แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลังจากออกพรรษาแล้ว ก็เป็นเทศกาลงานบุญ หลายคนก็วางแผนจะไปทำบุญที่นั่นที่นี่มากมาย หรือว่าได้ทำอย่างที่ตั้งใจแล้ว คือ ได้มาวัดเพื่อจะมาทอดผ้าป่าทอดกฐิน ช่วงนี้งานทอดกฐินมีเยอะมาก หลายคนก็เตรียมตัวเตรียมใจมาเป็นเวลานานแล้วที่จะมาทอดกฐินวัดนั้นวัดนี้ หรือว่าไปทำบุญวัดนั้นวัดนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาด้วย
คราวนี้ในการทำบุญนอกจากรู้วิธีทำบุญหรือว่าทำให้ถูกขั้นตอนแล้ว การทำใจให้ถูกหรือว่าวางใจให้ถูกมันก็สำคัญ เพราะว่าบุญไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนหรืออยู่ที่พิธีกรรม หรือแม้แต่อยู่ที่วัตถุสิ่งของที่ถวาย แต่อยู่ที่ใจ
เพราะฉะนั้นเวลาทำบุญ ก่อนทำบุญก็ดี เช่น ก่อนที่จะถวายสังฆทาน ก่อนที่จะถวายผ้ากฐิน ระหว่างที่ถวาย รวมทั้งที่ถวายเสร็จ ก็ต้องรู้จักทำใจให้ผ่องใส วางสิ่งต่างๆลง อย่างน้อยก็ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นงานการ ไม่ว่าจะเป็นภาระต่างๆที่บ้าน วางให้หมด วางแม้กระทั่งยอดเงินที่คาดหวังว่าจะได้
บางคนเป็นเจ้าภาพกฐิน ระหว่างที่ถวายผ้ากฐินแล้วก็บริวาร จิตใจก็เศร้าหมองเพราะว่าเงินที่ได้มาน้อยกว่าที่คิด ไม่ถึงเป้าที่ตั้งเอาไว้ หรือว่าได้น้อยกว่าวัดอื่น จิตใจเศร้าหมองอย่างนี้ก็ได้บุญน้อย เมื่อจะถวายไม่ว่าจะเป็นสังฆทาน หรือว่าผ้าป่ากฐิน โดยเฉพาะช่วงที่กำลังถวาย วางให้หมด ไม่ว่าจะเป็นยอดที่ได้ หรือจำนวนเงินที่คาดหวัง แม้กระทั่งสิ่งที่หวังหลังจากนั้น เช่น หวังว่าทำบุญแล้วจะถูกล็อตเตอรี่ ถูกหวยรวยโชค มั่งมีศรีสุข ควรจะวาง
เพราะว่าถ้าไม่วาง ยึดเอาไว้ จิตใจก็หนักเป็นกังวลเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส จะทำบุญให้ได้บุญอย่างแท้จริง ใจต้องผ่องใส ซึ่งก็อยู่ที่การวางใจให้ถูกด้วย แล้วที่สำคัญสำหรับการวางใจ ก็คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นเจ้าของของสิ่งที่ถวาย อันนี้ก็ต้องวางความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ
บางคนถวายผ้าแล้ว ถวายอาหารแล้ว หลวงพ่อหลวงปู่ท่านก็รับแล้ว แต่ผู้ถวายหรือเจ้าภาพก็ยังไปยึดว่าของๆนั้นเป็นของเรา เพราะฉะนั้นเวลาเห็นหลวงพ่อหลวงตาท่านไม่ฉันอาหารของเรา หรือไม่ได้ครองผ้าที่เราถวาย จิตใจก็เศร้าหมอง อันนี้วางใจผิด ในเมื่อถวายท่านแล้ว ก็เป็นของท่าน ไม่ใช่ของเรา ถ้ายังไปยึดเป็นของเรา มันก็แสดงว่าไม่ได้ถวายอย่างแท้จริง ถวายแต่ของ แต่ว่าความเป็นเราเป็นของเราก็ยังมีอยู่ อย่างนี้เรียกว่าถวายหรือให้ทานด้วยจิตที่มีเยื่อใยหรือว่าใจที่มีความผูกพัน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทานที่มีอานิสงส์น้อย ก็คือทานที่ถวายด้วยใจที่มีเยื่อใย ด้วยจิตที่ผูกพัน เยื่อใยหรือผูกพันในสิ่งของที่ถวาย ยังตัดไม่ขาด อันนี้ก็ทำให้เกิดทุกข์ทำให้เกิดความเศร้าหมองได้เหมือนกัน
ไม่ใช่เฉพาะถวายผ้า ถวายจีวร ถวายบาตรอย่างเดียว บางทีถวายเงินสร้างห้องน้ำ หรือว่าถวายกลองถวายฆ้องให้กับวัดผ่านไป 10 ปี 20 ปีแล้วถึงเวลาที่ทางวัดจะทุบห้องน้ำเพื่อสร้างใหม่ หรือว่าเอาพื้นที่ไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่าหรือจำเป็นกว่า เช่น ศาลาการเปรียญ หรือว่าฆ้อง กลองก็เก่าแล้ว เอาฆ้องหรือกลองใหม่ขึ้นมา
บางคนที่เคยถวาย จิตใจก็เศร้าหมองเลย ไม่พอใจเจ้าอาวาสว่า ทำไมถึงทุบห้องน้ำของเรา ทำไมถึงทิ้งกลองหรือฆ้องของเรา อันนี้แสดงว่ายังมีเยื่อใยยังมีความผูกพัน ยังมีความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอยู่ทั้งๆที่ผ่านมา 10 ปี 20 ปีแล้ว ก็ได้ใช้คุ้มค่ากับของหรือปัจจัยที่ถวายแล้ว แต่ก็ยังยึดอยู่
พอยึดแบบนี้เข้า แล้วก็ไม่รู้เท่าทันความเป็นอนิจจังว่า อะไรๆ มันก็เสื่อม จิตใจก็เป็นทุกข์ทันทีเลย อาจจะมีความสุขผ่องใสตอนถวาย แต่หลังจากนั้น จิตใจก็เศร้าหมอง เพราะว่ายังมีความยึดว่าของนั้นเป็นของๆตัว
บางคนมีจิตศรัทธามากมาย ถวายหรือสร้างอะไรต่ออะไรมากมาย ศาลาการเปรียญ หอระฆัง กุฏิ เสร็จแล้วก็ไปยึดว่า วัดนี้เป็นวัดของฉัน พอไปยึดว่าเป็นวัดของฉัน จิตใจก็คอยเป็นห่วงคอยเป็นกังวลว่า เจ้าอาวาสจะดูแลวัดของฉันดีไหม หรือบางทีเจออะไรที่ไม่ถูกใจ ก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธ
บางทีห่วง แล้วก็ยึดติดในวัดของตัว หรือวัดของฉัน จนกระทั่งตายก็มี ขนาดตายยังยึดว่าวัดของฉันๆ เกิดความห่วงกังวลขึ้นมา อันนี้ตายไปแทนที่จะไปดี บางทีก็ตายไปไม่ดี ไปสู่ทุคติ เพราะว่ายังมีความยึดติดถือมั่นในสิ่งของ ยึดติดในบุญ หรือว่ายังหวงในบุญของตัว อันนี้ไปไม่ดี
ไม่ใช่ว่าทำบุญแล้วไปดีเสมอไป ถ้าวางใจไม่ถูกว่า อันนี้ บุญของฉัน วัดของฉัน ห้องน้ำของฉัน ถูกทำลาย ถูกทุบทิ้งหรือว่าวัดของฉันมันสกปรก อันนี้ไปไม่ดีเลย ถ้าเกิดว่าจิตสุดท้ายไประลึกถึงวัดหรือสิ่งที่ตัวเองถวายในลักษณะนั้น
มีเรื่องเล่าว่า โยมคนหนึ่งไปถวายสังฆทานแล้วก็ทำบุญกับหลวงปู่บุดดา ถวายเสร็จหลวงปู่ก็ให้แป้งหอมมากระป๋องหนึ่ง บอกว่าเอาไปโรยตัวหมาขี้เรื้อนตัวนั้นน่ะ มีหมาขี้เรื้อนตัวหนึ่งในวัด ท่านบอกว่าหมาตัวนี้ มันเคยเป็นเจ้าของวัด มันเคยสร้างวัด มันหวงมากเลย ใครทำวัดสกปรกมันจะเห่าเลย
พอโยมคนนั้นรับไป ก็ได้สติขึ้นมาเลยว่า ทำบุญแล้วอย่าหวงบุญ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนกับหมาตัวนี้ คือว่า ตอนที่ทำบุญ ไปว่าเป็นวัดของฉัน ตอนจะตายก็ยังคิดว่าเป็นวัดของฉันอยู่ พอตายแล้วไม่ได้ไปไหน ไปเป็นหมาเฝ้าวัดแทน แล้วยังกลายเป็นหมาขี้เรื้อนด้วย
อันนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจว่า ทำบุญแล้วต้องรู้จักวาง บุญเป็นของดี แต่ว่าทำดีอะไรก็ตาม ก็ต้องรู้จักวาง ยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องรู้จักวางมากเท่านั้นเพราะว่าพออายุมาก อะไรๆก็ไป กำลังวังชาก็เริ่มไป ตาก็เริ่มไป หูก็เริ่มไป ความจำก็เริ่มไป รวมทั้งเพื่อนสนิทมิตรสหายก็เริ่มไปทีละคนสองคน มันมีแต่การจากไปทั้งสิ้นสำหรับคนที่มีอายุมาก
เพราะฉะนั้นต้องรู้จักวาง ไม่ใช่วางเฉพาะตอนทำบุญ แต่วางในสิ่งต่างๆที่เคยมีเคยเป็น เพราะถ้าไม่วาง พอถึงเวลาที่หมดลม ถึงเวลาที่จะต้องสูญอะไรต่ออะไร หรือสูญทั้งหมดเมื่อจากโลกนี้ไป มันจะเป็นทุกข์มากเลย และของแบบนี้ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว มีกำลังวังชา และการฝึกอย่างหนึ่งก็คือการทำบุญนี้แหละ ทำบุญเป็นของดี ต้องรู้จักวาง อย่าไปให้น้ำหนักกับสิ่งที่เราถวาย ซึ่งเป็นสิ่งของเป็นวัตถุ เป็นเงินทอง เพราะว่าบุญที่แท้มันอยู่ที่ใจ ถวายอะไรมากมายแต่วางใจไม่ถูก แม้จะถูกธรรมเนียมถูกขั้นตอน มันก็ได้บุญน้อย
ถ้าหากว่าไม่ฝึกปล่อยไม่ฝึกวางตั้งแต่ตอนนี้ ถึงเวลาแก่ตัวเข้า มันจะยึดติดถือมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำบุญมากเท่าไร ก็กลับยิ่งยึด พอยึดมากๆเข้า พอจะตายตายไม่ได้มันไม่ยอมปล่อย แม้กระทั่งวัดก็ไม่ยอมปล่อย แม้กระทั่งห้องน้ำก็ไม่ยอมปล่อย แม้กระทั่ง หอกลองหอระฆังก็ไม่ยอมปล่อย อย่างนี้ตายไปแล้วจิตก็หวนกลับมาอยู่ที่วัด กลับมาอยู่ที่ของที่ยึดเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ทั้งๆที่มันไม่ใช่ของเราเลย ก็ให้ไปแล้วมันจะเป็นของเราได้อย่างไร มันก็ต้องเป็นของหลวงพ่อหลวงตา หรือของเจ้าอาวาส หรือของชุมชน มันไม่ใช่ของเราแล้ว
ต้องรู้จักความจริงอันนี้ การทำบุญจึงจะเกิดอานิสงส์อย่างแท้จริง คือ เกิดใจที่เป็นบุญ ใจที่เป็นบุญนั่นแหละ มันจึงจะเรียกว่าเป็นบุญอย่างแท้จริง เพราะว่าบุญเป็นชื่อของความสุข สุขที่ไหนสุขที่ใจ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 22 ตุลาคม 2564