แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ก็เป็นวันสำคัญของวัดป่าสุคะโต แล้วก็ญาติโยมสาธุชน รวมทั้งชาวบ้านที่อุปถัมภ์บำรุงวัดป่าสุคะโต เพราะว่าเป็นวันทอดกฐิน วันกฐินเป็นวันที่มีญาติโยมมาร่วมกันทำบุญเยอะ ในช่วงปกติถ้าไม่มีโควิด ก็จะมีคนมาร่วมสัก 3-4 ร้อยคน แล้วก็นับวันก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
อันนี้เราตรงข้ามกับสมัยที่อาตมามาอยู่ใหม่ๆ จำได้ว่าตอนที่มาจำพรรษาแรก เจ้าภาพที่ทอดกฐิน มีแค่คนสองคนเองเดินทางมาจากกรุงเทพฯ แล้วก็ไม่ได้มีรถส่วนตัว แต่ว่ามาทางรถทัวร์ เพราะสมัยก่อนคือเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว การคมนาคมมันลำบากมาก โดยเฉพาะหน้าฝนหรือปลายฤดูฝน ทางเฉอะแฉะ บางทีสะพานก็ขาด โดยเฉพาะสะพานตรงใกล้ๆอำเภอแก้งคร้อขาดประจำ
กฐินปีแรกที่อาตมาได้สัมผัส มีโยมมาแค่คนสองคนแล้วก็ปัจจัยที่ถวายก็ไม่ได้มากเท่าไหร่ โยมยังรู้สึกเกรงใจเลยตอนที่ติดต่อกับหลวงพ่อคำเขียนที่กรุงเทพฯ โยมบอกว่ามีเงินที่จะถวายในการทอดกฐิน 20,000 บาท หลวงพ่อจะรับไหม
หลวงพ่อบอกว่ายินดีเลยนะ เพราะว่าท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับจำนวนเงินอยู่แล้ว ถ้าโยมมีศรัทธาจะขึ้นมาทอดกฐินนี่ ท่านก็ยินดี ท่านกลับเกรงใจด้วยซ้ำเพราะว่าเดินทางลำบาก มาถึงแล้วก็ต้องมานอนค้างที่ศาลา คือศาลาไก่ซึ่งสมัยแรกก็โทรมๆ
พิธีก็ไม่มีอะไรมาก ในวันรุ่งขึ้น บริวารก็มีน้อย มีแค่บาตร กับของไม่กี่อย่าง แต่เดี๋ยวนี้งานทอดกฐินกลายเป็นงานใหญ่ เฉพาะเจ้าภาพ ปีนี้ถ้ามากันเต็มที่ก็หลายสิบ แต่ว่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด ก็เลยจำกัดจำนวน ชาวพุทธที่ใฝ่ธรรม โดยเฉพาะใฝ่การทำบุญมีความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างหนึ่ง ก็คือว่าเป็นเจ้าภาพการทอดกฐิน
แต่ว่าเป็นเจ้าภาพกฐินนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะวัดในเมือง เพราะว่ามีคนอยากจะเป็นเจ้าภาพเยอะ แต่ว่าปีหนึ่งก็ทอดกฐินได้แค่ครั้งเดียว ก็คือช่วง 30 วันหลังจากออกพรรษา ไปสิ้นสุดเอาวันลอยกระทง ถ้าหากว่าเป็นเจ้าภาพเดี่ยวๆก็ต้องเข้าคิวกันยาวเลย
เว้นแต่เป็นเจ้าภาพแบบกฐินสามัคคี คนที่ปรารถนาจะเป็นเจ้าภาพเดี่ยว ก็ต้องแน่ใจว่าปัจจัยที่หามาได้ ต้องมากพอสมควร เพราะไม่เช่นนั้น มันก็เหมือนจะตัดโอกาสของทางวัด แทนที่วัดมีจะได้เจ้าภาพที่หาปัจจัยได้มาเยอะๆ แต่กลับได้เจ้าภาพที่หาปัจจัยมาได้น้อย บางทีก็ไม่ได้วัดไม่ได้คิดอะไร แต่ว่าโยมจะรู้สึกเสียดาย เสียใจ ที่ว่าตัดโอกาสทางวัด แทนที่จะได้ปัจจัยก้อนใหญ่มากกว่าตัว
ที่จริงความสำคัญของกฐิน มันไม่ได้ที่จำนวนเงิน คำว่ากฐิน ก็บอกอยู่แล้ว มันเป็นคำที่สืบเนื่องกับผ้าไตรจีวร สมัยก่อน สิ่งที่สำคัญที่เป็นศูนย์กลางกฐินก็คือผ้า ทุกวันนี้ก็ยังเป็นศูนย์กลางของการทอดกฐิน เรียกว่าองค์กฐิน ที่เหลือเขาเรียกว่าบริวาร เงินทองก็ดี ข้าวของเครื่องใช้ก็ดีเรียกว่าบริวาร แต่ว่าประธานหรือว่าสิ่งสำคัญของการทอดกฐินคือ ผ้า
ความเป็นมาของเรื่องนี้ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล สมัยก่อนผ้าเป็นของหายาก พระพุทธเจ้าไม่มีพุทธานุญาตให้โยมมาถวายผ้าให้กับพระ พระอยากได้ ก็ต้องไปเก็บเอาจากป่าช้า ผ้าห่อศพ เก็บมาได้ เก็บมาได้ทีละนิดทีละหน่อยก็เอามาตัดมาเย็บให้เป็นจีวรผืนใหญ่
สมัยนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ เพราะว่าผ้าแต่ละผืนนั้นเป็นของหายาก ไม่ใช่เฉพาะของสำหรับพระ โยมก็เหมือนกัน ตอนหลัง โยมก็อยากจะเอื้อเฟื้อพระ เห็นจีวรท่านเก่า จะเอื้อเฟื้ออย่างไร ก็ใช้วิธีเอาผ้าไปแขวนไว้ตามคาคบในป่า ตรงบริเวณที่ท่านจะเดินผ่านใต้โคนไม้ เวลาที่ท่านจะไปพักใต้โคนไม้ จะไปเดินบิณฑบาต ก็อาจจะผ่านต้นไม้บางต้น ก็เอาผ้านี้ไปแขวนไว้ ตรงคาคบหรือกิ่งไม้
พระเห็นก็ไม่ใช่ว่าจะหยิบไปได้เลย ท่านต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า มันเป็นผ้าไม่มีเจ้าของ เป็นผ้าที่ทิ้งแล้ว แล้วจึงชักผ้านั้น ผ้านี้เรียกว่าผ้าบังสุกุล ผ้าเปื้อนฝุ่น การชักผ้าบังสุกุล ก็คือการพิจารณาจนแน่ใจว่า มันเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของแล้ว เป็นผ้าที่คนทิ้ง อันนี้คือธรรมเนียมชักผ้าบังสุกุลมาจากตรงนี้
ตอนหลังพระพุทธเจ้ามีพุทธานุญาตให้ถวายผ้ากับพระสงฆ์ได้ ก็เริ่มมีการถวายในรูปของสังฆทาน การทอดกฐินนี้มันก็มีความเป็นมาตรงนี้แหละ แต่ก็มีความพิเศษตรงที่ว่า เป็นการถวายผ้าหลังจากที่พระได้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสแล้ว นอกจากจะมุ่งถวายผ้าแก่พระภิกษุที่มีจีวรเก่าคร่ำคร่าแล้ว ก็จะถือเป็นโอกาสฉลองพระที่ได้จำพรรษาครบ เป็นการอนุโมทนาที่ท่านได้ทำความเพียรครบ 3 เดือน
และที่สำคัญกว่านั้น เป็นการเชิดชูความสามัคคีของพระ กฐินนั้นรูปธรรมที่เป็นประธานคือผ้า แต่ที่เป็นนามธรรมที่เป็นหลักเลยนั้นก็คือความสามัคคี ความสามัคคีของหมู่สงฆ์ที่ได้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส รวมทั้งความสามัคคีในการลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจะถวายผ้ากับพระรูปใดโดยไม่มีเสียงแย้งแม้แต่เสียงเดียว ต้องเป็นเสียงที่เป็นเอกฉันท์
อันนี้คือลักษณะเด่นของการทอดกฐิน ไม่ใช่ว่าความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าทอดได้ปีละครั้ง แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าเป็นสังฆทานพิเศษที่มุ่งเชิดชูส่งเสริมความสามัคคีของหมู่สงฆ์ ซึ่งเป็นเรื่องดี
เพราะว่าคนเราจะทำอะไรให้สำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความสามัคคี และความสามัคคี มันก็นำไปสู่ความเจริญงอกงามในเรื่องของการทำความเพียร ประพฤติปฏิบัติธรรม ชีวิตภายนอก ภายในจะงอกงามได้ ต้องมีความสามัคคี ความสามัคคีของหมู่สงฆ์หรือหมู่คณะ
ตอนหลังญาติโยมเห็นว่า พระสามัคคีกันดีแล้ว ญาติโยมก็สามัคคีกันบ้าง ก็เลยจัดงานใหญ่ ร่วมกันจัดพิธีทอดกฐิน ต้องอาศัยความสามัคคีของญาติโยม โดยเฉพาะจุลกฐินต้องสามัคคีกันมาก เรียกว่าแทนที่จะไปซื้อผ้ามา ซึ่งสมัยก่อนไม่มีผ้าขาย ก็ต้องทอผ้ากันเองเลย เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายมาปั่นเป็นด้าย และจากด้ายมาทอเป็นผ้า
ทุกวันนี้แม้ว่า จะไม่มีธรรมเนียมทำนองนี้เท่าไหร่แล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ก็ไปซื้อผ้ามา แต่ว่าความสามัคคีก็ยังจำเป็น ทุกวันนี้แม้ว่าผ้ามันจะมีความสำคัญน้อยลง เพราะว่าหาง่ายแล้ว แต่ว่าสิ่งที่ยังไม่ตกยุคไม่ตกสมัย ก็คือสามัคคี ความสามัคคี มันต้องเป็นสามัคคีที่ยึดเหนี่ยวกันด้วยความดี
อย่างโจรสามัคคีเพื่อจะไปปล้นบ้านอันนี้ไม่ใช่สามัคคีที่แท้จริง หรือว่านักการเมืองที่มารวมหัวกัน เพื่อที่จะคอรัปชั่น อันนั้นก็ไม่ใช่สามัคคีที่แท้จริง สามัคคีที่แท้จริงมันต้องยึดกันด้วยความดี จึงเรียกว่าสามัคคีธรรม ยึดเหนี่ยวกันด้วยความดี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันนี้ยังมีความสำคัญอยู่
แม้ว่าผ้าจะลดความสำคัญลงแล้ว เดี๋ยวนี้เงินมาแทน แต่ว่าอย่าให้เงินมาบดบังความสามัคคี ความสามัคคียังจำเป็นอยู่สำหรับทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าระดับใดก็ตาม
เรามาทำบุญทอดกฐินได้วันนี้ ก็ขอให้เราได้มาร่วมกันบำเพ็ญสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้น แล้วก็พยายามที่จะรักษาสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นในแวดวงของตัว แม้จะจะเสร็จงานทอดกฐิน เริ่มตั้งแต่สามัคคีในครัวเรือน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน สามัคคีในที่ทำงาน สามัคคีในหน่วยงาน จนกระทั่งสามัคคีในวงกว้าง อันนี้คือสิ่งที่ยังสําคัญอยู่ ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด
อย่างที่บอก ผ้านี่ลดความสำคัญลง แต่ว่าสามัคคี มันไม่มีวันที่จะลดความสำคัญลงไปได้ มีแต่จะยิ่งสำคัญเพิ่มพูนมากขึ้น และที่สำคัญสร้างสามัคคีในใจเราด้วย ระหว่างกายกับใจ ไม่ใช่สามัคคีเฉพาะกับคนรอบข้าง แต่ว่าสามัคคีระหว่างกายกับใจ ระหว่างหัวใจกับสมอง เราสามัคคีกันแบบนี้ ชีวิตก็จะมีแต่ความเจริญงอกงาม อยู่เย็นเป็นสุขแล้วก็สามารถจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 23 ตุลาคม 2564