แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเรานับถือพระพุทธศาสนา หรือปฏิบัติธรรม รวมทั้งปฏิบัติตามความเชื่อของตน ด้วยหลายเหตุผล ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน คนจำนวนไม่น้อยนับถือพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติตามความเชื่อของตน เพราะว่ามุ่งหวังการมีชีวิตที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ มีโชคมีลาภ หรือว่ามีสุขภาพดี มีอายุยืนยาว
คนที่มีความเชื่อแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นการใส่บาตรทำบุญ ถวายสังฆทาน บางทีก็ไปสะเดาะเคราะห์ หรือทำอะไรที่เชื่อว่าทำให้มีความร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทอง มีอาชีพการงานที่มั่นคง รวมทั้งการมีครอบครัวที่อบอุ่นแน่นแฟ้น รวมทั้งจำนวนไม่น้อยก็เข้าวัดเพื่อจะได้มีสังคมมีเพื่อนพ้องที่เราเรียกว่ามีชุมชน เพราะว่าถ้าอยู่บ้านคนเดียวก็เหงา ต้องการมีสังคม อันนี้ก็เป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งของคนที่เข้าวัด นับถือพระพุทธศาสนา
แล้วก็คนอีกจำนวนหนึ่ง นับถือพระพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรม เพราะว่าปรารถนาสิ่งที่ให้ความอบอุ่นใจ มีที่พึ่ง หรือว่าเพื่อทำให้เกิดความแช่มชื่นเบิกบาน มีความสงบ ผ่อนคลาย ปราศจากความเครียด ความรุ่มร้อนในจิตใจ อันนี้ก็เป็นเหตุผลของคนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะเรียกว่ามีฐานะพอสมควร แต่ว่าจิตใจไม่มีความสงบเย็น หรือว่าอาจจะเป็นเพราะมีความหวั่นวิตกเกี่ยวกับอนาคต ต้องการมีที่พึ่งทางใจที่ทำให้เกิดความสบายอกสบายใจ
ทั้ง 2 กลุ่มนี้นับถือพระพุทธศาสนาที่แตกต่างกัน กลุ่มแรกที่ปรารถนาอยากจะมีความมั่งมี มีโชคมีลาภ มีฐานะดี รวมทั้งมีสุขภาพที่ดี อายุยืนยาว พวกนี้ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า มุ่งหวังประโยชน์ชั้นต้น ภาษาบาลีเรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ขั้นต้นหรือประโยชน์ปัจจุบัน หรือว่าเป็นประโยชน์ทางโลกก็ได้ ที่เห็นๆกันอยู่
ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่หวังความสุขสงบเย็นทางใจ ความอิ่มเอิบ ความมั่นคงทางจิตใจ อันนี้เรียกว่ามุ่งหวังประโยชน์ชั้นสูง เรียกว่า สัมปรายิกัตถะ ซึ่งพระพุทธศาสนาก็มีธรรมะที่สนองความต้องการของคนทั้งสองกลุ่ม อย่างเราจะพบว่ามีธรรมะเกี่ยวกับเรื่องการหาทรัพย์ ธรรมะเกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรทรัพย์หรือว่าการใช้ทรัพย์ ธรรมะสำหรับการมีสุขภาพดี การมีอายุยืน หรือว่าการคบเพื่อนที่ดี การมีครอบครัวที่ดีอบอุ่น มีคู่ครองที่เกื้อกูลกัน อันนี้เรียกว่าเป็นธรรมะเพื่อประโยชน์ทางโลก หรือประโยชน์ชั้นต้น
และแน่นอน ประโยชน์ที่เป็นสัมปรายิกัตถะหรือประโยชน์สุขชั้นสูง ก็มีธรรมะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามากมายที่เกี่ยวกับเรื่องการทำให้จิตใจเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีศรัทธาที่ดีงาม หรือว่าการทำสิ่งใดๆก็ตามหรือทำความดี เพื่อทำให้จิตใจสงบเย็น รวมไปถึงการทำสมาธิภาวนา
แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่าน้อยที่สุดก็คือ นับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ปฏิบัติธรรมเพื่อจุดหมายสูงสุดคือความพ้นทุกข์ คือนิพพาน คือการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร อันนี้เรียกว่าเป็นการมุ่งหวังประโยชน์ขั้นสูงสุด เรียกว่าปรมัตถะ
คนเรา ความมุ่งหวังจากศาสนาหรือจากชีวิต ก็หนีไม่พ้น 3 ประการนี้แหละ ประโยชน์ชั้นต้น ประโยชน์ชั้นสูง และก็ประโยชน์สูงสุด และในการที่คนเราจะเข้าถึงประโยชน์ขั้นสูงสุด มันต้องอาศัยประโยชน์อีก 2 ชั้น เป็นตัวรองรับ เป็นตัวสนับสนุน หมายความว่าคนเราจะปฏิบัติธรรมจนพ้นทุกข์ได้ หรือเข้าถึงนิพพานได้ ก็ต้องอาศัยประโยชน์ชั้นต้น อย่างน้อยๆก็ต้องมีปัจจัย 4 อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและก็ยารักษาโรค
คนเราถ้าไม่มีอาหารหรือว่าไม่มีปัจจัย 4 การที่จะปฏิบัติก้าวหน้าจนถึงขั้นพ้นทุกข์ มันก็ยาก หรือว่าเป็นไปไม่ได้ ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องราวพระอริยเจ้าที่ท่านบรรลุธรรมเมื่อได้กินอาหารบำบัดความหิว อย่างมีเรื่องเล่าว่าชาวเมืองอาฬวีคนหนึ่งได้ฟังว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมาที่เมืองอาฬวี ก็สนใจจะมาฟังธรรม เผอิญวัวที่เลี้ยงเอาไว้มันหลุดหายไป ก็ต้องไปตาม เพราะว่ามันเป็นของที่มีความสำคัญ กว่าจะหาเจอก็สาย พอหาเจอเสร็จก็รีบมาเลย มาเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงฉันภัตกิจเสร็จธุระด้านภัตกิจ ก็ยังไม่ทรงแสดงธรรม ทรงประทับนิ่งเพื่ออะไร เพื่อรอชายคนนี้ พอชายคนนี้มาถึง พระองค์ก็ยังไม่แสดงธรรม แต่ให้ญาติโยมจัดอาหารให้ชายคนนี้ให้กินก่อน เพราะว่าชายคนนี้คงหิว เขากินอิ่มแล้ว พระองค์จึงแสดงธรรม ชายคนนี้ฟังธรรมแล้วก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า การที่คนเราจะบรรลุถึงประโยชน์ขั้นสูงสุด ปรมัตถะ ประโยชน์ชั้นต้นก็ควรจะมีเป็นพื้นฐาน ไม่หิวโหย ไม่เจ็บป่วยหรือว่ามีความเป็นอยู่ทางกายที่ผาสุกพอสมควร ขนาดพระพุทธเจ้าตอนที่พระองค์จะแสวงหาที่ที่จะบำเพ็ญความเพียรเพื่อจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เหตุผลหนึ่งที่พระองค์เลือกตรงริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม นอกจากว่าเป็นที่
รมณีย์ มีไพรสณฑ์ร่มรื่น น่าชื่นบาน แล้ว ยังเป็นเพราะว่าไม่ไกลจากที่ๆจะเสด็จบิณฑบาตที่เรียกว่าโคจรคาม อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน
เช่นเดียวกัน คนที่ต้องการเข้าถึงประโยชน์ที่เรียกว่าสัมปรายิกัตถะ เช่นความสงบเย็น ก็ต้องมีประโยชน์ชั้นต้นเป็นตัวรองรับ อย่างน้อยก็ต้องมีปัจจัย 4 เราจะเห็นได้ว่าการที่จะเข้าถึงประโยชน์ขั้นสูงสุด ปรมัตถะมันก็ต้องมีพื้นฐานรองรับ ตั้งแต่ระดับชั้นต้น ชั้นกลางจนถึงขึ้นสูงสุดได้ ถ้าเปรียบปรมัตถะเหมือนกับเจดีย์ ยอดเจดีย์สูงสุด เปรียบเทียบว่าเป็นนิพพาน เจดีย์จะสูงได้ก็เพราะมีฐานรองรับที่มั่นคง ถ้าฐานไม่มั่นคง มันก็ทรุด เจดีย์ที่ทรุดระหว่างสร้าง จนบางทีต้องเลิกสร้างก็มี อย่างเช่น เจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งเขาเชื่อว่า เดิมจะเป็นการสร้างพระปรางค์ สูงมาก แต่สร้างไม่สำเร็จเพราะว่าฐานทรุด ฐานไม่แน่น
การปฏิบัติธรรม แม้ว่าเราจะมุ่งที่จุดหมายสูงสุดคือนิพพาน คือความพ้นทุกข์ การหลุดพ้นจากวัฏสงสารแต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือธรรมะที่เป็นพื้นฐานอย่างเช่น อย่างน้อยๆศีล 5 ก็ต้องครบ ถ้าศีล 5 ไม่ครบ มันก็ไม่สามารถจะไปถึงยอดได้ เพราะพื้นฐานเรียกว่าไม่แน่น ศีล 5 เป็นพื้นฐานขั้นต่ำสุดที่คนเราต้องมี โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ที่จริงอย่าว่าแต่ขั้นสูงสุดเลย แค่ประโยชน์ชั้นต้น การมีชีวิตทางโลกที่ผาสุก ถ้าไม่มีศีล หรือมีข้อใดข้อหนึ่งพร่อง ก็ยากจะมีชีวิตที่ผาสุกได้
ส่วนเรื่องสัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ทางจิตใจ ความสงบเย็น ก็ไม่ต้องพูดถึงเหมือนกัน มันก็มีแต่ความรุ่มร้อน มีความเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะศีลพร่อง
มีศีล 5 ครบ ก็ยังไม่พอ ต้องมีธรรมะข้ออื่นเข้ามาเสริม หรือรองรับในระดับต่อไป ศีล 5 เป็นเรื่องของการไม่เบียดเบียนผู้อื่นแล้วก็ไม่เบียดเบียนตนในระดับหนึ่ง แต่ว่าเท่านั้นไม่พอ ต้องมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต้องมีเมตตากรุณาด้วย คนที่จะปฏิบัติธรรมขั้นสูง ถ้าไม่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีเมตตากรุณา ก็ไม่ไปถึงไหนเพราะว่านั่นมีความเห็นแก่ตัว คอยเหนี่ยวคอยรั้งเอาไว้ แต่ก็มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยทั้งที่มุ่งหวังความพ้นทุกข์ และทั้งๆที่รักษาศีลดี เอาใจใส่ไม่ให้บกพร่อง แต่พอถึงเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แล้วบางทีไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ กลับไปมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
อย่างมีผู้หญิงคนหนึ่ง เรียกว่าขวนขวายในการปฏิบัติธรรม มุ่งหวังความพ้นทุกข์เลย แกมีน้องชายเป็นมะเร็ง อยู่ในระยะที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ทีแรกก็มีแฟนสาวมาดูแล แต่ตอนหลังเธอซึ่งเป็นพี่สาวก็ไล่แฟนสาวของน้องชายออกจากบ้าน บอกว่ายังไม่แต่งงานอยู่ด้วยกันไม่ได้ผิดศีลข้อ 3 อาตมาฟังแล้วงง ผิดศีลข้อ 3 ตรงไหนในเมื่อยังไม่ได้แต่งงานกัน มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับผิดศีลข้อ 3
ก็กลายเป็นว่าน้องชายต้องอยู่คนเดียว ทางพยาบาลก็พยายามติดต่อพี่สาวให้มาดูแล พี่สาวก็ปฏิเสธว่าฉันกำลังกำลังปฏิบัติธรรม ไม่มีเวลา น้องชายเขาทำกรรมไว้ เขาก็ต้องรับกรรมของเขาเอง ฉันไม่ช่วยดูแลเขาหรอก ฉันต้องการปฏิบัติธรรม
ที่จริงการดูแลน้องชายซึ่งป่วยในระยะท้าย มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมและมันต้องอาศัยธรรมะหลายข้อด้วย ทั้งเมตตากรุณา ความอดทน ขันติ และเจริญสติก็มีความสำคัญไม่น้อย สมาธิก็เช่นเดียวกัน แต่นี่แม้น้ำใจของเธอก็ยังไม่มี แล้วไม่ใช่คนอื่นไกลเป็นน้องชายด้วย แสดงว่าไม่เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมคืออะไร พอไม่มีน้ำใจแบบนี้ การที่จะไปหวังปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าความเห็นแก่ตัวก็ยังมีอยู่มาก ถ้ายังไม่สละ ไม่รู้จักลดละเพื่อช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ แม้กระทั่งน้องชายที่อยู่ในสายเลือดเดียวกัน อันนี้ความหวังที่จะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ มันก็เป็นไปไม่ได้
พอมีศีลแล้ว มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แล้ว ก็ยังต้องมีพื้นฐานขั้นอื่นๆมารองรับสำหรับการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงปรมัตถะ ที่สำคัญก็คือ การไม่หลงเพลินในความสุขที่เรียกว่ากามสุข หรือพูดง่ายๆเป็นผู้ที่พอใจในชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ คนที่จะพอใจชีวิตที่เรียบง่าย สมถะได้ เพราะว่าเขาไม่หลงใหลในความสุขจากการเสพ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การเที่ยว การเล่น การดื่ม การดู เพราะว่าถ้ายังติดอยู่ในความสุขประเภทนี้ การที่จะลดละกิเลสจนกระทั่งเข้าถึงความพ้นทุกข์ มันก็เป็นไปไม่ได้เลย
ไม่ใช่ว่าจะเกี่ยวข้องไม่ได้ แต่หมายถึงว่าไม่เพลิดเพลินหลงใหลกับมัน เริ่มตั้งแต่ไม่ได้อยากรวย ถ้าอยากรวยด้วย อยากบรรลุนิพพานด้วย มันก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน หรือถึงแม้ไม่ได้อยากรวยแล้ว แต่ยังเพลิดเพลินติดความเอร็ดอร่อย รสชาติของอาหารอย่างมาก กินอาหารอะไรที่ไหนก็ต้องอร่อย หรือว่าติดหนัง ติดละคร อย่างนี้มันก็ไม่สามารถที่จะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้
มีโยมคนหนึ่งแกมาเล่า เปิดเผยดี เป็นผู้หญิงบอกว่านิพพานก็อยากได้ แต่ว่ายังติดซีรีย์เกาหลี ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้ายังติดซีรีย์เกาหลีก็ไม่ต้องพูดถึงนิพพานแล้ว หมดเลย แต่ว่าบางทีคนเรา หัวสมองมันบอกว่านิพพานนี้ดี แต่ใจยังติดหนังติดละคร อย่างนี้ถ้ายังก้าวไม่พ้น ยังไม่ต้องถึงขั้นหลุดพ้นจากกามสุข แค่ไม่หลงใหล ไม่ติดยึด กลับมาพอใจในชีวิตที่เรียบง่าย ถ้ายังทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องพูดเรื่องเข้าถึงปรมัตถะ
บางคนก็ทำได้ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เพลินไม่หลงใหลกับกามสุข มีบ้างแต่ว่าไม่ได้หลงใหลกับมัน แต่เท่านี้ไม่พอ ต้องมีรู้จักควบคุม อดกลั้นต่ออารมณ์ด้วย โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นตัวสำคัญ คือโทสะ หรือความโกรธ อาจจะไม่ได้ไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับใคร แต่ว่าพอมีอะไรมากระทบ ก็เกิดความโกรธได้ง่าย มีความโกรธแล้วเก็บความโกรธไม่ได้ แล้วก็พูดออกไป เป็นคำต่อว่าด่าทอ ถ้าทำอย่างนี้ยังไม่ได้ ก็กลายเป็นตัวขัดขวางการปฏิบัติ เพราะว่ามันเป็นกิเลสขั้นหยาบ ตัวโทสะ เขาด่าว่าเราเราก็ทนไม่ได้ ด่ากลับไป แค่กิเลสขั้นหยาบนี้ยังจัดการไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ การที่ละกิเลสที่ละเอียดอ่อนจนกระทั่งเข้าถึงความพ้นทุกข์ มันก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่
เพราะฉะนั้นการอดกลั้นต่ออารมณ์ หรือถ้าจะให้ดีรู้เท่าทันต่อความโกรธที่เกิดขึ้นเมื่อมีอะไรมากระทบ ไม่ว่าจะกระทบด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ หรือแค่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือมีความคิดที่มากระทบกับสิ่งที่เรานับถือเช่น พระรัตนตรัย มีบางคนไม่นับถือ มีบางคนตำหนิติเตียน โกรธ อดรนทนไม่ได้ต้องด่ากลับไป อันนี้ถ้ายังควบคุมตรงนี้ไม่ได้ ก็ยังไปไม่ถึงไหนในการปฏิบัติ
นอกจากการรู้จักการควบคุมอารมณ์โดยเฉพาะโทสะแล้ว อีกอันหนึ่งที่ก้าวข้ามได้ยาก แต่ว่าจำเป็นต้องก้าวข้ามผ่านให้ได้ก็คือ ความยกตนข่มท่าน ยิ่งปฏิบัติธรรมมากๆ ยิ่งทำบุญเยอะๆ หรือทำความดีเยอะๆ หรือมีศีลเยอะๆ ตัวอัตตามันก็จะพอกพูนได้ง่าย อย่างที่เคยพูดไว้แล้ว คนเราถ้าจะปีนขึ้นเขา มันก็ต้องทำตัวให้เบา ยิ่งทำความดี ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำกุศล หรือว่าการมีศีล หรือว่าการทำความเพียรปฏิบัติธรรม มันง่ายมากที่ตัวตนหรืออัตตาพอกพูนมากขึ้น
เพราะมันฉลาดมาก ตัวอัตตานี้ แม้กระทั่งเวลาเราทำความดี ในขณะที่เราพยายามกำลังลดละอัตตา มันก็กลับมาครอบงำจิตใจเรา ทำให้เราเกิดการหลงตัวว่ากูเก่ง กูแน่ กูดี มันก็เกิดการยกตนข่มท่าน หรือบางทีศึกษาธรรมะมาก มีความรู้เยอะ ก็เกิดความทะนงตัวว่า ฉันรู้มากกว่าเธอ ฉันรู้มากกว่าคนอื่น หรือบางคนปฏิบัติธรรมจริงจังมาก ก็เกิดความหลงในสายการปฏิบัติของตัวว่าสายการปฏิบัติของฉันมันบริสุทธิ์ มันเป็นพุทธแท้ หรือว่ามันนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้ตรงกว่าสายของคนอื่นหรือสายของเธอ
เกิดความรู้สึกดูถูกดูแคลน หรือว่าเกิดความหลงว่าฉันเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้ ท่านเป็นพระอรหันต์เลยเชียวนะ พวกเธอเป็นศิษย์ใครก็ไม่รู้ไม่ได้เป็นพระอรหันต์สักหน่อย มีอาการดูถูกดูแคลนไม่ใช่แค่นึกในใจ บางทีก็พูด บางทีก็ตำหนิติเตียนสายการปฏิบัติของคนอื่น สำนักอื่นหรือครูบาอาจารย์อื่น แม้แต่สายเดียวกัน ก็ดูถูกดูแคลนกันเพราะว่าไม่ได้นับถือครูบาอาจารย์ของฉัน ครูบาอาจารย์ของฉันนี่เบอร์ 1 เลย เป็นพระอรหันต์เลย ครูบาอาจารย์ของเธอ ไม่ใช่
อันนี้เราก็เห็น ในสายการปฏิบัติเดียวกัน ก็ยังมีความดูถูกดูแคลนกัน ไม่ต้องพูดถึงระหว่างสาย หรือข้ามสาย มันก็ยิ่งมีเข้าไปใหญ่ บางทีเราก็เห็นการดูถูกดูแคลน การโจมตีจ้วงจาบกันทาง Social Media ทาง Facebook อันนี้ก็เห็นอยู่ และคนที่ทำอย่างนั้นจำนวนไม่น้อยก็เป็นนักปฏิบัติธรรมมุ่งนิพพาน มุ่งการพ้นทุกข์ แต่ว่าตัวอัตตาหรือตัวฐิติมานะมันแรงกล้ามาก คนเรานี้โลภะน้อย ราคะน้อย อยู่เรียบง่าย แต่ว่าตัวโทสะ โมหะแรงมาก เพราะว่าไปหลงไปยึดติดตัวทิฐิมานะ พอยึดติดในทิฐิ ความเห็นความเชื่อว่าสายการปฏิบัติของฉันประเสริฐเลิศที่สุด ครูบาอาจารย์ของฉันเยี่ยมที่สุด ก็เกิดมานะขึ้นมาได้ เกิดความถือตัวถือตน ดูถูกดูแคลนคนอื่น อันนี้เรียกว่าตัวโมหะ
การเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เป็นการปฏิบัติที่ช่วยลดโลภะ ราคะ การควบคุมอารมณ์ รู้เท่าทันโทสะ มันก็เป็นการลดโทสะ การที่ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่ดูถูกดูแคลนคนอื่น มันก็จะเป็นตัวช่วยลดโมหะ ถ้าลดโลภะ โทสะไม่ได้ หรือว่ามันพอกพูนหนาขึ้นโดยเฉพาะตัวโทสะ โมหะ เรื่องการเข้าถึงปรมัตถะหรือนิพพานมันก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน อันนี้เป็นการปฏิบัติขั้นพื้นฐานเลย
ผู้ที่มุ่งการพ้นทุกข์ ผู้ที่มุ่งปรมัตถะ ต้องไม่มองข้าม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศีล เรื่องความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่หวังร่ำหวังรวยไม่ติดในความสุขจากสิ่งเสพสิ่งเร้า ที่เรียกว่ากามสุข รวมทั้งรู้จักอดกลั้นต่ออารมณ์ ไม่ใช่ว่าเขาแรงมาฉันก็แรงไป เขาด่ามาฉันก็ด่ากลับ ยิ่งมีความหลงว่า ฉันมีความรู้มากกว่า มีการปฏิบัติดีกว่า มีความเพียรมากกว่า อยู่สายการปฏิบัติที่ถูกต้องกว่า อันนี้มันก็ยิ่งเพิ่มตัวโทสะ โมหะให้มากขึ้น ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องสิ่งสำคัญคือการรู้จักมองตนซึ่งได้พูดไปเมื่อวาน(18 ตุลาคม 2564) พอสมควรแล้ว
มองตน คือ รู้เท่าทันกิเลส รู้เท่าทันอวิชชา รู้เท่าทันตัวกูที่มันคอยโผล่ออกมา แล้วก็คอยบงการการกระทำ และคำพูดของเรา เพื่อที่มันจะได้ยกหูชูหางว่ากูแน่ กูเก่ง การหมั่นมองตนสำคัญมาก ถ้าเกิดว่าไปดูถูกดูแคลนคนอื่นแล้ว มันจะลืมมองตน มันจะไปเพ่งโทษคนอื่น เพื่อที่จะได้ยกตัวกูให้สูงเด่นกว่าใครทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติที่จะเอื้อเฟื้อสู่การเข้าถึงการพ้นทุกข์ หรือปรมัตถะ
บางคนมุ่งไปที่ปรมัตถะ จนลืมเรื่องพื้นฐาน พอลืมเรื่องพื้นฐาน มันก็เหมือนกับเจดีย์ แม้ว่าอยากจะให้มันมียอดสูงเพียงใด แต่พอฐานไม่มั่นคง มันก็ทรุด หรือถ้าเปรียบเหมือนกับตึกสูง สูงแค่ไหน จะต่อเติมเพียงไร แต่ถ้าฐานไม่ดี มันก็ฟังลงมาได้ อย่างเมื่อปี 36 โรงแรมรอยัลพลาซ่า ถล่มลงมาที่โคราช คนตายกันเยอะแยะเลย เพราะว่าเขาพยายามต่อเติมให้มันสูงขึ้นไปเรื่อยๆโดยที่ฐานของโครงสร้างไม่แน่น
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน แม้ว่าเราจะมีเป้าหมายที่สูง มุ่งไปที่ประโยชน์สูงสุดคือปรมัตถะ แต่ก็อย่ามองไปข้างหน้าอย่างเดียว ต้องเหลียวกลับมามองดูข้างหลังด้วย ว่าพื้นฐานเราแน่นไหม และได้ทำสิ่งที่เป็นพื้นฐานหรือเปล่า ในการเรียนทางโลก จะมีความรู้ในระดับมัธยมอุดมได้ อย่างน้อยต้องมีพื้นฐาน อ่านออกเขียนได้ คณิตศาสตร์ขั้นต้น ถ้าไม่มีที่เรียกว่า 3R ซึ่งเป็นพื้นฐาน มันก็ไปไม่รอดเหมือนกัน
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพึงตระหนัก พึงสังวรเอาไว้ โดยเฉพาะผู้ที่มุ่งเพื่อความพ้นทุกข์ มุ่งนิพพาน ต้องเหลียวกลับมามองว่า พื้นฐานที่ว่านี้เรามีมากพอไหม แน่นพอไหม ไม่เช่นนั้นมันก็จะเป็นตัวเหนี่ยวรั้ง หรือบางทีไปผิดทางก็มี
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 19 ตุลาคม 2564