แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ช่วง 3-4 อาทิตย์ที่ผ่านมา ฝนตกหนักมากในพื้นที่แถวอำเภอเมืองหรือว่าอำเภอใกล้เคียง เรียกว่าน้ำท่วมสูงมาก และล่าสุดเมื่ออาทิตย์ที่แล้วหรือไม่กี่วันที่ผ่านมา อำเภอภูเขียวก็น้ำท่วมสูงมากทีเดียว สำหรับพวกเราที่อยู่บนเขาก็ไม่ต้องไปลุยน้ำเหมือนกับคนที่อยู่ข้างล่าง อาจจะเจอน้ำท่วมบ้าง แต่ก็ไม่นาน ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่เหมือนกับคนที่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอหลายอำเภอที่กล่าวมา อันนี้เพราะอะไร
เพราะว่าเราอยู่บนที่สูง น้ำที่ไหลทะลัก มันก็ไหลจากบนเขาไปสู่เบื้องล่าง แล้วก็น้ำท่วมข้างล่างมันก็ไม่สามารถที่จะท่วมขึ้นมาบนหลังเขาได้ เรียกว่าโชคดีที่เราอยู่บนที่สูงอยู่บนหลังเขา การที่ตัวเราอยู่บนที่สูงอยู่บนเขาทำให้น้ำท่วมไม่ถึง เรียกว่าการอยู่บนที่สูงเป็นชัยภูมิที่เหมาะมากเลยทีเดียว
แต่ที่จริงการอยู่บนที่สูงมันไม่ใช่เป็นแค่ชัยภูมิของร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นชัยภูมิของจิตใจด้วย การที่ตัวอยู่บนที่สูง น้ำท่วมไม่ถึงฉันใด ถ้าใจอยู่บนที่สูง ความทุกข์มันก็ท่วมไม่ถึงฉันนั้น ใจอยู่บนที่สูงหมายความว่าอย่างไร มันไม่ได้หมายความถึงว่าจิตใจดีมีคุณธรรมสูงส่ง แต่มันหมายถึงการที่ใจอยู่เหนือโลก
คำว่าเหนือโลก มีคำอยู่คำหนึ่งเรียกว่าโลกุตระ โลกุตระแปลว่าอยู่เหนือโลก ถ้าใจเราอยู่ในระดับโลกุตระก็เรียกว่าอยู่เหนือโลก เมื่ออยู่เหนือโลก ความทุกข์ของชาวโลกก็ท่วมไม่ถึง เหนือโลกหรือโลกุตระ ความหมายหนึ่งที่เข้าใจได้ง่ายก็คือว่า เหนือโลกธรรม
โลกธรรมเราก็รู้ดีอยู่แล้วมันมีอยู่ 2 ฝ่าย คือโลกธรรมฝ่ายบวกกับโลกธรรมฝ่ายลบ และมันก็อยู่คู่กัน ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ เจอคำสรรเสริญก็พบกับคำนินทา รวมทั้งสุขทุกข์ ใจที่อยู่เหนือโลกคือใจที่อยู่โลกธรรม ไม่ได้แปลว่าชีวิตจะไม่เจอกับการได้ลาภเสื่อมลาภ การได้ยศเสื่อมยศ หรือว่าสรรเสริญนินทา อันนี้เป็นธรรมดาของทุกคนที่ต้องเจอ แต่ว่าเมื่อเจอแล้ว จิตใจไม่ได้หวั่นไหว
ได้ลาภก็ไม่ได้เพลิดเพลินจนหลงไหล เสื่อมลาภก็ไม่ได้เศร้า หรือว่าคับแค้น หรือจมอยู่ในทุกข์ อันนี้เรียกว่าจิตอยู่เหนือโลกธรรม มันก็เป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงความเป็นโลกุตระ หรือเป็นคุณสมบัติหนึ่งของโลกุตรธรรม ภาวะที่อยู่เหนือ ที่อยู่เหนือโลกธรรมได้ ก็เพราะว่าอยู่เหนือการมีการหมด อยู่เหนือการได้การเสีย อยู่เหนือการสรรเสริญนินทา
คำว่าอยู่เหนือในที่นี้หมายความว่า จิตไม่ยึดติด จิตเป็นอิสระ ทำให้กระทบไม่ถึง และทำให้ถูกครอบงำไม่ได้ จิตไม่ยึดติด เป็นอิสระ ไม่ยึดติดอะไร เป็นอิสระจากอะไร ก็ไม่ติด เป็นอิสระจากการมี การหมด การได้ การเสีย รวมทั้งสรรเสริญนินทา ก็ยังต้องเจอสิ่งเหล่านี้อยู่ ตราบใดที่ยังอยู่ในโลกนี้ แต่ว่าใจก็จะสามารถจะอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ได้ในแง่ที่ว่าจิตอิสระจากมัน
ความผันผวนของสิ่งเหล่านี้ ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ มันก็ไปไม่ถึง ไม่สามารถจะครอบงำได้ ไม่ว่าบวกหรือลบ ทำไมจิตจึงเป็นอิสระ ก็เพราะว่าไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านี้ ความผันผวนปรวนแปรที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถจะส่งผลกระทบต่อจิตใจได้
และเมื่ออิสระจากสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่สามารถที่จะมามีอำนาจครอบงำจิตใจได้ มีก็ไม่เหลิง หมดก็ไม่ทุกข์ หรือว่าคร่ำครวญ คับแค้น
อันนี้เพราะอะไร ทำไมจิตจึงไม่ยึดติด เป็นอิสระจากมันได้ ก็เพราะเห็นว่า มีกับหมด ได้กับเสีย สรรเสริญนินทา เป็นแค่สิ่งสมมุติ และอีกประการหนึ่งก็เพราะรู้ว่า มันไม่เที่ยง คำว่ามีกับหมด มันก็ชี้อยู่แล้วว่ามีไม่นานก็หมด ได้ไม่ช้าก็เร็วก็เสีย สรรเสริญก็เหมือนกันมันก็มาคู่กับนินทา ถ้าไปยึดมันก็ทุกข์
รู้เช่นนี้ก็ไม่ไปยึดติดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น เพราะเห็นว่ามันไม่เที่ยง การที่เห็นว่ามันเป็นสิ่งสมมุติ และเห็นว่ามันไม่เที่ยง มันก็เป็นเรื่องของปัญญา เมื่อรู้เช่นนี้ มีปัญญาเห็นเช่นนี้ จิตมันก็วาง ไม่คิดจะเข้าไปยึด เมื่อไม่ยึดไม่ติด จิตก็เป็นอิสระ เมื่อจิตเป็นอิสระ มันจะเป็นไปอย่างไรก็ไม่สามารถจะมากระทบถึงใจได้
เหมือนกับน้ำท่วม มันก็ไม่สามารถที่จะท่วมมาถึงหลังเขาได้ เพราะมันอยู่บนที่สูง จิตที่อยู่สูง ความทุกข์เพราะหมดเพราะเสีย มันก็ไม่สามารถจะมากระทบถึงได้ รวมทั้งคำติฉินนินทาว่าร้าย ที่จริงมันก็ไม่ใช่เฉพาะอยู่เหนือมีเหนือหมด อยู่เหนือได้เหนือเสีย อยู่เหนือสรรเสริญเหนือนินทา มันยังรวมถึงการอยู่เหนือดีเหนือชั่ว อยู่เหนือสิ่งที่เรียกว่าสุภาพหยาบคายก็ได้
ดีชั่วก็เป็นเรื่องของสมมุติ และมันก็ไม่เที่ยง ที่สำคัญพอไปยึดเข้า ดีแค่ไหนก็กลายเป็นโทษอย่างเช่น ความดี ถ้าไปยึดเมื่อไร มันก็เกิดโทษทันที เช่น เกิดความติดดี หรือเปิดช่องให้ตัวกิเลส เช่น ตัวกูของกู เข้ามาครอบงำ ดีก็เลยสามารถที่จะก่อทุกข์ก่อโทษขึ้นมาได้ และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของสมมุติ เป็นเรื่องของนิยาม เป็นเรื่องของการบัญญัติของผู้คนในแต่ละที่ ในแต่ละเวลาด้วย ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น
เช่นเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า สุภาพหยาบคาย ก็เหมือนกัน สุภาพก็ถือว่าดีหยาบคายก็ถือว่าชั่ว แต่มันก็แปรผันไม่แน่นอน เมื่อ 200 ปีก่อน คำที่หยาบคาย มันไม่ใช่คำว่ากูและมึง แต่สมัยนี้คำว่ากูและมึงกลายเป็นคำว่าหยาบคาย แต่เมื่อ 200 ปีก่อน กูและมึงไม่ใช่คำหยาบคาย เป็นคำธรรมดา
คำหยาบคาย และหยาบคายมากๆคืออะไรรู้ไหม ติดเนื้อต้องใจ และที่หยาบคายที่สุดคือ ไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่น่าเชื่อคำว่าติดเนื้อต้องใจ เป็นคำที่หยาบคายมากเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ยิ่งไว้เนื้อเชื่อใจ นี่ถือว่าหยาบคายที่สุดเลย จนกระทั่งรัชกาลที่ 4 ถึงกลับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเลย ห้ามราษฎรเขียนหรือพูดคำนี้เด็ดขาดเลย ติดเนื้อต้องใจหรือไว้เนื้อเชื่อใจ
แต่สมัยนี้คำว่า ไว้เนื้อเชื่อใจ กลายเป็นของดีไป คนเราต้องไว้เนื้อเชื่อใจกันสิ เราก็พูดกันได้เป็นปกติ แถมถือว่าเป็นคำดีด้วย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า ความหมายของคำว่าดีชั่ว สุภาพหยาบคาย มันก็ไม่เที่ยง เพราะมันเป็นสิ่งสมมติในบางยุคสมัยเป็นคำที่หยาบคายมากสำหรับคำนี้ แต่พอมาถึงยุคของเรา เป็นคำธรรมดา ดูดีด้วยซ้ำ และควรจะมีให้กันและกัน ในการไว้เนื้อเชื่อใจ
เพราะฉะนั้น คนที่รู้ทันสมมุติ เขาจะไม่ติดสมมุติ จิตก็จะอยู่เหนือสิ่งที่เรียกว่าดีชั่ว มากน้อย สุภาพหรือหยาบคาย เป็นต้น รวมทั้งอยู่เหนือสุขและทุกข์ จิตที่อยู่เหนือโลกคือจิตที่อยู่เหนือสุขและทุกข์ ไม่ได้แปลว่าจะไม่เจอสุขไม่ได้เจอทุกข์ ก็เจอ แต่ว่า สุขและทุกข์ไม่สามารถจะทำอะไรจิตใจได้ เพราะจิตอยู่สูง
เหมือนกับเราอยู่บนที่สูง น้ำท่วมก็ท่วมไม่ถึง สุขทุกข์ถ้าไปยึดมันเข้า มันก็เกิดทุกข์ขึ้นมาทันทีเลย หลวงพ่อชาเปรียบว่าสุขหรือทุกข์ มันก็เหมือนกับหางงูกับหัวงู จับหัวงู งูก็ฉกกัด ถ้าเป็นงูพิษก็ถึงตาย จับหางงูถ้าวางไม่ทัน มันก็แว้งมากัด ก็อันตรายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ก็อย่าไปยึดอย่าไปเอามัน
จิตที่ไม่ยึดจิตที่ไม่เอาสุขและทุกข์ เรียกว่าจิตที่อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ ดีชั่วก็เหมือนกัน หลวงพ่อชาท่านเปรียบอารมณ์ดีชั่วเหมือนกับงูพิษเหมือนกันที่อันตราย มันเลื้อยมาถ้าเราไม่ไปเข้าใกล้มัน ไม่ไปทำอะไรกับมัน ก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าไปจับมันเมื่อไหร่ ก็เกิดอันตรายขึ้นมา
สิ่งดีสิ่งชั่วก็เหมือนกัน อย่าไปจับมันอย่าไปยึดมัน ไม่ใช่ว่ามันจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา แต่ว่าเราก็เห็นโทษของมัน เห็นโทษของความยึดติด อาจจะใช้ได้หรือเกี่ยวข้องได้ แต่ว่าใช้โดยจิตที่เป็นอิสระเป็นนายเหนือมัน ไม่ได้ยึดติด
ที่จริงอย่าว่าแต่อะไรเลย ธรรมะของพระพุทธเจ้า ท่านก็สอนว่าอย่าไปยึดติด เปรียบเหมือนแพที่มีไว้ข้ามฝั่ง พอข้ามฝั่งแล้วก็อย่าไปแบกแพนั้นติดตัวไปด้วย คนฉลาดก็ต้องวางแพไว้ที่ริมน้ำ แล้วก็เดินตัวเปล่าขึ้นฝั่งไป ขนาดธรรมหรือกุศลธรรมที่พระองค์แสดงว่าอย่าไปยึด ยึดไม่ได้แล้วนับประสาอะไรกับอกุศลธรรมความชั่ว ยิ่งไม่ควรยึดและก็ไม่ควรข้องเกี่ยวกับมันด้วยซ้ำ
จิตที่อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าทั้งสุขและทุกข์มันไม่เที่ยง ถ้าไปยึดมันเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น คนธรรมดาจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งหรือ 2 อย่างคู่กันไปเลย คือ รักสุขเกลียดทุกข์ ความรักสุขเกลียดทุกข์ก็มีประโยชน์ มันก็ทำให้คนขยันขันแข็ง เพราะว่าอยากจะห่างไกลความยากความจนความลำบาก แล้วก็อยากจะมีชีวิตที่สุขสบาย
หลายคนมาทำความดีรักษาศีลก็เพราะปรารถนาความสุขในชีวิตนี้และชีวิตหน้าภพหน้า แล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงความชั่วหรือการทำบาปเพราะว่ามันจะสร้างความทุกข์ร้อนใจให้ ความรู้สึกเกลียดทุกข์มันก็เป็นแรงผลักดันที่ทำให้คนเราเข้าหาความดี หรือว่าทำสิ่งดี ละเว้นความชั่วแต่ว่ามันก็เป็นโทษเหมือนกัน
คำว่าความรักสุขเกลียดทุกข์ เพราะว่าไม่ว่าเราจะหลีกหนีความทุกข์อย่างไร ในที่สุดความทุกข์ก็เกิดขึ้นกับเรา อาจจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินเงินทองของเรา เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา เกิดขึ้นกับงานการของเรา หรือเกิดขึ้นกับความสำคัญกับผู้คนที่อยู่แวดล้อม
อย่างที่เราสวดมนต์ทุกเช้า ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ สิ่งที่รักที่พอใจก็หนีไม่พ้น 3-4 อย่างนี้ ทรัพย์สิน เงินทอง ร่างกายและสุขภาพหน้าตา การงานการเรียน แล้วก็คนที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีด้วย พ่อแม่พี่น้อง คู่ครอง
ในเมื่อเราหนีความทุกข์ไม่พ้น แล้วเราเกลียดมัน ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากการผลักไส เช่น เจ็บป่วยแล้วแทนที่จะป่วยแต่กายก็ป่วยใจด้วย เพราะใจบ่นโวยวายตีโพยตีพาย มันคร่ำครวญ ความคร่ำครวญ มันคือการซ้ำเติมตัวเองเพราะว่าพอเกิดขึ้นแล้วใจก็เป็นทุกข์ ก็กลายเป็นทุกข์ 2 ต่อ คือป่วยกายและป่วยใจ
ความสูญเสียก็เหมือนกัน ก็ถือว่าเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราทนไม่ได้ รับมันไม่ได้ เพราะเราเกลียดมัน เราก็จะเสียทั้งเงินทั้งความสุข หรือว่าไม่ใช่เสียแค่เงิน ใจก็เสียด้วย ความเกลียดทุกข์ มันก็สร้างปัญหาให้กับคนเราเหมือนกัน
ในเมื่อทุกข์เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น เมื่อมันเกิดขึ้นเราควรจะยอมรับมันมากกว่า ไม่ใช่ผลักไส หรือปฏิเสธ พอเรายอมรับมัน เมื่อป่วยก็ป่วยอย่างเดียวคือป่วยกาย ใจไม่ป่วย เมื่อเสียก็เสียอย่างเดียวคือเสียทรัพย์ ใจไม่เสีย แต่พอเราไม่ยอมรับ ปฏิเสธมัน ใจก็เป็นทุกข์ตามไปด้วย
และที่ไม่ยอมรับที่ปฏิเสธเพราะอะไร เพราะเกลียดมัน เหมือนกับเวลาเราเกลียดใครสักคน ทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำอะไรเราเลย เพียงแค่เขามาปรากฏให้เราเห็น เราก็มีอาการร้อนรุ่มในจิตใจ บางทีความดันขึ้นเลย ไม่ว่าความเกลียดหรือความโกรธ รวมทั้งความกลัวด้วย
ของบางอย่าง ไม่มีอันตรายอะไรเลย แต่พอเกลียดมันเข้า ใจสั่นเลย อย่างเช่น ตุ๊กแก มันก็ไม่มีอะไร แต่พอเกลียดหรือกลัวมันความดันขึ้นเลย ความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งนั้นที่เราเห็น แต่เกิดขึ้นจากความรู้สึกเกลียดมัน ซึ่งมันอยู่ในใจเรา
เหมือนกับลิงเกลียดกะปิ กะปิไม่ได้ทำร้ายลิงเท่าไหร่ แต่ทันทีลิง มือถูกกะปิ มันจะเอานิ้วเอามือถูกับเปลือกต้นไม้หรือก้อนหิน เพื่อที่จะขจัดกะปิหรือกลิ่นกะปิออกไป แต่ว่าทำอย่างไรๆกลิ่นกะปิก็ยังติดอยู่ มันยิ่งถูใหญ่ๆจนหนังถลอกเกิดเป็นแผลเลือดไหล ถามว่าที่มันเป็นแผลเหวอะหวะเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะกะปิแต่เป็นเพราะความเกลียดกะปิ กะปิไม่ได้ทำร้ายมัน แต่ความเกลียดกะปิต่างหาก
ความเกลียดทุกข์ก็เหมือนกัน บางทีทุกข์ไม่ได้ทำร้ายเราเท่ากับความเกลียดมัน พอเกลียดมันเข้า จิตใจย่ำแย่เลย เรียกว่าทุกข์คูณ 2 คูณ 3 เลย รักสุขก็เหมือนกัน มีสุขมาก็โปรดปราน เคลิบเคลื้ม หลงใหลเพลิดเพลิน ถ้ามันอยู่กับเราไปตลอดก็ดีหรอก ปัญหาคือมันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ว่าสิ่งที่ให้ความสุขหรือตัวความสุขเอง
บางทีความสุขก็ยังให้กับเราเหมือนเดิม แต่ความรู้สึกสุขมันแปรเปลี่ยนไป อย่างเช่น อาหารที่อร่อย มันก็ยังอร่อยเหมือนเดิมแต่ถ้ากินทุกมื้อๆๆ 2-3 อาทิตย์ มันก็จะไม่อร่อย มันจะไม่รู้สึกว่ามีความสุขแล้ว มันจะเริ่มเบื่อ ต่อไปก็เริ่มเอียน และต่อไปอาจจะถึงกับอาเจียนเลย หรือว่ามีเพชรมีทอง ได้มาก็มีความสุข แต่พอผ่านไปนานๆเข้า ความสุขก็จืดจาง ความยินดีเพลิดเพลินก็จืดจาง กลายเป็นความรู้สึกเฉยๆ อยากได้อีกอยากได้ ความสุขมันไม่เที่ยง พอมันสูญไป พอมันหายไป เกิดความเสียใจขึ้นมา
เหมือนกับคนที่รักลูก พอลูกเกิดป่วยขึ้นมา ล้มหายตายจากไป มันทุกข์ทันทีเลย เพราะว่าลูกหรือคนรักมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นความรักสุขก็สร้างปัญหาให้กับคนเราเหมือนกัน ทำให้ผู้คนเป็นทุกข์ยามที่สิ่งที่ให้ความสุข หรือตัวความสุขจืดจางลงไปหรือหายไป
เพราะฉะนั้นไม่อยากทุกข์ เราก็ต้องเปลี่ยนความรู้สึกจากรักสุขเป็นว่าเฉยๆต่อความสุข หรือจากความเกลียดทุกข์มาเป็นความรู้สึกเฉยๆกับความทุกข์ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา หรือว่าเป็นอารมณ์ที่มาปรากฏอยู่ในจิตใจ ถ้าเราเฉยๆต่อความสุข เฉยๆต่อความทุกข์ คือไม่เอาสุขไม่เอาทุกข์ ใจก็อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์
มันก็เป็นภาวะที่เรียกว่าอยู่เหนือโลกอีกแง่หนึ่งเหมือนกัน เราก็ควรจะยกจิตของเราให้สูงเหนือสุขเหนือทุกข์ด้วย เช่นเดียวกับเหนือดีเหนือชั่ว เหนือได้เหนือเสีย ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เพียงแค่เกิดจากการใคร่ครวญว่า รักสุขทำให้เกิดปัญหา แล้วก็เกลียดทุกข์ก็เป็นการซ้ำเติมปัญหา หรือทำให้ทุกข์นั่นมากขึ้น แต่มันเกิดขึ้นได้จากการที่ใจได้เรียนรู้ว่า สุขก็ดีทุกข์ก็ดีก็ไม่น่าเอา
เรารู้อย่างนั้นได้ ก็โดยการฝึกจิต โดยเฉพาะการเจริญสติ ช่วยทำให้เรามีจิตที่เป็นกลางต่อสุขและทุกข์ได้ เวลาสุขไม่ว่าจะเป็นความสงบ ความยินดี ความเอิบอิ่มหรือความชุ่มฉ่ำใจ เราก็เห็นมัน ก็วางใจเป็นกลางกับมัน เรียกว่าสุขก็ไม่เอา ถึงเวลาทุกข์ มีความหงุดหงิด มีความขุ่นเคือง หรือคับแค้น โกรธเกลียด ปรากฏขึ้นมาในใจ ก็เห็น เห็นมันแต่ไม่เข้าไปเป็นมัน
อันนี้เรียกว่าใจไม่เอาทุกข์ ก็อยู่เหนือมันเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันไม่เกิดขึ้น สุขและทุกข์เกิดขึ้นกับกายเกิดขึ้นกับใจ แต่ว่าใจเราอยู่เหนือมัน คือไม่ยึด ไม่ติดมัน เป็นอิสระจากมัน มีสุขก็ไม่เอา มีทุกข์ก็ไม่ผลักไส ถ้าเราฝึกใจแบบนี้ด้วยการเจริญสติ เราก็จะเห็นว่าความคิดดีก็ตาม ความคิดไม่ดีก็ตาม มันก็ไม่น่าเอาเหมือนกัน
หลวงพ่อคำเขียนสอน คิดดีก็ช่าง ไม่คิดดีก็ช่าง คือไม่เอามัน ก็แค่ดูมันเห็นมัน ไม่เข้าไปยึดไม่เข้าไปตะครุบมัน หรือผลักไสมัน เราสามารถฝึกใจให้เป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ดีและชั่วได้ มีอารมณ์ที่เป็นบวกเกิดขึ้นเราก็ไม่ไปเคลิ้มคล้อย ไม่โอบกอด มีอารมณ์ที่เป็นลบ เราก็ไม่ผลักไสมัน ปฏิบัติกับมันอย่างเท่าเทียมกัน ก็คือว่าวางใจเป็นกลางกับมันเรียกว่ารู้ซื่อๆหรือดูมันเฉยๆ
อันนี้เป็นการช่วยทำให้จิตของเราเกิดปัญญา จนกระทั่งเห็นว่าทั้งสองสิ่งมันก็มีค่าเสมอกัน มันเป็นตัวทุกข์เหมือนกัน ความคิดดีก็เป็นตัวทุกข์ ความคิดชั่วก็เป็นตัวทุกข์ สุขก็เป็นตัวทุกข์ ทุกข์ก็ยิ่งเป็นตัวทุกข์เข้าไปใหญ่
และยิ่งถ้าเราสนใจในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราก็จะเห็นว่า คิดดีก็ตาม คิดชั่วก็ตาม หรืออารมณ์ฝ่ายกุศลอารมณ์ฝ่ายอกุศล อารมณ์ฝ่ายบวกอารมณ์ฝ่ายลบ ในแง่ของสภาวะธรรมมันก็มีค่าเหมือนกัน คือมันแสดงสัจธรรมตัวเดียวกันให้เราเห็นคือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มันมีค่าเสมอกันเมื่อมองในระดับปรมัตถธรรมหรือมองในระดับสัจธรรมมันแสดงธรรมตัวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด หรือความรัก ไม่ว่าอารมณ์สุขอารมณ์ทุกข์ มันแสดงสัจธรรมตัวเดียวกัน มันสอนธรรมตัวเดียวกันคือเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา โดยเฉพาะการไม่มีตัวไม่มีตน การไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
ชีวิตของคนเราก็มี 2 ระดับคือ ระดับหนึ่งคือระดับโลกิยะ ระดับโลกิยะหมายถึงการเกี่ยวข้องกับผู้คน การทำงานทำการ การกินอาหาร การเกี่ยวข้องกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อันนี้มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม คือความดี ในระดับโลกิยะเราต้องพยายามทำความดีละเว้นความชั่ว
แต่ว่ามันมีอีกระดับหนึ่งในชีวิตจิตใจเราคือ ระดับโลกุตระ ระดับเหนือโลก ตรงนี้สิ่งสำคัญคือสัจธรรม สัจธรรมที่มันอยู่เหนือดีเหนือชั่ว อยู่เหนือสมมุติ เราจะเรียนรู้แต่เรื่องจริยธรรมอย่างเดียวไม่พอ มันต้องยกระดับไปสู่ระดับสัจธรรมจนเห็นถึงความจริงที่เป็นปรมัตถธรรมที่ทำให้จิตของเราอยู่เหนือดีเหนือชั่ว เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือบวกเหนือลบได้
และเมื่อถึงตอนนั้น เรียกว่าจิตมีชัยภูมิที่ความทุกข์ไม่สามารถจะกระทบถึงได้ เพราะว่าจิตมันอยู่เหนือโลกแล้ว อยู่เหนือทุกข์แล้ว อันนี้คือสิ่งที่เราทำได้ด้วยการภาวนา ด้วยการเจริญสติจากขั้นที่นำเราไปสู่ความสงบจนกระทั่งทำให้เราไปสู่ความสว่างเห็นความจริงเห็นความสัจธรรม จนกระทั่งอยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ได้ อันนี้เรียกว่าอยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ได้แท้จริง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 17 ตุลาคม 2564