แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมาเป็นคนที่รู้จักพระพุทธศาสนาค่อนข้างช้า มาเริ่มเรียนศีลธรรมเมื่อตอนอยู่ ป.5 เพราะว่าเป็นโรงเรียนคริสต์ ช่วง ป.1 ถึง ป.4 ไม่ได้เรียนวิชาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหรือศีลธรรมเลย พอมาถึง ป.5 ถึงจะค่อยมาเรียนวิชาศีลธรรม เป็นเหตุให้รู้จักพระพุทธศาสนาอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้สนใจจริงจัง
เริ่มมาสนใจพระพุทธศาสนาเห็นว่ามีคุณค่าก็ประมาณอายุ 15 มศ.3 สมัยนั้นเรียกว่ามัธยมศึกษาแต่ก็ไม่ได้รู้อะไรลึกซึ้ง ก็ไม่ได้สนใจ หลายปีต่อมาก็รู้มากขึ้น แล้วก็ได้มารู้จักคำสอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา สะดุดใจที่มีคำสอนว่า คนเราอย่าเบียดเบียนผู้อื่นแล้วก็อย่าเบียดเบียนตน
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อันนี้เข้าใจ แต่ไม่เบียดเบียนตน มีด้วยหรือ ใครล่ะจะเบียดเบียนตน ใครๆก็รักตนทั้งนั้นแหละ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเราก็รู้ว่าโดยการรักษาศีล 5 แต่ว่าไม่เบียดตนนั้น เป็นอย่างไร
ตอนหลังก็เริ่มเข้าใจ อย่างเช่น คนเราถ้ามีความโกรธ ถ้าโกรธมากๆมันไม่เพียงแต่ทำร้ายผู้อื่น บางทีก็อาจจะทำร้ายตัวเอง เช่น เอามือต่อยกำแพง เอามือต่อยกระจก หรือเอาหัวโขกพื้น อย่างนี้ คือเบียดเบียนตน เข้าใจเลย หรือบางคนที่เศร้าโศกเสียใจมากถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย อย่างนี้ก็เข้าใจนี่คือการเบียดเบียนตน เพราะทำไปด้วยอำนาจของความเศร้าความโกรธ
ตอนหลังก็ได้รู้เพิ่มเติมว่า แม้จะไม่ต่อยกำแพง เอามือทุบกระจก หรือเอาหัวโขกพื้น หรือว่าโดดตึกฆ่าตัวตาย เพียงแค่ปล่อยให้ความโกรธเผาลนจิตใจ หรือปล่อยให้ความเศร้าทิ่มแทงกระหน่ำซ้ำเติมจิตใจ อันนี้ก็เรียกว่าเบียดเบียนตนแล้ว
ตอนหลังเริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่า เวลามีความโกรธหรือว่ามีความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา ใครหรืออะไรที่ทำให้เราโกรธ ใครหรืออะไรที่ทำให้เราเศร้า ทีแรกก็ไปหาคำตอบ แต่ตอนหลังก็พบว่าคำถามนี้ไม่สำคัญเท่ากับว่า ทำไมเราถึงปล่อยให้ความโกรธความเศร้ามาครอบครองจิตใจ อันนี้สำคัญกว่า ใครหรืออะไรทำให้เราเศร้าหรือโกรธนี่
เราปล่อยให้ความโกรธความเศร้ามาเผาลนหรือว่าทำร้ายจิตใจเรา คำถามนี้สำคัญ เพราะว่ามันทำให้เรากลับมามองตัวเอง ถ้ามัวแต่ไปถามว่าใครหรืออะไรทำให้เราโกรธเราเศร้า มันก็ชวนให้มองไปที่ตัวว่าคนนั้นคนนี้ ทำให้เราโกรธเช่น เพื่อนบ้านเอาถังขยะมาทิ้งไว้ที่หน้าบ้านเรา หรือชอบส่งเสียงดังจนนอนไม่หลับ หรือหมาชอบเห่า หรือว่าเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนชั้นเรียนมารังแกเรา หรือว่าดินฟ้าอากาศ มันทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ
ถ้าถามว่าอะไรหรือใครทำให้เราโกรธเราเศร้าหรือว่าหงุดหงิด มันก็ง่ายที่จะมองออกไปนอกตัว แต่ถ้าเราถามใหม่ว่า ทำไมเราจึงปล่อยให้ความโกรธความเศร้ามาครอบงำหรือเผาลนจิตใจ มันก็ทำให้กลับมามองที่ตัวเอง แล้วก็พบว่าการที่เราปล่อยให้ความโกรธความเศร้ามาเผาลนจิตใจ อันนี้คือการเบียดเบียนตนเหมือนกัน
แล้วทำไมถึงปล่อยให้ความโกรธความเศร้าหรือความเกลียดความเครียดมาครอบงำจิตใจ พอมาพิจารณามาสังเกตก็พบว่าเป็นเพราะเราไม่รู้ตัว ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ ปล่อยให้มันเผาลนจิตใจ ปล่อยให้มันกรีดแทงจิตใจ เพราะความไม่รู้ตัวนี้แหละที่ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้นในใจของเรา แล้วมันก็ทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเองขึ้นมา
ตอนหลังพอมาเรียนมารู้มาเข้าใจเรื่องอริยสัจ 4 ก็ทำให้ได้เรียนรู้ถึงคำสอนข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนก็คือว่า เราควรรู้จักทุกข์หรือว่าเราควรจะรู้ทุกข์ จะดับทุกข์ได้ก็ต้องรู้ทุกข์ อันนี้เป็นคำสอนในอริยสัจ 4 ซึ่งเราก็ไม่เคยเรียนตอนสมัยที่เป็นนักเรียนประถมหรือมัธยมด้วยซ้ำ ว่าทุกข์คือเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้
แต่ก่อนก็เรียนมาเพียงแต่ว่าทุกข์คืออะไร สมุทัยคืออะไร นิโรธคืออะไร มรรคคืออะไร แต่ไม่เคยรู้ว่าในอริยสัจ 4 นั้น พระพุทธเจ้ายังสอนอีกว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ กำหนดรู้พูดง่ายๆก็คือ ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรรู้ เพราะว่ากำหนดรู้ มาจากภาษาบาลีที่ใช้คำว่าปริญญา ปริญญาแปลว่ารู้ทั่ว หรือว่ารู้จัก เข้าใจ
คำว่ารู้ทุกข์ ความหมายหนึ่ง ความหมายพื้นฐานหรือความหมายเบื้องต้นก็คือว่า รู้ตัวเมื่อทุกข์เกิด หรือว่ารู้ตัวเมื่อความโกรธ ความเกลียด ความโศก ความเศร้ามันเกิดขึ้นในใจ ถ้าเรารู้ตัวว่าทุกข์เกิดขึ้นในใจ อันนี้ก็ช่วยทำให้เราออกจากทุกข์ได้ง่ายขึ้น หรือเร็วขึ้น แต่เป็นเพราะเราไม่รู้ตัว หรือไม่รู้ทันเมื่อมีทุกข์เช่น ความโกรธ ความเกลียดเกิดขึ้นในใจ มันจึงนำไปสู่การเบียดเบียนตนเอง
แล้วที่เราไม่รู้เพราะว่าเราเผลอ เราหลง เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ทัน หรือว่ารู้ตัวว่า มีทุกข์เกิดขึ้น มันก็ช่วยทำให้ถอนใจออกจากทุกข์ได้ แต่บางทีก็มีคน หรือมีความสงสัยเกิดขึ้นว่า รู้ทุกข์มันจะยากตรงไหน อันนี้เป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจ คำว่ารู้ทุกข์ รู้ว่าทุกข์คืออะไร อันนี้ตอบได้ แต่ว่ารู้ตัวเมื่อเกิดความทุกข์ หรือรู้ตัวเมื่อความโกรธ ความโศกความเศร้ามันเกิด มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย มันต้องอาศัยความรู้ทัน ต้องอาศัยจิตที่ฝึกมา
คนธรรมดา เวลาทุกข์ไม่ใช่ว่าเขารู้ทุกข์ เขาอาจจะรู้สึกทุกข์ หรือว่ารู้สึกเป็นทุกข์ แต่เขาไม่รู้ทุกข์หรอก ทีแรกก็ไม่เข้าใจ เพราะคิดว่า รู้ทุกข์ มันจะยากตรงไหน แต่จริงๆแล้ว มันก็ไม่ใช่ง่าย ที่คนเราจะรู้ทุกข์ กายทุกข์นี่ เรารู้ได้ง่าย ง่ายกว่า รู้ว่าใจทุกข์ ใจทุกข์มันไม่ใช่ง่ายทีเดียว
เคยไปเข้าคอร์สหนึ่ง โยมนั่งฟังคำบรรยายตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงสี่โมงเย็น อาตมาเข้าไปช่วยบรรยายในช่วง 30 นาทีสุดท้าย ก็สังเกตว่า โยมหลายคนก็นั่งแบบกระสับกระส่าย ก็เลยถามโยมว่าตอนนี้ปวดไหม หลายคนตอบว่าปวด ปวดที่ไหน ปวดที่ขา มีทุกข์ไหม มี มีที่ไหน มีที่กาย หลายคนก็ตอบอย่างนั้น จึงถามโยมต่อไปว่า มีทุกข์ที่อื่นอีกไหม มีตรงไหน โยมก็บอกว่าไม่มี มีแต่ทุกข์ที่ปวดแข้งปวดขา
ก็เลยถามโยมต่อว่า แล้วใจล่ะไม่ปวด ไม่ทุกข์หรือ ถึงตอนนั้น โยมก็พยักหน้าบอกว่าทุกข์ เพราะว่าระหว่างที่นั่ง หลายคนก็ขยับแข้งขยับขา ส่วนใจก็บ่น บ่นว่าเมื่อไหร่จะเลิกสักที มีอาการบ่นโวยวายมีอาการหงุดหงิดรำคาญใจ อาจจะมีความโกรธด้วย โกรธที่วิทยากรไม่ให้ได้พัก หรือขยับแข้งขาอะไรเลย หรือว่าไม่ปล่อยให้เข้าห้องน้ำ ใจมันบ่นใจมันทุกข์ ใจมันโกรธ ใจมันเกิดโทสะ หงุดหงิด แต่ส่วนใหญ่มองไม่เห็น เห็นหรือรู้แต่ทุกข์กาย ส่วนทุกข์ใจนั้นไม่รู้
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า จริงๆแล้ว คนเรา การที่จะรู้ทุกข์ มันไม่ใช่ง่าย โดยเฉพาะการรู้ทุกข์ทางใจ ทั้งๆที่ใจมันรุ่มร้อน แต่ไม่รู้หรอก ไปรับรู้แต่ความทุกข์ที่แข้งที่ขา มันไม่ใช่แค่ความปวดที่ใจเท่านั้นที่คนเราไม่รู้ อารมณ์อื่นก็เหมือนกัน เช่น ความกลัว
เคยมีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขาต้องการทดสอบว่า คนเราเวลามีความกลัว สมองส่วนไหนที่มันทำงาน แล้วความกลัวส่งผลอย่างไรต่อการทำงานของสมอง ก็ให้อาสาสมัครมาดูวีดีโอ เป็นภาพนิ่งบ้าง ภาพเคลื่อนไหวบ้าง หรือคลิปวีดีโอที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ คนที่ประสบภัยธรรมชาติ คนเจ็บคนป่วยนอนติดเตียง เขาก็สังเกต แล้วก็วัดการเต้นของหัวใจ วัดชีพจร วัดความดันว่า ถ้าเกิดอาสาสมัครกลัวมากๆก็จะต้องหยุด ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นอันตรายต่ออาสาสมัครที่กลัวมากๆ
ก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง มาดูภาพเหล่านี้ แล้วก็เกิดอาการทางกาย แสดงตัวชัดเจนเลย ความดันขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว นักวิทยาศาสตร์ก็เลยบอกให้ยุติการทดลอง ผู้หญิงคนนั้นแปลกใจว่าทำไมยุติ ฉันยังโอเคอยู่
เธอไม่โอเคหรอก เพราะร่างกายเธอบอกว่าเธอกลัว แต่เธอไม่รู้ว่ากลัว คนเราเวลากลัว บางทีไม่รู้ว่ากลัว เช่นเดียวกัน เวลาโกรธก็ไม่รู้ว่าโกรธ อันนี้เรียกว่าไม่รู้ทุกข์ได้เหมือนกัน แล้วคนเราพอไม่รู้ว่าทุกข์ มันก็ปล่อยให้ทุกข์เช่นความโกรธ ความคับแค้น เล่นงานจิตใจ
มีผู้หญิงคนหนึ่ง เธออยู่กินกับสามีมา 10 ปี ชีวิตก็ดูปกติ สุขดี จนกระทั่งวันหนึ่งพบว่า สามีนอกใจ เธอโกรธ เธอแค้นมาก สุดท้ายก็แยกทางกัน แต่ทั้งๆที่เขาแยกทางไปจากชีวิตของเธอแล้ว แต่ว่าเธอก็ยังแค้นอยู่ เพราะว่าไม่ยอมปล่อยออกไปจากใจ คิดถึงผู้ชายคนนี้ทีไร ก็เกิดความแค้น เกิดความโกรธ จิตใจรุ่มร้อนมาก เธอก็พยายามที่จะทำหลายอย่างเพื่อที่จะให้ความโกรธมันทุเลา แต่ว่าก็ไม่ประสบผลเท่าไหร่
ที่จริงเธอก็เคยเข้าคอร์สกรรมฐานมาหลายครั้ง แต่ละครั้ง ใจเธอก็สงบดี แต่ครั้งนี้ ใจไม่สงบเลย มันรุ่มร้อน วันแรกก็รุ่มร้อนเพราะว่าเอาแต่คิดถึงผู้ชายคนนั้น วันที่ 2 ก็ยังมีความรุ่มร้อน มีความคับแค้น ไม่เลิกรา เธอก็แปลกใจว่าทำไมจิตใจเธอถึงไม่รู้จักสงบสักที วันที่ 3 ก็ยังเกิดความคับแค้นรุ่มร้อนอีก ก็มีช่วงหนึ่ง เธอเดินจงกรม แล้วเอามือประสานไว้ที่ท้องน้อย เดินไปเดินมา เดินเป็นชั่วโมง จนกระทั่งรู้สึกปวดเมื่อย เมื่อยมือเมื่อยแขนมาก เธอก็เลยปล่อยมือ
พอปล่อยมือ ก็รู้สึกสบายเลย มันไม่ใช่แค่สบายกายสบายใจด้วย ตอนนั้นเธอได้มาคิดเลยว่า แค่ปล่อยมันก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป ทำไมถึงพูดอย่างนั้นก็เพราะว่า พอมือปล่อยแล้วสบาย เธอก็ได้คิดเลยว่า ที่เธอรุ่มร้อนในจิตใจ มันเป็นเพราะไปยึดผู้ชายคนนั้นเอาไว้ ไปยึดไปติดเรื่องราวของคนๆนั้น ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง เอาแต่ขุดเอาแต่คุ้ยเอาแต่คิด แล้วตอนนั้นก็ไม่รู้ตัว ทั้งที่คิดถึงผู้ชายคนนั้นไม่หยุดไม่หย่อนแต่ไม่รู้ตัว
จนกระทั่งมาได้คิด หรือได้สติจึงได้ปล่อยมือ พอปล่อยแล้วมันสบายกาย ก็เลยได้คิดว่าที่เราทุกข์ใจมันเป็นเพราะไปยึดเอาไว้ ยึดอะไร ยึดเรื่องราวในอดีตของผู้ชายคนนั้น พอรู้เท่านั้น มันก็ปล่อยเลย ปล่อยเรื่องราวของผู้ชายคนนั้นออกไปจากใจเลย มันเลยสบาย มันเลยโล่งอก เธอถึงกับร้องไห้ด้วยความปีติเลยว่า มันสบายเสียที มันโล่งเสียที
ที่เธอปล่อยได้เพราะอะไร เพราะเห็น เห็นใจของตัวว่ามันคิด คิดๆอยู่นั่นแหละ ตอนที่คิด ทีแรกไม่รู้ และทั้งๆที่รุ่มร้อน ทั้งที่โกรธแค้นนั้นก็ไม่รู้ แต่พอมาได้สติจากการที่ปล่อยมือ มันก็เห็นใจของตัวเอง มันไม่ใช่แค่เห็นความคิด มันเห็นไปถึงขั้นว่า เป็นเพราะไปยึดไปแบกผู้ชายคนนั้นเอาไว้ หรือเรื่องราวของผู้ชายคนนั้นเอาไว้ ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง พอเห็นว่ายึด พอเห็นว่าแบกเท่านั้นแหละ ใจมันปล่อยเลยมันวางเลย แล้วมันก็เกิดความสงบ
แล้วเธอก็เลยรู้ต่อไปว่า เราทุกข์เป็นเพราะยึดแท้ๆผู้ชายคนนั้นออกไปจากชีวิตของเธอแล้ว แต่เธอก็ยังแบกเอาไว้ การที่รู้ทุกข์จึงมีความสำคัญ เพราะว่ามันไม่เพียงแต่รู้ว่าทุกข์กำลังเกิดขึ้นในใจ หรือว่าความโกรธความแค้นกำลังเกิดขึ้นในใจ ถ้ารู้ต่อไป มันก็จะเห็นเลยว่าเป็นเพราะแบก เป็นเพราะยึด ความโกรธเอาไว้
พอรู้ว่ายึด พอรู้ว่าแบกความโกรธ มันปล่อยเองเลย เพราะมันเกิดความรู้ตัวขึ้นมา ถึงตอนนั้น เธอก็ไม่ได้โทษใครแล้ว เป็นเพราะใจเราไปแบกไปยึดเอง
คำว่ารู้ทุกข์ มันไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้ว่ามีความทุกข์เกิดขึ้นในใจ มีความโกรธเกิดขึ้นในใจ แต่มันยังทำให้เห็นต่อไปว่า เป็นเพราะไปแบกไปยึดความโกรธนั้นเอาไว้ อันนี้จะโทษใครไม่ได้ เป็นเพราะใจของเราที่ไปแบก ไปยึดเอาไว้ เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าใครหรืออะไรที่ทำให้เราโกรธจริงๆมันไม่สำคัญเท่ากับว่า เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว เราไปยึดไปแบกไว้ทำไม ที่ทุกข์เพราะไปยึดไปแบกเอาไว้
ความโกรธความโศกความเศร้าเกิดขึ้นในใจ จริงๆถ้าไม่ไปยึด ไม่ไปแบกมันเอาไว้ มันก็จะดับไป เหมือนกับไฟ ถ้าไม่มีเชื้อ มันย่อมดับไปเอง แต่เพราะไปเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน มันก็เลยไหม้ไปเรื่อยๆ
เปรียบเหมือนกับถ่านก้อนแดงๆ ถ้าเราไม่ไปจับ ไม่ไปถือมัน มันก็ไม่ลวกมือ มันก็ไม่เผามือ แต่เพราะไปจับมันไปถือมันเอาไว้ ไม่ยอมปล่อยด้วย เพราะฉะนั้นจะไปโทษถ่านไม่ได้ ต้องโทษว่าเป็นเพราะเราไปจับไปถือมันทำไม
ความโกรธก็เหมือนกัน วิสัยปุถุชนย่อมเกิดขึ้นในใจแต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ไม่ไปจับ ไม่ไปถือมัน มันก็ไม่ทุกข์หรอก เพราะฉะนั้น เหตุแห่งทุกข์หรือสมุทัย มันก็อยู่ที่การไปยึด การไปแบก การไปถือเอาไว้ มันไม่ใช่เพราะคนอื่น ไม่ใช่เพราะสิ่งอื่น แต่ว่าเป็นเพราะใจที่ไปถือไปยึด แล้วที่ไปยึดถือเพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่รู้ตัว เพราะไม่รู้ทุกข์ เพราะไม่เห็นทุกข์ แล้วที่ไม่เห็นทุกข์เพราะว่าไม่กลับมามองดูใจของตัว
หลวงพ่อชา ท่านพูดดีว่า “ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย” ทุกข์มีเพราะยึด ถ้าไม่ยึดมันก็ดับไปเอง และที่ไปยึดเพราะอะไร เพราะไม่รู้ตัว การที่ไปยึดความทุกข์นั้นแหละ คือการเบียดเบียนตัวเอง ที่คนเราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังเบียดเบียนตัวเองอย่างไรบ้าง มันไม่ใช่เพียงแค่ว่าเอามือต่อยกระจกหรือเอาหัวโขกกำแพง แต่ว่าเป็นเพราะไปยึดไปแบกมันเอาไว้ จนกระทั่งปล่อยให้มันครอบงำใจ
แต่ถ้าเรามีสติรู้ทัน มันก็จะวางได้ อย่างผู้หญิงคนนี้มีสติ ฉุกคิดขึ้นมาได้ ว่าแค่ปล่อย มันก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป มันไม่ใช่แค่ไม่ทุกข์กาย มันไม่ทุกข์ใจด้วย ปล่อยมือก็ไม่ทุกข์กาย ถ้าปล่อยความโกรธ มันก็ไม่ทุกข์ใจ เราก็ต้องหันกลับมาหมั่นดูกายของเราอยู่เสมอ แต่ก็ต้องดูให้เป็น
สมัยก่อน ตอนที่อาตมายังไม่ค่อยได้มาเจริญสติ มันก็รู้ว่าเราต้องกลับมาดูใจของตัว แต่ว่าบ่อยครั้ง ชอบมาจ้องมองว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร อย่างเช่นกำลังถูฟัน กำลังกินข้าว กำลังอาบน้ำ หรือแม้กระทั่งกำลังทำงาน กำลังคุยกับคน ก็มาจ้องมองว่า ใจรู้สึกอย่างไร ซึ่งที่จริงมันก็ไม่ใช่วิธีที่ถูก เพราะบางครั้งเรากำลังข้ามถนน แทนที่เราจะดูถนนดูรถ เรากลับมาจ้องความรู้สึกของเรา อันนี้ก็อาจจะทำให้เราพลาดพลั้งได้ เพราะไม่เห็นรถที่มันแล่นตรงเข้ามา
ตอนหลัง พอมาเจริญสติ ถึงได้รู้ว่า ไม่ต้องจ้องมองขนาดนั้นหรอก ไม่ต้องดักจ้อง มันจะรู้เอง สติมันจะบอกเราเอง เพราะว่าพอมันมีความคิด หรืออารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ใจมันจะกระเพื่อม สติก็จะเหมือนเซ็นเซอร์ที่บอกใจของเราว่า ตอนนี้มันมีความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ก็คล้ายๆกับที่อาจารย์ตุ้มพูดเมื่อเช้านี้ว่าสติเหมือนกับแมงมุม มันทอมันถักใย พอมีแมลงพี่เป็นอาหารของมันมาติดใย แมงมุมมันก็สั่น พอมันสั่น มันสะเทือน แมงมุมก็รู้ แสดงว่ามีเหยื่อมาติดแล้ว
อารมณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งความคิดก็เหมือนกัน พอมันเกิดขึ้นมาอยู่ในใจโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้เจตนา สติมันก็รู้ทัน แล้วก็ทำให้ใจเราเกิดความรู้ตัวขึ้นมา แต่การที่สติจะรู้ทันความคิด และอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง มันต้องอาศัยการฝึก และก็รู้ต่อมาว่าการฝึกนี้มันเริ่มจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานก่อน ก็คือรู้กายก่อน กายทำอะไรก็รู้สึก กินข้าว อาบน้ำ ถูฟัน มีกายเคลื่อนไหว ใจก็รู้
พอรู้ว่ากายทำอะไร ต่อไปใจคิดนึกอะไร ก็รู้ พอไม่มาฝึกตรงนี้ มันก็ยากที่จะมารู้ใจของเราได้ มันก็อาจจะขึ้นได้ในบางครั้งแต่ว่ามันจะไม่บ่อย แล้วก็จะไม่ใช่ทุกครั้ง และถ้าทำไม่ถูก ก็จะกลายเป็นการดักจ้องความคิด ไปดักจ้องจิตใจ ซึ่งบางทีก็ทำให้เกิดอันตราย เช่น ขับรถอยู่ แทนที่จะมองถนน มาดักจ้องดูใจว่ากำลังคิดอะไร บางทีก็เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเหมือนกัน
ในขณะที่ขับรถ ใจเราก็มองไปข้างหน้าแต่ว่าเราก็มีสติรู้ จากการฝึก พอมันเผลอคิดไปหรือเผลอนึกอะไรที่ทำให้เกิดความโกรธ ความหงุดหงิดขึ้นมา เช่น กำลังหงุดหงิดรถข้างหน้า หรือหงุดหงิดคนข้ามถนนว่าช้าเหลือเกิน สติก็เห็นเลย อันนี้เรียกว่ารู้ทุกข์ คือรู้ความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ พอรู้แล้วมันวางเลย มันไม่ยึดมันไม่แบกต่อไป
ก็เลยรู้ว่าถ้าเรามีสติ รู้ทันความคิดและอารมณ์ มันก็ช่วยทำให้เราไม่เบียดเบียนตนพร่ำเพรื่อเหมือนเมื่อก่อน มันช่วยทำให้เราสามารถที่จะพบกับความสงบเย็นในจิตใจ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความคิดอกุศลหรืออารมณ์อกุศลเกิดขึ้น มันมี แต่ก็รู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ทัน อันนี้เรียกว่ารู้ทุกข์ คือรู้ตัวเมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น แล้วก็รู้จนไปถึงขั้นว่าที่มันทุกข์ต่อเนื่องเพราะว่าเป็นแบกไปยึดเอาไว้ มีแต่การปล่อยการวางเท่านั้นแหละที่จะช่วยทำให้ใจสงบใจเบาใจสบาย
เพราะฉะนั้น เราจะไม่จะเบียดเบียนตัวเอง นอกจากการรักษาศีล การที่เรารู้จักทำสมาธิภาวนา รู้จักเจริญสติ มันก็จะเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้เราไม่เบียดเบียนตัวเองพร่ำเพรื่อ หรือไม่หาทุกข์มาซ้ำเติมจิตใจ แล้วมันก็ช่วยทำให้เราสามารถที่จะเป็นมิตรกับตัวเอง หรือรักตัวเองได้อย่างแท้จริง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 22 ตุลาคม 2564