แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีความเจ็บป่วยหรือโรคชนิดหนึ่งที่เดี๋ยวนี้คือ โรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นกันมาก เป็นกันได้ทุกเพศทุกวัย เด็กก็เป็น วัยรุ่นก็ไม่น้อยเลย คนแก่ก็เยอะ คือเป็นได้ทุกวัยทุกอาชีพ แม้แต่พระก็เป็นกันไม่น้อยเลย
โรคนี้รักษายาก ที่รักษากันอยู่ตามโรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ให้ยา แต่ว่ามันก็ไม่ค่อยได้ผล ระยะหลังก็มีวิธีการเยียวยาบรรเทารักษาโรคซึมเศร้าที่น่าสนใจหลายอย่าง เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประเทศอังกฤษ หมอจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยการให้ไปสัมผัสธรรมชาติ เขาใช้คำว่าจ่ายยา แต่ว่าไม่ได้ให้ยาสักเม็ดเลย
หมอรักษาโดยการให้ไปรับยาจากธรรมชาติก็คือ ไปสัมผัส ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เช่น ป่า ภูเขา ทะเล ปรากฏว่าก็ช่วยหลายคนได้มากเลย มีผู้หญิงคนหนึ่งแกซึมเศร้าถึงขนาดจะฆ่าตัวตาย แต่ไม่ตาย หมอก็จ่ายยาให้ไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นอุทยาน ปรากฏว่าอาการหายไป เหมือนกับปลิดทิ้งเลย แกบอกว่าเหมือนกับชีวิตเปลี่ยนไปเลย จากการที่ได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติ เดี๋ยวนี้ก็มีหมอที่จ่ายยาประเภทนี้ในประเทศอังกฤษซึ่งเขามีความก้าวหน้าในเรื่องนี้พอสมควร
ก่อนหน้านี้ประเทศอังกฤษ เขาก็มีการจ่ายยาคล้ายๆกันให้กับผู้ป่วยซึมเศร้า ด้วยการจ่ายต้นไม้ ให้ต้นกล้าเอาไปปลูกไปดูแล ส่วนใหญ่ผู้ป่วยชนิดนี้ก็เป็นประเภทอยู่ในตึกอยู่ในคอนโด ไม่ค่อยมีพื้นที่สีเขียวใกล้ๆเท่าไหร่ ก็ให้เอาไปปลูกไปรดน้ำด้วย แล้วพอโตก็เอาไปมอบให้กับโรงพยาบาล โรงพยาบาลเดี๋ยวนี้ก็มีต้นไม้ที่ผู้ป่วยซึมเศร้าปลูกหรือดูแลจนโตเยอะแยะเลย
การปลูกต้นไม้หรือดูแลต้นไม้นี่มันช่วยได้เยอะ อย่าว่าแต่ผู้ป่วยซึมเศร้าเลย คนแก่ที่โทรม หง่อม เบื่อหน่ายชีวิต ไม่อยากอยู่ ไร้ชีวิตชีวา ไปอยู่บ้านพักคนชรา ไม่มีลูกหลานคอยดูแล พวกนี้กายสุขสบาย แต่ว่าจิตใจห่อเหี่ยว แต่พอหมอให้ต้นไม้ไปปลูกไปดูแลและรดน้ำด้วย ทุกวันๆปรากฏว่าอาการดีขึ้นทั้งกายและใจ มีชีวิตชีวามากขึ้น ห่อเหี่ยวน้อยลง กินยาก็น้อยลง
เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้มีต้นไม้เอาไปปลูก หรือว่ามีต้นไม้ดูแลแต่ไม่ได้รดน้ำเอง มีคนรดน้ำให้ อันนี้ก็สู้คนชราที่ปลูกต้นไม้เอง รดน้ำต้นไม้เองไม่ได้ ต้นไม้ในธรรมชาติมันมีผลดีต่อจิตใจแล้วก็ร่างกายมาก
เดี๋ยวนี้ในประเทศญี่ปุ่น คนที่ซึมเศร้าหรือว่ารู้สึกเครียด เขาก็ชวนไปทำกิจกรรมเรียกว่าอาบป่าไม่ได้อาบน้ำ อาบป่าคือให้บรรยากาศของป่าช่วยกล่อมเกลาจิตใจ บรรเทาเยียวยาจิตใจ หรือไม่ก็ได้ไปสัมผัส รับการบำบัด
อย่างในประเทศเกาหลี เขาใช้คำว่าป่าบำบัด ใครที่มีความเครียด ความเบื่อ เหงา ซึมเศร้า ก็ไปรับการบำบัดจากป่า ไปทำกิจกรรมในป่า เช่น อาจจะไปออกกำลังกาย หรือว่าไปวาดรูป
ในอังกฤษก็เหมือนกัน เขาแนะนำให้ไปทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นไปออกกำลังกายเป็นกลุ่มริมชายหาด หรือว่าไปเดินป่าสำรวจธรรมชาติโดยมีผู้ดูแลติดตามไปด้วย แล้วชักชวนทำกิจกรรมชมนกชมไม้ แล้วก็วาดรูป มันช่วยเยียวยาจิตใจคนที่มีอาการซึมเศร้าได้ หรือว่ามีความเครียดหนักๆ ไม่ใช่แต่จิตใจนะ ร่างกายนี้มันก็ช่วยได้ด้วย
อย่างที่ประเทศฮอลแลนด์เขาพบว่าคนที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบพื้นที่สีเขียวนี้ เช่น สวนสาธารณะหรือป่า โรคที่ใครๆก็เป็นกันเยอะแยะ เช่น โรคหัวใจ เขาเป็นน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ไมเกรน โรคเบาหวาน หอบหืด หรือแม้กระทั่งโรคซึมเศร้า ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ได้อยู่ใกล้ๆพื้นที่สีเขียวในรัศมี 1 กิโลเมตร มันช่วยเยียวยาจิตใจเขาได้ แล้วก็ร่างกายด้วย
ไมเกรนเดี๋ยวนี้ก็เป็นกันเยอะ เบาหวานก็เป็นกันมาก แต่เขาก็ไม่รู้นะว่า การไปอยู่ใกล้ชิดธรรมชาตินี้ มันช่วยทำให้โรคหัวใจ เบาหวานนี่มันลดลงได้ยังไง แต่ว่าตัวเลขมันชี้ว่า มันมีผลจริงๆ เพราะฉะนั้นธรรมชาติ มันมีคุณค่าต่อร่างกายและจิตใจ แม้กระทั่งผู้ป่วย ไม่ว่าโรคอะไร ก็จะรู้สึกดีขึ้น ไม่ว่าจะไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ หรือว่าปลูกต้นไม้ เอาต้นไม้ต้นกล้าไปดูแล
ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่เขามีวิธีการเยียวยาบรรเทาโรคซึมเศร้าที่ได้ผลหลายอย่าง เคยเล่าไปแล้วว่า เขาแนะนำผู้ป่วยซึมเศร้าให้ไปทำกิจกรรมทางสังคม เช่น ไปออกกำลังกาย ไปฝึกวาดรูป แกะสลัก หรือว่าแม้กระทั่งไปเข้ากิจกรรมเต้นลีลาศ ให้ไปทำกิจกรรมกับผู้คน นับชั่วโมงด้วยนะ เรียกว่าจ่ายยา นับเป็น10 ชั่วโมง 20 ชั่วโมง 40 ชั่วโมง ไปทำกิจกรรมที่ว่านั้น แล้วกลับมาหาหมออีกที แล้วผู้ป่วยเหล่านี้ก็ดีขึ้น ดีกว่ากินยาซึ่งนอกจากไม่ช่วยแล้วบางทีมีโรคที่มีผลข้างเคียงเยอะ
วิธีนี้เขาเรียกว่า Social Prescribing การสั่งจ่ายยาด้วยการทำกิจกรรมทางสังคม เราเคยได้ยินคำว่า Social distancing การวางระยะห่างทางสังคมแต่ว่าที่มาก่อนหน้านี้คือ Social Prescribing การสั่งจ่ายยาด้วยการทำกิจกรรมทางสังคม การพาคนไปสัมผัสธรรมชาติ หรือชวนคน หรือแนะนำคนให้ไปใกล้ชิดธรรมชาติ
มันก็มีชื่อคล้ายๆกันนะ Green Social Prescribing Green แปลว่าสีเขียวก็เป็นการจ่ายยาทางสังคมชนิดหนึ่ง แต่ว่าเน้นเรื่องการสัมผัสกับธรรมชาติ วิธีนี้ดีกว่าการให้ยา ใช้เงินน้อย ได้ผลมากกว่าแล้วก็ไม่มีผลข้างเคียง มันดีกว่าการให้ยาเยอะเลย ดีกว่าแม้กระทั่งการปฏิบัติธรรม บางคนไปคิดว่าถ้ามีปัญหาเรื่องซึมเศร้า ต้องมาปฏิบัติธรรม เจริญสติ นี่ ที่จริงอาจจะมีผลเสียก็ได้
หลวงพ่อคำเขียน บอกว่าเคยมีโยมคนหนึ่งผู้ชายเป็นโรคซึมเศร้ามาอยู่ที่สุคะโต หลวงพ่อไม่ชวนปฏิบัติธรรมเลย ชวนชมนกชมไม้ พาไปดูต้นไม้ แล้วก็ชวนคุยว่า นี่ต้นอะไร ดอกมันสีอะไรบรรเทาได้เยอะเลย คนไปคิดว่าถ้าไม่กินยาก็ต้องมาปฏิบัติธรรมโรคซึมเศร้าถึงจะหาย
เพราะอันที่จริงมันอาจกลับจะรุนแรงก็ได้ เพราะว่าเวลาไปปฏิบัติธรรม ปฏิบัติในรูปแบบนี้โอกาสที่จิตมันจะจมดิ่งเข้าไปกับอารมณ์ซึมเศร้า หรือเรื่องเก่าๆที่เจ็บปวดมากนะ เพราะคนส่วนใหญ่ปฏิบัติยังไม่ค่อยถูกหรอก ขนาดคนธรรมดาที่มาปฏิบัติธรรมในรูปแบบยังเครียดเลย แล้วถ้ายิ่งคนที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วยแล้วถ้ามาปฏิบัติธรรมในรูปแบบ ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่
แต่ถ้าชวนให้ไปทำกิจกรรมที่ดึงจิตออกไปจากตัว ออกจากเรื่องแย่ๆ ออกจากเรื่องราวในอดีต มันก็ช่วยบรรเทาได้เช่น ไปสัมผัสกับธรรมชาติ ไปทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องใช้มือใช้ไม้ ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย วาดรูป มันช่วยเยียวยาบรรเทาได้ อันนี้ก็เป็นแนวโน้มใหม่ที่น่าสนใจ
ในอังกฤษเขาบอกว่าการจ่ายยาด้วยวิธีใหม่ Social Prescribing ปีนี้ เขาจะจ่ายยาให้แก่คนป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1 ล้านคน ไม่น้อยเลยนะ แสดงว่ามันได้ผลจริง ถึงจ่ายยาด้วยวิธีนี้มากขนาดนี้ ก็ไม่รู้ว่าเมืองไทยจะสนใจวิธีนี้มากน้อยแค่ไหนในภายภาคหน้า
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 17 ตุลาคม 2564