรในโลกธรรม หากคิดว่าสุขเกิดจากการได้ยศ ได้ลาภ ได้สรรเสริญ ได้สิ่งปรนเปรอ ก็มักจะเข้าใจว่า ความทุกข์เกิดจากความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือว่าถูกตำหนิ หรือว่าได้รับสิ่งที่ไม่ได้ปรนเปรออำนวยความสะดวกสบายให้กับร่างกาย
แต่ที่จริงแล้วความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ความผันผวนในโลกธรรม เพราะคนบางคนแม้จะถูกต่อว่าด่าทอ เขาก็ไม่ได้มีความทุกข์เลย ถ้าหากว่าความทุกข์คนเราเกิดจากการต่อว่าด่าทอ ยามใดก็ตาม ที่ถูกคนตำหนิติฉินนินทาก็ย่อมทุกข์ แต่ที่จริงแล้วแม้จะถูกต่อว่าด่าทอ แต่ถ้าหากวางใจเป็น วางใจถูก ก็หามีความทุกข์ไม่
สมัยที่หลวงปู่ขาวมีชีวิตอยู่ มีแม่ชีคนหนึ่งชื่อแม่ชีสาเป็นผู้ที่ดูแลอุปัฏฐากพระเณรดีมาก แล้วก็ปฏิบัติดีด้วย วันหนึ่งอยู่ดีๆหลวงปู่ขาวก็เรียกลูกศิษย์ท่านเป็นพระ ให้ไปด่าแม่ชีสา พระทั้งสองท่านเชื่อฟังครูบาอาจารย์ ให้ไปด่าก็ไปด่า ก็ไปหาแม่ชีสา ไปที่กุฏิแล้วก็เรียก พอแม่ชีสาออกมา ท่านก็ผลัดกันด่า เพราะว่าด่าคนเดียวไม่ถนัด ต้องช่วยกันด่า แม่ชีสาทีแรกก็งง แต่พอตั้งสติได้ ก็ฟังอย่างสงบ ที่มาด่ากันจนกระทั่งคนด่าไม่รู้จะด่าอะไรอีกแล้ว
แม่ชีสาแทนที่จะโกรธ แทนที่จะรู้สึกว่าหนักอกหนักใจที่ครูบาอาจารย์ว่า กลับพูดด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มว่า ท่านอาจารย์ด่าว่าดิฉันหมดแล้วหรือ ดิฉันฟังแล้วซาบซึ้งใจเหลือเกิน เสียงด่าเป็นเสียงธรรมะล้วนๆเลย คราวหน้านิมนต์มาด่าอีกนะ มันจะช่วยขัดเกลากิเลส ช่วยขัดเกลาอัตตาให้เบาบางลง
แม่ชีสาถูกด่าแต่ว่าใจไม่ทุกข์เพราะอะไร เพราะว่าจะทุกข์หรือไม่ มันไม่ได้อยู่ที่ว่าถูกด่าหรือคำด่า แต่มันอยู่ที่ใจ เหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งที่มากระทบ ไม่ใช่คำด่าอย่างเดียว หรือว่าคำนินทาอย่างเดียว แม้ในยามที่สูญเสียหรือเสื่อมลาภ คนเราก็สามารถที่จะไม่ทุกข์ได้
มีผู้หญิงคนหนึ่งสูญเสียเงินไป 60 ล้านเพราะถูกโกงเธอเสียใจอยู่ 2-3 วัน หลังจากนั้นก็กลับมายิ้มแย้มแจ่มใส เพื่อนๆแปลกใจก็ถามว่าทำไมเธอถึงยิ้มได้ในเมื่อเงินสูญไปอย่างไม่ได้คืน แล้วยังมากด้วย
เธอก็ตอบว่า เพิ่งมาได้คิดว่าทุกวันนี้ก็ยังมีชีวิตที่สุขสบาย ยังมีบ้านที่สุขสบายอยู่ ยังมีอาหารที่อร่อย ยังกินอิ่มนอนอุ่นอยู่ ชีวิตนี้ก็ไม่ได้ลำบากยากแค้นกว่าเดิมเลย แล้วจะทุกข์ไปทำไม
เธอไม่ทุกข์เพราะว่าสามารถที่จะเข้าถึงความสุขในปัจจุบัน แล้วรู้จักปล่อยรู้จักวาง เมื่อทรัพย์สินเสียไปแล้ว ก็เสียแต่ทรัพย์แต่รู้จักรักษาใจไม่ให้เสีย โดยเฉพาะสามารถที่จะเข้าถึงความสุขในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจะเป็นทุกข์ไปทำไม
ไม่ใช่เฉพาะเสื่อมลาภเท่านั้น เวลาเจ็บป่วย คนจำนวนไม่น้อยพอเจ็บป่วยแล้วมันก็ทุกข์ทั้งกายทั้งใจ แต่ที่จริงแล้วเจ็บป่วย ถึงทุกข์กายก็จริง แต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้
หลวงพ่อคำเขียน สมัยที่ท่านป่วยเป็นมะเร็ง ครั้งแรกท่านมีทุกขเวทนามาก แต่ว่าใจไม่ทุกข์เลย ท่านบอกว่าไม่ทุกข์เลยนะ แม้ว่ามันจะเจ็บปวด แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นความทุกข์ กลับรู้สึกสนุกเสียอีก ท่านบอกว่าช่วงที่ป่วย สนุกป่วย ป่วยเกือบปี ตอนที่ป่วยก็มีคนช่วยทำแผลให้ ทุกขเวทนามีอยู่แต่ว่าใจไม่ทุกข์เพราะอะไร เพราะว่าความทุกข์ถึงที่สุดแล้ว มันอยู่ที่ใจ
ถ้าวางใจถูก วางใจเป็น ไม่ว่ามีอะไรมากระทบกับร่างกายก็ดี กับทรัพย์สมบัติก็ดี หรือกับหน้าตาก็ดี ใจก็ไม่ทุกข์ อย่าว่าแต่ความเจ็บป่วยเลย ความเจ็บป่วยบางอย่างยังรักษาได้ แต่ความพิการเป็นแล้วเป็นตลอดชีวิต
แต่อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ซึ่งพิการมาค่อนชีวิตทีเดียว 30 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ทีแรก ท่านก็ทุกข์มากกับความพิการ แต่ตอนหลังท่านพบว่า ที่พิการคือกายพิการ แต่ใจไม่พิการด้วย ปรากฏว่าพอเห็นความจริงเช่นนี้ ท่านบอกว่าจิตลาออกจากความทุกข์เลย แม้ว่ากายพิการ แต่จิตใจสดใสยิ่งกว่าคนที่มีร่างกายปกติ
ทั้งหมดนี้ที่เล่ามาชี้ให้เห็นเลยว่า ความทุกข์อยู่ที่ใจไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรมากระทบที่ร่างกายของเรา หรือมาพลัดพรากทรัพย์สมบัติของเรา หรือว่ามากระทบกับหน้าตาของเราด้วยคำด่าว่า ถ้ารู้จักวางใจให้เป็นแม้จะเจอสิ่งเหล่านี้ ใจก็ไม่ทุกข์
นี่คือความจริงที่เราพึงตระหนัก มันเป็นความจริงที่เราไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้จากตำรา แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถจะหยั่งเห็นได้จากชีวิตของเรา หรือว่าจากจิตใจของเรา นี่คือความหมายหนึ่งของความจริงที่ลึกซึ้ง ก็คือ พบความจริงว่า แท้จริงแล้ว ใจเป็นที่มาของสุขและทุกข์ ไม่ใช่สิ่งภายนอก ไม่ใช่ความผันผวนปรวนแปร ไม่ใช่ความเสื่อมของโลกธรรม ไม่ใช่ชีวิตขาลง
อันนี้พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ สุขหรือทุกข์ขึ้นอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ไม่ใช่ว่าสิ่งภายนอกไม่สำคัญแต่ว่าสำคัญที่สุดคือใจ และหยั่งไปให้ถึง
ความจริงที่ลึกซึ้งที่สุดก็คือความจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว มันไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นของเราเลย นี่เป็นความจริงที่ลึกซึ้งที่สุด ที่ยาก ที่คนทั่วไปหยั่งถึง เพราะคนเรามักจะมองเห็นอะไรเป็นตัวเป็นตน ต่อเมื่อมีปัญญาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งก็จะพบว่าสิ่งที่ลึกซึ้งที่สุดของสรรพสิ่งคือภาวะที่เรียกว่าอนัตตา ความไม่มีตัวไม่มีตน ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
ลำไผ่นั้นมีหลายชั้น แต่ชั้นในสุดคืออะไรคือความว่างความว่างเปล่า ความว่างเปล่าในที่นี้ไม่ใช่แปลว่าไม่มีอะไรเลย แต่หมายถึงการไม่มีตัวไม่มีตนที่เป็นอิสระ หรือว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตนยึดมั่นถือมั่นอะไรได้
มีปราชญ์ชาวอินเดียผู้หนึ่ง ท่านพูดไว้ดีท่านบอกว่า เมื่อฉันมองออกไปข้างนอก ทุกสิ่งทุกอย่างคือฉัน หรือฉันมีทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อฉันมองเข้ามาข้างใน ฉันคือความว่างเปล่า
เมื่อมองไปข้างนอก เห็นว่าทุกอย่างคือฉัน หรือฉันเป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่งทุกอย่าง อันนี้เรียกว่ากรุณา
เมื่อมองเข้ามาข้างใน แล้วพบว่าทุกอย่างคือความว่างเปล่า อันนี้เรียกว่าปัญญา
ก็ตรงกับคติกับทางพุทธศาสนาว่า เมื่อมีปัญญา หยั่งถึงความจริงอย่างถึงที่สุดก็จะพบว่า ไม่มีอะไรที่เป็นเราเป็นของเราเลย คือภาวะที่เป็นอนัตตา
ถ้าเราเข้าใจหรือเข้าถึงความจริงที่ลึกซึ้งที่สุดเช่นนี้ จิตก็จะถอนออกจากความทุกข์ได้ไม่ยาก
เมื่อสักประมาณ 1300 ปีก่อนนี้มีพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านเขียนโศลกธรรมสั้นๆว่า กายนี้อุปมาดั่งต้นโพธิ์ จิตอุปมาดั่งกระจกใส จงหมั่นเช็ดถูกระจกอยู่เสมอๆ เพื่อไม่ให้ฝุ่นจับ พระท่านนี้เป็นศิษย์รุ่นพี่ของท่านเว่ยหล่าง ท่านเว่ยหล่างต่อมาท่านได้เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 6 ของนิกายฉาน
ท่านเห็นโศลกธรรมนี้แล้ว บอกว่ายังไม่ถูก ท่านก็เลยเขียนใหม่ว่า(ท่านเขียนไม่เป็นหรอก ให้คนอื่นช่วยเขียน เพราะท่านไม่รู้หนังสือ)
โศลกนั้นก็มีว่า ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกใส เมื่อทุกอย่างว่างเปล่า ฝุ่นจะจับกับอะไร ฝุ่นในที่นี้คืออะไรคือความทุกข์คือกิเลส ความทุกข์มี แต่ถ้าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกู มันจะมีผู้ทุกข์ได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์ แต่ทำไมทุกวันนี้เราจึงรู้สึกว่าฉันทุกข์ ฉันทุกข์ ก็เพราะว่าเรายังไปยึดว่ามีตัวกูมีตัวฉันอยู่ ตราบใดที่ยังมีความยึดเช่นนี้อยู่ มันก็ยังทุกข์อยู่ร่ำไป มันจะไม่มีแต่ความทุกข์ แต่มันมีผู้ทุกข์อยู่เสมอ ต่อเมื่อจิตหยั่งถึงความจริงที่ลึกซึ้งที่สุดว่า มันไม่มีตัวฉัน มันก็มีแต่ความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์
เหมือนกับที่ท่านเว่ยหล่างบอกว่า เมื่อไม่มีอะไรเลยหรือทุกอย่างว่างเปล่า ฝุ่นจะจับกับอะไร เพราะมีตัวกูจึงไม่ได้มีความทุกข์แต่มีผู้ทุกข์ แต่เมื่อไม่มีตัวกูหรือว่าไม่ยึดมั่นว่ามีตัวกู มันก็มีแต่ความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์อีกต่อไป
คนที่เข้าถึงความจริงเช่นนี้ก็จะพบถึงสภาวะที่ไม่เป็นอะไรกับอะไร อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดอยู่เสมอ ที่จริงหลวงพ่อท่านก็พูดเองตอนที่ท่านป่วยหนัก ท่านก็มีทุกขเวทนาเยอะ มีความเจ็บความปวด แต่ท่านก็พูดจากประสบการณ์ สอนลูกศิษย์ของท่านว่าความเจ็บปวดไม่ได้ลงโทษเรา แต่ความเป็นผู้ป่วยต่างหากที่ลงโทษเรา ความปวดเป็นอาการที่เอาไว้ดูเอาไว้เห็น อย่าเข้าไปเป็น
แต่คนเราเพราะไม่เข้าใจความจริงเช่นนี้ แล้วก็ไม่รู้จักการเห็นจึงหลงเข้าไปเป็น มันไม่ได้มีแต่ความปวดแต่มันมีผู้ป่วยด้วย ต่อเมื่อได้เห็นว่ามันไม่มีเรา มันไม่มีการเข้าไปเป็น แม้มีความปวดแต่ก็ไม่มีผู้ปวด
อาจารย์กำพลเอง จิตท่านออกจากความทุกข์ได้เพราะท่านเห็นชัดว่า กายพิการ แต่ว่าฉันไม่ได้พิการด้วย แต่ก่อนไปเข้าใจว่าฉันพิการๆ ก็เลยทุกข์ และยิ่งทุกข์มากขึ้นเมื่อรู้ว่าจะต้องพิการไปตลอดชีวิต เหมือนกับว่า นอนรอความตาย
แต่เมื่อได้ปฏิบัติธรรมเจริญสติตามคำแนะนำของหลวงพ่อคำเขียน สุดท้ายท่านก็เห็นว่าที่พิการนั้นคือกายต่างหาก มันมีแต่กายพิการแต่ว่าฉันไม่ได้พิการด้วย พอไม่มีตัวฉัน หรือไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าตัวฉันพิการ จิตก็เลยไม่ทุกข์ จิตก็เลยลาออกจากความทุกข์ไป
คนเราย่อมมีอะไร หรือมีเหตุร้ายอะไรต่างๆเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา กับทรัพย์สมบัติของเรา กับคนรักของเรา แต่สิ่งนั้นจะไม่ทำให้เราเกิดความทุกข์ในใจได้เลย ถ้าเราไม่มีความยึดมั่นในตัวกู หรือไม่ยึดมั่นว่าสิ่งนั้นๆเป็นของกู ยึดมั่นว่ามีตัวกูเมื่อไหร่ ก็มีของกูเมื่อนั้น และยึดมั่นทีไรก็ไม่ได้เข้าใจถึงความจริงที่สุดว่า มันไม่มีตัวเราเลย
ตราบใดที่ยังไม่เห็นความจริงตรงนี้ จิตไม่สามารถที่จะหยั่งถึงความจริงลึกซึ้งตรงนี้ มันก็หนีความทุกข์ไม่พ้น ไม่ว่าจะร่ำรวย ประสบความสำเร็จมากมายเพียงใดอย่างเศรษฐีหมื่นล้าน มีกี่คนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างนั้น แต่ก็ยังมีความทุกข์อยู่ เพราะนอกจากไม่ได้เข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้งแล้ว ยังไม่สามารถหยั่งถึงถึงความจริงที่ลุ่มลึกอย่างที่ว่าด้วย
ตราบใดที่เรายังยึดว่ามีเราเป็นของเรา นอกจากจะมีความทุกข์แล้ว หรือว่ามีความรู้สึกว่าฉันทุกข์แล้ว การที่จะต้องพลั้งเผลอ ตกเป็นทาสของกิเลส มันก็ยังมีอยู่ต่อไป
เคยมีการสนทนาระหว่างมารกับพระพุทธเจ้า มารบอกว่า ชนเหล่าใดบอกว่าสิ่งนี้เป็นของเรา ชนเหล่านั้นจักอยู่ในอำนาจของเราตลอดไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชนเหล่าใดที่พูดเช่นนั้น ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา มารผู้มีบาป ท่านจะไม่สามารถเห็นแม้กระทั่งธรรมของเราได้เลย
หมายความว่า ใครก็ตามที่ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่านี่ของเรา มารก็ไม่สามารถที่จะไล่ตามเพื่อเข้ามามีอำนาจเหนือคนเหล่านั้นได้ แม้แต่เห็นลู่เห็นทางก็ยังไม่เห็น ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นสิ่งที่เตือนใจเราว่าตราบใดก็ตามที่เรานึกว่านี่เป็นของเราๆ เราก็จะยังอยู่ในอำนาจของมันต่อไป แต่มารจะทำอะไรเราไม่ได้เลย หากว่าเราไม่มีความยึดมั่นว่าสิ่งนี้เป็นของเรา
จะไม่ยึดมั่นตรงนี้ได้ ก็เพราะไม่มีความคิดที่เป็นเรา นี่คือความจริงที่ลึกซึ้งที่สุดที่เราควรจะหยั่งให้ถึง แม้ว่าเรายังจะไม่มีปัญญา เพราะว่ายังเป็นปุถุชนอยู่แต่ว่ามันก็ไม่เหลือวิสัย หากว่าเราเจริญสติอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะถ้าเราเจริญสัมมาสติ เราก็จะรู้วิธีที่จะเห็นโดยไม่เข้าไปเป็น
หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดอยู่เสมอว่า เห็นอย่าเข้าไปเป็น เห็นที่ว่านี้คือ เห็นด้วยสติ ถ้ารู้จักเห็นด้วยวติ ก็จะไม่เข้าไปเป็น เห็นความโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ เห็นความทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ เห็นความโศก ไม่เป็นผู้โศก มันมีความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์ มีความโกรธแต่ไม่ผู้โกรธ เพราะว่าในภาวะนั้นมีสติ มีความรู้สึกตัว มีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ก็ถอนการยึดมั่นในตัวกูออกไป
อันนี้คือสิ่งที่ปุถุชนอย่างเราทำได้ สติทำให้เราพ้นจากภาวการณ์เข้าไปเป็นหรือผู้เป็น แม้จะเป็นภาวะชั่วครู่ชั่วยาม แต่ถ้าเราเจริญสติอยู่เนืองๆ สม่ำเสมอในที่สุดก็จะเกิดปัญญาจนหยั่งเห็นความจริงอันลึกซึ้งที่ว่านี้ได้ซึ่งเป็นปัญญาที่ไม่หวนกลับคืน สติจึงเป็นเครื่องมือสำคัญพาเราเข้าถึง ไม่ใช่แค่ความจริงอันลุ่มลึกเท่านั้น แต่เข้าถึงความจริงที่ลึกซึ้งด้วย
เพราะฉะนั้นเมื่อเราตระหนักเช่นนี้ ก็อย่ามองข้ามการทำจิตให้ลุ่มลึก ในขณะที่เราเปิดใจให้กว้างขวางด้วยการทำบุญ ด้วยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยการเสียสละ ด้วยการแบ่งปัน เราก็ไม่ละทิ้งการภาวนาเพื่อทำให้จิตได้หยั่งเข้าถึงความสุขที่ลุ่มลึกและความจริงที่ลึกซึ้งที่สุด
การทอดกฐินปีนี้ ก็จัดว่าเป็นการทำบุญในภาวะที่พิเศษ เพราะว่าเราทำบุญท่ามกลางสถานการณ์โควิด เราจึงไม่สามารถทำบุญอย่างที่เคยทำได้ หลายคนก็อยากจะมาแต่ก็มาไม่ได้ และทางวัดก็ไม่ได้เปิดกว้าง จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจใฝ่ทำบุญมาติดตามการทำบุญทอดกฐินด้วย Facebook Live เป็นต้น
พวกเราเมื่อทอดกฐินเสร็จ ก็ต้องกลับไปเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติต่อไป แต่ไม่ว่าโควิดจะทำความลำบากอย่างไร ไม่ว่าในทางสุขภาพ หรือว่าในทางเศรษฐกิจ ก็ขอให้เราตระหนักว่า มันจะไม่อยู่กับเราไปตลอด สักวันหนึ่งมันก็จะต้องเลือนหายไป อาจจะไม่หายไปแบบสูญพันธุ์ เหมือนกับไข้ทรพิษ อาจจะยังอยู่กับเรา เหมือนกับโรคหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ว่ามันก็จะบรรเทาเบาบางลงไป
ในระหว่างที่มันยังไม่หายไป ก็ขอให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างมีสติ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท รักษาใจไม่ให้ทุกข์ ในยามนี้มันยิ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสติ และธรรม ถ้าเรามีสติ ไม่ประมาท เราตั้งการ์ดอยู่เสมอ จะปลอดภัยจากโควิด และในขณะที่เราต้องเก็บตัว อยู่ในบ้าน เราก็อยู่ได้อย่างไม่มีความทุกข์ เพราะเราเรียนรู้ที่จะมีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะ เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์
และเมื่อถึงวันที่โควิดได้เลือนหายไป ไม่กลายเป็นโรคระบาด เราจะกลับมามีชีวิตตามปกติ ก็ขอให้เราอย่าได้ลืมธรรม ลืมสติ ลืมปัญญา ขอให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการฝึกใจให้กว้างและทำใจให้ลุ่มลึกดังที่กล่าวมา
ที่สุดนี้ ขออ้างถึงคุณศรีพระรัตนตรัยได้อำนวยอวยผลให้ทุกท่าน ได้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เพื่อเป็นพลวปัจจัยในการทำดีงามให้ถึงพร้อมด้วยทาน ศีล ภาวนา ขอให้ภัยไม่กล้ำกลาย อันตรายไม่แผ้วพาน มารไม่รบกวนรังควาน ให้ทุกท่านมั่นคง ตั้งมั่นอยู่ในวิถีธรรม เพื่อให้จิตใจได้แผ่กว้าง และหยั่งลึกถึงความสุขและความจริงที่ลึกซึ้ง ขอให้ได้เข้าถึงความสุขเกษมศานติ์ มีพระนิพพานเป็นที่หมายด้วยกันทุกท่านเทอญ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมในโอกาสทอดกฐินวัดป่าสุคะโต วันที่ 23 ตุลาคม 2564