แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีพุทธภาษิตบทหนึ่ง ที่หลายคนคุ้นเคย แต่ถ้าใครไม่เคยได้ยิน ก็ควรจะระลึกถึงอยู่เนืองๆ พุทธภาษิตนี้ไม่ยาวเลยว่า จงเตือนตนด้วยตนเอง คนเราโดยเฉพาะคนที่เป็นชาวพุทธจะหวังความเจริญงอกงามในชีวิตรวมทั้งความสุข ก็ต้องรู้จักเตือนตน อย่ารอให้คนอื่นมาเตือน เพราะว่าคนเราก็ย่อมมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ ในการฝึกตน
บางที เพราะฉะนั้นการเตือนตนก็ทำให้เราอยู่ในเส้นทางวิถีทางที่ถูกต้อง ถ้าถามว่าจะเตือนตนว่าอย่างไร มีจะบทพิจารณาบทหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้เพื่อเตือนตนได้เป็นอย่างดี และเป็นการเตือนตนที่ครอบคลุม และรอบด้าน บทพิจารณาคือ อภิณหปัจจเวกขณ์ ซึ่งพวกเราคุ้นขอบคุณในการสวดหรือสาธยายอยู่บ่อยๆ 5 ข้อ เท่านั้น ไม่เยอะเลย
เป็นหมวดที่พึงนำมาใช้ในการเตือนตนได้เป็นอย่างดี เพราะว่านอกจากมีเนื้อหาที่ครอบคลุมแล้ว ยังจะเป็นการสรุปอย่างกระชับด้วย แค่ 5 ข้อเอง 4 ข้อแรกก็คือ เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีมีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น
สำหรับคนที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว คนที่ยังมีสุขภาพดี รวมทั้งคนที่ห่างไกลจากความตาย ซึ่งที่จริงก็ไม่มีใครรู้ว่า ห่างไกลหรืออยู่ใกล้ความตายแค่ไหน เอาเป็นว่าขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องแก่ สักวันหนึ่งเราก็ต้องเจ็บป่วย สักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย รวมทั้งของที่เรามีคนที่เรารัก ในที่สุดเราก็ต้องพลัดพราก หรือว่ามีอันต้องพลัดพรากอยู่เนืองๆ
การเตือนตนเช่นนี้ ทำให้เราตระหนักว่า เรามีความทุกข์อยู่เบื้องหน้า แม้วันนี้เรายังมีความสุขความสบายอยู่ ก็อย่าประมาท ความทุกข์ข้างใน มันเป็นความทุกข์ที่เนื่องด้วยสัจธรรมของสังขารว่า สังขารร่างกายของเรา ก็ต้องแก่ แล้วก็เจ็บป่วย แล้วสุดท้ายก็ตาย แต่ก่อนที่จะตาย ก็ต้องเจอความเสื่อมของสังขารที่อยู่รอบตัวเรา ทรัพย์สินเงินทองข้าวของเครื่องใช้รวมทั้งคนรัก พ่อแม่ ญาติพี่น้อง คู่ครอง รวมทั้งลูกหลาน
พวกนี้เขาเรียกว่าจัดอยู่ในสิ่งที่รัก ของรัก ของชอบใจ ที่เราต้องพลัดพรากจากเรา ไม่ให้ประมาทกับความทุกข์ที่จะต้องเกิดขึ้นกับเรา มันเป็นความทุกข์ที่เนื่องด้วยสัจธรรมของสังขาร เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นความทุกข์เนื่องด้วยความไม่เที่ยงก็ได้ เป็นความทุกข์จากความไม่เที่ยงของสังขาร
แต่ยังมีความทุกข์อีกชนิดหนึ่ง เป็นความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของเราที่เรียกว่ากรรม ข้อที่ 5 ของบทพิจารณาก็จะมีคำสั้นๆว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น เราทำกรรมอันใดไว้เป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม เราต้องรับผลของกรรมนั้นอันนี้หมายความว่า มันมีความทุกข์อีกชนิดหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของเราเอง ไม่ใช่เพราะความเสื่อมหรือความไม่เที่ยงของสังขาร
แต่ความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของเราเอง มันไม่ใช่ว่าเป็นการกระทำอะไรก็ได้ มันต้องเป็นการกระทำที่ไม่ดี คือการทำบาปทำชั่ว ความทุกชนิดนี้เราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ต่างจากความทุกข์เพราะอนิจจังของสังขาร หรือความทุกข์เพราะสังขารมันเป็นเช่นนั้นเอง คือแก่ เจ็บ พลัดพราก แล้วก็ตาย อันนี้มันเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แต่ชะลอ หรือว่าบรรเทา ไม่มีใครหลีกพ้นความแก่ได้ ไม่มีใครหลีกพ้นความเจ็บป่วยได้ ไม่มีใครหลีกพ้นความตายได้
และขณะเดียวกัน ของรักของชอบใจ ก็ต้องพลัดพรากเพราะว่ามันเสื่อม มันสลายได้ เพราะว่าเราก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อันนี้เป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครหนีพ้น แต่ความทุกข์ที่เกิดจากการทำบาปทำชั่วหรือผิดศีล มันเป็นสิ่งที่คนเราหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้นถ้าเราอยากหลีกหนีจากความทุกข์ที่เกิดจากการทำชั่วทำบาป เราก็เปลี่ยนมาเป็นการทำดี ซึ่งก็จะนำความสุขมาให้
แต่ว่า การทำความดี เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น บ่อยครั้งนี้มันเกิดขึ้นพร้อมกับความเหนื่อยความยากความลำบาก ไม่เหมือนกับการกินการเที่ยวการเล่นการดื่ม มันสบาย แต่การทำดีที่เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นบางครั้งมันก็ต้องเกิดความยากลำบากขึ้น ซึ่งความยากลำบากที่ว่ามันเป็นธรรมดาของการทำความดี ไม่ใช่เฉพาะการช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น
อย่างเช่นเวลาความขยันหมั่นเพียร เด็กที่ขยันหมั่นเพียรในการเรียน ก็ต้องเหนื่อยต้องยาก ลำบากกว่าจะเด็กที่ขี้เกียจหรือเกียจคร้าน เด็กที่ขยันอาจจะต้องตื่นแต่เช้า ตี 3 ตี 4 มาดูหนังสือ หรือว่าต้องตรากตรำทำงานค้นคว้าทำการบ้านทำรายงาน ความยากลำบากนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำความดี
แต่นั่นเป็นการทำความดีเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ขณะที่การทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เราก็มีความยากลำบาก ก็ต้องเข้าใจว่าความยากลำบากนี้เป็นความหมายของการทำความดี ซึ่งเดี๋ยวนี้ในหมู่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลยมีความเข้าใจว่า เมื่อมีความยากลำบากเกิดขึ้นกับใคร ก็ถูกเหมารวมว่าเขากำลังใช้กรรม
อย่างเช่น มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ภรรยาป่วยหนักเป็นมะเร็ง ตอนหลังก็นอนติดเตียง สามีก็จ้างคนมาดูแลแต่เฉพาะตอนช่วงกลางวัน พอกลับมาช่วงตอนเย็นกลับจากที่ทำงาน สามีก็มาดูแลภรรยาต่อ ทำงานก็หนักกลับมาบ้านก็ไม่ได้พัก ต้องหุงหาอาหารให้ตัวเองและภรรยา รวมทั้งการทำความสะอาด เช็ดเนื้อเช็ดตัว บางทีก็เช็ดอุจจาระปัสสาวะ
เพราะว่าอาการภรรยาก็หนักขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในระยะที่เรียกว่าการรักษาที่ไม่เกิดผลแล้ว ก็ต้องดูแลแบบประคับประคองไป รักษาตามอาการ ก็นอนเป็นเพื่อนภรรยา บางทีก็ต้องตื่นกลางดึกมาดูแล ภรรยาปวด ก็ต้องให้ยา ตื่นเช้าขึ้นมาก็ไปทำงาน ทำงานเสร็จกลับมาก็มาดูแลภรรยาต่อ ทำอยู่อย่างนี้นานเป็นเดือนเพื่อนบ้านบางคนพูดว่า ผู้เป็นสามีกำลังใช้กรรม
ชาติที่แล้วอาจจะทำกรรมไม่ดีกับภรรยา ชาตินี้เขาก็เลยต้องมาใช้กรรม ต้องมาเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะว่าสิ่งที่สามีทำ มันไม่ใช่ใช้กรรม แต่มันคือการสร้างกรรม สร้างกรรมดี หรือพูดง่ายๆว่าเขากำลังทำดี ไม่ได้ใช้กรรม แต่คนเดี๋ยวนี้แยกไม่ออก ระหว่างการใช้กรรม การทำดี ใครที่ลำบากใครที่เหนื่อย ก็ไปมองว่าเขาใช้กรรม แทนที่จะมองเขาว่าทำดี
มันก็คล้ายๆกับพยาบาลคนหนึ่ง แกก็เป็นคนที่มีความเข้าใจเรื่องผู้ป่วยระยะท้าย ยินดีให้คำปรึกษาให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลของตัวและผู้ป่วยที่อยู่ที่โรงพยาบาลอื่น และเธอก็ไม่ได้ทำเฉพาะในหน้าที่ นอกเวลาราชการเธอก็ช่วยดูแลคนไข้ให้คำแนะนำคนไข้ที่นอนรักษาตัวเองที่บ้าน หรือไม่ใช่แต่คนไข้ในโรงพยาบาลของเธอที่เธอดูแลในวอร์ดเท่านั้น เธอก็ดูแล ตามที่เพื่อนพยาบาลขอร้องให้เธอช่วย ก็ช่วยให้คำแนะนำทางการแพทย์ และก็เรื่องจิตใจ
แล้วบางทีเป็นคนไข้ยากจน เธอก็วิ่งเต้นเรื่องการหาเงินช่วยสงเคราะห์คนไข้ บางทีก็ต้องช่วยแนะนำเวลาคนไข้กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา เธอช่วยติดต่อหารถหาราให้ ติดต่อโรงพยาบาลปลายทางให้ช่วยดูแลต่อ และยังติดตามผลของคนไข้อยู่เนืองๆ แล้วก็ทำงานหนัก กลับบ้านดึกตอนกลางค่ำกลางคืน แล้วบางทีต้องตื่นขึ้นมากลางดึก เมื่อมีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยโทรมาขอคำปรึกษา
เธอทำแบบนี้ ก็ไม่ได้ก้าวหน้าทางตำแหน่ง ซีเพิ่ม หรือไม่ได้รับรางวัลอะไรหรอก มีแต่ความเหนื่อย และความภาคภูมิใจและก็ความสุข แต่ว่าอันหลังนี้ คนอื่นไม่ค่อยเห็นหรอก จะเห็นแต่ว่าเธอนี่เหนื่อยเธอนี่ลำบาก มีเพื่อนพยาบาลคนหนึ่งบอกว่าเธอกำลังใช้กรรม ไม่รู้ว่าชาติที่แล้วทำอะไรชาตินี้ก็เลยก็เลยต้องเหนื่อยกับการช่วยเหลือคนไข้
ที่จริงเธอใช้กรรมที่ไหน เธอกำลังสร้างกรรมใหม่มากกว่า ใช้กรรมนั้นมันหมายถึงใช้กรรมเก่าหรือกำลังใช้ผลของกรรม ซึ่งเป็นกรรมเก่า แต่สิ่งที่เธอทำ มันไม่ได้เป็นการใช้กรรมเลย มันคือการทำกรรมดี หรือสร้างกรรมดี ซึ่งก็มีความภาคภูมิใจ ความสุขใจเป็นรางวัล แต่ว่าคนเห็นแต่ความเหนื่อยความยากของเธอ
อันนี้ยังไม่เท่าไหร่ ยังมีอีกรายหนึ่ง ลูกสาวดูแลแม่ ทิ้งงานลาออกจากงานมาดูแลแม่ เป็น 10 ปีเลย เธอก็มีน้อง มีพี่ แต่พี่น้องไม่สนใจ มาหาแม่เฉพาะวันแม่ หรือบางทีก็มาหาแม่ บอกว่าเอาบุญมาฝาก แต่ไม่ได้ทำอะไรที่จะดูแลแม่จริงจังเท่าไหร่ เอาของมาให้แม่วันแม่ ก็เท่านั้นแหละ หรือไม่ ก็นานๆที ส่วนคนดูแลแม่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยว ป้อนข้าวก็คือ ตัวเธอนี่แหละ
เพื่อนที่รู้ก็บอกว่า เธอกำลังใช้กรรมกับแม่ ที่จริงไม่ได้ใช้กรรม เธอกำลังทำความดี คือแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อแม่ เหมือน 2 รายที่พูดก็กำลังปฏิบัติธรรมเรียกว่าอัตถจริยา แต่เดี๋ยวนี้ความเข้าใจของคนไทยทั้งที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ เวลาใครทำดี แล้วเขามีความเหนื่อยยากขึ้นมา แทนที่จะสรรเสริญอนุโมทนา ก็กลับมองไปว่าเขากำลังใช้กรรมที่เคยทำไม่ดีในอดีต
อันนี้น่าคิดว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะคนไทยจำนวนมาก มีทัศนคติที่ไม่ดีกับความเหนื่อยยาก เวลาเห็นว่าใครมีความเหนื่อยยากลำบาก ก็เหมาว่า เขากำลังใช้กรรม แทนที่จะมองว่าเขากำลังบำเพ็ญบารมี คือการทำความดี การบำเพ็ญบารมี การทำความดีนั้น ก็ต้องมีความเหนื่อยยากเป็นธรรมดา แต่คนไทยเรามีทัศนคติที่ไม่ดีกับความเหนื่อยความยากความลำบาก ใครทำอะไรแล้วเหนื่อยยาก ก็จะมองว่าเป็นเพราะเธอคงทำไม่ดีในชาติที่แล้วมั้ง เลยต้องมาลำบาก เราแยกไม่ออก ระหว่างการใช้กรรมกับการทำดี
ใช้กรรม คือว่ามันไม่มีทางเลี่ยง มันต้องเผชิญมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น คนที่ติดคุก เพราะว่าไปฆ่าคน หรือไปลักขโมยก็ตาม อันนี้ใช้กรรมเลยทีเดียว ไม่มีทางเลี่ยงไม่มีทางหนี ไม่ได้ทำไม่ได้เข้าคุกโดยสมัครใจ และถูกบังคับ ถูกจับให้เข้าคุก หรือว่าคนที่เป็นมะเร็งเพราะสูบบุหรี่ กินเหล้า ติดต่อนานถึง 10-20 ปีอย่างนี้ การป่วยเป็นมะเร็งอย่างนี้เรียกว่าใช้กรรมเลย เป็นผลจากการกระทำที่ไม่ดี
ส่วนการทำดีหรือการสร้างกรรมใหม่ มันเป็นเรื่องความสมัครใจ ตัวอย่างที่พูดมาทั้ง 3 กรณี เขาเลือกที่จะไม่ทำให้ก็ได้ สามีก็เลือกที่จะไม่ดูแลภรรยาก็ได้ บางทีทิ้งไปเลยก็มี หรือว่าจ้างคนมาดูแลทั้งเช้าทั้งกลางคืน หรือพยาบาลถ้าจะไม่ขวนขวายช่วยคนไข้ก็ได้ เพราะว่ามีสิทธิ์ที่จะทำอย่างนั้น หรือลูกจะไม่ดูแลแม่ก็ได้ เหมือนกับพี่น้องคนอื่นๆ
แต่การที่เขาเลือกที่จะมาดูแล ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ช่วยเหลือคนป่วยหรือว่าดูแลแม่ มันเป็นความสมัครใจ เกิดจากสำนึก อย่างนี้ไม่เรียกว่าใช้กรรม แม้ว่าจะมีความยากลำบากเกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าเขากำลังสร้างกรรมดี คนไทยเราเดี๋ยวนี้แยกไม่ออกระหว่างการใช้กรรมกับการทำดี
และมิหนำซ้ำนอกจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแล้วยังแยกไม่ออกระหว่างใช้กรรมกับทำดีแล้ว ยังมีทัศนคติว่า ความลำบากในวันนี้ มันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำหรือกรรมในชาติที่แล้วซึ่งมักจะหมายความว่ากรรมไม่ดี การมองแบบนี้เป็นการมองแบบมิจฉาทิฏฐิ
มันมีลัทธินอกศาสนาอยู่ 3 ลัทธิ ลัทธิหนึ่ง คือลัทธิกรรมเก่า ปุพเพตกเหตุวาท คือลัทธิที่มีความเชื่อว่า สิ่งใดก็ตามที่ประสบ ไม่ว่าจะเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ล้วนเป็นผลจากกรรมที่กระทำในปางก่อน อันนี้เป็นลัทธินอกพุทธศาสนา แต่ว่าชาวพุทธมีความคิดแบบนี้มากอย่างตัวอย่างที่ยกมา เห็นเขาลำบากเพราะช่วยเหลือผู้คน ก็เลยมองว่าเป็นเพราะเขาทำกรรมไว้ในชาติที่แล้ว ชาตินี้ก็เลยลำบาก เรียกว่าเกิดความเข้าใจผิด 2 ต่อเลย
อันแรกคือ แยกไม่ออกระหว่างการใช้กรรม กับการทำดี กันการใช้กรรมการทำดี อันนี้สอง การไปเหมารวมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ มันล้วนแต่เป็นผลจากการกระทำในชาติที่แล้ว ถ้าคิดแบบนี้เข้า มันก็ทำให้ผู้คนรู้สึกแย่รู้สึกไม่ดี เวลาฉันทำความดีแล้วเจอความยากลำบาก โอ๊ย นี่ฉันกำลังใช้กรรมแท้ๆเลย ไม่ได้คิดว่าฉันกำลังทำกรรมดี แต่ถ้ามองว่า ตอนนี้ฉันกำลังทำความดี มันก็จะเกิดความภาคภูมิใจ และเกิดกำลังใจที่จะทำต่อไป
ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็จะแยกแยะออก ระหว่างการทำความดีกับการใช้กรรม แล้วก็ทำให้เรามีแรงจูงใจทำความดีไปเรื่อยๆ แม้จะเหนื่อย แม้จะยาก มันจะลำบาก แต่เราก็เชื่อมั่นว่าในที่สุดก็จะมีความสุขในบั้นปลาย หรือที่จริงก็มีความสุขอยู่แล้วในขณะที่ทำ นั่นคือความภาคภูมิใจ ความอิ่มเอิบใจอย่างที่พยาบาล หรือสามีคนที่ว่า เขารู้สึก เขาสัมผัสได้
เพราะฉะนั้น คนเราควรจะทำกรรมดีเรื่อยๆ แต่นอกจากกรรมดี เช่น การช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว มันยังมีกรรมอย่างอื่นที่เราควรจะทำ นั่นคือเรื่องของการภาวนา การทำกรรมดีที่ว่ามานี้ มันเป็นประโยชน์ท่าน แต่ว่าการภาวนานี้ก็เป็นประโยชน์ตน โดยเฉพาะเราภาวนาเพื่อให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญา อันนี้ก็จะช่วยทำให้เราสามารถที่จะรับมือ หรือเผชิญกับความทุกข์ที่เกิดจากอนิจจังของสังขารได้
อย่างที่พูดไว้ในตอนต้น ความแก่ ความเจ็บความป่วย ความพลัดพรากสูญเสียและความตาย มันสิ่งที่เราหนีไม่พ้น มันเป็นสิ่งที่รอเราอยู่หรือกำลังเกิดขึ้นทุกขณะ ถ้าหากว่าเราได้บำเพ็ญกรรม อันได้แก่การภาวนา เราก็จะสามารถรักษาใจให้ไม่ทุกข์ ในขณะที่สังขารร่างกายของเรามันเสื่อม มันเจ็บมันป่วย หรือว่าสังขารที่เป็นวัตถุสิ่งของทรัพย์สมบัตินอกตัว มันสูญหาย รวมทั้งคนรักล้มหายตายจากไป ใจก็ไม่ทุกข์
อันนี้เราทำได้ แม้ว่าเราจะหนีความแก่ ความเจ็บความป่วย ความตาย ความพลัดพรากไม่พ้น แต่ว่าเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ใจเราไม่ทุกข์ก็ได้ เมื่อเรารู้จักฝึกจิตเอาไว้ ให้เข้าใจสัจธรรมความจริง การฝึกจิตก็เป็นกรรมดีเหมือนกัน และนี่ก็จะเป็นที่พึ่งของเราได้ อย่างในบทพิจารณาสังขาร มีตอนหนึ่งบอกว่า
เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ถ้าเราทำกรรมดี ก็จะเป็นที่พึ่งอาศัยของใจ ใจมีที่พึ่งที่จะไม่เป็นทุกข์ แม้ในยามที่ร่างกายเจ็บป่วย แก่ชรา หรือทรัพย์สมบัติสูญหาย คนรักตายจาก
อันนี้คือสิ่งที่เราควรเตือนตนของเราอยู่เสมอ ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์เพราะว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก มันก็ต้องหมั่นฝึกจิตฝึกใจให้เกิดสติให้เกิดปัญญาขึ้นมา เพื่อทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต ยอมรับอนิจจัง และก็สามารถที่จะยกจิตให้เหนือความทุกข์ความแปรปรวน อันนี้เรียกว่าเป็นความหมายอันหนึ่งของการยกจิตอยู่ให้เหนือโลก ที่พูดเมื่อวาน หรือโลกุตระ
นอกจากอยู่เหนือความผันผวนปรวนแปร อันได้แก่ ความเสื่อมยศเสื่อมลาภ หรือว่านินทาว่าร้าย รวมทั้งความทุกข์แล้ว ความเจ็บความป่วย ความแก่ชรา ความตาย ซึ่งมันเป็นทุกข์ทางสังขาร เราก็สามารถที่จะยกจิตให้เหนือได้ เพราะว่าจิตเป็นอิสระ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ว่าเป็นเราเป็นของเรา
หรือถึงแม้จะไม่เห็นความจริงหรือสัจธรรมขั้นนั้น แต่ว่าก็ยังรู้จักรักษาใจให้ไม่เป็นทุกข์กับร่างกายได้ ถ้าเราเตือนตนอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เตือนอย่างเดียว ฝึกจิตฝึกใจไว้ด้วย มันก็ช่วยทำให้เรามีจิตใจที่ผ่องใสเบิกบาน แม้ในยามที่ความทุกข์อันเนื่องจากสังขารปรากฏแก่เรา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 18 ตุลาคม 2564